แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1720


    ครั้งที่ ๑๗๒๐


    สาระสำคัญ

    จดหมายจากท่านผู้ฟังจังหวัดราชบุรี (ต่อ) - ความเข้าใจที่ไม่ตรงและคลาดเคลื่อนจากความเป็นจริง

    ท่านอาจารย์ ส. อรหันตสูตร - เทวดาไม่หมดความสงสัยในพระอรหันต์


    ที่ห้องประชุมตึกสภาการศึกษามหามกุฏราชวิทยาลัย

    วันอาทิตย์ที่ ๑๓ กันยายน ๒๕๓๐


    สุ. บางท่านอาจจะคิดว่า ผู้ที่มีศีลตามพระวินัยนั้นเป็นพระอรหันต์ เพราะว่าดูเพียงอาการภายนอก ไม่ได้สนทนากัน ก็ไม่สามารถรู้ถึงความรู้ความเข้าใจของบุคคลนั้นได้ ซึ่งก็มีจดหมายของท่านผู้ฟังฉบับหนึ่งจากจังหวัดราชบุรี ขอเชิญ ท่านผู้ฟังช่วยอ่านด้วย

    จังหวัดราชบุรี

    ๒๗ สิงหาคม ๒๕๓๐

    เรียน ท่านอาจารย์สุจินต์ที่นับถือทราบ

    ดิฉันเป็นแฟนรายการของท่านอาจารย์มานานแล้วตั้งแต่ยังอยู่วิทยุยานเกราะของมูลนิธิอภิธรรม จนย้ายมาจัดที่ สทร. ๒ ก็ฟังมาเรื่อยๆ (แต่ไม่เป็นประจำ) ฟังมาประมาณ ๑๘ ปี เห็นจะได้

    สำหรับรายการธรรมเมื่อวันที่ ๑๗ มิถุนายน นี้ ดิฉันคุยกับคนรู้จักกัน (ที่บ้าน สนิทกันพอควร) เขาพูดกันถึงลูกศิษย์ของท่านอาจารย์ที่ราชบุรีบอกกับเขาว่า สมัยนี้ไม่มีหรอกพระอรหันต์ พระพุทธเจ้านิพพานไปแล้ว เขาบอกอย่างนี้ แต่ เพื่อนบ้านคนนั้นเขายังเชื่อมั่นในคำสอนของพระพุทธองค์อยู่ว่า ตราบใดที่พระพุทธศาสนายังอยู่ พระอรหันต์ย่อมมีอยู่ตราบนั้น และถ้าหากใครประพฤติปฏิบัติตามที่ท่านสอนไว้ทุกอย่าง คนนั้นย่อมได้เป็นพระอรหันต์อย่างแน่นอน อันนี้ดิฉันเชื่อ เพื่อนบ้านคนนี้เขาบวชนาน และเป็นอาจารย์สอนพระมานานแล้ว เพิ่งสึกมาประมาณ ๑๐ กว่าปี

    เมื่อวันที่ ๑๗ กรกฎาคม นี้ ท่านอาจารย์ได้พูดที่ สทร. ๒ ตอนสามทุ่มว่า พระอรหันต์สมัยนี้ไม่มีหรอก เป็นไปไม่ได้ เป็นได้อย่างมากก็แค่พระอนาคามีเท่านั้น ซึ่งดิฉันไม่เห็นด้วยอย่างยิ่ง ก็ในเมื่อเขาได้รู้ ได้ละ ทำให้แจ้ง เจริญ ทำให้มาก จนถึงขีดสุดท้ายแล้วตามที่พระองค์ท่านบอกไว้ ทำไมอาจารย์จึงบอกว่าไม่ได้อีก

