แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1715
ครั้งที่ ๑๗๑๕
สาระสำคัญ
การนั่งวิปัสสนากัมมัฏฐาน (ไม่ใช่คำสอนไม่มีในพระไตรปิฎก)
บุญกิริยาวัตถุ ๑๐ (การอุทิศส่วนกุศล)
ที่โรงเรียนนายทหารชั้นผู้บังคับฝูง ทหารอากาศ ดอนเมือง
วันพุธที่ ๒๖ สิงหาคม ๒๕๓๐
สุ. มีคำถามหลายข้อที่เป็นเรื่องของวิปัสสนา ซึ่งคิดว่าภายในเวลา ๒ ชั่วโมงไม่สามารถตอบให้เข้าใจได้ชัดเจน ฉะนั้น ผู้ที่สนใจก็ขอให้ฟังรายการธรรมทางวิทยุต่อไป และขอตอบปัญหาข้ออื่นซึ่งคงจะไม่ต้องใช้เวลามากที่จะเข้าใจได้
มีคำถามว่า การนั่งวิปัสสนากัมมัฏฐานช่วยเหลืออะไรเราได้บ้าง
อ. วิ แปลว่า ชัด ปัสสนา แปลว่า เห็น และต้องถูกด้วย ไม่ใช่เห็นผิดชัด แต่เห็นถูกชัด ถ้าเข้าใจว่ากว่าจะเข้าใจชัด เห็นชัด ต้องนั่งก่อน นั่นคือเห็นผิดชัด ไม่มีในพระไตรปิฎกที่แนะให้นั่งก่อนและจะค่อยๆ เข้าใจหลังจากนั่งแล้ว นั่งลงเสร็จแล้ว ให้ปิดตาเสียก่อน ไม่มี ให้นั่งวิปัสสนาก่อน กว่าจะเริ่มเข้าใจ กว่าจะเริ่มเห็นชัด ในสภาพธรรมถูกต้องตามความเป็นจริง นั่นไม่มี
ต้องฟัง พิจารณา และค่อยๆ เข้าใจเรื่องสภาพธรรมที่เราคิดว่า เป็นเรา เป็นเขา เป็นสิ่งของ ค่อยๆ พิสูจน์ว่า ที่พระพุทธเจ้าตรัสว่า สิ่งที่เห็นนั้นไม่ใช่คน สิ่งที่เห็นนั้นเป็นสี มีลักษณะของสี ไม่มีลักษณะของคน เพราะว่าคนไม่มีลักษณะต่างหากพิเศษให้เห็นเฉพาะ สิ่งที่เห็นเป็นสิ่งที่เห็นแค่นั้นเอง ปรากฏทางตาแค่นั้นเอง ปรากฏทางอื่นไม่ได้เลย จะไปแตะต้องไม่ได้ สีไม่ให้แตะต้อง เพราะว่าสีไม่ใช่สิ่งที่ แตะต้องได้ ไม่ใช่เย็น ไม่ใช่ร้อน สีไม่ใช่แข็ง สีไม่ใช่อ่อน ไม่ใช่ตึง ไม่ใช่ไหว เพราะฉะนั้น แตะต้องหรือรู้ทางกายไม่ได้ ต้องรู้ทางตาทางเดียว เดี๋ยวนี้ ที่จะเห็นชัดสิ่งที่ปรากฏทางตาต้องไม่ปิดตาจึงจะรู้ชัด เห็นชัด เข้าใจชัดเจนในสิ่งที่ปรากฏทางตาถูกต้องตามความเป็นจริง ต้องลืมตาก่อน เห็นชัดเดี๋ยวนี้ก็ได้ ถ้าศึกษามาพอแล้ว เริ่มเห็นชัดก็ได้ อาจจะมีคนที่เริ่มเห็นชัดเดี๋ยวนี้ก็ได้ แต่ไม่ได้หมายความว่าถ้ายืนขึ้น จะไม่เห็นชัด ท่าไหนก็ได้ อิริยาบถอะไรก็ได้ เมื่อไรก็ได้ ถ้าเข้าใจถูก ถ้ามีพื้นฐานที่ ถูกต้องพอ คำว่า นั่งวิปัสสนา ไม่มีในพระไตรปิฎกเลยสักหน้าหนึ่งหน้าใด
สุ. ไม่ทราบท่านที่ถามว่า การนั่งวิปัสสนากัมมัฏฐานช่วยเหลืออะไรเรา ได้บ้าง มีความเข้าใจเรื่องการนั่งว่าเป็นวิปัสสนาในลักษณะไหน เพราะตามความจริงอย่างที่คุณอัลลันได้เรียนให้ทราบแล้วว่า เป็นเรื่องของปัญญา ไม่ใช่เป็นเรื่องของ การนั่ง เพราะถ้าเป็นปัญญาจริงๆ ไม่ว่าจะนั่ง จะนอน จะยืน จะเดิน ปัญญาก็ เกิดได้ ปัญญาไม่ได้แคบหรือไม่ใช่ว่าอ่อนจนกระทั่งเฉพาะตอนนั่งจึงจะเกิดปัญญาได้ ถ้าเป็นปัญญาจริงๆ แล้ว ทุกอิริยาบถหรือทุกขณะก็เกิดได้
และที่ว่ากำลังลืมตา เห็นชัด ขณะนี้ทุกคนกำลังเห็นชัดด้วยปัญญาหรือเปล่า เท่านี้เอง ที่เป็นความต่างกันระหว่างวิปัสสนาและไม่ใช่วิปัสสนา ถ้าขณะนี้ทุกคนนั่งและเห็น เหมือนที่เคยเห็นทุกวันๆ นั่นไม่ใช่วิปัสสนา เพราะว่าเพียงเห็นสิ่งที่ปรากฏทางตา แต่ไม่รู้ความจริงของสิ่งที่ปรากฏทางตา และไม่รู้ความจริงของสภาพของจิต ที่เห็น เพราะฉะนั้น ขณะที่เพียงเห็นไม่ใช่วิปัสสนา ต่อเมื่อใดปัญญาประจักษ์แจ้งชัดในสภาพธรรมที่เป็นอนัตตา ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน เมื่อนั้นจึงชื่อว่าเห็นชัด เพราะว่าเห็นในที่นี้ หมายถึงรู้ชัดในสภาพธรรมที่ปรากฏตามความเป็นจริง
