แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1750
ครั้งที่ ๑๗๕๐
สาระสำคัญ
ผู้ละเอียดที่จะสังเกต ศึกษา พิจารณาสภาพธรรม (ตามที่ได้ยินได้ฟัง)
วิปัสสนา คืออะไร
ญาณ คืออะไร
ที่ห้องประชุมตึกสภาการศึกษามหามกุฏราชวิทยาลัย
วันอาทิตย์ที่ ๑๐ มกราคม ๒๕๓๑
ถ้าเพียงรู้ว่ามีจิตใจ มีนามธรรม และมีรูปร่างกาย เท่านี้ยังไม่พอสำหรับปัญญาที่รู้เพียงเท่านี้ รู้เพียงเท่านี้เองดับกิเลสไม่ได้ แต่ขณะนี้มีพร้อมทั้งรูป ที่ประชุมรวมกันเป็นร่างกาย และมีทั้งนามธรรม คือ จิต เจตสิกด้วย เพราะฉะนั้น ผู้ที่ละเอียดจะเริ่มศึกษาลักษณะของนามธรรมซึ่งทำให้รูปเคลื่อนไหวต่างๆ หรือ แม้รูปจะไม่เคลื่อนไหว แต่จิตเคลื่อนไหว คือ คิดนึกอยู่ตลอดเวลา ไม่มีจิตของใคร อยู่เฉย เห็นแล้วก็คิดนึก แต่ไม่รู้สึกตัว บางทีไม่รู้ด้วยซ้ำว่าคิดอะไร เวลาที่ได้ยิน ก็ไม่มีใครอยู่เฉย มีการคิดนึก เวลาได้กลิ่น เวลาลิ้มรส เวลารู้สิ่งที่กระทบสัมผัส มีจิตที่คิดนึกอยู่ตลอดเวลา
เพราะฉะนั้น เวลาที่สามารถรู้ลักษณะของนามธรรมซึ่งเป็นสภาพรู้ เป็นธาตุรู้ เป็นอาการรู้ ก็จะตรงกับการศึกษาพระธรรมที่พระผู้มีพระภาคได้ทรงแสดงไว้ ซึ่งพิสูจน์ได้ คือ ไม่ใช่เพียงพอใจว่า รู้ว่ามีนามธรรมกับรูปธรรมเท่านั้น หรือรู้ว่า มีจิต เจตสิก รูป กี่ดวง กี่ชนิด กี่ประเภทในตำรา แต่ต้องรู้ในขณะที่กำลังเห็น กำลังได้ยิน หรือว่ากำลังคิดนึกในขณะนี้
เมื่อได้ฟังพระธรรมแล้ว ก็ขึ้นอยู่กับความเป็นผู้ละเอียดที่จะสังเกต ศึกษาพิจารณาสภาพธรรมที่ได้ยินได้ฟัง และสภาพธรรมเหล่านั้นก็มีให้พิสูจน์ทุกขณะ ในชีวิตประจำวัน เพียงแต่ว่าเมื่อการฟังยังน้อย ก็ไม่เป็นปัจจัยให้สติเกิดระลึกได้ว่า จะต้องศึกษาลักษณะของนามธรรมซึ่งไม่ใช่รูปธรรม แม้ขณะที่กำลังนั่งอยู่ในขณะนี้
ถ. สนทนาธรรมกันเกิดปัญหาว่า วิปัสสนาญาณ ๓ ขั้นแรกเป็นเรื่องของ จินตา คือ เข้าใจกันว่า ขณะที่สภาพธรรมซึ่งเป็นปรมัตถธรรมปรากฏ เช่น เสียง สติเกิดขึ้นระลึกลักษณะของเสียง หลังจากนั้นก็คิดและรู้ตามปริยัติว่า นั่นแหละคือลักษณะของรูปธรรม
สุ. ขอประทานโทษ ถ้าอย่างนั้นนามรูปปริจเฉทญาณก็เกิดเดี๋ยวนี้ ไม่ต้องทำอะไรเลย เพียงแต่นึกเอาก็เป็นนามรูปปริจเฉทญาณแล้ว นี่คือความเข้าใจผิด ไม่ได้พิจารณาว่า วิปัสสนาญาณไม่ใช่เป็นการคิดตาม
ขณะนี้ทุกคนเห็นและนึกขึ้นได้ว่า กำลังเห็นนี่เป็นอาการรู้ เป็นลักษณะรู้ เป็นธาตุรู้ กำลังนั่งอยู่ขณะนี้ก็เป็นรูป เท่านี้เป็นนามรูปปริจเฉทญาณแล้ว ไม่ต้องเจริญอะไรเลย
สติปัฏฐานเพื่ออะไร สติปัฏฐานมีลักษณะอย่างไร สติปัฏฐานระลึกรู้อะไร ก็ไม่มีประโยชน์ทั้งนั้นถ้าเข้าใจผิดอย่างนี้ เพียงคำว่า จินตาญาณ ไม่ได้เข้าใจว่า วิปัสสนาญาณทุกญาณรู้อะไร ทำไมจึงเป็นนามรูปปริจเฉทญาณ
ถ. ปัญญาต้องรู้ขณะที่ธรรมกำลังปรากฏ และเข้าใจในสภาพธรรมที่ยังปรากฏอยู่ ไม่ใช่ธรรมดับไปแล้วและมานั่งคิดขึ้นมา ใช่ไหม
