แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1795


    ครั้งที่ ๑๗๙๕


    สาระสำคัญ

    ประโยชน์ที่จะได้รับจากการฟังพระธรรม

    ชวนวิถีทางปัญจทวารและทางมโนทวาร

    ทวารและกิจของจิต

    อรรถกถา องฺ.ทสก. ตติยกัมมสูตร - ปฏิสนธิจิต


    ที่ห้องประชุมตึกสภาการศึกษามหามกุฏราชวิทยาลัย

    วันอาทิตย์ที่ ๘ พฤษภาคม ๒๕๓๑


    อีกท่านหนึ่งเป็นผู้ที่ฟังพระธรรมมานานมากเป็นสิบๆ ปีเหมือนกัน ท่านก็ระลึกได้ว่า วันหนึ่งๆ อกุศลจิตช่างมากมายเหลือเกิน เป็นโลภะอยู่เสมอตลอดเวลา ไม่ว่าจะคิดนึกเรื่องอะไรก็ตาม และปกติท่านก็เป็นผู้ที่ช่างคิด เป็นคนที่เรียกได้ว่า เป็นคนคิดมากท่านหนึ่ง แต่เมื่อท่านได้ฟังพระธรรมนานๆ เข้า ท่านก็เกิดระลึกได้ ในขณะที่ท่านนอนก่อนจะหลับว่า ขณะที่เกิดวิตก คือ ตรึกนึกถึงเรื่องราวต่างๆ ขณะนั้นเป็นโลภมูลจิต เพราะฉะนั้น ถ้าท่านตายในขณะที่ท่านนอนหลับ เมื่อปฏิสนธิจิตเกิด โลภมูลจิตก็ต้องเกิดต่อแน่นอน เพราะก่อนจะหลับเป็นโลภะ เมื่อตายในขณะที่หลับ ตื่นขึ้นก็ต้องเป็นโลภะ

    เมื่อตายในขณะที่หลับ หลังจากที่ปฏิสนธิแล้วโลภะก็ต้องเกิด เหมือนกับ วันหนึ่งๆ ที่ก่อนนอนหลับไปเป็นโลภะ และทันทีที่ตื่นก็โลภะนั่นแหละเกิดอีก ฉันใด ถ้าตายในระหว่างที่หลับ เมื่อปฏิสนธิจิตเกิดหลังจากนั้นก็คือโลภะอีกนั่นแหละ แสดงให้เห็นว่า ถ้าเป็นอย่างนี้แล้ว เมื่อไรจะจบสิ้น

    เป็นการเริ่มเข้าใจลักษณะของสภาพธรรมที่เกิดกับตน นี่คือประโยชน์ที่ได้รับจากการฟังพระธรรม เพราะฉะนั้น การฟังพระธรรมไม่ว่าจะเป็นเรื่องใดๆ ก็ตาม เพื่อให้เข้าใจสภาพธรรมที่เกิดกับตนตามความเป็นจริง และสำหรับการสนทนาธรรมก็ดี กล่าวธรรมก็ดี แสดงธรรมก็ดี ไตร่ตรองธรรมก็ดี ก็เพื่อที่จะให้หวั่นไหวน้อยลง ในเหตุการณ์ทั้งหลายที่เกิดขึ้นกับตน มิฉะนั้นแต่ละคนซึ่งหลงลืมไม่คิดถึงธรรม เวลากระทบกับเหตุการณ์ต่างๆ ก็ย่อมจะต้องหวั่นไหวไปมากบ้างน้อยบ้าง เพราะว่า การฟังธรรม เมื่อฟังจบแล้วก็ลืมไป เหมือนกับเรื่องทุกเรื่องที่คิดแล้วก็ลืม การเรียน ทุกอย่างถ้าไม่ได้ทบทวนบ่อยๆ เรียนแล้วจำได้ชั่วขณะและก็ลืมไป เพราะฉะนั้น พระธรรมก็เหมือนกัน ถ้าไม่ฟังพระธรรมอยู่เรื่อยๆ แม้ว่าในอดีตชาติจะเคยสะสม การฟังพระธรรมมามากก็ตาม แต่ถ้าในปัจจุบันชาตินี้ฟังน้อย หรือฟังแล้วไม่ได้พิจารณาไตร่ตรองเสมอๆ ก็ย่อมลืมได้ ซึ่งท่านผู้ฟังก็จะสังเกตได้ว่า วันหนึ่งๆ ลืม พระธรรมมากไหม

