แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1690


    ครั้งที่ ๑๖๙๐


    สาระสำคัญ

    โลกของความคิด

    คิด - แปลความหมายของสิ่งที่ปรากฏทางตา

    คิด - แปลเสียงออกมาเป็นคำต่างๆ


    ที่ห้องประชุมตึกสภาการศึกษามหามกุฏราชวิทยาลัย

    วันอาทิตย์ที่ ๑๒ กรกฎาคม ๒๕๓๐


    . การเห็นสิ่งของ อย่างเห็นพระพุทธรูป เห็นโต๊ะหมู่บูชา ดอกไม้ธูปเทียน ที่อาจารย์บอกว่า กำลังแปลเป็นเรื่องเป็นราวเพื่อจะให้รู้ว่าเป็นอะไรๆ รู้สึกว่า เป็นการแปลที่รวดเร็วจริงๆ ซึ่งปกติแล้วเราไม่รู้ว่าเราแปล เพราะว่าเห็นก็เห็นทันทีเลย อย่างเห็นดอกไม้ ก็เห็นเป็นดอกไม้ทันที เห็นพระพุทธรูป ก็เห็นเป็นพระพุทธรูปทันที โดยไม่เข้าใจว่าตัวเองกำลังแปล ช่างรวดเร็วชำนาญและช่ำชองจริงๆ ไม่ทราบว่า เป็นการแปลสั่งสมมาตั้งแต่เมื่อไร คล่องแคล่วจริงๆ

    สุ. ถ้าแยกไม่ออก ไม่มีทางรู้ความต่างกันของปรมัตถธรรมกับบัญญัตธรรม จะต้องฟังธรรม คิดพิจารณา และอบรมเจริญสติปัฏฐานจนสามารถเข้าใจได้จริงๆ ว่า ทางหูที่ได้ยินเสียงและแปลออกมาเป็นคำต่างๆ ฉันใด ทางตาที่เห็นก็แปลสิ่งที่ปรากฏทางตาซึ่งเป็นแต่เพียงสีต่างๆ มาเป็นบุคคลต่างๆ ได้

    . สิ่งที่ปรากฏทางตาที่ปรากฏชั่วขณะนิดเดียว แทนที่จะเข้าใจรู้ลักษณะของสิ่งที่ปรากฏทางตา ก็ไม่รู้ เพราะเราไม่เคยคิด ไม่เคยช่ำชอง แต่กลับไปแปลเสียจนเป็นเรื่องเป็นราวยืดยาว ที่จะให้รู้ ให้เข้าใจสิ่งที่ปรากฏทางตาจริงๆ ช่างยากเย็นจริงๆ

    สุ. ประโยชน์ของการฟังพระธรรม เพื่อจะได้พิจารณาและเข้าใจ และสติปัฏฐานจะได้เกิด จนกว่าจะรู้จริงๆ ว่า ขณะที่เห็นไม่มีสัตว์บุคคลอะไรเลย แต่หลังจากที่เห็นแล้ว ขณะที่แปล คือ รู้ว่าสิ่งที่เป็นสีสันต่างๆ นั้นเป็นใคร หรือเป็นวัตถุสิ่งใด ถ้าสามารถระลึกศึกษาอย่างนี้ ก็แยกทางจักขุทวารกับทางมโนทวารออกได้

    . ในขณะที่แปล สมมติว่าเราเห็นพระพุทธรูป เราก็รู้ว่าเป็นพระพุทธรูปองค์นี้สวยงาม ปางนั้น ปางนี้ ขณะที่เลยไปแล้ว เลยสิ่งที่ปรากฏทางตาไปแล้ว เลยไปถึงขั้นคิดเป็นเรื่องราวแล้ว ขณะนั้นสติจะมีโอกาสเกิดได้หรือเปล่า

