แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1773
ครั้งที่ ๑๗๗๓
สาระสำคัญ
บรรพชิตและฆราวาสบรรลุอริยสัจจธรรมได้
สัจจธรรม คือ สิ่งที่มีจริง อะไรก็ตามที่มีจริง สิ่งนั้นปัญญาควรรู้
สัมมาสัมพุทธะ พุทธะคือ ผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน
การศึกษาธรรมมี ๓ ระดับ
สนทนาธรรมที่โรงพยาบาลจังหวัดอุดรธานี
วันอาทิตย์ที่ ๕ กุมภาพันธ์ ๒๕๓๑
ในสมัยที่พระผู้มีพระภาคยังไม่ปรินิพพาน ผู้ที่รู้แจ้งอริยสัจจธรรมเป็น พระโสดาบันบุคคล มีทั้งที่เป็นภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกา แม้ผู้ที่บรรลุคุณธรรมเป็นพระสกทาคามี พระอนาคามี ก็มีทั้งที่เป็นภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกาด้วย เพราะฉะนั้น ผู้ที่ศึกษาพระธรรมเป็นผู้ที่ตรงต่อตัวเอง เมื่อตนเองเป็นอย่างไร ตามความเป็นจริงก็เป็นอย่างนั้น ไม่ใช่การหลอกลวงบุคคลอื่น ถ้าเป็นผู้ที่มีนิจศีล คือ ศีล ๕ ก็ไม่ทำตนว่าเป็นผู้มีศีลมากกว่านั้น คือ ถึงศีล ๘ หรือศีล ๑๐
เพราะฉะนั้น แต่ละคนรู้จักตัวเองได้ว่า ผู้ที่จะเป็นพระอริยบุคคลแม้เพียงศีล ๕ ก็เป็นพระโสดาบันได้ เป็นพระสกทาคามีได้ เป็นพระอนาคามีได้ ไม่จำกัด แล้วแต่ว่าสะสมมาอย่างไร
เมื่อพระผู้มีพระภาคทรงแสดงธรรมกับท่านสุทัตตะเศรษฐี ซึ่งเรารู้จักท่าน ในนามของท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐี เมื่อท่านได้ฟังพระธรรมแล้ว ท่านก็เป็น พระโสดาบัน ท่านไม่ได้บวชเป็นพระภิกษุเลย แม้อุบาสิกาวิสาขาได้ฟังพระธรรม ในขณะที่มีอายุเพียง ๗ ขวบ ก็ได้บรรลุเป็นพระโสดาบัน ท่านก็ไม่ได้บวช และท่านก็มีครอบครัว มีบุตร มีหลานมากมาย เพราะท่านรู้จักตัวของท่านเองตามความเป็นจริงว่า ท่านดับความยึดถือนามธรรมและรูปธรรมว่าเป็นตัวตน รู้แจ้งอริยสัจจธรรม แต่ท่านยังไม่ได้ละความยินดีพอใจในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส ในโผฏฐัพพะ
พระพุทธศาสนาเป็นศาสนาที่ตรง ไม่ใช่หลอกลวง ไม่ใช่ว่ายังมีกิเลสอยู่ ก็ทำเสมือนว่าไม่มีกิเลส บุคคลใดมีกิเลสขั้นใด ก็รู้ตัวเองตามความเป็นจริงขั้นนั้น ด้วยเหตุนี้พุทธบริษัทจึงมี ๒ ฝ่าย คือ ฝ่ายบรรพชิตและฝ่ายฆราวาส
ยังพอใจในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส ในโผฏฐัพพะ ก็อบรมเจริญปัญญาได้ อย่าคิดว่าช่างมีกิเลสมากมายเสียเหลือเกิน สติปัญญาคงไม่เกิด ไม่มีอะไรที่จะเป็นเครื่องกั้นปัญญา นอกจากความเห็นผิด หรือความไม่รู้หนทางข้อปฏิบัติที่ถูกต้อง ถ้าเป็นผู้รู้หนทางข้อปฏิบัติที่ถูกต้องแล้ว ก็ค่อยๆ อบรมเจริญไป สักวันหนึ่งก็จะรู้แจ้งอริยสัจจธรรม แต่ยังไม่เป็นพระอรหันต์ทันที ต้องเริ่มจากความเป็นพระโสดาบันก่อน ซึ่งเป็นผู้ที่ยังยินดีพอใจในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส ในโผฏฐัพพะ เพราะว่าไม่ใช่สิ่งที่จะละได้โดยง่าย