    ตั้งแต่วันที่ ๑๗ กรกฎาคม เป็นต้นมา ดิฉันก็ไม่ได้ฟังรายการธรรมของอาจารย์อีกเลย (เพิ่งได้ยินกับหูตัวเอง) เพราะขืนฟังไปอีกก็ไม่แน่ใจว่า สิ่งที่ท่านบอกมาอีกนั้นจะผิดอย่างมากมายเหมือนวันนั้นหรือไม่ อย่างนี้ทำให้คนที่ต้องการหลุดพ้นจากทุกข์ และต้องการสุขอย่างยิ่ง หมดไปเลย เพราะท่านอาจารย์พูดแท้ๆ เขาจะพายต่อไปทำไมเล่า ในเมื่อเขาพายจนถึงอีกฝั่งหนึ่งแล้วอาจารย์ยังบอกว่า ยังขึ้นฝั่งไม่ได้ อยากทราบว่า เหตุใดจึงไม่ได้ เขาหลุดพ้นทุกข์ทั้งปวงแล้ว ยังเป็นไม่ได้อีกหรือ

    การเป็นพุทธะต้องอาศัยบุญบารมีมากมายนั้น จริงอยู่ แต่การเป็นอรหันต์นั้น ดิฉันคิดว่าไม่ลำบากมากมายจนเราไม่สามารถบรรลุได้ มันไม่เกี่ยวกับบุญบารมีอะไรมากนักหรอก เพียงแต่อาศัยสติปัญญาเข้าช่วยเท่านั้นเอง เพราะมีสูตรพระธรรมไว้ให้แล้ว สติและปัญญาเป็นสิ่งที่เจริญให้มากขึ้นได้

    ดิฉันยังจำคำพูดของท่านเมื่อประมาณ ๑๗ ปีก่อนได้ ท่านอาจารย์พูดว่า คนที่เกิดในสมัยพุทธกาลนั้นเป็นคนมีบุญมาก คนที่เกิดหลังพุทธกาลลงมาเรื่อยๆ เป็นคนมีบุญน้อยลงไปเรื่อยๆ มาบัดนี้ ดิฉันไม่เชื่อว่าจะเป็นจริงอย่างนั้นเลย พวกเดียรถีย์ นางมาณวิกา มาคัณฑิยา เหล่านี้ ก็ได้เกิดมาร่วมชาติกับพระพุทธองค์ ดิฉันคิดว่าเขาเหล่านั้นไม่ใช่คนมีบุญหรอก คนยังไม่หมดกิเลสก็ต้องเกิดกันอยู่อีก นั่นแหละ จะไปคิดอย่างนั้นไม่ถูก พวกเขาได้มีโอกาสพบปะเจอะเจอพระองค์ท่าน ก็จริง แต่เขาไม่เห็นท่านเลย ท่านบอกว่า คนที่เห็นธรรม คนนั้นแหละถึงเห็นพระองค์ คนที่เห็นพระองค์ คนนั้นเห็นธรรม คนที่เห็นท่านและเอามือไปลูบคลำพระวรกาย ของท่าน ท่านก็ยังบอกว่า บุคคลนั้นยังเป็นผู้ที่ชื่อว่าไม่ใกล้ชิดท่าน คนที่ใกล้ชิดท่าน คือคนที่ประพฤติปฏิบัติตามคำสอนของท่านทุกอย่าง สิบปากว่าไม่เท่าตาเห็น สิบตาเห็นไม่เท่ามือคลำ จริงไหมอาจารย์

    ดิฉันขอยืนยันว่า พระอรหันต์มีจริงๆ เมื่อปี ๒๗ นี้ ดิฉันมีปัญหานิดหน่อย ก็ลงมือเขียนจดหมายถึงพระอาจารย์ทางภาคใต้องค์หนึ่ง ให้ท่านช่วยเขียนสอนกัมมัฏฐานให้ด้วย แต่เขียนยังไม่จบก็นึกถึงพระสุปฏิปันโนองค์หนึ่งได้ จึงตัดสินใจให้หลวงปู่ช่วยดีกว่า พอตกกลางคืนก็จุดธูปบอกท่านให้ท่านช่วยสอนกัมมัฏฐานให้ เสร็จแล้วก็เข้านอนและหลับไป รู้สึกตัวตื่นขึ้นเมื่อตอนตีห้า พอรู้สึกตัวได้ ๓ – ๔ วินาที ก็ได้ยินเสียงหลวงปู่องค์จริงพูดขึ้นมาให้ได้ยินว่า หลวงปู่มาโปรดๆ

