แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1752


    ครั้งที่ ๑๗๕๒


    สาระสำคัญ

    การเจริญสมถภาวนา

    ขุ. ยสทัตตเถรคาถา - คนมีปัญญาทรามคิดจะยกโทษ

    จุดประสงค์ของการฟังพระธรรม - เพื่อขัดเกลากิเลสและเพื่อเข้าใจพระธรรม

    จดหมายจากศรีประจันต์ จ. สุพรรณบุรี - เรื่องของการเจริญสติปัฏฐานและความเข้าใจเรื่องสังฆทาน


    ที่ห้องประชุมตึกสภาการศึกษามหามกุฏราชวิทยาลัย

    วันอาทิตย์ที่ ๑๐ มกราคม ๒๕๓๑


    สุ. ต้องเข้าใจว่า เจริญสมถภาวนาเพราะเห็นอกุศลมากในชีวิตประจำวัน ผู้ที่เห็นโทษของอกุศล ย่อมเพียรที่จะให้กุศลจิตเกิดโดยการที่มีปัญญารู้ว่า ตรึก คือวิตกเจตสิกต้องตรึกถึงอารมณ์อะไรที่จะทำให้จิตสงบได้ ซึ่งในขณะที่จิตสงบเป็นกุศลสติสัมปชัญญะจะต้องรู้ว่า ขณะนี้เป็นกุศล เป็นจิตที่สงบ และเวลาที่มีอกุศลประเภทหนึ่งประเภทใดเกิดแทรก สติสัมปชัญญะจะรู้เพื่อขจัดนิวรณธรรมเหล่านั้นออกไป จนกว่ากุศลนั้นจะตั้งมั่น

    เช่น กามฉันทะนิวรณ์ ความพอใจในรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะมีมาก ในชีวิตประจำวัน และยังไม่ได้ดับเป็นสมุจเฉท เพราะฉะนั้น เวลาที่กุศลจิตเกิด ระลึกถึงอารมณ์ที่ทำให้จิตสงบนิดหนึ่งและดับ กามฉันทะนิวรณ์ ความพอใจ ในรูปบ้าง ในเสียงบ้าง ในกลิ่นบ้าง ในรสบ้าง ในโผฏฐัพพะบ้าง หรือแม้การคิดนึกถึงรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะด้วยความยินดีพอใจในขณะนั้นก็เป็นอกุศล สติสัมปชัญญะจะต้องไวและต้องรู้ว่ามีอกุศลธรรมใดเกิดขึ้นแทรก และวิตก วิจารเจตสิกต้องเป็นองค์ของฌานที่ทำให้จิตตั้งมั่นที่อารมณ์ที่จะทำให้สงบจริงๆ ได้เพิ่มขึ้น โดยที่ว่านิวรณธรรมทั้งหลายจะไม่มีโอกาสแทรกคั่นได้ เพราะฉะนั้น สติสัมปชัญญะต้องไวที่จะรู้ลักษณะที่ต่างกันของกุศลจิตและอกุศลจิต มิฉะนั้นแล้วกุศลจิตจะเพิ่มมั่นคงสงบจนกระทั่งถึงสมาธิขั้นต่างๆ ไม่ได้

    ผู้ฟัง ที่กระผมเรียนนี่ เพราะว่าในขณะที่นั่งเจริญสมาธินั้น ...

