แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1730
ครั้งที่ ๑๗๓๐
สาระสำคัญ
อสังสัคคกถา (การคลุกคลี) - มาจากการยึดถือขันธ์ซึ่งเกิดดับว่าเป็นเรา เป็นเขา
วิปัสสนาญาณที่ ๙ (มุญจิตุกัมมยตาญาณ)
ที่ห้องประชุมตึกสภาการศึกษามหามกุฏราชวิทยาลัย
วันอาทิตย์ที่ ๑๘ ตุลาคม ๒๕๓๐
ธรรมเป็นเรื่องที่ละเอียดมากจริงๆ เรื่องของการคลุกคลีต้องมาจากการ ยึดถือขันธ์ซึ่งเกิดดับว่าเป็นเรา เป็นเขา เป็นแต่ละบุคคล เพราะฉะนั้น เมื่อมีความจำเป็นที่ต้องอยู่ด้วยกันโดยที่ปัญญายังไม่ถึงขั้นนิพพิทาญาณ ก็ควรจะเจริญกุศล โดยอยู่ด้วยกันด้วยเมตตา ซึ่งไม่เป็นโทษเป็นภัยอะไรเลย แต่ถ้ายังคงอยู่ด้วยกัน สืบต่อไปด้วยโลภะและโทสะ ไม่มีวันที่จะเจริญกุศลและออกจากสังสารวัฏฏ์ได้
ยังเป็นอย่างนี้อยู่หรือเปล่า
ข้อสำคัญที่ต้องพิสูจน์ คือ เมื่อได้รับฟังพระธรรมแล้วน้อมประพฤติปฏิบัติตามเพิ่มขึ้นแม้ทีละเล็กทีละน้อยไหม หรือว่าเพียงพิจารณาเห็นโทษของอกุศล และเห็นประโยชน์ของกุศล ซึ่งก็เป็นผลของการฟังพระธรรม จนกว่าจะถึง นิพพิทาญาณ
ผู้ฟัง เรื่องนิพพิทาญาณ อาจารย์ได้ยกพระธรรมขึ้นมาแสดงมากมาย ครั้งหนึ่งผมฟังธรรมใหม่ๆ ผมนึกว่าผมคงจะมีนิพพิทาญาณ เพราะเบื่อหน่ายที่จะออกไปพบกับคนอื่น คิดว่าเราควรจะอยู่คนเดียว เราคงได้นิพพิทาญาณแล้ว ซึ่งขณะนั้นยังไม่รู้จักการเจริญสติปัฏฐานเลย แต่ตามที่อาจารย์กล่าว ความจริง เบื่อเพราะร่างกายเราไม่แข็งแรง เบื่อเพราะมีโรคภัย เบื่อเพราะไม่ประสบกับอิฏฐารมณ์มากกว่า ซึ่งเป็นเรื่องการเข้าใจผิดทั้งนั้น
และที่อาจารย์แสดงเมื่อกี้เรื่องชาติ ชรา มรณะ โสกะ ปริเทวะ ทุกขะ โทมนัส อุปายาส ก็มีพร้อมในชีวิตผมทั้งนั้น และค่อนข้างรุนแรงจนต้องเข้ามาศึกษาธรรม เมื่อเข้ามาศึกษาธรรมแล้ว ยิ่งเห็นว่าน่าจะหนีไปจากชาติ ชรา มรณะ ซึ่งทางก็คือ เจริญสติปัฏฐาน ตั้งแต่วันเสาร์ที่ ๒๖ เดือนที่แล้วที่ไปบ้านอาจารย์กลับมา ก็ป่วยตลอด ในช่วงนั้นนึกถึงมรณานุสติว่า น่าจะตายไปเสีย แต่เราก็ยังไม่สามารถเข้าถึงธรรมที่จะไปถึงอริยสัจจธรรมได้ ซึ่งในช่วงนั้นก็เป็นผลดี ระยะนั้นพิสูจน์ธรรมได้ การเจริญสติปัฏฐานซึ่งอาจารย์เคยพร่ำสอนว่า ทางตาเมื่อเห็นให้ระลึกรู้ ทางหูให้ระลึกรู้ กลิ่น รส กาย และการคิดนึก ทั้งๆ ที่อาจารย์ได้สอนมานาน ฟังมานาน ก็ยังไม่ค่อยระลึก ซึ่งบางคนพูดว่า ไม่ยอมระลึก แต่ความจริงแล้วเหตุปัจจัย ยังไม่พร้อม
ผมเองในระยะ ๒ อาทิตย์ที่ป่วยนั้น ก็เกิดมีการระลึกทางกลิ่นบ่อยครั้ง เกือบทุกวัน แม้กระทั่งเมื่อกี้นั่งอยู่ในห้อง ได้กลิ่นอะไรก็ระลึกรู้ถึงสภาพรูปธรรมว่า เป็นกลิ่น และเราระลึกรู้เป็นนามธรรม ในระยะนี้ก็มีระลึกถึงรูปธรรมนามธรรม ทางจมูก คือ กลิ่น