มีคำถามว่า บุคคลธรรมดาสามารถสำเร็จเป็นพระอรหันต์ได้หรือไม่
อ. ไม่ทราบว่าบุคคลที่ไม่ใช่บุคคลธรรมดาจะเป็นแบบไหน แต่ใครก็ตาม ที่บรรลุเป็นพระอรหันต์ คงไม่เป็นบุคคลธรรมดาแล้ว เพราะว่าความหมายหนึ่งของบุคคลธรรมดาคงหมายถึงคนที่มีกิเลส รู้สึกว่าจำเป็นต้องเป็นคนที่มีกิเลสถ้าจะบรรลุเป็นคนที่ไม่มีกิเลส ใช่ไหม เพราะฉะนั้น คนเดียวที่จะบรรลุเป็นพระอรหันต์ได้ คือ คนที่มีกิเลส คือ คนธรรมดา สักวัน ถ้าเห็นโทษของกิเลส และรู้ว่ากิเลสไม่ใช่ตัวตน และสิ่งที่ไม่ใช่กิเลสก็ไม่ใช่ตัวตน ศึกษาไปเรื่อยๆ จนละความเห็นผิดว่าสิ่งที่ปรากฏทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจเป็นตัวตน สักวันจะละกิเลสได้ และไม่เป็นคนธรรมดาแล้ว แต่จะเป็นพระอริยบุคคลตามขั้นของพระโสดาบัน พระสกทาคามี พระอนาคามี และพระอรหันต์ ซึ่งไม่มีกิเลสเลย
สำหรับพระอรหันต์ทั้งหลาย ก็ยังมีส่วนที่จะเรียกว่าเป็นบุคคลธรรมดาได้ เพราะยังเห็นและได้ยิน ... เขายังมีนิสัยของเขา ถ้าเขาเคยเป็นคนที่ชอบเดินไป เมื่อบรรลุเป็นพระอรหันต์แล้ว เขาไม่มีกิเลส แต่ไม่ใช่ว่าเขาจะเปลี่ยนนิสัยเป็นคน ไม่ชอบเดินไป หรือว่าเขาเป็นคนที่ชอบพูดบ่อยๆ ก็ยังคงพูดบ่อยๆ แต่เวลาพูดไม่ใช่อกุศล คิดว่าคนที่เป็นพระอรหันต์ ถ้ามีพระภิกษุรูปใดรูปหนึ่งที่เป็นพระอรหันต์ คงยากที่จะรู้ได้ว่าท่านเป็นพระอรหันต์ รู้สึกว่ามีเรื่องในพระไตรปิฎกของพระอรหันต์ ที่มีคนตามหลังถามว่า พระอรหันต์เป็นอย่างไร พระอรหันต์บอกว่า บางทีอยู่ใกล้ชิดถึงขนาดที่กำลังตามหลังพระอรหันต์แล้วก็ยังไม่รู้ว่าผู้นั้นเป็นพระอรหันต์ เพราะว่า เป็นธรรมดา
สุ. ต่อไปคำถามที่ ๒. อยากทราบว่า จะมีหนทางอื่นอีกหรือไม่ที่จะสำเร็จความสุขสูงสุด คือ พระอรหันต์ โดยไม่ใช้แนวทางของพระพุทธเจ้า
ถ้าเข้าใจความหมายของอรหันต์ว่า หมายถึงผู้ที่อบรมเจริญปัญญารู้แจ้ง อริยสัจจธรรมดับกิเลสหมดไม่เกิดอีกเลย ก็จะเห็นได้ว่า ไม่มีในศาสนาอื่นเลย หรือว่าจะใช้วิชาการทางอื่นก็เป็นไปไม่ได้ เพราะไม่มีการสอนให้อบรมเจริญปัญญา เพราะฉะนั้น ตอบสั้นๆ ได้ว่า ไม่มีหนทางอื่นอีก หรือว่าท่านผู้อื่นคิดว่ามี มีไหม นักวิทยาศาสตร์จะเก่งกว่าพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าหรือเปล่า
บางคนอาจจะคิดว่า พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงเล่นเปียโน ได้ไหม คือ ความสงสัยมีหลายอย่างเหลือเกิน เพราะยังไม่เข้าใจความเป็น พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าโดยแท้จริง โดยเฉพาะพระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ไม่ใช่พระปัจเจกพุทธเจ้า หรือไม่ใช่เป็นเพียงพระอรหันตสาวก แต่ เป็นพระบรมศาสดา เป็นสัมมาสัมพุทโธ เป็นผู้ที่ได้บำเพ็ญพระบารมีที่จะทำให้รู้แจ้งอริยสัจจธรรม พร้อมด้วยทศพลญาณที่สามารถแสดงธรรมอนุเคราะห์โปรดสัตว์โลก ให้สามารถอบรมเจริญปัญญาดับกิเลสได้ด้วย เพราะฉะนั้น ไม่มีหนทางอื่นเลย นอกจากหนทางของพระองค์
