แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1763
ครั้งที่ ๑๗๖๓
สาระสำคัญ
การอบรมสมถภาวนา (ความสงบจะต้องประกอบด้วยปัญญา)
เข้าใจลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏเพิ่มขึ้น
ตัตตรมัชฌัตตตา (สภาพที่ไม่หวั่นไหวเป็นกลาง)
โลภะหรือฉันทะ
ขุ.อิติ.ปสาทสูตร - ความเลื่อมใสอันเลิศ ๓ ประการ
ที่ห้องประชุมตึกสภาการศึกษามหามกุฏราชวิทยาลัย
วันอาทิตย์ที่ ๒๑ กุมภาพันธ์ ๒๕๓๑
ถ. ใช่ ในขณะนั้นต้องมีโทสะเพราะไม่พอใจในความฟุ้งซ่าน ถ้ายังไม่เข้าใจเรื่องของสมถะ เช่น เรื่องของสมาธิ และไปหามาอีก อย่างนั้นจะแก้ไขได้ไหม
สุ. ถ้าเป็นความสงบ เป็นการอบรมเจริญสมถภาวนา ต้องประกอบด้วยปัญญา เพราะขณะใดกุศลจิตเกิดขณะนั้นสงบ เพราะฉะนั้น การที่จะรู้ได้ คือ สติสัมปชัญญะเกิดและพิจารณาลักษณะสภาพของจิตว่า ในขณะนั้นสงบเพราะอะไร หรือเพียงแต่ตั้งมั่นชั่วคราวไม่ฟุ้งซ่านเท่านั้น แต่ไม่ใช่ลักษณะของกุศลจิตซึ่งสงบ
ถ. ผู้ที่เจริญฌานโดยไม่เจริญสติปัฏฐาน ก่อนที่ฌานจะเกิดขึ้น แน่นอนเขาย่อมไม่รู้ลักษณะของสภาพธรรมที่เป็นกุศล อกุศล ...
สุ. ผู้ที่เจริญสมถภาวนาต้องรู้ลักษณะของนิวรณธรรมซึ่งเป็นอกุศล มิฉะนั้นแล้ววิตกเจตสิก วิจารเจตสิก ก็ไม่ได้กระทำกิจที่จะละนิวรณธรรมเหล่านั้น แต่เพราะสติสัมปชัญญะของผู้อบรมเจริญสมถภาวนาต้องเป็นผู้ที่ประกอบด้วยปัญญา จึงรู้ขณะจิตที่เป็นอกุศล และรู้ว่าที่จะสงบเพราะวิตกวิจารเจตสิกระลึกอย่างไร มนสิการอย่างไรจิตจึงสงบ ไม่ใช่เพียงแต่ให้จิตตั้งมั่นเท่านั้นด้วยความไม่รู้ ด้วยการปราศจากปัญญา เช่น ผู้ที่กำลังฟุ้งซ่านและอยากสงบ ก็ท่องสิ่งหนึ่งสิ่งใดก็ได้ คำไหนก็ได้
เรื่องของการทำสมาธิ ไม่ได้มีแต่เฉพาะในพระพุทธศาสนา ชาติอื่นทุกชาติ มีการทำสมาธิทั้งนั้น เพราะฉะนั้น จะต้องพิจารณาว่า สมาธิแต่ละแบบซึ่งทำกันนั้น เป็นมิจฉาสมาธิ หรือเป็นสัมมาสมาธิ ไม่ว่าจะเป็นชาวพุทธ หรือจะนับถือศาสนาใด ก็ตาม เช่น ข้อปฏิบัติที่กำลังเป็นที่นิยมก็มี ที่ใช้พยางค์หนึ่งและให้ท่อง แต่คนที่จะได้พยางค์นั้น ต้องไปหาอาจารย์ท่านนั้นเพื่อให้ท่านมอบพยางค์หนึ่งให้โดยไม่บอกใครเลย และท่องพยางค์นั้นไปเรื่อยๆ เขาก็บอกว่าจิตของเขาสงบ ทำให้ร่างกายสดชื่น มีกำลังแข็งแรงดี เพราะว่าเป็นนักธุรกิจซึ่งมีธุระมากมาย มีเรื่องวุ่นวายไม่สงบ ในขณะที่เขากำลังท่องพยางค์หนึ่งพยางค์ใด เขาเข้าใจว่าสงบ แต่ผู้ที่ศึกษาในเหตุ ในผลก็รู้ได้ว่า ขณะนั้นเป็นสมาธิ แต่จะชื่อว่าเป็นกุศลได้ไหม จะชื่อว่าสงบได้ไหม เพียงการท่องสิ่งหนึ่งสิ่งใดนานๆ
ถ. ถ้าอย่างนี้ ก็เปรียบเหมือนกับเมื่อเกิดความทุกข์ และมีอกุศลจิต เช่น มีโลภะมากๆ หรือมีคนมานิยมชมชอบ หรือได้เงินได้ทองมากๆ และไปเที่ยวในที่ สุขสบาย ในขณะนั้นก็มีความสบายจริงๆ เหมือนกัน เป็นความสุขเหมือนกัน
สุ. เป็นกุศลหรือเปล่า
ถ. ไม่รู้
