แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1749


    ครั้งที่ ๑๗๔๙


    สาระสำคัญ

    อถ.พระวิภังคปกรณ์ ธาตุวิภังคนิทเทส - ธาตุย่อมทรงไว้ซึ่งสภาวะของตน ความต่างของสมถภาวนาและวิปัสสนาภาวนา


    ที่ห้องประชุมตึกสภาการศึกษามหามกุฏราชวิทยาลัย

    วันอาทิตย์ที่ ๒๗ ธันวาคม ๒๕๓๐


    สัมโมหวิโนทนี อรรถกถา พระวิภังคปกรณ์ ธาตุวิภังคนิทเทส มีข้อความว่า

    ขึ้นชื่อว่าอัตตาของพวกเดียรถีย์ย่อมไม่มีภาวะของตนฉันใด ธาตุเหล่านั้น ย่อมเป็นฉันนั้นหามิได้ ก็ที่เรียกว่าธาตุเพราะอรรถว่าย่อมทรงไว้ซึ่งสภาวะของตน ธาตุอันวิจิตรเหล่านั้นเป็นอวัยวะพึงรู้ได้ด้วยญาณเท่านั้น

    ถ้าปัญญาไม่เจริญขึ้น วิปัสสนาญาณไม่เกิด ที่จะรู้ว่า ธาตุย่อมเป็น สภาพธรรมที่ทรงไว้ซึ่งสภาวะของตน ก็ย่อมไม่สามารถประจักษ์แจ้งได้ เพราะว่าลักษณะของธาตุอันวิจิตรเหล่านี้พึงรู้ได้ด้วยญาณเท่านั้น แม้แต่สิ่งที่ปรากฏทางตา ก็เป็นธาตุชนิดหนึ่งซึ่งเกิดดับ สภาพรู้ที่กำลังเห็นก็เป็นธาตุชนิดหนึ่งซึ่งเกิดดับ เพราะฉะนั้น วิปัสสนาญาณเท่านั้นที่จะประจักษ์ลักษณะของสภาพธรรมทั้งหลายว่าเป็นแต่เพียงธาตุแต่ละอย่างซึ่งเกิดขึ้นและดับไป

    พระผู้มีพระภาคตรัสธาตุ ๑๘ ไว้เท่านั้น เพื่อจะถอนความสำคัญว่า มีชีวะ ของสัตว์ผู้มีความสำคัญว่ามีชีวะในวิญญาณซึ่งมีการรู้อารมณ์เป็นสภาวะ และทรงประกาศความที่ธาตุเหล่านั้นเป็นของไม่เที่ยงเพราะต้องเป็นไปเนื่องด้วยปัจจัยมีจักขุและรูปเป็นต้น

    ขณะนี้เป็นเครื่องพิสูจน์ว่า ได้ฟังเรื่องของธาตุต่างๆ รู้ว่าไม่ใช่ตัวตน เป็นสภาพธรรมที่เกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัย แต่อวิชชาที่ยังมีอยู่ก็ทำให้ไม่ประจักษ์ลักษณะของธาตุเหล่านั้นได้ เพราะว่าต้องเป็นญาณเท่านั้นจึงจะประจักษ์ได้

    ข้อความต่อไปมีว่า

    จริงอยู่ ความมืดในหทัยของเวไนยสัตว์จะถึงความย่อยยับไปโดยพลัน อันขจัดได้ด้วยเดชแห่งพระสัทธรรมของพระองค์ได้โดยประการใดๆ พระองค์ก็ทรงประกาศธรรมโดยนัยอันย่อและพิสดาร

    นี่คือพระมหากรุณาที่ทรงรู้แจ้งว่า ผู้ที่เป็นเนยยบุคคลสามารถเกิดปัญญา แทงตลอดอริยสัจจธรรมได้ด้วยพระธรรมเทศนาอย่างย่อหรืออย่างละเอียดพิสดารประการใด ก็ทรงแสดงโดยประการนั้นๆ