ที่หนักใจคือการระลึกรู้ทางใจก็เกิดมีมากขึ้น และวันนี้ก็ยังไม่ตาย ผมก็ต้องเจริญต่อไป ผมฟังมานานแล้ว สิ่งเหล่านี้น่าจะระลึกรู้มานานแล้ว แต่ก็ยังไม่ได้ ระยะที่ป่วย ๒ อาทิตย์นี้ มีการพิจารณาถึงเรื่องความตาย มีการระลึกรู้สิ่งที่นานๆ จะระลึกสักครั้ง ก็เกิดระลึกได้บ่อยขึ้น
สุ. เพราะฉะนั้น ท่านที่ได้ฟังพระธรรมแล้ว ขออย่าได้คิดเรื่องอยากจะ ตายๆ เสีย ควรที่จะอยู่ๆ ต่อไปอีก เพื่อมีโอกาสได้ฟังพระธรรม เพียงแต่ว่า การสะสมการฟังจะเป็นปัจจัยทำให้สติเกิดระลึกได้มากน้อยแค่ไหน ถ้าตายๆ ไปเสีย ใครจะรู้ว่าจะมีโอกาสได้ฟังอีกหรือเปล่า หรือว่ามีโอกาสที่สติปัฏฐานจะเกิดอีก หรือเปล่า เพราะฉะนั้น ทุกท่านที่มีโอกาสได้ฟังพระธรรม จงเป็นผู้ที่อย่าคิดว่า จะตายๆ ไปเสียเลย
ถ. การคลุกคลีด้วยหมู่คณะ หมายถึงอยู่ด้วยความติด ความข้อง คือ มีความผูกพันกันด้วยโลภะบ้าง โทสะบ้าง โมหะบ้าง คือ อยู่ด้วยอกุศล อยู่รวมกันด้วยเรื่อง หรือคิด หรือทำในทางที่เป็นอกุศล อย่างนี้จึงเรียกว่า คลุกคลีด้วยหมู่คณะ ใช่ไหม
สุ. ใช่ พระธรรมแสดงให้เห็นถึงชีวิตประจำวัน ซึ่งทุกท่านพิจารณาชีวิตของท่านในวันหนึ่งๆ ได้ว่า การอยู่ร่วมกันในครอบครัว ในระหว่างมิตรสหาย เป็นไปในลักษณะของคลุกคลีหรือไม่ ตรงตามที่ทรงแสดงไหม เพราะว่าย่อมเป็นไปด้วย โลภะบ้าง โทสะบ้าง ซึ่งหนทางที่จะทำให้เป็นกุศลมี คือ อยู่ด้วยเมตตา
ถ. ถ้าอยู่ด้วยเมตตา หรือมีสติระลึกรู้ธรรมที่ปรากฏในขณะนั้น ถึงแม้ว่า จะอยู่รวมกัน ก็ไม่ถือว่าคลุกคลีด้วยหมู่คณะอย่างนั้นหรือ
สุ. ถ้าเป็นกุศลไม่คลุกคลี
ถ. ไม่จำเป็นต้องโดดเดี่ยว ไปอยู่ในที่สงัด หรือหลีกเร้นไปอยู่ต่างหากเฉพาะ จึงจะว่าไม่คลุกคลี
สุ. ถ้าปลีกกายไป แต่ใจยังคิดถึงด้วยโลภะหรือโทสะ ก็ยังชื่อว่าคลุกคลีด้วยความคิด เพราะที่จริงแล้วสิ่งที่ปรากฏทางตา ปรากฏสั้นนิดเดียว และคิดเรื่อง สิ่งที่ปรากฏทางตา เพราะฉะนั้น ในขณะที่ปลีกตัวไปก็เช่นเดียวกัน สิ่งที่ปรากฏทางตาแม้ว่าจะเปลี่ยนจากสัตว์บุคคล อาจจะเป็นธรรมชาติป่าเขาหรืออะไรก็ตามแต่ แต่กั้นความคิดไม่ได้ เพราะฉะนั้น เมื่อสิ่งที่ปรากฏทางตาผ่าน ความคิดเรื่องสัตว์บุคคลทั้งหลายก็เกิดอีก เพราะยังมีอัตตสัญญา ความทรงจำว่าเป็นเรา หรือว่าเป็นบุคคลนั้นบุคคลนี้ ที่จะเป็นผู้โดดเดี่ยวจริงๆ ก็เมื่อปัญญารู้ลักษณะของนามธรรมและรูปธรรม
ถ. ดังนั้น คลุกคลีด้วยหมู่คณะ หรือไม่คลุกคลี ก็ควรตัดสินโดยที่ว่า อยู่ด้วยกุศลธรรม หรืออยู่ด้วยอกุศลธรรม ใช่ไหม
สุ. ถูกต้อง พระธรรมที่ทรงแสดง ทรงแสดงสัจจธรรม ความจริงของ ทุกชีวิต ทุกขณะ ซึ่งเริ่มจากการเป็นผู้ที่เต็มไปด้วยกิเลส ยังไม่ได้ดับกิเลสอะไรเลย และมีโอกาสได้ฟังพระธรรม ได้พิจารณาด้วยดี ด้วยความแยบคาย ด้วยความ เป็นผู้ว่าง่าย ด้วยการเห็นพระคุณของพระธรรม และเจริญกุศลขึ้น โดยที่ว่า ทุกคนอยากให้สติปัฏฐานเกิดบ่อยๆ ให้วิปัสสนาญาณเกิดเร็วๆ แต่เมื่อเป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ ก็ต้องเจริญกุศลทุกประการในชีวิตประจำวัน
