แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1789


    ครั้งที่ ๑๗๘๙


    สาระสำคัญ

    ม. มู. อนังคณสูตร - พระธรรมเทศนามี ๒ อย่าง

    เข้าใจพยัญชนะ และเข้าใจถึงอรรถด้วย

    บุคคลกถา คือ ถ้อยคำระบุบุคคล ด้วยเหตุ ๘ ประการ

    ขันธ์ ๕ อยู่ที่ไหน


    ที่ห้องประชุมตึกสภาการศึกษามหามกุฏราชวิทยาลัย

    วันอาทิตย์ที่ ๑๐ เมษายน ๒๕๓๑


    การฟังพระธรรม หรือการศึกษาพระธรรมเป็นเรื่องที่ละเอียด และไม่เพียงเข้าใจโดยพยัญชนะเท่านั้น แต่ต้องเข้าใจถึงอรรถด้วย

    อรรถกา มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ อนังคณสูตร ข้อ ๕๓ มีข้อความว่า

    พระธรรมเทศนาของพระผู้มีพระภาคมี ๒ อย่าง คือ สมมติเทศนา ๑ ปรมัตถเทศนา ๑

    ในจำนวนเทศนาทั้ง ๒ อย่างนั้น สมมติเทศนา มีรูปความอย่างนี้ว่า บุคคล สัตว์ หญิง ชาย กษัตริย์ พราหมณ์ เทพ มาร เป็นต้น

    ส่วนปรมัตถเทศนา มีรูปความอย่างนี้ว่า อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ขันธ์ ธาตุ อายตนะ สติปัฏฐาน เป็นต้น

    แม้เพียงได้อ่านอย่างนี้ก็ต้องพิจารณาโดยละเอียดว่า พระธรรมเทศนาของ พระผู้มีพระภาคมี ๒ คือ สมมติเทศนา ๑ ปรมัตถเทศนา ๑ นี่แสดงถึงการที่จะต้องเข้าใจลักษณะของปรมัตถธรรมแล้ว มิฉะนั้นถ้าคิดว่าเพียงบัญญัติหรือสมมติก็สามารถ ที่จะทำให้รู้แจ้งอริยสัจจธรรมได้ ก็จะต้องไม่มีปรมัตถเทศนา

    ในจำนวนเทศนาทั้ง ๒ อย่างนั้น สมมติเทศนา มีรูปความอย่างนี้ว่า บุคคล สัตว์ หญิง ชาย กษัตริย์ พราหมณ์ เทพ มาร เป็นต้น

    ในพระไตรปิฎกมีข้อความอย่างนี้ มีเรื่องสัตว์ เรื่องบุคคล เรื่องพราหมณ์ เรื่องกษัตริย์ เรื่องหญิง เรื่องชาย เรื่องเทพ เรื่องมาร แต่จะต้องเข้าใจว่า ทรงหมายถึงสภาพที่ต่างกันของปรมัตถธรรม มิฉะนั้นแล้วผู้ที่ไม่ได้ศึกษาไม่ได้เข้าใจ ในพระธรรมที่พระผู้มีพระภาคทรงตรัสรู้ที่เป็นอริยสัจจธรรมก็จะคิดว่า เพียงศึกษา สมมติเทศนาก็สามารถรู้แจ้งอริยสัจจธรรมได้ แต่นี่ทรงแสดงให้เห็นว่า การที่กล่าวถึงบุคคลก็ตาม สัตว์ หญิง ชาย กษัตริย์ พราหมณ์ เทพ มารนั้น ก็เพื่อให้รู้ลักษณะที่ต่างกันที่เป็นปรมัตถธรรมต่างๆ นั่นเอง

    ในจำนวนเทศนาทั้ง ๒ อย่างนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดงสมมติเทศนา แก่เหล่าพุทธเวไนย ผู้ที่ฟังพระธรรมเทศนาว่าด้วยเรื่องสมมติแล้ว เข้าใจเนื้อความ ทะลุปรุโปร่ง สามารถละโมหะบรรลุคุณวิเศษได้

    ส่วนคนเหล่าใดฟังพระธรรมเทศนาว่าด้วยเรื่องปรมัตถ์แล้ว เข้าใจเนื้อความทะลุปรุโปร่ง สามารถละโมหะบรรลุคุณวิเศษได้ พระองค์ก็ทรงแสดงปรมัตถเทศนาให้เขาฟัง