    ถ. มโนกรรมล่วงได้ ๓ ทวาร ใช่ไหม คือ ทางมโนทวารล่วงเป็นกรรมบถได้ ทางกายทวารก็ล่วงเป็นกรรมบถได้ และทางวจีทวารก็ล่วงกรรมบถได้ สงสัยว่า พยาปาท มีจิตคิดจะฆ่า มีความพยาบาทวางแผนฆ่าเขาทางใจ แต่ยังไม่ถึงฆ่าเขาให้ตาย ขณะนั้นล่วงมโนกรรมครบองค์แล้วหรือยัง

    สุ. ถ้าเป็นเจตนาฆ่า กรรมจะสำเร็จเมื่อการฆ่าเกิดขึ้น เพราะเป็นเจตนา ที่จะฆ่า แสดงให้เห็นความต่างกันของกายกรรมกับมโนกรรม เพราะว่ากายกรรม มีปาณาติบาตโดยไม่ใช่มโนกรรม หรือพยาปาทนั่นเองสำเร็จทางกาย โดยกายทวาร

    ถ. พยาบาทสำเร็จทางกายทวาร เป็น ...

    สุ. เป็นมโนกรรม เพราะว่าเป็นพยาบาท เป็นมโนกรรมที่สำเร็จทางกาย

    ถ. แต่ไม่เป็นปาณาติบาต

    สุ. เป็นปาณาติบาต เพราะเจตนาฆ่าต้องเป็นปาณาติบาต

    ถ. เป็นปาณาติบาตทางมโนกรรม

    สุ. เป็นปาณาติบาตซึ่งเป็นมโนกรรมทางกายทวาร

    ถ. แต่ไม่ใช่ปาณาติบาตที่เป็นกายกรรม เพราะฉะนั้น ต่างกันตรง มีจิตพยายามที่จะฆ่า ซึ่งปาณาติบาตทางกายกรรมนั้นคิดแล้วฆ่าเลยโดยไม่มีการคิดวางแผนไว้ล่วงหน้า

    สุ. จึงไม่ใช่มโนกรรม

    ถ. อีกปัญหาหนึ่งเป็นเรื่องความเข้าใจ คิดว่า ผู้ที่เจริญสติปัฏฐาน ต้องมีสมถภาวนาเกิดขึ้นสลับกับวิปัสสนาภาวนา แต่ไม่ใช่ทุกครั้ง เป็นความเห็นที่ ถูกต้องไหม

    สุ. ถ้าเข้าใจคำว่า ภาวนา หมายถึงการอบรมให้เกิดขึ้น ให้เจริญขึ้น ซึ่งแยกเป็น ๒ อย่าง ได้แก่ สมถภาวนา การอบรมเจริญให้ความสงบมั่นคงขึ้น แต่ไม่ใช่เพียงความสงบที่เป็นขณิกสมาธิ เช่น เวลาที่กุศลจิตเกิดขึ้นครั้งหนึ่งๆ ก็เป็น ความสงบที่เป็นขณิกสมาธิชั่วขณะๆ ไม่ได้ปรากฏความสงบมั่นคงจนกระทั่งเป็นอุปจารสมาธิ หรืออัปปนาสมาธิ เพราะฉะนั้น ถ้ากล่าวถึงสมถภาวนา หมายความว่าเป็นการอบรมเจริญความสงบจากขณิกสมาธิให้มั่นคงขึ้นจนกระทั่งเป็นอุปจารสมาธิและอัปปนาสมาธิ

    สำหรับวิปัสสนาภาวนา คือ การอบรมเจริญปัญญาเพื่อรู้แจ้งแทงตลอด สัจจธรรม ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏตามความเป็นจริง

    สมถะ หมายความถึงขณะที่เป็นกุศลจิต ปราศจากโลภะ โทสะ โมหะ และอกุศลทั้งมวลไม่ได้เกิดขึ้นกระทำกิจการงานในขณะนั้นจึงสงบ

