แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1721
ครั้งที่ ๑๗๒๑
สาระสำคัญ
อถ. ม.ม. สมณมุณฑิกสูตร
อถ. ส. ส. อรรถกถาสักกมานสูตร
ที่ห้องประชุมตึกสภาการศึกษามหามกุฏราชวิทยาลัย
วันอาทิตย์ที่ ๑๓ กันยายน ๒๕๓๐
สุ. เรื่องของพระอรหันต์หรือพระอริยบุคคล คงเป็นที่น่าสงสัยสำหรับผู้ที่ ยังไม่ใช่พระอริยบุคคล เพราะฉะนั้น บางคนก็อาจจะคิดไปต่างๆ นานาโดยที่ ไม่มีหลักธรรมที่จะรู้แน่ได้เลยว่า บุคคลใดเป็นพระอรหันต์ตามข้อความใน ชฏิลสูตร หรือ อรหันตสูตร ที่กล่าวมาแล้ว
ข้อความในพระไตรปิฎก มีอุปการะสำหรับพุทธบริษัททุกยุคทุกสมัยที่จะพิจารณาถึงความต่างกันของความคิดเห็น ซึ่งแต่ละท่านที่กำลังอบรมเจริญสติปัฏฐาน ต้องประสบพบกับบุคคลที่มีความความคิดเห็นต่างๆ อีกมากในสังสารวัฏฏ์ ไม่ใช่ แต่เฉพาะในชาตินี้ชาติเดียว
อีกพระสูตรหนึ่งได้แสดงให้เห็นความต่างกันของเดียรถีย์ปริพาชก ซึ่งถ้าบุคคลในยุคนี้ไม่ได้ศึกษาพระธรรม และไม่ได้พิจารณาพระธรรมโดยละเอียด ก็อาจจะ คิดอย่างเดียวกับเดียรถีย์ปริพาชกผู้นี้ก็ได้ และเพื่อให้แต่ละท่านได้รู้จักตนเองตามความเป็นจริงโดยถ่องแท้ยิ่งขึ้น แม้ว่าจะเป็นผู้ที่มีปกติเจริญสติปัฏฐานก็ตาม ขอกล่าวถึง อรรถกถา มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ ปริพพาชกวรรค สมณมุณฑิกสูตร ข้อ ๓๕๙ ซึ่งมีข้อความว่า
ครั้งนั้นพระผู้มีพระภาคประทับ ณ พระวิหารเชตวัน อารามของท่าน อนาถบิณฑิกเศรษฐี เขตพระนครสาวัตถี นายช่างไม้ผู้หนึ่งชื่อปัญจกังคะ ออกจากเมืองสาวัตถีเพื่อไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคเมื่อเวลาเที่ยงแล้ว ครั้งนั้นเขาคิดว่า ไม่ใช่กาลที่จะเฝ้าพระผู้มีพระภาค และไม่ใช่สมัยที่จะไปหาภิกษุทั้งหลายผู้หลีกเร้นอยู่
ซึ่งใน อรรถกถา สังยุตตนิกาย สคาถวรรค อรรถกถาสกมานสูตร มีข้อความว่า
ชื่อว่าเวลาเที่ยงวัน นี้เป็นเวลาทุรพลแห่งอิริยาบถของสรรพสัตว์ทั้งหลาย
ทุกท่านคงพิจารณาเห็นจริงว่า เมื่อตอนเช้าก็รู้สึกสดชื่นกระปรี้กระเปร่า มีเรี่ยวมีแรง แต่เวลาหลังเที่ยงไปสักหน่อยหนึ่ง ก็อาจจะรู้สึกง่วง หรืออาจจะรู้สึกว่าต้องการพักผ่อน
นายช่างไม้ชื่อปัญจกังคะ จึงเข้าไปหาอุคคาหมานปริพาชกสมณมุณฑิกาบุตร ผู้เป็นบุตรของนางสมณมุณฑิกาที่อารามของพระนางมัลลิการาชเทวี ณ ตำบล เอกศาลา ชื่อว่าติณฑุกาจีระ อันเป็นที่ประชุมแสดงลัทธิของพวกนักบวช
แสดงให้เห็นว่า อาศัยทิฏฐิต่างๆ กัน ก็มีสถานที่ที่ชุมนุมพวกที่มีความคิดเห็นต่างๆ กันมาแสดงความคิดเห็น
เมื่อช่างไม้ปัญจกังคะได้ไปถึงที่นั่นแล้ว อุคคาหมานปริพาชกสมณมุณฑิกาบุตร ซึ่งเดิมอุคคาหมานปริพาชกผู้นี้ชื่อสุมณะ แต่เพราะเหตุว่าสามารถเรียนวิชาหลายอย่าง เป็นผู้ที่คนทั้งหลายเข้าใจว่ามีความรู้มาก จึงเรียกเขาว่า อุคคาหมานะ
อุคคาหมานปริพาชกได้แสดงความเห็นของตนเพื่อที่จะให้ช่างไม้ปัญจกังคะเลื่อมใสโดยกล่าวว่า เขาย่อมบัญญัติบุคคลผู้ประกอบด้วยธรรม ๔ ประการว่า เป็นผู้มีกุศลสมบูรณ์ มีกุศลอย่างยิ่ง เป็นสมณะถึงภูมิปฏิบัติอันอุดม ไม่มีใครรบได้
