แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1694
ครั้งที่ ๑๖๙๔
สาระสำคัญ
เหตุให้เกิดทุกข์ (โลภะเป็นเหตุของทุกข์)
ปัญญารู้จักสภาพธรรมตามความเป็นจริง
ยึดมั่นในตัวตน (ด้วยทิฏฐิ ด้วยตัณหาและด้วยมานะ)
การยึดถือสภาพธรรมด้วยทิฏฐิ
การยึดถือสภาพที่เป็นเราด้วยตัณหา
ที่ห้องประชุมตึกสภาการศึกษามหามกุฏราชวิทยาลัย
วันอาทิตย์ที่ ๑๙ กรกฎาคม ๒๕๓๐
สำหรับชีวิตประจำวัน ก็จะต้องพิจารณาแล้วพิจารณาอีก ที่จะให้ถึง อุทยัพพยญาณได้ ไม่ใช่ว่าชีวิตประจำวันเป็นอย่างหนึ่งและก็หวังว่าจะถึง อุทยัพพยญาณโดยที่ชีวิตประจำวันไม่สอดคล้องกับการที่จะพิจารณาตนเอง ปัญญาของตนเอง ซึ่งเกี่ยวข้องกับบุคคลอื่น
เช่น ในวันหนึ่งๆ เคยพิจารณาไหมว่าละคลายอะไรบ้าง หรือยังผูกพันมากเหมือนเดิม บางคนผูกพันมากขึ้น และบอกว่าสติไม่ค่อยเกิดเลย ก็เป็นของแน่นอนธรรมดา ถ้ายังมีความต้องการ มีความผูกพัน มีโลภะ มีอวิชชาเพิ่มขึ้น ก็เป็น เครื่องกั้นไม่ให้สติเกิดระลึกลักษณะของสภาพธรรม แต่ก็หวังว่าสติอาจจะเกิด ซึ่งนั่นเป็นความหวัง ถ้าในวันหนึ่งๆ ศึกษาธรรม ฟังธรรม เข้าใจธรรม น้อมพิจารณาธรรม และรู้ว่าไม่มีอะไรเลย แม้แต่ตัวเองก็ต้องไม่ลืมว่าไม่มี เพราะฉะนั้น บุคคลอื่น ก็ต้องไม่มีด้วย
การที่จะคลายจนกว่าจะถึงอุทยัพพยญาณนั้น ชีวิตประจำวันต้องไม่ลืมด้วยว่า แท้ที่จริงแล้วทุกคนที่ผูกพันมากที่สุด คือ ผูกพันกับตนเอง ความพอใจของตนเอง และก็ยึดมั่นขยายขอบเขตผูกพันไปถึงบุคคลอื่น จนกระทั่งไม่รู้จริงๆ ว่า ตั้งแต่เกิด จนตายชีวิตของแต่ละคนที่กระทำอยู่นั้นเพื่อตัวเองทั้งสิ้น แม้จะเข้าใจว่าผูกพันพอใจในบุคคลอื่น แต่ขณะนั้นก็ลืมว่า เพื่อความสุขของตนเองที่ชอบให้มีสุขเวทนาบ้าง โสมนัสเวทนาบ้าง ซึ่งอาศัยบุคคลอื่น เช่น อาจจะอาศัยบุตรหลาน อาจจะอาศัย ญาติพี่น้อง อาจจะอาศัยผู้คุ้นเคย เพราะถ้าได้อยู่ใกล้ชิดกับผู้ที่คุ้นเคยก็สบายใจ ถ้าได้คบหาสมาคมเที่ยวเตร่สนุกสนานกับผู้ที่มีอัธยาศัยเหมือนกันก็เบิกบานใจ เมื่อได้อยู่ใกล้บุตรหลานก็ชื่นชม ขณะนั้นก็เพื่อความสุขหรือโสมนัสเวทนาของตนเอง ตั้งแต่เกิดจนตาย ถ้ายังไม่คิดจะคลาย หรือยังไม่พิจารณาเห็นว่า ไม่มีอะไรเลย สักอย่างเดียวที่เป็นของตนเอง และค่อยๆ พิจารณาความรู้สึกของตนเองไปเรื่อยๆ ความผูกพันก็จะค่อยๆ คลายลงด้วยปัญญา แม้ไม่ได้ดับเป็นสมุจเฉท แต่จะสะสม เป็นสังขารขันธ์ปรุงแต่งไปเพื่อเมื่อสติปัฏฐานระลึกลักษณะของนามธรรมและรูปธรรมบ่อยๆ จนกระทั่งวิปัสสนาญาณที่เป็นตรุณวิปัสสนาญาณเกิด ก็จะทำให้ถึง พลววิปัสสนา ซึ่งเป็นการประจักษ์แจ้งการเกิดดับของนามธรรมและรูปธรรมได้ เพราะคลายการยึดถือผูกพันในตัวเองและในบุคคลอื่น
ทุกท่านอาจจะมีชีวิตประจำวันที่สะดวกสบาย สนุกสนาน และลืมไปว่า นั่นเป็นเหตุที่จะให้เกิดทุกข์ เพราะฉะนั้น ขาดไม่ได้เลยที่ปัญญาจะต้องเกิดบ้าง เตือนตัวเองบ้าง ระลึกบ้าง แม้ไม่สามารถระลึกได้เองบ่อยๆ แต่เมื่ออาศัยการฟัง พระธรรมบ่อยๆ ก็จะเป็นสัญญาที่มั่นคงทำให้ทั้งปัญญาและตัตรมัชฌัตตตาคลายความรู้สึกผูกพันที่เป็นอกุศล และค่อยๆ เจริญกุศลในชีวิตประจำวันโดยไม่ได้เปลี่ยนแปลงอะไรเลย ไม่ใช่ว่าทุกท่านต้องทิ้งครอบครัว ทิ้งมิตรสหายเพื่อนฝูง ไม่ใช่อย่างนั้นเลย ทุกอย่างยังเหมือนเดิม แต่จิตที่กระทำกิจนั้นๆ ต่างกันจากเดิม คือ ที่เคยผูกพันยึดมั่นอย่างเหนียวแน่น ก็ค่อยๆ เริ่มคลาย การกระทำกิจต่างๆ ก็เป็นการกระทำกิจด้วยหน้าที่ซึ่งเป็นกุศล ไม่ใช่ด้วยโลภะ ความผูกพัน ซึ่งเป็นอกุศล