    เพราะฉะนั้น การอบรมเจริญสติปัฏฐาน ซึ่งเป็นวิปัสสนาภาวนา เป็นทั้ง สมถะและวิปัสสนา คือ จะกล่าวว่าไม่สงบในขณะนั้นไม่ได้ เพราะว่าเป็นกุศล แต่ในขณะที่จิตเป็นกุศลสงบนั้น ปัญญาก็อบรมเจริญเพื่อรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ นี่เป็นความต่างกันของสมถภาวนาและวิปัสสนาภาวนา เพราะว่า สมถภาวนาไม่ได้รู้ลักษณะของสภาพธรรมที่ไม่ใช่ตัวตน เพียงแต่กุศลจิตเกิดประกอบด้วยปัญญาที่จะรู้ว่า มนสิการหรือวิตกคือตรึกถึงอารมณ์ใดที่จะทำให้ จิตสงบมั่นคงได้นานๆ ไม่ใช่เกิดขึ้นเพียงชั่วครั้งชั่วครู่ซึ่งเป็นขณิกสมาธิ

    ถ. เพราะฉะนั้น การเจริญสมถะที่เป็นขณิกสมาธิเกิดขึ้นสลับกับ สติปัฏฐาน เช่น ในชีวิตประจำวันมีความโกรธเกิดขึ้น สติปัฏฐานอาจจะไม่เกิดก็ได้ โดยไม่ได้ตั้งใจเจริญเมตตา แต่ปัญญาก็พิจารณาให้เกิดกุศลจิตเพื่อละโทสะในขณะนั้นเกิดขึ้น และสติปัฏฐานอาจจะมีจิตที่สงบเป็นอารมณ์ก็ได้ อย่างนี้เรียกว่า สมถวิปัสสนา ใช่ไหม

    สุ. เวลาที่กุศลจิตเกิด ไม่ว่าจะเป็นไปในทานก็สงบ เป็นไปในศีลก็สงบ ไม่จำเป็นต้องเรียกว่า สมถภาวนา เพราะขณะนั้นเป็นไปในการให้วัตถุเพื่อเป็นประโยชน์แก่บุคคลอื่น จิตสงบจากความตระหนี่ จากโลภะ กุศลนั้นจึงเกิดขึ้น เป็นไปได้ แต่ไม่ใช่การอบรมเจริญให้ความสงบนั้นมั่นคงในขณะที่ให้ทาน เพราะว่า ทุกวันๆ ทุกคนก็ให้ทานเป็นปกติธรรมดา และสติสัมปชัญญะก็ไม่ได้เกิดขึ้นรู้ลักษณะสภาพของจิตในขณะที่ให้ และสำหรับบางท่านจะเห็นได้ว่า อกุศลมากกว่ากุศล ในขณะที่ให้ เพราะว่าจิตอาจจะระแวดระวัง กระสับกระส่าย กระวนกระวาย เป็นห่วงกังวลในขณะนั้นก็ได้ ซึ่งแท้จริงแล้วในการให้ครั้งหนึ่งๆ กุศลจิตต้องเกิดด้วย แต่เมื่อสภาพลักษณะของอกุศลปรากฏมาก จึงทำให้ไม่ได้สังเกตลักษณะของจิตที่สงบที่ให้ในขณะนั้น เช่น บางคนให้ด้วยความรำคาญ อาจจะไม่เห็นว่าจิตสงบในขณะที่ให้ ในขณะที่เป็นกุศล เพราะฉะนั้น ในขณะนั้นไม่ชื่อว่าเป็นการเจริญสมถภาวนา เพราะว่าความสงบจากอกุศลในขณะนั้นเป็นเรื่องของการให้ เฉพาะเรื่องของการให้ ในขณะที่วิรัติทุจริต จิตนั้นก็สงบจากการเบียดเบียน จากการประทุษร้าย เพราะว่าวิรัติทุจริต ในขณะนั้นก็ไม่ชื่อว่าเจริญสมถภาวนา แต่ไม่ใช่ว่าไม่สงบ