ซึ่งธรรม ๔ ประการ ท่านผู้ฟังก็พิจารณาว่า ท่านเห็นด้วยไหม ซึ่งถ้า ไม่พิจารณาโดยละเอียด อาจจะเห็นด้วย แต่ขอให้ทราบถึงธรรมที่น่าจะเห็นด้วย ๔ ประการ ซึ่งมีข้อความว่า
บุคคลในโลกนี้ไม่ทำกรรมชั่วด้วยกาย ไม่กล่าววาจาชั่ว ไม่ดำริถึงความดำริชั่ว ไม่เลี้ยงชีพชั่ว ผู้ประกอบด้วยธรรม ๔ ประการนี้ เป็นผู้มีกุศลสมบูรณ์ มีกุศลอย่างยิ่ง เป็นสมณะถึงภูมิปฏิบัติอันอุดม ไม่มีใครรบได้
น่าเห็นด้วยไหม คือ บุคคลในโลกนี้ ใครก็ตามไม่ทำกรรมชั่วด้วยกายเลย ๑ ไม่กล่าววาจาชั่ว ๑ ซึ่งประเสริฐมากถ้าไม่มีวาจาชั่วเลยในชีวิต ไม่ดำริถึงความดำริชั่ว ๑ และไม่เลี้ยงชีพชั่ว ๑ อุคคาหมานปริพาชกก็มีความเห็นว่า ผู้นั้นเป็นผู้ที่ มีกุศลสมบูรณ์ มีกุศลอย่างยิ่ง เป็นสมณะถึงภูมิปฏิบัติอันอุดม ไม่มีใครรบได้
นายช่างไม้ฟังแล้ว ก็ไม่ยินดี ไม่คัดค้านภาษิตของอุคคาหมานปริพาชกสมณมุณฑิกาบุตร เพราะเขารู้ว่า ธรรมดาพวกเดียรถีย์ทั้งหลายรู้บ้าง ไม่รู้บ้าง ก็พูดไปตามเรื่อง เพราะฉะนั้น ก็ไม่ได้ยินดีและไม่คัดค้านภาษิตของอุคคาหมานปริพาชก
ท่านผู้ฟังมีความเห็นอย่างไรบ้างในเรื่องนี้ เห็นด้วยไหมกับอุคคาหมานปริพาชก เกือบๆ จะเห็นด้วยหรือเปล่า
เขาได้ไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคและกราบทูลให้พระผู้มีพระภาคทรงทราบ ซึ่งพระผู้มีพระภาคตรัสว่า
ถ้าคำของอุคคาหมานปริพาชกเป็นจริง เด็กอ่อนที่ยังนอนหงายอยู่แม้แต่จะรู้ว่ากายดังนี้ก็ยังไม่มี ที่ไหนจะทำกรรมชั่วด้วยกายได้เล่า
คือ เปรียบคนกับเด็กอ่อน เพราะฉะนั้น ตัวท่านที่เจริญเติบโตมาแล้วจะ ต่างกับเด็กอ่อนหรือจะเหมือนกับเด็กอ่อนประการใด ตามความเป็นจริง
เด็กอ่อนที่ยังนอนหงายอยู่ แม้จะรู้ว่ากายดังนี้ก็ยังไม่มี ที่ไหนจะทำกรรมชั่วด้วยกายได้เล่า นอกจากจะมีเพียงอาการดิ้นรน ด้วยการสัมผัสเถาวัลย์บนที่นอน หรือถูกเรือดกัด นอกจากนั้นแล้วก็ไม่มีการทำทางกายอย่างอื่น
เพราะฉะนั้น ถ้าจะกล่าวว่าบุคคลในโลกนี้ไม่ทำกรรมชั่วด้วยกาย ๑ อย่าลืมคิดถึงเด็กเล็กๆ ที่ยังไม่รู้เรื่องอะไรทั้งสิ้น ไม่รู้แม้แต่ว่ามีกาย เพราะฉะนั้น ก็ไม่มีการกระทำกรรมชั่วด้วยกาย
เด็กอ่อนที่ยังนอนหงายอยู่ แม้แต่จะรู้ว่าวาจาดังนี้ก็ยังไม่มี ที่ไหนจะกล่าววาจาชั่วได้เล่า นอกจากจะมีเพียงการร้องไห้
พระธรรมที่พระผู้มีพระภาคทรงตรัสรู้ ทรงตรัสรู้ไม่ใช่เพียงผิวเผิน แต่โดยละเอียดและโดยทั่วจริงๆ ไม่เว้นแม้แต่การที่จะกล่าวธรรมอย่างนี้ ก็ยังต้องคำนึงถึงบุคคลซึ่งแม้ว่าเป็นเด็กอ่อน ก็ต้องรวมอยู่ในคำกล่าวของอุคคาหมานปริพาชกด้วยเพราะฉะนั้น สำหรับเด็กอ่อนที่ยังนอนหงายอยู่ พูดก็ไม่เป็น ดังนั้น ที่ไหนจะกล่าววาจาชั่วได้เล่า นอกจากจะมีเพียงการร้องไห้ ซึ่งข้อความในอรรถกถาอธิบายว่า
ด้วยจิตที่ประกอบด้วยกิเลสเท่านั้น
คือ แม้ว่าจะไม่กล่าววาจาชั่ว แต่เด็กอ่อนนอนหงายนั้นก็มีกิเลสแล้ว ในขณะที่เกิดและร้องไห้ เพราะฉะนั้น ไม่ใช่ว่าจะเป็นผู้ที่มีกุศลสมบูรณ์
