แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1772


    ครั้งที่ ๑๗๗๒


    สาระสำคัญ

    พระพุทธศาสนาเป็นศาสนาที่มีเหตุผล (เรื่องของปัญญา)

    เทวตานุสติ (การระลึกถึงคุณความดีของเทวดา)

    วิญญาณ (สภาพรู้ อาการรู้ ธาตุรู้ หรือลักษณะรู้)

    จิตอยู่ที่ไหน

    ตราบใดที่ยังมีกิเลส ตราบนั้นก็ยังมีการฆ่า


    สนทนาธรรมที่โรงพยาบาลจังหวัดอุดรธานี

    วันอาทิตย์ที่ ๕ กุมภาพันธ์ ๒๕๓๑


    คำถามต่อไป

    ข้อ ๑. การบูชาไหว้เจ้า ตั้งศาลต่างๆ หรือมีสิ่งเหล่านี้อยู่เพื่อบูชากราบไหว้ จะถือว่างมงาย หรือผิดหลักพุทธศาสนิกชนหรือไม่

    ข้อ ๒. วิญญาณมีจริงหรือไม่ คนเราตายแล้วไปไหน

    ข้อ ๓. การทำบุญ บุญจะตกอยู่กับผู้ทำ แต่ถ้าเราต้องการแผ่ส่วนกุศลให้ผู้ที่ล่วงลับ เขาจะได้รับหรือไม่

    นี่ก็น่าคิด เพราะได้เรียนให้ทราบแล้วว่า พระพุทธศาสนาเป็นศาสนาที่มีเหตุผล เป็นเรื่องของปัญญา อย่างปัญหาข้อ ๑. การบูชาไหว้เจ้า ตั้งศาลต่างๆ หรือมี สิ่งเหล่านี้อยู่เพื่อบูชากราบไหว้ จะถือว่างมงาย หรือผิดหลักพุทธศาสนิกชนหรือไม่

    เจ้าคือใคร ทุกอย่างจะต้องมาถึงแก่นว่าคืออะไรก่อน จึงจะรู้ว่าสิ่งที่เราทำถูกผิดประการใด

    เจ้าก็คือผู้ที่เกิดเป็นเทพ ไม่ใช่มนุษย์แน่ๆ อีกภพภูมิหนึ่ง ใช่ไหม ที่เรียกว่าเจ้า คงไม่มีใครไปไหว้สัตว์ในนรก หรือพวกเปรต หรือพวกอะไร แต่ต้องไหว้ผู้ที่จากโลกนี้ไปสู่ภูมิที่สูงกว่านั้น ซึ่งควรแก่การที่จะระลึกถึงคุณความดี

    เพราะฉะนั้น การระลึกถึงคุณความดีของเทพไม่ว่าจะเป็นชั้นไหนก็ตาม เป็นสิ่งซึ่งไม่เป็นโทษเลย ทำให้รู้สึกว่าความดีเป็นสิ่งที่ควรแก่การระลึกถึงและเพื่อประพฤติปฏิบัติตามด้วย ไม่ใช่เพียงแต่เขาทำดีก็ดีเป็นเรื่องของเขา ส่วนเราก็ทำไม่ดีต่อไป อย่างนั้นจะไม่มีประโยชน์เลย เพราะฉะนั้น อนุสสติ คือ การระลึกถึงคุณความดีแม้แต่ของเทวดา ก็ต้องเพื่อเราจะได้ทำความดีนั้นๆ ด้วย

    แต่เรื่องของการตั้งศาลเป็นอีกเรื่องหนึ่ง ซึ่งภูมิเทพมีที่อยู่ในสวรรค์ชั้นต่างๆ ไม่จำเป็นต้องอยู่ศาลเล็กๆ ใช่ไหม เล็กกว่าบ้านคนธรรมดา และคิดว่าเทพจะต้องอยู่ที่นั่น แต่เทพไม่จำเป็นต้องอยู่ที่ศาล เพราะว่ามีที่อยู่ของเทพ