คนที่อาจจะไม่พอใจในรูป หรือว่ามีความพอใจในเสียงน้อย มีความพอใจ ในกลิ่นน้อย แต่ยังเป็นผู้ที่มีความพอใจในรสมาก นั่นก็เป็นเรื่องของโลภะ ไม่พ้นจากรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ และบางคนที่คิดว่าไม่พอใจในรูป แต่ยังชอบดู ภาพสวยๆ จิตรกรรมสวยๆ ก็แสดงให้เห็นแล้วว่า ยังเป็นผู้ที่มีความยินดีในรูปอยู่
มีใครบ้างที่จะไม่ยินดีในรูป ยังดูหนัง ดูโทรทัศน์ ดูภาพเขียน หรือแม้แต่ หนองประจักษ์ที่อยู่ข้างหน้า ก็เป็นภูมิภาคที่น่ารื่นรมย์ ในขณะนั้นก็ยังเป็นผู้ที่ยินดีอยู่ในสิ่งที่ปรากฏทางตา
เพราะฉะนั้น ต้องเข้าใจถึงความลึกของกิเลสว่า ที่พอใจในรูป ไม่จำกัดเลยว่ารูปชนิดไหน สิ่งที่ปรากฏทางตาทั้งหมดยังอยากเห็น เมื่อเห็นแล้วยังอยากที่จะพอใจ ให้ได้เห็นอย่างที่ต้องการด้วย นี่เป็นเหตุที่มีจิตรกรรมต่างๆ ถ้าเพียงแต่เป็นฝาผนัง เฉยๆ ก็ไม่ชอบ ต้องวาด ต้องเขียนให้เป็นมุมต่างๆ เป็นรูปต่างๆ เพราะว่า ตาต้องการเห็นสิ่งที่มีความวิจิตร ลวดลายต่างๆ
แสดงให้เห็นถึงความพอใจในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส ในโผฏฐัพพะ ซึ่งทุกคนมีมากหรือน้อยต่างกัน ทำไมต้องมีปากกาหลายแบบ ก็คือยังพอใจในสิ่งที่ปรากฏทางตา จะเรียกว่าไม่ติดในสีในรูปไม่ได้เลย
ไม่ใช่เผินๆ และก็คิดว่าละแล้ว แต่จะต้องรู้จริงๆ ว่า กิเลสเกิดเมื่อไร เกิดจากอะไร และจะดับได้อย่างไร ในเมื่อไม่ได้มีกิเลสแต่เฉพาะในชาตินี้ชาติเดียว
ถ. เรารู้ว่ามีกิเลสเกิดขึ้น และเราจะทำอย่างไรต่อ
สุ. ก่อนที่จะดับโลภะ อยากจะมีกิเลส อยากจะชอบต่อไป หรือว่า ไม่อยากจะชอบอีกแล้ว ต้องเป็นผู้ที่ตรง เวลาเห็นอะไรสวยๆ ถามตัวเองว่า อยากจะชอบต่อไป หรือว่าไม่อยากจะชอบอีกแล้ว
พระพุทธศาสนาต้องตรง ต้องเป็นอุชุปฏิปันโน ถ้ายังไม่ตรง หมายความว่า เหตุกับผลยังเยื้องๆ กันอยู่ ยังหลบๆ ซ่อนๆ กันอยู่ ก็ไม่มีทางเป็นปัญญาที่แท้จริงได้
เพราะฉะนั้น เห็นเมื่อกี้ ผ่านดอกกุหลาบที่สวยสีแดงจ้า และยังมีอีกหลายดอกที่สวนสวยๆ ทั้งนั้น ถามตัวเองว่า อยากจะเห็นต่อไป หรือไม่อยากจะติดใจในสิ่งที่สวยๆ งามๆ อีกแล้ว ต้องตรง
ถ. ... (ได้ยินไม่ชัด)
สุ. ถ้าเป็นคนตรงจริงๆ วันนี้ชอบอะไรที่สวยๆ มากไหม และยังอยากจะมีอะไรๆ ที่สวยๆ ที่บ้าน ที่ในห้องนอน ในตู้เสื้อผ้าอีกต่อไปไหม หรือตั้งแต่บัดนี้ เป็นต้นไปไม่อยากมี
ถ. ก็ยังอยาก
สุ. ยังต้องมีอยู่ เพราะฉะนั้น ยังดับไม่ได้ ยังละไม่ได้ ขอเพียงเริ่มด้วยการเข้าใจสิ่งที่มีตามความเป็นจริงว่า ไม่เที่ยง ไม่ยั่งยืน เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา
ลักษณะของสภาพธรรมทุกอย่างจะมีคำซึ่งพระท่านใช้คำว่า สามัญญลักษณะ หมายความว่าลักษณะที่สามัญ สาธารณะทั่วไปกับทุกสิ่งทุกอย่างที่เกิดขึ้น ลักษณะของสามัญญลักษณะของทุกสิ่งทุกอย่าง คือ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ซึ่งชาวพุทธได้ยินกันบ่อยมาก อนิจจัง อะไรๆ ที่เปลี่ยนแปลงไปก็บอกว่า อนิจจัง อะไรที่ไม่เกิดแล้วเกิดขึ้นก็อนิจจัง อะไรที่มีแล้วไม่มีก็อนิจจัง หมายความว่า สภาพธรรมทั้งหลายไม่เที่ยง เมื่อมีแล้วก็หามีไม่ อย่างเสียงเกิดขึ้นปรากฏและหมดไป กลิ่นเกิดขึ้นปรากฏและหมดไป รสเกิดขึ้นปรากฏและหมดไป