    ดิฉันก็ถามเรื่องส่วนตัวเล็กน้อย นับตั้งแต่วันนั้นเป็นต้นมา ท่านก็สอนอะไร ต่ออะไรต่างๆ นานา (การสนทนาระหว่างดิฉันกับหลวงปู่เป็นขึ้นที่ใจ ท่านคงเข้าฌานสมาบัติคอยดิฉัน) แรกๆ ดิฉันอยากรู้อะไรก็ถามท่านทันที ท่านก็ตอบทันที ไม่ต้องเลือกเวลาเช้า สาย บ่าย ค่ำ นานๆ เข้าก็เกิดสงสารท่าน ต้องเก็บเอาไว้ถาม ตอนกลางคืนหรือเช้ามืดเท่านั้น แต่ท่านไม่เป็นเหมือนดิฉันเลย ท่านเมตตาดิฉันเหลือเกิน ไม่ว่าดิฉันจะทำ พูด (ในใจ) คิดอะไรที่ไม่สมควรไม่รู้ประสาบางอย่าง ท่านก็จะบอกทันที (ดิฉันได้ยินคนเดียวเท่านั้น)

    เช่น ดิฉันเอาหมอนไปตากแดด พอตอนกลางวันก็ลงไปกลับหมอน แล้วเอามือตบที่หมอน ตบแรงๆ ด้วย (เห็นเขาว่านุ่นมันฟูดี) ท่านคงดูดิฉันตลอดเวลา ท่านก็พูดดังๆ ว่า ตบหมอนทำไม ของมีคุณ ดิฉันก็อึ้งไปนิดหนึ่งแล้วตอบว่า ตบให้มันดี นี่แหละ ท่านก็สอนว่า งั้นบอกว่า ตบให้เรียบร้อยดีขึ้น ดิฉันเลยได้ตบหมอนทุกใบ และกำหนดภาวนาในใจว่า ตบให้เรียบร้อยดีขึ้นไปด้วย

    ดิฉันไม่ได้เรียนกัมมัฏฐานอย่างเดียว ท่านบอกให้กำหนดด้วย มันเป็นการเจริญสติ กำหนดกิริยาการกระทำทุกอย่างตั้งแต่รู้สึกตัวตื่นขึ้นมาตอนเช้าจนถึง เวลานอน พอล้มตัวนอนก็กำหนดลมหายใจทันทีจนหลับไป ทำอย่างนี้ทุกวันเวลาเลย

    ท่านรู้ทุกอย่างเกี่ยวกับชีวิตและความเป็นมาของดิฉัน (ไม่เคยรู้จักคุ้นเคยกันมาก่อนเลย และดิฉันไม่เคยเห็นองค์จริงท่านด้วย) ตั้งแต่เกิดมาดิฉันได้ไปเกี่ยวข้องกับใคร รู้จักใครบ้าง ไม่ว่าจะเป็นทางวิทยุ โทรทัศน์ หนังสือพิมพ์และอื่นๆ ท่านรู้หมดเลย ดิฉันโกรธใครตอนไหน เรื่องอะไร และนับถือใคร ชอบใคร คิดอะไรขึ้นมาชีวิตจึงเป็นอย่างนั้นๆ ญาติที่ตายไปแล้วท่านก็รู้จัก ใครมีพระคุณต่อดิฉันบ้างท่านก็รู้ และสอนให้ดิฉันละเว้นชื่อผู้มีพระคุณ ชื่อพระสงฆ์ (รูปที่เอามาบูชาในบ้าน) เวลากำหนด เช่น ผู้มีพระคุณชื่อสุข ชื่อเติม ท่านก็แนะนำให้พูดกำหนดในใจว่า ได้ที่หรือยัง ใส่ ดังนี้เป็นต้น