ไม่ทราบในแต่ละวันท่านผู้ฟังมีความละเอียดของการพิจารณาจิต ซึ่งทำให้เห็นถึงความคลุกคลี หรือความผูกพัน ที่จะเล่าให้ได้รับทราบบ้างไหม
ผู้ฟัง ขอเล่าเรื่องเมื่อวานนี้ คือ คิดขึ้นมาว่า เราอยู่เหมือนถูกบังคับ เกิดความน้อยใจ ไปนอนร้องไห้จนน้ำตาเปียกหมอน สักพักหนึ่งก็หยุด ก็เห็นว่า มันบังคับไม่ได้ เห็นสภาพว่าไม่มีใครสั่ง อยากจะร้องก็ร้องเอง และก็หยุดเอง เมื่อหยุดแล้วเห็นสภาพอย่างนั้น ก็เลยหัวเราะ
สุ. ก็คลุกคลีด้วยโลภะกับโทสะ เดี๋ยวร้องไห้ เดี๋ยวหัวเราะ ทั้งโลภะและโทสะไปเรื่อยๆ ในสังสารวัฏฏ์
โทษของการคลุกคลี ถ้าสังเกตละเอียดในชีวิตประจำวันมีมากทีเดียว ไม่ใช่แต่เฉพาะกับบุคคล แม้แต่กับสัตว์เลี้ยง ซึ่งแต่ละบ้านก็คงจะมีสัตว์เลี้ยง ขอให้คิดถึงความทุกข์ของการคลุกคลีกับสัตว์เลี้ยงว่า มีมากหรือน้อยแค่ไหน
เมื่อเลี้ยงสัตว์ก็ต้องเอาใจใส่ ต้องดูแลสารพัดอย่าง สุขหรือทุกข์ก็แล้วแต่ ท่านผู้ฟัง แต่กิเลสหรืออกุศลทั้งหลายไม่ได้นำความสุขมาให้อย่างแท้จริง เพราะเมื่อมีโลภะตราบใด ก็มีเหตุทำให้เกิดทุกข์หรือโทมนัสตราบนั้น โดยเฉพาะเวลาที่ขาด ความเอาใจใส่สัตว์เลี้ยง อย่างสัตว์บางตัว เช่น สุนัข เป็นสัตว์ที่มีความจงรักภักดีเจ้าของมาก แต่แม้กระนั้นถ้ามีเจ้าของที่ทอดทิ้ง เอาใจใส่ไม่พอ ความทุกข์ของผู้เป็นเจ้าของจะเกิด ถ้าเห็นตาของสุนัข
อย่างสุนัขที่รักนาย แต่เวลาที่ฝนตกฟ้าร้อง และนายทอดทิ้ง ปล่อยให้กลัวฟ้า กลัวฝน หนาวสั่น และเวลาที่นึกขึ้นได้ ไปเอาใจใส่ดูแล ขอให้ดูตาของสุนัข ซึ่งขณะนั้นเต็มไปด้วยความผิดหวัง แข็งด้วยความโทมนัสอย่างไม่สามารถที่จะอธิบายได้เลยในความรู้สึกของเขา ซึ่งแสดงความผิดหวังในความจงรักภักดีต่อเจ้าของ และถูกเจ้าของทอดทิ้ง ขณะนั้นคนที่เป็นเจ้าของและเห็นตาของสุนัขอย่างนั้น จะเกิดทุกข์ไหม
นี่เพียงความคลุกคลีระหว่างเจ้าของกับสัตว์เลี้ยง ก็ยังเป็นทุกข์ได้ เพราะฉะนั้น ถ้าพิจารณาวันหนึ่งๆ อย่างละเอียดจริงๆ จะเห็นได้ว่า มีมากมายหลายขณะ ที่เกิดทุกข์บ้าง โทมนัสบ้าง โดยที่แม้ไม่ตั้งใจก็เป็นเหตุให้เกิดความทุกข์ได้ เพียงแต่ขาดการเอาใจใส่ในสิ่งที่ควรกระทำ
เพราะฉะนั้น เรื่องของจิตเป็นเรื่องที่ละเอียด ต้องเป็นผู้ที่ตรงต่อลักษณะของสภาพธรรมนั้นจึงจะพิจารณาได้โดยถูกต้อง เช่น บางคนเป็นผู้ที่มีทรัพย์สิน แต่ก็ กล่าวว่าอยากทำบุญ คือ อยากจะได้เงินสำหรับทำบุญ ไม่ใช่ว่าท่านผู้นั้นไม่มีเงิน ที่จะทำบุญ ท่านมีเงิน แต่ท่านยังอยากได้เงินเพิ่มเพื่อจะทำบุญ คิดดูถึงสภาพจิต ถ้าเป็นผู้ที่ละเอียด ถ้าเข้าใจเรื่องบุญ ไม่ต้องคอย หรือไม่ต้องคิดอยาก เพราะขณะนั้นทำบุญได้ทันที เนื่องจากบุญไม่ใช่มีแต่ขั้นทานซึ่งเป็นขั้นที่ต่ำกว่าขั้นศีล หรือขั้นภาวนา