ถ้าพิจารณาวันหนึ่งให้แคบเข้าๆ ทุกที จนกระทั่งเหลือเพียงขณะจิตเดียว ทุกๆ ขณะนี่อนิจจัง เกิดขึ้นแล้วก็ดับไป ไม่เที่ยง จึงเป็นทุกข์ สามัญลักษณะที่ เป็นทุกข์ ไม่ได้หมายความถึงความเจ็บปวด หรือความไม่พอใจ ความทรมาน แต่หมายความถึงสิ่งใดก็ตามที่เกิดขึ้นเพียงชั่วขณะเล็กน้อยสั้นนิดหน่อยแล้วก็หมด ยังไม่ทันที่จะเพลิดเพลินสักเท่าไรสิ่งนั้นก็ดับหมดไปแล้ว นี่คือสิ่งนั้นเป็นทุกข์เพราะ ทนอยู่ไม่ได้ และเป็นอนัตตา คือ ไม่อยู่ในอำนาจบังคับบัญชาด้วย
ขอให้เข้าใจอย่างนี้จริงๆ นี่เป็นขั้นเริ่มต้น ก่อนที่จะหมดความยินดีพอใจในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส ในโผฏฐัพพะ
ปัญญาต้องเจริญตามขั้น แม้แต่คำว่า สัจจธรรม ก็ขอให้แปลเป็นภาษาไทยง่ายๆ ว่า ของจริง สิ่งที่มีจริง อะไรก็ตามที่มีจริง สิ่งนั้นปัญญาควรรู้ เสียงมีจริง ปัญญาควรรู้ กลิ่นมีจริง ปัญญาควรรู้ สุขมีจริง ปัญญาควรรู้ ดีใจมีจริง ปัญญาควรรู้ โกรธมีจริง ปัญญาควรรู้ คือ สภาพใดๆ ก็ตามซึ่งเป็นสิ่งที่มีจริง ภาษาบาลีใช้คำว่า สัจจธรรม ถ้าประจักษ์แจ้งในการเกิดดับไม่เที่ยงของสภาพธรรมนั้น ผู้นั้นก็เป็น พระอริยบุคคล ก่อนที่จะไม่ยินดีในรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ
มีคำถามว่า การจะทำสมาธิวิปัสสนา ถ้ายังไม่ศึกษาหรือฟังธรรมได้เพียงพอ จะไม่เกิดผลหรือเกิดประโยชน์ในการทำสมาธินั้น ถ้าหากเรารู้บ้างจากคำบอกเล่าก็ดี จากการฟังธรรมหรืออ่านหนังสือก็ดี พอรู้บ้างว่า ทุกชีวิตเป็นทุกข์ การเกิด การตายเป็นทุกข์ และเราต้องการให้ถึงการพ้นทุกข์ เราไม่ต้องการให้มีการกลับมาเกิดอีก และทราบว่าการจะพ้นทุกข์ได้ คือ การทำบุญ รักษาศีล และทำสมาธิ ๒ ประการแรกก็ทำแล้ว ต้องการทำสมาธิด้วยเพื่อให้ครบ จะมีทางปฏิบัติอย่างไร ถ้าเราจะฝึก แต่เดี๋ยวนี้ในขณะที่ปัญญายังไม่เกิด เนื่องจากศึกษาธรรมยังไม่เพียงพอ เพราะถ้าต้องศึกษาธรรมอีก เกรงว่าเวลาในช่วงของชีวิตนี้จะไม่เพียงพอ
ขอทบทวนคำถามเพื่อที่จะให้พิจารณาที่ว่า ... และทราบว่าการจะพ้นทุกข์ได้คือ การทำบุญ รักษาศีล และทำสมาธิ ...
ไม่มีเรื่องของปัญญาเลยหรือ
ถ้าปัญญาไม่เกิด ดับกิเลสไม่ได้ พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าแม้ว่าเมื่อขณะที่ประสูติทรงพระนามว่า เจ้าชายสิทธัตถะ แต่หลังจากที่ทรงตรัสรู้แล้วพระนามที่ทุกคนกล่าวถึง คือ พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า เพราะฉะนั้น คำว่า สัมมาสัมพุทธะ คืออะไร
พุทธะ คือ ผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน สัมมา คือ ชอบ ถูก ไม่ผิด เพราะฉะนั้น พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นผู้ที่ทรงตรัสรู้สภาพธรรมตามความเป็นจริงของ สภาพธรรมนั้นๆ โดยถูกต้อง นี่คือปัญญา
ผู้ที่มีศีล ผู้ที่ทำบุญ ผู้ที่ทำสมาธิ แต่ไม่ใช่พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า มีเป็นอันมาก เพราะฉะนั้น การที่จะดับกิเลส หรือการที่จะไม่เกิดอีก ที่จะพ้นทุกข์ ต้องด้วยปัญญา