    เทวดามีหลายประเภท มีตั้งแต่เทวดาชั้นต่ำที่เป็นพวกรุกขเทวดาซึ่งสูงกว่า ภูมิมนุษย์ไม่มากนัก และก็มีที่อยู่ โดยที่เราไม่ต้องไปห่วงกังวลว่าจะต้องหาที่อยู่ให้ เป็นที่เล็กๆ ภายในบ้าน และการบูชาอย่างที่ได้เรียนให้ทราบว่า การบูชาเทพโดยถูกต้องนั้นควรจะเป็นว่า เมื่อทำกุศลใดๆ แล้วก็อุทิศให้เทพรู้และอนุโมทนา ไม่ใช่เพียงแต่กราบไหว้ด้วยของหอมหรืออะไรอย่างนั้น เพราะถ้าเป็นในลักษณะนั้น ก็เหมือนกับภูมิมนุษย์ ใครเอาดอกไม้มาให้เรา แต่เขาประพฤติชั่ว เราจะรู้สึกอย่างไร กับเขาไม่ต้องเอาดอกไม้มาให้เรา แต่เขาประพฤติดี เราจะดีใจมากกว่าไหม หรือใครดีใจเวลาที่คนชั่วเอาดอกไม้มาให้ แต่ไม่ยินดีด้วยเมื่อเขาประพฤติดีโดยไม่เอาดอกไม้มาให้

    นี่ก็ขึ้นอยู่กับคุณธรรมของเทพ หรือของคนที่รับการกราบไหว้บูชา อย่าง พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นผู้ที่ดับกิเลสหมด แต่แม้กระนั้นก็มีคนที่นำทุกอย่าง ที่สวยงาม เช่น ดอกไม้ของหอมต่างๆ ไปถวายเป็นการบูชา โดยที่พระองค์ไม่ได้ทรงยินดีในสิ่งต่างๆ เหล่านั้น เพราะทรงดับกิเลสหมดแล้ว แต่ทรงให้ประพฤติธรรม เป็นการบูชา เพราะฉะนั้น ใครก็ตามที่ทำตามคำสอนตามที่ได้ศึกษาพระธรรม มีความตั้งใจที่จะดับกิเลส นั่นคือปฏิบัติบูชา ซึ่งเป็นสิ่งที่พระองค์ทรงประสงค์จึงได้ทรงบำเพ็ญพระบารมีถึงสี่อสงไขยแสนกัป ไม่ใช่เพื่อที่จะรับดอกไม้ แต่เพื่อให้สัตว์โลกได้หมดกิเลสด้วยการประพฤติปฏิบัติตามพระธรรม

    เพราะฉะนั้น เทพก็เช่นเดียวกัน นานาจิตตัง แล้วแต่เทพไหนจะยินดีอย่างไหน และท่านที่จะบูชาเทพ ก็เลือกเทพได้อีกเหมือนกันว่า จะบูชาเทพชนิดที่ยินดีในดอกไม้ หรือยินดีในการประพฤติธรรม

    ข้อ ๒. วิญญาณมีจริงหรือไม่ คนเราตายแล้วไปไหน

    คำตอบนี้จะรู้ได้ด้วยตัวเองเมื่อเข้าใจคำว่า วิญญาณ

    วิญญาณไม่ใช่สิ่งซึ่งเกิดหลังจากตายแล้ว แต่ในขณะที่กำลังนั่งอยู่ที่นี่ ทุกคนมีจิต ซึ่งภาษาบาลีใช้หลายคำ ใช้คำว่า มนัส มโน วิญญาณก็ได้ หมายความถึงสภาพรู้ อาการรู้ ธาตุรู้ หรือลักษณะรู้