    สุ. ขอทราบนิดหนึ่งว่า ทำอย่างไร

    ผู้ฟัง คือ ได้เจริญว่า หายใจเข้าพุท หายใจออกโธ และจากการศึกษามาเล็กๆ น้อยๆ ว่า พุทโธหมายถึงผู้รู้ ผู้เบิกบาน คือ หมายถึงพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ซึ่งได้ทรงตรัสรู้ นำพระธรรมคำสั่งสอนมา มีพระเมตตาคุณ พระกรุณาธิคุณ พระปัญญาธิคุณ ผมได้เจริญลักษณะอย่างนั้นมา แต่เมื่อเริ่มมาฟังอาจารย์ผมก็ เข้าใจว่า การเจริญสมาธิอย่างนั้นส่วนใหญ่แล้วเกือบเก้าสิบเก้าเปอร์เซ็นต์จะไม่รู้เลยว่า ขณะไหนเป็นกุศล ขณะไหนเป็นอกุศล ถ้าวันนี้เกิดจิตตั้งมั่น และมีความสบาย ไม่เมื่อย ก็รู้สึกพึงพอใจ ในขณะนั้นไม่รู้เลยว่า โลภะกำลังเข้ามา ขณะใดที่นั่งแล้ว ไม่พอใจ ได้ยินเสียงหรือได้กลิ่นอะไรที่ไม่พอใจ ก็รู้สึกไม่พอใจโดยไม่รู้ตัวเลยว่า ในขณะนั้นเป็นอย่างไร

    จากการที่ได้มาฟังอาจารย์แล้วก็รู้ว่า สติสัมปชัญญะในชีวิตประจำวัน ตั้งแต่เช้ามาจนกระทั่งหลับไป ถ้าเราได้อบรมเจริญกุศล ละอกุศลในชีวิตประจำวันบ่อยๆ ผมคิดว่าน่าจะเป็นเหตุเป็นปัจจัยอันหนึ่ง

    ขณะที่นั่งสมาธิ ถ้าสติสัมปชัญญะเกิดขึ้นและรู้ว่าเป็นกุศลหรืออกุศล ขณะนั้นผมคิดว่าสามารถที่จะน้อมพิจารณาได้ว่า ขณะที่เป็นอกุศลเรานั้นจะเจริญอย่างไร ในสมถะกรรมฐาน ๔๐ วิธีที่จะเจริญให้เป็นกุศล ผมคิดอย่างนี้ ที่ผมฟังอาจารย์มา ในชีวิตประจำวันถ้าเพียงแต่คิดถึงคนที่ไม่ชอบหน้าสักคนหนึ่งก็โกรธ ไม่พอใจแล้ว หายใจขัดข้อง อึดอัดเร่าร้อนมีความขุ่นข้องหมองใจ ถ้าคิดอย่างนี้เราจะไปเจริญ สมถะกรรมฐานได้หรือ

    สุ. จะเจริญกรรมฐานไหน จึงจะหายเร่าร้อนในขณะที่กำลังคิดถึงคนนั้นและขุ่นใจ

    ผู้ฟัง ผมก็คิดอย่างนั้น ถ้าในชีวิตประจำวัน .....

    สุ. ต้องรู้ว่าเป็นกรรมฐานไหน ต้องตรง ถ้าไม่ตรงไม่สามารถละความ เร่าร้อนนั้นได้ ต้องเป็นปัญญาแล้ว ใช่ไหม เพราะฉะนั้น ขอเรียนถามว่า จะเจริญกรรมฐานไหน

    ผู้ฟัง ผมเข้าใจว่า ถ้าเป็นลักษณะนี้ น่าที่จะน้อมใจพิจารณาเจริญในเรื่องเมตตา ขณะนี้ถ้าผมนึกถึงคนอื่น คนที่ชอบใจก็ยังดี ยังพอไหว แต่คนที่ไม่ชอบ เพียงแต่ไม่ชอบใจอย่างเดียว คนที่เราไม่เคยรู้จัก ไม่เคยเห็นหน้าเลย เพียงแต่ว่าหน้าตาหรือลักษณะท่าทางเขาดูไม่ถูกใจ เพียงเท่านี้ก็เกิดโทสะแล้ว เราจะเจริญเมตตาเพื่อน้อมพิจารณาในเรื่องเมตตาได้อย่างไร ผมจึงคิดว่า ที่แล้วๆ มาผมคงเจริญอกุศลธรรมมาตลอด