ให้ตัตรมัชฌัตตตากับปัญญาพิจารณาดูว่า อย่างไหนจึงจะดีในชีวิตประจำวันของทุกคน ถ้าเป็นโลภะและอวิชชาก็ต้องเห็นว่า ผูกพันมากๆ ดี แต่ถ้าเป็น ตัตรมัชฌัตตตากับปัญญาต้องเห็นว่า ทุกอย่างเหมือนเดิม กิจหน้าที่ที่ทำ ทำได้เหมือนเดิมทุกอย่าง แต่คลายความผูกพันลง เพราะว่าโลภะเป็นเหตุของทุกข์
ถ้าท่านผู้ฟังยังมีชีวิตที่เป็นคฤหัสถ์อยู่ จะเห็นได้ว่า แม้ความผูกพันในครอบครัวระหว่างสามีภรรยาก็ดี หรือบุตรธิดาก็ดี สามารถจะค่อยๆ คลายความผูกพันที่เป็นอกุศล และเป็นกุศลเพิ่มขึ้นได้ เพราะว่าบางคนอาจจะเป็นคนที่เห็นแก่ตัวมาก โดยที่ไม่รู้สึกตัวว่า ความสุขของตนเองต้องมาก่อน เพราะอาจจะเคยเป็นผู้ที่เป็นใหญ่ ในบ้าน โดยฐานะของหัวหน้าครอบครัวอาจจะเป็นพ่อบ้านหรือแม่บ้านแม่เรือน ซึ่งเป็นใหญ่จนลืมคิดว่า ความสุขของคนอื่นเป็นอย่างไร ถ้าความพอใจของตนเองเป็นอย่างนั้น แต่ถ้ากุศลจิตเกิด ความเมตตาก็จะเกิดได้ แม้การประพฤติปฏิบัติต่อผู้ที่ อยู่ในครอบครัวเดียวกันก็ยังจะเห็นได้ว่า ความเมตตาเพิ่มขึ้น และโลภะหรืออกุศล ก็น้อยลง ถ้าเพียงแต่รู้ว่า ทุกอย่างไม่ใช่ของเรา ก็คงจะเป็นคาถาที่ผูกใจได้ ใช่ไหม แม้ไม่ใช่ภาษาบาลี สำหรับคนไทยเราที่จะเข้าใจอรรถของสภาพธรรม ถ้าไม่ลืมว่า ทุกอย่างไม่ใช่ของเรา ทุกอย่างนี่ไม่เว้นเลย ไม่ใช่ของเราจริงๆ จนกว่าจะประจักษ์แจ้ง
ถ้าเป็นญาติสนิทมิตรสหายซึ่งมีความผูกพันใกล้ชิดมากกว่าบุคคลอื่น การที่จะรู้ว่าทุกอย่างไม่ใช่ของเราก็คือว่า ทุกคนเพียงเกิดมาร่วมโลก นี่เป็นของที่แน่นอน ร่วมครอบครัว ร่วมวงศ์สกุล จึงต้องมีหน้าที่ที่จะต้องกระทำต่อกันตั้งแต่เกิดจนตาย ซึ่งถ้ารู้จักหน้าที่อย่างนี้ จะต้องแยกออกไปไหม ทิ้งไปไหม ก็ไม่ใช่ ใช่ไหม เพราะว่าทุกคนรู้จักหน้าที่ แม้แต่หน้าที่ของบิดามารดาต่อบุตร หรือบุตรต่อบิดามารดา ถ้ารู้จักหน้าที่ รู้ความเป็นหน้าที่ ก็ทำหน้าที่ด้วยกุศลจิตได้ ซึ่งในชีวิตประจำวันถ้าปัญญาเกิด กุศลย่อมเจริญพร้อมกับการเจริญสติปัฏฐานด้วยการรู้ว่า ไม่มีอะไรสักอย่างเดียวที่เป็นของตนเอง
อย่างเช่นผู้ที่เกิดก่อน คือ บุพพการี ทุกคนมีความรักมารดาบิดา และมารดาบิดาก็ต้องมีความรักบุตรแน่นอน แต่ถ้ารู้ว่าทุกอย่างไม่ใช่ของเรา การทำหน้าที่แม้ของมารดาบิดาต่อบุตร หรือบุตรต่อมารดาบิดา ก็จะทำด้วยกุศลที่เต็มเปี่ยมได้ เพราะ รู้สภาพความจริงว่า ท่านได้กระทำคุณต่อบุตรธิดาเป็นอันมาก ฉะนั้น บุตรธิดาก็มีหน้าที่ คือ มีกุศลจิตที่จะกระทำสิ่งตอบแทนต่อท่าน โดยไม่ยึดมั่น เหมือนอย่างที่ได้รับฟังท่านอาจารย์สมพรกล่าวเมื่อกี้ที่ว่า เวลามีผู้สิ้นชีวิตลงก็มีการสวดพระอภิธรรมเพื่อให้เข้าใจความจริง เพื่อละคลายความเศร้าโศก เพราะรู้ว่าทุกสิ่งทุกอย่างไม่ใช่ ของเรา