    เพราะฉะนั้น ต้องแยกว่า สงบ คือ ขณะที่เป็นกุศล และจะเป็นสมถภาวนา ต่อเมื่ออบรมเจริญความสงบซึ่งเป็นกุศลนั้นให้มั่นคงขึ้น จนกระทั่งความสงบนั้น เพิ่มถึงขั้นที่ปรากฏเป็นสมาธิขั้นต่างๆ เช่น อุปจารสมาธิและอัปปนาสมาธิ นั่นคือสมถภาวนา

    ในชีวิตประจำวันจริงๆ ไม่มีใครเลือกได้ แล้วแต่เหตุปัจจัยว่า ขณะใดเป็นโอกาสของกุศลขั้นทานกุศลจิตจะเกิดไหม ถ้ากุศลจิตไม่เกิด ทานนั้นก็เป็นไปไม่ได้ ถ้าวันหนึ่งมีกุศลขั้นทานเกิดขึ้นขณะใด ก็มีการให้ในขณะนั้น เพราะฉะนั้น วันหนึ่งๆ ก็ทราบได้ว่า มีกุศลขั้นทานมากหรือน้อย และบ่อยไหมในวันนี้ คือ ดูไปทีละวัน พิจารณาไปทีละวัน สังเกตไปทีละวันก็ได้

    นอกจากกุศลขั้นทาน ในวันนี้มีกุศลขั้นศีลมากหรือน้อย เพราะว่าจริงๆ แล้วทุกคนที่เกิดมาอยู่เฉยๆ ไม่ได้ มีใครบ้างที่เกิดมามีรูปร่างกายแล้วอยู่เฉยๆ ไม่มีการเคลื่อนไหวใดๆ เลยทางกาย ทางวาจา เป็นไปไม่ได้เลย

    ตั้งแต่เกิดก็เคลื่อนไหวแล้ว โดยที่ไม่รู้ความจริงว่า เพราะอะไรจึงเคลื่อนไหว แต่เมื่อได้ศึกษาพระธรรม ก็พิจารณาธรรมได้ละเอียดขึ้น แม้แต่ในวันหนึ่งๆ ซึ่งเคยเดิน เคยทำกิจการงานต่างๆ เคยพูดต่างๆ ก็ไม่เคยสังเกตว่า ขณะนั้นวิรัติทุจริตหรือเปล่า ถ้าจะเกิดวิรัติทุจริตขึ้นในขณะนั้น ก็เป็นไปตามการสะสม โดยที่ปัญญาไม่ได้รู้ว่า แท้ที่จริงแล้วไม่ใช่เราที่วิรัติ เช่น ท่านที่ไม่กล่าวคำเท็จ ในขณะนั้นเป็นโดยการสะสม แต่ไม่ใช่สติสัมปชัญญะที่จะรู้ว่า ในขณะนั้นไม่ใช่เราที่วิรัติ

    วันหนึ่งๆ ตั้งแต่เกิดมามีรูปร่างกาย คนไม่ช่างคิดก็ปล่อยไปวันหนึ่งๆ คือ ไม่รู้เหตุปัจจัยของแม้การพูด แม้การเดิน แม้การเคลื่อนไหวซึ่งมีอยู่ตลอดเวลาว่า เพราะอะไร และมีอะไรเป็นปัจจัย แต่ถ้าศึกษาพระธรรมแล้วจะเริ่มเห็น และจะเจริญกุศลเป็นลำดับขั้น เพราะว่ากุศลขั้นทานก็เป็นไปได้แม้ไม่ศึกษาพระธรรม กุศลขั้นศีล ก็เป็นไปได้แม้ไม่ศึกษาพระธรรม แต่กุศลขั้นสูงกว่านั้น คือ สมถภาวนาและ วิปัสสนาภาวนา จะเป็นไปไม่ได้เลยถ้าไม่ศึกษาพระธรรม เพราะฉะนั้น ที่จะเจริญ สมถภาวนาโดยไม่รู้อะไรเลย ไม่เข้าใจอะไรเลย ไม่ได้ฟังพระธรรม ไม่ได้พิจารณาในเหตุในผล ย่อมเป็นไปไม่ได้ เช่นเดียวกับการเจริญสติปัฏฐาน

