แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1741
ครั้งที่ ๑๗๔๑
สาระสำคัญ
ความไม่มีสาระของเรื่องที่คิด
สํ. สฬ. ปฐมสัปปายสูตร - ทรงแสดงข้อปฏิบัติอันเป็นที่สบาย
สํ.สฬ. เวรหัญจานีสูตร - แสดงลักษณะของผู้ที่มั่นคงในกุศลธรรม
ที่ห้องประชุมตึกสภาการศึกษามหามกุฏราชวิทยาลัย
วันอาทิตย์ที่ ๑๓ ธันวาคม ๒๕๓๐
ในวันหนึ่งๆ เห็นความไม่มีสาระของความคิดบ้างแล้วหรือยัง
ถ้าเริ่มเห็นความไม่มีสาระของความคิด ขณะที่เห็นว่าความคิดไม่มีสาระ ขณะนั้นสติจะระลึกลักษณะของปรมัตถธรรมที่ปรากฏ
การที่มีสภาพธรรมปรากฏแล้วสติไม่ระลึก ก็เพราะยังไม่สามารถรู้ชัดว่า ความคิดทางใจเป็นเรื่องราวของสิ่งที่ปรากฏเท่านั้นเอง ทั้งๆ ที่สิ่งที่ปรากฏทางตานั้น ก็ดับหมดไปแล้ว
ความทุกข์ยากต่างๆ ที่ปรากฏในพระไตรปิฎก จะเห็นได้ว่า แม้ท่านพระฉันนะท่านก็มีทุกสิ่งทุกอย่าง มีอาหารที่สะดวกสบาย มีผู้อุปัฏฐากที่สะดวกสบาย มียารักษาโรคที่สะดวกสบาย แต่ถึงกระนั้นทุกข์จริงๆ ของท่าน ก็คือความป่วยไข้ ฉันใด ทุกข์ของคฤหัสถ์หรือคนทั้งหลายในโลก ทุกข์จริงๆ ก็คือความป่วยไข้เท่านั้นเอง นอกจากความป่วยไข้แล้วก็เป็นเรื่องของทุกข์ใจทั้งหมด ซึ่งไม่ถึงกายเลย ไม่เจ็บ ไม่ปวด แต่ความคิดก็ทำให้เกิดความเร่าร้อนเดือดร้อนได้
ถ้าสามารถรู้แหล่งของความทุกข์ คือ ความคิด และเห็นความไม่มีสาระของความคิด จะทำให้ละคลายการหลงยึดถือความคิดว่า เป็นสิ่งที่ควรจะเดือดร้อน
สำหรับผู้ที่ยากไร้จริงๆ ที่คิดว่าตนเองกำลังมีความทุกข์ ความเดือดร้อนมาก ก็ยังเป็นผู้ที่มีสมบัติมากกว่าบรรพชิต เพราะบรรพชิตมีผ้านุ่งห่มเพียง ๓ ผืน แต่ผู้ที่ยากไร้จริงๆ ก็คงมีมากกว่า ๓ ผืนหรือมีพอใช้ และบรรพชิตก็มีบาตรเพียง ๑ ใบ แต่ผู้ที่มีความทุกข์ ความเดือดร้อน ความยากไร้ คงจะมีสมบัติมากกว่าบาตรเพียง ๑ ใบ และสำหรับผู้ที่มีความทุกข์ยากเรื่องที่อยู่ที่อาศัย บรรพชิตก็มีที่อยู่ที่อาศัย น้อยกว่าผู้ที่กำลังมีความทุกข์ยาก เพราะที่อยู่ที่อาศัยของบรรพชิตนั้น เป็นร่มไม้บ้าง เป็นถ้ำ เป็นป่า
ถ้าพิจารณาจริงๆ ถึงความทุกข์จะเห็นได้ว่า เป็นเรื่องของทุกข์กาย ถ้าเป็นความทุกข์จริงๆ ต้องเป็นกายวิญญาณที่ประสบกับโผฏฐัพพะที่ไม่เป็นที่สบาย เพราะฉะนั้น ทุกคนจะสบายใจขึ้นในวันหนึ่งๆ ก็ด้วยการรู้ความจริงว่า ธรรมใดจะทำให้เป็นที่สบาย
สังยุตตนิกาย สฬายตนวรรค ปฐมสัปปายสูตร มีข้อความว่า
ดูกร ภิกษุทั้งหลาย เราจักแสดงข้อปฏิบัติอันเป็นที่สบายแก่การเพิกถอน ซึ่งความสำคัญสิ่งทั้งปวงด้วยตัณหามานะและทิฏฐิแก่เธอทั้งหลาย เธอทั้งหลายจงฟัง จงใส่ใจให้ดี