    สุ. ถ้าไม่เข้าใจจริงๆ ว่า เมตตาเป็นสภาพธรรมที่ตรงกันข้ามกับโทสะ ก็จะไม่คิดเจริญเมตตา เพราะว่าเมตตาไม่ใช่ว่าจะเกิดง่าย แต่ก็ไม่เหลือวิสัย ถ้าเป็น ผู้ที่เห็นประโยชน์ของกุศลธรรมและเห็นโทษของอกุศลธรรมจริงๆ จะรู้ว่า ถ้ายังคงมีอกุศลมากมาย การดับกิเลสเป็นสมุจเฉทก็ยากแสนยากที่จะเป็นไปได้ เพราะฉะนั้น เรื่องของการฟังพระธรรมเป็นเรื่องที่ละเอียดจริงๆ ที่จะต้องฟังและพิจารณาใคร่ครวญไตร่ตรองเพื่อประโยชน์อันแท้จริง

    ขอกล่าวถึงคาถาของท่านพระเถระท่านหนึ่ง

    ขุททกนิกาย ยสทัตตเถรคาถา ข้อ ๓๔๔ ท่านกล่าวว่า

    คนมีปัญญาทราม คิดจะยกโทษ

    ยกโทษ คือ กล่าวถึงหรือแสดงโทษของคนอื่น ไม่ใช่ให้อภัย

    ฟังคำสอนของท่านผู้ชนะมาร ย่อมเป็นผู้ไกลจากสัทธรรม เหมือนฟ้ากับดินฉะนั้น

    ทุกท่านกำลังฟังพระสัทธรรม และก็ฟังมาแล้วหลายชาติ ไม่ใช่ชาตินี้ชาติเดียว แต่ขอให้คิดถึงความละเอียดว่า ท่านฟังพระธรรมเพื่ออะไร ถ้าฟังเพื่อขัดเกลากิเลส ถูก แต่ถ้าฟังเพื่ออย่างอื่น เพราะบางท่านฟังพระธรรมแบบร้อนๆ ก็มี คือ กังวลๆ ห่วงๆ เรื่องนี้ก็ไม่เข้าใจจะต้องรู้ ถ้าไม่รู้จะไม่เก่ง หรืออะไรอย่างนั้น ก็ไม่ได้เข้าใจ จริงๆ ว่า แท้ที่จริงแล้วจุดประสงค์ของการฟังพระธรรม คือ กุศลจิตเกิด และขณะใดที่เป็นกุศล ขณะนั้นไม่มีการเร่าร้อน ไม่มีการกระสับกระส่ายกระวนกระวาย สิ่งใดที่ยังไม่เข้าใจก็ค่อยๆ พิจารณาในเหตุผลทีละเล็กทีละน้อย พร้อมกับ เจริญสติปัฏฐาน เพราะถ้าอยากจะเข้าใจเรื่องของฉันทะ เรื่องของโลภะ เรื่องของ ตัตรมัชฌัตตตา หรือเรื่องของโทสะ หรือเรื่องของสภาพธรรมใดๆ ก็ตาม หนทางเดียวที่จะเข้าใจชัดและแตกละเอียดย่อยออกไปทั้งหยาบ ทั้งกลาง ทั้งละเอียดนั้น ก็ด้วย สติที่ระลึกลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ และความแตกฉานก็จะแตกออกไปได้อีกหลายบท ด้วยปัญญาที่รู้ชัดในลักษณะของสภาพธรรมในขณะนั้น ไม่ใช่เพียงแต่ฟังและรีบร้อนที่อยากจะมีความรู้มากๆ

    เพราะฉะนั้น แม้ในเรื่องการฟังพระสัทธรรม ท่านพระยสทัตตเถระก็ได้กล่าวว่า คนมีปัญญาทราม คิดจะยกโทษ ฟังคำสอนของท่านผู้ชนะมาร ย่อมเป็นผู้ไกลจากสัทธรรม เหมือนฟ้ากับดินฉะนั้น

    เทียบตัวเองแต่ละภพแต่ละชาติที่จะต้องค่อยๆ ขัดเกลากิเลสไปเรื่อยๆ จนกว่าการฟังนั้นจะเป็นจุดประสงค์ที่ถูกต้องจริงๆ