คำถามข้อ ๓. วิทยาศาสตร์และศาสนามีทางบรรจบกันได้หรือไม่
อ. วิทยาศาสตร์คงเป็นเรื่องของรูปธรรมอย่างเดียวหรือเปล่า สำหรับพระพุทธศาสนา เป็นเรื่องของรูปธรรมด้วย นามธรรมด้วย วิทยาศาสตร์ที่เขาศึกษาจิตวิทยา ส่วนมากจะพยายามวัดจิตใจในแง่วิทยาศาสตร์ เพราะว่าวิทยาศาสตร์ เป็นการวัด ที่วัดจิตใจก็คงไม่ใช่จิตใจที่วัด แต่วัดอะไรๆ ที่เป็นรูปธรรมและเข้าใจว่า จิตจะเป็นอย่างนี้ เป็นอย่างนั้น แต่ที่จริงไม่ทราบ เรื่องสำคัญที่สุดในพระพุทธศาสนา คือ เรื่องของวิชชาและอวิชชา ความเข้าใจถูกกับความเข้าใจผิด กุศลกับอกุศล เท่าที่ผมเคยศึกษามา วิทยาศาสตร์ไม่สนใจกุศล อกุศล
สุ. คำถามต่อไป การละเว้นจากการฆ่าสัตว์เป็นสิ่งทำได้ยากสำหรับ ผู้ที่ประกอบอาชีพทำกิจการงานทางโลก ทำอย่างไรจึงจะพ้นทุกข์ ไม่บาปสำหรับ ผู้ประกอบการฆ่าสัตว์เพื่อบริโภค เช่น ชาวประมง เจ้าของโรงฆ่าสัตว์ ผู้ประกอบกิจการฆ่าสัตว์ต่างๆ เป็นต้น
อ. ตอบแล้วในเรื่องของอาชีพทหาร
สุ. แต่นี่ถามถึงอาชีพอื่นด้วย คือ ทำอย่างไรจึงจะพ้นทุกข์ ไม่บาป ซึ่งที่จริงคุณอัลลันก็ตอบไปแล้วว่า ต้องเจริญธรรมจนถึงเป็นพระโสดาบัน
อ. และคนที่ประกอบอาชีพเหล่านี้ ไม่ใช่ว่าศึกษาธรรมไม่ได้ ไม่ใช่ว่า เจริญวิปัสสนาไม่ได้ ไม่มีห้าม ไม่ใช่ว่าคนที่เคยฆ่าสัตว์หรือที่จะฆ่าสัตว์ในอนาคต เป็นคนที่ไม่สามารถจะฟังและศึกษา และเจริญความเข้าใจถูกจนกระทั่งละความ เข้าใจผิด จนกระทั่งเป็นพระโสดาบัน ไม่สามารถที่จะฆ่าสัตว์ได้
ทุกคนมีสิทธิ์ที่จะฟัง ที่จะศึกษา ที่จะเข้าใจ ที่จะปฏิบัติธรรม ขั้นสำคัญที่สุด คือ เจริญปัญญา ปัญญาอย่างเดียวที่จะทำให้ไม่สามารถฆ่าสัตว์ได้อีก ไม่ใช่ว่าจะบังคับตัวเอง หรือจะเปลี่ยนอาชีพ เพราะยิ่งเปลี่ยนอาชีพจากชาวประมง อาจจะเจอสถานการณ์ที่จำเป็นต้องฆ่าคนด้วยซ้ำ เพราะถ้าไม่ฆ่าอาจจะไม่ปลอดภัย ไม่มีใครที่สามารถหลีกเลี่ยงการฆ่าได้ถ้ายังไม่เป็นพระโสดาบัน ยังมีโอกาสที่จะฆ่าสัตว์ ฆ่ามนุษย์ได้ ถ้ากิเลสยังไม่ดับจนเป็นพระโสดาบัน
เพราะฉะนั้น ไม่ต้องคำนึงถึงอาชีพจนกระทั่งทำอะไรไม่ถูก ขอให้ฟัง ขอให้ศึกษาธรรม ขอให้เกิดศรัทธา ขอให้เกิดปัญญาเรื่อยๆ
สุ. คำถามต่อไป ขอความกรุณาบรรยายธรรมที่เป็นกุศล ๑๐ ประการ อีก ๙ ประการที่ท่านอาจารย์ยังไม่ได้อธิบาย และยกตัวอย่างขยายความง่ายๆ พอเป็นแนวทางในการปฏิบัติสำหรับผู้ด้อยปัญญาด้วย
คือ บุญกิริยาวัตถุอีก ๙
อ. ประการแรก คือ ให้ทาน อย่างที่อธิบายไปแล้วว่า ไม่ง่ายเท่าไร ประการที่ ๒ อนุโมทนาในกุศลที่คนอื่นเขาทำ ข้อนี้ผมคิดว่าค่อนข้างง่ายหน่อย เพราะว่าตัวเองไม่ต้องประกอบอะไร ไม่ต้องให้อะไร ไม่ต้องเว้นการกระทำใดๆ ทั้งสิ้น เพียงแต่เห็นหรือได้ข่าวว่าคนอื่นเขาทำดีก็อนุโมทนาตาม ดีใจในการกระทำของเขา อนุโมทนาเป็นบุญกิริยาวัตถุประการที่ ๒ เห็นใครทำดี คิดดี หรือได้ข่าวว่าทำดี เราอนุโมทนาตาม เป็นการปฏิบัติในชีวิตประจำวัน เดี๋ยวนี้ก็มีโอกาสอนุโมทนาใน การที่มีคนหลายคนกำลังนั่งฟังธรรม ง่ายๆ เห็นเขากำลังนั่งฟังธรรม เห็นเขาตั้งใจฟัง เห็นเขาตั้งใจถาม ก็อนุโมทนาได้