สุ. ได้เคยกล่าวถึงเรื่องตรุณวิปัสสนาญาณ ๓ คือ นามรูปปริจเฉทญาณ ปัจจยปริคคหญาณ และสัมมสนญาณว่า ที่ใช้คำว่าจินตาญาณเพราะเหตุใด ไม่ใช่เพียงการคิด ขณะนี้เองเป็นวิปัสสนาญาณทั้ง ๓ ญาณถ้ากล่าวว่า ทั้ง ๓ ญาณนี้เป็นจินตาญาณ แต่ไม่ใช่อย่างนั้นเลย ต้องเป็นผู้ละเอียดที่จะรู้ว่า คำว่าวิปัสสนาคืออะไร ญาณคืออะไร
ญาณ คือ ความรู้ชัด ความรู้
วิปัสสนา คือ เห็น
ความรู้ซึ่งเกิดจากการเห็น คือ การประจักษ์แจ้ง ขณะที่วิปัสสนาญาณ แต่ละญาณเกิด ไม่มีอัตตา ไม่มีโลก ไม่มีตัวตน มีแต่ลักษณะของสภาพธรรมซึ่งเป็นธาตุรู้ ในขณะที่วิปัสสนาญาณซึ่งได้แก่มหากุศลญาณสัมปยุตต์เกิดทางมโนทวาร จึงสามารถรู้เฉพาะลักษณะของธาตุรู้ได้
ถ. แต่ต้องเข้าใจถึงการทำลายอัตตาที่เคยยึด เคยเห็นผิด หรือเคยรวมกันเป็นกลุ่มก้อนอยู่
สุ. และเมื่อกล่าวว่าเป็นผล จะต้องมีเหตุด้วยว่า วิปัสสนาญาณที่จะเกิดประจักษ์แจ้งอย่างนั้นเหตุมาจากไหน ถ้าไม่รู้ถึงเหตุจะกล่าวว่าเป็นผลแล้วนั้น ไม่ถูกต้อง เพราะฉะนั้น เหตุ คือ สติปัฏฐาน จากการฟังที่รู้ว่า นามธรรมเป็นสภาพรู้ เป็นธาตุรู้ และสติระลึกที่ลักษณะของนามธรรม แล้วแต่ว่าจะเป็นนามธรรมประเภทใด และรู้ในอาการรู้นั้นเพิ่มขึ้น จนกว่าจะประจักษ์แจ้งเป็นวิปัสสนาญาณที่สามารถ แยกขาดลักษณะของนามธรรมออกจากรูปธรรมทางมโนทวาร
ต้องมีเหตุ ไม่ใช่ไม่มีเหตุ ใครก็ตามที่คิดว่า ฟังแล้วคิด เพราะกล่าวว่า จินตาญาณ เพราะฉะนั้น เพียงแต่ได้ยินและบอกว่า เสียงเป็นรูป ได้ยินขณะนี้ เป็นนาม แล้วก็จะเป็นนามรูปปริจเฉทญาณ ปัจจยปริคคหญาณ สัมมสนญาณเพราะว่าดับไปหมดแล้ว เท่านี้ไม่ได้
อีกประการหนึ่งที่กล่าวว่าเป็นจินตาญาณ เพราะว่าแม้ในขณะนั้นมีปัจจัยที่จะ ให้ตรึกถึงลักษณะของสภาพธรรม แต่สภาพที่ตรึกนั้นเป็นนามธรรม นี่คือความต่างกันของวิปัสสนาญาณและไม่ใช่วิปัสสนาญาณ
ถ. ตรึกในขณะที่สภาพธรรมยังปรากฏ
สุ. ในขณะที่กำลังเป็นวิปัสสนาญาณได้ จึงเป็นจินตาญาณ
ถ. ถ้าไม่เป็นจินตาญาณ ไม่มีลักษณะของการตรึก
สุ. แน่นอน เป็นแต่เพียงคิด แต่แม้ขณะที่กำลังคิด เช่น ในขณะนี้คิดก็เป็นนามธรรมชนิดหนึ่งซึ่งต่างกับเห็น เพราะฉะนั้น ลักษณะนั้นปรากฏความต่างกัน ทางมโนทวาร เมื่อยังมีปัจจัยที่จะให้ตรึกหรือนึกถึงอารมณ์ที่กำลังปรากฏ ลักษณะของนามธรรมที่คิดก็เกิดได้ในขณะที่สภาพธรรมกำลังปรากฏที่เป็นวิปัสสนาญาณ ด้วยเหตุนี้จึงกล่าวว่าเป็นจินตาญาณ เพราะว่ายังไม่สมบูรณ์ถึงขั้นของอุทยัพพยญาณ ซึ่งประจักษ์การแยกขาดจากกันที่ชัดเจนและละเอียดกว่าสัมมสนญาณ
ถ. เพราะฉะนั้น ที่ไม่เกิดการตรึกก็เพราะเห็นชัดและแยกขาดแล้ว ลักษณะของการตรึกที่ต้องเกิดขึ้นคิดอีกจึงไม่เกิดขึ้น ต่างกันตรงนี้
สุ. สภาพคิดนึกนี่จะติดตามไปอยู่เสมอ ท่านผู้ฟังจะสังเกตได้ว่า ไม่มีใครยับยั้งความคิดได้ แม้แต่เวลาที่สติปัฏฐานเริ่มเกิดระลึกลักษณะของแข็งที่กำลังปรากฏ บางคนก็คิดว่า แข็งเป็นรูป แต่เมื่อเป็นวิปัสสนาญาณ ลักษณะของนามธรรมทั้ง ๒ อย่าง ที่รู้แข็งก็เป็นรู้แข็ง ที่คิดก็เป็นคิด แยกขาดจากกัน
ถ. ละเอียดขึ้นทำให้เข้าใจได้ว่า ขณะที่คิดและตรึกวิปัสสนาญาณ ยังไม่เกิด เคยคิดอย่างนี้มาก่อนเหมือนกันว่า คงจะใช่แล้ว หลังจากนั้นคิดและก็ใช่ ตามปริยัติหมด