พูดเท่านี้ก็พอจะทราบแล้วใช่ไหมว่า ต่อไปจะเป็นอย่างไร ถ้ายังมีตัณหา มีมานะ มีทิฏฐิ สบายไม่ได้ เพราะฉะนั้น ที่จะละคลายตัณหา มานะ และทิฏฐิ ต้องเป็นข้อปฏิบัติที่ทำให้ปัญญารู้แจ้งชัดในลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏเท่านั้น มิฉะนั้นแล้ววันหนึ่งๆ แม้วันนี้หลังจากที่ได้ฟังพระธรรมแล้ว ถ้าอกุศลวิตกเกิด ก็เป็นทุกข์อีก จนกว่าสติปัฏฐานจะเกิดและระลึกได้ว่า ถ้าจะสบายพ้นจากอกุศลวิตก ก็ต่อเมื่อรู้ว่า ธรรมที่เป็นข้อปฏิบัติที่สบายคืออย่างไร
พระผู้มีพระภาคตรัสต่อไปว่า
ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ก็ข้อปฏิบัติอันเป็นที่สบายแก่การเพิกถอนซึ่งความสำคัญสิ่งทั้งปวงด้วยตัณหามานะและทิฏฐิเป็นไฉน ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุในศาสนานี้ ย่อมไม่สำคัญซึ่งจักษุ ในจักษุ แต่จักษุว่า จักษุของเรา ย่อมไม่สำคัญรูป ย่อม ไม่สำคัญจักษุวิญญาณ ย่อมไม่สำคัญซึ่งจักษุสัมผัส ย่อมไม่สำคัญซึ่งสุขเวทนา ทุกขเวทนา หรืออทุกขมสุขเวทนาที่เกิดขึ้นเพราะจักขุสัมผัสเป็นปัจจัย ในเวทนานั้น แต่เวทนานั้นว่า เวทนานั้นเป็นของเรา
เท่านี้จึงจะเป็นผู้สบายจริงๆ เพราะรู้ความจริงว่าไม่มีของเราเลย ไม่ว่าจะเป็นจักษุ หรือรูป หรือจักขุสัมผัส หรือทุกขเวทนา หรือสุขเวทนา ที่เกิดเพราะการเห็น
ยากหรือง่าย แต่สบายจริงๆ ถ้าสามารถระลึกได้จริงๆ
ดูกร ภิกษุทั้งหลาย เพราะสิ่งใดที่ตนสำคัญไว้ เป็นที่ให้สำคัญ เป็นแดนให้สำคัญ เป็นเหตุให้สำคัญว่า เป็นของเรา สิ่งนั้นล้วนเปลี่ยนแปลงออกไปจาก ที่สำคัญนั้น คือ สัตว์ในภพก็มีความเปลี่ยนแปลงไปเป็นอย่างอื่น สัตว์โลกย่อมเพลิดเพลินเฉพาะภพเท่านั้น
ข้อความต่อไป ก็ตลอดไปจนถึงตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ คือ
ย่อมไม่สำคัญซึ่งใจ ในใจ แต่ใจว่า ใจของเรา ย่อมไม่สำคัญซึ่งธรรมารมณ์ ในธรรมารมณ์ แต่ธรรมารมณ์ว่า ธรรมารมณ์ของเรา ย่อมไม่สำคัญซึ่งมโนวิญญาณ ในมโนวิญญาณ แต่มโนวิญญาณว่า มโนวิญญาณของเรา ย่อมไม่สำคัญซึ่ง มโนสัมผัส ในมโนสัมผัส แต่มโนสัมผัสว่า มโนสัมผัสของเรา ย่อมไม่สำคัญซึ่ง สุขเวทนา ทุกขเวทนา หรืออทุกขมสุขเวทนาที่เกิดขึ้นเพราะมโนสัมผัสเป็นปัจจัย ในเวทนานั้น แต่เวทนานั้นว่า เวทนานั้นเป็นของเรา
ดูกร ภิกษุทั้งหลาย บุคคลนั้นย่อมไม่สำคัญซึ่งขันธ์ ธาตุ และอายตนะ ในขันธ์ ธาตุ และอายตนะ แต่ขันธ์ ธาตุ และอายตนะว่า ขันธ์ ธาตุ และอายตนะเป็นของเรา บุคคลผู้ไม่สำคัญอยู่อย่างนี้ ย่อมไม่ถือมั่นอะไรๆ ในโลก เมื่อไม่ถือมั่น ย่อมไม่สะดุ้งกลัว เมื่อไม่สะดุ้งกลัว ย่อมดับสนิทได้เฉพาะตนทีเดียว รู้ชัดว่า ชาติสิ้นแล้ว พรหมจรรย์อยู่จบแล้ว กิจที่ควรทำ ทำเสร็จแล้ว กิจอื่นเพื่อความ เป็นอย่างนี้มิได้มี ดังนี้
ดูกร ภิกษุทั้งหลาย อันนี้แลคือข้อปฏิบัติอันเป็นที่สบายแก่การเพิกถอน ซึ่งความสำคัญสิ่งทั้งปวงด้วยตัณหา มานะ และทิฏฐิ ฯ