ประการที่ ๓ การอุทิศส่วนกุศลให้ คือ ทำกุศลเมื่อไร แทนที่จะเป็นประโยชน์แก่ตัวเองคนเดียว นึกถึงคนอื่นอยากจะให้เขาได้ประโยชน์ด้วย ให้โอกาสคนอื่นได้อนุโมทนาตาม เช่น บอกเขาว่าเราทำดี ไม่ใช่อวดตัว แต่รู้ว่าถ้าเขาไม่รู้ก็ไม่สามารถเกิดอนุโมทนาจิตได้ จึงบอกเขาให้ทราบว่า เราทำดีอย่างนี้อย่างนั้น ให้เขาเกิดอนุโมทนาจิต หรือถ้าจะละเอียดกว่านี้ คือ ไม่ใช่แต่เฉพาะในโลกนี้ อาจจะนึกถึงคนในภพอื่นที่ลำบากกว่าโลกนี้ก็ได้ ที่สิ้นชีวิตไปแล้ว บางคนอาจจะเกิดในภพในชาติที่สามารถรู้ถึงการกระทำของเราได้ ถ้าเขารู้ได้ และเราสนใจเขา อยากให้เขามีโอกาสทำบุญที่ช่วยให้เขาพ้นจากภพนั้นที่ไม่น่าอยู่ ก็คิดถึงเขาเวลาทำบุญ และนึกในใจว่า อยากให้เขาอนุโมทนาด้วย ซึ่งเขาจะอนุโมทนาหรือไม่ก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง ไม่สามารถบังคับได้ คนที่เราอุทิศให้ อาจจะอยู่ในภพที่ไม่รู้เรื่องของเราก็ได้ หรือว่าเกิดบนสวรรค์ก็ไม่สนใจ เกิดเป็นมนุษย์ก็ไม่รู้เรื่อง เราไม่รู้ แต่ตอนที่เรานึกถึงเขา หวังดีต่อเขา อยากให้เขามีโอกาสเกิดกุศลจิตอนุโมทนาในบุญของเรา ตอนนั้นเป็นบุญของเราเอง เป็นกุศลธรรม เป็นการปฏิบัติธรรมอีกชนิดหนึ่งที่ไม่ใช่ประการแรก ที่ไม่ใช่ประการที่ ๒ คือ ไม่ใช่การให้ทาน ไม่ใช่การอนุโมทนา แต่เป็นการให้คนอื่นหรือสัตว์อื่นมีโอกาสที่จะอนุโมทนาตาม
สุ. ขอแทรกข้อนี้นิดหนึ่ง ซึ่งจะเป็นประโยชน์มากสำหรับทุกท่านที่มี บุพพการี เช่น มารดาบิดา ญาติผู้ใหญ่ หรือผู้มีพระคุณซึ่งท่านได้สิ้นชีวิตไปแล้ว ไม่มีใครทราบว่าท่านเหล่านั้นเกิดที่ไหน แต่ว่ามีภพภูมิหลายภูมิ ซึ่งเป็นภูมิที่ต่ำ ไม่เหมือนกับภูมิมนุษย์และภูมิสวรรค์ คือ การเกิดในนรก ๑ การเกิดเป็นเปรต ๑ การเกิดเป็นอสุรกาย ๑ การเกิดเป็นสัตว์ดิรัจฉาน ๑
สำหรับภูมิที่สามารถรับอุทิศส่วนกุศลได้มีอยู่ภูมิหนึ่ง คือ ภูมิเปรต และทุกคนไม่ใช่ว่าตายแล้วจะไม่เป็นเปรต ตราบใดที่ยังไม่ใช่พระโสดาบัน ยังต้องมีการเกิดในอบายภูมิ เพราะว่าอกุศลกรรมที่ได้ทำแล้วจะเป็นปัจจัยทำให้เกิดเป็นเปรตก็ได้ เป็นสัตว์ในนรกก็ได้ เป็นดิรัจฉานก็ได้ เป็นอสุรกายก็ได้
เพราะฉะนั้น เมื่อบุคคลหนึ่งบุคคลใดได้กระทำกุศลแล้ว ขอจงให้กุศลนั้น เป็นประโยชน์กับผู้มีคุณ ไม่ว่าจะเป็นบุพพการี หรือว่าญาติมิตรสหายที่ล่วงลับไปแล้วโดยการอุทิศส่วนกุศลให้ทุกครั้งที่ได้กระทำกุศล ซึ่งจะเป็นประโยชน์มาก เพราะถ้า เป็นผู้ที่ไม่ทราบเรื่องนี้ ทำบุญแล้วก็ไม่อุทิศส่วนกุศล เพราะฉะนั้น ผู้ที่ควรจะได้รับอุทิศส่วนกุศลก็หมดโอกาส
อ. เดี๋ยวนี้ได้ด้วย เพราะว่าทำบุญมาบ้างแล้ว ประการต่อไป ประการที่ ๔ การรักษาศีล การรักษาศีลเป็นสิ่งที่น่าสนใจ เพราะว่ามีโอกาสล่วงศีลเรื่อย บางคนบอกว่า ข้อที่ ๕ ไม่สามารถรักษาได้เลย ผมไม่เชื่อ รักษาได้ ต้องกล้าหาญหน่อย ต้องมีความมั่นใจในตัวเองก็ทำได้ และมีประโยชน์ด้วย แต่ถ้าไม่ทำจะเกิดอะไรขึ้น ก็จะดื่มไปเรื่อยๆ สะสมจิตใจแบบนี้ไปเรื่อยๆ จนกระทั่งวันใดวันหนึ่งในชาติหนึ่ง ชาติใดย่อมบ้า เพราะว่าผลของการล่วงศีลข้อ ๕ คือ จะต้องบ้า