    สุ. สติสามารถระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมทุกอย่างในชีวิตประจำวัน จึงจะเป็นอริยสัจจธรรมได้ เพราะว่าสภาพธรรมทั้งหมดไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล มีลักษณะจริงๆ ปรากฏให้ปัญญาศึกษาจนกว่าจะรู้แจ้ง

    ถ้าไม่ใช้คำว่า แปล บางท่านไม่มีโอกาสจะรู้เลยว่า ขณะนี้กำลังเห็น เป็นขณะหนึ่ง และที่รู้ว่าเป็นใครเป็นอีกขณะหนึ่ง แต่เวลาใช้คำว่า แปล ก็เริ่มจะเข้าใจแล้ว ใช่ไหม

    . ผมรู้สึกประทับใจที่อาจารย์ใช้คำว่า แปล รู้สึกว่าเราช่างเป็นนักแปลเสียจริงๆ แปลวิจิตรพิสดารจนกระทั่งไม่รู้ว่าสิ่งที่ตัวแปลนั้นคืออะไร มันเลยไปหมด นี่เป็นสิ่งที่ยากจริงๆ จะมีวิธีอะไรที่จะทำให้สติระลึกถูกต้องตามสิ่งที่ปรากฏทางตา ปรากฏทางหูจริงๆ สติของเรามันช้า หรือไม่เกิด นอกจากการฟังแล้ว ผมยังไม่เห็นว่าจะมีวิธีไหน แต่ก็ฟังมาหลายปีแล้ว ยังไม่เห็นสิ่งที่ปรากฏทางตาสักครั้งหนึ่ง เห็นแต่คน สัตว์ สิ่งของอยู่อย่างนี้ เมื่อไรจะเห็นสักที

    สุ. อดทน มีทางเดียว ไม่มีทางอื่นเลย เพราะว่าต้องเป็นปัญญาที่รู้ชัดในลักษณะของสภาพธรรมตามความเป็นจริงด้วยสติ พร้อมสติที่ระลึกและค่อยๆ ศึกษาสังเกต รู้ลักษณะของสภาพธรรมนั้นๆ

    ผู้ฟัง เหตุที่แปลไปในทางเป็นตัวเป็นตน แปลเป็นบัญญัตินั้น ก็เพราะเรา ยังไม่เคยชิน เราเคยชินกับการที่จะแปลไปในทางนั้น ก็ต้องเพิ่มความรู้ คือ มีปัญญา และที่คุณนิภัทรถามว่าเราสะสมมาตั้งแต่กี่ชาติแล้ว สรุปคือตัวอวิชชานั่นเอง เรายัง ไม่คุ้นเคยกับสภาพธรรม ถ้าเราคุ้นเคยกับสภาพธรรม ซึ่งเวลานี้ที่เรามาศึกษา มาฟัง ที่อาจารย์พร่ำสอน เราได้เริ่มแล้ว เหมือนกับได้จับด้ามมีดแล้ว ตัวเองต้องเตือนตัวเองด้วย ไปเตือนคนอื่น เดี๋ยวก็หลงไปเหมือนกัน

    สุ. ถ้าเข้าใจว่า ในขณะที่กำลังเห็นสิ่งที่ปรากฏทางตาเป็นขณะหนึ่ง และเวลาที่รู้ความหมายของสิ่งที่ปรากฏทางตาเป็นอีกขณะหนึ่ง ซึ่งเท่ากับแปลสีต่างๆ ถ้าเข้าใจอย่างนี้ จะเป็นโอกาสให้สติระลึกลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏก่อนแปล ได้ว่า ก่อนแปลก็เป็นแต่เพียงสี เวลานี้มีแต่สี ยังไม่ต้องแปล แต่เวลาแปลออกมาแล้ว สีนี้เป็นคนนั้น สีนั้นเป็นคนนี้ นั่นคือเรื่องของความคิด โลกของความคิด ซึ่งทุกคนอยู่ในโลกของความคิดมานานจนกระทั่งไม่รู้ความจริงเลยว่า แท้ที่จริงแล้วสภาพธรรมเกิดและดับไป แต่เพราะสติไม่ได้ระลึกที่ลักษณะของสภาพธรรมที่เกิดและดับ มัวแต่ พะวงแปล คิดเป็นเรื่องราวต่างๆ จึงไม่ประจักษ์ลักษณะของสภาพธรรมตามความเป็นจริง