    แสดงให้เห็นว่า ในขณะนี้ซึ่งท่านผู้ฟังกำลังฟังข้อความนี้ ขึ้นอยู่กับความเข้าใจของท่านผู้ฟังว่า ท่านผู้ฟังเป็นผู้ที่มีความเข้าใจถูกในพระธรรมที่ได้ฟัง หรือมีความเข้าใจผิดคลาดเคลื่อนในพระธรรม เพราะว่าบางท่านอาจจะจับความโดยพยัญชนะ ที่ว่า ในจำนวนเทศนาทั้ง ๒ อย่างนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดงสมมติเทศนา แก่เหล่าพุทธเวไนย ผู้ที่ฟังพระธรรมเทศนาว่าด้วยเรื่องสมมติแล้ว เข้าใจเนื้อความ ทะลุปรุโปร่ง สามารถละโมหะบรรลุคุณวิเศษได้ ถ้าฟังเผินๆ และเข้าใจผิด ก็จะคิดว่า เพียงสมมติเทศนาก็สามารถจะเข้าใจเนื้อความทะลุปรุโปร่ง สามารถ ละโมหะบรรลุคุณวิเศษได้

    แต่ขอให้คิดดูว่า ผู้ที่จะรู้แจ้งอริยสัจจธรรมทุกท่าน เป็นผู้ที่ต้องบรรลุถึง อริยสัจจธรรมด้วยปัญญา เพราะฉะนั้น ข้อความที่ว่า ผู้ที่ฟังพระธรรมเทศนาว่าด้วยเรื่องสมมติแล้ว เข้าใจเนื้อความทะลุปรุโปร่ง อย่าลืม ข้อความที่ว่า เข้าใจเนื้อความ ทะลุปรุโปร่ง ไม่ใช่ไม่เข้าใจ

    เข้าใจเนื้อความอะไร ถ้าไม่ใช่ปรมัตถธรรม จะมีเนื้อความอะไรที่จะให้เข้าใจทะลุปรุโปร่งถ้าไม่ใช่ปรมัตถธรรม เพราะฉะนั้น ไม่พ้นไปจากปรมัตถธรรมเลย

    การที่ปัญญาจะประจักษ์แจ้งลักษณะของสภาพธรรมที่เป็นปรมัตถ์ ที่ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน จนกระทั่งละคลายสักกายทิฏฐิ การยึดถือสภาพธรรมว่า เป็นตัวตน เป็นสัตว์ เป็นบุคคลได้ จะต้องเป็นผู้ที่สามารถเข้าใจปรมัตถธรรม อบรมเจริญปัญญา แต่การที่จะขัดเกลาละคลายกิเลสโดยการเพียงแสดงว่า จิตมีจำนวน ๘๙ ประเภท เจตสิกมีจำนวน ๕๒ ประเภท รูปมีจำนวน ๒๘ ประเภทเท่านั้น ต่อให้จะแสดงอย่างนี้สักเท่าไร การละคลายมีไหม ในเมื่อชีวิตประจำวันของแต่ละคน ยังมีการที่จิตจะน้อมเอียงไปในเรื่องของโลภะบ้าง โทสะบ้าง กุศลบ้าง อกุศลบ้าง

    เพราะฉะนั้น อาศัยพระธรรมเทศนาที่ไพเราะ ที่วิจิตรต่างๆ จะทำให้ผู้ฟัง เกิดจิตที่อ่อนคล้อยตามการที่จะละคลาย เช่น ทรงแสดงเรื่องมรณสติโดยนัยต่างๆ หรือทรงแสดงเรื่องของการเกิดแล้วเกิดอีก ตายแล้วตายอีก ฟังดูก็เหมือนสมมติ เพราะว่ามีเกิดมีตายจากความเป็นบุคคลหนึ่งสู่อีกบุคคลหนึ่ง จากการที่เคยเป็นเศรษฐีสู่ความเป็นผู้ลำบากเดือดร้อน สังขารธรรมทั้งหลายไม่เที่ยง ถ้าฟังอย่างนี้ ผู้ที่รู้เรื่องของปรมัตถธรรมในขณะนั้น ก็สามารถมีจิตน้อมไปสู่การไม่ยึดถือปรมัตถธรรม ในขณะที่สติระลึกขณะนั้นได้