ผู้ที่สิ้นชีวิตไปแล้ว ไม่ใช่ของเราอีกต่อไป แต่พระคุณที่มีอยู่ไม่ใช่ว่าจะหมดไป สิ่งใดที่ทำแล้ว ผู้ที่เป็นบุตรหลานยังได้รับคุณที่บุพพการีกระทำสืบต่อมา ผู้ที่ได้รับมรดก คิดดู ได้ทรัพย์สมบัติ ได้ความสะดวกสบาย ได้ทุกอย่าง จากใคร แม้ว่าบุคคลนั้นจะจากโลกนี้ไปแล้ว ซึ่งก็ไม่ควรที่จะเศร้าโศก เพราะว่าไม่มีอะไรสักอย่างเดียวที่ เป็นของเราจริงๆ แม้แต่มารดาบิดาก็ไม่ได้เป็นมารดาบิดาอีกต่อไปสำหรับชาตินั้น เหมือนกับในชาติก่อนๆ มารดาบิดาซึ่งเคยมีคุณต่อบุตรธิดา สำหรับในชาตินี้ก็ไม่ได้เป็นมารดาบิดาอีกแล้ว แต่ว่าบุพพการีทุกชาติที่ได้กระทำคุณ ย่อมมีคุณต่อบุตรธิดา เพราะฉะนั้น ผู้ที่รู้ความจริงอย่างนี้จะไม่เศร้าโศก เพราะว่าปัญญาจะไม่ทำให้เกิด ความโศกเศร้าใด ๆ เลย แต่จะทำให้รู้จักสภาพธรรมตามความเป็นจริง และเจริญกุศลเพิ่มขึ้นด้วย
ถ. ผมติดตามฟังอาจารย์ตั้งแต่ตำหนักสมเด็จ หายไปพักหนึ่ง และผมก็ติดตามทางวิทยุ จนกระทั่งวันนี้ได้มาเป็นครั้งแรกหลังจากหายไป ๑๐ กว่าปี ปัญหาที่ผมขอถาม คือ เรื่องของตน ตนที่อาจารย์ได้กล่าวไปแล้วว่า การจะทำอะไรกับ บุตรภรรยา หรือทำงานปกติ ก็ย่อมได้ แต่ผมคิดว่า ลำบาก เช่น ประกอบอาชีพราชการทหาร หรือตำรวจ หรือการปกครอง แม้แต่ในบ้าน ถ้าเราไม่ใช้ตนยกขึ้นมาเป็นใหญ่แล้ว ปกครองไม่ได้ นี่ประการหนึ่ง อีกประการหนึ่ง คือ แม้แต่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้หนีลูกเมีย นี่พูดภาษาธรรมดา และราชสมบัติไปผนวช ก็เพื่อตนจะได้สำเร็จโพธิญาณ ต้องใช้ตนเป็นเหตุ
สุ. พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงบำเพ็ญพระบารมี จนกระทั่งถึงสามารถบริจาคภรรยา บุตร ธิดา หรือว่าอวัยวะ ชีวิตในพระชาติต่างๆ ก็เพื่อที่จะได้ประจักษ์แจ้งสภาพธรรมว่า ไม่ใช่ตน ถูกต้องไหม
ถ. ที่พระพุทธเจ้าเสด็จออกไปนั้น เพื่อตน ใช่ไหม
สุ. เพื่อรู้ว่า ไม่ใช่ตน ซึ่งรู้แสนยาก ที่จะรู้ว่าไม่ใช่ตนนี่ยาก ใช่ไหม เพราะทุกคนคิดว่ามีตนทั้งนั้น ซึ่งเป็นความเห็นผิด ถ้ามีความรู้สึกว่ามีตน ก็รักตนมากมายจนกระทั่งสามารถกระทำทุจริตต่างๆ ได้
ถ. ผมยังไม่เข้าใจที่ว่า พระองค์เสด็จออกไปนั้นเพื่อไม่ใช่ตน
สุ. เพื่อรู้แจ้งอริยสัจจธรรม ๔ ซึ่งเริ่มด้วยทุกขญาณ ได้แก่ รู้ว่า สภาพธรรมทั้งหลายที่เกิดขึ้นดับไปจึงเป็นทุกข์ เพราะว่าไม่ยั่งยืน ไม่มีสภาพธรรมใด ที่เกิดแล้วไม่ดับ และสภาพธรรมที่เกิด ดับเร็วที่สุดจริงๆ ถ้าไม่ใช่การอบรมเจริญปัญญาที่จะรู้แจ้งสภาพธรรมอย่างนี้ อุทยัพพยญาณ คือ การประจักษ์ลักษณะของสภาพธรรมที่เกิดเดี๋ยวนี้และดับไปเดี๋ยวนี้ จะมีไม่ได้เลย
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงบำเพ็ญพระบารมีเพื่อที่จะรู้แจ้งอริยสัจจธรรม ความจริงแท้ๆ ความจริงที่ไม่มีผู้ใดปฏิเสธได้ ความจริงที่จะทำให้ ละคลายกิเลส ดับกิเลสเป็นพระอริยะ ต้องประจักษ์แจ้งลักษณะของสภาพธรรม ที่ไม่ใช่ตน เป็นแต่เพียงสภาพธรรมแต่ละอย่างซึ่งเกิดขึ้นและดับไป เพราะถ้าไม่รู้แจ้งสภาพธรรมอย่างนี้ ไม่มีวันพ้นจากความทุกข์
ถ. เข้าใจแล้ว ขอกราบขอบพระคุณ อีกเรื่องหนึ่ง เรื่องของมานะ มานะกับอนัตตา มีข้อแตกต่างกันอย่างไร และเพราะเหตุใดพระอนาคามียังละมานะไม่ได้
