แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1742
ครั้งที่ ๑๗๔๒
สาระสำคัญ
เข้าใจลักษณะอาการของสภาพธรรมพร้อมสติที่จะเริ่มระลึกรู้ (ไม่ใช่เพียงแต่ฟัง)
การอบรมเจริญสมถภาวนา
ที่ห้องประชุมตึกสภาการศึกษามหามกุฏราชวิทยาลัย
วันอาทิตย์ที่ ๑๓ ธันวาคม ๒๕๓๐
เมื่อท่านพระอุทายีกล่าวอย่างนี้แล้ว นางพราหมณีเวรหัญจานิโคตรได้กล่าวกะท่านพระอุทายีว่า
ข้าแต่ท่านผู้เจริญ ภาษิตของท่านแจ่มแจ้งนัก ข้าแต่ท่านผู้เจริญ ภาษิตของท่านแจ่มแจ้งนัก ข้าแต่ท่านอุทายีผู้เจริญ ดิฉันนี้ขอถึงพระผู้มีพระภาคเจ้าพระองค์นั้น กับทั้งพระธรรมและพระภิกษุสงฆ์เป็นสรณะ ขอพระคุณเจ้าอุทายีโปรดจำดิฉันไว้ว่าเป็นอุบาสิกาผู้ถึงพระรัตนตรัยเป็นสรณะตลอดชีวิต ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป
นางพราหมณีเวรหัญจานิโคตรไม่ได้แสดงความวิตกกังวลเลยว่า สติปัฏฐาน จะเกิดเมื่อไร มากน้อยแค่ไหน และวิปัสสนาญาณจะเกิดเมื่อไร แต่เป็นผู้ที่เข้าใจ พระธรรม และรู้ว่าจะต้องรู้แจ้งลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ
ข้อความโดยตรงจากพระไตรปิฎกเป็นเรื่องของกุศล อกุศล และเหตุการณ์ ต่างๆ ในชีวิตประจำวันของบุคคลในครั้งนั้น ซึ่งไม่ต่างกับบุคคลในครั้งนี้ และการได้ฟังพระธรรมส่วนละเอียดในเรื่องของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏที่เป็น พระอภิธรรม จะต้องฟังพระสูตรต่างๆ ประกอบกันด้วย มิฉะนั้นแล้วไม่มีทางที่จะ เกื้อกูลให้สติปัฏฐานเกิดระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ
ถ. อุบาสิกาได้ฟังท่านพระอุทายีพูดว่า เมื่อมีจักษุก็มีทุกข์ เพียงเท่านั้น นางก็สามารถเข้าใจได้ แต่ส่วนใหญ่ท่องจำได้แล้วก็ยังไม่เข้าใจ ผมได้สนทนากัน เมื่อวานนี้ มีอยู่ข้อหนึ่งว่า ทุกขสัจจ์กับสมุทัยสัจจ์ ลึกซึ้ง และรู้ได้ยาก เห็นได้ยาก ผมก็คิดว่า ชีวิตประจำวันที่ประสบอยู่ทุกวันนี้ ที่เราสุข เราทุกข์ เราเดือดร้อน ต่างๆ นานา ก็เพราะเราไม่เข้าใจทุกขสัจจ์ ไม่เข้าใจสมุทัยสัจจ์ จึงเห็นเป็นเรื่องราว เป็นสิ่งของต่างๆ และที่กล่าวว่า ทุกขสัจจ์ สมุทัยสัจจ์ ลึกซึ้งและเห็นได้ยาก ส่วนมรรคสัจจ์กับนิโรธสัจจ์ เห็นได้ยากเพราะลึกซึ้ง ฟังแล้วรู้สึกว่าเหมือนกัน ท่านอาจารย์โปรดให้ความกระจ่างด้วย
สุ. ขณะนี้มีทุกข์เพราะว่ามีสภาพธรรมที่เกิดดับ แต่เห็นได้ยาก ไม่ใช่ใครจะเห็นได้ง่ายๆ เลย เพียงแต่เข้าใจได้ว่า ขณะนี้สิ่งที่กำลังปรากฏปรากฏทางตาต้องดับ ในขณะที่เสียงกำลังปรากฏทางหู
ถ. ไม่ได้เห็นว่าเป็นธรรม เห็นเป็นเสียงคน เสียงสัตว์ไปเลย
สุ. เพราะฉะนั้น ไม่สามารถเห็นสภาพธรรมตามความเป็นจริงได้ ถ้าไม่เข้าใจจริงๆ ว่า ปัญญาต้องรู้อะไร โลกุตตรปัญญาต้องรู้อะไร หรือว่า วิปัสสนาญาณต้องรู้อะไร ต้องอาศัยการฟังเรื่องลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏจนกว่าจะเข้าใจจริงๆ เข้าใจอย่างลึกซึ้ง เข้าใจอย่างละเอียดถี่ถ้วน เข้าใจลักษณะอาการของสภาพธรรมนั้น พร้อมทั้งสติที่เริ่มระลึกรู้ ไม่ใช่เพียงแต่ฟัง