ทุกคนเคยเห็นคนบ้า ใช่ไหม น่าเกลียดที่สุด น่าสงสารที่สุด แต่นี่คือ ผลสุดท้ายของการล่วงศีลข้อ ๕ และคนที่อยากจะเจริญปัญญา ควรต้องระมัดระวังที่สุด เพราะว่าการเป็นบ้าตรงกันข้ามกับการเจริญปัญญา
แต่ละข้อของศีล ๕ น่าสนใจมาก ข้อแรกไม่ต้องพูดถึงมนุษย์ แต่อย่างที่อาจารย์พูดถึง ยุง แมลงวัน แมลงสาป เคยฆ่าไหม วันนี้ฆ่ามาแล้วหรือยัง ออกจากห้องนี้จะฆ่าไหม ที่บ้านคืนนี้จะฆ่าไหม ซึ่งสัตว์เล็กๆ เหล่านี้ก็ไม่ต่างกับเราเท่าไร ตาก็มี หูก็มี จมูกก็มี ลิ้นก็มี กายก็มี โดยเฉพาะกาย สัตว์ที่มีกายก็ต้องเจ็บทางกาย ต้องรู้สึกทางกาย และมีใจด้วย คนที่มีใจไม่อยากตาย สัตว์มีชีวิตมีใจก็ไม่อยากตาย เพราะฉะนั้น ไม่ต่างกันเลย ยุงกับเรา อยากมีชีวิต อยากเป็นสุข
ถ้าคุณอยากปฏิบัติธรรม ไม่ทราบคุณคิดว่ายากหรือง่าย แต่มีโอกาสเสมออย่างที่ว่า มีโอกาสที่จะละเว้นนิดๆ หน่อยๆ ฝึกจิต ไม่อย่างนั้นก็ไปเรื่อยๆ จนกระทั่งถ้าสามารถฆ่าสัตว์เล็กน้อยได้โดยไม่รู้สึกอะไรเลย สักวันก็อาจจะฆ่าสัตว์ ที่ใหญ่กว่านี้หน่อยหนึ่งได้เป็นครั้งแรก เมื่อเป็นครั้งแรกแล้วสามารถที่จะมีครั้งต่อไปได้จนกระทั่งไม่รู้สึกอะไรเลย ต่อจากนั้นก็เป็นสัตว์ที่ใหญ่กว่านั้นอีกได้
แนวทางเจริญวิปัสสนา เล่ม ๑๗๒ ตอนที่ ๑๗๑๑ – ๑๗๒๐
เรียบเรียงอักษรให้อยู่ในรูปแบบหนังสือ โดยมีเนื้อหาใจความสำคัญครบถ้วน
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1686
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1687
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1688
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1689
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1690
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1691
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1692
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1693
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1694
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1695
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1696
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1697
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1698
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1699
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1700
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1701
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1702
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1703
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1704
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1705
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1706
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1707
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1708
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1709
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1710
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1711
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1712
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1713
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1714
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1715
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1716
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1717
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1718
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1719
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1720
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1721
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1722
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1723
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1724
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1725
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1726
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1727
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1728
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1729
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1730
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1731
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1732
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1733
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1734
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1735
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1736
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1737
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1738
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1739
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1740
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1741
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1742
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1743
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1744
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1745
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1746
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1747
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1748
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1749
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1750
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1751