สุ. มานะมีจริงหรือเปล่า มานะเป็นสภาพที่มีจริงไหม
ถ. มีจริง
สุ. เกิดไหม ที่ว่ามี
ถ. เกิดอยู่
สุ. ดับไหม
ถ. ดับ
สุ. ไม่เที่ยง ใช่ไหม เป็นอนัตตา ไม่อยู่ในอำนาจบังคับบัญชาและไม่ใช่เรา มานะเป็นแต่เพียงสภาพธรรมชนิดหนึ่ง เป็นธาตุชนิดหนึ่ง เป็นลักษณะอาการที่ยกตน สำคัญตน เกิดขึ้นขณะใดก็มีความสำคัญตนขณะนั้น แต่มานะก็เกิดเพราะเหตุปัจจัยและก็ดับ เพราะฉะนั้น ตราบใดยังไม่เป็นพระอรหันต์ มานะยังดับไม่ได้
ถ. ทำไมพระอนาคามีจึงละมานะไม่ได้ มานะอะไรที่เหลืออยู่สำหรับท่าน
สุ. ท่านยังมีความรู้สึกว่า ท่านไม่ใช่พระอรหันต์ ท่านเป็นพระอนาคามี ขอให้พิจารณาดูความยึดมั่นในตัวตน ด้วยทิฏฐิคือความเห็นผิดอย่างหนึ่ง ด้วยตัณหา คือความพอใจอย่างหนึ่ง และด้วยมานะคือความสำคัญตนอีกอย่างหนึ่ง
ทิฏฐิเป็นสภาพธรรมที่เป็นเจตสิกซึ่งเกิดกับจิต ตัณหาหรือโลภะก็เป็นเจตสิก อีกประเภทหนึ่งซึ่งเกิดกับจิต มานะก็เป็นเจตสิกอีกประเภทหนึ่ง เพราะฉะนั้น ตัณหาไม่ใช่ทิฏฐิ ไม่ใช่มานะ ทั้ง ๓ อย่างนี้เป็นเจตสิกแต่ละชนิด และเป็นอกุศลเจตสิก
ขอให้พิจารณาดูชีวิตประจำวันจริงๆ การศึกษาพระอภิธรรมมีชีวิตชีวา และเป็นสิ่งที่ทำให้เราเข้าใจลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏจริงๆ ไม่ใช่ว่า กางตำราและก็อยู่ในตำราทั้งหมดว่า มานะเกิดกับจิตกี่ดวง หรือตัณหาเป็นอย่างไร ทิฏฐิเป็นอย่างไร แต่เป็นชีวิตจริงๆ ของเราทุกขณะ โดยที่เราไม่เคยรู้มาก่อนเลย เวลาที่ศึกษาพระธรรมแล้วก็คืออ่านตัวเอง ศึกษาตัวเอง รู้สภาพธรรมที่เกิดกับตัวเอง และก็พิสูจน์ลักษณะของสภาพธรรม จึงจะเป็นปัญญาที่รู้จริงๆ และค่อยๆ รู้ขึ้น
เพราะฉะนั้น ในวันหนึ่งๆ ทุกคนที่ไม่เคยฟังพระธรรม จะต้องเห็นผิดว่า มีตัวตน เช่น มีคน มีสัตว์ มีวัตถุสิ่งต่างๆ เพราะว่าสภาพธรรมเกิดรวมกันเป็น กลุ่มก้อน เช่น รูป จะเกิดรวมกันเป็นกลุ่มก้อนตั้งแต่ศีรษะตลอดเท้า แต่ถ้าแยกโดยการศึกษาจะรู้ได้ว่า รูปกลุ่มเล็กๆ เล็กมากจริงๆ ทุกกลุ่มเล็กมาก และมีอากาศธาตุแทรกคั่นอยู่ เพราะฉะนั้น จากตาไปถึงหู คิดดู จะมีกี่กลาป หรือกี่กลุ่มของรูป เพราะว่าอากาศธาตุแทรกอยู่อย่างละเอียด แต่ไม่เคยรู้เลย ตาก็เรา หูก็เรา
คนที่ไม่ได้ศึกษาพระธรรมเลย จะเห็นรูปเป็นตน ที่กำลังจับมือจับแขนอยู่นี่ แข็ง ใช่ไหม ลักษณะจริงๆ นี่แข็ง แต่เป็นเรา ใช่ไหม เพราะฉะนั้น เห็นรูปเป็นเรา ทั้งๆ ที่เป็นธาตุแข็ง เป็นลักษณะแข็ง เพียงอาการแข็ง ก็เป็นเรา คือ เราแข็ง ใช่ไหม อุปมาเหมือนกับเปลวไฟกับแสงสว่าง ก็คิดว่า เปลวไฟก็อันนั้นแหละ แสงสว่างก็ อันนั้นแหละ ฉะนั้น ที่แข็งนี่ก็คือเราแหละ ไม่ใช่อื่น แข็งนี่คือเรา คิดว่าอย่างนั้น นี่คือผู้ที่ไม่ได้ฟังพระธรรม