มีสถานที่ไหม ไม่มีเลย ไม่ต้องทำอะไรนอกจากรู้ชัดในลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏตามความเป็นจริง
สบายจริงๆ ถ้าสติจะเกิดระลึกได้อย่างนี้ ถ้าได้ยินแล้วเสมือนไม่ได้ยิน เดือดร้อนไหม ไม่ว่าใครจะแสดงกิริยาอาการอย่างไร ซึ่งคนอื่นอาจจะขุ่นเคืองใจหรือไม่เป็นที่พอใจ แต่ถ้าเห็นแล้วเหมือนไม่เห็นก็สบาย และถ้าสติสามารถระลึกลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏในขณะนั้นตามปกติตามความเป็นจริง ก็ยิ่งเบาสบายขึ้น โดยเฉพาะเมื่อมีโสภณเจตสิกเกิดร่วมด้วย เช่น พรหมวิหาร
มีบางท่านรู้สึกรังเกียจอกุศลของคนอื่น พิจารณาดู รังเกียจอกุศล ดีหรือไม่ดี แต่ว่ารังเกียจอกุศลของคนอื่น จะดีหรือไม่ดี
นี่เป็นความละเอียดของธรรม ถ้าไม่ใช่เป็นผู้ที่มีปกติเจริญสติปัฏฐานอาจจะเข้าใจว่าเป็นกุศลแล้ว หรือว่าดีแล้ว แต่ตามความเป็นจริง ถ้าเกิดการรังเกียจหรือ หิริจริงๆ ต้องเป็นความรังเกียจหรือหิริในอกุศลของตนเอง ไม่ใช่รังเกียจอกุศลของ คนอื่น เพราะบางคนเห็นกายวาจาของคนอื่นที่ไม่ดีงาม ที่น่ารังเกียจ แต่ขณะที่คิดรังเกียจอกุศลของคนอื่นที่จะไม่เกื้อกูล ไม่เมตตา ไม่สงเคราะห์ ไม่กรุณา ขณะนั้นพิจารณาดูว่า การรังเกียจอกุศลของคนอื่น เป็นกุศลหรือเป็นอกุศล
ดีหรือไม่ดี รังเกียจอกุศลของคนอื่น
ถ้าไม่มีเมตตาเป็นเครื่องเทียบ ไม่มีกรุณาเป็นเครื่องเทียบ ไม่มีมุทิตาเป็น เครื่องเทียบ ไม่มีอุเบกขาเป็นเครื่องเทียบ อาจจะเข้าใจว่าในขณะที่รังเกียจอกุศล ของคนอื่นนั้นดีแล้ว แต่ถ้าคิดถึงว่า ไม่จำเป็นต้องรังเกียจอกุศลของคนอื่น เพราะในขณะที่รังเกียจอกุศลของคนอื่นนั้น ลืม ไม่รังเกียจอกุศลของตนเองที่กำลังรังเกียจอกุศลของคนอื่น เพราะฉะนั้น ธรรมเป็นเรื่องที่ละเอียดจริงๆ
ผลของการฟังพระธรรมในครั้งหนึ่งๆ ยังไม่ต้องคิดถึงสติปัฏฐานที่จะเกิดอย่างมากมายและปัญญารู้แจ้งชัดในลักษณะของนามธรรมและรูปธรรม เพียงแต่ แต่ละท่านจะพิจารณาเห็นโทษของอกุศล มีความตั้งใจมั่นที่จะเจริญกุศลขึ้น และ ละคลายอกุศลลง นั่นก็เป็นการปฏิบัติซึ่งพระผู้มีพระภาคทรงแสดงว่า เป็นการ เจริญสมถะและวิปัสสนา เพราะเวลาที่บางท่านคิดถึงสมถะก็คิดถึงแต่การที่จะต้องไปนั่งหลับตาและระลึกถึงอารมณ์ที่ทำให้จิตสงบตั้งมั่นคงจนกระทั่งอุปจารสมาธิเกิด อัปปนาสมาธิเกิดเป็นฌานจิต แต่ลืมไปว่า ขณะนั้นกุศลจิตจะตั้งมั่นคงอย่างนั้น ไม่ได้เลย ถ้าปกติไม่ได้เป็นผู้ที่มีจิตสงบจากอกุศล