    . ในขณะที่ยังไม่ได้แปลความหมายของสิ่งที่ปรากฏทางตา ถ้าขณะนั้นสติระลึก จะระลึกศึกษาลักษณะของรูปธรรมที่ปรากฏได้อย่างเดียว หรือสามารถระลึกศึกษาได้ทั้งรูปธรรมและนามธรรมที่กำลังรู้สีนั้นด้วย

    สุ. ทีละขณะ ถ้าสติระลึกลักษณะของสภาพรู้ คือ รู้ว่าในขณะนี้ที่ สีสันวัณณะปรากฏเพราะมีลักษณะที่รู้ซึ่งกำลังเห็น หรือกำลังรู้สิ่งที่ปรากฏ นี่คือพิจารณาสภาพที่เป็นนามธรรมซึ่งกำลังรู้ กำลังเห็น สีสันวัณณะจึงปรากฏ

    แต่เวลาที่จะพิจารณาลักษณะของรูปธรรมทางตา ก่อนที่จะแปลก็รู้ว่า เป็นแต่เพียงสิ่งที่ปรากฏจริงๆ พิจารณาให้ถึงความถ่องแท้ของสิ่งที่กำลังปรากฏทางตา ก่อนแปลว่าเป็นอย่างนั้นจริงๆ หรือเปล่า ซึ่งต้องเป็นอย่างนั้นแน่นอน และจึงจะคิดนึกแปลเป็นบุคคลต่างๆ

    . ขณะที่สติเกิด เป็นคนละขณะกับสภาพธรรมกำลังปรากฏ สมมติว่าสภาพธรรมกำลังปรากฏ ต่อมาเราก็แปลว่าเป็นบุคคลนั้น เป็นสิ่งนั้นสิ่งนี้ แต่ ก่อนขณะที่จะแปลนั้น ก็เป็นเพียงสภาพธรรมที่กำลังปรากฏทางทวารต่างๆ แต่เวลาที่สติจะเกิดระลึก ก็ต้องเป็นอีกคนละขณะหนึ่ง

    สุ. คนละวาระ

    . เวลาที่สติเกิดขึ้น ก็ต้องระลึกลักษณะของสภาพธรรม แล้วแต่ว่า จะระลึกรู้ที่รูปธรรมหรือนามธรรม และอารมณ์ที่จะเป็นอารมณ์ของสติปัฏฐานได้ ต้องเป็นปรมัตถอารมณ์ ก็ต้องเป็นส่วนที่ยังไม่ได้แปล เวลาที่สติหวนระลึกถึง สภาพธรรมที่กำลังปรากฏในขณะที่ยังไม่ได้แปลความหมายนั้น จะสามารถสังเกตลักษณะของนามธรรมที่กำลังรู้ได้ไหม

    สุ. นามธรรมเป็นสภาพรู้ ซึ่งจะเป็นอารมณ์ของสติปัฏฐานได้ในขณะที่ มีการเห็น ในขณะที่มีการได้ยิน ในขณะที่มีการได้กลิ่น ในขณะที่มีการลิ้มรส ในขณะที่มีการรู้สิ่งที่กระทบสัมผัส ในขณะที่คิดนึก ๖ ทาง ๖ ทวาร

