แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1764
ครั้งที่ ๑๗๖๔
สาระสำคัญ
ขุ.อิติ.ปสาทสูตร - ความเลื่อมใสอันเลิศ ๓ ประการ
ผู้เลื่อมใสในธรรมอันเลิศ คือ อริยมรรคมีองค์ ๘
เหตุเลิศ ผลก็ต้องเลิศ (ไม่ได้ทรงแสดงให้หวังผลของกุศล)
ที่ห้องประชุมตึกสภาการศึกษามหามกุฏราชวิทยาลัย
วันอาทิตย์ที่ ๒๑ กุมภาพันธ์ ๒๕๓๑
ข้อความต่อไป พระผู้มีพระภาคตรัสว่า
ดูกร ภิกษุทั้งหลาย สังขตธรรมก็ดี อสังขตธรรมก็ดี มีประมาณเท่าใด วิราคะ คือ ธรรมเป็นที่บรรเทาความเมา นำเสียซึ่งความระหาย ถอนขึ้นด้วยดี ซึ่งอาลัย ตัดซึ่งวัฏฏะ สิ้นไปแห่งตัณหา สิ้นกำหนัด ดับ นิพพาน บัณฑิตกล่าวว่า เลิศกว่าสังขตธรรมและอสังขตธรรมเหล่านั้น
ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ชนเหล่าใดเลื่อมใสในวิราคธรรม ชนเหล่านั้นชื่อว่า เลื่อมใสในธรรมอันเลิศ ก็ผลอันเลิศย่อมมีแก่บุคคลผู้เลื่อมใสในธรรมอันเลิศ
นี่เป็นการเลื่อมใสในธรรมที่มีจริง ที่สามารถดับกิเลสได้ แต่ไม่ใช่เป็นสิ่งที่ง่าย และจะต้องพากเพียรเจริญไปทีละเล็กทีละน้อย
ได้อ่านบทความหนึ่ง ซึ่งมีท่านผู้หนึ่งเป็นชาวต่างประเทศเขียนว่า ท่านได้ยินการสนทนาของ ๒ ท่าน เรื่องของการทำสมาธิ ท่านก็ทำสมาธิและรู้สึกว่า จิตใจสงบมาก สบายมาก ขณะนั้นก็คงพอจะรู้ได้ว่า เป็นการอบรมเจริญปัญญา หรือเปล่า เพียงได้ยินได้ฟังเรื่องของการทำสมาธิ จะเป็นการอบรมเจริญปัญญา ที่จะเป็นข้อปฏิบัติทำให้รู้แจ้งสัจจธรรมที่ปรากฏทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจได้ไหม
เพราะฉะนั้น ถ้าใครยังเข้าใจผิดคิดว่า นิพพานสวย สว่าง หรือเหมือนสวรรค์ น่าเพลิดเพลิน น่าพอใจ แสดงให้เห็นว่า ในขณะนั้นไม่ใช่การละ และไม่ใช่การเจริญความรู้ที่จะละความติด แม้ในขณะที่กล่าวว่า นิพพานสวย สว่าง หรือเหมือนสวรรค์
ข้อความต่อไป พระผู้มีพระภาคตรัสว่า
ดูกร ภิกษุทั้งหลาย สังขตธรรมมีประมาณเท่าใด อริยมรรคมีองค์ ๘ คือ สัมมาทิฏฐิ สัมมาสังกัปปะ สัมมาวาจา สัมมากัมมันตะ สัมมาอาชีวะ สัมมาวายามะ สัมมาสติ สัมมาสมาธิ บัณฑิตกล่าวว่า เลิศกว่าสังขตธรรมเหล่านั้น
ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ชนเหล่าใดเลื่อมใสในธรรม คือ อริยมรรค ชนเหล่านั้นชื่อว่าเลื่อมใสในธรรมอันเลิศ ก็ผลอันเลิศย่อมมีแก่บุคคลผู้เลื่อมใสในธรรมอันเลิศ
ผู้ที่เลื่อมใสในธรรมอันเลิศ คือ อริยมรรคมีองค์ ๘ ต้องเป็นผู้ที่อดทนที่จะ เจริญปัญญา แม้ว่าในชาติหนึ่งจะเจริญได้เพียงเล็กน้อยไม่มาก แต่ก็ยังเป็นหนทาง ที่ถูก ที่ไม่ใช่ไปทำให้ไม่รู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ เพราะฉะนั้น แม้ว่า ในชาตินี้จะยาวสั้นมากน้อยสักเพียงใด ก็ขอให้เป็นการอบรมเจริญอริยมรรคจริงๆ ที่จะทำให้รู้ลักษณะของสภาพธรรม จนกระทั่งวันหนึ่งสามารถประจักษ์แจ้งลักษณะของนิพพานได้
ข้อความต่อไป พระผู้มีพระภาคตรัสว่า