    ข้อความต่อไป ท่านกล่าวว่า

    คนมีปัญญาทราม คิดจะยกโทษ ฟังคำสอนของท่านผู้ชนะมาร ย่อมเสื่อมจากสัทธรรม เหมือนพระจันทร์ข้างแรมฉะนั้น

    มีหลายลักษณะที่จะเปรียบเทียบให้เห็น ถ้าฟังโดยลักษณะที่เป็นอกุศล คิดจะยกโทษ ก็ย่อมเป็นผู้ที่เสื่อมจากสัทธรรม คือ ไม่พยายามเข้าใจพระธรรมให้ตรง ให้ถูกต้องในเหตุในผล แต่ฟังเพื่อให้ตรงกับความคิดของตนเอง หรือความเข้าใจของตนเอง โดยไม่ได้คิดว่าผู้ที่รู้มากกว่าตนเป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า เพราะฉะนั้น สิ่งใดที่ทรงแสดงไว้โดยละเอียดก็ควรที่จะศึกษาให้เข้าใจ เพื่อจะได้ไม่คิดในทางที่ ไม่ถูกต้อง หรือพยายามคิดให้พระธรรมตรงกับความเห็นของตนเอง มิฉะนั้นแล้ว จะเหมือนพระจันทร์ข้างแรม คือ มืดลง มืดลง เป็นอกุศลเพิ่มขึ้น

    ข้อความต่อไป ท่านกล่าวว่า

    คนมีปัญญาทราม คิดจะยกโทษ ฟังคำสอนของท่านผู้ชนะมาร ย่อมเหี่ยวแห้งในสัทธรรม เหมือนปลาในน้ำน้อยฉะนั้น

    คือ ฟังแล้วไม่เบิกบาน เพราะว่าไม่เข้าใจและไม่ตรงกับความคิดของตนเอง เพราะฉะนั้น จะเห็นได้ว่า ผู้ที่ฟังแล้วพิจารณา และเข้าใจพระธรรมในขณะใด จะเบิกบานในขณะนั้น พร้อมกับปัญญาที่ปีติในความเข้าใจพระธรรมได้ถูกต้อง

    ท่านผู้ฟังสังเกตดู เวลาฟังพระธรรมแล้วเข้าใจ จะเกิดความเบิกบานปีติ เป็นกุศลที่ได้เข้าใจถูก ไม่ใช่ว่าได้เป็นผู้ที่รู้มากๆ แต่เป็นผู้ที่ได้เข้าใจถูก

    ถ้าฟังพระธรรมแล้วเหี่ยวแห้งในสัทธรรม ก็รู้ได้ว่าขณะนั้นเป็นอกุศล จะต้องมีอะไรสักอย่างที่แอบแฝงอยู่ทำให้ไม่เบิกบาน ซึ่งนั่นเป็นผู้มีปัญญาทราม

    ข้อความต่อไป ท่านกล่าวว่า

    คนมีปัญญาทราม คิดจะยกโทษ ฟังคำสอนของท่านผู้ชนะมาร ย่อมไม่ งอกงามในสัทธรรม เหมือนพืชเน่าในไร่นาฉะนั้น

    จะเจริญในสัทธรรมไม่ได้เลยเพราะจุดประสงค์ผิด ไม่ได้เป็นไปเพื่อการขัดเกลากิเลส เพราะฉะนั้น บางท่านฟังแล้วก็เพียงฟัง แต่ไม่ประพฤติปฏิบัติตาม และกล่าวว่าทำไม่ได้ ซึ่งความจริงก็ถูก ทำไม่ได้แน่ แต่เมื่อฟังแล้วปัญญาเกิดเมื่อไหร่ ปัญญาปฏิบัติกิจของปัญญา คือ ความเข้าใจถูกเป็นโยนิโสมนสิการ แต่ถ้าฟังแล้วเพียงฟัง และไม่เข้าใจ จะให้ไปละกิเลสใดๆ จะให้ไม่โกรธ จะไม่ให้เป็นอย่างนั้น จะไม่ให้ เป็นอย่างนี้ ก็เป็นไปไม่ได้ เพราะฉะนั้น ต้องทราบเหตุผลตามความเป็นจริงว่า ที่จะงอกงามในพระสัทธรรมได้ ต้องเป็นผู้ที่ฟังเพื่อขัดเกลากิเลสและเพื่อเข้าใจ พระธรรม