    กำลังนอนหลับสนิท ไม่มีทาง ถึงแม้จะมีนามธรรมเกิดดับ แต่สติระลึกไม่ได้ ปัญญารู้ชัดไม่ได้ในขณะที่หลับสนิท จะรู้ชัดว่ามีนามธรรมก็เมื่อเห็น ขณะนี้ที่กำลังเห็น และต่อไปอีกกี่ภพกี่ชาติก็จะต้องมีการเห็น ถ้าไม่ได้ฟังพระธรรมจากพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ไม่มีโอกาสสักขณะเดียวที่จะระลึกได้ว่า ขณะนี้เป็นเพียงสภาพรู้ หรือเป็นธาตุรู้ เป็นอาการรู้อย่างหนึ่งซึ่งคนตายไม่มี

    ถ้าเทียบกับคนตายก็พอจะเห็นได้ใช่ไหมว่า ขณะนี้ต้องเป็นธาตุรู้ แต่ธาตุรู้นี่ ปิดบัง เพราะว่าสติไม่เคยระลึก และดับไปอย่างรวดเร็วด้วย และก็มีแต่ความคิดนึกกับอัตตสัญญา คือ ความทรงจำในสิ่งที่ปรากฏว่าเป็นสิ่งหนึ่งสิ่งใด เป็นบุคคลหนึ่ง บุคคลใดอยู่ตลอดเวลา ซึ่งจะต้องละคลายด้วยอนัตตสัญญา ซึ่งจะค่อยๆ เกิดขึ้น ด้วยการที่สติระลึกศึกษาลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏ จนกว่าจะรู้ชัดจริงๆ ว่า ทางตา สิ่งที่ปรากฏต้องเป็นแต่เพียงสีเท่านั้น ไม่อย่างนั้นจะไม่มีทางละคลาย การยึดถือสภาพธรรมว่า เป็นตัวตน เป็นสัตว์ เป็นบุคคลเลย

    ผู้ฟัง ที่ว่าการทำงานของจิตรวดเร็วมากจนกระทั่งไม่รู้เลย ขณะที่เราเห็นพระพุทธรูปก็แปลออกมาเร็วมาก จนกระทั่งจากเห็นแล้วก็รู้เลย ซึ่งความจริงขณะนี่ห่างกันมาก แต่ไปได้เร็วเหลือเกิน ผมขออนุญาตเรียนเสริมว่า ถ้าใครเคยศึกษาเรื่องระบบเรดาร์ในปัจจุบันจะพอเข้าใจบ้างว่า ความจริงจิตก็มีลักษณะคล้ายๆ คลื่น เท่าที่ผมสังเกตดู เครื่องบินบินเข้ามาในย่านขนาดที่คลื่นของเรดาร์จะรับได้ บนจอเรดาร์จะเห็นว่าเป็นจุด คือ เห็นเท่านั้น แต่ยังไม่รู้ ยังไม่แปล หลังจากนั้นชั่วระยะหนึ่งมีข้อมูลต่างๆ เข้ามา ทำหน้าที่แปลนี่เร็วมาก จะบอกได้ทันทีว่านี่เป็นอะไรที่มาปรากฏบนจอ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเครื่องมือวิทยาศาสตร์สมัยปัจจุบันที่เราจะเห็นว่า มีข้อมูลขึ้นมาแบบคอมพิวเตอร์ทันทีว่า ความเร็วเท่านี้ ความสูงเท่านี้ ข้อมูลจะมาทันที เป็นข้อมูลเดิม ซึ่งเก็บไว้อยู่แล้ว มีอยู่แล้ว จะขึ้นมาเปรียบเทียบให้เห็นทันที แต่รู้อย่างนี้เป็นแต่เพียงรู้ตามที่มีสัญญาหรือความจำที่มีข้อมูลเดิมอยู่ ซึ่งข้อมูลทางใจ ก็อยู่ในลักษณะนั้น ขณะเห็นกับขณะรู้จะห่างกันหน่อย แต่เวลาเราเห็นก็เป็นพระพุทธรูปขณะเดียวกัน แยกไม่ออก แต่ความจริงเป็นขณะๆ