    ท่านมีหูทิพย์ ตาทิพย์ ญาณทิพย์ และอะไรอื่นๆ อีกมาก สามารถนิมิตเสียงของตัวเองให้คนอื่นที่อยู่ไกลๆ ได้ยินได้ด้วย (ดิฉันอยู่ราชบุรี ส่วนท่านอยู่ที่เชียงใหม่) ท่านสอนไม่ให้พูดถึงใครเวลาที่กำหนดอยู่ มีอยู่ครั้งหนึ่งดิฉันกำลังทานข้าว ดิฉันก็พูด (ในใจ) ถึงน้าภิรมย์ ไม่ได้พูดเปล่า พอออกชื่อปุ๊บ มือก็หยิบอาหารมาใส่ปั๊บเลย ท่านก็บอกทันทีว่า “เอ็งเอาน้ารมย์ทำเป็นกับข้าว“ เพราะไม่รู้มาก่อนจึงถามว่า ทำไม ท่านก็บอกว่า มันไม่สมควร และความจริงที่ท่านไม่ยอมเปิดเผยให้ใครรู้ ก็ต้องเปิดเผยขึ้นมาจนได้

    เวลาล่วงไปประมาณเดือนกว่า วันนั้นดิฉันได้ถือเอาตะปูและค้อนไปตอกทำ ราวผ้าในห้องน้ำ พอทำเสร็จก็ออกมาจากห้องน้ำ ดิฉันก็ได้ยินเสียงหลวงปู่พูดขึ้นว่า “เมื่อกี้เอ็งเอาค้อนตอกหัวหลวงปู่” ดิฉันก็งง ตอบท่านว่า เปล่า ไม่ได้ทำ ทำที่ไหนกัน ท่านบอกว่า “เอ็งเอามือไปหยิบตะปู เอ็งก็บอกว่า หลวงปู่ แล้วเอ็งก็เอาค้อนตอก โป๊กๆ ลงไป เอ็งทำกับพระอรหันต์ ตกนรกถึง ๒๐๐– ๓๐๐ ปีทีเดียว ทำเอาเองนะ” ดิฉันจึงถามว่า ทำไมถึงเป็นอย่างนั้นล่ะ ท่านบอกว่า “เพราะมันอยู่ในระหว่างกำหนด”

    ข้อเสียของดิฉัน คือ เวลาทำงานแล้วไม่ค่อยเป็นอันทำ คือ ทำๆ หยุดๆ หยุดคุยกับผู้คน (ในใจ) จนเคยตัว มันเหมือนเราขึ้นรถแล้วแต่มีกฎระเบียบบอกไว้ว่า ห้ามยื่นแขนขาส่วนใดส่วนหนึ่งออกนอกรถ เรื่องแบบนี้ท่านต้องรอให้เกิดขึ้นก่อน จึงบอกให้รู้ ท่านบอกด้วยความเมตตาแท้ๆ เชียว กลัวว่าดิฉันทำสิ่งไม่สมควรมากๆ แบบนี้บ่อยๆ เข้า ไม่เป็นการดีแน่ (คงตกนรกอานไปเลย) ทำแล้วไม่เกิดมีผลร้ายขึ้นมาท่านก็คงไม่บอก เพราะความไม่รู้ของดิฉันแท้ๆ เรื่องนี้จึงจำเป็นต้องเปิดเผยขึ้นมา

    ถึงตอนนี้ท่านอาจารย์คงหายเข้าใจผิดแล้ว ไม่อยากให้ทุกฝ่ายเข้าใจผิดมากๆ อย่างนี้อีก แต่ถ้ายังมีความเชื่ออยู่เหมือนเดิม ก็เป็นสิทธิ์ของทุกคน และอาจเป็นเรื่องของกรรมๆ เวรๆ ก็ได้ ขอจบจดหมายแต่เพียงนี้