ดูกร ภิกษุทั้งหลาย หมู่ก็ดี คณะก็ดี มีประมาณเท่าใด หมู่สาวกของ พระตถาคต คือ คู่บุรุษ ๔ บุรุษบุคคล ๘ บัณฑิตกล่าวว่า เลิศกว่าหมู่และคณะเหล่านั้น
ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ชนเหล่าใดเลื่อมใสในพระสงฆ์ ชนเหล่านั้นชื่อว่า เลื่อมใสในหมู่ผู้เลิศ ก็ผลอันเลิศย่อมมีแก่บุคคลผู้เลื่อมใสในพระสงฆ์ผู้เลิศ
ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ความเลื่อมใสอันเลิศ ๓ ประการนี้แล
เพราะฉะนั้น จะต้องพิจารณาถึงความเลื่อมใสของท่านว่า เลื่อมใสในคู่บุรุษ ๔ คือ พระโสดาบัน ได้แก่ โสตาปัตติมรรคจิต ๑ โสตาปัตติผลจิต ๑ พระสกทาคามี ได้แก่ สกทาคามิมรรคจิต ๑ สกทาคามิผลจิต ๑ พระอนาคามีบุคคล ได้แก่ อนาคามิมรรคจิต ๑ อนาคามิผลจิต ๑ พระอรหันต์บุคคล ได้แก่ อรหัตตมรรคจิต ๑ อรหัตตผลจิต ๑ เป็นบุรุษบุคคล ๘ หรือว่าเลื่อมใสในผู้ที่ไม่ได้แสดงหนทางที่จะ ให้รู้แจ้งอริยสัจจธรรมที่กำลังปรากฏทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจถ้ามีผู้กล่าวว่า ไม่ต้องศึกษาพระธรรม ไม่ต้องเข้าใจเรื่องของสภาพธรรม ที่กำลังปรากฏ ไม่ต้องเข้าใจเรื่องลักษณะของนามธรรมและรูปธรรมก็ปฏิบัติได้ จะชื่อว่าท่านเป็นผู้เลื่อมใสในบุคคลผู้เลิศหรือเปล่า
เพราะฉะนั้น การฟังพระธรรม สามารถพิจารณาและระลึกตามความเป็นจริงถึงความเลื่อมใสของท่านได้จริงๆ
ผู้ฟัง การเลื่อมใสในพระธรรมอย่างที่อาจารย์พูด เป็นเรื่องยาก อย่างผม ได้พิจารณาตัวเองว่า พิจารณาธรรมโดยละเอียดแล้วจึงทำให้เห็นถึงความเลื่อมใสได้ เช่น การฟังเมื่อสักครู่ทำให้เกิดความเลื่อมใสในพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าเพิ่มขึ้นอีกว่า วิปัสสนาญาณต่างๆ เป็นเรื่องที่ลึกซึ้งมาก แม้กระทั่งการเจริญสติปัฏฐาน สติที่ระลึกรู้ทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจจะปรากฏก็น้อยเหลือเกิน และพระพุทธองค์ก็ได้ทรงแสดงถึงญาณซึ่งมีถึง ๑๖ ญาณ จากญาณที่ ๑ ไป ที่จะเกิดขึ้นก็น้อยมาก เมื่อได้ฟังถึงความลึกซึ้ง แต่ก็เชื่อด้วยความมั่นคงว่า ที่พระพุทธองค์ตรัสแสดงสั่งสอนไว้นี่ถูกต้องแน่ ทำให้เกิดความเลื่อมใสยิ่งขึ้นว่า พระปัญญาคุณของท่านแท้ๆ ท่านจึงสามารถแยกแยะวิปัสสนาญาณได้อย่างนี้ เราเองโอกาสที่จะเฉียดเข้าไปก็น้อยเหลือเกิน แต่ก็มั่นคงเชื่อในปัญญาของพระพุทธองค์ ที่อาจารย์พูดเมื่อกี้ทำให้เกิดความรู้สึกเลื่อมใสพระพุทธองค์มากขึ้น
สุ. ข้อสำคัญ คือ ปัญญา ความเข้าใจลักษณะของสภาพธรรม อย่างปรมัตถธรรมสังเขป ก็ได้ถามท่านผู้ฟังท่านหนึ่งว่า ท่านอ่านหรือยัง ท่านบอกว่าอ่านแล้ว จำไม่ได้ ปฏิบัติไม่ได้ คือ ตอบเลยว่า อ่านแล้วแต่จำไม่ได้ ปฏิบัติไม่ได้
ไม่ต้องจำ ไม่ต้องปฏิบัติ เข้าใจก่อน ใครบอกว่าต้องจำ ถ้าไม่เข้าใจ มีประโยชน์อะไรที่จะจำโดยไม่เข้าใจ และจะปฏิบัติอะไรถ้าไม่เข้าใจ เพราะฉะนั้น ไม่ต้องจำและไม่ต้องปฏิบัติอะไรด้วย ขอให้เข้าใจก่อน เข้าใจลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏเมื่ออ่าน เวลาที่อ่านก็เป็นเรื่องของพระธรรมที่มีจริงๆ ซึ่งสามารถ พิสูจน์ได้แม้ในขณะที่กำลังอ่านนั้นเอง