    ก็เป็นประโยชน์มากสำหรับคาถาของพระอรหันต์ที่ท่านได้ประจักษ์ชัดเจน กว่าปัญญาจะเจริญถึงขั้นที่จะดับกิเลสได้ จะต้องเป็นผู้ที่ตรง

    ข้อความต่อไป ท่านกล่าวว่า

    ส่วนผู้ใดมีจิตอันคุ้มครองแล้ว ฟังคำสอนของท่านผู้ชนะมาร ผู้นั้นทำ อาสวะทั้งปวงให้สิ้นไป ทำให้แจ้งซึ่งธรรมะอันไม่กำเริบ พึงได้บรรลุความสงบ อย่างยอดเยี่ยม เป็นผู้ไม่มีอาสวะ ย่อมปรินิพพาน

    ไม่ว่าจะเป็นคาถาของพระอรหันต์ท่านใดก็เป็นประโยชน์ ทำให้ตรวจสอบจิตใจของตนเองอย่างละเอียด เพราะว่ามีความซับซ้อนลึกซึ้งของการสะสมทั้งกุศล และอกุศลซึ่งเกิดสลับแทรกได้ แม้ว่าเป็นผู้ที่ฟังพระธรรม

    . ร้องไห้เป็นกรรมหรือเปล่า

    สุ. ขณะที่ร้องไห้มีความรู้สึกดีใจหรือเสียใจ

    . เสียใจก็ได้ ดีใจก็ได้

    สุ. เพราะฉะนั้น เป็นจิตประเภทหนึ่งซึ่งต้องเป็นอกุศล เป็นทุมนัส เพราะว่าขณะนั้นเป็นจิตเสีย เป็นสภาพที่ไม่ดี

    . เป็นอกุศลกรรม ใช่ไหม

    สุ. เป็นอกุศลจิต ไม่ใช่อกุศลกรรมบถ ๑๐

    . เพราะว่าเป็นกรรม

    สุ. เป็นอกุศลจิต

    . ไม่ใช่กรรม ใช่ไหม

    สุ. เวลาที่เห็นของสวยๆ ชอบ เป็นกรรมหรือเปล่า ไม่ควรจะถามเป็น เรื่องๆ และให้ตอบ แต่ต้องพิจารณาเองให้เข้าใจว่า กุศลจิตคืออย่างไร กุศลกรรม คืออย่างไร อกุศลจิตคืออย่างไร อกุศลกรรมเป็นอย่างไร เพราะถ้าเป็นโดยลักษณะนี้จะถามไม่จบ แต่ถ้าเข้าใจว่า ปกติธรรมดาเวลาที่อกุศลจิตเกิดซึ่งยังไม่มีกำลังที่จะ เป็นเจตนาที่ล่วงทุจริตกรรมทางกาย ๓ ทางวาจา ๔ ทางใจ ๓ ขณะนั้นก็ไม่ชื่อว่า เป็นอกุศลกรรม

    . หนูแย้งเขาแล้วว่าไม่เป็นกรรม ถามเขาว่ามีเจตนาหรือเปล่าเวลาร้องไห้ เขาบอกว่ามีเจตนา

    สุ. มีเจตนาที่เป็นอกุศลกรรมบถหรือเปล่า เพราะทุกคนก็รู้เรื่องอกุศลกรรมบถ ๑๐ ใช่ไหม กายกรรม ๓ ขณะนั้นมีหรือเปล่า วจีกรรม ๔ มีหรือเปล่า มโนกรรม ๓ มีหรือเปล่า ถ้าไม่มีก็ไม่ใช่อกุศลกรรมบถ