    ถ้าพูดถึงคำในภาษาไทยอย่างคำว่า จิต หรือคำว่า จิตใจ ไม่เป็นที่สงสัยเลย ทุกคนมีจิตใจแน่ๆ แต่ถ้าถามให้ละเอียดกว่านั้นอีกนิดหนึ่งว่า จิตอยู่ที่ไหน กำลังมี แท้ๆ และบอกด้วยว่ามี แต่จะตอบได้ไหมว่าขณะนี้จิตอยู่ที่ไหน ถ้ายังตอบไม่ได้ ก็ยังสงสัยเหมือนคำถามข้อ ๒ แต่ถ้าตอบได้จะไม่สงสัยเลย คือ กำลังเห็น เป็นจิตชนิดหนึ่ง กำลังได้ยินเป็นจิตชนิดหนึ่ง กำลังได้กลิ่นเป็นจิตชนิดหนึ่ง กำลังลิ้มรสเป็นจิตชนิดหนึ่ง กำลังรู้สิ่งที่อ่อนหรือแข็ง เย็นหรือร้อนเป็นจิตชนิดหนึ่ง กำลังอยากได้อาหารอร่อยเป็นจิตชนิดหนึ่ง กำลังอยากฟังเพลงเพราะๆ เป็นจิต ชนิดหนึ่ง กำลังอยากเห็นสิ่งที่สวยๆ งามๆ เป็นจิตชนิดหนึ่ง กำลังโกรธ กำลังไม่พอใจ ก็เป็นจิตแต่ละชนิด

    เพราะฉะนั้น จิตทั้งหมดมี ๘๙ ชนิด น่าสนใจไหม

    ทุกคนมีกี่ชนิดที่ควรจะได้รู้ นี่คือการรู้จักตัวเองทีละเล็กทีละน้อยในวันหนึ่งๆ เพื่อจะได้เข้าใจว่า จะใช้คำว่าจิตก็ได้ จะใช้คำว่าวิญญาณก็ได้ เช่น ขณะนี้ที่ กำลังเห็นบาลีใช้คำว่า จักขุวิญญาณ หมายถึงจิตที่รู้โดยอาศัยตา เพราะถ้าไม่มี จักขุปสาทจะไม่เห็น

    สำหรับในขณะที่กำลังได้ยิน ขณะที่เสียงกำลังปรากฏ ต้องมีจิตที่ได้ยินเสียง เพราะฉะนั้น ในขณะที่กำลังได้ยินเสียงเป็นจิตชนิดหนึ่ง ใช้คำว่า โสตวิญญาณ คือ จิตที่รู้โดยอาศัยหู

    นี่คือธรรมดาๆ ในชีวิตประจำวัน แต่ศัพท์จะทำให้เราเข้าใจผิด โดยเฉพาะเวลาใช้คำว่า วิญญาณ ก็กลายเป็นอีกเรื่องหนึ่งแล้ว คือ กลายเป็นว่าตายไปแล้ว วิญญาณล่องลอยไปที่ต่างๆ ซึ่งนั้นไม่ใช่หลักที่เป็นพระพุทธศาสนาเลย เพราะว่าพระพุทธศาสนามีนามธรรมซึ่งเป็นสภาพรู้ เป็นธาตุรู้ เป็นอาการรู้ จะใช้คำว่า จิต ก็ได้ หรือจะใช้คำว่า วิญญาณ ก็ได้ เหมือนสตรีกับนารี เหมือนกันหรือเปล่า ถ้าสตรีกับนารีเหมือนกัน จิตกับวิญญาณก็เหมือนกัน เพราะว่าได้แก่สภาพรู้ ลักษณะรู้ อาการรู้

    ที่ว่าคนเราตายแล้วไปไหน ที่ว่าตาย คือ แทนที่จะเห็น แทนที่จะได้ยิน ก็มีจิตดวงหนึ่ง ขณะหนึ่ง ทำกิจจุติ คือ ทำให้เคลื่อนจากความเป็นบุคคลนี้ พ้นสภาพความเป็นบุคคลนี้โดยสิ้นเชิง จะไม่มีการกลับมาเป็นบุคคลนี้อีกเลย ที่ใช้ คำว่า ตาย ก็เมื่อจุติจิตเกิดขึ้นและดับไป

    เมื่อจุติจิตเกิดขึ้นและดับไปจะมีปัจจัยทำให้ปฏิสนธิจิตเกิดสืบต่อ คือ เกิดทันที หลังจากที่จุติจิตดับปฏิสนธิจิตต้องเกิดต่อ เหมือนกับในขณะนี้จิตที่เห็นดับ จิตอื่นเกิดคั่น และจิตได้ยินก็เกิด เมื่อจิตได้ยินดับ จิตอื่นเกิดคั่น และจิตเห็นก็เกิด

