แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1767
ครั้งที่ ๑๗๖๗
สาระสำคัญ
สติสัมปชัญญะขั้นสมถภาวนา
การอบรมเจริญสมถะ (ความสงบของ - จิต)
บัญญัติไม่ใช่ปรมัตถ์
ที่ห้องประชุมตึกสภาการศึกษามหามกุฏราชวิทยาลัย
วันอาทิตย์ที่ ๒๘ กุมภาพันธ์ ๒๕๓๑
ถ. ด้วยเหตุนี้ผมจึงได้บอกว่ากลัว เพราะเดี๋ยวนี้รู้สึกว่าจะทำสมาธิกันมาก ไม่ใช่สมถะ ต้องการอย่างเดียว คือ ให้จิตสงบ ซึ่งจิตสงบที่เป็นสมาธิก็หมายความว่า ให้อยู่ในอารมณ์ใดอารมณ์หนึ่ง เช่น อยู่ในดวงแก้วใสๆ กลางกาย เหนือสะดือ ๒ นิ้ว
สุ. ขอประทานโทษ กุศลจิตจะเกิดได้อย่างไรเวลาเห็นดวงแก้ว
ถ. นั่นซิ มันเป็นสมาธิ ผมจึงบอกว่า สมาธิอย่างนี้ไม่ใช่สมาธิ ในพระพุทธศาสนา เป็นมิจฉาสมาธิ เมื่อสับสนก็เลยไม่รู้ว่าอะไรเป็นสมถะ อะไรเป็นสมาธิ ก็เลยเข้าใจกันว่า สมาธิกับสมถะเป็นอันเดียวกัน
สุ. ต้องแยก
ถ. ในสมถกัมมัฏฐาน ๔๐ อย่างกสิณ ๑๐ ปฐวีกสิณ ระลึกถึงดินสีอรุณ สมมติว่าผู้ภาวนาเพ่งดิน และสามารถหลับตาเห็นเหมือนอย่างที่ลืมตาเห็นรูปกสิณ อย่างนี้เป็นสมถะไหม
สุ. เมื่อกี้เรากล่าวแล้วว่า ความสงบอยู่ที่จิต ไม่ได้อยู่ที่รูป
ถ. ไม่ใช่อยู่ที่รูป เมื่อไม่ได้อยู่ที่รูป ทำไมท่านถึงเอาอารมณ์ต่างๆ ตั้ง ๔๐ มาให้เรายึด ให้เราภาวนา ให้เรานึกถึง
สุ. ท่านไหน
ถ. ในตำรา
สุ. ตำราก็ต้องอ่านให้เข้าใจว่า ผู้ที่ปราศจากสติสัมปชัญญะและจะ เจริญสมถภาวนาหรือวิปัสสนาภาวนานั้น ไม่ได้ นี่คือตำรา ที่กล่าวไว้ว่าอย่างนี้ เพราะฉะนั้น ต้องเข้าใจลักษณะของสติสัมปชัญญะที่จะรู้สภาพของจิต มิฉะนั้นแล้วกุศลจิตก็เจริญไม่ได้ ไม่ใช่ทำด้วยความอยากที่จะเห็นดวงแก้ว ขณะนั้นต้องอยากแน่ๆ และปัญญารู้ได้อย่างไรว่า ขณะนั้นจิตสงบหรือเปล่า เพราะถ้าจิตสงบ เห็นดวงแก้วแล้วสงบอย่างไร ใช่ไหม
อย่างท่านที่บอกว่า ไปจ้องดิน ถ้าดูดินแล้วเป็นกุศลก็สบาย วันนี้ก็ดูดินกันเยอะๆ หรือเอาก้อนดินมาและจ้องดู จ้องไปจ้องมา จ้องมาจ้องไป กุศลจิตเยอะแยะ นั่นไม่ใช่เป็นสิ่งที่มีเหตุผลเลยว่า ดูดินแล้วเป็นกุศล
ถ. นี่เป็นอันตรายอย่างยิ่ง เรื่องสมถภาวนานี่แหละที่พาเข้ารกเข้าป่า ไม่ได้ตรงตามหลักตามแนวของพระพุทธศาสนาเลย เพราะเข้าใจสมาธิกับสมถะผิด นี่แหละ และเมื่อไรจะเข้าใจคำว่า สมถะ ให้ถูกต้อง
คิดว่า เมื่อใจสงบแล้วก็ภาวนา จะนั่งที่ไหนๆ ก็ทรมานอยู่นั่นแหละ เดี๋ยวจิต ก็สงบเอง จิตดิ้นรนไปไม่ไหว เหมือนเอาลูกวัวมาผูกไว้กับหลัก พรากออกจากแม่ มันวิ่งไปวิ่งมา หมดกำลังแล้วมันก็นอนอยู่กับหลัก อย่างเราเอาจิตไปผูกไว้กับ อานาปานสติ มันตกไปก็เอามา ตกไปก็เอามา จับไปจับมา หนักๆ เข้าจิตก็จะสงบ การพยายามตั้งใจจะให้เป็นอย่างนี้ไม่ใช่สมถะ ในหลักท่านว่าไว้อย่างนั้นจริง แต่เรา ไม่เข้าใจ เราเข้าใจแต่สมาธิ นี่เป็นอันตรายอย่างยิ่ง
สุ. ก็คงจะเป็นเครื่องเตือนสำหรับท่านที่คิดว่า เมื่อสติไม่เกิดก็จะไปทำอย่างอื่น จะได้พิจารณาว่า ตอนที่จะไปทำอย่างอื่น ไปทำอกุศล หรือจะไปเจริญกุศล