ข้อความต่อไปมีว่า
เด็กอ่อนที่ยังนอนหงายอยู่ แม้แต่จะรู้ว่าความดำรินี้ก็ยังไม่มี ที่ไหนจะคิดชั่ว ได้เล่า นอกจากจะมีเพียงการร้องไห้และการหัวเราะ
จะให้เด็กคิดเรื่องนั้นเรื่องนี้ต่างๆ ความเห็นต่างๆ ทิฏฐิต่างๆ ก็เป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้
เด็กอ่อนที่ยังนอนหงายอยู่ แม้แต่จะรู้ว่าอาชีพดังนี้ก็ยังไม่มี ที่ไหนจะเลี้ยงชีพชั่วได้เล่า นอกจากน้ำนมของมารดา
ข้อความในอรรถกถาอธิบายถึงการที่เด็กอ่อนมีกิเลสเกิดในขณะที่ดื่มนมว่า
เวลาที่มารดาให้ดื่มนมบางครั้งก็ไม่ดื่ม แต่ว่าในเวลาที่มารดาทำงานก็มา ข้างหลังเพื่อจะดื่มน้ำนม มิจฉาชีพอย่างอื่นนอกจากนี้ก็ไม่มี
ถ้าเป็นอย่างถ้อยคำของอุคคาหมานปริพาชก เด็กอ่อนที่ยังนอนหงายอยู่ก็เป็น ผู้ที่มีกุศลสมบูรณ์ มีกุศลอย่างยิ่ง เป็นสมณะถึงภูมิปฏิบัติอันอุดม ไม่มีใครรบได้
พระผู้มีพระภาคตรัสกับนายช่างไม้ต่อไปว่า
ดูกร นายช่างไม้ เราบัญญัติบุคคลผู้ประกอบด้วยธรรม ๔ ประการว่า มิใช่ผู้มีกุศลสมบูรณ์เลย มิใช่ผู้มีกุศลอย่างยิ่ง มิใช่เป็นสมณะผู้ถึงภูมิปฏิบัติอันอุดม ไม่มีใครรบได้ ก็แต่ว่าบุคคลผู้นี้ก็ยังดีกว่าเด็กอ่อนที่ยังนอนหงายอยู่บ้าง ธรรม ๔ ประการเป็นไฉน ดูกร นายช่างไม้ บุคคลในโลกนี้ไม่ทำกรรมชั่วด้วยกาย ไม่กล่าววาจาชั่ว ไม่ดำริถึงความดำริชั่ว ไม่เลี้ยงชีพชั่ว เราบัญญัติบุคคล ผู้ประกอบด้วยธรรม ๔ ประการนี้แลว่า มิใช่ผู้มีกุศลสมบูรณ์ มิใช่ผู้มีกุศลอย่างยิ่ง มิใช่เป็นสมณะถึงภูมิปฏิบัติอันอุดม ไม่มีใครรบได้ ก็แต่ว่าบุคคลผู้นี้ยังดีกว่าเด็กอ่อนที่ยังนอนหงายอยู่บ้าง
เป็นท่านผู้ฟังหรือเปล่า ขณะใดที่ไม่ทำกรรมชั่วด้วยกาย ไม่กล่าววาจาชั่ว ไม่คิดชั่ว ไม่เลี้ยงชีพชั่ว แต่ยังมีกิเลสอยู่เต็มที่ ยังไม่ได้ดับกิเลสเป็นสมุจเฉท เพราะว่ายังไม่ใช่พระอริยบุคคล ก็เพียงดีกว่าเด็กอ่อนที่ยังนอนหงายอยู่บ้างเท่านั้น
พอใจไหม เติบโตขึ้น แต่ชีวิตที่เติบโตจากการเป็นเด็กอ่อนนอนหงาย ขณะใดที่ไม่ทำกรรมชั่วด้วยกาย ไม่กล่าววาจาชั่ว ไม่ดำริถึงความดำริชั่ว ไม่เลี้ยงชีพชั่ว ขณะนั้นจึงเป็นผู้ที่ยังดีกว่าเด็กอ่อนที่ยังนอนหงายอยู่บ้าง นอกจากนี้ ขณะใดที่เป็นอกุศลจิต เด็กอ่อนก็มีอกุศลจิต แต่เด็กโตมีอกุศลจิตเพิ่มขึ้นมากกว่าเด็กอ่อนที่ยังนอนหงายจนกระทั่งเป็นผู้ใหญ่ที่เติบโตขึ้น
เพราะฉะนั้น ต้องอบรมเจริญปัญญา ไม่ใช่เพียงพอใจในคำที่ผู้ไม่รู้จริงกล่าว ซึ่งดูเหมือนน่าจะเชื่อ แต่ความจริงแล้วต้องอบรมเจริญปัญญาจนกว่าศีลที่เป็นอกุศลดับไม่เหลือตามฐานะของการบรรลุธรรม คือ
ละทุจริตด้วยการตั้งอยู่ในโสตาปัตติผล และปาติโมกขสังวรศีลย่อมบริบูรณ์ด้วยโสตาปัตติผล ส่วนความดำริเป็นอกุศลเหล่านี้ดับสิ้นไปในปฐมฌาน คือ ตั้งอยู่ในอนาคามิผล ส่วนความดำริที่เป็นกุศลเหล่านี้ดับสิ้นไปในทุติยฌาน คือ ตั้งอยู่ในอรหัตตผล