แม้แต่คำว่า สมถะและวิปัสสนา ถ้าพิจารณาจริงๆ สำหรับผู้ที่มีปกติเจริญ สติปัฏฐานจะรู้ว่า หมายความถึงการเจริญกุศล เพราะถ้ากุศลจิตไม่เกิด สงบไม่ได้ เพราะฉะนั้น แทนที่จะรังเกียจอกุศลของคนอื่นและไม่รู้ตัวว่าขณะนั้นจิตไม่สงบ ก็จะมีความละเอียดที่จะพิจารณารู้ว่า ขณะใดเป็นกุศล ขณะใดเป็นอกุศล และเจริญกุศลยิ่งขึ้น พร้อมกับการระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรม ซึ่งนั่นเป็นการเจริญคู่กันไป ของสมถะและวิปัสสนา เพราะขณะใดที่กุศลจิตเกิด ขณะนั้นสงบ มิฉะนั้นแล้ว วันหนึ่งๆ จะไม่เห็นความละเอียดของอกุศล และไม่เข้าใจว่าที่กล่าวถึงสมถะและวิปัสสนาหมายความถึงชีวิตประจำวันอย่างไร ถ้ามุ่งหวังเพียงแต่ให้อุปจารสมาธิเกิด โดยที่ชีวิตประจำวันไม่เป็นกุศล ก็ยากที่ความสงบของจิตจะมั่นคงขึ้น
มีท่านผู้ฟังที่รู้สึกว่าชีวิตประจำวันของท่านสงบขึ้นบ้างไหม เวลาที่อ่าน พระธรรมแล้วซาบซึ้งและเข้าใจพร้อมสติปัฏฐานที่เกิดระลึกในขณะนั้น ก็อาจจะมีปัจจัยทำให้ความสงบนั้นมั่นคงขึ้นได้
ถ้าเป็นผู้ที่สังเกตชีวิตประจำวันว่าเป็นผู้ที่ไม่หวั่นไหว ไม่เดือดร้อนในกายวาจาของคนอื่น นั่นก็พอที่จะส่องไปถึงความสงบของใจได้ว่า ท่านเป็นผู้ที่มีความสงบ ของใจเพิ่มขึ้น มิฉะนั้นแล้วย่อมหวั่นไหวไปตามกายวาจาของบุคคลอื่น เพราะฉะนั้น ตัวเองเป็นเครื่องพิสูจน์ได้ เมื่อได้รับกระทบกับกายวาจาที่ไม่น่าพอใจแล้วหวั่นไหวไหม ถ้าหวั่นไหว ก็หมายความว่าไม่ได้เจริญความสงบด้วย หรือว่าใจยังไม่สงบพอ แต่ถ้าไม่หวั่นไหว ก็หมายความว่าเป็นผู้ที่เจริญสมถวิปัสสนาในชีวิตประจำวัน
เรื่องของวิปัสสนาญาณ จะกล่าวถึงต่อไปไปเรื่อยๆ แต่เป็นข้อความสั้นๆ ในพระไตรปิฎก เพราะว่าเป็นเรื่องที่จะต้องอบรมจนกว่าจะถึงวิปัสสนาญาณแต่ละขั้น จริงๆ ข้อสำคัญ คือ ชีวิตประจำวันที่จะต้องเจริญกุศลขึ้น
สำหรับผู้ที่ไม่หวั่นไหวในกายวาจาของบุคคลอื่น ต้องเป็นผู้ที่บรรลุคุณธรรม เป็นพระอรหันต์ ตามข้อความในพระไตรปิฎก แต่ก่อนที่จะถึงความเป็นพระอรหันต์ จริงๆ การอบรมเจริญกุศลจะทำให้จิตใจสงบขึ้นๆ ได้
ข้อความใน สังยุตตนิกาย สฬายตนวรรค เวรหัญจานีสูตร ข้อ ๒๑๐ แสดงลักษณะของผู้ที่มั่นคงในกุศลธรรม เพราะฉะนั้น ก็ไม่หวั่นไหวในกายวาจาของบุคคลอื่น
ข้อความในพระสูตรมีว่า
สมัยหนึ่ง ท่านพระอุทายีอยู่ ณ สวนมะม่วงของโตเทยยพราหมณ์ ใกล้กามัณฑานคร ครั้งนั้น มาณพผู้เป็นศิษย์ของนางพราหมณีผู้เป็นเวรหัญจานิโคตร ได้เข้าไปหาท่านพระอุทายีถึงที่อยู่ ได้ปราศรัยกับท่านพระอุทายี ครั้นผ่านการปราศรัยพอให้ระลึกถึงกันไปแล้ว จึงนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ครั้นแล้วท่านพระอุทายี ยังมาณพนั้นให้เห็นแจ้ง ให้สมาทาน ให้อาจหาญ ให้รื่นเริงด้วยธรรมีกถา
ครั้งนั้นแล มาณพผู้อันท่านพระอุทายีให้เห็นแจ้ง ให้สมาทาน ให้อาจหาญ ให้รื่นเริงด้วยธรรมีกถาแล้ว ลุกขึ้นจากอาสนะเข้าไปหานางพราหมณีเวรหัญจานิโคตรถึงที่อยู่ ครั้นแล้วได้กล่าวกะนางพราหมณีเวรหัญจานิโคตรว่า
ขอแม่เจ้าผู้เจริญพึงทราบเถิด พระสมณะอุทายีแสดงธรรมงามในเบื้องต้น งามในท่ามกลาง งามในที่สุด ประกาศพรหมจรรย์พร้อมทั้งอรรถ พร้อมทั้งพยัญชนะ บริสุทธิ์บริบูรณ์สิ้นเชิง ดังนี้