    เพราะฉะนั้น ชีวิตในวันหนึ่งๆ เมื่อได้ฟังพระธรรมแล้ว กุศลประเภทไหน จะเพิ่มขึ้น เรื่องของทานก็เคยมีมาแล้ว เรื่องของศีลก็มีมาแล้ว ส่วนเรื่องความสงบ ของจิตจะเพิ่มขึ้นไหมในชีวิตประจำวัน ซึ่งเป็นกุศลที่ควรเจริญ ควรอบรม ไม่ใช่ว่า ควรจะเจริญอบรมแต่เฉพาะสติปัฏฐาน เพราะถ้าไม่ใช่กาลที่สติปัฏฐานจะเกิด ก็ควรจะให้กุศลขั้นอื่นเกิด ไม่ใช่ไปตั้งหน้าตั้งตาคอยกุศลประเภทเดียว คือ สติปัฏฐาน

    สำหรับสมถภาวนา คือ ความสงบของจิต เป็นสิ่งที่น่าสนใจมาก เพราะว่า เป็นชีวิตประจำวัน ซึ่งบางคนอาจจะละเลยเพราะไม่เข้าใจ หรือเมื่อไม่เข้าใจเรื่อง สมถภาวนาและวิปัสสนาภาวนา ก็เลยทำให้ไม่อยากเจริญสมถภาวนา คิดแต่จะเจริญวิปัสสนาภาวนา แต่ถ้าเข้าใจเรื่องของสมถภาวนาและรู้ว่าควรเจริญกุศลทุกประการ แม้ในขณะที่นั่งอยู่ โกรธใครบ้างหรือเปล่า เท่านี้เอง ก็เจริญสมถภาวนาได้ คือ ถ้ารู้ว่ายังขุ่นเคือง ยังไม่พอใจบุคคลใดอยู่ ขณะนั้นเป็นอกุศล เรื่องโกรธจะมีได้บ่อยๆ ในวันหนึ่งๆ แต่ถ้าสติเกิดก็รู้ได้เลยว่า แม้แต่ความขุ่นเคืองใจสักเล็กน้อยก็เป็นอกุศล

    ถ้าปัญญาเกิดอย่างนี้จริงๆ และรู้ว่าโกรธบุคคลนั้นเพราะอะไร และถ้ามีเมตตาต่อบุคคลนั้นจะโกรธบุคคลนั้นไม่ได้เลย และถ้าประกอบด้วยปัญญาที่รู้ว่า ในวันหนึ่งๆ เอาชื่อออกให้หมด ไม่ว่าจะคิดอะไรก็ตาม เคยคิดว่าเป็นคนนี้ เรื่องของคนนี้น่าโกรธ เพราะว่ากำลังมีคนนี้และมีเรื่องของคนนี้ที่น่าโกรธ แต่ถ้าปัญญารู้จริงๆ ว่า เอาชื่อออก ก็มีแต่สภาพของนามธรรมที่เป็นอกุศลที่ไม่มีใครชอบ เช่น คนที่ริษยา หรือคนที่สำคัญตน คนที่ดูหมิ่นดูถูกคนอื่น คนที่แข่งดี ซึ่งตามความเป็นจริงแล้ว เป็นแต่เพียงสภาพธรรมเท่านั้น

    เมื่อเอาชื่อออกแล้วจะโกรธสภาพธรรมนั้นๆ หรือ ในเมื่อเป็นแต่เพียง สภาพธรรมที่เกิดปรากฏ สะสมมาอย่างไร กายวาจาก็เป็นอย่างนั้น แต่ไม่มีชื่อ ไม่มีบุคคล เพราะฉะนั้น จะทำให้เกิดจิตที่สงบเป็นกุศล ขณะนั้นก็ชื่อว่าสมถะ ในชีวิตประจำวัน แม้จะไม่ทำให้สงบจนกระทั่งถึงขั้นที่ดื่มด่ำปรากฏความเย็น ความสงบที่เป็นขั้นอุปจารสมาธิที่ใกล้ต่อการที่จะถึงอัปปนาสมาธิที่เป็นฌานจิต