ถ. เข้าใจจริงๆ นี่ ไม่ใช่เข้าใจเพราะว่าจำได้
สุ. แน่นอน
ถ. เข้าใจเพราะจำได้ เพราะได้ยินได้ฟัง ได้ศึกษา กับความเข้าใจจริงๆ หมายความว่า เข้าใจโดยประจักษ์สภาวะลักษณะที่ปรากฏอย่างนั้นใช่ไหม
สุ. แม้แต่ขั้นของการฟัง จะต้องอาศัยการพิจารณาและการฟังด้วยดี และ รู้ว่าจะต้องฟังเรื่องของสิ่งที่กำลังปรากฏทางตาโดยนัยต่างๆ เพื่อให้เห็นในความเป็นอนัตตา แต่บางท่านจะให้อธิบายว่าปฏิบัติอย่างไร รู้สึกว่าต้องการปฏิบัติมาก และคิดว่ามีวิธีที่จะปฏิบัติด้วย เพราะฉะนั้น จึงอยากให้อธิบายว่า ตอนปฏิบัติ จะปฏิบัติอย่างไร ซึ่งความจริงไม่ใช่อย่างนั้นเลย
ถ. ถ้าถามในลักษณะนี้ แสดงว่ายังไม่เข้าใจจริงๆ
สุ. ไม่ใช่ว่ามีวิธี หรือไม่ใช่มีการอธิบายว่า ให้สติระลึกอย่างนั้น พิจารณาอย่างนั้น แต่ต้องฟังพระธรรมจนเข้าใจเรื่องของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏจริงๆ ก่อน เช่น สิ่งที่กำลังปรากฏทางตา พูดแค่นี้ แต่สติก็ไม่ได้ระลึกสักที จนกว่าจะรู้ว่า สิ่งที่กำลังปรากฏทางตาไม่ใช่ขณะที่กำลังคิดนึกรูปร่างสัณฐาน
ถ. สมัยก่อน อย่างนางพราหมณีอุบาสิกา ท่านฟังพระอุทายีเทศน์แค่สั้นๆ ท่านก็เข้าใจแจ่มแจ้ง อาจหาญร่าเริงในธรรม และขอถึงพระรัตนตรัยเป็นสรณะ สมัยนี้ฟังแล้วก็ขอถึงพระรัตนตรัยเป็นพึ่งเหมือนกัน แต่ไม่เข้าใจ
สุ. นี่เป็นความต่างกันของการอบรมปัญญา เพราะฉะนั้น ถ้าคิดย้อนไปเมื่อ ๒,๕๐๐ กว่าปี ซึ่งจริงๆ แล้วก็ไม่นาน ถ้าเกิดในภพภูมิบางภูมิก็อาจจะเพียง ชาติเดียวก็มาเกิดในโลกนี้ก็ได้ หรือถ้าเกิดเป็นสัตว์เล็กสัตว์น้อย หรือเป็นมนุษย์ นับไปถ้าอายุไม่เกิน ๑๐๐ ปี ก็อาจจะ ๒๐๐ กว่าชาติ บางชาติอายุสั้น อายุน้อย แต่ก็ไม่ไกลนักถ้าเทียบกับ ๑ กัป เพราะฉะนั้น จะเห็นได้ว่า ระยะเวลาเพียง ๒,๕๐๐ กว่าปีที่ผ่านไป ถ้ามีผู้ที่เคยฟังพระธรรม แม้ว่าในครั้งกระนั้นยังไม่ได้อบรมเจริญปัญญาไว้มาก แต่ก็ยังมีปัจจัยทำให้มีความสนใจที่จะไม่เข้าใจผิดที่จะพิจารณาพระธรรมโดยถูกต้อง และสะสมอบรมต่อไป
บางท่านกล่าวว่า พระอภิธรรมละเอียดนัก ท่านจึงชอบพระสูตร อ่านแล้ว จิตใจสบาย เพราะแสดงให้เห็นถึงชีวิตประจำวัน และมีความไพเราะซาบซึ้ง แต่อย่าลืมว่า ปัญญาต้องละคลายการยึดถือสภาพธรรมว่าเป็นตัวตนด้วย ไม่ใช่เพียงแต่อ่านพระสูตร มีความไพเราะ มีความซาบซึ้งแล้วสบายใจ แต่การอบรมเจริญปัญญาที่จะละคลายการยึดถือสภาพธรรม แม้ในขณะนั้นก็ต้องอบรมเจริญด้วย