เพราะฉะนั้น ไม่ใช่เรื่องที่จะต้องห่วงว่า จำไม่ได้ ถ้าเข้าใจก็เป็นสิ่งที่ถูกต้อง และยังไม่ต้องปฏิบัติอะไรเลย เข้าใจเพิ่มขึ้นๆ จนกระทั่งรู้ว่า ลืมตาขึ้นมาก็นามธรรมและรูปธรรมแล้ว ได้ยินเสียงก็นามธรรมและรูปธรรมแล้ว ไม่ว่าจะได้กลิ่น ไม่ว่าจะ ลิ้มรส ไม่ว่าจะรู้สิ่งที่กระทบสัมผัสขณะใด ก็นามธรรมและรูปธรรมตามที่เข้าใจนั่นเอง
ขอให้เป็นอย่างนี้จริงๆ เพราะว่าการอบรมเจริญปัญญาต้องเป็นตามลำดับขั้น ไม่ต้องคิดที่จะปฏิบัติ แต่ขอให้เข้าใจลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏจนกว่าจะรู้ว่า กำลังเห็น สติปัฏฐานก็คือขณะที่ระลึกได้ ตามที่ได้เข้าใจนั่นเอง และค่อยๆ สังเกตพิจารณาจนรู้ว่า ธาตุรู้ ลักษณะรู้ ซึ่งเป็นนามธรรม ไม่ใช่อยู่ในหนังสือ แต่ในขณะที่กำลังเห็นเป็นธาตุรู้อย่างไร ค่อยๆ พิจารณาไป นั่นคืออริยมรรคมีองค์ ๘
ข้อความตอนท้ายของพระสูตรนี้มีว่า
พระผู้มีพระภาคได้ตรัสเนื้อความนี้แล้ว ในพระสูตรนั้น พระผู้มีพระภาคตรัสคาถาประพันธ์ดังนี้ว่า
เมื่อชนทั้งหลายเลื่อมใสแล้วในพระรัตนตรัยที่เลิศ รู้แจ้งธรรมอันเลิศ เลื่อมใสแล้วในพระพุทธเจ้าผู้เลิศ ซึ่งเป็นทักขิไณยบุคคลผู้ยอดเยี่ยม เลื่อมใสแล้ว ในพระธรรมอันเลิศ ซึ่งเป็นที่สิ้นกำหนัดและเป็นที่สงบ เป็นสุข เลื่อมใสแล้ว ในพระสงฆ์ผู้เลิศ ซึ่งเป็นบุญเขตอย่างยอดเยี่ยม ถวายทานในพระรัตนตรัยที่เลิศ บุญที่เลิศย่อมเจริญ อายุ วรรณะ ยศ เกียรติคุณ สุขะและพละอันเลิศย่อมเจริญ นักปราชญ์ถวายไทยธรรมแก่พระรัตนตรัยที่เลิศ ตั้งมั่นอยู่ในธรรมอันเลิศแล้ว เป็นเทวดาหรือเป็นมนุษย์ก็ตาม เป็นผู้ถึงความเป็นเลิศบันเทิงอยู่ ฯ
เนื้อความแม้นี้พระผู้มีพระภาคตรัสแล้ว เพราะเหตุนั้น ข้าพเจ้าได้สดับมาแล้วฉะนี้แล
จบสูตรที่ ๑
มีอะไรสงสัยบ้างไหม ที่กล่าวถึงอายุ วรรณะ ยศ เกียรติคุณ สุขะและพละ อันเลิศย่อมเจริญ ไม่ได้ทรงแสดงให้หวัง แต่แสดงเหตุและผลตามความเป็นจริง เมื่อมีความเลื่อมใสในพระรัตนตรัย ในพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ในพระธรรม และเป็นผู้ที่น้อมประพฤติปฏิบัติตามด้วย เพราะฉะนั้น ในขณะที่จิตเป็นกุศลแล้ว อายุก็ดี วรรณะก็ดี ยศก็ดี เกียรติคุณก็ดี สุขก็ดี และพละก็ดี จะไม่เลิศได้อย่างไร
แต่ไม่ใช่หมายความว่า ผู้ที่อ่าน หรือผู้ที่เคยชินกับการต้องการหรือหวังผลของกุศลที่คิดว่าทำอย่างไรจะได้บุญมากๆ จะมาติดในข้อความนี้อีก แต่สำหรับผู้ที่ไม่ติด เพราะรู้ว่าเป็นเรื่องรู้แล้วละ เพราะฉะนั้น จะเข้าใจได้ทันทีว่า ที่ทรงแสดงนี้ ทรงแสดงตามเหตุและตามผล เมื่อเหตุเลิศผลก็ต้องเลิศเป็นของธรรมดา เพราะเมื่อได้อบรมเจริญปัญญาย่อมไม่เป็นผู้ที่กระทำทุจริต ทั้งกายวาจาก็เป็นสัมมาวาจา สัมมากัมมันตะ สัมมาอาชีวะ กุศลเจริญขึ้นๆ เพราะฉะนั้น จะมีเหตุอะไรที่ทำให้ได้ผลที่ไม่ดี แต่ผู้ที่ไม่เข้าใจก็คอยอยากจะทำ เพราะว่าอยากจะได้ผล