    การเกิดดับของจิต ไม่มีใครสามารถทำลายได้เลย นี่คือสังสารวัฏฏ์ นอกจากปัญญาที่รู้ความจริงจนกระทั่งดับกิเลสหมดเมื่อไร เมื่อนั้นจึงจะไม่มีปัจจัยให้ปฏิสนธิจิตเกิด ผู้ที่ไม่เกิดอีกมีบุคคลประเภทเดียว คือ พระอรหันต์ ตราบใดที่ยังไม่ใช่ พระอรหันต์ แม้ว่าจะรู้แจ้งอริยสัจจธรรมเป็นพระโสดาบัน เป็นพระสกทาคามี เป็นพระอนาคามี ก็ยังต้องเกิด แต่น้อยชาติลง เพราะว่าได้ดับกิเลสไปเรื่อยๆ

    สมพร ที่อาจารย์พูดถูกแล้ว จิตคือวิญญาณ วิญญาณคือจิต แต่ส่วนมากคนเข้าใจว่าตายแล้วเป็นวิญญาณ ที่จริงเรานั่งอยู่นี่ วิญญาณก็เกิดดับ ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ ทางตาก็เรียกว่าจักขุวิญญาณ ทางหูก็เรียกว่าโสตวิญญาณ เป็นต้น ไม่จำเป็นต้องตายแล้วจึงจะมีวิญญาณ แต่วิญญาณไม่ปรากฏกับเราเพราะไม่เข้าใจ ไม่รู้ว่าวิญญาณคืออะไร จิตคืออะไร ความจริงวิญญาณกับจิตเป็นสภาพรู้อารมณ์เท่านั้นเอง เพราะฉะนั้น ที่ท่านบอกว่า เห็นปรากฏ ก็คือจักขุวิญญาณนั่นเอง วิญญาณในที่นี้ไม่แตกต่างจากการตายหรือ การเกิด ใช้อย่างเดียวกัน

    สุ. คำถามข้อที่ ๓ การทำบุญ บุญจะตกอยู่กับผู้ทำ แต่ถ้าเราต้องการ แผ่ส่วนกุศลให้ผู้ที่ล่วงลับ เขาจะได้รับหรือไม่

    สมพร เราทำบุญ เราต้องได้บุญแน่นอน แต่ที่จะอุทิศให้คนอื่น ก็แล้วแต่เหตุปัจจัย ถ้าเขารับรู้ได้ในบุญที่เราทำ ที่เราอุทิศส่วนกุศลให้ และเขาอนุโมทนา เขาก็ได้รับ แต่ถ้าเขาไปเกิดในที่ที่ไม่รู้ในบุญที่เราอุทิศให้ ก็แน่นอนว่าเขาจะไม่ได้รับส่วนกุศลนั้น ขอให้อาจารย์เพิ่มเติม

    สุ. ถ้าเขาเกิดเป็นสัตว์ดิรัจฉาน ก็เช่นเดียวกับเกิดเป็นมนุษย์ คือ ไม่สามารถรู้ได้ ก็อนุโมทนาไม่ได้ แต่ถ้าเกิดเป็นเปรตและมีทางที่จะรู้ ก็อนุโมทนาได้

    เพราะฉะนั้น การได้บุญหรือการรับส่วนบุญที่มีผู้อุทิศไปให้ ไม่ใช่เราหยิบยื่นบุญของเราให้คนอื่น แต่หมายความว่าเราอุทิศส่วนกุศลให้เขารู้ และถ้าจิตของเขาอนุโมทนา คือ ยินดีด้วย นั่นคือกุศลจิตเขาเกิด จึงเป็นบุญของเขา ไม่ใช่บุญของเราเอาไปให้เขา แต่ต้องเป็นบุญของเขาเอง คือ กุศลจิตของเขาเองเกิดและอนุโมทนาเพราะฉะนั้น แม้ว่าญาติพี่น้องมิตรสหายจะสิ้นชีวิตไปแล้ว เราทำบุญอุทิศส่วนกุศลให้ ก็เผื่อว่าเขาจะรู้และอนุโมทนา แต่ขึ้นอยู่กับเขา ถ้าไม่รู้ก็อนุโมทนาไม่ได้ หรือถ้ารู้แต่ ไม่อนุโมทนา เราจะเอาบุญของเราไปให้เขาก็ไม่ได้ เพราะว่าบุญของใครก็ขึ้นอยู่กับจิตใจของคนนั้น