    ในขณะที่กำลังฟัง เข้าใจ และก็ลืม เวลาที่มีโอกาสฟังอีก ในขณะนั้นก็เข้าใจ และก็ลืมอีก ชีวิตประจำวันก็เป็นอย่างนี้ ทุกเรื่อง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องธรรม หรือ ไม่ใช่เรื่องธรรม เพราะฉะนั้น ก็ต้องแล้วแต่ว่าจะทบทวนสิ่งที่ได้ยินได้ฟังมากน้อย แค่ไหน ถ้าทบทวนพิจารณาอยู่บ่อยๆ ย่อมสามารถเข้าใจสภาพธรรมที่เกิดกับตนเองได้มากขึ้น

    เท่าที่ได้ฟังจากท่านผู้ฟัง รู้สึกว่าบางท่านยังสับสน คือ ยังไม่เข้าใจชัดเจน ในเรื่องของชวนวิถีทางปัญจทวารและทางมโนทวาร บางท่านคิดว่า ขณะใดที่เป็น กุศลจิตหรืออกุศลจิตซึ่งเป็นชวนวิถี ขณะนั้นต้องเป็นวิถีจิตทางมโนทวารแล้วจึงจะเป็นกุศลจิตหรืออกุศลจิตได้

    เพราะฉะนั้น ขอกล่าวถึงเรื่องของทวารและกิจของจิตอย่างละเอียดอีกครั้งหนึ่ง เพื่อที่จะเป็นสิ่งที่สะสม และจะได้ไม่หวั่นไหวเมื่อเข้าใจเรื่องของสภาพธรรม และ เมื่อสติปัฏฐานมีโอกาสจะเกิดจนกระทั่งถึงสังขารุเปกขาญาณ ก็มีปัจจัยที่จะทำให้ ถึงความสมบูรณ์ของปัญญาที่ไม่หวั่นไหวได้

    การที่จะเข้าใจเรื่องของทวารได้ ต้องเข้าใจเรื่องกิจของจิต หรือการที่จะเข้าใจเรื่องกิจของจิตได้ ก็ต้องเข้าใจเรื่องทวารประกอบกันไปด้วย ซึ่งทั้งกิจของจิตและทวารก็คือในขณะนี้เอง

    ข้อสำคัญที่จะต้องเข้าใจ คือ จิตทุกดวงเกิดขึ้นกระทำกิจการงานของจิตนั้นและดับไป ไม่มีจิตดวงไหนเลยซึ่งเกิดขึ้นโดยไม่ทำกิจการงาน

    การฟังธรรมต้องพยายามเข้าใจ ไม่ต้องท่อง เช่น จิตทุกดวงที่เกิดขึ้นต้องทำกิจการงาน ไม่มีจิตสักขณะเดียวหรือสักดวงเดียวที่เกิดขึ้นโดยไม่ทำกิจอะไร เพราะฉะนั้น ถ้าจะกล่าวถึงโดยละเอียดจริงๆ ขอเริ่มตั้งแต่ขณะจิตแรกที่เกิดขึ้น ในชาติหนึ่ง ซึ่งจิตขณะแรกที่เกิดขึ้นในชาติหนึ่งต้องมีแน่ๆ มิฉะนั้นแล้วจิตในขณะนี้ ก็มีไม่ได้เลย

    จิตขณะแรกที่เกิดขึ้นในชาติหนึ่งๆ เป็นผลของกรรม เพราะฉะนั้น จิตขณะแรกที่เกิดขึ้นจึงเป็นชาติวิบาก คือ เป็นวิบากจิต จิตที่เกิดขึ้นขณะแรกทำกิจด้วย ไม่ใช่ไม่ทำกิจ คือ ทำปฏิสนธิกิจ ทำกิจสืบต่อจากจุติจิตของชาติก่อน

    ถ้าได้ยินคำว่า ปฏิสนธิจิต รู้เลยว่าหมายความถึงจิตที่ทำกิจปฏิสนธิ ซึ่งเป็นกิจแรกของชาติหนึ่งๆ