สุ. ตามปริยัติ แต่ไม่ใช่เป็นการประจักษ์แจ้ง คือ คิดตามที่ได้ศึกษา และเข้าใจเอาเองว่า ขณะนั้นเป็นวิปัสสนาญาณ
นิภัทร สมาธิที่เป็นบาทของวิปัสสนา คือ มีพระบาลีว่า ดูก่อน ภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายจงเจริญสมาธิ เพราะว่าผู้ที่มีจิตตั้งมั่นแล้ว ย่อมสามารถรู้เห็นตามความเป็นจริงได้ คำว่า จิตตั้งมั่น หรือว่าจิตเป็นสมาธิ ที่จะให้รู้แจ้งตามความเป็นจริงนั้น หมายถึงสมาธิแค่ไหน
สุ. ในมรรคมีองค์ ๘ มีสัมมาสมาธิด้วย แต่ที่จะเป็นสัมมาสมาธิในมรรค มีองค์ ๘ ได้ จะต้องเกิดร่วมกับสัมมาทิฏฐิและสัมมาสติ ถ้าไม่เกิดร่วมกับสัมมาทิฏฐิสัมมาสติและองค์อื่นๆ ก็ไม่ชื่อว่าสัมมาสมาธิในมรรคมีองค์ ๘
เพราะฉะนั้น สัมมาสมาธิที่จะทำให้รู้แจ้งลักษณะของอริยสัจจธรรม ต้องเป็นสัมมาสมาธิในมรรคมีองค์ ๘ ไม่ใช่สัมมาสมาธิอื่นๆ ในขั้นของทาน ในขั้นของศีล หรือในขั้นของการเจริญสมถภาวนา
นิ. ไม่ใช่ว่าไปเจริญสมาธิจนจิตสงบและสติปัญญาจะรู้เองเห็นเอง โดย ไม่ต้องไปทำอย่างอื่น คือ อาศัยสมาธินั้นแหละ เมื่อจิตมีสมาธิแล้วจะรู้แจ้งตามความเป็นจริงเอง
สุ. โดยมากท่านผู้ฟังจะได้ยินคำพูดอย่างนี้บ่อยๆ และจะมีการปฏิบัติอย่างนี้ตามคำพูดอย่างนี้ด้วยว่า ทำสมาธิไปปัญญาก็จะเกิด แต่ต้องเป็นผู้ที่ละเอียดจริงๆ แม้แต่ที่กล่าวว่า ทำสมาธิไปก่อนและปัญญาจะเกิดทีหลัง ก็ควรจะถามผู้ที่แนะนำนั้นว่า ทำสมาธิอย่างไร ไม่ใช่ว่าบอกโดยที่ไม่เกิดปัญญาอะไรเลย และก็นั่งทำ และไม่รู้ว่าทำอะไร และก็หวังว่าปัญญาจะเกิดขึ้น
ถ้าถามบุคคลที่ไปทำสมาธิเสียก่อนแล้วปัญญาจะเกิด ถ้าถามท่านผู้นั้นว่า ปัญญาที่จะเกิดนั้น ปัญญารู้อะไร ท่านผู้นั้นจะตอบได้ไหมว่า ปัญญานั้นจะรู้อะไร
นิ. ก็คงรู้แบบนึกคิดเอาเอง เพราะเท่าที่สังเกตผู้บรรยายในทำนองนี้ คือเมื่อทำสมาธิไป เมื่อจิตเข้าที่ หรือจิตรวม จิตตกภวังค์ตามที่เขาพูดกัน ก็จะใช้จิตนั้นคิดถึงสภาวธรรมต่างๆ เช่น ผม ขน เล็บ ฟัน หนัง เนื้อ ไม่ใช่ตัว ไม่ใช่ตน ไม่ใช่เรา ไม่ใช่เขา เป็นแต่ธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุไฟ ธาตุลม ผมเข้าใจว่าเป็นการคิดเอา โดยไม่ได้เข้าใจสภาวธรรมที่ปรากฏจริงๆ
สุ. ขออนุโมทนาท่านผู้ฟังที่ท่านช่วยกรุณาเป็นตัวแทน หรือไม่ทราบว่า ท่านมีความคิดอย่างนี้หรือเปล่า แต่ท่านจะช่วยท่านผู้ฟังอีกหลายท่านหรือท่านที่ชอบปฏิบัติที่เคยทำสมาธิมาและยังไม่ได้สนทนาธรรมพูดกันถึงเรื่องเหตุผล เป็นโอกาสที่จะให้ดิฉันได้ซักถาม สำหรับเป็นตัวแทนของท่านที่อาจจะเคยทำสมาธิ และคิดว่าปัญญาจะเกิด
ถ้าดิฉันจะทำอย่างที่ว่า จะให้ดิฉันทำสมาธิอย่างไร เริ่มสอนให้ทำสมาธิ จะให้ดิฉันทำอย่างไร คือ ทุกอย่างที่พูดต้องทำ เมื่อคิดอย่างไร เข้าใจอย่างไร พูดอย่างไร ก็ทำอย่างนั้น ถ้าคิดถูก เข้าใจถูก ก็ทำถูก ถ้าคิดผิด พูดผิด เข้าใจผิด ก็ทำผิด เพราะฉะนั้น ถ้าพูดว่า ทำสมาธิเสียก่อน และปัญญาจะเกิดทีหลัง ก็ขอเรียนถามว่า จะให้ดิฉันทำสมาธิอย่างไร