สุ. ก็ไม่เป็น เพราะฉะนั้น จะเห็นได้ว่า การเพียงท่องจะบอกว่าเป็นกุศล ก็ขาดเหตุผล มิจฉาสมาธิก็มี เรื่องของสมาธิเป็นเรื่องธรรมดา การที่จะให้จิตตั้งมั่น อยู่ที่พยางค์หนึ่งพยางค์ใด คำหนึ่งคำใด หรือสิ่งหนึ่งสิ่งใด ไม่ใช่เป็นเรื่องยาก อย่างจ้องดิน ใครๆ ก็จ้องได้ แต่จ้องดินแล้วเป็นกุศลอย่างไร หรือท่องคำหนึ่งคำใด ก็ได้ ไม่จำเป็นต้องเป็นคำว่า พุทโธ ชาวพุทธอาจจะใช้คำว่า พุทโธ แต่คนที่ไม่ใช่ ชาวพุทธก็ไปหาครูอาจารย์ที่สอนสมาธิ และเขาก็ให้พยางค์หนึ่งมา จะเป็นพยางค์อะไรก็เป็นความลับ และต้องเสียเงินด้วยตามระดับรายได้ของบุคคลนั้น และ บุคคลนั้นก็ไปนั่งท่องพยางค์นั้นอยู่เรื่อยๆ ซึ่งบางคนก็บอกว่า สงบมาก
เพราะฉะนั้น เพียงแต่บอกว่าสงบ และเราจะบอกว่าเป็นกุศล เป็นความสงบจริงๆ ได้ไหม ในเมื่อเขาไม่เข้าใจเหตุที่จะทำให้จิตสงบ ไม่รู้ว่าความสงบคือขณะที่ปราศจากโลภะ โทสะ โมหะ
ถ. เคยสนทนาเขาบอกว่า เขาทุกข์มาก เพราะเขามีโทสะ มีความกลัวบ้าง กลุ้มใจบ้าง แต่เพราะมาท่อง เขารู้สึกว่าเขาลืมเรื่องนั้นได้ เมื่อลืมเรื่องนั้นเขาก็บอกว่าสบายใจจริงๆ
สุ. ขณะนั้นอยากท่องไหม
ถ. อยาก
สุ. เป็นโลภะหรือเป็นปัญญาที่อยาก
ถ. แต่เขาก็บอกว่า จริงๆ ไม่ใช่ว่าจะสุขทุกครั้ง บางครั้งก็ไม่สุข บางครั้ง ก็สุข อย่างนี้ถ้าความอยากเจริญขึ้นมากๆ อะไรจะเกิดขึ้น
สุ. ความอยากเกิดมาก ความอยากก็เจริญ และติดในความอยากนั้นด้วย เพราะว่าลักษณะของความอยากเป็นลักษณะที่ต้องการ และติด แต่เรื่องของปัญญาเป็นเรื่องรู้แล้วละ นี่คือสิ่งที่ผิดกันมาก รู้แล้วละ ย่อมสงบ แต่อยาก และติด และพอใจ จะกล่าวว่าสงบได้อย่างไร
ถ. ต้องเกิดความคิดที่ถูกต้องอยู่บ่อยๆ เนืองๆ ในขณะที่มีอกุศล
สุ. การอบรมเจริญภาวนา ไม่ว่าจะเป็นสมถภาวนาก็ดี วิปัสสนาภาวนาก็ดี ต้องเจริญด้วยมหากุศลญาณสัมปยุตต์ คือ ต้องประกอบด้วยปัญญา ถ้าปราศจากปัญญา ก็เป็นมิจฉาสมาธิแน่นอน
ถ. บางครั้งเขาก็เอาผลของการอดข้าวได้ ไม่ต้องกินข้าวก็ได้วันสองวัน มาเป็นเครื่องพิสูจน์ว่า เกิดความสุขความปีติจนร่างกายสบายไม่ต้องกินข้าวก็ได้ อย่างนี้จะเป็นเครื่องวัดได้ไหมว่า บุคคลบางคนเจริญแล้ว ไม่รู้ตัวว่าเป็นกุศล แต่กุศลเกิดเสียจนตัวเขาสบาย
สุ. สบายเป็นกุศล หรือเป็นอกุศล
ถ. ถ้าเป็นเวทนา ก็ไม่ใช่ทั้งกุศลและอกุศล
สุ. เวทนาต้องเกิดร่วมกับจิต ถ้าเป็นการอบรมเจริญสมถภาวนา จะไม่ประกอบด้วยปัญญาได้ไหม
ถ. ไม่ได้
สุ. และขณะนั้นปัญญารู้อะไร
ถ. ไม่รู้
สุ. ถ้าไม่รู้ ก็ไม่ใช่ปัญญา
ถ. แสดงว่าปัญญานั่นเองที่จะเป็นเครื่องละกิเลสในขั้นสมถภาวนา แต่ยังมีความเป็นตัวตน
สุ. ปัญญาขั้นสมถะระงับอกุศลธรรม แต่ไม่สามารถดับเป็นสมุจเฉทได้ แต่ระหว่างที่เป็นมหากุศลญาณสัมปยุตต์ ขณะนั้นอกุศลธรรมไม่เกิด จนกระทั่งถึงขั้นของความสงบที่มั่นคงขึ้นเป็นสมาธิขั้นต่างๆ จนถึงขั้นฌานจิตที่เป็นรูปาวจรจึงข้ามพ้นจากสภาพของกามาวจรจิต ไม่มีการเห็น การได้ยิน การได้กลิ่น การลิ้มรส การคิดนึกเรื่องของรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ
ถ. นั่นคือความมั่นคงแล้ว
สุ. นั่นคือความมั่นคง เพราะว่าจิตขึ้นถึงขั้นรูปาวจรจิต เป็นจิตอีกภูมิหนึ่ง ซึ่งต้องประกอบด้วยปัญญา และก่อนที่จะถึงจิตภูมินั้นก็ต้องเป็นมหากุศลที่ประกอบด้วยปัญญาด้วย ทิ้งปัญญาไม่ได้เลย ถ้าเป็นการอบรมเจริญความสงบที่เป็นสมถภาวนา
ถ. สังขารุเปกขาญาณ คือ การวางเฉยที่เห็นสภาพธรรมต่างๆ ตามความเป็นจริงแล้ว ขณะนั้นวิปัสสนาญาณ คือ มหากุศลญาณสัมปยุตต์