ถ. การอบรมเจริญสมถภาวนา ถ้าไม่มีสติสัมปชัญญะ ไม่สามารถอบรมเจริญสมถภาวนาได้ เรียนถามว่า สติสัมปชัญญะแตกต่างจากสติปัฏฐานอย่างไร
สุ. สติสัมปชัญญะขั้นสมถภาวนา ไม่ใช่การระลึกลักษณะที่เป็น ปรมัตถธรรม โดยสภาพที่เป็นนามธรรมหรือเป็นรูปธรรม
ถ. สติสัมปชัญญะที่ผมเคยพูดบ่อยๆ ว่า เป็นสติในขั้นนึกคิด ใช่ไหม
สุ. ขณะใดที่กุศลจิตเกิด ขณะนั้นเป็นสติ ต้องมีสติเจตสิกเกิดร่วมด้วย และขณะที่เป็นมหากุศลญาณสัมปยุตต์ก็ต้องมีสัมปชัญญะ คือ ปัญญาเจตสิก เกิดร่วมด้วย
ถ. เพราะฉะนั้น สิ่งที่สำคัญที่สุด คือ สติสัมปชัญญะ หรือสติในขั้นนึกคิดในขณะที่เจริญสมถะ ถ้ามีอะไรมากระทบทางทวารใดทวารหนึ่ง ถ้าสติสัมปชัญญะหรือสติในขั้นนึกคิด ผมขอใช้อย่างนั้น ระลึกรู้ขึ้นมาได้ว่า ขณะนี้เป็นกุศล อกุศล และถ้าเป็นอกุศล ก็เจริญกุศลต่อไป ผมคิดว่าน่าจะเป็นสิ่งสำคัญที่สุด เพราะว่า ในชีวิตประจำวันของเรา ตั้งแต่เราตื่นขึ้นมาจนกระทั่งหลับไป เราได้เจริญกุศลมากน้อยแค่ไหน ซึ่งสติสัมปชัญญะในชีวิตประจำวันอย่างนี้ก็ไม่ค่อยเกิดเลยหรือ เกิดน้อยมาก การที่จะไปอบรมเจริญสมถภาวนาในลักษณะอย่างนั้น สติสัมปชัญญะลักษณะอย่างนี้ก็ไม่น่าที่จะเกิดมาก ใช่ไหม
สุ. ต้องเป็นผู้ที่เข้าใจเรื่องของสมถภาวนา อย่างในชีวิตประจำวันเคยเห็นโทษของโทสะ แต่เห็นโทษจริงๆ หรือเพียงแต่ไม่อยากรู้สึกไม่สบายใจ นี่เป็นข้อที่ต่างกัน ใช่ไหม เวลาที่ใครโกรธ ไม่อยากจะโกรธ เพราะว่ารู้สึกตัวว่า เวลาโกรธแล้วจิตใจไม่เหมือนกับเวลาที่กำลังสนุกสนานเพลิดเพลิน ขณะนั้นรู้สึกพอใจที่จะเพลิดเพลิน แต่ลักษณะของความโกรธตรงกันข้ามกับความเพลิดเพลิน เพราะฉะนั้น เวลาโกรธก็ไม่อยากจะมีลักษณะอย่างนั้นซึ่งไม่เพลิดเพลิน คือ ไม่อยากจะ ไม่เพลิดเพลิน หรือว่าเห็นโทษของโทสะ รังเกียจ และหวั่นเกรงในโทษของโทสะ
เพราะฉะนั้น ผู้ที่ตรงจะรู้ได้ว่า ขณะใดที่โกรธ และสติเกิดระลึกได้ ขณะนั้น จะเห็นภัยเห็นโทษของโทสะ ไม่ใช่เพียงแต่ทำอย่างไรโทสะจะหมด ซึ่งทุกคนมักจะถามคำเดียวว่า ไม่อยากจะโกรธ ขี้โกรธ ขี้โมโห ทำอย่างไรจะไม่เป็นอย่างนี้ เหมือนกับว่าพระพุทธศาสนาจะมียาวิเศษเพียงเม็ดเดียวที่ทานเข้าไปก็จะหายโกรธได้ แต่นั่นไม่ได้รักษาสมุฏฐานเลย เพราะว่าปัญญาไม่ได้เห็นโทษของโทสะ เพียงแต่ว่ามีความ เป็นตัวตนที่ไม่อยากจะมีความรู้สึกไม่เพลิดเพลินอย่างนั้น เพราะฉะนั้น การที่จะอบรมเจริญความสงบ ต้องเป็นผู้เห็นโทษของอกุศล ไม่ชอบใครบ้างไหม
ถ. มีแน่นอน
สุ. ถ้าสติสัมปชัญญะเกิด เห็นภัยเห็นโทษของความโกรธซึ่งเกิดในขณะนั้น ที่จะติดตามต่อไปถึงชาติหน้าด้วยไหม
ถ้ายังไม่เกิดความเมตตา ซึ่งบุคคลนั้นจริงๆ แล้วก็ไม่มี เพียงแต่เราคิดและ จำไว้ว่ารูปร่างอย่างนี้เป็นคนนั้น และแม้แต่ทางตาที่กำลังเห็นในขณะนี้ก็เป็นสิ่งอื่น ไม่ใช่คนนั้น แต่เพียงนึกถึงคนนั้น จำเรื่องของคนนั้น จำกาย วาจา เรื่องราวต่างๆ ที่ทำให้ไม่พอใจ ขณะนั้นก็เกิดความโกรธขึ้น ถ้าสติระลึกได้จริงๆ จะรู้ได้ว่า แท้ที่จริงแล้วคนนั้นไม่มี แต่ความโกรธของเราต่างหากที่มี ยังไม่ได้ดับ และก็จะ สืบต่อไปถึงชาติต่อๆ ไปด้วย และถ้าสะสมความโกรธนี้ไว้มากๆ ต่อไปแม้ว่าจะ ไม่พบคนนั้น แต่พบคนอื่น ก็จะเกิดความโกรธ ความหงุดหงิด ความหมั่นไส้ ความไม่พอใจขึ้นมาอีก