ด้วยเหตุนี้จะขาดปิฎกหนึ่งปิฎกใดไม่ได้ และจะเห็นความสอดคล้อง การเกื้อกูลกันของทั้ง ๓ ปิฎก เพราะถ้าไม่ศึกษาธรรมโดยละเอียดซึ่งเป็นพระอภิธรรม ก็ไม่มีการแยกให้เห็นแต่ละขณะจิตซึ่งเกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัย และทำกิจสืบต่อกัน ตามวาระหนึ่งๆ ที่มีการเห็น มีการได้ยิน มีการได้กลิ่น มีการลิ้มรส มีการรู้สิ่งที่กระทบสัมผัส มีการคิดนึก ซึ่งแสดงให้เห็นความเป็นอนัตตา ความเป็นอนิจจัง ความไม่มีสาระของแต่ละขณะ และการที่จะเกิดได้ต้องมีเหตุปัจจัยจึงเกิด ซึ่งเหตุปัจจัยนั้นก็ไม่ได้อยู่ในอำนาจบังคับบัญชาของใครเลย แล้วแต่ว่าจะอาศัย ธาตุชนิดใดเจตสิกชนิดใดเกิดขึ้นในกาลไหน กระทำกิจไหน และก็ดับไปๆ อยู่เรื่อยๆ
เพราะฉะนั้น การฟังพระธรรมจะต้องศึกษาความละเอียดของธรรมที่เป็นส่วนของพระอภิธรรมด้วย พร้อมกันนั้นต้องศึกษาพระสูตรเพื่อเห็นโทษของอกุศลและ เห็นประโยชน์ของกุศลเพื่อจะได้พิจารณาตนเองด้วย
สำหรับประโยชน์ของพระวินัย จะทำให้เห็นความแตกต่างกันของระดับจิตใจของเพศคฤหัสถ์กับเพศบรรพชิต สำหรับผู้ที่เป็นบรรพชิตได้นั้นต้องเป็นผู้ที่ปฏิบัติตามพระวินัย ซึ่งมีอาจาระเสมอกับอาจาระของพระอรหันต์ผู้ดับกิเลสหมดสิ้นเป็นสมุจเฉท เพราะถ้าเพียงประพฤติปฏิบัติตามพระวินัยโดยสมบูรณ์จะไม่มีใครรู้เลยว่า ภิกษุรูปใดเป็นพระอรหันต์ ภิกษุรูปใดไม่ใช่พระอรหันต์ เพราะฉะนั้น การศึกษาพระวินัยจะทำให้เห็นความละเอียดของจิตของแต่ละบุคคลที่สะสมมา ที่มีระดับความสามารถในการอบรมเจริญปัญญาในเพศที่ต่างกัน ซึ่งแต่ละคนจะละกิเลสได้ก็ต่อเมื่อรู้จักตัวเอง ตามความเป็นจริง ไม่ใช่รู้จักคนอื่น เพราะถ้าคิดถึงคนอื่นขณะใด ขณะนั้นเป็นเรื่อง เป็นสมมติ เป็นบัญญัติ ไม่ได้รู้ลักษณะของปรมัตถธรรมที่กำลังคิดเรื่องนั้น ซึ่งมี เหตุปัจจัยจึงคิดและก็ดับไป
นี่คือชั่วขณะจิตที่คิด ซึ่งเป็นไปตลอดตั้งแต่เช้าจนถึงค่ำ ทุกวันๆ จะต้องมีบัญญัติเป็นอารมณ์บ้าง มีปรมัตถธรรมเป็นอารมณ์บ้าง แต่ถ้าไม่สามารถแยกว่า ขณะใดมีบัญญัติเป็นอารมณ์ ขณะใดมีปรมัตถ์เป็นอารมณ์ ย่อมไม่สามารถประจักษ์ลักษณะของสภาพธรรมตามความเป็นจริง
เพราะฉะนั้น ต้องเข้าใจให้ถูกต้องว่า บัญญัติคือขณะที่กำลังคิดเรื่องราวต่างๆ ขณะนั้นปรมัตถธรรมคือจิตเกิดขึ้นคิดนึกมีบัญญัติเป็นอารมณ์ ซึ่งไม่สามารถรู้แจ้งอริยสัจจธรรมในขณะที่มีบัญญัติเป็นอารมณ์ นอกจากขณะนั้นสติปัฏฐานจะเกิดระลึกลักษณะสภาพของจิตที่คิด และรู้ว่าขณะที่คิดนั้นเป็นสภาพธรรมที่เป็นปรมัตถธรรม ที่เกิดขึ้นคิดและดับไป จึงจะเห็นความไม่มีสาระของความคิดได้
ถ. ปัญหาเรื่องข้อปฏิบัติเกี่ยวกับสมถกัมมัฏฐาน ตามที่ได้อ่านวิสุทธิมรรค เรื่องสมาธินิทเทส ท่านแสดงผลของสมาธิเอาไว้ในลักษณะของกสิณต่างๆ คือ ถ้าเจริญสมถะจะต้องมีกสิณเป็นอารมณ์ จะต้องเพ่งอารมณ์ต่างๆ จนกว่ากสิณนั้นจะกลม เช่น ปฐวีกสิณ ต้องมีลักษณะของดินเป็นสีอรุณต่างๆ ก็สนทนากันว่า การปฏิบัติแบบนี้จะให้ผู้ปฏิบัติสนใจที่ผล เมื่อไรผลปรากฏตามที่แสดงไว้ในวิสุทธิมรรค อย่างนั้นจะเป็นสมถะได้ไหม