สุ. แน่นอน
ถ. เวทนาต้องเป็นอุเบกขาด้วย ใช่ไหม
สุ. ไม่จำเป็น เพราะว่ามหากุศลญาณสัมปยุตต์เกิดกับโสมนัสเวทนาก็ได้ อุเบกขาเวทนาก็ได้
ถ. อุเบกขาเวทนา คือ การวางเฉย
สุ. มิได้ ตัตรมัชฌัตตตาเป็นโสภณเจตสิก เป็นสภาพที่ไม่หวั่นไหว เป็นกลาง ไม่ใช่ความรู้สึก
ถ. แสดงว่าที่เป็นสังขารุเปกขาญาณ เพราะตัตรมัชฌัตตตามีกำลังมาก
สุ. เพราะปัญญารู้ชัดในลักษณะของสภาพธรรมจึงไม่หวั่นไหว พร้อมที่จะประสบกับนามธรรมและรูปธรรมใดๆ ก็ได้ เพียงแต่ยังไม่สามารถประจักษ์ลักษณะของพระนิพพาน ซึ่งเป็นสภาพธรรมที่ละเอียดกว่าแม้ลักษณะของจิตประเภทต่างๆ แม้ว่าจะเป็นความสงบประเภทต่างๆ หรือเป็นอกุศลที่เป็นโมหมูลจิต หรือภวังคจิต ก็ยังเป็นสภาพรู้ เป็นธาตุรู้ เพราะฉะนั้น พระนิพพานเท่านั้นที่ต้องละเอียดกว่า เพราะว่าไม่ใช่แม้สภาพที่เกิดขึ้นรู้
ถ. ในขณะที่เป็นสังขารุเปกขาญาณ ขณะนั้นมีนิพพานเป็นอารมณ์ ใช่ไหม
สุ. ไม่มี แต่ก็รู้ว่าสังขารธรรมทั้งหลายไม่ใช่พระนิพพาน
ถ. ตัตรมัชฌัตตตากระทำกิจวางเฉยที่มีกำลัง ใช่ไหม คือ เข้าใจว่า ในขณะที่สังขารุเปกขาญาณเกิดขึ้น เวทนาจะต้องเป็นอุเบกขา
สุ. ไม่จำเป็น เพราะแม้แต่ผู้ที่ได้โลกุตตรฌาน เวทนาก็ต้องเกิดพร้อมด้วยโสมนัส เพราะว่าเป็นขั้นของปฐมฌาน
ก็ไม่ต้องเป็นห่วงเป็นใยอะไรทั้งสิ้น แม้แต่สติจะเกิดน้อยหรือว่าจะเกิดมาก ขอให้เข้าใจลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏเพิ่มขึ้น จนกว่าสติจะระลึกลักษณะที่เป็นปรมัตถธรรม เพราะว่าขณะนี้ก็เป็นปรมัตถธรรมนั่นเอง แต่ทำไมสติจึงไม่ระลึก ให้บ่อยๆ ก็เพราะว่ายังขาดความเข้าใจในลักษณะของสภาพธรรม ต่อเมื่อเข้าใจจนกระทั่งเพิ่มขึ้นจนชิน ก็ไม่มีอะไรที่จะกั้นไม่ให้สติเกิดระลึกได้ว่า แท้ที่จริงลักษณะของสภาพธรรมก็เพียงแต่เป็นลักษณะแต่ละลักษณะที่ปรากฏแต่ละทางเท่านั้นเอง
บางคนก็ยังสงสัยว่า ในขณะที่กำลังเห็นอย่างนี้ จะประจักษ์การเกิดขึ้นและ ดับไปได้อย่างไร ดูเหมือนว่าไม่มีทางที่จะเป็นไปได้เลย
สำหรับผู้ที่ยังไม่ประจักษ์ ก็ต้องคิดว่าเป็นไปไม่ได้ที่จะประจักษ์แจ้ง แต่ถ้าคิดถึงท่านที่เชื่อในหลักของวิทยาศาสตร์ เวลาที่เปิดไฟฟ้า กระแสไฟไม่ได้สว่าง อยู่ตลอดเวลา จะต้องมีช่วงที่ดับไปอย่างเร็วมากจนกระทั่งทำให้ปรากฏเหมือนกับสว่างอยู่ตลอดเวลา ก็ยังลวงให้เห็นว่าไม่มีการดับ ฉันใด ขณะนี้นามธรรมซึ่งกำลัง เกิดดับในขณะที่กำลังเห็น และก็มีการได้ยิน มีการคิดนึก มีภวังคจิตเกิดคั่น มีจิตประเภทต่างๆ เกิดดับ ก็ย่อมไม่ประจักษ์กับอวิชชา เพราะว่าสติไม่ได้ระลึก แม้รู้ว่ากำลังเห็นนี้ก็ไม่ใช่ตัวตน เป็นแต่เพียงธาตุชนิดหนึ่งซึ่งเป็นสภาพรู้ เป็นธาตุรู้ อาศัยเหตุปัจจัยเกิดและดับไป
เพราะฉะนั้น ทุกขลักษณะไม่ใช่อื่นเลย นอกจากการเกิดขึ้นและดับไปของสภาพธรรมที่เป็นสังขารธรรมนั่นเองจึงเป็นทุกข์ เพราะว่าไม่ใช่ตัวตน เกิดขึ้นเพราะ เหตุปัจจัยและก็ดับไปเท่านั้นเอง
บางท่านอาจจะเคยเบื่อ ซึ่งเป็นเรื่องที่จะต้องพิจารณาว่า ขณะที่เบื่อนั้น เป็นกุศลหรือเป็นอกุศล บางคนไม่รู้เลยว่า ก่อนที่จะได้ฟังพระธรรมแล้วก็เบื่อ ขณะนั้นเบื่อเพราะอะไร