    อย่าลืม รู้จักกิจที่ ๑ ของจิตดวงแรกแล้ว คือ ปฏิสนธิกิจ

    ในระหว่างที่ยังมีชีวิตอยู่ ยังไม่ตาย ด้วยเหตุผลแล้วจะมีจิตที่เกิดขึ้นทำ ปฏิสนธิกิจอีกได้ไหม ไม่ได้เลย กิจนี้มีจิตที่ทำเพียงดวงเดียว คือ วิบากจิตซึ่งเป็นผลของกรรมหนึ่งเท่านั้นเอง

    ปฏิสนธิจิตรู้อารมณ์อะไร

    นี่เป็นเหตุที่จะทำให้เข้าใจเรื่องของทวารด้วย ปฏิสนธิจิตมีอารมณ์เดียวกับ จิตก่อนจะจุติของชาติก่อน จึงไม่ต้องอาศัยทวารหนึ่งทวารใดเลย

    ทวาร คือ ประตู หรือทางที่จิตจะเกิดขึ้นเป็นไป แต่ปฏิสนธิจิตเป็นวิบากจิต เป็นผลของกรรม และมีอารมณ์เดียวกับจิตก่อนจุติของชาติก่อน จึงไม่ต้องอาศัย ทวารหนึ่งทวารใดเกิดขึ้นรู้อารมณ์เลย

    มโนรถปูรณี อรรถกถาอังคุตตรนิกาย ทสกนิบาต ตติยกรรมสูตร ข้อ ๑๙๖ มีข้อความว่า

    จะชื่อว่าเทพ ชื่อว่าสัตว์นรก ชื่อว่าสัตว์เดียรัจฉาน ก็เพราะปฏิสนธิจิต

    ที่ชื่อว่ามนุษย์ในขณะนี้ ก็เพราะปฏิสนธิจิตเป็นผลของกุศลนั่นเอง แต่ถ้าเป็นผลของอกุศล ก็ต้องเป็นสัตว์เดรัจฉาน หรือเป็นสัตว์นรก เป็นเปรต เป็นอสุรกาย

    แสดงให้เห็นว่า ปฏิสนธิจิตขณะแรก เป็นผลของกรรมที่จะประมวลมา ซึ่งผลของกรรมอื่นๆ ที่จะเกิดขึ้นในระหว่างที่ยังไม่จุติ

    กิจที่ ๑ คือ ปฏิสนธิกิจ ซึ่งจิตดวงหนึ่งเกิดขึ้นทำกิจนี้เป็นขณะแรกและดับไป เป็นปัจจัยให้จิตดวงต่อไปเกิดขึ้น

    จิตดวงต่อไปเกิดขึ้น ก็ควรจะพิจารณาว่า จิตที่เกิดต่อจากปฏิสนธิจิตนั้น ทำกิจอะไร และรู้อารมณ์อะไร

    นี่คือชีวิตของแต่ละคนก่อนที่จะมีการเห็น การได้ยิน เป็นสุข เป็นทุกข์ มีปัญหาชีวิตมากมาย มีความเพลิดเพลินต่างๆ ซึ่งควรที่จะรู้สภาพธรรมที่เป็นอนัตตาโดยการที่เหมือนแว่นแก้วที่ส่องขยายจิตโดยละเอียดตั้งแต่ปฏิสนธิจิตซึ่งเป็นขณะแรกดับไป และจิตที่เกิดต่อจากปฏิสนธิจิตเป็นจิตประเภทไหน ทำกิจอะไร รู้อารมณ์อะไร

    จิตที่เกิดสืบต่อจากปฏิสนธิจิต เป็นวิบากจิต คือ เป็นผลของกรรมประเภทเดียวกันกับปฏิสนธิจิตนั่นเอง กิจที่เกิดสืบต่อจากปฏิสนธิกิจ ทำกิจภวังค์ คือ ดำรงภพชาติความเป็นบุคคลนั้นไว้

    คำว่า ภวังค์ มาจากคำว่า ภพ หรือ ภว กับคำว่า อังค

    ภพ คือ ความเป็น อังค คือ ส่วน เพราะฉะนั้น ก็คือส่วนที่เป็นอยู่ หรือสภาพที่เป็นอยู่ซึ่งจะต้องดำรงความเป็นสภาพนั้นอยู่ในขณะที่ภวังคจิตเกิด จะไม่เปลี่ยนเป็นบุคคลอื่นเลย จิตที่เกิดต่อจากปฏิสนธิจิตเป็นผลของกรรมเดียวกับ ปฏิสนธิจิต จึงทำกิจดำรงภพชาติความเป็นบุคคลนั้นไว้ในขณะที่ภวังคจิตเกิด และดับไป และภวังคจิตก็เกิด และก็ดับไป