สุ. คนนั้นจะต้องทราบว่า สงบคืออะไร ไม่ใช่อ่านวิสุทธิมรรคแล้วต้องการ ที่จะเพ่งดินสีอรุณ โดยไม่รู้เลยว่า ดินสีอรุณจะทำให้กุศลจิตเกิดได้อย่างไร ข้อสำคัญที่สุด คือ ต้องทราบจุดประสงค์ว่า ในขณะที่จะทำสิ่งหนึ่งสิ่งใดนั้นเพื่ออะไร
ถ้าในวิสุทธิมรรคกล่าวถึงเรื่องกสิณต่างๆ เช่น ปฐวีกสิณ เป็นต้น และมีการกล่าวถึงการบริกรรมโดยใช้กสิณที่เป็นดินสีอรุณ ก็ควรที่จะเข้าใจว่า กสิณที่เป็น ดินสีอรุณที่กลมเกลี้ยงนั้นจะทำให้กุศลจิตเกิดได้อย่างไร ถ้าไม่เข้าใจ ไม่มีทางเลย ที่ใครก็ตามจะไปจ้องดูกสิณที่เป็นดินสีอรุณกลมเกลี้ยงแล้วกุศลจิตก็เกิด
คิดว่าจะเป็นไปได้ไหม ที่ใครจะเห็นกสิณที่เป็นวงกลมสีอรุณกลมเกลี้ยงแล้วกุศลจิตจะเกิด
ถ. คิดว่าไม่ได้
สุ. ถ้าไม่ได้ ก็หมายความว่าไม่ใช่การอบรมเจริญสมถภาวนา เพียงแต่ อ่านวิสุทธิมรรคและคิดว่าจะทำ ไม่ได้เข้าใจเลยว่า ขณะนั้นต้องเป็นมหากุศลญาณสัมปยุตต์ ในการเจริญสมถภาวนาก็ดี วิปัสสนาภาวนาก็ดี ไม่ใช่เพียงแต่ อ่านแล้วก็ทำ โดยไม่รู้ว่าจิตขณะนั้นเป็นกุศลหรือเป็นอกุศล
ถ้าเป็นผู้ที่พิจารณาก็จะรู้ว่า ดินกลมเกลี้ยงสีอรุณจะทำให้กุศลจิตเกิดได้อย่างไร มีเหตุผลอะไรที่ทำให้กุศลจิตเกิดเมื่อเห็น ถ้าไม่มีเหตุผล จิตในขณะนั้นเป็นกุศลไม่ได้ เมื่อเป็นกุศลไม่ได้ ก็ไม่ต้องกล่าวถึงกุศลญาณสัมปยุตต์ที่ต้องประกอบด้วยปัญญา ที่จะทำให้จิตสงบมั่นคงเป็นกุศลยิ่งขึ้น
ถ. หมายความว่า ต้องมีปัญญารู้ว่า ถ้าเกลี้ยงอย่างนั้น กลมอย่างนั้น กุศลจะเกิดได้อย่างไร เพราะฉะนั้น ต้องรู้ลักษณะของกุศล อกุศลด้วย
สุ. ต้องประกอบด้วยสติสัมปชัญญะที่รู้สภาพของจิต
ถ. ถ้าพูดถึงแต่ผลอย่างเดียว
สุ. ไม่ได้เลย ผลต้องมาจากเหตุ และเหตุต้องเป็นมหากุศลญาณสัมปยุตต์ด้วย
ถ. เป็นไปได้ไหม ถ้าอกุศลจะมีดินสีอรุณเป็นอารมณ์
สุ. ถ้าขณะนี้มีดินสีอรุณกลมเกลี้ยงวางอยู่ และขณะที่เห็นกุศลจิตจะเกิด ได้อย่างไร เพียงแต่เห็นดินกลมเกลี้ยงสีอรุณ
ถ. เห็น ชอบก็ได้
สุ. ขณะนั้นก็เป็นโลภมูลจิต ไม่ใช่มหากุศล
ถ. เพราะฉะนั้น ไม่ใช่การเจริญสมถะ
สุ. ไม่ใช่ การเจริญสมถภาวนา หรือการเจริญวิปัสสนาภาวนา ต้องประกอบด้วยปัญญา ถ้าปราศจากปัญญาแล้วเจริญไม่ได้เลย
ถ. ผู้ที่ไม่มีปัญญา ไม่ได้ฟังเรื่องการอบรมเจริญสติปัฏฐาน เขาจะรู้ลักษณะของกุศล อกุศลได้ไหม
สุ. ผู้ที่ไม่มีปัญญา เจริญสมถภาวนาและวิปัสสนาภาวนาไม่ได้
ถ. เพราะฉะนั้น ปัญญาต้องอบรมจากขั้นไม่มีก่อน เช่น ได้ยินได้ฟัง หรือเป็นผู้ที่พิจารณาลักษณะของโทษของอกุศล ใช่ไหม
สุ. นี่คือจุดประสงค์ของการที่ทุกท่านกำลังฟังพระธรรมและศึกษา พระธรรม เพื่อรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ เมื่อฟังแล้วเข้าใจก็ยังไม่ใช่ การดับกิเลสเพียงขั้นเข้าใจ ต้องรู้ว่า จะต้องอบรมเจริญปัญญาระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏจนประจักษ์จริงๆ ตามที่ได้ยินได้ฟัง ไม่ผิดกันเลยกับที่ ได้ยินได้ฟัง