    และต้องพิจารณาจริงๆ แม้ข้อความที่ว่า ส่วนคนเหล่าใดฟังพระธรรมเทศนาว่าด้วยเรื่องปรมัตถ์แล้ว เข้าใจเนื้อความทะลุปรุโปร่ง สามารถละโมหะบรรลุ คุณวิเศษได้ พระองค์ก็ทรงแสดงปรมัตถเทศนาให้เขาฟัง

    ถึงอย่างไรก็พ้นจากปรมัตถเทศนาไม่ได้เลย เพราะฉะนั้น การที่จะละคลายกิเลสจนรู้แจ้งอริยสัจจธรรมนั้น ก็ด้วยเทศนา โดยนัยสมมติเทศนาหรือปรมัตถเทศนาตามอัธยาศัย

    ท่านผู้ฟังซึ่งเป็นผู้เข้าใจการอบรมเจริญอริยมรรคมีองค์ ๘ รู้ว่า ขณะใดหลงลืมสติ ขณะใดสติเกิด ในขณะที่กำลังฟังอย่างนี้เองเป็นเรื่องของ สมมติบัญญัติก็มี แต่สติปัฏฐานก็สามารถเกิดระลึกรู้ลักษณะของปรมัตถธรรม ในขณะนั้น จึงรู้ว่าไม่ใช่เราที่กำลังฟัง มิฉะนั้นแล้วจะละความเป็นสัตว์ เป็นบุคคล เป็นตัวตน เป็นเราได้อย่างไร

    ข้อความในอรรถกถาอธิบายต่อไปว่า

    ในการทรงแสดงพระธรรมเทศนาทั้ง ๒ อย่างนั้น มีข้อเปรียบเทียบดังต่อไปนี้

    อุปมาเหมือนอาจารย์ผู้บรรยายไตรเพท รู้ภาษาถิ่น เมื่อพูดภาษาทมิฬ นักเรียนพวกใดเข้าใจความหมาย ก็จะบอกเขาเหล่านั้นด้วยภาษาทมิฬ แต่ถ้าพวกใดเข้าใจความหมายด้วยภาษาใดภาษาหนึ่งในจำนวนภาษาทั้งหลายมีภาษาอันธกะ เป็นต้น ก็จะบอกเขาเหล่านั้นด้วยภาษานั้น เมื่อเป็นเช่นนั้น มาณพน้อย (นักเรียน) เหล่านั้นได้อาศัยอาจารย์ผู้ฉลาดหลักแหลม จะเรียนศิลปะได้เร็วทีเดียว ฉันใด ในข้ออุปไมยนั้นก็ฉันนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าพึงทราบว่าเหมือนอาจารย์ พระไตรปิฎกที่อยู่ในภาวะที่จะต้องทรงสอนเหมือนไตรเพท พระปรีชาฉลาดในสมมติและปรมัตถ์ เหมือนความฉลาดในภาษาถิ่น เวไนยสัตว์ผู้สามารถแทงตลอดด้วยสมมติเทศนาและปรมัตถเทศนาเหมือนมาณพน้อย (นักเรียน) ผู้พูดภาษาถิ่นต่างๆ พระธรรมเทศนา ว่าด้วยสมมติและปรมัตถ์ของพระผู้มีพระภาค เหมือนการบอก (ไตรเพท) ด้วยภาษาทมิฬเป็นต้นของอาจารย์

    ไม่มีสภาพธรรมใดเลยที่จะพ้นจากปรมัตถธรรม ไม่ว่าจะทรงแสดงโดยนัยของสมมติต่างๆ ก็ตาม ก็ต้องเข้าใจถึงปรมัตถธรรมด้วย

    ข้อความต่อไปมีว่า

    และในการที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงสมมติเทศนาและปรมัตถเทศนานี้ พระโบราณาจารย์ได้กล่าวไว้ว่า

    พระสัมมาสัมพุทธเจ้าผู้ประเสริฐกว่าผู้สอนทั้งหลายได้ตรัสสัจจะไว้ ๒ อย่าง คือ สมมติสัจจะ ๑ ปรมัตถสัจจะ ๑ ไม่มีสัจจะอย่างที่ ๓ พระพุทธดำรัสเกี่ยวกับสมมติ ชื่อว่าเป็นสัจจะ เพราะเหตุที่เป็นสมมติของโลก