    ภวังคจิตทุกขณะมีอารมณ์เดียวกับปฏิสนธิจิต เป็นชาติวิบากและรู้อารมณ์เดียวกับปฏิสนธิ จึงไม่ต้องอาศัยทางทวารหนึ่งทวารใดเกิดขึ้นรู้อารมณ์อื่น

    ขณะที่ปฏิสนธิจิตเกิดและภวังคจิตเกิด ขณะนั้นอารมณ์ไม่ปรากฏเลย จริงหรือไม่จริง ขณะที่ปฏิสนธิจิตเกิดและดับไป และขณะที่ภวังคจิตเกิดสืบต่อและ ดับไป ตราบใดที่ยังเป็นภวังคจิต ตราบนั้นอารมณ์ไม่ปรากฏ นี่เป็นเหตุที่ไม่ต้องอาศัยทวาร เพราะว่าไม่มีอารมณ์ปรากฏทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็นทางตา หรือทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ

    เพื่อที่จะได้เข้าใจเรื่องของทวารและเรื่องของจิต ควรที่จะได้ทราบว่า ขณะใดที่อารมณ์ไม่ปรากฏ ขณะนั้นเพราะจิตไม่ได้อาศัยทวารหนึ่งทวารใดเกิดขึ้น

    อีกครั้งหนึ่ง ขณะใดที่อารมณ์ไม่ปรากฏ ขณะนั้นเพราะจิตไม่ได้อาศัย ทวารหนึ่งทวารใดเกิดขึ้น เพราะฉะนั้น หลังจากปฏิสนธิจิตเกิดและดับไป ภวังคจิตเกิดสืบต่อ ภวังคจิตจะเกิดดับสืบต่อไปเรื่อยๆ โดยอารมณ์ไม่ปรากฏเลยจนกว่า จิตประเภทอื่นจะเกิดขึ้นรู้อารมณ์อื่นซึ่งไม่ใช่อารมณ์ของปฏิสนธิจิตและภวังคจิต ตอนนี้แหละที่จะต้องอาศัยทวารเป็นทางที่จิตจะเกิดขึ้นรู้อารมณ์อื่น ที่ไม่ใช่อารมณ์ของภวังคจิต

    ถ้าเกิดในครรภ์เป็นมนุษย์ จะมีหทยรูป มีภาวรูป มีกายปสาทรูปเกิดพร้อมกับ ปฏิสนธิจิตก็จริง แต่การรู้อารมณ์อื่นที่ไม่ใช่อารมณ์ของภวังคจิตนั้น สำหรับวาระแรกต้องเป็นวิถีจิตทางมโนทวาร

    เพราะฉะนั้น ขอกล่าวถึงมโนทวารก่อน สำหรับผู้ที่ตายแล้วเกิดอีกนั้น คือ ผู้ที่ไม่ใช่พระอรหันต์ ซึ่งการสะสมความพอใจในแต่ละภพในแต่ละชาติที่มีมาเนิ่นนานในสังสารวัฏฏ์ เมื่อปฏิสนธิจิตและภวังคจิตเกิดและดับไป การสะสมความยินดีพอใจในภพชาติที่สะสมมานับประมาณไม่ได้เลยนั้น จะเป็นปัจจัยให้ภวังค์ไหว ตามความยินดีพอใจที่สะสมมา

    แสดงให้เห็นว่า ทันทีที่เกิด แม้จะอยู่ในครรภ์ และมีรูปกลุ่มที่เล็กที่สุด ๓ กลุ่ม แต่วิถีจิตแรกที่ไม่ใช่ภวังคจิต ต้องเกิดขึ้นทางมโนทวาร โดยเป็นความยินดีพอใจใน ภพชาติ