เพราะฉะนั้น ถ้าเห็นโทษของความโกรธและระงับด้วยการมีเมตตา และรู้ว่าขณะที่มีเมตตาจะเป็นขณะที่เป็นกุศล นั่นคือการเห็นโทษ
แต่ถ้าเป็นคนที่ไม่ชอบความโกรธ เพราะว่าไม่เพลิดเพลิน และเพียงแต่อยากจะไม่โกรธ ขณะนั้นจะเห็นได้ว่า จะไปทำสิ่งที่เข้าใจว่าจะช่วยทำให้หายโกรธ และขณะนั้นก็อาจจะไม่ใช่สมถภาวนาด้วย เพราะว่าไม่เห็นโทษของความโกรธ
ผู้ฟัง ผมเคยนิยมทำสมาธิ หลังจากที่มาฟังอาจารย์แล้วก็เริ่มจะเข้าใจได้บ้าง อย่างที่อาจารย์พูดว่า มีคนที่ไม่ชอบใจบ้างไหม บางคราวสติสัมปชัญญะก็เกิด แต่ คงจะไม่มีกำลัง เพราะก็ยังรู้สึกว่า ไม่ได้ ต้องโกรธต่อไป
สุ. เพราะฉะนั้น ถ้าอบรมให้มีกำลังขึ้น นั่นคือการอบรมเจริญสมถะ ความสงบของจิตในชีวิตประจำวัน แทนที่จะไปนั่งจ้องดินและไม่รู้ว่าเป็นกุศลได้อย่างไร เพียงแต่ดูดินนี่ไม่ต้อง ดินก็คือดิน แต่ความโกรธที่มีอยู่ในใจจะระงับได้อย่างไร นี่คือเรื่องของความโกรธ ถ้าเป็นผู้ที่เห็นโทษของอกุศลจริงๆ ต้องเห็นต่อไปถึงโทษของความรักด้วย คือ อย่าไปเพียงพอใจขั้นเห็นโทษของความโกรธ แม้แต่ความรัก ความผูกพัน ก็เป็นอกุศล
เพราะฉะนั้น กว่าจะเป็นผู้ที่มีพรหมวิหาร ปราศจากอคติ และเป็นผู้ที่ เจริญกุศล คือ ความสงบในชีวิตประจำวัน เพียงแค่ชีวิตประจำวันชั่วขณะ สองขณะ ก็ควรจะเพิ่มขึ้นมากกว่าหวังที่จะไปนั่งทำ นั่งท่อง และขณะนั้นก็ยังโกรธ ยังหลง ยังรักอยู่
ผู้ฟัง ถ้าในชีวิตประจำวันทุกๆ ท่านเริ่มเข้าใจ และอบรมในชีวิตประจำวัน ผมคิดว่า น่าจะเป็นการดี คือ เริ่มต้นศึกษาและฟังพระธรรมไปเรื่อยๆ โดยไม่ต้องเจตนาหรือจดจ้องที่จะทำอย่างใดอย่างหนึ่ง เพียงแต่ว่าในชีวิตประจำวันนั้น ได้พิจารณาตัวเองว่า ฟังธรรมพอหรือยัง และจากการฟังธรรมผมคิดว่าจะเป็นเหตุ เป็นปัจจัยทำให้สติสัมปชัญญะมีกำลังแก่กล้ามากขึ้นพอที่จะรู้ว่า ความโกรธและ ยังโกรธอยู่เป็นการเบียดเบียนตัวเองทั้งในชาตินี้ยังไม่พอ ยังชาติต่อไป เป็นการสะสมต่อไป ถ้าทำอย่างนี้หรือเข้าใจอย่างนี้ คือ ฟังธรรมบ่อยๆ เนืองๆ ผมคิดว่า สภาพจิตของเราคงจะค่อยๆ อ่อนโยนลง เพียงแต่ระลึกว่า ต้องฟังธรรมให้มากกว่านี้ เพื่อจะได้เป็นเหตุเป็นปัจจัย ผมคิดว่าอย่างนั้น
ผู้ฟัง ผมเคยปฏิบัติมา ๓๐ กว่าปีเศษ มีแต่ทุกข์ทรมาน โดนล่ามโซ่ โดนทุบโดนตีทุกวิธีทาง โดยการปฏิบัติสมถะนี้ ไปอยู่ในถ้ำบ้าง ก็ไปทำทุกวิถีทาง แต่จะฆ่ากิเลสอันทำให้ทุกข์เกิดก็ยากแสนยาก กลับมาบ้าน ปฏิฆะ ฟุ้งซ่าน จุดสำคัญคิดว่าเมื่อไรจะหมดกิเลสเสียที ในระยะที่ผมปฏิบัติ ไม่เคยเจอกับ ความบริสุทธิ์ทางจิต ผมมีโอกาสหายจากความทุกข์ทางจิตของผมได้ ก็โดย พระเดชพระคุณท่านอาจารย์แนะให้ผมปฏิบัติในชีวิตประจำวัน เมื่อตาเห็นรูป หูฟังเสียง ให้รู้ไปทุกขณะ อารมณ์จะดีจะชั่วก็ให้จับว่า มีแต่นามรู้ รู้สึกว่า ชีวิตปกติของผมกลับคืนมา อาจารย์แสดงธรรม ทั้งนำพระสูตร พระวินัย พระอภิธรรม ๓ ปิฎก หยิบยกเอามาให้เวไนยสัตว์ทั้งหลาย ให้เจริญสติ ในชีวิตประจำวัน มีคุณค่าที่จะตัดภพตัดชาติในวัฏฏะสงสารอันยืดยาว