    . เขาว่ามีเจตนา เขาคงหมายเอามโนกรรม

    สุ. เจตนาที่เกิดกับวิบากจิตเป็นกรรมหรือเปล่า เป็นสหชาตกรรมปัจจัย ถ้าพูดถึงความละเอียดต้องพูดให้ความละเอียดลงไปว่า หมายความถึงเจตนา ระดับไหน ถ้าเป็นระดับสหชาตกรรม หมายความถึงเจตนาเจตสิกซึ่งเกิดกับจิตทุกดวง เกิดพร้อมจิต ดับพร้อมจิต แต่เนื่องจากเจตนาเจตสิกเป็นสภาพที่จงใจกระทำ เพราะฉะนั้น เจตนานั่นเองเป็นกรรมปัจจัย เป็นสภาพที่จงใจกระทำ ถ้าเกิดกับกุศลจิต เจตนานั้นก็เป็นกุศล ถ้าเกิดกับอกุศลจิตเจตนานั้นก็เป็นอกุศล ถ้าเกิดกับวิบากจิตเจตนานั้นก็เป็นวิบาก ถ้าเกิดกับกิริยาเจตนานั้นก็เป็นกิริยา และต้องเข้าใจด้วยว่าหมายความถึงกรรมไหน เพราะว่ากรรมมีสอง คือ สหชาตกัมมะอย่างหนึ่ง และนานักขณิกกัมมะอย่างหนึ่ง

    สหชาตกัมมะ ได้แก่ เจตนาเจตสิกซึ่งเกิดกับจิตทุกดวง ดับพร้อมจิต ซึ่งอาศัยเจตนานั้นเกิดร่วมกันเป็นสหชาตะ

    นานักขณิกกัมมะ หมายความว่าเมื่อเจตนานั้นดับแล้วเป็นปัจจัยให้จิตและเจตสิกที่เป็นวิบากเกิดขึ้น เป็นการให้ผลต่างขณะ จึงชื่อว่านานักขณิกกัมมะ เพราะฉะนั้น ก็ถามเขาว่า เข้าใจว่าอย่างไร ถ้าบอกว่าเป็นกรรม เป็นกรรม ประเภทไหน เป็นกรรมที่เป็นสหชาตะ หรือเป็นกรรมที่เป็นนานักขณิกะ

    . หนูรู้สึกว่าหนูเคยฟังอาจารย์แล้ว ที่ว่าฆ่าคนอื่นหรือฆ่าตัวเอง อย่างไหนบาปมากกว่า ให้หลวงลุงเฉลย หลวงลุงบอกว่า ฆ่าคนอื่นบาปมากกว่า

    สุ. ตอบเองได้ ใช่ไหม ถ้าจะตอบว่า มากกว่า น้อยกว่า เพียงสั้นๆ ความเข้าใจในเรื่องสภาพธรรมแจ่มแจ้งไหม นี่เป็นสิ่งที่สำคัญกว่า ถ้ามีความเข้าใจสภาพธรรมถูกต้อง ไม่ว่าจะมีปัญหาธรรมใดๆ ก็มีหลักที่จะวินิจฉัย แต่ถ้ายังไม่เข้าใจธรรม มีปัญหาธรรมมา บางครั้งจะพิจารณาโดยขาดหลักได้ และต่างคนก็ต่าง ความคิดเห็น

    . พยามยามหาเหตุผลอ้างหลายอย่าง แต่ก็ไม่ตกลง

    สุ. เขาไม่ตกลง ก็เรื่องของการไปเปลี่ยนแปลงความคิดเห็นของเขาไม่ได้

    มีจดหมายฉบับหนึ่ง ซึ่งถ้าท่านผู้ฟังจะแสดงความคิดเห็นอนุเคราะห์ท่านที่ถามก็คงเป็นประโยชน์มาก เพราะเข้าใจว่าดิฉันก็ได้เคยบรรยายไปแล้ว

    ท่านผู้ฟังเขียนมาจากศรีประจันต์ สุพรรณบุรี วันที่ ๑๕ มกราคม ๒๕๓๑ เขียนมาถึงคุณดวงเดือน