    การที่จิตจะเกิดขึ้นยินดีพอใจในภพชาติได้ ก็เพราะว่าเคยสะสมความยินดีพอใจในภพชาติมามากมาย ฉะนั้น เมื่อจิตเกิดและก็ดับ เกิดและก็ดับเป็นภวังค์อยู่นั้น วาระแรกที่จะรู้อารมณ์อื่น ก็เพราะความยินดีพอใจในภพชาตินั่นเองทำให้ ภวังคจิตไหว และเมื่อภวังคจิตไหวซึ่งภาษาบาลีว่า ภวังคจลนะ ดับไปแล้ว ภวังคุปัจเฉทะก็เกิดต่อ เป็นการสิ้นสุดกระแสภวังค์ เมื่อภวังคุปัจเฉทะดับไปแล้ว จิตอื่นจึงเกิดขึ้นรู้อารมณ์ที่ไม่ใช่อารมณ์ของภวังค์

    จิตใดๆ ก็ตามที่รู้อารมณ์อื่นที่ไม่ใช่อารมณ์ของภวังค์ จิตนั้นเป็นวิถีจิต และการที่จิตจะรู้อารมณ์หนึ่งอารมณ์ใดที่ไม่ใช่อารมณ์ของภวังคจิตได้นั้น ต้องอาศัย ทางหนึ่งทางใดที่ภาษาบาลีใช้คำว่า ทวาร ซึ่งทั้งหมดมี ๖ ทาง ได้แก่ ตา ๑ หู ๑ จมูก ๑ ลิ้น ๑ กาย ๑ ใจ ๑

    สำหรับทางใจ คือ สภาพของจิตที่เป็นภวังค์ที่เกิดก่อนวิถีจิตจะเกิดนั่นเอง เป็นมโนทวาร เป็นทางที่จะทำให้จิตเกิดขึ้นรู้อารมณ์ทางใจ เพราะฉะนั้น มโนทวาร ได้แก่ ภวังคุปัจเฉทะ ซึ่งเกิดก่อนวิถีจิต

    ถ. ที่เรียกทวาร เพราะเป็นทางรับอารมณ์ ใช่ไหม

    สุ. เป็นทางที่จิตจะเกิดขึ้นรู้อารมณ์อื่นที่ไม่ใช่อารมณ์ของภวังค์ เพราะว่าธรรมดาแล้วเมื่อปฏิสนธิจิตดับไป ภวังคจิตจะเกิดดับสืบต่อดำรงภพชาติและมีอารมณ์เดียวกับปฏิสนธิจิต จึงไม่ต้องอาศัยทางหนึ่งทางใด เพราะยังมีอารมณ์เดียวกับปฏิสนธิจิตอยู่ ต่อเมื่อใดที่จะไม่มีอารมณ์เดียวกับปฏิสนธิจิต เมื่อนั้นจึงต้องอาศัย ทวารหนึ่งทวารใดเพื่อจะรู้อารมณ์อื่น ซึ่งมีอยู่ ๖ ทาง ได้แก่

    จักขุปสาทรูป เป็นทางที่จะให้จิตเกิดขึ้นเห็นสีและเป็นไปกับสีที่ปรากฏ ๑ รูป หรือ ๑ ทวาร

    ทวารที่ ๒ คือ โสตปสาทรูป เป็นทางที่จะให้จิตเกิดขึ้นได้ยินเสียงและเป็นไปกับเสียงที่ปรากฏทางโสตทวาร นี่เป็นทวารที่ ๒

    ทวารที่ ๓ คือ ฆานปสาทรูป เป็นทางที่จะให้จิตเกิดขึ้นได้กลิ่นและเป็นไปกับกลิ่นที่ปรากฏที่จมูก

    ทวารที่ ๔ คือ ชิวหาปสาทรูป เป็นรูปที่เป็นทางให้จิตเกิดขึ้นลิ้มรสและเป็นไปกับรสที่ปรากฏ

    ทวารที่ ๕ คือ กายปสาทรูป เป็นรูปที่ซึมซาบอยู่ทั่วกาย เป็นทางที่จะให้จิตเกิดขึ้นรู้เย็นหรือร้อน อ่อนหรือแข็ง ตึงหรือไหวที่กระทบสัมผัสกาย

    นี่คือรูป ๕ รูป ซึ่งเป็นทางหรือทวารให้จิตเกิดขึ้นรู้อารมณ์ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย แต่สำหรับมโนทวาร ไม่ใช่รูป เพราะแม้ไม่มีรูปกระทบ การที่เคยสะสมความยินดีพอใจ ไม่ว่าจะเป็นสิ่งที่ปรากฏทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ซึ่งดับไปแล้ว แต่สัญญา ความทรงจำที่สะสมความจำสิ่งต่างๆ เหล่านั้น ก็เป็นปัจจัยทำให้วิถีจิตเกิดขึ้นรู้อารมณ์นั้นอีก ซึ่งไม่ใช่อารมณ์ของภวังค์