    แต่ถ้าขณะใดที่อกุศลจิตเกิด และสติเกิดรู้สึกตัว ขณะนั้นกุศลจิตก็มีปัจจัย ที่จะเกิดได้ แม้ไม่ใช่สติปัฏฐาน แต่ถ้าเป็นผู้ที่ฟังเรื่องสติปัฏฐานแล้ว ย่อมมีโอกาส มีปัจจัยที่สติปัฏฐานจะเกิดระลึกลักษณะของปรมัตถธรรม เพื่อศึกษาลักษณะที่ ไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล แม้ในขณะที่นั่ง หรือที่นอน ที่ยืน ที่เดิน ที่พูด ที่นิ่ง ที่คิด ซึ่งเป็นชีวิตประจำวันจริงๆ

    ถ. เพราะฉะนั้น การเจริญสมถะ หรือทาน ศีลก็ดี หรือการทำงาน หรืออกุศล ก็เป็นชีวิตประจำวันที่ดำเนินไปเป็นปกติ ถ้าเข้าใจการเจริญสติปัฏฐาน สติก็เกิดขึ้นระลึกรู้สภาพธรรมเหล่านั้นได้ทั้งหมด

    สุ. เป็นนามธรรมและรูปธรรมในชีวิตประจำวันทั้งหมด ตั้งแต่เกิดจนตาย ไม่ว่าขณะไหน ขณะที่เห็นผิดก็เป็นอกุศลธรรม ขณะที่เห็นถูกก็เป็นกุศลธรรม ขณะที่ปฏิบัติผิดก็เป็นอกุศล ขณะที่ปฏิบัติถูกก็เป็นกุศล ไม่ว่าจะเป็นขณะไหนทั้งหมด คือ นามธรรมและรูปธรรมซึ่งไม่มีตัวเราเลย

    ถ. ไม่มีหน้าที่ที่จะไปตั้งใจอยากให้สงบก่อน หรือเร่งเจริญสมถะ อย่างเดียว หรือวิปัสสนาอย่างเดียว ซึ่งก่อนจะได้ฟังเรื่องการเจริญสติปัฏฐาน พยายามเจริญสมถะอย่างเดียว พยายามทำบ่อยๆ แต่เมื่อเริ่มฟังการเจริญสติปัฏฐาน สังเกตจิต ไม่ใช่สงบ เป็นความต้องการตลอด หรือเป็นความสงบที่ไม่มั่นคงตลอดเวลา สลับกันไป เมื่อเริ่มฟังเข้าใจขึ้น เป้าหมายของการเข้าใจสภาพธรรม ไม่ใช่เพื่อให้สงบอย่างเดียว แต่ต้องละคลายความไม่รู้ของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ อยู่นั้น เพราะฉะนั้น ตัวอย่างในพระไตรปิฎกที่ท่านได้บรรลุความสงบถึงรูปฌานก็ดี ท่านก็เจริญจากอย่างนี้ คือ เข้าใจการเจริญวิปัสสนา และมีปัจจัยที่จะให้สมถะเกิดขึ้น สมถะก็เกิด แล้วแต่ว่าจะเกิดมากเกิดน้อย แต่การเจริญสติปัฏฐานก็ดำเนินไป จนอาจจะถึงแสนกัป หรือกี่แสนกัป สมถะนี้เจริญเป็นอรูปก็ได้ โดยไม่ได้ตั้งใจว่า ในชาตินี้หรือชาติไหนจะต้องถึงฌาน ใช่ไหม