    คุณดวงเดือนที่นับถือ ผมได้ส่งเงินมาให้มูลนิธิสองร้อยบาทเพื่อกิจกรรมเผยแพร่พระพุทธธรรมของมูลนิธิ หนังสือที่คุณดวงเดือนกรุณาส่งไปให้ผมนั้น มีคุณประโยชน์แก่ผมมากจริงๆ ผมพอจะเข้าใจความละเอียดลึกซึ้งของธรรมะในแง่ของการปฏิบัติขึ้นบ้างหลังจากที่ได้ฟังคำบรรยายทางวิทยุของอาจารย์สุจินต์ และ ได้อ่านหนังสือนี้ประกอบ แต่บางเรื่องก็ยังไม่ค่อยเข้าใจ เช่น การเจริญสติ พอตาเห็นก็กำหนดว่าเป็นนาม สิ่งที่เห็นก็เป็นรูป ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่คน พอเห็นไก่หรือนก ก็กำหนดเช่นเดียวกัน ไม่ใช่สัตว์ เป็นแต่เพียงนามรูปเท่านั้น

    เมื่อเป็นเช่นนี้ การฆ่าสัตว์ การทำร้ายสัตว์ก็ไม่บาป เพราะเห็นคน เช่น บิดามารดาก็เป็นเพียงนามรูปเท่านั้น ทำอะไรก็ได้ เห็นเช่นนี้ต้องผิดแน่ๆ อย่างไรครับ

    อีกเรื่องหนึ่ง การถวายสังฆทาน ทั่วๆ ไปก็รู้กันว่า ถวายสังฆทานได้บุญมาก อาจารย์สุจินต์ท่านเคยบรรยายว่า ถ้านึกเช่นนั้นก็เป็นโลภมูลจิต เป็นอกุศล จะคิดอย่างไรครับ ในทางปฏิบัติก็เห็นไปนิมนต์พระองค์เดียวมารับสังฆทานที่บ้าน อย่างนี้จะเป็นสังฆทานไหม เพราะพระท่านว่า สงฆ์ต้อง ๔ รูปขึ้นไป แต่ผมฟังท่านอาจารย์ว่า แม้สามเณรก็เป็นสงฆ์ได้ (ข้อนี้ไม่แน่ใจ อาจฟังผิดก็ได้) ขอความกรุณาคุณดวงเดือน ช่วยอธิบายเรื่องการถวายสังฆทานที่ถูกต้องให้ผมทราบด้วยนะครับ ขอขอบพระคุณ อาจารย์สุจินต์ท่านคงไม่มีเวลา

    ขอแสดงความนับถือ

    มีท่านผู้ฟังที่จะเกื้อกูลให้ท่านผู้ฟังท่านนี้ได้เข้าใจเพิ่มขึ้นไหม ในเรื่องของการเจริญสติ และในเรื่องของสังฆทาน



    คำบรรยายคัดลอกจาก E-book
    แนวทางเจริญวิปัสสนา เล่ม ๑๗๖ ตอนที่ ๑๗๕๑ – ๑๗๖๐
    เรียบเรียงอักษรให้อยู่ในรูปแบบหนังสือ โดยมีเนื้อหาใจความสำคัญครบถ้วน