    ส่วนพระพุทธดำรัสเกี่ยวกับปรมัตถ์ ชื่อว่าเป็นสัจจะ เพราะเหตุที่เป็นความจริงของธรรมทั้งหลาย เพราะฉะนั้น สำหรับพระโลกนาถศาสดาผู้ทรงฉลาดใน โวหารเทศนา ตรัสถึงสมมติ มุสาวาทจึงไม่เกิดขึ้น (ไม่เป็นการกล่าวเท็จ) ดังนี้

    ข้อความต่อไป

    เหตุตรัสบุคคลคาถา ๘ ประการ

    อีกอย่างหนึ่ง พระผู้มีพระภาคเจ้าได้ตรัสบุคคลกถา (ถ้อยคำระบุบุคคล) ด้วยเหตุ ๘ ประการ คือ

    ๑. เพื่อทรงแสดงถึงหิริและโอตตัปปะ

    ๒. เพื่อทรงแสดงถึงความที่สัตว์มีกรรมเป็นของของตน

    ๓. เพื่อทรงแสดงถึงการกระทำของคนโดยเฉพาะตัว

    ๔. เพื่อทรงแสดงถึงอนันตริยกรรม

    ๕. เพื่อทรงแสดงถึงพรหมวิหารธรรม

    ๖. เพื่อทรงแสดงถึงบุพเพนิวาสานุสสติญาณ

    ๗. เพื่อทรงแสดงถึงทักขิณาวิสุทธิ

    ๘. เพื่อไม่ทรงละทิ้งสมมติของโลก

    แสดงให้เห็นชัดว่า ไม่ว่าจะทรงแสดงสมมติอย่างไร ก็เพื่อให้เข้าใจปรมัตถธรรมนั่นเอง ไม่ใช่ว่าไม่มีปรมัตถธรรมที่จะเข้าใจแล้วจะสามารถรู้แจ้งอริยสัจจธรรมได้ด้วย สมมติบัญญัติ

    อธิบายความเหตุ ๘ ประการ

    เมื่อพระองค์ตรัสว่า ขันธ์ธาตุอายตนะทั้งหลายละอายแก่ใจอยู่ เกรงกลัวบาปอยู่ มหาชนจะไม่เข้าใจ พากันพิศวงงงงวย โต้แย้งว่า นี้อะไรกัน ขันธ์ธาตุอายตนะทั้งหลายละอายแก่ใจ เกรงกลัวต่อบาปด้วยหรือ ดังนี้

    แต่เมื่อพระองค์ตรัสว่า บุรุษ กษัตริย์ พราหมณ์ เทพ มาร (ละอายแก่ใจ เกรงกลัวต่อบาป) ดังนี้ มหาชนจะเข้าใจ ไม่พิศวงงงงวย ไม่โต้แย้ง เพราะฉะนั้น พระผู้มีพระภาคจึงตรัสบุคคลกถา เพื่อทรงแสดงถึงหิริและโอตตัปปะ

    ผู้ฟัง อยากจะกล่าวว่า ภาษิตของพระองค์แจ่มแจ้งนัก แต่คงไม่มีสิทธิ ที่จะกล่าว เพราะยังไม่เข้าใจถึง ๑,๐๐๐ นัย สมมติเทศนาของพระพุทธองค์มีมาก ในพระไตรปิฎก และผู้ที่ได้ฟังสมมติเทศนาแล้วได้ดวงตาเห็นธรรมก็มาก แต่ไม่ได้หมายความว่าเขาฟังแต่เรื่องสมมติบัญญัติอย่างเดียว เขาต้องได้เจริญสติปัฏฐาน ได้รู้เรื่องปรมัตถธรรมอย่างแจ่มแจ้งลึกซึ้งมาแล้ว เขาจึงฟังแต่สมมติเทศนาก็แทงตลอดเป็น ๑,๐๐๐ นัย หรือจะเป็น ๖,๐๐๐ นัย ผมเชื่ออย่างนั้น เพราะฉะนั้น ที่อาจารย์ชี้แจงบรรยายวันนี้ แจ่มแจ้งจริงๆ

    สุ. ข้อความต่อไปมีว่า

    แม้ในพระดำรัสที่ตรัสว่า ขันธ์ธาตุอายตนะทั้งหลายเป็นผู้มีกรรมเป็นของตน ดังนี้ ก็นัยเดียวกันนั่นแหละ เพราะฉะนั้น พระผู้มีพระภาคจึงตรัสบุคคลกถา เพื่อทรงแสดงความที่สัตว์มีกรรมเป็นของของตน