    ขอแสดงความนับถือ

    จากคนบ้านนอก ๒๔๙๗ ราชบุรี

    สุ. ไม่ทราบท่านผู้ฟังมีความเห็นอย่างไรบ้างไหมในเรื่องนี้

    อดิศักดิ์ ผมขอแสดงความเห็นรวมๆ ว่า ท่านผู้นี้ได้ฟังอาจารย์ที่วัดบวรมา ๑๘ ปี และที่วัดมหาธาตุที่สถานีวิทยุยานเกราะสมัยนั้นก็ฟังมากอยู่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งมากกว่าผม แต่น่าเสียดายที่ท่านมีความเข้าใจที่ไม่ตรง คลาดเคลื่อนหลายๆ อย่าง ก็อยากจะฝากไว้สำหรับผู้ที่ฟังว่า ไม่ใช่ฟังอาจารย์แล้วจะมีความเข้าใจถูก กันทุกคน

    สุ. เป็นที่น่าเสียดายที่ท่านผู้ฟังท่านนี้หยุดฟังไป และบอกว่า อยากจะให้ดิฉันมีความเข้าใจที่ถูกต้องว่ายังมีพระอรหันต์อยู่ แต่ไม่ทราบว่าผู้ที่เชื่อว่าสมัยนี้ยังมีพระอรหันต์ มีหลักอะไรที่เชื่อว่าบุคคลนั้นหรือบุคคลนี้เป็นพระอรหันต์ ซึ่งถ้าสอบถามผู้ที่มีความเชื่อนั้นว่า ทำไมเชื่อว่าท่านผู้นั้นท่านผู้นี้เป็นพระอรหันต์ คำตอบก็จะ ไม่เป็นไปในเรื่องของปัญญาที่รู้แจ้งสภาพธรรมที่กำลังปรากฏตามปกติ ตามความเป็นจริงในขณะนี้

    ตามจดหมายของคนบ้านนอก ๒๔๙๗ ราชบุรี ที่เขียนมานี้ ไม่ได้เป็นการอบรมเจริญปัญญารู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ แม้แต่การที่จะระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่เป็นนามธรรมและรูปธรรมก็ไม่มี เพราะเป็นเพียงความเชื่อว่า มีบางบุคคลที่เป็นพระอรหันต์ ได้ฌานสมาบัติ สามารถนิมิตเสียงแม้ว่าจะอยู่ไกล มาพูดคุยด้วยได้

    การเป็นพระอรหันต์ ไม่ใช่เป็นเรื่องง่าย หรือแม้แต่การเป็นพระโสดาบัน ก็ไม่ใช่เป็นเรื่องง่าย และแม้แต่การที่สติปัฏฐานจะเกิดระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏจนกระทั่งปัญญาค่อยๆ เจริญขึ้นเป็นวิปัสสนาญาณแต่ละขั้น ก็ไม่ใช่เป็นไปได้โดยง่ายเลย แม้ในกาลที่พระผู้มีพระภาคยังไม่ทรงดับขันธปรินิพพาน ซึ่งเป็น กาลสมัยที่เป็นกาลสมบัติ ในสมัยนั้นมีผู้ที่รู้แจ้งอริยสัจจธรรมเป็นพระอริยบุคคล เป็นจำนวนมากทั้งคฤหัสถ์และบรรพชิต แต่แม้กระนั้นในครั้งนั้นก็ยังมีผู้ที่ตรงกันข้ามกับคนในสมัยนี้ คือ มีผู้ที่สงสัยว่า บุคคลนั้นบุคคลนี้เป็นพระอรหันต์หรือ นี่คือความต่างกัน

    คนในสมัยนี้เชื่อว่าบุคคลนั้นบุคคลนี้เป็นพระอรหันต์โดยไม่มีหลัก แต่คน ในสมัยที่พระผู้มีพระภาคยังไม่ปรินิพพานนั้น แม้ว่าจะมีพระอริยบุคคลเป็นจำนวนมาก แต่ก็ยังมีผู้ที่สงสัยว่า ผู้นั้นผู้นี้เป็นพระอรหันต์หรือ