    คำถามข้อต่อไป ในชีวิตประจำวันบางช่วงรู้สึกสดใสสบายใจ อยากจะกระทำแต่ความดี เช่น ตื่นเช้าสวดมนต์ทำวัตร ฟังธรรม แต่บางช่วงขี้เกียจ ง่วงเหงา ไม่ขยัน คิดว่าคงเกิดจากกิเลสครอบจิตใจ อยากทราบแนวทางปฏิบัติที่จะทำให้จิตใจดำรงมั่นอยู่ในช่วงที่ดีตลอด เช่น ขยัน ไม่มีความเบื่อหน่าย

    ดูเสมือนว่าเป็นผู้ที่ดีพร้อมตลอด คือ ไม่อยากจะไม่ดี ไม่อยากจะไม่ขยัน ไม่อยากจะเบื่อหน่าย แต่จะเป็นไปได้ต่อเมื่อเป็นพระอรหันต์แล้ว เพราะฉะนั้น ตราบใดที่ยังไม่เป็นพระอรหันต์ก็ค่อยๆ สะสมความดีไปเรื่อยๆ เท่าที่จะกระทำได้ เพราะว่าอกุศลทั้งหลาย กิเลสทั้งหลายที่สะสมมามากกว่ากุศล เพราะฉะนั้น ย่อมจะมีโอกาสเกิดและแสดงตัวให้เห็นว่า ความไม่ดีของเรามีแค่ไหน ซึ่งควรจะเป็นอนุสสติ

    ถ้าใครเห็นความไม่ดีของตนเอง คนนั้นก็ควรที่จะทำความดี และรู้ว่าอกุศล เป็นสิ่งที่ควรละเว้น แทนที่จะอยากโดยที่ว่าไม่มีเหตุ แต่จะต้องอบรมเจริญปัญญาจนกว่ากิเลสจะลดลง

    ข้อสุดท้ายถามว่า ถ้ามนุษย์ไม่มีการฆ่าสัตว์เลย แต่ปัจจุบันการดำรงชีวิต โดยเฉพาะการกินอยู่เราก็กินเนื้อสัตว์แทบทุกวัน ถ้าไม่ฆ่าสัตว์จะดำรงชีวิตกันอย่างไร เพราะส่วนมากมนุษย์กินเนื้อสัตว์ และขอเรียนถามอาจารย์ว่า อาจารย์ทานเนื้อสัตว์หรือไม่

    ดิฉันรับประทานเนื้อสัตว์ เช่นเดียวกับพระภิกษุทั้งหลายท่านก็บริโภคเนื้อสัตว์ตามพระวินัย คือ สำหรับพระภิกษุเมื่อไม่เห็น ไม่ได้ยิน และไม่สงสัยในเนื้อนั้น ท่านก็บริโภคได้

    คำถามนี้เป็นที่ข้องใจไม่ใช่แต่สำหรับชาวพุทธ แต่อาจจะเป็นข้อโจมตีหรือ ข้อตำหนิของศาสนาอื่นซึ่งเคยได้ยินได้ฟังมาว่า คำสอนของเราดูคล้ายๆ จะ ปากว่าตาขยิบ คือ ในขณะที่ไม่ให้ฆ่าแต่ก็บริโภคเนื้อสัตว์ ซึ่งความจริงแล้วไม่ใช่เรื่อง ปากว่าตาขยิบ หรือไม่ใช่เรื่องที่จะไม่สอดคล้อง แต่เป็นเรื่องที่แสดงให้เห็นว่า ตราบใดที่ยังมีกิเลส หรือกิเลสยังไม่ดับ ตราบนั้นก็ยังมีการฆ่า แต่ผู้ที่ดับกิเลส เช่นพระโสดาบันเป็นต้นไป จะไม่มีเจตนาฆ่าอีกเลย แต่บริโภคเนื้อสัตว์ได้

