แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1777
ครั้งที่ ๑๗๗๗
สาระสำคัญ
วิปัสสนา คืออะไร
ธรรม คืออะไร
อนัตตาคืออย่างไร (ไม่ใช่เราไม่ใช่ตัวตนของเรา)
สมาธิมี ๒ อย่าง (มิจฉาสมาธิและสัมมาสมาธิ)
การอบรมเจริญสมถภาวนา
ลักษณะของสติต่างกับสมาธิ
สนทนาธรรมที่บ้านคุณวณิช เดชานุเบกษา จังหวัดขอนแก่น
วันอาทิตย์ที่ ๕ กุมภาพันธ์ ๒๕๓๑
สำหรับการอบรมเจริญวิปัสสนาภาวนา ต้องเข้าใจแม้แต่ความหมายของ คำว่าวิปัสสนาว่าคืออะไร เพราะถ้าพูดถึงโสตาปัตติมรรคจิต โสตาปัตติผลจิตแล้ว ต้องเป็นผลที่เกิดจากการอบรมเจริญปัญญาขั้นวิปัสสนา คือ ขั้นประจักษ์แจ้งลักษณะของสภาพธรรมที่เป็นสัจจธรรม เพราะฉะนั้น การฟังให้เกิดปัญญาจริงๆ ต้องไม่ข้ามแม้สักคำเดียวที่จะต้องเข้าใจให้ถูกต้อง เช่น คำว่า ธรรม คืออะไร
ธรรม คือ สภาพที่มีจริงๆ และสภาพนั้นไม่ใช่ของใคร ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน แต่ใครที่ไม่รู้ก็จะยึดถือสภาพธรรมนั้นๆ ว่าเป็นเรา หรือ เป็นของเรา หรือเป็นตัวเรา เช่น การเห็น เป็นสิ่งที่มีจริงในขณะนี้ ถ้าไม่รู้ว่าการเห็นเกิดได้อย่างไร และเมื่อเห็นแล้วดับไปอย่างไร ถ้าไม่รู้อย่างนี้ก็เป็นเราเห็น ไม่มีความเป็นอนัตตาเลย ไม่เข้าใจว่าอนัตตาคืออย่างไร
ก่อนอื่นต้องฟังเรื่องของธรรมว่า เป็นสภาพที่มีจริงๆ ในชีวิตประจำวัน และ เมื่อกล่าวว่า ธรรม ก็อย่าไปเอาธรรมนั้นมาเป็นเรา ธรรมต้องเป็นธรรม จะเป็นใคร ไปไม่ได้ แม้แต่เพียงการฟังอย่างนี้ก็จะต้องพิจารณาว่า ในขณะนี้ที่เคยยึดถือว่าเป็นเราทั้งหมด คือ ธรรมแต่ละอย่าง เช่น ได้ยิน ขณะที่กำลังได้ยิน เป็นธรรมชนิดหนึ่ง เป็นสิ่งที่มีจริงๆ เพราะฉะนั้น เมื่อเป็นธรรมแล้วจะชื่อสุดา หรือจะชื่อสุจินต์ หรืออะไรก็ไม่ได้ เพราะว่าได้ยินเป็นสภาพที่เกิดขึ้นได้ยินเสียงและดับไป นี่คือความหมาย ของธรรม
เพราะฉะนั้น การเจริญวิปัสสนา คือ การอบรมเจริญปัญญาเพื่อรู้ธรรมที่มี จริงๆ ที่เป็นสัจจธรรม และต้องเข้าใจด้วยว่า ต้องอาศัยการฟังให้เข้าใจก่อนที่จะ ถึงความเป็นพระโสดาบันบุคคล ซึ่งถ้าพระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ไม่ทรงตรัสรู้ ไม่มีใครสามารถจะรู้ว่า ทุกขณะในชีวิตเป็นอนัตตา คือ ไม่ใช่เรา ไม่ใช่ตัวตนของเรา ไม่ใช่ตัวเราอย่างไร แต่เมื่อทรงแสดงแล้ว เราต้องฟังและเทียบเคียง และพิจารณาแม้ในขั้นการฟังว่าเป็นจริงอย่างนั้นหรือเปล่า ไม่มีการ ข้ามขั้นเลย ต้องฟังโดยละเอียดก่อน