แสดงให้เห็นถึงการฟังด้วยความละเอียดจริงๆ และรู้ว่า ธรรมเป็นเรื่องรู้แล้วละ
ไม่ว่าจะเดินทางไปที่ไหนจะต้องมีคำถามซึ่งมีผู้ถามว่า ทำอย่างไรจะได้ บุญมาก เป็นธรรมดาที่สุดเลย จะทำบุญ แต่ก็ยังต้องการให้ได้บุญมาก และคิดว่า มีวิธีที่จะทำให้ได้บุญมาก แต่ถ้ารู้ว่าบุญอยู่ที่จิตซึ่งไม่มีโลภะ โทสะ โมหะ เพราะฉะนั้น วันนี้กุศลจิตจะเกิดสักเท่าไรก็ได้ สำหรับผู้ที่รู้ว่า ขณะใดที่ไม่โกรธ ไม่ริษยา ขณะใดที่เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ มีความเมตตา มีความหวังดีต่อคนอื่น มีการ ให้อภัย ขณะนั้นไม่ต้องนับแล้ว ใช่ไหม และไม่ต้องถามใครด้วยว่า บุญมากไหม เพราะผู้นั้นย่อมรู้ดีว่า ขณะนั้นเป็นกุศลจิต
เพราะฉะนั้น เรื่องของทำอย่างไรจะได้บุญมาก สำหรับผู้ที่เข้าใจเรื่องของ กุศลจิตแล้ว จะไม่มีปัญหาเลย เพราะย่อมเป็นผู้ที่รู้ด้วยตนเองว่า ไม่ใช่ขึ้นอยู่กับ การกระทำ แต่ขึ้นอยู่กับสภาพของจิตซึ่งเป็นกุศล ไม่มีโลภะ โทสะ โมหะขณะใด ก็เป็นบุญขณะนั้น เพราะฉะนั้น วันหนึ่งจะมากหรือจะน้อย แต่ละท่านย่อมรู้ดี
ถ. ฟังเรื่องความเลื่อมใสต่อพระผู้มีพระภาค ผมก็มีความเลื่อมใสเช่นเดียวกัน แต่มีความเลื่อมใสที่จะรู้ เลื่อมใสที่จะเข้าใจอย่างที่ท่านอาจารย์กล่าวไว้ อยากจะทราบว่า เมื่อตาเห็นรูปต่างๆ แล้ว ยากที่จะเห็นความเกิดดับ ผมเห็นว่า คงจะยากจริงๆ มีทางเป็นไปได้ไหมที่อาจารย์จะเกื้อกูล หรือท่านผู้ฟังจะเกื้อกูลบ้าง ขณะที่เห็นนั้น เห็นความเกิดดับ จะอธิบายได้อย่างไรที่จะให้เห็นความเกิดดับของวัณณะรูป เอาแค่ความเข้าใจ
สุ. ขณะที่กำลังรู้สิ่งหนึ่งสิ่งใดที่กำลังแข็ง ลองกระทบ ขณะนี้มีสภาพแข็งปรากฏ ขณะที่กำลังรู้ตรงแข็ง เห็นอะไรหรือเปล่า กำลังมีแข็งปรากฏ มองเห็นอะไรหรือเปล่า
ถ. มีความรู้สึกว่า เห็น
สุ. ยังเห็นอยู่ ใช่ไหม ขณะนี้เห็นด้วยและรู้ตรงแข็งด้วย ถูกไหม
ถ. ถูก
สุ. แสดงให้เห็นว่า สภาพธรรมเกิดดับเร็วมาก เพราะฉะนั้น ปัญญายัง ไม่สามารถรู้ลักษณะของนามธรรมว่าเป็นเพียงธาตุรู้ และลักษณะของรูปธรรมจริงๆ เมื่อยังไม่ถึงนามรูปปริจเฉทญาณ ก็ยังไม่มีการที่จะแยกสภาพธรรมที่ปรากฏแต่ละอย่างให้เห็นว่า ไม่ได้สืบต่อเหมือนกับเป็นขณะเดียวกัน
ในขณะนี้ทางตาเห็นสี และขณะที่สติเริ่มที่จะระลึกรู้ลักษณะที่แข็ง ทางตานี่ ยังไม่ได้ดับ ซึ่งที่จริงแล้วต้องดับในขณะที่กำลังรู้แข็ง สำหรับผู้ที่ประจักษ์แจ้งลักษณะของสภาพธรรมที่แยกขาดจากกันเป็นแต่ละทวาร แต่ในขณะนี้การเกิดดับของ สภาพธรรมก็เร็วเหมือนกับผู้ที่ได้ประจักษ์แล้ว แต่ผู้ที่ประจักษ์แล้ว ปัญญาสามารถแทงตลอดทันทีโดยความรวดเร็ว เพราะว่ามีปัจจัยที่จะทำให้ประจักษ์แจ้งได้