ขณะนั้นนึกโกรธใครหรือเปล่า ไม่ชอบใครหรือเปล่า ขุ่นเคืองใครหรือเปล่า ไม่พอใจใครหรือเปล่า เพราะฉะนั้น ไม่ต้องอยากทำบุญ ไม่ต้องคอยที่จะทำบุญด้วยความอยาก ขณะนั้นทำได้แล้ว เพียงแต่มีเมตตาทันที และเห็นโทษของอกุศลในขณะนั้น ชื่อว่าทำบุญที่สูงกว่าขั้นทาน
ทำไมต้องคิดอยากจะทำ ในเมื่อบุญพร้อมที่จะเกิด โดยไม่จำเป็นที่จะต้องรอ
นี่ก็เป็นความละเอียดของจิตซึ่งจะต้องพิจารณาว่า ถ้าขณะนั้นเกิดมีท่านที่ นึกอยากจะทำบุญ โดยยังคงโกรธบุคคลอื่น ไม่เจริญกุศลซึ่งเป็นบุญที่สูงกว่าทาน เพราะฉะนั้น ในขณะที่อยากจะทำบุญต้องการอะไร
ถ้าไม่พิจารณาจะไม่เห็นเลยว่า หวังผลของบุญ หรือว่าหวังหมดกิเลส ที่คอยเวลาที่จะทำบุญโดยไม่เจริญเมตตาในขณะนั้น ย่อมแสดงว่าต้องการผลของบุญที่เป็นผลของทาน ไม่ใช่หวังหมดกิเลสโดยการเห็นโทษของอกุศลในขณะนั้นและเกิด กุศลทันทีตามระดับขั้นที่จะเป็นศีลบ้าง หรือเป็นความสงบของจิตบ้าง หรือเป็น สติปัฏฐานบ้าง เพราะฉะนั้น ไม่ต้องคอยบุญอีกต่อไป
บุญเกิดได้ทุกขณะ ถ้าเห็นโทษของอกุศลทันที ระลึกถึงพระธรรมทันที เหมือนกระจกเงาที่ส่องถึงจิตทันที ไม่ว่าจะเห็นแล้วคิดเป็นโลภะหรือเป็นโทสะ ถ้าระลึกได้ สติเกิด ขณะนั้นมีกระจกเงาที่ส่องถึงจิตที่จะให้รู้ว่า เจริญบุญได้ทันทีโดยไม่ต้องคอย
ทุกท่านจะเห็นความสำคัญของการพิจารณาธรรมโดยละเอียด ซึ่งย่อมเป็นประโยชน์ทำให้ทุกท่านเจริญกุศลยิ่งขึ้น และจะเห็นความสำคัญของความคิด เพราะว่าสิ่งที่ปรากฏทางตา เพียงผ่านชั่วครู่ที่จะให้คิดเท่านั้นเอง
เพราะฉะนั้น ทุกคนอยู่ในโลกของความคิดอย่างมากมาย แม้ว่าสิ่งที่ปรากฏทางตาจะดับไปแล้ว หมดไปแล้ว สิ่งที่ปรากฏทางหูก็สั้นมาก ปรากฏแล้วดับไปแล้ว แต่ทุกคนยังอยู่ในโลกของความคิดถึงเรื่องต่างๆ ถึงบุคคลต่างๆ เพราะฉะนั้น จึงควรเห็นความสำคัญของกุศลวิตก หรืออกุศลวิตก
ขอต่อเรื่องของวิปัสสนาญาณที่ ๙ คือ มุญจิตุกัมยตาญาณ ซึ่งเป็นปัญญาที่ รู้ชัดในความหน่ายนามธรรมและรูปธรรมที่ปรากฏเพิ่มขึ้นอีก จนกระทั่งเกิดปัญญา ที่ต้องการจะพ้นจากนามธรรมและรูปธรรมที่เกิดดับที่ปรากฏในขณะนั้น ปัญญา ที่ต้องการจะพ้นจากนามธรรมและรูปธรรมนั้น เป็นมุญจิตุกัมยตาญาณ
ข้อความในพระไตรปิฎกสั้นเพียงเท่านี้เอง แต่กว่าจะถึงการใคร่ที่จะพ้นจากนามธรรมและรูปธรรม ซึ่งตามความเป็นจริงในสังสารวัฏฏ์ที่ทุกคนได้ผ่านมาจนกระทั่ง ได้มีโอกาสฟังพระธรรมเป็นอันมาก ถ้าไม่ได้อบรมเจริญปัญญาจริงๆ จนกระทั่งวิปัสสนาญาณเกิดขึ้นตามลำดับขั้น ก็ยังไม่ถึงการใคร่ที่จะพ้นจากนามธรรมและรูปธรรม
เพราะฉะนั้น ชีวิตที่เป็นจริงเป็นอย่างไร การศึกษาพระธรรมก็เพื่อให้ปัญญา รู้ตามความเป็นจริงอย่างนั้น ถ้ายังไม่หน่าย ก็ไม่สามารถใคร่ที่จะพ้นไปจากนามธรรมและรูปธรรมได้ เพราะวันหนึ่งๆ ขอให้พิจารณาดูว่า ตั้งแต่เช้าที่ตื่นมาคิดเรื่องอื่น ทุกเรื่องนอกจากเรื่องที่จะหน่ายนามธรรมและรูปธรรม หรือไม่ได้คิดใคร่ที่จะ พ้นจากนามธรรมและรูปธรรม ความคิดที่มากตั้งแต่ตื่นจนกระทั่งถึงเดี๋ยวนี้ มีใครจำได้บ้างว่าคิดอะไร แต่ชีวิตทุกขณะให้ทราบว่า เป็นไปตามความคิด