    ทั้งนี้ก็เป็นเพราะว่าความยากและความลึกซึ้งของพระธรรม ถ้าไม่มีความอดทนพอที่จะศึกษาพิจารณาให้เข้าใจโดยละเอียด โดยถูกต้องจริงๆ ไม่มีทางที่จะรู้ได้ว่า บุคคลใดเป็นพระอริยบุคคล และบุคคลใดไม่ใช่พระอริยบุคคล

    สังยุตตนิกาย สคาถวรรค อรหันตสูตร มีข้อความว่า

    เทวดาที่อยู่ในป่า ได้ยินภิกษุผู้อยู่ในป่าพูดกันว่า เราฉันอาหาร เรานั่ง บาตรของเรา จีวรของเรา เป็นต้น เทวดานั้นก็คิดว่า เราสำคัญว่าภิกษุเหล่านี้ เป็นพระขีณาสพ (คือ เป็นพระอรหันต์) ก็แต่ถ้อยคำอิงอาศัยความเห็นว่า เป็นคนเป็นสัตว์ชื่อเห็นปานนี้ของพระขีณาสพทั้งหลายมีอยู่หรือไม่หนอ

    คือ สงสัยเวลาที่ท่านพูดว่า เรานั่ง บาตรของเรา จีวรของเรา จะอิงอาศัยความเห็นว่า เป็นคน เป็นสัตว์ ยังมีอยู่หรือไม่ และเพื่อที่จะทราบความเป็นไปนั้น จึงได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคว่า

    ภิกษุใดเป็นผู้ไกลจากกิเลส มีกิจทำเสร็จแล้ว มีอาสวะสิ้นแล้ว เป็นผู้ทรงไว้ ซึ่งร่างกายอันมีในที่สุด ภิกษุนั้นพึงกล่าวว่า เราพูด ดังนี้บ้าง บุคคลทั้งหลายอื่น พูดกะเรา ดังนี้บ้าง

    พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

    ภิกษุใดเป็นผู้ไกลจากกิเลส มีกิจทำเสร็จแล้ว มีอาสวะสิ้นแล้ว เป็นผู้ทรงไว้ ซึ่งร่างกายอันมีในที่สุด ภิกษุนั้นพึงกล่าวว่า เราพูด ดังนี้บ้าง บุคคลทั้งหลายอื่น พูดกะเรา ดังนี้บ้าง ภิกษุนั้นฉลาด ทราบคำพูดในโลก พึงกล่าวตามสมมติที่พูดกัน

    เพราะฉะนั้น ไม่ต้องกลัวที่จะพูดว่า เรา หรือว่าคนอื่น เพราะว่าต้องอบรมเจริญปัญญาที่จะรู้ว่า สภาพธรรมที่มีจริงๆ เป็นปรมัตถธรรม ไม่ใช่ตัวตนที่เที่ยง ที่ยั่งยืน เมื่อเข้าใจแล้วก็ยังคงพูดอย่างนั้นได้ว่า เรา หรือว่าบุคคลอื่น เพราะว่าเป็นผู้ที่ฉลาด ทราบคำพูดในโลก

    ข้อความในอรรถกถาอธิบายว่า

    ภิกษุนั้นฉลาด ทราบคำพูดในโลก พึงกล่าวตามสมมติที่พูดกัน

    ไม่เปลี่ยนแปลง แม้เป็นพระอริยบุคคลหรือพระอรหันต์แล้ว เคยพูดอย่างไร ก็พูดอย่างนั้น

    ข้อความต่อไปมีว่า

    แม้ว่าจะประจักษ์แจ้งอริยสัจจธรรม ดับกิเลสหมดสิ้นแล้ว แต่ก็ไม่นำ คำที่พูด สมัญญัง คำพูดนี้ถือเป็นภาษาของชาวโลก เป็นโวหารของชาวโลก ให้แตกต่างกัน