ถ้าฟังเรื่องของนามธรรมและรูปธรรม เข้าใจเรื่องนามธรรมและรูปธรรมที่กำลังปรากฏ แต่ขณะที่กำลังเพียงเข้าใจเรื่องของนามธรรมที่กำลังปรากฏ ขณะนั้น ดับกิเลสไม่ได้ จะต้องเป็นสติปัฏฐานที่เกิดระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏไปเรื่อยๆ และปัญญาต้องพิจารณาศึกษาจนกระทั่งรู้ชัดประจักษ์แจ้งลักษณะ ของนามธรรมและรูปธรรมตามลำดับขั้น
ถ. ที่จะเห็นโทษของความเป็นตัวตน ต้องรู้ลักษณะโทษของอกุศลก่อน หรือเปล่า
สุ. อกุศลอะไร มีอกุศลมากมาย ทุกท่านก็เข้าใจเรื่องของโลภะ เรื่องของโทสะ เรื่องของโมหะ
ถ. ส่วนใหญ่ไม่ชอบความโกรธ ความไม่พอใจ
สุ. ไม่ว่าจะเป็นความโกรธหรือความรักก็ตาม ทั้งหมดมาจากความไม่รู้ เพราะฉะนั้น การอบรมเจริญปัญญาเพื่อละความไม่รู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏที่หลงยึดถือสภาพธรรมนั้นว่าเป็นสัตว์ เป็นบุคคล เป็นตัวตน จนกว่าจะละความยึดถือสภาพธรรมว่าเป็นตัวตน สัตว์ บุคคล ดับสักกายทิฏฐิก่อน จึงจะคลายการยึดถือสภาพธรรม และโลภะ โทสะ
ถ. ธรรมดาในชีวิตประจำวัน ถ้ามีอารมณ์ที่สบาย มีความพอใจ หรือ ไม่ขุ่นเคือง ส่วนใหญ่ไม่อยากจะพิจารณาลักษณะของสภาพธรรม คือ มีสิ่งจูงใจมาก ทำให้พอใจยินดีในชีวิตประจำวัน แทนที่จะพิจารณาลักษณะของสภาพธรรมต่างๆ ซึ่งมีโทษ แต่ก็ยินดีพอใจไป จนกว่าสติเกิดขึ้น สติเกิดขึ้นเนื่องจากเห็นโทษ เช่น ความขุ่นเคืองใจที่เกิดขึ้นในวันหนึ่งๆ แต่เวลาสบายแล้ว สติก็ไม่เกิดอีก อะไรจะเป็นปัจจัย
สุ. หมายความว่า สติปัฏฐานเกิดเวลาที่จิตใจขุ่นเคือง และเกิดระลึกได้
ถ. ส่วนใหญ่เมื่อมีอกุศลต่างๆ สติก็เกิดขึ้นเห็นโทษเห็นภัยในลักษณะของอกุศลที่เกิดขึ้น แต่ถ้าเป็นโลภะ คือ ความพอใจยินดี ส่วนใหญ่แล้วสติไม่ค่อยเกิดขึ้น เพราะว่าเพลิดเพลินอยู่ ถ้าผู้ที่เจริญสติจะต้องได้ยินได้ฟังและเห็นโทษของอกุศล แม้เพียงเล็กน้อย จะมนสิการอย่างไร
สุ. ก็ต้องเห็นโทษของอกุศล คือ ความไม่รู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ ขณะนี้กำลังเห็นก็ไม่รู้ลักษณะของเห็นกับสิ่งที่ปรากฏทางตา ขณะที่กำลัง ได้ยินเสียงก็ไม่รู้ลักษณะของได้ยินกับเสียงตามความเป็นจริง
ถ้าเห็นโทษอย่างนี้จริงๆ ว่า วันหนึ่งๆ อยู่กับความไม่รู้ และชีวิตวันหนึ่งๆ ก็มีแต่เห็น ยินดีพอใจบ้าง ไม่พอใจบ้างในสิ่งที่เห็น ได้ยิน พอใจบ้าง ไม่พอใจบ้าง ในเสียงที่ได้ยิน แต่ทั้งพอใจและไม่พอใจก็ไม่เที่ยง เกิดขึ้นและดับไป เป็นอย่างนี้ ทุกวันๆ ทั้งทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ เมื่อไรปัญญาจะรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏตามความเป็นจริงเสียที
