แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1691


    ครั้งที่ ๑๖๙๑


    สาระสำคัญ

    ความเข้าใจเป็นสิ่งสำคัญที่สุด

    การฟังด้วยดี (ฟังให้เข้าใจลักษณะของสภาพธรรมให้ถูกต้องตรงตามความเป็นจริง)

    บัญญัติยังปกปิดปรมัตถ์


    ที่ห้องประชุมตึกสภาการศึกษามหามกุฏราชวิทยาลัย

    วันอาทิตย์ที่ ๑๙ กรกฎาคม ๒๕๓๐


    บางท่านคิดว่า แสนกัปนี่แสนนาน แต่ทุกท่านก็ได้มีชีวิตมาแล้วแสนโกฏิกัปป์ ซึ่งไม่มีคำที่จะใช้อธิบายว่านานมากน้อยแค่ไหน และเมื่อแสนโกฏิกัปป์ผ่านมาได้จนถึงเดี๋ยวนี้ ขณะนี้จะผ่านต่อไปถึงแสนโกฏิกัปป์ข้างหน้าไม่ได้หรือ ในเมื่อแสนโกฏิกัปป์ก็ ผ่านมาจนถึงปัจจุบัน เพราะฉะนั้น จากปัจจุบันค่อยๆ ผ่านไปทีละขณะๆ โดย ไม่รู้ตัวเลย และแต่ละขณะที่ผ่านไปโดยไม่รู้นั้น ก็เต็มไปด้วยความต้องการ อยากเห็นสิ่งต่างๆ ซึ่งยังไม่เคยเห็น อยากได้ยินเสียงต่างๆ อยากได้กลิ่นใหม่ๆ อยากได้รส ใหม่ๆ อยากรู้สิ่งที่กระทบสัมผัสเรื่อยๆ อยากคิดนึกเป็นเรื่องเป็นราวต่างๆ

    เพราะฉะนั้น เมื่อมีความอยากซึ่งเป็นเหตุให้เกิดขณะข้างหน้าต่อไปตราบใด แสนโกฏิกัปป์ข้างหน้าจะเป็นไปได้ไหม ถ้าปัญญาไม่เจริญจนกระทั่งสามารถรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏจนกระทั่งสามารถดับกิเลสได้จริงๆ ทุกคนก็จะถึง แสนกัปข้างหน้าโดยไม่รู้ตัว เหมือนแต่ละขณะที่ผ่านไปในขณะนี้โดยไม่รู้ตัว

    เมื่อมีเหตุที่จะให้เกิดชาติหน้าและชาติต่อๆ ไป ยังมีความต้องการอยู่ทั้งทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ แสนกัปข้างหน้าต้องมีแน่นอน

    ถ. เราเกิดมากี่แสนกัปก็ไม่สามารถรู้ได้ แต่เวลาที่ไม่ได้ฟังธรรม ใจมันร้อน อยากจะรู้อะไรเร็วๆ อยากจะให้ได้ในชาตินี้ การคิดอย่างนี้ผมเข้าใจว่า ไม่ใช่หนทาง ที่ถูกแน่ๆ เพราะว่าอยากได้ไม่ใช่สติ เป็นโลภะ เป็นอกุศลแล้ว เราจะทำอุบายอย่างไรที่จะไม่ให้รีบร้อนจนกระทั่งอยากได้สำเร็จมรรคผลในชาตินี้ ซึ่งตามประวัติพระสาวกอย่างท่านพระอัญญาโกณฑัญญะตอนที่ท่านถวายข้าวที่ตั้งท้องอ่อนๆ นับตั้งแต่ พระวิปัสสีจนกระทั่งถึงพระโคดมสัมมาสัมพุทธเจ้าของเราก็ ๗ พระองค์ ก็รู้สึกว่า ท่านไม่ได้เดือดร้อนอะไรเลยที่จะต้องสำเร็จสมัยนั้นสมัยนี้ แต่เมื่อถึงคราวถึงโอกาสท่านก็สำเร็จเอง แต่ใจของผมรู้สึกว่ามันรีบร้อนเหลือเกิน คล้ายๆ กับว่าถ้าเราตายจากชาตินี้ไม่รู้ว่าจะไปเป็นอะไร ไม่มีหลักประกันอะไร