    แม้ในพระดำรัสที่ตรัสว่า มหาวิหารมีพระเวฬุวันเป็นต้น ขันธ์ธาตุอายตนะทั้งหลายสร้างไว้ ดังนี้ ก็นัยเดียวกันนั่นแหละ ฉะนั้น พระผู้มีพระภาคจึงตรัส บุคคลกถา เพื่อทรงแสดงถึงการกระทำของคนโดยเฉพาะตัว

    แม้ในพระดำรัสที่ตรัสว่า ขันธ์ธาตุอายตนะทั้งหลายปลงชีวิตมารดา บิดา พระอรหันต์ ทำโลหิตุปบาทกรรม (ทำร้ายพระพุทธเจ้าให้ห้อพระโลหิต) (และ) ทำลายสงฆ์ให้แตกกัน ดังนี้ ก็โดยนัยเดียวกันนั่นแหละ เพราะฉะนั้น พระผู้มีพระภาคจึงตรัสบุคคลกถา เพื่อทรงแสดงถึงอนันตริยกรรม

    แม้ในพระดำรัสที่ตรัสว่า ขันธ์ธาตุอายตนะทั้งหลายย่อมเมตตา ดังนี้ ก็นัยเดียวกันนั่นแหละ เพราะฉะนั้น พระผู้มีพระภาคจึงตรัสบุคคลกถา เพื่อทรงแสดงถึงพรหมวิหารธรรม

    คงจะเกรงว่าไม่พอที่จะเข้าใจ จึงได้ทรงแสดงโดยนัยต่างๆ ซึ่งจุดประสงค์ของการทรงแสดงสมมติสัจจะก็เพื่อให้เข้าใจปรมัตถสัจจะนั่นเอง

    แม้ในพระดำรัสที่ตรัสว่า ขันธ์ธาตุอายตนะทั้งหลายระลึกชาติที่เคยอยู่ก่อนของเราได้ ดังนี้ ก็นัยเดียวกันนั่นแหละ เพราะฉะนั้น พระผู้มีพระภาคจึงตรัส บุคคลกถา เพื่อทรงแสดงถึงการระลึกชาติที่เคยอยู่ก่อนได้

    คือ ทรงแสดงถึงปัญญาที่สามารถระลึกชาติได้

    แม้ในพระดำรัสที่ตรัสว่า ขันธ์ธาตุอายตนะทั้งหลายรับทาน ดังนี้ มหาชนจะไม่เข้าใจ พากันพิศวงงงงวย โต้แย้งว่า นี่อะไรกัน ขันธ์ธาตุอายตนะทั้งหลายรับทานด้วยหรือ ดังนี้

    แต่เมื่อตรัสว่า บุคคลผู้มีศีลมีกัลยาณธรรมรับทาน ดังนี้ มหาชนก็เข้าใจ ไม่พิศวงงงงวย ไม่โต้แย้ง เพราะฉะนั้น พระผู้มีพระภาคจึงตรัสบุคคลกถา เพื่อทรงแสดงถึงความบริสุทธิ์แห่งทักษิณาทาน

    เพราะว่า ธรรมดาพระผู้มีพระภาคทั้งหลายจะไม่ทรงละทิ้งสมมติของโลก ทรงดำรงอยู่ในถ้อยคำของชาวโลก ในภาษาของชาวโลก ในการเจรจาของชาวโลก นั่นแหละทรงแสดงธรรม เพราะฉะนั้น พระผู้มีพระภาคจึงตรัสบุคคลกถาไว้ เพื่อไม่ละทิ้งสมมติของโลกเสีย

    เพราะฉะนั้น ไม่น่าจะมีข้อสงสัยในเรื่องของสมมติบัญญัติและปรมัตถ์ว่า การที่จะประจักษ์แจ้งอริยสัจจธรรมได้นั้น ต้องเป็นการรู้แจ้งปรมัตถธรรม

    ถ. ที่อาจารย์กล่าวว่า เทศนามี ๒ นัย คือ สมมติเทศนากับปรมัตถเทศนา จากข้อความนี้ผมระลึกถึงพระสูตรหนึ่ง คือ อนุราธสูตร ที่กล่าวว่า สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ที่กูฏาคารศาลา ป่ามหาวัน ใกล้พระนครเวสาลี ครั้งนั้นแล ท่านพระอนุราธะอยู่ไม่ไกลพระผู้มีพระภาค อัญญเดียรถีย์พวกหนึ่งได้เข้าไปหา ท่านพระอนุราธะแล้วได้สนทนาข้อความนี้ว่า