ขอให้พิจารณาชีวิตของแต่ละคนจริงๆ ว่า ไม่พ้นการถูกครอบงำด้วย ความอยาก ความติด และความต้องการ คือ โลภะ สิ่งที่มีและเป็นที่พอใจ แต่ก็ ยังไม่พอ ยังต้องการสิ่งอื่น เพราะฉะนั้น ก็มีการเปลี่ยนทั้งสถานที่บ้าง เปลี่ยนสิ่งที่ จะดูจะเห็นบ้าง เปลี่ยนวัตถุเครื่องใช้ต่างๆ บ้าง เปลี่ยนเสื้อผ้า เปลี่ยนหลายอย่าง แม้แต่เปลี่ยนสีของที่อยู่ที่อาศัยก็ได้ แสดงให้เห็นว่า ถ้าไม่เบื่อจะเปลี่ยนไหม อะไร ทำให้ต้องเปลี่ยน เพราะความเบื่อ แต่ลักษณะของความเบื่อความซ้ำความจำเจ อย่างนั้น ไม่ใช่ลักษณะของปัญญา และก่อนที่จะได้ฟังพระธรรมจริงๆ ไม่ว่าใครจะเบื่อชีวิต เบื่อโลก เบื่อความซ้ำทางตา ทางหูในชีวิตแต่ละวันสักเท่าไร ก็ยังไม่ใช่ปัญญาที่หน่ายในการที่รู้ว่า ไม่ใช่ตัวตน เป็นแต่เพียงสภาพธรรมที่เกิดขึ้นและดับไปเท่านั้นเอง
เพราะฉะนั้น แสดงให้เห็นว่า ใครก็ตามที่อาจจะเข้าใจตัวเองว่า คิดถึงเรื่อง ต่างๆ ที่เปลี่ยนแปลงและก็เกิดเบื่อหน่ายขึ้นมา ขณะนั้นจะเป็นปัญญาแล้ว ก็ให้ ทราบว่า ยังไม่ใช่ปัญญาขั้นที่จะหน่ายจากความเป็นตัวตน เพราะว่ายังไม่รู้ลักษณะของนามธรรมและรูปธรรมที่กำลังปรากฏโดยลักษณะที่เป็นนามธรรมหรือเป็นรูปธรรม ไม่ใช่เรา
ท่านผู้ฟังอยากจะให้คนอื่นเข้าใจพระธรรมบ้างไหม
เรื่องของความอยากก็มีลักษณะต่างๆ แต่ต้องพิจารณาว่า อย่างไร ขณะไหนเป็นกุศล และอย่างไร ขณะไหนเป็นอกุศล
เวลาที่อยากจะให้คนอื่นเข้าใจพระธรรม เป็นโลภะ หรือว่าเป็นฉันทะ สามารถจะรู้ได้ไหม ถ้าอยากให้คนอื่นฟังพระธรรม และผิดหวังที่เขาไม่ฟัง ขณะนั้น จะรู้ได้ไหมว่า ความอยากของท่านเป็นโลภะหรือเป็นฉันทะ
ขณะใดก็ตามที่อยากให้คนอื่นได้ฟัง พยายามทุกอย่างที่จะช่วยให้เขาเข้าใจ แม้ว่าเขาไม่สนใจ ก็ไม่เดือดร้อน เพราะว่ายังไม่ถึงกาล ยังไม่ถึงเวลา เขาไม่มีปัจจัย ที่สะสมมาที่จะเห็นประโยชน์ของการฟังธรรม ก็ไม่หวั่นไหว ไม่เป็นทุกข์ ขณะนั้น ไม่ใช่โลภะ เพราะว่าเป็นแต่เพียงฉันทะที่จะให้คนอื่นเข้าใจพระธรรม แต่ไม่เดือดร้อนถ้าเขาไม่สนใจ และก็ไม่ผิดหวังเวลาที่เขาไม่เห็นคุณค่าของพระธรรม
นี่เป็นเครื่องแสดงให้รู้ได้ว่า ขณะใดเป็นกุศล ขณะใดเป็นอกุศล ถ้าขณะใด ที่จิตใจสม่ำเสมอไม่หวั่นไหว ไม่ว่าจะมีความปรารถนาอย่างใด แต่ก็ไม่เดือดร้อน เวลาที่สิ่งนั้นไม่เป็นไปตามความปรารถนา
เพราะฉะนั้น เรื่องของการฟังพระธรรม จะได้ประโยชน์มากที่สุดเมื่อน้อมนำมาพิจารณาจิตใจของตนเองในชีวิตประจำวันจริงๆ ซึ่งไม่พ้นไปจากเรื่องของกุศลและอกุศล และค่อยๆ อบรมเจริญธรรมที่เป็นโสภณเจตสิกขึ้น จนกว่าจะสมบูรณ์ถึงขั้น ที่เป็นวิปัสสนาญาณแต่ละขั้น
และแม้แต่การฟังพระธรรมเรื่องหนึ่งเรื่องใด จะได้ประโยชน์ ถ้าพิจารณาถึงความละเอียดของพระธรรมนั้นๆ เช่น ข้อความใน ขุททกนิกาย อิติวุตตกะ ปสาทสูตร ซึ่งแสดงถึงการพิจารณาความเลื่อมใสของท่านเองว่าเป็นไปในลักษณะใด
ข้อความใน ปสาทสูตร ข้อ ๒๗๐ มีว่า
จริงอยู่ พระสูตรนี้พระผู้มีพระภาคตรัสแล้ว พระสูตรนี้พระผู้มีพระภาค ผู้เป็นพระอรหันต์ตรัสแล้ว เพราะเหตุนั้นข้าพเจ้าได้สดับมาแล้วว่า
ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ความเลื่อมใสอันเลิศ ๓ ประการนี้ ๓ ประการเป็นไฉน ดูกร ภิกษุทั้งหลาย สัตว์ไม่มีเท้าก็ดี ๒ เท้าก็ดี ๔ เท้าก็ดี มีเท้ามากก็ดี มีรูปก็ดี ไม่มีรูปก็ดี มีสัญญาก็ดี ไม่มีสัญญาก็ดี มีสัญญาก็มิใช่ ไม่มีสัญญาก็มิใช่ก็ดี มีประมาณเท่าใด พระตถาคตอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า บัณฑิตกล่าวว่า เลิศกว่าสัตว์ประมาณเท่านั้น
ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ชนเหล่าใดเลื่อมใสในพระพุทธเจ้า ชนเหล่านั้นชื่อว่าเลื่อมใสในบุคคลผู้เลิศ ก็และผลอันเลิศย่อมมีแก่บุคคลผู้เลื่อมใสในพระพุทธเจ้าผู้เลิศ
พิจารณาตนเองได้ไหมว่า เป็นผู้เลื่อมใสในพระพุทธเจ้าผู้เลิศ หรือเลื่อมใสในวัตถุมงคล เพียงเท่านี้ก็จะเห็นได้ว่าต่างกัน ความเลื่อมใสในพระพุทธเจ้าผู้เลิศ ต้องเป็นผู้ที่เห็นพระปัญญาคุณ พระบริสุทธิ์คุณ และพระมหากรุณาคุณ โดยฟังพระธรรมและเข้าใจในธรรมที่ลึกซึ้ง ในข้อปฏิบัติที่ยากและลึกซึ้ง จึงจะเห็นพระคุณของพระผู้มีพระภาค และเลื่อมใสในพระปัญญาคุณ พระบริสุทธิ์คุณ และพระมหากรุณาคุณได้
ถ้าพระผู้มีพระภาคไม่ทรงแสดงหนทางข้อปฏิบัติที่จะทำให้รู้แจ้งสภาพธรรม ความเลื่อมใสนั้นก็คงจะลดน้อยลงไป เพราะแม้ว่าสภาพธรรมจะปรากฏ ก็ไม่สามารถประจักษ์แจ้งลักษณะของสภาพธรรมนั้นได้ แต่เพราะทรงแสดงหนทาง ข้อปฏิบัติที่จะทำให้ประจักษ์แจ้งลักษณะของสภาพธรรม ผู้ที่อบรมเจริญปัญญาเพิ่มขึ้นก็ยิ่งเห็นพระคุณเพิ่มขึ้น และความเลื่อมใสนั้นก็ต้องเพิ่มขึ้นตามขั้นของ ปัญญาด้วย
แนวทางเจริญวิปัสสนา เล่ม ๑๗๗ ตอนที่ ๑๗๖๑ – ๑๗๗๐
เรียบเรียงอักษรให้อยู่ในรูปแบบหนังสือ โดยมีเนื้อหาใจความสำคัญครบถ้วน
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1752
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1753
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1754
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1755
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1756
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1757
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1758
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1759
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1760
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1761
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1762
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1763
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1764
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1765
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1766
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1767
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1768
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1769
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1770
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1771
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1772
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1773
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1774
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1775
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1776
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1777
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1778
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1779
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1780
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1781
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1782
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1783
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1784
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1785
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1786
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1787
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1788
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1789
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1790
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1791
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1792
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1793
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1794
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1795
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1796
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1797
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1798
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1799
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1800
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1801
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1802
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1803
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1804
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1805
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1806
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1807
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1808
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1809
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1810
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1811
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1812
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1813
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1814
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1815
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1816
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1817