    สุ. ถ้าจะเปลี่ยนจากความอยากเป็นการค่อยๆ เข้าใจลักษณะของ สภาพธรรมขึ้น แม้เพียงในการฟัง ฟังครั้งแรกอาจจะยังไม่เข้าใจละเอียด เมื่อได้ฟัง ต่อๆ ไป พิจารณาต่อไป เข้าใจละเอียดขึ้น แค่นี้ก็เป็นฉันทะ ควรที่จะพอใจแล้ว ใช่ไหม ที่ว่าปัญญาเจริญขึ้นแม้ในการฟัง คือ ในการฟังก็เข้าใจขึ้นแล้ว

    สำหรับเรื่องของวิปัสสนาญาณต่างๆ ที่จะเกิด เป็นไปไม่ได้เลย ถ้าไม่มีความเข้าใจลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ ซึ่งก็ต้องอาศัยตั้งแต่ขั้นการฟัง ขณะใดที่ฟังแล้วเข้าใจ ก็จะเป็นสังขารขันธ์ปรุงแต่งให้สัมมาสติเกิดระลึกลักษณะของ สภาพธรรม เพราะฉะนั้น ก็พอใจตั้งแต่ในขั้นฟังแล้วเข้าใจ ซึ่งแต่ก่อนไม่เคยเข้าใจ หรือไม่เคยฟัง หรือฟังยังน้อยอยู่ ความเข้าใจก็น้อย เมื่อฟังมากขึ้น ความเข้าใจ ก็เพิ่มขึ้น นี่ควรจะเป็นที่น่าพอใจแล้ว ใช่ไหม คือ พอใจที่จะเข้าใจ ดีกว่าอยากจะถึง ไม่ทราบจะถึงได้อย่างไร และจะถึงอะไรถ้าไม่เข้าใจ ถูกไหม

    ถ้าไม่เข้าใจจะถึงอะไร อย่างนิพพาน ถ้าไม่เข้าใจลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ จะถึงนิพพานอะไร นิพพานชนิดไหน นิพพานที่ไม่รู้เรื่อง นิพพานที่ไม่รู้ว่าคืออะไร เพราะฉะนั้น แทนที่จะไปหวังไกล เพียงเข้าใจลักษณะของสภาพธรรมในชีวิตประจำวันเพิ่มขึ้น นั่นคือประโยชน์ เพราะจะทำให้สัมมาสติเกิดระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏ

    ใครก็ตาม ระหว่างผู้ที่ฟังน้อยและเข้าใจน้อย กับผู้ที่ฟังมากและเข้าใจมาก ทั้ง ๒ คน สติปัฏฐานยังไม่เกิด แต่คนหนึ่งก็ยังคงฟังน้อยๆ และอีกคนหนึ่งก็ฟัง และพิจารณาเข้าใจในอรรถเพิ่มขึ้น ซึมซาบมากขึ้น เวลาที่สติของ ๒ บุคคลนี้เกิด จะมีความต่างกันไหม

    สติของคนที่ได้ฟังมาก เข้าใจมากในเรื่องของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ โดยนัยต่างๆ และพิจารณาตาม สามารถที่จะเข้าใจในอนัตตสัญญาได้ กับอีกคนหนึ่งที่ฟังน้อยๆ ฟังแล้วก็ไม่ค่อยจะพิจารณาในเรื่องเหตุเรื่องผลให้ถูกต้อง เวลาที่สติของคนนั้นเกิด กับสติของคนที่ฟังมากๆ เข้าใจมากๆ เกิด ก็ต้องต่างกัน

    เพราะฉะนั้น ไม่ต้องห่วงเรื่องสติปัฏฐานว่าจะเกิดเมื่อไร จะเกิดน้อยหรือจะ เกิดมาก แต่ต้องสะสมเครื่องปรุงให้เกิดปัญญาที่สามารถรู้ชัด ที่สามารถละคลาย การยึดถือสภาพธรรมว่าเป็นตัวตน เป็นสัตว์ เป็นบุคคล