ไม่ทราบว่าเห็นด้วยหรือเปล่าที่กล่าวอย่างนี้ หรือคิดว่าสมาธิทำให้ดับกิเลสได้ แต่ตามความเป็นจริงในพระไตรปิฎกไม่มีข้อความที่กล่าวว่า สมาธิจะทำให้ดับกิเลสได้ เพราะว่าสมาธิหมายความถึงการทำให้จิตตั้งมั่นที่อารมณ์หนึ่งอารมณ์ใด ซึ่งเป็นอกุศล เป็นมิจฉาสมาธิก็ได้ หรือเป็นกุศล คือ เป็นสัมมาสมาธิก็ได้
เพราะฉะนั้น การที่จะเข้าใจเรื่องของธรรมจนกระทั่งดับกิเลสได้ เป็นเรื่อง ที่จะต้องฟังก่อนให้เข้าใจจริงๆ และปัญญาจึงจะค่อยๆ เกิดขึ้นทีละเล็กทีละน้อย
ที่ถามว่า ... เราจะฝึกแต่เดี๋ยวนี้ในขณะที่ปัญญายังไม่เกิด เนื่องจากศึกษาธรรมยังไม่เพียงพอ เพราะถ้าต้องศึกษาธรรมอีก เกรงว่าเวลาในช่วงของชีวิตจะ ไม่เพียงพอ
ขณะที่กำลังฟัง ศึกษาธรรมหรือเปล่า
การศึกษามี ๓ ระดับ สุตมยปัญญา ปัญญาที่เกิดจากการฟังแล้วเข้าใจในสิ่งที่ไม่เคยฟังมาก่อน นี่เป็นปัญญาขั้นหนึ่ง ไม่ว่าเราจะศึกษาวิชาใดๆ ก็ตาม มีการอ่านและมีการฟังในสิ่งที่ยังไม่เคยเข้าใจ ยังไม่เคยฟัง เมื่อมีปัญญาเกิดขึ้น ปัญญา ระดับนั้น หรือขั้นนั้น คือ ปัญญาซึ่งเกิดจากการฟังหรือการศึกษา นี่คือขั้นหนึ่ง
ปัญญาอีกขั้นหนึ่ง คือ จินตามยปัญญา เมื่อฟังแล้วไม่ทิ้งไป เย็นนี้อาจจะมีใครคิดถึงเรื่องอนิจจัง ทุกขัง อนัตตาก็ได้ คิดว่ากำลังเห็นมีจริงๆ และเรารู้ความจริงหรือยังว่าไม่ใช่เรา ได้ยินก็ไม่ใช่เรา คิดนึกก็ไม่ใช่เรา ทำไมไม่ใช่เรา ก็อาจจะมีความสงสัย มีความต้องการที่จะเข้าใจให้มากยิ่งขึ้น และอ่านหนังสือบ้าง หรือฟังเรื่องที่เกี่ยวกับสภาพธรรมขึ้นบ้าง นี่คือเมื่อฟังแล้วยังจะต้องพิจารณา ไตร่ตรอง เหมือนกับทุกคนที่เรียนแล้วมีการบ้าน ทุกวิชา ใช่ไหม ตั้งแต่เด็กๆ ก็หอบการบ้านกลับไป ทำการบ้าน รุ่งขึ้นก็เอามาส่ง แต่ผู้ที่ฟังพระธรรม ก็อาจจะมีฉันทะที่ตื่นขึ้นมาเมื่อไร ก็เกิดระลึกถึงธรรมที่ได้ฟัง พยายามทบทวนจนกระทั่งเข้าใจขึ้น ซึ่งจะเป็นเหตุให้ปัญญาอีกขั้นหนึ่งเกิดขึ้น คือ ขั้นอบรมเจริญสติปัฏฐาน ซึ่งยังไม่ควรจะรีบร้อน
ขอเรียนให้ทราบว่า อย่าเพิ่งรีบทำอะไร ที่บอกว่า ปฏิบัติธรรม ถ้ายังไม่เข้าใจจริงๆ จะปฏิบัติไม่ถูก เสียเวลาเปล่าๆ แทนที่จะรีบร้อนปฏิบัติโดยไม่เข้าใจ ก็ฟังจนกระทั่งเข้าใจก่อน และไม่ต้องเป็นห่วงเรื่องการปฏิบัติ เพราะแม้การปฏิบัติ คือสติที่จะเกิด ก็เป็นอนัตตาด้วย
ไม่ทราบจะพูดอย่างไรให้เข้าใจว่า เป็นเรื่องการอบรมความรู้ความเข้าใจ ทีละเล็กทีละน้อยตามลำดับขั้นจริงๆ ไม่ใช่เป็นเรื่องที่ไม่มีขั้นต้น คือ ขั้นฟัง หรือขั้นพิจารณา ก็จะไปถึงขั้นทำเลย เพราะฉะนั้น ในขณะนี้เองกำลังศึกษา ที่เข้ามานั่ง ในห้องนี้ คือ กำลังศึกษาแล้ว