จะเห็นได้ว่า ทุกคนที่ไม่ได้ฟังพระธรรมยึดถือตัวตนด้วยทิฏฐิ คือ สักกายทิฏฐิ เห็นสภาพธรรมที่ประชุมรวมกันและไม่รู้ว่าสภาพธรรมแต่ละอย่างทั้งนามธรรมและรูปธรรมเกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัยและก็ดับไปอย่างรวดเร็ว เมื่อไม่ได้ประจักษ์แจ้งอย่างนี้ก็เป็นธรรมดาที่จะต้องยึดถือว่าสิ่งที่รวมกันนั้นเป็นสิ่งหนึ่งสิ่งใด จนกว่าจะ กระจัดกระจายแตกย่อยออกไป รูปทั้งแท่งนี่ไม่เหลือเลย เหลือแต่เพียงลักษณะเดียว ที่แข็งหรืออ่อน โดยที่ไม่มีปอด ไม่มีหัวใจ ไม่มีผม ไม่มีเล็บ ไม่มีฟัน ไม่มีหนัง ไม่มีอะไรอีกแล้ว เป็นแต่เพียงลักษณะธาตุที่ปรากฏ เพื่อที่จะให้ศึกษารู้จริงๆ ว่า สภาพธรรมนั้นเกิดและดับ เพราะว่าเพียงแต่แข็งอย่างเดียวก็ยังเป็นเราอยู่นั่นแหละ ใช่ไหม ลองดูในขณะนี้ก็ได้
ถ้าปัญญาไม่สามารถประจักษ์แจ้งลักษณะของสภาพธรรมตามความเป็นจริงแล้ว ดับกิเลสไม่ได้ นี่คือการยึดถือสภาพธรรมด้วยทิฏฐิ
นอกจากนั้นแล้ว ยังยึดถือสภาพที่เป็นเราด้วยตัณหา รักไหมตัวนี้ ตัวนี้ รักมาก ใช่ไหม ต้องแต่งตัวสวยๆ ต้องทำความสะอาดตั้งแต่ศีรษะจรดเท้า ผมจะเป็นอย่างไร เล็บจะเป็นอย่างไร จะต้องมีเครื่องประดับสวมใส่ ทุกสิ่งทุกอย่าง รักมาก ด้วยตัณหา
จะเห็นได้ว่า วันหนึ่งๆ มีความยึดมั่นในตัวตนด้วยทิฏฐิบ้าง ด้วยตัณหาบ้าง และสำหรับปุถุชน ยังไม่ได้น้อยไปเลย
นอกจากนั้น ในวันหนึ่งๆ แต่ละคนก็ยังรู้สึกว่า มีความสำคัญตนด้วย ทั้งๆ ที่เป็นตัวอย่างนี้ตั้งแต่ศีรษะตลอดเท้า ไม่เห็นจะมีอะไรที่ยั่งยืนเลย จะเป็นบุคคลนี้ ก็เฉพาะในชาตินี้ชาติเดียว จากชาตินี้ไปแล้วจะไม่มีความเป็นบุคคลนี้อีกเลย ลาภก็ดี ยศก็ดี สรรเสริญก็ดีที่คนอื่นอาจจะนำมาให้ ก็เป็นแต่เพียงชั่วชาตินี้ ชาติหน้า จะเป็นใครก็ไม่ทราบได้ แต่กระนั้นก็ยังมีความสำคัญในตน
แนวทางเจริญวิปัสสนา เล่ม ๑๗๐ ตอนที่ ๑๖๙๑ – ๑๗๐๐
เรียบเรียงอักษรให้อยู่ในรูปแบบหนังสือ โดยมีเนื้อหาใจความสำคัญครบถ้วน
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1686
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1687
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1688
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1689
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1690
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1691
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1692
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1693
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1694
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1695
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1696
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1697
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1698
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1699
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1700
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1701
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1702
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1703
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1704
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1705
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1706
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1707
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1708
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1709
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1710
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1711
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1712
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1713
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1714
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1715
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1716
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1717
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1718
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1719
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1720
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1721
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1722
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1723
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1724
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1725
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1726
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1727
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1728
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1729
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1730
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1731
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1732
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1733
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1734
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1735
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1736
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1737
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1738
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1739
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1740
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1741
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1742
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1743
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1744
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1745
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1746
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1747
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1748
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1749
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1750
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1751