    ดูกร อนุราธะ พระตถาคตเป็นอุดมบุรุษ เป็นยอดบุรุษ ถึงความบรรลุชั้นเยี่ยม เมื่อจะทรงบัญญัติ ย่อมบัญญัติในฐานะ ๔ เหล่านี้

    คำว่า ฐานะ ๔ เหล่านี้ เป็นสมมติใช่ไหม ที่ว่า สัตว์เบื้องหน้าแต่ตายแล้ว ย่อมเกิด ย่อมไม่เกิดอีก เกิดอีกก็มี ไม่เกิดอีกก็มี เกิดอีกก็หามิได้ ไม่เกิดอีกก็หามิได้

    ผมมีความสงสัยว่า เกิดอีกก็หามิได้ ไม่เกิดอีกก็หามิได้ หมายเอาถึงเนื้อแท้ คือ รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ใช่ไหม ที่เป็นอรรถเนื้อแท้อันยิ่ง คือ ขันธ์ ๕ นั่นเอง ที่อัญญเดียรถีย์เห็นผิดว่า เป็นสัตว์ เป็นบุคคล

    สุ. ถูกต้อง เพราะฉะนั้น ต้องรู้จุดประสงค์ของการทรงแสดงธรรม และ ผู้ศึกษาต้องรู้ด้วยว่า ศึกษาเพื่ออะไร การศึกษาพระธรรม การฟังพระธรรม เพื่อเข้าใจอะไร

    ถ. เข้าใจขันธ์ ๕

    สุ. เข้าใจขันธ์ ๕ ในขณะไหน

    ถ. ขณะที่กำลังเกิด มีปรากฏขึ้น

    สุ. ขณะนี้มีขันธ์ ๕ กำลังเกิด จะเข้าใจได้อย่างไร ต้องถึงจุดประสงค์นี้ด้วย เพราะการฟังพระธรรมทั้งหมดจะมากจะน้อย ใครกล่าวกับใครว่าอย่างไรก็ตาม ถ้าจุดประสงค์เพื่อเข้าใจขันธ์ ๕ แล้ว ต้องหมายถึงเข้าใจลักษณะของขันธ์ ๕ ในขณะนี้ที่กำลังปรากฏ

    ถ. ขอให้อาจารย์ชี้แนะขันธ์ ๕ คร่าวๆ ด้วย

    สุ. ขันธ์ ๕ มีรูปขันธ์ ๑ เวทนาขันธ์ ๑ สัญญาขันธ์ ๑ สังขารขันธ์ ๑ วิญญาณขันธ์ ๑

    การที่จะเข้าใจขันธ์ ๕ จะเข้าใจได้มากและละเอียดขึ้น ชัดขึ้น เมื่อพิจารณาขันธ์ที่กำลังปรากฏ ไม่ใช่เป็นชื่อเท่านั้น ถ้าอ่านตามตำราก็จำได้ว่ามีขันธ์ ๕ แต่ขณะนี้หลงลืม ไม่รู้ว่าขันธ์ ๕ อยู่ที่ไหน อย่างนั้นจะไม่ทำให้เข้าใจขันธ์ ๕ เลย

    จำได้แต่ชื่อจริงๆ เช่น รูปขันธ์ ได้แก่ ธรรมที่ไม่ใช่สภาพรู้ แต่ในขณะนี้ ก็มีสภาพธรรมที่ไม่ใช่สภาพรู้กำลังปรากฏ เพราะฉะนั้น การที่จะรู้จักแม้รูปขันธ์ ก็ต้องระลึกลักษณะสภาพของรูปที่กำลังปรากฏทางหนึ่งทางใด เช่น ทางตา มีลักษณะของรูปขันธ์กำลังปรากฏ และไม่ใช่คิดว่าเข้าใจแล้วว่า ทางตามีรูปขันธ์ กำลังปรากฏ แต่ต้องรู้ด้วยว่า ขณะนี้ที่เป็นรูปขันธ์ ที่ไม่ใช่คน ไม่ใช่สัตว์นั้น คืออย่างไร ถ้าสติปัฏฐานไม่เกิด ไม่ระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่ …