    เพราะฉะนั้น ขณะใดที่จิตไม่รู้อารมณ์เดียวกับภวังค์ ขณะนั้นเป็นวิถีจิต ทางหนึ่งทางใด ถ้าไม่ใช่ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ก็ต้องเป็นวิถีจิตทางมโนทวาร โดยอาศัยจิตซึ่งเกิดก่อนเป็นทางให้จิตที่เป็นวิถีจิตเกิดขึ้นรู้อารมณ์อื่น ที่ไม่ใช่อารมณ์ของภวังค์

    ถ. มีการสั่งสมทำให้วิถีจิตเกิดได้ โดยไม่ต้องอาศัยปสาทใดๆ

    สุ. ที่ไม่อาศัยปสาทใดๆ ก็เพราะว่าขณะนั้นไม่ใช่การเห็นสิ่งที่กระทบตา ไม่ใช่การได้ยินเสียงที่กระทบหู เป็นแต่เพียงการนึกถึงเรื่องราวและสิ่งต่างๆ ที่เคยสะสมมา ไม่ว่าจะเป็นการระลึกถึงด้วยความยินดี หรือความไม่ยินดีพอใจ หรือด้วยกุศลจิตก็ตาม การสะสมนั้นเป็นเหตุปัจจัยทำให้เกิดการนึกถึงอารมณ์นั้น เพราะฉะนั้น ขณะที่จะนึกถึงอารมณ์นั้น ก่อนที่จะนึกถึงอารมณ์นั้น จิตเป็นภวังค์

    และเมื่อจะนึกถึง ภวังคุปัจเฉทะต้องดับก่อน โดยก่อนภวังคุปัจเฉทะ ภวังคจลนะต้องเกิดไหวเพื่อที่จะทิ้งอารมณ์ของภวังค์ เพื่อรู้อารมณ์ใหม่

    ถ. มีเด็กๆ เขาสนใจและถามผม ผมตอบไม่ได้ คือ เขาถามว่า คนใกล้จะตายถึงขั้นโคม่า ไม่รู้สึกอารมณ์แล้ว แม้แต่สมองก็ไม่ได้สั่งงานแล้ว อยู่เฉยๆ นิ่ง ไม่รู้สึกอะไร แต่หายใจ จิตขณะนั้นเป็นทางมโนทวาร ใช่ไหม จะบอกได้ไหมว่า เป็นทางมโนทวาร

    สุ. คนอื่นบอกไม่ได้ นอกจากคนที่รู้วาระจิต

    ถ. ผมก็บอกว่า ปสาททั้ง ๕ ไม่รู้อารมณ์แล้ว ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกายไม่รู้สึกแล้ว แม้แต่สมองก็ไม่ทำงาน แต่หายใจได้ อย่างกรณีเจ้าหญิงนิทราซึ่งสลบมาหลายๆ ปี ...

    สุ. จะกล่าวอย่างนี้ได้ไหมว่า ขณะใดก็ตามที่จิตไม่รู้อารมณ์ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ ขณะนั้นเป็นภวังคจิต มีอารมณ์เดียวกับ ปฏิสนธิจิต เพราะฉะนั้น ขณะใดก็ตามที่ไม่ใช่ภวังคจิต ปฏิสนธิจิตนั้นไม่ต้องกล่าวถึง เพราะเพียงชั่วขณะเดียว ขณะใดที่จิตรู้อารมณ์อื่นที่ไม่ใช่อารมณ์เดียวกับภวังคจิต ขณะนั้นเป็นวิถีจิต เป็นจิตประเภทอื่นที่ไม่ใช่ภวังคจิต



    คำบรรยายคัดลอกจาก E-book
    แนวทางเจริญวิปัสสนา เล่ม ๑๘๐ ตอนที่ ๑๗๙๑ – ๑๘๐๐
    เรียบเรียงอักษรให้อยู่ในรูปแบบหนังสือ โดยมีเนื้อหาใจความสำคัญครบถ้วน
    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 96
    28 ธ.ค. 2564