ที่ปัญญาจะเป็นวิปัสสนาญาณ ที่จะถึงโสตาปัตติมรรคจิตหรือโสตาปัตติผลจิต ต้องมีปัญญาขั้นฟังเรื่องของสิ่งที่มีจริงๆ ให้เข้าใจก่อนเป็นขั้นต้น และภายหลัง สติปัฏฐานจึงจะระลึกตรงลักษณะของสภาพนั้น เป็นผู้มีปกติระลึกรู้ลักษณะของ สภาพธรรมที่มีจริงๆ ที่กำลังเกิดขึ้นปรากฏ เพื่อที่จะประจักษ์ความไม่เที่ยง คือ การดับไปของสภาพธรรมนั้น เป็นวิปัสสนาญาณอย่างชัดเจนที่ไม่เคยเข้าใจมาก่อน ไม่เคยประจักษ์แจ้งมาก่อน ตามลำดับขั้น ก่อนที่จะถึงโสตาปัตติมรรคจิตและ โสตาปัตติผลจิต
เพราะฉะนั้น ผู้ที่อบรมเจริญปัญญานั้นเองเป็นผู้ที่รู้ตัว โดยที่คนอื่นไม่ต้องบอก เช่น ขณะนี้ฟังเรื่องของเห็น ฟังเรื่องของได้ยินว่าเป็นธรรม แต่ละท่านมีความเข้าใจ ในขั้นนี้มากน้อยแค่ไหนคนอื่นไม่สามารถรู้ได้เลย แต่คนที่กำลังฟังก็กำลังพิจารณาว่า เป็นธรรมจริงๆ เอาเราออก เอาชื่อออก เอาสัตว์ออก เอานกออก เอาแมวออก เอาสุนัขออก ล้วนแต่มีสภาพธรรมที่เห็นเหมือนกัน ได้ยินเหมือนกันทั้งสิ้น
การเห็นก็เป็นของจริงอย่างหนึ่ง การได้ยินก็เป็นของจริงอย่างหนึ่ง ไม่ต้องตั้งชื่ออะไรเลย เป็นธรรมซึ่งสาธารณะทั่วไปกับทุกคน นี่จึงจะเอาการยึดถือว่าเป็นตัวตน ออกจากชีวิตประจำวันทุกๆ ขณะได้
เพราะฉะนั้น ในขณะที่ฟังเข้าใจก็เป็นสติขั้นหนึ่ง และผู้นั้นเองก็รู้ด้วยตนเองว่า ยังสงสัย หรือว่าเข้าใจ หรือว่าไม่แน่ใจ หรือต้องฟังอีกจึงจะเข้าใจยิ่งกว่านี้อีก ปัญญาของแต่ละคน บุคคลนั้นเป็นผู้รู้ แม้แต่สติของใครจะเกิดระลึกที่ลักษณะของสภาพธรรม คนอื่นก็ไม่รู้ ขณะนี้ใครกำลังคิดอะไร คนอื่นรู้ไม่ได้เลย มีใครบอก ได้ไหมว่า ท่านที่นั่งข้างๆ คิดอะไร
ไม่มีทางเลยที่จะรู้ได้ ใจใครก็ใจคนนั้น คิดเรื่องอะไรก็เป็นเรื่องของคนนั้น ดิฉันคิดถึงกรุงเทพ คิดถึงพี่น้อง คิดถึงญาติ คนที่นี้ไม่สามารถคิดอย่างดิฉันได้เลย เพราะว่าเหตุที่จะให้คิดต่างกัน ซึ่งแต่ละท่านที่นั่งที่นี่ ดิฉันจะไปคิดถึงญาติของท่าน พี่น้องของท่าน ดิฉันก็คิดไม่ได้ ไม่เคยเห็น ไม่เคยรู้จัก ไม่เคยพบ แต่เมื่อใดที่เห็นแล้วก็คิดได้ รู้จักแล้วต่อไปก็คิดได้ว่า เคยเห็นท่านที่นี่ กำลังนั่งฟัง และถามเรื่องนั้นเรื่องนี้
