แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1799
ครั้งที่ ๑๗๙๙
สาระสำคัญ
อุปาทายรูป ต้องเกิดกับมหาภูตรูป
วิบากจิตเป็นผลของกรรม
ทุกคนอยู่ในโลกของความคิดอย่างมาก
ที่ห้องประชุมตึกสภาการศึกษามหามกุฏราชวิทยาลัย
วันอาทิตย์ที่ ๑๕ พฤษภาคม ๒๕๓๑
ขอทบทวน ๑. ปฏิสนธิกิจ ๒. ภวังคกิจ ๓. อาวัชชนกิจ ๔. ทัสสนกิจ จิตเห็น ได้แก่ จักขุวิญญาณ ๒ ดวง ๕. สวนกิจ ได้แก่ โสตวิญญาณ ๒ ดวง
สวนกิจ คือ กิจได้ยิน กำลังได้ยินอยู่ในขณะนี้ เป็นโสตวิญญาณที่เกิดขึ้น ทำสวนกิจ อาศัยโสตปสาทเกิดขึ้นได้ยินเสียง โสตวิญญาณเกิดที่โสตปสาทรูป และดับทันที เพราะฉะนั้น โสตปสาทรูปเป็นโสตทวารของโสตวิญญาณ และเป็นที่เกิดของโสตวิญญาณด้วย
มีใครเคยรู้บ้างว่า โสตวิญญาณเกิดที่โสตปสาทรูป ดับที่โสตปสาทรูป และ ได้ยินที่โสตปสาทรูป
กิจที่ ๖ ฆายนกิจ คือ จิตที่เกิดขึ้นได้กลิ่น ได้แก่ ฆานวิญญาณ ๒ ดวง
กิจที่ ๗ สายนกิจ คือ จิตที่เกิดขึ้นลิ้มรส ได้แก่ ชิวหาวิญญาณ ๒ ดวง เกิดที่ ชิวหาปสาทรูป ดับที่ชิวหาปสาทรูป และรู้อารมณ์โดยอาศัยชิวหาปสาทรูป
กิจที่ ๘ คืออะไร ทุกคนคงจำได้หมดแล้ว แต่สำหรับผู้ที่มาฟังใหม่อาจจะคิดว่ายาก แต่ยากเฉพาะชื่อ ความจริงเป็นจิตที่เกิดขึ้นทำกิจเหล่านี้เป็นประจำ
กิจที่ ๘ ผุสสนกิจ กิจที่รู้สิ่งที่กระทบสัมผัสทางกาย
กิจที่ ๙ สัมปฏิจฉันนกิจ จิตที่รับรู้อารมณ์ต่อจากจักขุวิญญาณ ๒ ดวง โสตวิญญาณ ๒ ดวง ฆานวิญญาณ ๒ ดวง ชิวหาวิญญาณ ๒ ดวง กายวิญญาณ ๒ ดวง
กิจที่ ๑๐ สันตีรณกิจ กิจที่ ๑๑ โวฏฐัพพนกิจ กิจที่ ๑๒ กิจชวนกิจ กิจที่ ๑๓ ตทาลัมพนกิจ และกิจสุดท้าย กิจที่ ๑๔ จุติกิจ
ความวิจิตรของนามธรรมซึ่งเป็นสภาพรู้ มีใครเคยคิดบ้างไหมว่า รสที่เป็น รูปๆ หนึ่ง ซึ่งเกิดรวมอยู่กับมหาภูตรูป คือ ธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุไฟ ธาตุลม ไม่มีใครสามารถจะลิ้มได้ แต่จิตที่มีชิวหาปสาทเป็นทวาร แม้ว่ารสจะอยู่ในรูปที่เป็นมหาภูตรูป แต่ชิวหาวิญญาณก็ยังสามารถรู้คือลิ้มรสนั้นได้ รู้ว่ารสนั้นเค็มแค่ไหน หรือ หวานอย่างไร หรือเผ็ด เปรี้ยว มันอย่างไร และจากการจดจำหลังจากที่ลิ้มรสก็รู้ว่า รสนั้นมีอยู่ที่มหาภูตรูปนั่นเอง แต่ที่สามารถจะรู้รสนั้นได้ ต้องมีชิวหาปสาทเป็นทวารหรือเป็นทางที่เมื่อรสนั้นกระทบกับชิวหาปสาท ก็มีจิตขณะหนึ่งที่เกิดขึ้นลิ้มรสนั้น และดับไปอย่างรวดเร็ว
แสดงให้เห็นว่า ไม่ว่าจะเป็นรูปใดๆ ก็น่าอัศจรรย์ เช่น สีสันวัณณะที่กำลังปรากฏทางตาในขณะนี้ก็เป็นอุปาทายรูป หรือเป็นรูปหนึ่งซึ่งเกิดรวมอยู่ในมหาภูตรูป ๔ ถ้าในขณะนั้นเป็นภวังคจิตจะไม่เห็นรูปนี้เลย แต่เวลาที่จักขุปสาทรูปเกิดและ ยังไม่ดับ กับรูปารมณ์เกิดและยังไม่ดับ กระทบกัน เพียงชั่วขณะจิต ๑๗ ขณะที่ ทั้งปสาทรูปและรูปารมณ์ยังไม่ดับ ก็ทำให้จักขุวิญญาณเกิดขึ้นเห็นแม้รูปซึ่งเกิดรวม อยู่ในมหาภูตรูป ซึ่งเป็นรูปพิเศษที่กระทบกับจักขุปสาทรูปได้เท่านั้น