    ด้วยเหตุนี้พระผู้มีพระภาคจึงทรงสรรเสริญการฟังด้วยดี คือ ฟังให้เข้าใจ ในลักษณะของสภาพธรรมให้ถูกต้อง ให้ตรงตามความเป็นจริง เพราะว่าเวลาที่ สติปัฏฐานเกิดจะสามารถพิจารณารู้ได้แจ่มแจ้งชัดเจนเมื่อถึงกาลที่สมควร แต่อย่าลืมแสนโกฏิกัปป์ที่จะมาถึง ซึ่งขณะนี้ค่อยๆ ผ่านไปโดยไม่รู้ตัวทีละขณะฉันใด ขณะนี้ ก็กำลังจะก้าวไปสู่อีกแสนโกฏิกัปป์ข้างหน้า หรืออาจจะเป็นอีกหลายแสนกัปข้างหน้า หรืออาจจะเป็นหมื่นกัปข้างหน้า หรืออาจจะเป็นสองกัปข้างหน้า ก็แล้วแต่การสะสมปัญญาของผู้ที่ได้ฟังมาก เป็นพหูสูต เพราะว่าทุกคนที่เข้าใจลักษณะของ สภาพธรรมซึ่งไม่ใช่พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ต้องเป็นพหูสูต หรือแม้แต่ พระผู้มีพระภาคเองก่อนที่จะทรงตรัสรู้เป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ก็ต้องทรงเป็นพหูสูตมาก่อน คือ ต้องเป็นผู้ที่ได้ฟังและต้องเข้าใจสิ่งที่ฟังด้วย แม้ว่าปัญญายังไม่ประจักษ์

    เช่น ในขณะนี้แม้จะได้ฟังว่า สิ่งที่ปรากฏทางตาจะเป็นอื่นใดไปไม่ได้นอกจากสีสันวัณณะต่างๆ ที่กำลังปรากฏเท่านั้นเอง เพียงเท่านี้ก็จะสะสมเป็นปัจจัย วันดีคืนดีโอกาสเหมาะสังขารขันธ์ปรุงแต่ง สติก็จะระลึกและจะรู้จริงๆ ว่า สิ่งที่ปรากฏทางตา ในขณะที่ไม่ได้คิดนึกคืออย่างนี้เอง หลังจากนั้น เมื่อคิด จึงจะเป็นบุคคลนั้นบุคคลนี้หรือวัตถุนั้นวัตถุนี้ เป็นเรื่องราวต่างๆ สามารถที่จะแยกโลกของปรมัตถธรรมกับบัญญัติธรรมออกได้ มิฉะนั้นแล้วจะปะปนกัน ถ้าตราบใดที่บัญญัติยังปกปิดปรมัตถ์ ตราบนั้นก็ไม่สามารถเข้าถึงสภาพที่ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน

    เพราะฉะนั้น ควรเห็นประโยชน์ของการฟัง การพิจารณา และการอบรมเจริญสติปัฏฐานไปเรื่อยๆ โดยประโยชน์อยู่ที่ความเข้าใจลักษณะของสิ่งที่ปรากฏ เพื่อ เมื่อสติเกิดระลึกจะได้มีสังขารขันธ์ปรุงแต่งให้เข้าใจได้ อาจจะเป็นทันที ซึ่งไม่มีใครสามารถรู้ได้ มิฉะนั้นท่านพระพาหิยทารุจีริยะคงไม่สามารถรู้แจ้งอริยสัจจธรรมได้ โดยรวดเร็วจนกระทั่งเป็นเอตทัคคะ แต่การที่ท่านจะเป็นเอตทัคคะรู้แจ้งสภาพธรรม ได้โดยรวดเร็วก็ต้องอาศัยเหตุปัจจัย คือ การอบรมความเข้าใจในลักษณะของ สภาพธรรมทั้งโดยขั้นของการฟังซึ่งเป็นสุตมยญาณ และขั้นสังวรซึ่งเป็นสีลมยญาณ และในขั้นของการสำรวมเจริญสติปัฏฐานเป็นภาวนามยญาณ จนกว่าจะบรรลุถึงวิปัสสนาญาณแต่ละขั้น เพราะฉะนั้น ไม่ต้องกังวลถึงนามรูปปริจเฉทญาณ

    ผู้ฟัง อยากจะให้กำลังใจนิดหน่อยว่า แม้แต่ผมทุกวันนี้ก็ไม่ลืมที่จะมาฟังที่นี่แทบทุกๆ วันอาทิตย์ ซึ่งผมพอใจมาก เพราะรู้ว่าเป็นเหตุปัจจัยที่จะทำให้ปัญญา ค่อยๆ เพิ่มขึ้น