เพราะฉะนั้น ผู้ที่เริ่มอบรมเจริญสติปัฏฐานจะรู้ว่า แม้ทรงแสดงไว้ว่า ทางตาต้องดับ แต่เมื่อขณะนี้ยังไม่ปรากฏว่าทางตาดับ ก็จะต้องเป็นอย่างนี้ ถ้าสมมติผู้อื่น จะบอกท่านผู้ฟังว่า ต้องเห็นว่าดับซิ ท่านผู้ฟังก็จะเถียงได้เลยว่า เป็นไปไม่ได้ เพราะว่าความจริงต้องเป็นอย่างนั้นก่อน จนกว่าปัญญาจะค่อยๆ เจริญขึ้น
แต่ถ้าจะพิจารณาจริงๆ ในขณะที่แข็งกำลังปรากฏและไม่ได้สนใจสีสันวัณณะที่กำลังปรากฏทางตา เริ่มที่จะมนสิการเฉพาะแข็ง ก็จะรู้ได้ว่า ขณะที่กำลังรู้ เฉพาะแข็งจริงๆ จะไม่สนใจทางตา ไม่ใช่จะปรากฏว่าทางตาดับ แต่เริ่มคลาย ความติดหรือความสนใจทางตา ขณะที่สติสัมปชัญญะระลึกและศึกษาลักษณะ ของสภาพที่แข็ง
เพราะฉะนั้น ปัญญาจะต้องค่อยๆ เพิ่มขึ้นเป็นขั้นๆ จริงๆ เมื่อสภาพธรรมเป็นจริงอย่างนี้ ก็ต้องประจักษ์แจ้งอย่างนี้ด้วย เพียงแต่ว่าจากการที่เคยยึดมั่นในสิ่งที่ปรากฏทางตาพร้อมกับในขณะที่รู้แข็ง เวลาที่สติปัฏฐานระลึกศึกษาลักษณะแข็ง จะคลายความสนใจความติดทางตา และจะรู้ว่าขณะนั้นกำลังพิจารณาลักษณะ สภาพที่รู้แข็งหรือลักษณะของแข็งที่ปรากฏ
ทุกทวารก็เหมือนกัน คือ จะคลายความสนใจในทวารอื่นลงเรื่อยๆ และจะ ใส่ใจในลักษณะของรูปธรรมหรือนามธรรมเฉพาะทวารเดียว จนกว่าวิปัสสนาญาณ จะเกิด
ถ. ที่ว่า ตาเห็นรูปแล้วเกิดดับ พอจะอธิบายได้ไหม จะเข้าใจได้ไหม
สุ. จักษุปสาทมีอายุเท่าไร นานทั้งวัน หรือว่าเร็วมาก
ถ. เร็วมาก
สุ. เร็วมาก รูปที่ปรากฏทั้งวันทางตามีอายุเท่าไร
ถ. ๑๗ ขณะจิต
สุ. เหมือนกัน ซึ่งเร็วมาก นี่ก็เป็นการตอบตามตำรา
ถ. ตามหลักการก็เป็นอย่างนั้น
สุ. เพราะฉะนั้น ปัญญาก็ค่อยๆ พิจารณาไป อย่างเรื่องของสิ่งที่กำลังปรากฏทางตา ถ้าพิจารณาถึงธาตุที่เป็นประธาน ๔ ธาตุ คือ ธาตุดิน ธาตุไฟ ธาตุลม ธาตุน้ำ มีลักษณะที่อ่อนหรือแข็ง เย็นหรือร้อน ตึงหรือไหว หรือเกาะกุม แต่เป็นสภาพที่ปรากฏเมื่อกระทบได้เพียง ๓ ลักษณะ คือ ลักษณะของธาตุดินที่อ่อน หรือแข็ง ลักษณะของธาตุลมที่ตึงหรือไหว ลักษณะของธาตุไฟที่เย็นหรือร้อน นี่เป็นประธาน หมายความว่าในทุกกลุ่มของรูปที่เล็กที่สุดซึ่งมีอากาศธาตุแทรกคั่นอยู่ จะต้องมีมหาภูตรูป ๔ แต่ไม่ใช่มีเพียงเฉพาะมหาภูตรูป ๔ ยังมีอีกรูปหนึ่งซึ่งปรากฏ ให้รู้ได้ทางตา
ค่อยๆ พิจารณาไปถึงความจริง ถึงความละเอียดของธรรม จนกว่าจะ แยกออกว่า สิ่งที่ปรากฏทางตาไม่ใช่มหาภูตรูป ๔
ความรู้ต้องค่อยๆ เพิ่มขึ้นทีละขั้น เรื่องของการประจักษ์แจ้งก็ต้องประจักษ์แจ้งจริงๆ แต่ขอให้เข้าใจขึ้น เพื่อที่สติปัฏฐานจะได้ระลึก โดยที่ทางตาอาจจะไม่เคยระลึกเลยว่า เป็นแต่เพียงสิ่งที่ปรากฏ เพราะมักจะปรากฏเป็นสิ่งหนึ่งสิ่งใดทันที แม้ว่าจะ ได้ยินได้ฟังมาก็ตาม แต่อาศัยการฟังบ่อยๆ ก็จะมีบางขณะที่สติระลึกและรู้ โดยน้อมไปว่า สิ่งนี้เป็นแต่เพียงสิ่งที่ปรากฏ ไม่ใช่บุคคลหนึ่งบุคคลใดเลยถ้าไม่คิด