เพราะฉะนั้น ทุกขณะในชีวิตประจำวันซึ่งดูเป็นธรรมดาๆ แต่ถ้าคิดถึงความอัศจรรย์ที่จะต้องอาศัยเหตุปัจจัยทำให้สภาพนามธรรมเกิดขึ้นแต่ละอย่างๆ ก็จะ เห็นได้ว่า ไม่น่าที่จะมีใครไปลิ้มรสที่อยู่ในมหาภูตรูปนั้นได้เลย แต่แม้กระนั้นเพียงแต่ มีทวารหรือมีทาง คือ มีชิวหาปสาทรูปที่รูปนั้นกระทบเมื่อไร ชิวหาวิญญาณก็เกิดขึ้นลิ้ม คือ รู้รสนั้น ชั่วขณะจิตเดียวและก็ดับที่ชิวหาปสาทรูปนั่นเอง
ไม่ว่าจะเป็นทางตา หรือทางหู เสียงก็เป็นรูปๆ หนึ่งที่เกิดรวมอยู่กับมหาภูตรูป แต่เวลาที่ได้ยินเสียง ไม่มีใครคิดถึงมหาภูตรูปเลย ซึ่งที่จริงแล้วเสียงเป็นอุปาทายรูป ต้องเกิดกับมหาภูตรูป ถ้าไม่มีมหาภูตรูป คือ ธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุไฟ ธาตุลม เสียงจะเกิดไม่ได้เลย
ในขณะที่กำลังได้ยินเสียงในขณะนี้ เสียงเป็นเพียงรูปๆ หนึ่งซึ่งเกิดรวมอยู่กับมหาภูตรูป แต่เมื่อมีโสตปสาทที่ยังไม่ดับและเสียงที่ยังไม่ดับกระทบกัน ก็เป็นปัจจัยให้โสตวิญญาณเกิดขึ้นได้ยินเสียงชั่วขณะเดียวและก็ดับ
ขณะที่เห็นมีวิบากจิตหลายประเภทที่ทำกิจต่างกัน คือ นอกจากจักขุวิญญาณเกิดขึ้นเห็นสิ่งที่ปรากฏทางตาเพียงชั่วขณะเดียวดับไป สัมปฏิจฉันนจิตเป็นวิบากจิต ซึ่งกรรมทำให้เกิดขึ้น รับรู้รูปที่ปรากฏหลังจากที่จักขุวิญญาณดับไปแล้ว สัมปฏิจฉันนจิตรับรู้รูปนั้นต่อเพราะว่ารูปยังไม่ดับ และหลังจากที่สัมปฏิจฉันนจิต ดับแล้ว สันตีรณจิตซึ่งเป็นวิบากก็เกิดขึ้นพิจารณารูปนั้นและดับ
จักขุวิญญาณก็ดี สัมปฏิจฉันนจิตก็ดี สันตีรณจิตก็ดี เป็นวิบากจิตซึ่งเกิดจากกรรมที่ทำให้กระทบกับรูปนั้นและมีการเห็นรูปนั้น แต่การที่จะรู้ว่าเป็นวิบากจิต ในขณะที่เห็นชั่วขณะเดียวก็สั้นมาก แต่สัมปฏิจฉันนจิตรับต่อ สันตีรณจิตรับต่อ โวฏฐัพพนจิตเกิดต่อ และกุศลจิต หรืออกุศลจิต คือ โลภมูลจิต หรือโทสมูลจิต เกิดต่อ ยินดีพอใจในรูปที่ยังไม่ดับ ทำให้เหมือนกับเห็นอยู่ตลอดเวลาที่เป็น จักขุทวารวิถีจิต แต่ตามความเป็นจริง จักขุวิญญาณเกิดเพียงชั่วขณะเดียว
เพราะฉะนั้น การที่จะรู้วิบากซึ่งเป็นผลของกรรมจริงๆ แม้ว่ากำลังเห็นอยู่ ก็ต้องรู้ที่ชวนจิต แม้ว่ากำลังได้ยินอยู่ เสียงยังไม่ดับ จะรู้จริงๆ ก็ต้องรู้ที่ชวนจิต
ชวนะนี่คุ้นหูไหม แล่นไปในอารมณ์ ได้แก่ กุศลจิตหรืออกุศลจิตนั่นเอง ถ้าพูดถึงชวนจิต ก็ต้องทราบว่า หมายความถึงโลภมูลจิตบ้าง โทสมูลจิตบ้าง หรือกุศลจิตบ้าง ที่ทำชวนกิจต่อจากมโนทวาราวัชชนจิตทางมโนทวารวิถี หรือต่อจากโวฏฐัพพนจิตทางปัญจทวารวิถี
ท่านที่ได้ศึกษามาแล้วคงไม่ยากที่จะเข้าใจ แต่ท่านผู้ฟังใหม่ๆ ก็จะต้องอาศัยหนังสือปรมัตถธรรมสังเขปกับจิตตสังเขป เพื่อทบทวนให้ทราบ และให้คุ้นหู กับชื่อภาษาบาลีต่างๆ เหล่านี้
ถ. เวลาจะรู้อารมณ์หนึ่งอารมณ์ใด ทำไมต้องรู้ที่ชวนจิตด้วย