    เรื่องของการบริโภค ไม่ใช่ว่าเนื้อสัตว์จะทำให้เราเกิดปัญญา หรือเนื้อสัตว์ จะทำให้เราเป็นพระอริยบุคคล ไม่ใช่ขึ้นอยู่กับเนื้อสัตว์ แต่อยู่ในขณะที่เรากำลังบริโภคว่า เราบริโภคด้วยอกุศลจิต ด้วยกิเลส หรือด้วยจิตที่เป็นกุศล

    นี่เป็นข้อที่ต่างกัน เพราะว่าการฆ่านั้นแน่นอนต้องเป็นอกุศลจึงฆ่า จิตที่เป็น โทสมูลจิตประกอบด้วยความไม่ยินดี ต้องการจะทำลายสิ่งนั้นจึงได้ฆ่า ขณะนั้นต้องเป็นอกุศล แต่ขณะที่บริโภคด้วยสติ ระลึกรู้ลักษณะของนามธรรมและรูปธรรม โดยความเป็นอนัตตา เพราะว่าสิ่งที่บริโภค ทางตาก็เป็นแต่เพียงสีสันต่างๆ เวลาที่กระทบสัมผัสลิ้นหรือริมฝีปากก็อ่อนหรือแข็ง ก็เป็นแต่เพียงธาตุชนิดหนึ่ง เวลาที่กระทบกับลิ้นก็ปรากฏเป็นรสต่างๆ ซึ่งเกิดดับ เพราะฉะนั้น ถ้าในขณะนั้น ปัญญาเกิดขึ้นรู้ลักษณะของสภาพธรรม ในขณะนั้นก็ต่างกับผู้ไม่บริโภคเนื้อสัตว์ ด้วยความพอใจ

    คิดถึงคน ๒ คน คนหนึ่งไม่บริโภคเนื้อสัตว์ แต่มีโลภะขณะที่กำลังบริโภค อีกคนหนึ่งบริโภคเนื้อสัตว์ แต่มีปัญญาในขณะที่บริโภค ควรเจริญอย่างไหน เพราะว่าในขณะนั้นไม่ใช่ผู้ฆ่า และตราบใดที่คนทั้งโลกยังบริโภคเนื้อสัตว์ ยังมีกิเลส การบริโภคของผู้ที่เลี้ยงง่ายย่อมจะไม่มีการพิถีพิถันจนกระทั่งทำให้คนอื่นเขาลำบาก

    อย่างบางคนอาจจะนิยมพระภิกษุบางรูปที่มักจะถามว่า อาหารที่นำมาใส่บาตรเป็นเนื้อสัตว์หรือเปล่า ถ้าบอกว่าเป็นเนื้อสัตว์ก็ไม่รับ ซึ่งที่จริงแล้วไม่ถูก เพราะว่า ผู้นั้นมีศรัทธาที่จะถวายภัตตาหาร เพราะฉะนั้น พระภิกษุซึ่งเป็นผู้ที่เลี้ยงง่ายจะต้องรับเพื่อไม่ให้เขาขาดกุศลที่ควรเป็นไป ขอให้อาจารย์สมพรเพิ่มเติมด้วย

    สมพร นี่เป็นความจริง การที่จะห้ามฆ่าสัตว์ แม้พระพุทธเจ้าทรงแสดงธรรมตลอด ๔๕ พรรษา ก็ยังไม่สามารถห้ามคนฆ่าสัตว์ได้ ห้ามได้เฉพาะบางพวกที่ มีปัญญา แต่คนที่ไม่มีปัญญาก็มากมาย เพราะฉะนั้น ปัจจุบันนี้เราก็ไม่สามารถห้ามคนเหล่านั้นได้ เพราะว่าทุกสิ่งทุกอย่างเป็นไปตามเหตุปัจจัย