ถึงแม้ว่าอาจารย์จะเป็นเพศสตรี ผมก็ขอไหว้ท่านอย่างเต็มที่อีกสักครั้งหนึ่งว่า ท่านเป็นผู้ให้ปัญญา ไม่ได้บังคับให้ผมต้องยอมจำนน ท่านเพียงแต่ชี้ให้รู้ปัญหา ท่านเป็นผู้ให้แสงสว่างแก่ผม ผมจะลืมไม่ได้ และต่อไปนี้ผมต้องฟังธรรมท่านมาก เพราะว่าผมไม่ได้เรียนปริยัติเจนจัดมาเหมือนอย่างท่าน ผมเป็นผู้ที่โง่เขลาเบาปัญญา สติกับปัญญาน้อย แต่ผมถือว่าผมฟังอาจารย์แล้ว ผมก็อาจจะสามารถแตกฉาน รู้พระสูตร พระวินัย พระธรรมตามความเป็นจริงได้ในโอกาสหน้า
สุ. ขออนุโมทนา ท่านที่สนใจในพระธรรมจะเป็นผู้มีปัญญาเจริญขึ้นเรื่อยๆ
ถ. บัญญัติไม่ใช่ปรมัตถ์ แต่บัญญัติก็มีความสำคัญมาก ที่บอกว่า จิตคิดนึกเรื่องราว เรื่องราวไม่ใช่ของจริง แต่ก็เป็นสิ่งที่จำเป็นในชีวิตประจำวัน จะทำการงานอะไรก็ต้องคิดถึงเรื่องราว เช่น วันนี้จะมาฟังธรรมที่นี่ ตอนเช้าอยู่ที่บ้านก็ต้องคิดนึกเหมือนกัน เพราะฉะนั้น การคิดนึก ฟังแล้วดูเหมือนว่าไม่ใช่ของจริง แต่ว่าเป็นสิ่งที่ห้ามไม่ได้ด้วย ใช่ไหม
สุ. การคิดนึกเป็นสิ่งที่มีจริงที่ปัญญาจะรู้ว่า ไม่ใช่เราที่คิด สำคัญที่ว่า ไม่เป็นตัวตนอีกต่อไป เพราะตราบใดปัญญาที่ยังไม่เกิด ก็เราคิด และเรื่องที่เราคิด ก็แสนจะจริง เพราะไม่ประจักษ์ลักษณะของปรมัตถธรรมซึ่งเป็นสภาพธรรมที่ อาศัยปัจจัยเกิดขึ้นและดับไป
เพราะฉะนั้น แม้ว่าบัญญัติจะมีจริงเพราะว่าทุกคนต้องคิด แต่รู้ความจริงของจิตที่คิดหรือเปล่าว่า ไม่ใช่เรา
ถ. หมายความว่า จิตที่คิดนึก จะคิดอย่างไรก็เป็นอนัตตา
สุ. แน่นอน
ถ. เวลาที่คิดนึกอะไร เราก็เพียงแต่มีสติว่า นั่นเป็นจิตที่คิดนึกอย่างหนึ่ง
สุ. รูปคิดไม่ได้ เพราะฉะนั้น ขณะที่กำลังคิด สภาพคิดเป็นของจริง เป็นสภาพรู้ซึ่งไม่ใช่เห็น
ถ. เวลาคิดนึกถึงเรื่องราวก็เจริญสติปัฏฐานได้ เพียงแต่ว่ามีจิตเป็นอารมณ์
สุ. สติสามารถระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมทั้งหมดที่เคยยึดถือว่าเป็นเรา หรือว่าเป็นตัวตน ตราบใดที่ยังไม่ได้ระลึกรู้ลักษณะของขณะที่คิดจะเอาความเป็นตัวตนออกไม่ได้ เพราะว่าเพียงเห็นโดยไม่คิด จะไม่มีการยึดถือสภาพที่เห็นว่าเป็นเรา เพราะว่าวิญญาณขันธ์เป็นเพียงสภาพที่รู้แจ้งลักษณะของอารมณ์ แต่ไม่ใช่ความ เห็นผิด เพราะฉะนั้น ถ้าปราศจากสัญญาขันธ์ คือ สภาพที่จำสิ่งที่จิตทางจักขุทวารเห็นแล้ว ก็ไม่มีการตรึกนึกคิด ความเห็นผิดก็มีไม่ได้
เพราะฉะนั้น เรื่องของสภาพธรรมในชีวิตประจำวันแต่ละขณะที่เกิดขึ้นสลับซับซ้อน จนกระทั่งมีความยึดมั่นในในสิ่งที่ปรากฏแม้ว่ากำลังเกิดดับว่า เป็นสิ่งที่ไม่ดับ และเป็นสิ่งหนึ่งสิ่งใดที่เที่ยง ที่ถาวร จะเห็นได้ว่า เพราะความไม่รู้ลักษณะของขันธ์ทั้งหลายนั่นเอง เพราะฉะนั้น ต้องศึกษาให้เข้าใจจริงๆ โดยการ ฟังแล้วฟังอีก จนกระทั่งสติปัฏฐานระลึกตรงลักษณะของสภาพธรรม