สุ. ขณะที่รูปกระทบกับทวารหนึ่งทวารใด ขอยกตัวอย่างทางหู เสียงกระทบกับโสตปสาทรูป กระทบกับภวังคจิต คือ อตีตภวังค์ เมื่ออตีตภวังค์ดับแล้ว ภวังคจลนะเกิด หลังจากที่ภวังคจลนะดับไปแล้ว ภวังคุปัจเฉทะเกิด ระหว่างที่เป็นภวังค์ยังไม่มีอารมณ์คือเสียงเลย เพราะว่าภวังค์มีอารมณ์เดียวกับปฏิสนธิ จากนั้นปัญจทวาราวัชชนจิตเกิดต่อจากภวังคุปัจเฉทะเป็นวิถีจิตขณะแรก นึกถึงเสียงที่กระทบโสตปสาทรูป ชั่วขณะเดียว ใครรู้ ใครจะรู้ว่าขณะนั้นมีปัญจทวาราวัชชนจิตนึกถึงเสียง
เมื่อปัญจทวาราวัชชนจิตที่นึกถึงเสียงดับไปแล้ว โสตวิญญาณซึ่งได้ยินจริงๆ ขณะที่กำลังได้ยินจริงๆ นั้น เป็นโสตวิญญาณเกิดขึ้นเพียงขณะเดียวและดับไป ใครจะรู้ลักษณะของจิตขณะเดียวที่เกิดขึ้นได้ยิน แต่รูปก็ยังไม่ดับ คือ เสียงยังไม่ดับ เพราะฉะนั้น เมื่อโสตวิญญาณดับไปแล้ว กรรมทำให้วิบากจิต คือ สัมปฏิจฉันนจิตเกิดขึ้นรับอารมณ์นั้นต่อ ขณะเดียวเท่านั้น ใครจะรู้ว่ามีสัมปฏิจฉันนะกำลังรับเสียง ต่อจากโสตวิญญาณในขณะนี้
เมื่อสัมปฏิจฉันนจิตดับไป เป็นปัจจัยให้สันตีรณจิตซึ่งเป็นวิบากจิตเกิดขึ้นพิจารณาเสียงนั้นอย่างรวดเร็วชั่วขณะเดียวและดับ ใครจะรู้ และเมื่อสันตีรณจิต ดับไปแล้ว โวฏฐัพพนจิตซึ่งเป็นกิริยาจิต ซึ่งได้แก่มโนทวาราวัชชนจิตนั่นเอง แทนที่จะเกิดขึ้นนึกถึงอารมณ์ทางใจ ก็เกิดขึ้นกระทำทางให้กุศลจิตหรืออกุศลจิตประเภทหนึ่งประเภทใดเกิดขึ้นแล่นไปในอารมณ์นั้น ซึ่งทำชวนกิจ เมื่อโวฏฐัพพนจิตเกิดขึ้นเพียง ขณะเดียวและดับ ใครจะรู้ แต่ขณะที่กำลังชอบเสียงนั้น โลภมูลจิตทำชวนกิจแล่นไปในเสียงนั้นด้วยความพอใจ เกิดดับซ้ำกัน ๗ ขณะ กำลังมีเสียงที่ยังไม่ดับเป็นอารมณ์ เพราะฉะนั้น ในขณะที่แม้ไม่ได้ยินจริงๆ แต่มีเสียงเป็นอารมณ์ และกำลังชอบใน เสียงนั้นด้วย และเสียงนั้นก็ยังไม่ดับด้วย เพราะฉะนั้น แม้ว่าจิตจะเกิดดับทำกิจ สืบต่อกันอย่างไรก็ตาม ที่จะรู้ได้ก็เป็นชั่วโสตวิญญาณและชวนจิต
แต่แม้กระนั้นการที่โสตวิญญาณดับ ชวนจิตเกิดต่อ และโสตวิญญาณเกิดอีก ชวนจิตเกิดอีก หรือก่อนที่โสตวิญญาณจะเกิด เมื่อภวังคจิตดับแล้ว มโนทวารวิถีจิตยังต้องรับรู้เสียงนั้นต่ออีก ถ้าชวนะทางโสตทวารวิถีเป็นโลภมูลจิต เมื่อมโนทวารวิถีจิตเกิดนึกถึงเสียง ชวนวิถีนั้นก็ต้องเป็นโลภะตามชวนะทางปัญจทวารวิถี
แสดงให้เห็นว่า ที่กำลังชอบในเสียง โดยที่เสียงปรากฏกับโสตวิญญาณและ ยังไม่ดับ และปรากฏกับชวนวิถีจิตทางปัญจทวารซึ่งเสียงยังไม่ดับ และแม้ว่าเสียง ดับแล้ว ภวังคจิตเกิดคั่นแล้ว มโนทวารวิถีก็ยังนึกถึงเสียงนั้น ยังมีเสียงนั้น เหมือน เสียงนั้นทีเดียว ไม่เป็นเสียงอื่นเลยเป็นอารมณ์ต่อ และชวนะก็พอใจในเสียงนั้นด้วย หลายๆ วาระ ก่อนที่จะได้ยินอีก ก็แสดงให้เห็นว่า ที่จะรู้จริงๆ ต้องในขณะที่ เป็นชวนจิต เพราะว่าแล่นไปด้วยความพอใจ หรือถ้าในขณะนั้นนึกถึงแล้วโกรธ โวฏฐัพพนจิตดับไปแล้ว โทสมูลจิตเกิด แต่เสียงยังไม่ดับ ความไม่พอใจในเสียงที่ ยังไม่ดับ แม้ว่าขณะนั้นไม่ใช่โสตวิญญาณ แต่ก็มีเสียงนั้นเป็นอารมณ์ ทำให้เมื่อ เสียงนั้นดับแล้ว ภวังคจิตเกิดคั่นแล้ว มโนทวารวิถีจิตนึกถึงเสียงที่ไม่พอใจนั้น และ โทสมูลจิตก็เกิดทางมโนทวารวิถีซ้ำอีก และเป็นภวังค์ และมโนทวารวิถีก็เกิดซ้ำ หลายวาระ ก่อนที่จะถึงวิถีจิตหนึ่งวิถีใดวาระต่อไปทางทวารหนึ่งทวารใด