    สุ. โดยมากไม่ทราบว่าเข้าใจจุดประสงค์ของการกระทำหรือเปล่า อย่างที่ท่านกล่าวว่า ก่อนที่จะฟังเรื่องสติปัฏฐานท่านเจริญสมถะ ไม่ทราบว่าท่านมีจุดประสงค์อะไรในการเจริญสมถะ เพราะว่าการกระทำทุกอย่างต้องประกอบด้วยปัญญา แม้แต่การที่จะทำอย่างหนึ่งอย่างใดก็ต้องรู้ว่าเพราะเหตุใด เพื่ออะไร ถ้าไม่รู้ว่าเพราะเหตุใด ไม่รู้ว่าเพื่ออะไร ขณะที่ทำนั้นจะถูกได้อย่างไร

    ถ. เพราะฉะนั้น ก่อนเจริญสติปัฏฐาน เป็นการเจริญอกุศลก็ได้ ไม่ได้เจริญปัญญา หลังจากเริ่มเข้าใจตอนนั้นจึงจะเป็นปัญญา ค่อยๆ พิจารณาว่า ลักษณะไหนเป็นกุศล แต่ก็ไม่สงบโดยทันที ค่อยๆ รู้จักไปก่อน

    สุ. อย่างเวลาที่มีการให้หรือทานกุศลเกิด ขณะนั้นจิตสงบแล้ว จะรู้ลักษณะของจิตที่สงบในขณะนั้นได้ไหม ถ้าสติสัมปชัญญะไม่เกิดไม่รู้ลักษณะของจิตที่สงบในขณะที่ให้ เจริญสมถภาวนาไม่ได้ คือ ไม่สามารถแยกรู้ลักษณะที่ต่างกันของกุศลจิตและอกุศลจิต ถ้าสติสัมปชัญญะไม่เกิด

    ขณะนี้เองกุศลจิตก็มี อกุศลจิตก็มี แล้วแต่ว่ากุศลจิตจะเกิดมาก หรืออกุศลจิตจะเกิดมาก มีทั้งอกุศลและกุศล และขณะไหนบ้างที่สติสัมปชัญญะเกิด สามารถรู้ ตรงลักษณะของอกุศลว่าขณะนี้ต่างกับขณะที่เป็นกุศล

    ถ้าไม่สามารถจะรู้อย่างนี้ เจริญสมถภาวนาหรือวิปัสสนาภาวนาไม่ได้ ก็ยังคงเป็นเรื่องของกุศลจิตและอกุศลจิตในตำรา คือ ฟังเรื่องของอกุศลจิตรู้ว่า มีโลภมูลจิต มีโทสมูลจิต มีโมหมูลจิต และฟังเรื่องของกุศลจิตก็รู้ว่า มีมหากุศลจิต เป็นไปใน ทานบ้าง เป็นไปในศีลบ้าง เป็นไปในความสงบบ้าง แต่ขณะนี้เอง ขณะที่กำลังนั่ง ขณะนี้นั่ง และมีเห็น มีได้ยิน

    เรื่องของปรมัตถธรรมทั้งหมดที่ศึกษา จะต้องมีปัญญาอีกขั้นหนึ่ง คือ ไม่ใช่ขั้นเพียงฟังเรื่องของจิต เจตสิก รูป แต่เป็นขั้นที่รู้ว่า ในขณะนี้ที่กำลังนั่งอาจจะ ลืมตาบ้าง หลับตาบ้าง มีการเคลื่อนไหวส่วนหนึ่งส่วนใดของร่างกายบ้าง ไม่ได้อยู่เฉยเลย เพราะอะไร

    ถ้าเป็นคนที่ช่างคิดพิจารณาในเหตุในผล ประกอบกับการได้ฟัง จะรู้ได้ว่า เพราะไม่ใช่มีแต่รูปร่างกาย แต่มีนามธรรมคือมีจิตด้วย



    คำบรรยายคัดลอกจาก E-book
    แนวทางเจริญวิปัสสนา เล่ม ๑๗๕ ตอนที่ ๑๗๔๑ – ๑๗๕๐
    เรียบเรียงอักษรให้อยู่ในรูปแบบหนังสือ โดยมีเนื้อหาใจความสำคัญครบถ้วน
    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 95
    28 ธ.ค. 2564