นางพราหมณีเวรหัญจานิโคตรก็สนใจที่จะได้ฟัง ก็ได้กล่าวกะมาณพว่า
ถ้าอย่างนั้นเธอจงนิมนต์พระสมณะอุทายีตามคำของเรา เพื่อฉันอาหารอันจะมีในวันพรุ่งนี้ด้วยเถิด
มาณพนั้นรับคำของนางพราหมณีเวรหัญจานิโคตรแล้ว เข้าไปหาท่าน พระอุทายี และได้กล่าวกะท่านพระอุทายีว่า
ขอท่านพระอุทายีโปรดรับอาหารเพื่อฉันอันจะมีในวันพรุ่งนี้ของนางพราหมณีเวรหัญจานิโคตรผู้เป็นอาจารย์ของข้าพเจ้าด้วยเถิด
ท่านพระอุทายีได้รับนิมนต์ด้วยดุษณีภาพ ครั้งนั้น โดยราตรีนั้นล่วงไป ในเวลาเช้า ท่านพระอุทายีนุ่งแล้วถือบาตรและจีวรเข้าไปยังนิเวศน์ของนางพราหมณีเวรหัญจานิโคตร แล้วนั่งบนอาสนะที่เขาปูลาดไว้แล้ว
ครั้งนั้น นางพราหมณีเวรหัญจานิโคตรเลี้ยงดูท่านพระอุทายีให้อิ่มหนำสำราญ ด้วยขาทนียโภชนียาหารอันประณีตด้วยมือของตนเอง นางพราหมณีเวรหัญจานิโคตรทราบว่าท่านพระอุทายีผู้ฉันแล้ว ลดมือจากบาตรแล้ว ได้สวมเขียงเท้านั่งบนอาสนะอันสูง คลุมศีรษะแล้ว ได้กล่าวกะท่านพระอุทายีว่า
ท่านสมณะ ขอท่านจงกล่าวธรรม
ท่านพระอุทายีกล่าวว่า
น้องหญิง เวลาจักมี ดังนี้แล้ว ลุกขึ้นจากอาสนะแล้วหลีกไป
ไม่ได้แสดงธรรม เพราะนางพราหมณีเป็นผู้ที่ถือตนว่าเป็นอาจารย์ และยังไม่มีคุณธรรมที่จะประพฤติเหมือนผ้าเช็ดธุลี เพราะฉะนั้น แม้จะนิมนต์ให้ท่านพระอุทายีแสดงธรรม ก็สวมเขียงเท้า นั่งบนอาสนะอันสูง คลุมศีรษะ ท่านพระอุทายีเป็นผู้ที่เคารพพระธรรม เพราะฉะนั้น ท่านก็ไม่ได้กล่าวว่าอะไรเลย เพียงแต่กล่าวว่า น้องหญิง เวลาจักมี ดังนี้แล้ว ลุกขึ้นจากอาสนะแล้วหลีกไป
แม้ครั้งที่สอง มาณพนั้นได้เข้าไปหาท่านพระอุทายีถึงที่อยู่ ได้ปราศรัยกับ ท่านพระอุทายี และเมื่อท่านพระอุทายีได้แสดงธรรมแล้ว มาณพนั้นก็เข้าไปหา นางพราหมณีเวรหัญจานิโคตรถึงที่อยู่ และได้กล่าวกะนางพราหมณีเวรหัญจานิโคตรว่า ท่านพระอุทายีแสดงธรรมงามในเบื้องต้น งามในท่ามกลาง งามในที่สุด
นางพราหมณีเวรหัญจานิโคตรก็กล่าวว่า
ก็เธอกล่าวคุณของพระสมณะอุทายีอย่างนี้ๆ ท่านพระสมณะอุทายีถูกฉันขอให้ท่านกล่าวธรรมนี้กลับกล่าวว่า น้องหญิง เวลาจักมี ดังนี้แล้ว ก็ลุกขึ้นจากอาสนะหลีกไปเสีย
มาณพนั้นก็กล่าวว่า ที่เป็นอย่างนั้นเพราะเหตุว่านางพราหมณีสวมเขียงเท้า นั่งบนอาสนะสูง คลุมศีรษะ เพราะฉะนั้น ท่านพระอุทายีเป็นผู้ที่หนักในธรรม เป็นผู้เคารพธรรม จึงไม่กล่าวธรรมกับนาง
นางพราหมณีเวรหัญจานิโคตรก็ได้ให้มาณพนั้นไปนิมนต์ท่านพระอุทายีมารับภัตตาหารในวันรุ่งขึ้น เมื่อเห็นท่านพระอุทายีฉันแล้ว ลดมือจากบาตรแล้ว นางก็ได้ถอดเขียงเท้า นั่งบนอาสนะต่ำ เปิดศีรษะ แล้วได้นิมนต์ให้ท่านพระอุทายีแสดงธรรม โดยกล่าวกับท่านพระอุทายีว่า