ถ้ารู้อย่างนี้ว่า ไม่ใช่แต่เฉพาะชาตินี้ชาติเดียวที่สุขที่ทุกข์จากการเห็น การได้ยิน การได้กลิ่น การลิ้มรส การรู้สิ่งที่กระทบสัมผัส การคิดนึก ดูเหมือนมีเรื่องประจำวันในชีวิตของแต่ละคนมากมายเหลือเกิน แต่ถ้าสรุปย่อลงมาแล้วก็แค่ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจเท่านั้นเอง ถ้ารู้แหล่งอย่างนี้จริงๆ ก็สามารถรู้ได้ว่า เรื่องทั้งหลายจะต้องมีมากมาย ตราบใดที่ไม่รู้ลักษณะของนามธรรมและรูปธรรม ที่กำลังปรากฏในขณะนี้
เพราะฉะนั้น การรู้อย่างนี้จะทำให้สติปัฏฐานเกิดระลึกรู้ลักษณะของ สภาพธรรมที่กำลังปรากฏ ซึ่งมีหลายอย่างในขณะนี้ แล้วแต่ว่าสติจะเกิดขึ้นระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมอย่างหนึ่งอย่างใดแม้เพียงชั่วขณะ ขอให้ทราบว่า ในขณะนี้ แม้เพียงชั่วขณะที่สติเกิดระลึกศึกษาลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ ก็เป็นประโยชน์มากทีเดียว
แนวทางเจริญวิปัสสนา เล่ม ๑๗๕ ตอนที่ ๑๗๔๑ – ๑๗๕๐
เรียบเรียงอักษรให้อยู่ในรูปแบบหนังสือ โดยมีเนื้อหาใจความสำคัญครบถ้วน
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1686
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1687
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1688
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1689
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1690
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1691
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1692
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1693
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1694
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1695
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1696
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1697
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1698
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1699
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1700
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1701
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1702
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1703
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1704
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1705
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1706
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1707
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1708
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1709
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1710
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1711
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1712
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1713
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1714
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1715
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1716
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1717
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1718
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1719
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1720
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1721
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1722
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1723
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1724
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1725
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1726
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1727
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1728
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1729
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1730
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1731
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1732
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1733
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1734
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1735
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1736
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1737
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1738
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1739
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1740
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1741
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1742
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1743
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1744
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1745
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1746
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1747
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1748
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1749
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1750
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1751