ต้องถึงการดับ กิเลสดับ ไม่ใช่เพียงไม่ทำกรรมชั่วด้วยกาย ด้วยวาจา หรือแม้แต่คิด เพราะฉะนั้น ต้องพิจารณาให้ละเอียดจึงจะรู้ความต่างกันของพระธรรม คำสอนของผู้ที่เป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า กับผู้ที่ไม่ใช่พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
รู้จักตัวเองขึ้นบ้างไหม เมื่อเปรียบเทียบกับเด็กอ่อนที่ยังนอนหงายก็จะได้รู้ว่า ขณะใดที่วิรัติทุจริต ขณะนั้นดีกว่าเด็กอ่อนที่ยังนอนหงายอยู่บ้าง
จุดประสงค์ของการกล่าวถึงวิปัสสนาญาณ ก็เพื่อป้องกันไม่ให้มีการเข้าใจผิด เพราะถ้าเพียงแต่การอ่าน แต่ไม่เป็นผู้ที่มีปกติอบรมเจริญสติปัฏฐาน ไม่เข้าใจจริงๆ จะเข้าใจผิดได้ว่า ขณะที่กำลังพิจารณาลักษณะของสภาพธรรมนั้นเป็นการรู้ชัด ในลักษณะของสภาพธรรมแล้ว เพราะฉะนั้น การที่ปัญญาจะเจริญขึ้นจากการที่สติเริ่มระลึกลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ จะเห็นได้ตามความเป็นจริงว่า เป็นสิ่งที่ไม่ง่ายเลย
การศึกษาพระธรรมทั้งหมด เรื่องของปรมัตถธรรม เรื่องของจิต เรื่องของเจตสิก เรื่องของรูป ก็เพื่อให้เป็นสังขารขันธ์ปรุงแต่งให้สติเกิดระลึกลักษณะของจิต ลักษณะของเจตสิก ลักษณะของรูปที่กำลังเกิดขึ้นปรากฏเพราะเหตุปัจจัยตามปกติตามความเป็นจริง
เพราะฉะนั้น ในวันหนึ่งๆ ธรรมต้องเจริญขึ้นหลายๆ ด้าน แม้ในขั้นของ การคิดหรือการพิจารณา ถ้าไม่เห็นความสำคัญของการคิด จะไม่รู้เลยว่าวันหนึ่งๆ ที่เป็นสุขเป็นทุกข์ต่างๆ หรือว่าเป็นอกุศลบ้าง เป็นกุศลบ้างนั้น ก็เพราะคิดถูกหรือ คิดผิด เข้าใจลักษณะของสภาพธรรมถูก หรือว่าเข้าใจลักษณะของสภาพธรรมผิด
ในวันหนึ่งๆ ขอให้พิจารณาจริงๆ ว่า ระลึกลักษณะของความคิดบ้างไหม ซึ่งความคิดมีหลายขั้น หลังจากเห็นแล้วคิด นี่ต้องเป็นผู้ที่อบรมเจริญสติปัฏฐานจึงจะสามารถแยกโลกของสิ่งที่ปรากฏทางตาเพียงสั้นๆ สิ่งที่ปรากฏทางตาขอให้ระลึกอยู่เสมอว่าสั้นนิดเดียว เพราะว่าความคิดเรื่องสิ่งที่ปรากฏทางตาสืบต่อทันที
ถ้าไม่รู้ว่าสิ่งที่กำลังปรากฏทางตาแท้จริงสั้นมาก และมีความคิดเกิดต่อ ถ้า ไม่รู้อย่างนี้ สิ่งที่กำลังปรากฏทางตาในขณะนี้ไม่มีทางที่จะดับ เพราะว่าความคิดนึกปิดบังไม่ให้รู้ลักษณะของสิ่งที่กำลังปรากฏทางตาในขณะที่ยังไม่ทันคิดถึง รูปร่างสัณฐาน หรือคิดว่าเป็นสัตว์ เป็นบุคคล เป็นตัวตน
พิจารณาได้แม้ในขณะที่ฟังพระธรรม การฟังพระธรรมทุกครั้งควรที่จะได้พิจารณาทุกครั้งว่า ในขณะนี้สติระลึกทางตาหรือยัง ซึ่งก็กล่าวถึงทุกอาทิตย์ ทุกครั้ง เพราะว่ามีการเห็นทุกวัน และมีสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ เพราะฉะนั้น การที่กล่าวถึงกำลังเห็นขณะนี้ ระลึกรู้ว่าเป็นเพียงธาตุรู้ อาการรู้ ลักษณะรู้ และสิ่งที่ปรากฏทางตาเป็นแต่เพียงสภาพธรรมอย่างหนึ่ง ก็คงต้องกล่าวถึงไปเรื่อยๆ เพื่อเป็นสังขารขันธ์ให้สติปัฏฐานเกิดในขณะนี้ ซึ่งเป็นไปได้ ไม่ใช่ว่าเป็นไปไม่ได้เลย
นี่ก็คือการฟัง และคิดพิจารณา โยนิโสมนสิการโดยแยบคาย