เพราะฉะนั้น ใจของแต่ละคน แม้แต่ความคิดก็ต่างกันตามการเห็น การได้ยิน เห็นแล้วชอบ ก็คิดเรื่องชอบ เห็นแล้วไม่ชอบ ก็คิดเรื่องไม่ชอบ
จะเห็นได้ว่า แม้ปัญญาและสติก็เป็นเฉพาะตน ที่ใช้คำว่า ปัจจัตตัง หมายความว่าบุคคลอื่นรู้ไม่ได้ นอกจากผู้นั้นเองเมื่อปัญญาของผู้นั้นเกิด เช่น ในขณะนี้ ปัญญาของใครที่เป็นโสตาปัตติมรรคจิตเกิด คนอื่นรู้ไม่ได้เลย นอกจาก คนนั้นเอง ไม่ใช่ว่าคนนั้นไม่รู้ต้องให้คนอื่นมาบอก นั่นไม่เป็นเหตุเป็นผลเลย
ถ. อยากทราบว่า ทำสมาธิมานานทำไมปัญญาไม่เกิด
สุ. ขออนุโมทนาที่ทราบความจริง เพราะว่าเมื่อทำสมาธิ ผลก็คือสมาธิ ไม่ใช่การอบรมเจริญปัญญา เพราะฉะนั้น ปัญญาจึงไม่เกิด เหตุเป็นอย่างไร ผลก็ต้องเป็นอย่างนั้น ถ้าทำสมาธิ ผลก็คือมีสมาธิ ถ้าอบรมเจริญความเข้าใจ ความเข้าใจก็ค่อยๆ เจริญขึ้น เหตุเป็นอย่างไร ผลต้องเป็นอย่างนั้น
ถ. ... (ได้ยินไม่ชัด)
สุ. ถ้าใช้คำว่า ญาณ ญาณต้องเป็นปัญญา และเป็นปัญญาขั้นสูงด้วย คือ ขั้นประจักษ์แจ้ง เพราะฉะนั้น ยังไม่ควรใช้คำว่า ญาณ ถ้ายังไม่มีความเข้าใจอะไรเลย
ถ. ... (ได้ยินไม่ชัด)
สุ. เวลาไม่จำกัด เวลามากหรือน้อยไม่สำคัญ สำคัญที่หนทางข้อปฏิบัติ ถูกหรือผิด และที่กล่าวว่า เห็นอย่างอื่นที่คนอื่นไม่เห็น ถ้าปัญญาไม่สามารถรู้ ความจริงของกำลังเห็นจริงๆ อย่างนี้ตามปกติ ไม่ใช่วิปัสสนาญาณ ไม่มีประโยชน์ เพราะว่าดับกิเลสไม่ได้
ถ. ... (ได้ยินไม่ชัด)
สุ. ในขณะนี้ทางตาเป็นสิ่งที่มีจริง ทางหูมีจริง ทางจมูกมีจริง ทางลิ้น มีจริง ทางกายมีจริง ทางใจมีจริง ยังไม่ได้เป็นซากศพ เพราะฉะนั้น รู้อย่างไร จะถูกต้องกว่ากัน เพียงคิดถึงซากศพและเข้าใจว่าจิตควรจะสลด แต่เมื่อไม่ใช่ปัญญาที่รู้ของจริงๆ ที่เป็นสัจจธรรม ก็ไม่สลด
ถ. ... (ได้ยินไม่ชัด)
สุ. ไม่ใช่ทำได้ ต้องฟังเรื่องของสภาพธรรม คือ นามธรรมและรูปธรรม ในขณะนี้ จนกว่าจะเข้าใจ ต้องตั้งต้นใหม่ ถ้าปัญญาขั้นการฟังไม่มี จะไปทำสักเท่าไรก็ไม่รู้ ไม่เข้าใจ ข้อนี้สำคัญมากทีเดียว
ถ. จริงๆ แล้วสภาพปัจจุบันของเรา น่าจะเอามาพิจารณา ...