    ผมขอเรียนว่า ความรู้ทางวิทยาศาสตร์สมัยใหม่พอจะมองเห็นการทำงานเป็น สเต็ปๆ เหมือนกัน เพราะฉะนั้น จิตนี้จึงพิสดาร และเป็นเรื่องที่พระพุทธองค์ได้ทรงค้นพบมานานมาก วิทยาศาสตร์ยังตามไม่ทัน

    สุ. ขอบพระคุณ ไม่ทราบท่านผู้ฟังยังมีข้อสงสัยอะไรอีกหรือเปล่า

    . ผมรู้ว่าขณะที่เห็นกับขณะที่แปลเรื่องราวเป็นคนละขณะ รู้ตามที่ได้ศึกษามา ตามที่ได้ฟังอาจารย์พูด แต่ไม่สามารถประจักษ์จริงๆ การยกอุปมาเปรียบเทียบต่างๆ เป็นเพียงแค่ให้เราทำความเข้าใจ แต่ก็ยังไม่หายสงสัยตราบใดที่เรายังไม่ประจักษ์สภาวะจริงๆ ที่ปรากฏ จะอุปมาเปรียบเทียบอย่างไรก็ไม่หายสงสัย เพราะไม่ปรากฏ เพียงนึกเรื่องราว หรือเพียงคิดคาดคะเนเท่านั้น และที่รู้นั้นไม่ใช่ รู้แบบประจักษ์ เป็นการรู้แบบจำเอา

    สุ. ค่อยๆ ศึกษาสังเกตทีละเล็กทีละน้อย เช่น ต่อไปนี้ลองหยุดแปล หยุดเฉยๆ อย่างภาพนิ่ง ยังมีหยุดได้ ไม่ให้มีการเคลื่อนไหว หยุดอยู่อย่างไรก็อยู่อย่างนั้น แต่ก่อนนี้อาจจะหยุดเฉยๆ ปัญญาไม่ได้เกิด แต่ในขณะนี้ที่จะให้ปัญญาเกิด คือ ในขณะที่หยุดแปล ศึกษา คือ เข้าใจลักษณะของสิ่งที่ปรากฏว่า จะเป็นสิ่งอื่นไม่ได้แน่นอน นอกจากเป็นเพียงสิ่งที่ปรากฏทางตาเท่านั้นเอง

    ก็เริ่มจะเห็นความต่างกันของขณะที่คิดนึก หรือขณะที่แปล กับขณะที่สติ เริ่มศึกษาว่า มีสภาพธรรมจริงๆ ที่กำลังปรากฏทางตา

    . รู้สึกจะกลัวกันว่า ไปแปลแล้วจะไม่มีสติเกิด แต่ปกติพระผู้มีพระภาค ไม่แปลหรือ ที่ท่านเห็นภิกษุแล้วตรัสว่า ดูกร ภิกษุทั้งหลาย หรือ ดูกร อานนท์ คำว่า ดูกร ภิกษุทั้งหลาย หรือ ดูกร อานนท์ เป็นการแปลหรือไม่

    สุ. แน่นอน

    . แต่ก็ยังชื่อว่ามีสติ

    สุ. เป็นการรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่เกิดสืบต่อทางมโนทวาร ซึ่งไม่มีใครจะยับยั้งได้ แต่ผู้ที่รู้แล้ว ประจักษ์ชัดแล้ว ศึกษาแล้ว กับผู้ที่ยังไม่รู้เลย คุณสุชาติ ยืนอยู่ที่นี่ ก็เป็นตัวคุณสุชาติจริงๆ จะเป็นอื่นไปไม่ได้เลย แต่ผู้ที่รู้ รู้ว่าสภาพธรรมทางตาเป็นอย่างหนึ่ง ไม่มีคุณสุชาติ แต่มีสภาพธรรมที่ปรากฏทางตาในขณะที่เห็น ถ้ากระทบสัมผัสก็จะแข็ง ถูกไหม เป็นแต่เพียงสภาพธรรมแต่ละอย่างซึ่งเกิดและดับไปอย่างรวดเร็ว ไม่มีคุณสุชาติเลย แต่เมื่อเห็นแล้ว มีสัญญา ความจำ หลังจากที่ จักขุทวารวิถีดับไปแล้ว มโนทวารวิถีที่เกิดต่อสามารถรู้ความหมายของสิ่งที่ปรากฏ โดยรู้ว่าในขณะนั้นเป็นนามธรรมอีกชนิดหนึ่ง