    ไม่ใช่หมายความว่าผู้ที่เป็นพระอริยบุคคลหรือเป็นพระอรหันต์แล้ว จะมีคำพูดพิเศษซึ่งต่างจากกับคำพูดของชาวโลกทั่วๆ ไป เพราะฉะนั้น ก็ควรที่จะกล่าวว่า เรา ของเรา ดังนี้

    ไม่กล่าวว่า ขันธ์ทั้งหลายย่อมบริโภค ขันธ์ทั้งหลายย่อมนั่ง บาตรของขันธ์ทั้งหลาย จีวรของขันธ์ทั้งหลาย ดังนี้ ความแตกต่างกันแห่งคำพูดมีอยู่ แต่ใครๆ ก็ทราบไม่ได้

    คือ ไม่มีทางรู้ว่าหมายความถึงขันธ์ไหน ถ้าพูดว่า บาตรของขันธ์ทั้งหลาย จีวรของขันธ์ทั้งหลาย หรือว่า ขันธ์ทั้งหลายย่อมนั่ง ขันธ์ทั้งหลายย่อมบริโภค

    แต่เทวดาก็ไม่หมดความสงสัย แสดงให้เห็นถึงการสะสมที่ต่างกันของ แต่ละบุคคล บางบุคคลฟังพระธรรม พิจารณาพระธรรมตรงๆ และเข้าใจได้ แต่บางคนสะสมวิจิกิจฉา ความสงสัยไว้มาก ไม่ว่าจะเป็นเรื่องเล็กๆ น้อยๆ เรื่องหนึ่งเรื่องใด ก็อดที่จะวิจารณ์ หรือตรึก หรือคิดออกนอกแนวไปบ้าง ตามการสะสม เพราะฉะนั้น เทวดานั้นก็ยังคิดว่า ถึงแม้ท่านจะใช้คำว่า เรา หรือว่าของเรา โดยไม่มีความเห็นผิดแล้ว แต่อาจจะพูดว่า เรา เพราะยังมีมานะอยู่ก็เป็นได้ ด้วยเหตุนั้นเทวดานั้นเมื่อไม่หมดความสงสัยในพระอรหันต์ จึงกราบทูลถามต่อไปว่า

    ภิกษุใดเป็นพระอรหันต์ มีกิจทำเสร็จแล้ว มีอาสวะสิ้นแล้ว เป็นผู้ทรงไว้ ซึ่งร่างกายอันมีในที่สุด ภิกษุนั้นยังติดมานะหรือหนอจึงกล่าวว่า เราพูด ดังนี้บ้าง บุคคลทั้งหลายอื่นพูดกะเรา ดังนี้บ้าง

    พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

    กิเลสเป็นเครื่องผูกทั้งหลาย มิได้มีแก่ภิกษุที่ละมานะเสียแล้ว มานะและคันถะทั้งปวงอันภิกษุนั้นกำจัดเสียแล้ว ภิกษุเป็นผู้มีปัญญาดีล่วงเสียแล้วซึ่งความสำคัญ ภิกษุนั้นพึงกล่าวว่า เราพูด ดังนี้บ้าง บุคคลทั้งหลายอื่นพูดกะเรา ดังนี้บ้าง ภิกษุนั้นฉลาด ทราบคำพูดในโลก พึงกล่าวตามที่พูดกัน

    พระผู้มีพระภาคทรงทราบความคิดของเทวดา จึงได้ตรัสให้เทวดารู้ว่า พระอรหันต์ทั้งหลายกำจัดมานะและอกุศลธรรมทั้งปวงหมดสิ้นแล้ว



    คำบรรยายคัดลอกจาก E-book
    แนวทางเจริญวิปัสสนา เล่ม ๑๗๒ ตอนที่ ๑๗๑๑ – ๑๗๒๐
    เรียบเรียงอักษรให้อยู่ในรูปแบบหนังสือ โดยมีเนื้อหาใจความสำคัญครบถ้วน
    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 95
    28 ธ.ค. 2564