นิ. เท่าที่ได้เคยสัมผัสมาพอสมควร สมมติว่า ให้เจริญพุทโธ ก็บริกรรมภาวนาว่า พุทโธ พุทโธ พุทโธ
สุ. ในขณะที่พูดคำว่า พุทโธ จิตเป็นกุศลหรือเปล่า
นิ. จิตอาจจะเป็นกุศลก็ได้ ไม่เป็นกุศลก็ได้
สุ. ถ้าไม่เป็น
นิ. ถ้าไม่เป็น ขณะนั้นก็หวังจะให้จิตสงบ
สุ. แต่ไม่เป็น ทำอย่างไรก็ไม่เป็น จะสอนอย่างไรให้เป็น ถ้าเอาเด็กๆ มาพูดว่า พุทโธ และเอาผู้ใหญ่มาพูดว่า พุทโธ จะรู้ได้ไหมว่า ทั้งสองคนจิตเป็นกุศล หรือเปล่า
นิ. ผมสังเกตดู แม้จะท่องคำว่า พุทโธ หรือคำว่า อรหันต์ ก็ไม่ได้เข้าใจความหมายของคำว่า พุทโธ ไม่ได้เข้าใจความหมายของคำว่า อรหันต์ ว่าหมายถึงอะไร ก็ท่องๆ ไป ถ้าเปลี่ยนคำว่าพุทโธหรืออรหันต์เป็นคำอื่น อย่างศาสดาอื่นที่ไม่ใช่ศาสดาในศาสนาพุทธของเรา ผมว่ามีค่าเท่ากันกับใช้คำว่า พุทโธ หรืออรหันต์
สุ. และยังอยากจะให้ดิฉันทำสมาธิอย่างนี้หรือ คือ ท่องเฉยๆ พูดเฉยๆ เป็นอกุศลหรือเป็นกุศลก็ไม่ทราบ หรือจะใช้คำอื่นแทนก็ได้ ไม่มีเหตุผลพอ และปัญญาจะรู้อะไรถ้าท่องอย่างนี้ เมื่อถึงขั้นของปัญญาที่หวังว่าเป็นสมาธิแล้วปัญญา จะเกิดนั้น ปัญญารู้อะไร กำลังท่องๆ อยู่อย่างนี้ ปัญญาจะรู้อะไร
นิ. เท่าที่ฟังดู ปัญญาก็รู้ว่า ตัวเราไม่มีอะไร นอกจากดิน น้ำ ไฟ ลม
สุ. ขอประทานโทษ ก็กำลังท่องพุทโธอยู่ จะรู้ได้อย่างไรว่าไม่มีอะไร นอกจากดิน น้ำ ไฟ ลม
นิ. คือ หลังจากท่องแล้วเข้าใจว่าจิตสงบ หลังจากพยายามทนทรมาน นั่งจนเหนื่อย รู้สึกว่าจิตสงบ ก็คิดไปว่า ร่างกายประกอบด้วยธาตุ ๔ คือ ดิน น้ำ ไฟ ลม ถ้าเป็นดินก็เป็นผม ขน เล็บ ฟัน หนัง
สุ. ถ้าอย่างนั้นก็คิดเสียทีแรก ไม่ต้องไปนั่งท่องพุทโธไม่ได้หรือ
นิ. คิดแต่ทีแรก คิดไม่ออก
สุ. ทำไมไม่สอนให้เข้าใจแทนที่จะไปท่อง ให้รู้ว่าพุทโธนั้นตรัสรู้อะไร ที่จะให้ผู้ฟังเกิดปัญญาของตัวเองที่จะรู้ว่า พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงพระนามว่า พุทโธ เป็นผู้ตื่น เป็นผู้ตรัสรู้ เป็นผู้เบิกบานนั้น เพราะตรัสรู้อะไร ให้เข้าใจอย่างนี้ไม่ดีกว่าหรือ
นิ. ที่ผมว่ามาทั้งหมด เป็นความเข้าใจที่ผมมารู้ตอนหลังว่า เป็น ความเข้าใจที่สอนกันผิด ไม่ทราบว่าผิดกันมาตั้งแต่เมื่อไร และยังจะผิดต่อไปอีกเท่าไรก็ยังไม่ทราบ และเท่าที่สนทนากับผู้ที่เคยทำอย่างนี้มาแล้ว เขาไม่มีทางมาเชื่อ มาเข้าใจในทางที่ถูกต้องได้ เพราะเขาเห็นว่าถูกต้องแล้ว เขายึดถือคำว่า ถ้าจิตไม่เป็นสมาธิแล้ว ปัญญาเกิดไม่ได้ เขาเถียงเราอย่างนี้เสมอ เพราะฉะนั้น ผมจึงบอกว่า สมาธิที่ว่าจะต้องเจริญนั้น อยากให้เข้าใจให้แน่ชัดว่า ไม่ใช่สมาธิที่ไปสงบนิ่งอยู่เฉยๆ ต้องเป็นสมาธิที่ประกอบด้วยปัญญาที่เกิดกับองค์มรรค ไม่ใช่สมาธิที่ไปนั่งนิ่งๆ และเห็นอะไรต่ออะไร และนึกว่าตัวเองได้เห็นในสิ่งที่ถูกต้อง ซึ่งผมเห็นว่า เป็นลัทธิของอาจารย์ คือ เชื่อตามอาจารย์สอน ไม่คำนึงถึงหลักฐาน ไม่คำนึงถึงว่าถูกหรือผิด
การเชื่ออย่างนี้ ผมก็เชื่อมามากแล้ว ซึ่งไม่เกิดความรู้ความเข้าใจในทางที่ถูกต้องขึ้นมาได้ นอกจากมาศึกษาตามแนวทางที่อาจารย์บรรยายนี้ ก็ปรากฏว่า ถึงแม้กิเลสยังมีอยู่ แต่ความเข้าใจถูกในข้อปฏิบัติ ก็ก้าวหน้าขึ้นได้พอสมควร ไม่เหมือนอย่างที่ไปนั่งเพื่อจะให้เป็นสมาธิและให้ปัญญาเกิดขึ้นเอง สรุปแล้วไม่มีทาง ที่จะเป็นไปได้