    . หมายความว่า ในขณะที่เห็น เราก็รู้ว่าเห็น ตอนนี้เป็นสติปัฏฐาน เช่น เห็นสีสันต่างๆ ก็สักแต่ว่าเป็นปฏิกิริยาระหว่างปัจจัยต่างๆ ที่เกิดขึ้น ส่วนคำว่า สีแดง สีเหลือง เราตัดไปก่อนจนเหลือแต่คำว่าสี อย่าไปนึกว่าเป็นสี ให้เห็นว่าเป็นปฏิกิริยาระหว่างนามธรรมและรูปธรรม คือ วัณณรูปปรากฏขึ้นเป็นปฏิกิริยาเฉยๆ ใช่ไหม

    สุ. เป็นสภาพธรรมซึ่งไม่ใช่เรา ไม่ใช่สิ่งหนึ่งสิ่งใด

    . สมมติว่าเราเป็นพระอรหันต์แล้ว เราจะแปลขึ้นมา เราก็รู้ว่าเรากำลังแปลอยู่ว่าสิ่งนั้นเป็นบัญญัติ และเราก็พูดตาม โดยมีสติในการแปลนั้นด้วย ใช่ไหม

    สุ. รู้ลักษณะของนามธรรมทางมโนทวารหรือยัง

    . เราต้องทราบด้วย

    สุ. จะต้องระลึกรู้ แม้แต่ขณะที่กำลังรู้สิ่งที่เห็นว่าเป็นอะไร หรือเป็นใคร ก็เป็นนามธรรมชนิดหนึ่ง คือ จะต้องรู้ลักษณะของสภาพธรรมในชีวิตประจำวัน โดยตลอดว่า แม้ขณะที่รู้ก็ไม่ใช่ตัวตน แต่ต้องมีสภาพที่รู้ว่าสิ่งที่ปรากฏทางตาเป็นอะไร หรือต้องมีสภาพที่รู้ว่าเสียงที่ได้ยินทางหูหมายความว่าอะไร แต่เป็นนามธรรม คนละขณะ คนละทวาร

    . แต่ตอนรู้ว่าไม่ใช่ตัวตน ต้องรู้ว่าไม่ใช่ตัวตนก่อน หรือรู้ว่าเป็นนามรูปก่อน

    สุ. ที่เป็นนามนั้น คือ ไม่ใช่ตัวตน ที่เป็นรูปนั้น คือ ไม่ใช่ตัวตน ขณะที่ รู้ว่าเป็นนามก็หมายความว่าขณะนั้นไม่ใช่เรา ขณะที่รู้ว่าเป็นรูปก็หมายความว่า ขณะนั้นก็ไม่ใช่เรา เพราะว่าเป็นรูปจึงไม่ใช่เรา เพราะว่าเป็นนามจึงไม่ใช่เรา



    คำบรรยายคัดลอกจาก E-book
    แนวทางเจริญวิปัสสนา เล่ม ๑๖๙ ตอนที่ ๑๖๘๑ – ๑๖๙๐
    เรียบเรียงอักษรให้อยู่ในรูปแบบหนังสือ โดยมีเนื้อหาใจความสำคัญครบถ้วน
    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 95
    28 ธ.ค. 2564