ขอเล่าให้ฟังถึงผู้ฟัง ๒ ท่านที่กรุงเทพ ท่านชวนกันและท่านนัดกันด้วยว่า เราไม่ศึกษานะ เราไม่เรียนนะ เรามาฟังเท่านั้น เพราะได้ยินได้ฟังมาว่า พระอภิธรรมหรือพระธรรมในขั้นสูง คือ ธรรมส่วนละเอียด เรื่องของตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจนั้นเป็นเรื่องที่ยากมาก เพราะฉะนั้น ๒ สหายหญิงก็ชักชวนกันว่า เราจะไม่เรียน แต่เมื่อฟังไปๆ ก็เข้าใจขึ้นว่า จิตมีลักษณะอย่างไร จิตมีกี่ประเภท และจิตแต่ละประเภท จะเกิดขึ้นได้เพราะอาศัยปัจจัยอย่างไร มีเจตสิกซึ่งเป็นสภาพธรรมอีกประเภทหนึ่งที่เกิดพร้อมจิต ดับพร้อมจิต เจตสิกชนิดไหนเกิดกับจิตเป็นประจำไม่ขาดเลย เจตสิกชนิดไหนเกิดกับจิตประเภทไหน จนกระทั่งสามารถเข้าใจได้ แม้เคยสัญญากันไว้ว่า เราจะไม่เรียน หรือเราจะไม่ศึกษา
เพราะฉะนั้น ในขณะนี้เอง ในช่วงชีวิตหนึ่งของสังสารวัฏฏ์ ให้ทราบว่า กำลังศึกษาพระธรรมโดยการฟัง และโดยการพิจารณา ซึ่งถ้าฟังบ่อยๆ ก็จะทำให้เข้าใจขึ้น และจะเป็นปัจจัยให้มีการปฏิบัติธรรมด้วย โดยที่ว่าเมื่อเข้าใจอย่างไร ก็ปฏิบัติอย่างนั้น ไม่ใช่ว่ายังไม่เข้าใจเลย ก็ปฏิบัติโดยที่ไม่เข้าใจ
เพราะฉะนั้น มีสิทธิที่จะเลือกว่าจะทำอย่างไร อยากจะปฏิบัติเดี๋ยวนี้ โดยไม่เข้าใจเลย หรือฟังจนกระทั่งเข้าใจแล้ว และสติก็เกิดปฏิบัติกิจของสติตามที่เข้าใจถูก ซึ่งแต่ละคนก็เป็นไปตามการสะสม
สมพร การปฏิบัติก็อย่างที่อาจารย์ว่า ถ้าไม่เข้าใจการปฏิบัตินั้นก็มักจะผิดพลาด เหมือนการหลงทาง การหลงทางนั้นท่านทั้งหลายก็ทราบแล้วว่า มีผลอย่างไร เพราะฉะนั้น ก่อนอื่นต้องฟัง ต้องศึกษาให้เข้าใจ และจะปฏิบัติได้ ถ้าไม่เข้าใจ การปฏิบัตินั้นก็เหมือนคนหลงทาง
สุ. มีคำถามของอีกท่านหนึ่ง ๗ ข้อ คือ
๑. วิญญาณคือธาตุบริสุทธิ์จริงหรือเปล่า
๒. วิญญาณสามารถบังคับร่างเราได้หรือไม่
๓. การถอดจิต ถอดวิญญาณ ทำได้จริงหรือไม่
๔. มนุษย์ถูกกำหนดขึ้นมาพร้อมกับกิเลส ทำไมเราจึงต้องค้นหาทางตัดกิเลส
๕. ทำไมไม่ปล่อยให้เป็นไปตามธรรมชาติที่กำหนดมา
๖. ตัวของเรา จิตของเรา เป็นไปได้ไหมที่จะมีความรู้สึกขัดแย้งกับวิญญาณของเรา เช่น ตัวเราเป็นอีกแบบหนึ่ง แต่จิตวิญญาณเราต้องการอีกแบบหนึ่ง
๗. ทำไมเราจึงรู้สึกเบื่อชีวิตมากๆ เป็นบางครั้ง เบื่อชีวิตวัยรุ่น เบื่อความฟุ้งเฟ้อ และจะทำอย่างไรจึงจะดำรงชีวิตอย่างไม่กระวนกระวายได้
เมื่อเกิดมาแล้วก็มีปัญหาสารพัด รวมทั้งปัญหา ๗ ข้อนี้ด้วย
ข้อ ๑. วิญญาณคือธาตุบริสุทธิ์จริงหรือเปล่า
ถ้าบริสุทธิ์จริงก็ไม่ต้องดับกิเลส เพราะฉะนั้น คงจะสงสัยใช่ไหม ที่ถามเรื่องวิญญาณแล้วก็ตอบเรื่องจิต แต่ตอนเช้าได้เรียนให้ทราบแล้วว่า จิตกับวิญญาณ คือ สภาพธรรมอย่างเดียวกัน เพียงแต่ว่าชื่อต่างกัน เช่น สตรีกับนารี หรือผู้หญิง ก็คือสภาพธรรมนั้นแหละ แต่มีชื่อเรียกหลายชื่อ จะเรียกชื่อจิตก็ได้ วิญญาณก็ได้ มนะก็ได้ มโนก็ได้ อีกหลายคำทีเดียว
เพราะฉะนั้น ที่ว่า วิญญาณคือธาตุบริสุทธิ์จริงหรือเปล่า
ธรรมทำให้เราเป็นคนที่คิด และเกิดสติปัญญาของเราเอง ก็น่าที่จะคิดพิจารณาว่า ถ้าบริสุทธิ์แล้วก็ไม่ต้องดับกิเลส แต่เพราะไม่บริสุทธิ์ จึงต้องอบรม เจริญปัญญาที่จะดับกิเลส