    พิจารณาอีกอย่างหนึ่งว่า คนมีสติปัญญาบริโภคเนื้อสัตว์ กับคนไม่มีสติปัญญาไม่บริโภคเนื้อสัตว์ อย่างไหนกุศลจะเกิด อย่างไหนอกุศลจะเกิด ซึ่งเราก็เข้าใจแล้ว คนหนึ่งฆ่าสัตว์ เราบริโภคเนื้อสัตว์ ประกอบกับพิจารณาแยกว่าสิ่งนี้ เป็นธาตุ จิตที่เรารู้นี้ก็เป็นธาตุเท่านั้นเอง ไม่ใช่คน ไม่ใช่สัตว์ เรียกว่าประกอบด้วยปัญญา เมื่อเรามีปัญญาเกิดขึ้นบริโภคเนื้อสัตว์อย่างนี้กุศลก็เกิดขึ้น แต่คนที่ไม่รู้ ไม่มีปัญญา ไม่ได้ศึกษาเลย ก็บริโภคด้วยความยินดีติดใจในรส ในอาหาร อกุศล ก็เจริญมากขึ้น

    เจริญมากขึ้นอย่างไร คือ บางทีไม่ถูกใจโทสะก็เกิดขึ้น โทสะคืออะไร คือ ความไม่สบายใจ ไม่ชอบใจ บางครั้งอร่อย ชอบใจ โลภะก็เกิดขึ้น นี่เป็นผล มาจากการไม่ศึกษา ไม่เล่าเรียนของคนที่ไม่มีปัญญา

    สุ. ข้อที่น่าคิด คือ ดิฉันเคยเห็นคนที่ไม่บริโภคเนื้อสัตว์ แต่ฆ่าสัตว์ ฆ่ายุงง่ายๆ เลย ยุงกัดก็ตบเลย แต่เป็นผู้ที่ไม่บริโภคเนื้อสัตว์ นี่ก็เป็นข้อที่น่าคิด

    . เราแต่งตัวสวยๆ แต่งหน้าทาปากอย่างนี้ แสดงว่าเรายังมี โลภะมาก ใช่ไหม

    สุ. นี่เป็นสิ่งซึ่งยังไม่ค่อยจะเข้าใจกันว่า ปฏิบัติธรรมคืออะไร และ ใครปฏิบัติธรรม คนที่ยังมีกิเลสควรปฏิบัติธรรมหรือไม่ควร หรือหมดกิเลสแล้ว จึงปฏิบัติธรรม

    ทุกอย่างเป็นสิ่งที่จะต้องพิจารณาในเหตุผลว่า ถ้าหมดกิเลสแล้ว ไม่มีกิเลสเลย ไม่ต้องปฏิบัติธรรมแล้ว แต่ผู้ที่จะต้องปฏิบัติธรรม คือ การอบรมเจริญปัญญา คือ ผู้ที่ยังมีกิเลสอยู่ และเพียรเพื่อที่จะดับกิเลสตามระดับขั้นของปัญญา

    พุทธบริษัทมี ๔ คือ ภิกษุ ๑ ภิกษุณี ๑ อุบาสก ๑ อุบาสิกา ๑ ในสมัยโน้น มีครบทั้ง ๔ แต่สมัยนี้ไม่ใช่กาลสมัยของพระภิกษุณี เพราะฉะนั้น พุทธบริษัทมี ๓ คือ ภิกษุ ๑ อุบาสก ๑ อุบาสิกา ๑ สำหรับสามเณรซึ่งเป็นอนุปสัมบัน รวมอยู่ใน เพศบรรพชิต คือ ถึงแม้จะไม่ใช่พระภิกษุแต่ก็เป็นผู้ที่ประพฤติปฏิบัติตามพระวินัย ที่ทรงแสดงไว้ว่าสิกขาบทของสามเณรมีเท่าไร



    คำบรรยายคัดลอกจาก E-book
    แนวทางเจริญวิปัสสนา เล่ม ๑๗๘ ตอนที่ ๑๗๗๑ – ๑๗๘๐
    เรียบเรียงอักษรให้อยู่ในรูปแบบหนังสือ โดยมีเนื้อหาใจความสำคัญครบถ้วน
    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 96
    28 ธ.ค. 2564