    ถ. หมายความว่าอัตตภาพนี้เป็นรูปขันธ์ ใช่ไหม

    สุ. อันไหนเป็นรูปขันธ์

    ถ. ก็รูปร่างกายนี้

    สุ. ตั้งแต่ศีรษะตลอดเท้า มีรูปหลายประเภท ไม่ใช่รูปเดียว แต่ละรูปปรากฏได้แต่ละทาง

    ถ. ถ้าเราเดินอยู่ ก็เป็นรูป

    สุ. ทำไมต้องถ้าเดิน ก็กำลังยืนอยู่แล้ว เดี๋ยวนี้

    ถ. ถ้าจะเข้าใจรูปขันธ์ให้ถ่องแท้ ต้องเข้าใจจากจุดนี้ ใช่ไหม

    สุ. ต้องในขณะนี้ เพราะว่ารูปหมายถึงสภาพธรรมที่ไม่รู้อะไร ไม่ใช่สภาพรู้ เพราะฉะนั้น การที่จะรู้จักรูปขันธ์ ไม่ใช่ดูจากหนังสือและจำชื่อ

    ถ. ตัวที่ศึกษารู้ชัดว่านี่เป็นรูปขันธ์ เป็นจิต ใช่ไหม

    สุ. เป็นปัญญา เพราะว่าจิตเป็นใหญ่เป็นประธานในการรู้ ปัญญาเป็นสังขารขันธ์

    ถ. ขันธ์ศึกษาขันธ์หรือ

    สุ. แน่นอน เพราะในขันธ์ทั้ง ๕ ขันธ์ ๔ ขันธ์เป็นนามขันธ์ เป็นสภาพรู้

    ถ. ขันธ์รู้ขันธ์ ขันธ์ศึกษาขันธ์ แต่จิตไม่ใช่ขันธ์

    สุ. จิตเป็นวิญญาณขันธ์

    ถ. จิตเป็นวิญญาณขันธ์ด้วย และวิญญาณขันธ์ศึกษาสังขารขันธ์ สังขารขันธ์ศึกษาสัญญาขันธ์ สัญญาขันธ์ศึกษาเวทนาขันธ์ และเวทนาเป็นนามขันธ์

    สุ. อย่าศึกษาเป็นชื่ออย่างนั้น เริ่มตั้งแต่รูปขันธ์ อยากจะเข้าใจรูปขันธ์ ใช่ไหม ไม่ต้องไปคิดถึงอย่างอื่น มีขันธ์ ๕ จริง และขณะนี้รูปขันธ์ก็มี

    ถ. แบ่งโดยนัยของธาตุ ๔ ได้ไหม

    สุ. อย่าเพิ่งไปถึงไหน เวลานี้อยากจะรู้จักขันธ์ ๕ ใช่ไหม ดิฉันก็เรียนให้ทราบว่า อย่าไปคิดถึงขันธ์ ๕ ในหนังสือ การที่จะเข้าใจขันธ์ ๕ ต้องในขณะที่ กำลังปรากฏ จะทำให้เข้าใจได้ดีขึ้น ชัดเจนขึ้น ถูกต้องขึ้น ซึ่งในขณะนี้ก็มีขันธ์ ๕ เพราะฉะนั้น จะไล่เรียงไปทีละขันธ์

    ถ. หมายความว่าในอัตภาพผมนี่มีอาการ ๓๒ ก็เป็นรูปขันธ์ ใช่ไหม

    สุ. อาการ ๓๒ มีอะไรบ้าง

    ถ. ตั้งแต่ผมไปจนถึงโน่นเลย

    สุ. เป็นรูปขันธ์หรือเปล่า

    ถ. เป็น

    สุ. เพราะอะไรจึงเป็นรูปขันธ์

    ถ. เพราะเป็นสภาพที่ต้องแตก

    สุ. เพราะไม่ใช่สภาพรู้ เพราะไม่รู้อะไร

    ถ. เพราะไม่รู้นามธรรม

    สุ. เพราะไม่ใช่สภาพรู้

    ถ. รู้สึกว่าขันธ์กว้างขวางมาก แค่นี้ก่อนแล้วกัน ขอบพระคุณ



    คำบรรยายคัดลอกจาก E-book
    แนวทางเจริญวิปัสสนา เล่ม ๑๗๙ ตอนที่ ๑๗๘๑ – ๑๗๙๐
    เรียบเรียงอักษรให้อยู่ในรูปแบบหนังสือ โดยมีเนื้อหาใจความสำคัญครบถ้วน

    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 96
    28 ธ.ค. 2564