เพราะฉะนั้น ที่จะปรากฏจริงๆ แม้กำลังเห็นขณะนี้ จริงๆ แล้วจะรู้ตรงที่เป็นชวนวิถีจิต
ถ. เพราะในขณะนั้นจิตเกิดขึ้นหลายขณะซ้ำๆ กัน มีอารมณ์เดียวกันด้วย
สุ. และเป็นความชอบหรือไม่ชอบในอารมณ์ ซึ่งสามารถรู้สึกได้ แต่ในขณะที่เพียงเห็น จักขุวิญญาณเห็นรูปารมณ์ เห็นทันที ดับทันที แต่การสะสมความชอบไม่ชอบแม้เพียงสีที่ปรากฏ โดยยังไม่ทันรู้ว่าเป็นอะไร ก็เกิดได้ทาง ปัญจทวารวิถี
ในวันหนึ่งๆ หลังจากปฏิสนธิแล้ว ก็เป็นภวังค์เกิดดับสืบต่อเรื่อยไปเหมือนกระแสน้ำ จนกว่าจะมีวิถีจิตเกิดขึ้นเปลี่ยนจากอารมณ์ของภวังค์ แล้วแต่ว่าจะเป็น มโนทวารวิถี หรือจักขุทวารวิถี หรือโสตทวารวิถี หรือฆานทวารวิถี หรือชิวหาทวารวิถี หรือกายทวารวิถี ซึ่งวิถีจิตทั้งหลายที่เกิดขึ้นทางทวารต่างๆ นั้น สั้นมาก และดับไป ต่อจากนั้นก็เป็นภวังค์ นี่คือกระแสของชีวิต เต็มไปด้วยภวังคจิต และมีวิถีจิตคั่น เป็นวาระๆ
ถ. วิถีจิตเกิดดับเร็วมาก ท่านพระสารีบุตรมีปัญญาถึงขนาดนับเม็ดฝนได้ ยังนับวิถีจิตนี้ไม่ได้ ใช่ไหม
สุ. ที่กล่าวถึงเรื่องการนับเม็ดฝนของท่านพระสารีบุตร ก็เพื่อแสดงให้ เห็นถึงปัญญาซึ่งกว้างมาก ฝนจะตกที่ไหนอย่างไร จำนวนเม็ดนับได้ คิดดู ความไว ความแหลมคมของปัญญาต้องสะสมมาสักแค่ไหน แต่สำหรับเราไม่ต้องนับอะไรทั้งนั้น เพียงแต่ให้รู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏว่า นามธรรมเป็นนามธรรม ไม่ใช่เรา และรูปธรรมเป็นรูปธรรมแต่ละอย่าง
ถ. จักขุวิญญาณเห็นสี จิตอื่นๆ ไม่เห็น แต่รู้สี รู้อย่างไร
สุ. รับต่อ ไม่เปลี่ยนอารมณ์ มีสีเป็นอารมณ์โดยรับต่อ
ถ. มีสีเป็นอารมณ์ รู้สี แต่ไม่เห็นสี
สุ. รับรู้ต่อ นึกถึงสีแดงได้ไหม
ถ. นึกถึงสีแดงก็เป็นมโนทวารแล้ว
สุ. ยังไม่ได้พูดถึงทวารไหน เพียงแต่ถามว่า นึกถึงสีแดงได้ไหม
ถ. ได้
สุ. นั่นทางมโนทวาร นี่ทางจักขุทวารวิถี ทวารเดียวกัน สียังไม่ดับด้วย และจิตนั้นรับต่อ ทีทางใจไม่ใช่ทางจักขุทวารวิถีเลย จักขุทวารวิถีดับแล้วเพราะรูป ดับแล้ว รูปารมณ์ดับแล้ว และภวังคจิตก็เกิดคั่นด้วย ขณะที่มโนทวาราวัชชนจิตนึกถึงสีที่จักขุทวารวิถีจิตรู้ มโนทวาราวัชชนจิตยังนึกได้ ฉันใด สัมปฏิจฉันนะ สันตีรณะ ก็หมดข้อสงสัยว่า สามารถมีสีเป็นอารมณ์โดยไม่เห็น แต่รับต่อจากจักขุวิญญาณได้ สัมปฏิจฉันนะก็มีสีเป็นอารมณ์ สันตีรณะก็มีสีที่ยังไม่ดับเป็นอารมณ์ โวฏฐัพพนะก็มี สีที่ยังไม่ดับเป็นอารมณ์ ชวนะก็มีสีที่ยังไม่ดับเป็นอารมณ์ ตทาลัมพนะก็ยังมีสีที่ยัง ไม่ดับเป็นอารมณ์ จึงชื่อว่าจักขุทวารวิถี ต่อเมื่อใดสีดับ จะไม่ชื่อว่าจักขุทวารวิถี เพราะเพียงนึกถึงสีที่ดับแล้ว ขณะนั้นก็เป็นมโนทวารวิถีซึ่งเกิดต่อจากจักขุทวารวิถี