สุ. คือ โสตาปัตติมรรคจิตเป็นพระอริยบุคคลที่ประจักษ์แจ้งอริยสัจจะ ต้องดับความเห็นผิดที่ยึดถือสภาพธรรมในขณะนี้ว่าเป็นตัวตน เป็นเรา หรือเป็นสัตว์ เป็นบุคคล ไม่ใช่เห็นอย่างอื่น แต่สามารถประจักษ์แจ้งการเกิดดับของเห็น ซึ่งต่างกับขณะที่ได้ยิน รู้ลักษณะของนามธรรมที่แยกขาดจากลักษณะของรูปธรรมจนกระทั่ง โลกไม่ได้ปรากฏติดต่อกันให้เห็นเป็นตัวคนที่กำลังนั่งอยู่ในขณะนี้ เพราะว่าจิตเกิดดับเร็วมาก สติและปัญญาจะต้องระลึกจนประจักษ์แจ้งได้จริงๆ ว่า สภาพธรรมแต่ละอย่างไม่ใช่ตัวตนเพราะเป็นแต่เพียงลักษณะของสภาพธรรมแต่ละอย่างๆ กระจัดกระจายสิ่งซึ่งเคยรวมติดกันที่ทำให้มีความเห็นผิดว่าเป็นตัวตนออกได้ ไม่ใช่ เห็นอย่างอื่น
ถ. ... (ได้ยินไม่ชัด)
สุ. ไม่เกี่ยวกับสมาธิ ไม่เกี่ยวเลย เพราะว่าสมาธิมี ๒ อย่าง คือ มิจฉาสมาธิและสัมมาสมาธิ นี่ชัดเจนมากในพระไตรปิฎก ขณะใดที่ปัญญาไม่เกิด ไม่ว่าจะทำมา ๑๐ ปี ๒๐ ปีก็เป็นมิจฉาสมาธิ เพราะว่าไม่ได้เกิดความเข้าใจในเหตุ ในผลในลักษณะของสภาพธรรม
การอบรมเจริญภาวนา ต้องทราบว่า ภาวนา หมายถึงอบรมให้สิ่งที่ยังไม่เกิดให้เกิดขึ้น หรือให้สิ่งที่เกิดขึ้นเจริญยิ่งขึ้น เพราะฉะนั้น เป็นเรื่องความเข้าใจ เป็นเรื่องสติปัญญา เป็นเรื่องของกุศลจริงๆ เช่น ถ้ายังไม่เคยเข้าใจเรื่องของสภาพธรรมที่เคยยึดถือว่าเป็นเราเห็น เราได้ยินเลย ก็ต้องฟังก่อน อย่าไปปฏิบัติอะไรเลยทั้งสิ้น เพราะถ้าความเข้าใจไม่มี ปฏิบัติอย่างไรปัญญาก็ไม่เกิด เพราะไม่มีพื้นฐาน คือความเข้าใจในสิ่งที่สติจะต้องระลึกจนกว่าปัญญารู้ชัด ต่อเมื่อใดได้ฟังเรื่องของสภาพธรรม และเข้าใจว่าปัญญาต้องรู้ของจริงอย่างนี้ สติจึงจะค่อยๆ เกิดระลึกได้ว่า เห็นเป็นนามธรรม เป็นสภาพรู้ เป็นอาการรู้ซึ่งคนตายไม่เห็น เพราะฉะนั้น การเห็นไม่ใช่รูปธรรม คือ แยกนามธรรมและรูปธรรมซึ่งรวมกันออกจนกระทั่งไม่เหลือ ความเป็นตัวตน
ถ. ถ้าเจริญพรหมวิหาร ๔ ทำอย่างนี้ไปเรื่อยๆ แต่สมาธิยังไม่มากมาย...และพยายามละกิเลสต่างๆ ...