    สุ. ขออนุโมทนา เป็นผู้ที่เห็นประโยชน์ของการฟัง

    ผู้ฟัง การสั่งสมเหตุเป็นสิ่งที่ควร ที่ถูกต้อง การสะสมเหตุที่ถูกต้องเพื่อนำไปสู่การรู้แจ้งอริยสัจจธรรม ผมอยากจะให้ข้อคิดนิดหนึ่งว่า สมัยก่อนที่เราจะมาฟังเรื่อง สติปัฏฐาน หรือก่อนที่จะมาศึกษาธรรม ตอนนั้นไม่ห่วงว่าอยากจะรู้แจ้งอริยสัจจธรรม เพราะไม่รู้ว่าอะไรเป็นอะไร ตอนนั้นมีแต่ความสนุกเพลิดเพลินในชีวิตประจำวัน ไม่เคยอยากไปสู่พระนิพพานหรือถึงพระนิพพานเร็วๆ ตอนนั้นไม่ห่วงแบบมีโมหะ แต่ตอนนี้อยากไปเร็วๆ คือ พอมีปัญญาบ้างแล้ว ก็มีประโยชน์กว่าสมัยที่ไม่ได้ศึกษา สุ. เมื่อเข้าใจแล้วก็อย่าติด คือ อย่าอยากถึง ในเมื่อรู้ว่าปัญญาจะต้องอบรมไปจนกว่าจะถึงความสมบูรณ์ของปัญญาแต่ละขั้น ก็อย่าใจร้อนที่จะรีบไปถึง เพียงแต่ขอให้เข้าใจลักษณะของสภาพธรรม และให้เข้าใจจริงๆ ว่า วิปัสสนาญาณ จะเกิดได้ก็ต่อเมื่อเหตุสมควรแก่ผล ถ้าสติไม่ระลึกลักษณะของสภาพธรรมและศึกษาสังเกตรู้ลักษณะของนามธรรมและรูปธรรมเพิ่มขึ้นจนกระทั่งมีความมั่นคงจริงๆ แล้ว นามรูปปริจเฉทญาณจะเกิดได้อย่างไร เพียงแต่หวังรอ หวังคอย และคิดว่า นิดๆ หน่อยๆ อย่างนี้จะเป็นนามรูปปริจเฉทญาณหรือยัง

    ไม่ต้องใจร้อน หรือคิดเทียบหวัง เพียงแต่ให้เป็นผู้ตรงที่จะรู้ลักษณะของนามธรรม โดยที่ไม่ใช่ขั้นคิดเป็นคำว่านามธรรมเป็นธาตุรู้ เป็นสภาพรู้ เป็นอาการรู้ แต่รู้จริงๆ ในขณะที่สติเกิด และรู้ว่าธาตุรู้คืออย่างนี้ที่กำลังเห็น

    ผู้ฟัง ผมติดนิสัยที่เคยบวชมา ตอนบวชไปนั่งเจริญภาวนาอยากจะให้ได้บรรลุมรรคผล นั่งกันเป็นวันๆ ตอนมาศึกษาธรรม โดยเฉพาะอย่างยิ่งได้ฟังอาจารย์ มาตั้งแต่ต้น ก็รู้ว่าการที่จะรู้ธรรมไม่ใช่ไปนั่งนึกนั่งภาวนาเอาแน่ๆ จะต้องมีการศึกษาสังเกต ใส่ใจรู้สภาวะลักษณะของธรรมต่างๆ โดยเป็นสัจจญาณ คือ โดยความจริงของธรรมนั้นๆ ไม่ใช่เป็นแบบนั่งนึกเอา ถ้าความเข้าใจยังไม่ถูกต้องจะไปนั่งนึก นั่งภาวนา พุทโธ ธัมโม สังโฆ กี่ชาติก็ไม่มีทางที่จะได้บรรลุแน่ๆ ซึ่งผมมาเข้าใจ ตอนหลัง แต่นิสัยที่เคยไปนั่ง ไปคิดเอายังมีติดอยู่ ทั้งๆ ที่ได้ฟังธรรมแล้ว