มีท่านผู้ฟังท่านหนึ่งท่านบอกว่า ท่านเริ่มเห็นความสำคัญของความคิด ซึ่งแต่ก่อนนี้ทุกคนไม่ว่าจะทำอะไรในวันหนึ่งๆ อาจจะเห็นลักษณะของโลภะ ความยินดี หรือความไม่ยินดี แต่ในขณะนั้นไม่ได้คิดว่า แม้แต่การที่จะเคลื่อนไหว การที่จะพูด การที่จะกระทำทุกสิ่งทุกอย่างในชีวิตนั้น เป็นไปตามความคิดทั้งสิ้น เพราะฉะนั้น ก็น่าที่จะพิจารณาจนกระทั่งรู้ลักษณะของความคิดจริงๆ มิฉะนั้นแล้ว ไม่มีทางที่จะหน่าย หรือใคร่ที่จะพ้นจากนามธรรมและรูปธรรมได้
เวลาอ่านหนังสือพิมพ์ เคยเป็นเรา และก็รู้เรื่องต่างๆ แต่ถ้าศึกษาเรื่องของสภาพปรมัตถธรรมที่ไม่มีสัตว์ ไม่มีบุคคล ไม่มีตัวตนเลย จะเห็นลักษณะของ ความวิจิตรของความคิดตามเรื่องในหนังสือพิมพ์ หนังสือพิมพ์ฉบับหนึ่งๆ พิจารณาจริงๆ ว่า มีเหตุการณ์อะไรเกิดขึ้น ซึ่งทั้งหมดส่องไปถึงวิตกเจตสิกของ แต่ละบุคคลที่เป็นข่าว ที่เป็นเรื่อง ที่คิดอย่างนั้น ที่ทำอย่างนั้น หรือแม้วารสารต่างๆ ที่เป็นความรู้ต่างๆ ถ้าพิจารณาโดยลักษณะของสภาพปรมัตถธรรมที่ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน จะเห็นความวิจิตรของความคิดของบุคคลต่างๆ ที่เขียน เรื่องต่างๆ ในวารสารต่างๆ
เพราะฉะนั้น จะเห็นได้ว่า โลกดำเนินไปตามความคิดทุกขณะ ตั้งแต่ตื่น จนหลับ และไม่ว่าใครจะกระทำกิจการงานใดๆ ทั้งสิ้น ทั้งกิจการงานในบ้าน นอกบ้าน ไม่ว่าจะเป็นงานหยาบ งานละเอียด งานที่ได้ผล งานที่ไม่ได้ผล ทั้งหมดเป็นไปตามความคิดทั้งสิ้น แต่ถ้ายังไม่รู้จักความคิดจริงๆ ยังไม่สามารถที่จะหน่ายนามธรรมและรูปธรรมได้ เพราะต้องประจักษ์แจ้งจนกระทั่งว่า ความคิดแต่ละขณะไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่ขณะที่กำลังเห็น ไม่ใช่ขณะที่กำลังได้ยิน ไม่ใช่ขณะที่กำลังได้กลิ่น ไม่ใช่ขณะที่กำลังลิ้มรส ไม่ใช่ขณะที่กำลังรู้สิ่งที่เย็น ร้อน อ่อน แข็งที่กระทบสัมผัสกาย แต่ว่าทุกสิ่งทุกอย่างที่เป็นปรมัตถธรรมปรากฏ เพียงให้ความคิด คิดเรื่องนั้นต่ออย่างยาวทีเดียว
ขณะนี้กำลังเห็น รูปารมณ์ดับไปแล้ว แต่ความคิดยังไม่ได้ปรากฏว่าดับ และวันหนึ่งๆ คิดมากเหลือเกิน บางเรื่องก็ไกล ยาวไปจนกระทั่งถึงชาติหน้า อย่าง ท่านผู้ฟังท่านหนึ่งบอกว่า ท่านใคร่ที่จะเกิดบนสวรรค์เพื่อจะได้ฟังพระธรรมที่ ศาลาสุธรรมา