การศึกษาทั้งหมด เพื่อสติระลึกลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ ซึ่งวันหนึ่งๆ ที่สติปัฏฐานจะเกิดก็ไม่มาก ตามความเป็นจริง เพราะฉะนั้น วันหนึ่งๆ คิดเรื่องอะไรบ้าง ถ้าทุกคนจะหันความสนใจมาให้กับสภาพธรรมที่คิดว่า แท้ที่จริงแล้วปรมัตถธรรมปรากฏเพียงเล็กน้อยทางตาแล้วคิด ปรมัตถธรรมปรากฏทางหูเล็กน้อยแล้วคิด ปรมัตถธรรมปรากฏทางจมูกเล็กน้อยแล้วคิด ทางลิ้น ทางกาย ก็โดย นัยเดียวกัน
เพราะฉะนั้น ทุกคนอยู่ในโลกของความคิดมากที่สุด ให้เข้าใจความจริงว่า แท้ที่จริงแล้วคิดเอาเองทั้งหมด คิดเป็นคนนั้น คิดเป็นคนนี้ ในขณะที่เห็นสิ่งต่างๆ ที่ปรากฏทางตา
เวลาที่ได้ยินเสียง ก็คิดเป็นเรื่องนั้น คิดเป็นเรื่องนี้ เพราะฉะนั้น ต้องเห็นความสำคัญของความคิดว่า สุขทุกข์เพราะคิดเท่านั้น
ทุกคนอยู่ในโลกของความคิด ในขณะที่ปรมัตถธรรมเกิดและดับไปทันที เกิดปรากฏนิดเดียวและก็ดับไปทันที เพราะฉะนั้น ทุกคนก็ยังคงอยู่ในโลกของความคิด ถ้าไม่ประจักษ์การเกิดขึ้นของปรมัตถธรรมที่ปรากฏทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ
แนวทางเจริญวิปัสสนา เล่ม ๑๗๓ ตอนที่ ๑๗๒๑ – ๑๗๓๐
เรียบเรียงอักษรให้อยู่ในรูปแบบหนังสือ โดยมีเนื้อหาใจความสำคัญครบถ้วน
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1686
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1687
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1688
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1689
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1690
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1691
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1692
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1693
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1694
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1695
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1696
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1697
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1698
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1699
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1700
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1701
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1702
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1703
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1704
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1705
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1706
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1707
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1708
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1709
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1710
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1711
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1712
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1713
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1714
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1715
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1716
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1717
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1718
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1719
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1720
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1721
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1722
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1723
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1724
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1725
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1726
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1727
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1728
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1729
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1730
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1731
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1732
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1733
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1734
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1735
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1736
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1737
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1738
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1739
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1740
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1741
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1742
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1743
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1744
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1745
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1746
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1747
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1748
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1749
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1750
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1751