ถ. ที่อาจารย์สอนให้เจริญสติในชีวิตประจำวันเป็นปกติ ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ ให้รู้ตัวทั่วพร้อมไปทุกขณะโดยไม่บังคับ เมื่อเกิด ก็ให้เห็นว่าเกิดเป็นอย่างนี้ แต่เมื่อได้ยินได้ฟังแล้ว ผมก็มาพิจารณาว่า ตารู้อย่างหนึ่ง หูรู้อย่าง กระจัดกระจายกัน จึงหาสัตว์ บุคคล ตัวตนไม่ได้ เมื่อผมเจริญไปแล้ว ผมไม่เห็นว่ามีอะไรตาย ความตายนี่คนไปตั้งกฎเกณฑ์ ผมไม่เห็นว่ามีอะไรตาย ผมเห็นอย่างนี้จะถูกหรือเปล่า
สุ. สภาพธรรมที่เป็นสังขารธรรมเกิดขึ้นและดับไป ไม่มีขณะไหนที่ยั่งยืน นี่คือขณิกมรณะ ความตายทุกขณะ
ถ. แต่ที่จะรู้ความตาย ตอนเป็นหรือตอนตาย
สุ. เวลาที่บอกว่า คนเกิด คือ จิต เจตสิก รูปในภูมิที่มีขันธ์ ๕ เกิด เวลาที่บอกว่า คนตาย ก็หมายความว่า จิต เจตสิก รูปในภูมินั้นดับและไม่เกิดต่ออีก จึงชื่อว่าตาย เพราะว่าขณะที่ยังมีชีวิตอยู่ ก็คือขณะที่จิต เจตสิก รูปเกิดดับ และ เกิดอีก ดับอีก เกิดอีก ดับอีก สืบต่อไปเรื่อยๆ ในระหว่างที่ยังมีชีวิต แต่ที่ชื่อว่าตาย ก็คือจิต เจตสิก รูปดับแล้วไม่เกิดอีกในชาตินั้น ในความเป็นบุคคลนั้น
แนวทางเจริญวิปัสสนา เล่ม ๑๗๗ ตอนที่ ๑๗๖๑ – ๑๗๗๐
เรียบเรียงอักษรให้อยู่ในรูปแบบหนังสือ โดยมีเนื้อหาใจความสำคัญครบถ้วน
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1752
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1753
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1754
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1755
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1756
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1757
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1758
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1759
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1760
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1761
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1762
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1763
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1764
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1765
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1766
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1767
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1768
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1769
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1770
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1771
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1772
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1773
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1774
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1775
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1776
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1777
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1778
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1779
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1780
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1781
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1782
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1783
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1784
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1785
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1786
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1787
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1788
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1789
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1790
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1791
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1792
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1793
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1794
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1795
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1796
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1797
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1798
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1799
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1800
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1801
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1802
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1803
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1804
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1805
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1806
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1807
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1808
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1809
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1810
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1811
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1812
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1813
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1814
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1815
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1816
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1817