เวลาที่นอนหลับ ไม่ว่าจะเป็นผู้ร้ายใจอำมหิต หรือพระอรหันต์ มีอะไรที่เป็นความต่างกันในขณะที่กำลังนอนหลับ แต่เวลาตื่นขึ้นสามารถรู้ความต่างของผู้ร้าย ใจอำมหิตกับพระอรหันต์ได้ หรือแม้แต่คนธรรมดา หรือพระอริยบุคคลที่ไม่ใช่ พระอรหันต์ ก็ต้องต่างกับพระอรหันต์ คือ คนที่ไม่หวั่นไหวไม่ว่าจะเห็นอะไร ได้ยินอะไร ได้กลิ่น ลิ้มรส รู้สิ่งที่กระทบสัมผัส คิดนึก ไม่รัก ไม่ชัง ไม่เดือดร้อน ไม่เป็นทุกข์ ไม่โทมนัส นั่นคือจิตที่ดับกิเลสแล้วซึ่งเป็นพระอรหันต์ แต่สำหรับชีวิต จริงๆ ของเรา เราต้องยอมรับตามความเป็นจริงว่า เวลาที่เห็นแล้วอยากได้อะไร บ้างไหม เป็นทุกข์เพราะความอยากได้บ้างไหม หรือเวลาเห็นอะไรแล้วไม่ชอบ เป็นทุกข์เพราะความไม่ชอบนั้นบ้างไหม ในชีวิตประจำวัน นั่นคือจิตที่ไม่บริสุทธิ์
เพราะฉะนั้น แสดงให้เห็นว่า เป็นไปไม่ได้ที่ว่า วิญญาณคือธาตุบริสุทธิ์ นอกเสียจากว่าในขณะที่นอนหลับ ยังไม่เห็น ก็ยังไม่อยากได้ ยังไม่ได้ยิน ก็ยังไม่โกรธ ยังไม่ได้กลิ่น ยังไม่ได้ลิ้มรส ยังไม่ได้กระทบสัมผัส ยังไม่ได้คิดนึก ก็ไม่มีความดิ้นรนปรารถนาเดือดร้อนด้วยโลภะ ด้วยโทสะ ด้วยโมหะ แต่เมื่อกิเลสยังมี จึงทำให้ทันที ที่ตื่น ลักษณะอาการของความไม่บริสุทธิ์ของจิตก็เกิดขึ้นปรากฏให้เห็น เป็นความกระวนกระวายต่างๆ
แนวทางเจริญวิปัสสนา เล่ม ๑๗๘ ตอนที่ ๑๗๗๑ – ๑๗๘๐
เรียบเรียงอักษรให้อยู่ในรูปแบบหนังสือ โดยมีเนื้อหาใจความสำคัญครบถ้วน
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1752
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1753
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1754
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1755
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1756
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1757
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1758
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1759
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1760
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1761
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1762
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1763
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1764
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1765
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1766
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1767
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1768
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1769
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1770
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1771
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1772
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1773
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1774
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1775
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1776
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1777
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1778
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1779
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1780
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1781
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1782
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1783
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1784
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1785
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1786
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1787
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1788
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1789
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1790
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1791
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1792
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1793
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1794
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1795
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1796
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1797
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1798
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1799
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1800
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1801
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1802
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1803
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1804
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1805
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1806
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1807
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1808
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1809
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1810
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1811
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1812
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1813
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1814
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1815
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1816
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1817