    Tag  กรรมฐาน  กลาป  กสิณ  กสิณ ๑๐  กัมมสกตาญาณ  กามฉันทะนิวรณ์  กามาวจรจิต  กายกรรม ๓  กาลสมบัติ  กุศลจิต  กุศลศีล  ขณิกมรณะ  ขันธ์ ๕  คืออัตตสัญญา  จักขุปสาท  จิต  ฉฬังคุเปกขา  ฉันทะ  ฌานจิต  ญาณสัมปยุตต์  ตัตตรมัชฌัตตตา  ทักขิไนยบุคคล  ทิฏฐิเจตสิก  ทุกขลักษณะ  ทุมนัส  ทุศีล  ธัมมฐิติญาณ  ธาตุ  นานักขนิกกรรม  นามขันธ์  นามขันธ์ ๔  นามธรรม  นามรูปปริจเฉทญาณ  นามรูปววัฏฐานะ  นิจจสัญญา  นิพพิทานุปัสสนาญาณ  นิวรณธรรม  บัญญัติ  ปกิณณกเจตสิก  ปฏิสังขาญาณ  ปฐวีกสิณ  ปฐวีธาตุ  ปรมัตถธรรม  ประจักษ์  ประจักษ์แจ้ง  ปรินิพพาน  ปรินิพาน  ปริยัติ  ปสาทสูตร  ปัจจยปริคคหญาณ  ปัจจัย ๒๔  ปุถุชน  พรหมวิหาร  พรหมวิหารุเปกขา  พระนิพพาน  พระพุทธพจน์  พระยสทัตตเถระ  พระรัตนตรัย  พระสกทาคามีบุคคล  พระอนาคามีบุคคล  พระอรหันต์  พระอริยบุคคล  พระโสดาบันบุคคล  พหูสูตร  ภยญาณ  ภวังคจิต  ภังคญาณ  ภัทเทกรัตตสูตร  มนสิการ  มรรคมีองค์ ๕  มรรคมีองค์ ๘  มรรควิถีจิต  มหากุศลญาณสัมปยุตต์  มหาบุรุษ  มหาภูตรูป  มหาภูตรูป ๔  มัชฌิมาปฏิปทา  มิจฉาทิฏฐิ  มิจฉาสมาธิ  มุญจิตุกัมมยตาญาณ  มโนกรรม ๓  มโนทวาร  ยสทัตตเถรคาถา  รูปธรรม  รูปารมณ์  รูปาวจรจิต  รู้แจ้ง  วจีกรรม ๔  วัณณรูป  วิจาร  วิจารเจตสิก  วิตก  วิตกเจตสิก  วิบาก  วิปัญจิตัญญูบุคคล  วิปัสสนา  วิปัสสนาญาณ  วิปัสสนาญาณที่ ๑  วิปัสสนาภาวนา  วิราคธรรม  วิราคะ  วิริยารัมภกถา  วิริยุเปกขา  วิสมโลภะ  วุฏฐานคามณีปัญญา  สติปัฏฐาน  สติสัมปชัญญะ  สมถกัมมัฏฐาน ๔๐  สมถภาวนา  สมถะ  สมมติมรณะ  สมุจเฉท  สมุฏฐาน  สมโลภะ  สหชาตกรรมปัจจัย  สังขตธรรม  สังขารขันธ์  สังขารธรรม  สังขารุเปกขา  สังขารุเปกขาญาณ  สังสารวัฏฏ์  สัญญาเจตสิก  สัทธรรม  สัมมสนญาณ  สัมมากัมมันตะ  สัมมาทิฏฐิ  สัมมาทิฐิ  สัมมามรรค  สัมมาวาจา  สัมมาวายามะ  สัมมาสติ  สัมมาสมาธิ  สัมมาสังกัปปะ  สัมมาอาชีวะ  สาสตสัมปชัญญะ  สีลัพพตปรามาส  สีลัพพตปรามาสกายคันถะ  หิริ  อกุศลกรรมบถ  อกุศลกรรมบถ ๑๐  อกุศลจิต  อกุศลศีล  อคติ  อนัตตา  อนุสติ  อริยบุคคล  อริยมรรคมีองค์ ๘  อริยสัจจธรรม  อวิชชา  อสังขตธรรม  อัตตสัญญา  อาทีนวญาณ  อานาปานสติ  อาสวะ  อาสีวิสสูตร  อุคฆติตัญญูบุคคล  อุทยัพพยานุปัสสนาญาณ  อุปจารสมาธิ  อุเบกขา ๑๐  เจตนาเจตสิก  เจตสิก  เมตตา  เหตุปัจจัย  เอกัคคตาเจตสิก  โพชฌังคุเปกขา  โยนิโสมนสิการ  โลกุตรฌาน  โลภะ  โสภณเจตสิก  โอตตัปปะ  ไตรลักษณะ  
    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 96
    28 ธ.ค. 2564