การที่จะรู้ว่า ขณะใดไม่ใช่มโนทวารวิถีจิต ก็ควรจะทราบว่า สำหรับ จักขุทวารวิถีจิต รู้อารมณ์อื่นไม่ได้นอกจากรูปารมณ์ที่ยังไม่ดับ โสตทวารวิถีจิต ก็รู้อารมณ์อื่นไม่ได้นอกจากเสียงที่ยังไม่ดับ ฆานทวารวิถีจิตรู้อารมณ์อื่นไม่ได้นอกจากกลิ่นที่ยังไม่ดับ ชิวหาทวารวิถีจิตรู้อารมณ์อื่นไม่ได้นอกจากรสที่ยังไม่ดับ กายทวารวิถีจิตรู้อารมณ์อื่นไม่ได้นอกจากโผฏฐัพพะที่ยังไม่ดับ
วันหนึ่งๆ ถ้าเทียบกับทางตาที่เห็นจะทราบว่า มโนทวารวิถีจิตเกิดมากกว่า ทางจักขุทวารวิถีจิต เกิดมากกว่าโสตทวารวิถีจิต เกิดมากกว่าฆานทวารวิถีจิต เกิดมากกว่าชิวหาทวารวิถีจิต เกิดมากกว่ากายทวารวิถีจิต ผู้ที่อบรมเจริญสติปัฏฐาน จึงรู้ความจริงว่า สิ่งที่ปรากฏทางตาแม้เพียงเล็กน้อย ปรากฏเพียงให้คิดและสิ่งนั้น ก็ดับไปเลย เสียงที่ปรากฏทางหูก็ปรากฏสั้นมาก เพียงให้คิด เพราะฉะนั้น ทุกคนอยู่ในโลกของความคิดอย่างมาก แล้วแต่ว่าสติจะระลึกได้ว่า ขณะที่คิดนั้น เป็นกุศลจิตหรือเป็นอกุศลจิต
แนวทางเจริญวิปัสสนา เล่ม ๑๘๐ ตอนที่ ๑๗๙๑ – ๑๘๐๐
เรียบเรียงอักษรให้อยู่ในรูปแบบหนังสือ โดยมีเนื้อหาใจความสำคัญครบถ้วน
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1752
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1753
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1754
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1755
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1756
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1757
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1758
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1759
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1760
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1761
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1762
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1763
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1764
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1765
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1766
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1767
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1768
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1769
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1770
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1771
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1772
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1773
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1774
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1775
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1776
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1777
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1778
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1779
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1780
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1781
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1782
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1783
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1784
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1785
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1786
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1787
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1788
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1789
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1790
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1791
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1792
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1793
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1794
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1795
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1796
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1797
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1798
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1799
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1800
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1801
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1802
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1803
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1804
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1805
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1806
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1807
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1808
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1809
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1810
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1811
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1812
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1813
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1814
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1815
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1816
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1817