สุ. ในขณะที่ท่องพุทโธจะรู้ไหมว่า มีนามธรรมและรูปธรรม แม้ในขณะที่กำลังนั่งนึกคำว่า พุท คำว่า โธ จะรู้ลักษณะของนามธรรมไหม จะรู้ว่าไม่ใช่ตัวตน เป็นแต่เพียงนามธรรมชนิดหนึ่งที่กำลังคิดไหม ถ้าไม่รู้ลักษณะของนามธรรมและรูปธรรม จะเจริญอะไร เพื่อประโยชน์อะไรไม่ทราบ
ปัญญาจะต้องรู้ลักษณะของนามธรรมและรูปธรรม จึงจะละการยึดถือนามธรรมและรูปธรรมในขณะนี้ว่าเป็นเรา นี่คือประโยชน์และจุดประสงค์ของการ เจริญปัญญา ซึ่งเกิดจากการอบรมเจริญสติปัฏฐาน เพื่อรู้แล้วละ รู้อะไร ก็รู้ลักษณะของนามธรรมและรูปธรรม วิปัสสนาญาณทุกญาณเป็นการประจักษ์แจ้งลักษณะของนามธรรมและรูปธรรมซึ่งเป็นผล
เพราะฉะนั้น เหตุ คือ สติจะต้องระลึกลักษณะของนามธรรม และพิจารณาศึกษาจนรู้ชัดในลักษณะที่เป็นสภาพรู้ และสติจะต้องระลึกลักษณะของรูปธรรม จนรู้ชัดว่าเป็นลักษณะของสภาพที่ไม่ใช่สภาพรู้ ไม่มีเราเลย มีแต่ลักษณะของนามธรรมและรูปธรรมชนิดต่างๆ ประเภทต่างๆ นั่นคือประโยชน์ที่จะทำให้ละคลายการยึดถือนามธรรมและรูปธรรมว่า เป็นตัวตน เป็นเรา
แนวทางเจริญวิปัสสนา เล่ม ๑๗๕ ตอนที่ ๑๗๔๑ – ๑๗๕๐
เรียบเรียงอักษรให้อยู่ในรูปแบบหนังสือ โดยมีเนื้อหาใจความสำคัญครบถ้วน
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1686
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1687
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1688
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1689
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1690
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1691
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1692
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1693
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1694
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1695
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1696
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1697
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1698
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1699
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1700
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1701
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1702
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1703
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1704
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1705
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1706
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1707
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1708
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1709
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1710
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1711
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1712
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1713
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1714
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1715
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1716
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1717
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1718
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1719
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1720
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1721
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1722
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1723
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1724
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1725
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1726
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1727
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1728
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1729
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1730
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1731
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1732
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1733
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1734
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1735
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1736
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1737
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1738
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1739
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1740
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1741
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1742
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1743
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1744
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1745
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1746
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1747
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1748
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1749
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1750
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1751