สุ. ไม่ได้ ปัญญาเท่านั้นที่ละกิเลสได้ สมาธิละกิเลสไม่ได้เลย และขอเรียนให้ทราบเรื่องของสมาธิว่า ที่เราใช้คำว่า สมาธิ ต้องเป็นฝ่ายกุศลจึงควรเจริญ ถ้าเป็นฝ่ายอกุศล ไม่ควรเจริญเลย และการที่จะเจริญสมาธิ หมายความว่า จิตจะต้องสงบเพราะเป็นกุศล ขณะใดที่เป็นอกุศลไม่ชื่อว่าสงบ เพราะฉะนั้น สมาธิ ที่เกิดกับอกุศลจิตจะไม่มีกำลังเลย อย่างเวลาที่เราจะเย็บผ้า หรือเดินในที่ที่มีอันตรายก็ต้องมีการระวังตัว นั่นก็เป็นลักษณะของสมาธิ แต่เป็นไปในอกุศล ไม่ใช่เป็นไปในกุศลเลย
เพราะฉะนั้น ก่อนอื่นต้องเข้าใจว่า ผู้ที่จะเจริญกุศลอีกประเภทหนึ่ง ขั้นสูงกว่าทาน ขั้นสูงกว่าศีล คือ ความสงบของจิต ต้องประกอบพร้อมด้วยสติและสัมปชัญญะ
ขณะนี้ทุกคนมีสัมปชัญญะ คือ ความรู้สึกตัวตามปกติ ไม่ใช่ทำสิ่งที่ผิดปกติขึ้นมา คือ ไม่ต้องไปเปลี่ยนแปลงอิริยาบถ หรือไปบังคับจิตใจ แต่ขณะที่กำลังฟัง พระธรรม ยังไม่รู้ลักษณะของจิตที่กำลังฟังเลยสักนิดเดียวว่าสงบไหม เป็นกุศล หรือเปล่า ซึ่งความจริงแล้วขณะที่กำลังฟังพระธรรม ไม่ใช่ขณะที่เรากำลังเพลิดเพลิน ดูทีวีสนุกสนาน คิดเรื่องนั้นเรื่องนี้ หรือเล่นดนตรี ฟังดนตรี แต่เสียงที่ฟัง เป็นเรื่องที่จะทำให้เราค่อยๆ ฟังไป ค่อยๆ พิจารณาเรื่องตัวของเราให้รู้ว่า แม้แต่จิตใจที่เกิดอยู่กับเราตั้งแต่เกิดจนตาย บางครั้งเป็นอกุศล เราก็ไม่รู้ บางครั้งเป็นกุศล เราก็แยกไม่ออก เช่น การที่จะทำบุญสักครั้งหนึ่ง เจตนาที่จะให้เป็นกุศล แต่ระหว่างที่ไปตระเตรียมซื้อของ เข้าครัว อกุศลเกิดตั้งมากมาย ถ้าอาหารอร่อยก็ดีใจ ถ้าอาหารไม่อร่อยก็วุ่นวายเดือดร้อนโกลาหล ก็เป็นอกุศล
เพราะฉะนั้น ชีวิตของเราบางครั้งเป็นกุศล บางครั้งเป็นอกุศล เมื่อสติสัมปชัญญะไม่เกิด ปัญญาไม่เกิด แยกไม่ออก เพราะฉะนั้น ผู้ที่แม้กุศลจิตเกิดวันหนึ่งๆ แต่ว่าเล็กน้อยมาก จึงไม่ปรากฏลักษณะความสงบที่เป็นขั้นสมาธิ แต่ เวลาที่จิตใจเข้าใจพระธรรมและเห็นพระคุณ มีการน้อมระลึกถึงพระมหากรุณาคุณ พระปัญญาคุณ พระบริสุทธิ์คุณ ขณะนั้นลักษณะความสงบจะค่อยๆ เพิ่มขึ้นเพียง นิดหน่อย แต่ต้องเป็นผู้ที่ประกอบด้วยสติสัมปชัญญะจึงจะรู้ได้ว่า จิตขณะนี้ ไม่ใช่อกุศล กำลังเป็นกุศล และถ้าจะทำให้กุศลนั้นมั่นคงขึ้น ก็ต้องมีความเข้าใจประกอบด้วยปัญญาว่า จิตที่เป็นกุศลจะเพิ่มขึ้นได้อย่างไร นั่นคือการอบรมเจริญ สมถภาวนาหรือสมาธิที่ยังไม่ถึงฌานจิตเลย ไม่ต้องกล่าวถึงระดับขั้นต่างๆ ของสมาธิอีกหลายขั้นกว่าจะเป็นฌานจิต ซึ่งยากแสนยาก ถ้าขั้นนี้ไม่มี เราจะทำฌานไม่ได้ จะทำสมาธิอะไรก็ไม่ได้ทั้งหมด เพราะว่ายังแยกจิตที่เป็นกุศลและอกุศลไม่ออก
แต่ผู้ที่สามารถมีสติสัมปชัญญะแยกออก เขาจะรู้ว่า จิตที่เป็นกุศลกำลังเกิดบ่อยๆ ต่างกับขณะที่เป็นอกุศล บ่อยแค่นี้ ความสงบเพิ่มหรือยัง ความสงบยังไม่เพิ่ม ลักษณะของความสงบยังไม่ปรากฏ ต่อเมื่อใดเขารู้ว่า ขณะนี้เองที่เป็นกุศล มีปัจจัยที่จะให้ความสงบปรากฏ ความสงบขั้นนั้นก็ยังไม่ถึงฌานจิต อีกแสนไกลกว่าจะถึง เพราะว่าในขณะนี้ที่สงบก็ยังเห็นบ้าง ได้ยินบ้าง
ถ้าเป็นฌานจิตแล้ว จะไม่มีการเห็น การได้ยิน ทางตา หู จมูก ลิ้น กาย และใจจะไม่นึกคิดเรื่องอื่นเลย นอกจากอารมณ์ที่จิตตั้งมั่นแล้วสงบ เพราะฉะนั้น ก็ยากที่ฌานจิตจะเกิด เราอย่าคิดว่าเป็นเรื่องง่าย เพราะฉะนั้น ไม่ควรสนใจอะไรนักกับการที่จะไปให้จิตตั้งมั่นจนกระทั่งความสงบเกิด โดยไม่ใช่ปัญญาขั้นวิปัสสนา ซึ่งรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่เป็นนามธรรมและรูปธรรมเพื่อทิ้งความเห็นผิดว่า เป็นเราที่เห็น เราที่ได้ยิน เราที่คิดนึก