    ก็เป็นเครื่องเตือนใจว่า ธรรมไม่ใช่เป็นเรื่องที่จะมานั่งคิดเอาตามชอบใจว่า เหตุอย่างนั้น ผลอย่างนี้ แต่เป็นเรื่องที่ต้องรู้ ต้องเข้าใจ ต้องประจักษ์ แต่ที่จะเข้าใจและประจักษ์ได้ เราต้องศึกษาสภาวธรรม ศึกษาธรรมในชีวิตประจำวันให้เข้าใจว่า อะไรเป็นอะไรจริงๆ จังๆ ก่อน สติปัญญาจึงจะเกิดได้ ถ้าหากไม่เข้าใจจะไปพยายามอย่างไรก็ไม่มีโอกาส ความเข้าใจเป็นสิ่งสำคัญที่สุด ซึ่งอาจารย์ย้ำแล้วย้ำอีก และผม ก็เห็นว่าเป็นความสำคัญจริงๆ ผู้ที่อยากจะบรรลุมรรคผล อยากจะประจักษ์ญาณนั้นญาณนี้ ถ้ายังไม่เข้าใจ อย่าไปพยายามเป็นอันขาด ไม่มีทางที่จะเป็นไปได้

    สุ. ในขณะนี้เป็นนามธรรมและรูปธรรมทั้งนั้น แค่นี้ก็เตือนแล้วใช่ไหมว่า ขณะนี้เป็นนามธรรมและรูปธรรมทั้งนั้น ทั้งทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ ฟังอีกกี่ครั้งก็เพื่อที่จะได้ระลึกว่า ขณะนี้เป็นนามธรรมและรูปธรรมทั้งนั้น แต่เมื่อยังไม่ประจักษ์ ก็เป็นแต่เพียงฟัง สะสมไปเรื่อยๆ ที่จะได้ยินได้ฟังว่า ขณะนี้ทางตาเป็นสภาพธรรมอย่างหนึ่ง

    นี่คือการสะสมจริงๆ สะสมแม้แต่การได้ฟังสิ่งซึ่งอาจจะไม่ได้ฟังในชาติหน้าหรือในชาติต่อๆ ไปอีกหลายชาติ แต่ในขณะนี้ก็ยังสามารถที่จะระลึกว่า ขณะนี้ แม้ขั้นเตือน ก็เป็นนามธรรมและรูปธรรมทั้งนั้น

    เพราะฉะนั้น ผู้ที่รู้ คือ สติเกิด และได้ศึกษาสังเกตพิจารณาแล้ว แต่ผู้ที่ เพียงฟังและสติปัฏฐานยังไม่เกิด ก็รู้จักตัวเองตามความเป็นจริง ใช่ไหม

    ธรรมนี้เป็นปัจจัตตัง คือ รู้ได้เฉพาะตน เมื่อสติของใครเกิดแล้ว ปัญญาก็พิจารณาสังเกต และปัญญาที่พิจารณาสังเกตแล้วรู้ขึ้นบ้าง หรือว่ารู้เพิ่มขึ้น

    เรื่องการประจักษ์แจ้งไม่ต้องห่วง ขอให้เพียงรู้เพิ่มขึ้น หรือระลึกรู้ศึกษา และอาจจะรู้บ้าง ไม่รู้บ้าง เพราะบางครั้งเมื่อความรู้นิดหน่อยเริ่มเกิด และหายไปนาน เนื่องจากอวิชชาที่สะสมมาเป็นปัจจัยทำให้ปิดบังลักษณะของสภาพธรรม ก็ต้องสังเกตพิจารณาไป

    ในวันหนึ่งๆ เป็นเครื่องสอบสติและปัญญาของแต่ละคนว่า ได้อบรมเจริญเพิ่มขึ้นมากน้อยแค่ไหน โดยที่ไม่ต้องกังวลถึงแม้นามรูปปริจเฉทญาณเลย