คิดไกลถึงไหน สวรรค์ชั้นหนึ่งชั้นใดที่มีศาลาสุธรรมา ขณะนี้กำลังอยู่ที่นี่ ยังเห็น แต่เมื่อประจักษ์ว่าความคิดท่องเที่ยวไปแสนไกล ก็ต้องรู้ความจริงทุกๆ ขณะว่า ไม่ปราศจากความคิดหรือวิตกเจตสิกเลย นอกจากขณะที่เห็นเป็น จักขุวิญญาณ ขณะที่ได้ยินเป็นโสตวิญญาณ ขณะที่ได้กลิ่นเป็นฆานวิญญาณ ขณะที่ลิ้มรสหวาน เปรี้ยว เค็มต่างๆ เป็นชิวหาวิญญาณ ขณะที่รู้สิ่งที่อ่อนหรือแข็ง เย็นหรือร้อนเป็นกายวิญญาณ เพราะฉะนั้น เว้นทวิปัญจวิญญาณ ๑๐ ดวงนี้ นอกจากนั้นวิตกเจตสิกเกิดกับจิตอื่นๆ ทั้งหมดในชีวิตประจำวัน และเว้นทุติยฌานจิตขึ้นไป ซึ่งทุติยฌานจิตไม่ใช่ชีวิตประจำวัน
สำหรับชีวิตประจำวันที่จะรู้ลักษณะของความคิด หรือระลึกได้ถึงลักษณะของวิตก ให้ทราบว่า เมื่อสติเกิดและศึกษาพิจารณารู้สภาพธรรมที่ปรากฏทางตา ก็สามารถแยกว่า ขณะที่คิดนึก ไม่ใช่ขณะที่กำลังเห็น
เพราะฉะนั้น วันหนึ่งๆ ให้ทราบว่า ปรมัตถธรรมปรากฏและดับไปอย่างรวดเร็ว แต่ความคิดจดจำและตรึกถึงสิ่งซึ่งดับไปแล้ว จึงเป็นเรื่องราวต่างๆ มากมาย
แนวทางเจริญวิปัสสนา เล่ม ๑๗๓ ตอนที่ ๑๗๒๑ – ๑๗๓๐
เรียบเรียงอักษรให้อยู่ในรูปแบบหนังสือ โดยมีเนื้อหาใจความสำคัญครบถ้วน
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1686
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1687
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1688
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1689
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1690
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1691
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1692
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1693
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1694
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1695
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1696
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1697
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1698
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1699
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1700
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1701
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1702
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1703
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1704
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1705
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1706
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1707
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1708
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1709
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1710
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1711
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1712
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1713
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1714
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1715
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1716
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1717
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1718
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1719
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1720
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1721
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1722
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1723
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1724
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1725
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1726
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1727
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1728
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1729
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1730
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1731
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1732
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1733
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1734
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1735
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1736
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1737
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1738
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1739
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1740
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1741
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1742
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1743
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1744
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1745
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1746
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1747
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1748
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1749
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1750
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1751