นี่เป็นการอบรมเจริญปัญญาที่แยกกันจริงๆ ระหว่างการทำมิจฉาสมาธิ ซึ่งไม่ประกอบด้วยปัญญา แต่หลงเข้าใจว่าเป็นฌานหรือว่าเป็นญาณ โดยที่ปัญญา ไม่เกิดเลย
เป็นปัญญานั่นเอง แต่ว่าต่างระดับขั้น ปัญญาขั้นฌาน คือ ปัญญาที่รู้ว่า จิตที่สงบมีกำลังเพิ่มขึ้นดื่มด่ำซาบซึ้งในอารมณ์นั้นขั้นไหน นั่นคือการอบรมเจริญ สมถภาวนาที่จิตสงบ แต่สำหรับวิปัสสนา ปัญญาประจักษ์แจ้ง และสามารถระลึกได้
สมพร เรื่องของโสดาเป็นเรื่องไกล การที่จะบรรลุโสดาได้ ต้องเข้าใจตั้งแต่เบื้องต้น คือ ทำลายความเห็นผิดเสียก่อน คือ เห็นผิดว่า เป็นคน เป็นสัตว์ หรือเป็นตัวตน ซึ่งความเห็นผิดก็มาทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ เรายึดอารมณ์ที่มาทางตาว่า เราเห็นคน เห็นสัตว์ เราไม่ได้เห็นความจริงเลย ความจริงสีที่ปรากฏไม่ใช่คน ไม่ใช่สัตว์ แม้สิ่งที่เห็นนั้นก็ไม่ใช่คน ไม่ใช่สัตว์ เรียกว่าจักขุวิญญาณ
สามารถแยกรูปว่าอันไหนเป็นรูป อันไหนเป็นนาม เมื่อแยกรูปแยกนามได้ ต่อไปก็พิจารณารูปนามนั่นแหละว่าอาศัยปัจจัยอะไรเกิดขึ้น เมื่อรู้ว่ารูปก็มีปัจจัยเกิดขึ้น นามก็มีปัจจัยเกิดขึ้น พิจารณาอย่างนี้บ่อยๆ ต่อไปจะเห็นความเกิดและความดับ แต่โสดากว่าจะเกิดก็อีกนาน ต้องพิจารณาเพื่อทำลายความเห็นผิดอย่างนี้ เรื่องของโสดาไม่ใช่เรื่องง่ายๆ
สุ. ขอถามสักนิด เวลาที่เข้าใจว่า รู้ว่าไม่มีอะไรเลยนั้น ปัญญารู้อะไร
ถ. เฉยๆ
สุ. เฉยๆ ไม่ได้แน่ ขณะนี้มีเห็นกับมีสิ่งที่ปรากฏทางตา ลักษณะของสติต่างกับสมาธิ แค่นี้ก็ต้องรู้แล้ว การอบรมเจริญปัญญาไม่ใช่เจริญสมาธิ แต่เป็นการเจริญสติ เพราะฉะนั้น ลักษณะของสติต่างกับสมาธิ แต่ถ้าเป็นผู้ที่ไม่เคย เจริญสติปัฏฐานมาเลยจะคิดว่า สมาธิเป็นสติ แต่แท้ที่จริงแล้วสมาธิไม่ใช่สติ สมาธิ ก็เป็นสมาธิ แต่สติเป็นสภาพที่ระลึกได้ว่า ทางตาเป็นสภาพรู้ เป็นอาการรู้ที่ใช้คำว่า จิต หรือนามธรรม ต้องแยกกับสิ่งที่ปรากฏทางตาเสียก่อน
เพราะฉะนั้น ปัญญาที่ว่าเข้าไปรู้เฉยๆ และรู้เหมือนกับว่าไม่ปรุงแต่งเลย แต่ในขณะนี้รู้อะไร เดี๋ยวนี้รู้อะไร ถ้าเดี๋ยวนี้ไม่รู้ ทั้งหมดที่เคยปฏิบัติมาก็ใช้ไม่ได้ เพราะว่าเรายึดถือเห็นเดี๋ยวนี้ว่าเป็นเรา เราพอใจสิ่งที่กำลังเห็น หรือไม่พอใจสิ่งที่ กำลังเห็น ทางหูเรายึดถือว่าเป็นเราได้ยิน ตลอดตั้งแต่เช้ามาก็เป็นเราได้ยิน เพราะฉะนั้น ปัญญาต้องสามารถรู้ของจริงๆ ตามปกติ ถ้าผิดปกติ หรือเฉพาะเวลาอย่างนั้นใช้ไม่ได้ ต้องสามารถรู้ของจริงในขณะนี้ด้วย เป็นปัญญาที่ค่อยๆ สะสมอบรมขึ้น
แนวทางเจริญวิปัสสนา เล่ม ๑๗๘ ตอนที่ ๑๗๗๑ – ๑๗๘๐
เรียบเรียงอักษรให้อยู่ในรูปแบบหนังสือ โดยมีเนื้อหาใจความสำคัญครบถ้วน
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1752
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1753
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1754
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1755
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1756
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1757
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1758
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1759
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1760
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1761
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1762
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1763
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1764
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1765
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1766
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1767
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1768
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1769
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1770
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1771
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1772
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1773
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1774
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1775
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1776
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1777
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1778
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1779
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1780
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1781
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1782
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1783
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1784
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1785
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1786
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1787
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1788
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1789
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1790
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1791
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1792
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1793
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1794
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1795
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1796
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1797
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1798
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1799
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1800
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1801
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1802
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1803
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1804
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1805
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1806
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1807
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1808
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1809
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1810
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1811
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1812
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1813
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1814
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1815
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1816
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1817