    . ปัญญาที่เกิดขึ้นแล้ว อย่างท่านสุเมธดาบส ตอนที่ท่านจะได้รับพยากรณ์จากท่านพระทีปังกร ท่านได้ฟังธรรมของพระพุทธองค์แล้ว หากท่านอยากจะสำเร็จเป็นสาวกก็อาจจะสำเร็จได้ในชาตินั้น เพราะท่านมีปัญญามากสามารถบรรลุมรรคผลได้ในชาตินั้น แต่ท่านก็ไม่ปรารถนาที่จะเป็นสาวก ท่านปรารถนาที่จะเป็น พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า จึงได้สร้างบารมีมาจนถึงพระพุทธเจ้า ๒๔ พระองค์ ซึ่งตลอดเวลานั้นท่านก็เกิดในกำเนิดต่างๆ เป็นสัตว์บ้าง เป็นมนุษย์บ้าง เป็นเทวดาบ้าง จนกระทั่งพระชาติใหญ่ๆ ที่เรียกว่า มหาชาติ หรือทศชาติ ท่านเกิดเป็นพระยางู ที่เรียกว่า ภูริทัตตนาคราช ขณะนั้นสติปัญญาของท่านขาดตอนหรือเปล่า

    สุ. ไม่ต้องไปคิดถึงท่านดีไหม สาวความไปก็ไม่มีใครรู้ได้ ไม่ทรงแสดงไว้เพราะว่าสิ่งใดที่เป็นประโยชน์ก็ทรงแสดงสิ่งนั้น อย่างลักษณะของสภาพธรรม หรือ สัจจธรรม หรืออริยสัจจ์

    . อย่างตัวผมเอง สมมติว่าชาตินี้ฟังธรรมพอเข้าใจบ้าง แต่ชาติต่อไป ไปเกิดเป็นสัตว์ดิรัจฉาน ผมก็ต้องหมดโอกาส ขาดตอนไปเลย

    สุ. ไม่สามารถจะเข้าใจพระธรรมได้

    . ถ้าต่อไปผมเกิดเป็นมนุษย์อีก พระธรรมจะติดต่อได้ไหม

    สุ. เกิดที่ไหน มีโอกาสได้ฟังไหม ถ้าไม่มีโอกาสก็ไม่มีทาง

    . การสะสมก็คงจะขาดตอน

    สุ. เก็บไว้ สะสม สะสมแล้วก็ยังมีอยู่ เพียงแต่ยังไม่ได้เพิ่มขึ้น เพราะฉะนั้น แต่ละชาติที่มีโอกาสได้ฟังพระธรรม จะเห็นพระมหากรุณาคุณจริงๆ และจะได้ประจักษ์ในการที่ว่าเป็นบุญจริงๆ ที่มีโอกาสได้ฟังเรื่องของสัจจะคือความจริง เรื่องของการเห็น ของการได้ยิน และนี่คือการสะสม แม้แต่ธรรมทั้งหลายไม่เที่ยง เกิดขึ้นและดับไป ฟังไปเถอะ จะคิดจะพิจารณาอย่างไรก็ยังดี เพราะว่าเป็นการสะสมเรื่องของสภาพธรรมที่ปรากฏ ที่จะให้เข้าใจถูกต้อง

    สำหรับวิปัสสนาญาณขั้นต้น ขั้นที่ ๑ คือ นามรูปปริจเฉทญาณ เป็นปัญญา ที่ประจักษ์แจ้งการแยกขาดลักษณะของนามธรรมและรูปธรรมทางมโนทวาร

    วิปัสสนาญาณที่เป็นนามรูปปริจเฉทญาณ แม้ว่าเป็นวิปัสสนาญาณที่ ๑ ก็ละสักกายทิฏฐิ แต่ไม่ใช่เป็นสมุจเฉท หมายความว่าในขณะนั้นสภาพธรรมไม่ได้ปรากฏรวมกันเป็นก้อน เป็นแท่ง หรือเป็นตัวตน แต่จะปรากฏเฉพาะลักษณะของนามและรูปทีละลักษณะ เพราะฉะนั้น ฎในขณะนั้นละสักกายทิฏฐิ



    คำบรรยายคัดลอกจาก E-book
    แนวทางเจริญวิปัสสนา เล่ม ๑๗๐ ตอนที่ ๑๖๙๑ – ๑๗๐๐
    เรียบเรียงอักษรให้อยู่ในรูปแบบหนังสือ โดยมีเนื้อหาใจความสำคัญครบถ้วน
    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 95
    28 ธ.ค. 2564