ท่านเจ้าข้า เมื่ออะไรหนอมีอยู่ พระอรหันต์ทั้งหลายจึงบัญญัติสุขและทุกข์ เมื่ออะไรไม่มี พระอรหันต์ทั้งหลายจึงไม่บัญญัติสุขและทุกข์
ท่านพระอุทายีตอบว่า
ดูก่อน น้องหญิง เมื่อจักษุมีอยู่ พระอรหันต์ทั้งหลายจึงบัญญัติสุขและทุกข์ เมื่อจักษุไม่มี พระอรหันต์ทั้งหลายจึงไม่บัญญัติสุขและทุกข์
ตลอดไปจนถึง หู จมูก ลิ้น กาย ใจ
ถ้าไม่มีอะไรเกิดขึ้นจะมีสุขมีทุกข์ไม่ได้เลย แต่เพราะเมื่อมีตาเกิดขึ้นก็มีสุขทุกข์ที่เกิดเพราะตาเห็น เมื่อมีหูก็มีสุขทุกข์เกิดขึ้นเพราะการได้ยิน เมื่อมีจมูกก็มีสุขทุกข์เกิดขึ้นเพราะการได้กลิ่น เมื่อมีลิ้นก็มีสุขทุกข์เกิดขึ้นเพราะการลิ้มรส เมื่อมีกาย ก็มีสุขทุกข์เกิดขึ้นเพราะการกระทบสัมผัส เมื่อมีใจก็มีสุขทุกข์เกิดขึ้นเพราะการคิดนึก
แนวทางเจริญวิปัสสนา เล่ม ๑๗๕ ตอนที่ ๑๗๔๑ – ๑๗๕๐
เรียบเรียงอักษรให้อยู่ในรูปแบบหนังสือ โดยมีเนื้อหาใจความสำคัญครบถ้วน
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1686
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1687
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1688
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1689
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1690
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1691
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1692
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1693
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1694
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1695
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1696
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1697
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1698
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1699
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1700
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1701
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1702
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1703
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1704
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1705
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1706
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1707
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1708
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1709
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1710
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1711
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1712
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1713
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1714
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1715
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1716
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1717
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1718
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1719
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1720
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1721
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1722
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1723
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1724
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1725
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1726
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1727
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1728
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1729
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1730
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1731
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1732
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1733
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1734
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1735
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1736
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1737
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1738
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1739
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1740
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1741
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1742
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1743
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1744
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1745
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1746
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1747
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1748
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1749
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1750
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1751