เพราะฉะนั้น จะเห็นความสำคัญของสังขารขันธ์อีก ซึ่งคงจะต้องกล่าวถึงว่า ถ้ามีแต่เพียงวิญญาณขันธ์เท่านั้น คือ จิต ซึ่งเป็นใหญ่เป็นประธานในการรู้แจ้งลักษณะของอารมณ์ โดยที่ไม่มีสัญญาขันธ์ สภาพที่จำ หรือไม่มีสังขารขันธ์ที่ตรึก หรือนึกถึงรูปร่างของสิ่งที่ปรากฏ จะเป็นแต่เพียงปรมัตถธรรมที่ไม่มีสัตว์ ไม่มีบุคคล ไม่มีตัวตนเลย เพราะฉะนั้น กิจหน้าที่ของวิญญาณขันธ์ ไม่ใช่เห็นผิด แต่กิจที่ทำให้เห็นผิดเป็นหน้าที่ของทิฏฐิเจตสิก ซึ่งเป็นสภาพธรรมอีกอย่างหนึ่ง เกิดหลังจากที่มีการใส่ใจในรูปร่างลักษณะของสิ่งที่ปรากฏ เพราะฉะนั้น ก็จะแยกทางตากับทางใจออกได้ โดยการรู้ว่า เฉพาะทางตาเพียงเห็น และเวลาที่กำลังจำหรือกำลังรู้ว่าเป็นสิ่งหนึ่งสิ่งใด ขณะนั้นเป็นทางใจแล้ว
ค่อยๆ แยกทางตากับทางใจออก ทางหูกับทางใจออก ทางจมูกกับทางใจออก ทางลิ้นกับทางใจออก ทางกายกับทางใจออก จึงจะรู้ว่า ปรมัตถธรรมแท้ๆ ไม่ใช่ในขณะที่กำลังคิดเรื่องรูปร่างหรือเรื่องราวต่างๆ ซึ่งนี่ก็จะต้องเป็นเพราะสติปัฏฐาน
แนวทางเจริญวิปัสสนา เล่ม ๑๗๗ ตอนที่ ๑๗๖๑ – ๑๗๗๐
เรียบเรียงอักษรให้อยู่ในรูปแบบหนังสือ โดยมีเนื้อหาใจความสำคัญครบถ้วน
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1752
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1753
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1754
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1755
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1756
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1757
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1758
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1759
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1760
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1761
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1762
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1763
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1764
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1765
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1766
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1767
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1768
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1769
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1770
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1771
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1772
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1773
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1774
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1775
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1776
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1777
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1778
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1779
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1780
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1781
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1782
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1783
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1784
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1785
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1786
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1787
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1788
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1789
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1790
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1791
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1792
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1793
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1794
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1795
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1796
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1797
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1798
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1799
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1800
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1801
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1802
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1803
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1804
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1805
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1806
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1807
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1808
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1809
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1810
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1811
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1812
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1813
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1814
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1815
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1816
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1817