แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1801


    ครั้งที่ ๑๘๐๑


    สาระสำคัญ

    ปฏิสนธิประกอบด้วยปัญญา ผลของกุศลที่ประกอบด้วยปัญญา

    ปัญญาที่มีกำลัง

    ขุ. สุ. อรรถกถากัปปิลสูตรที่ ๖ ไม่ประมาทในเรื่องของอกุศล


    ที่ห้องประชุมตึกสภาการศึกษามหามกุฏราชวิทยาลัย

    วันอาทิตย์ที่ ๒๒ พฤษภาคม ๒๕๓๑


    สุ. สำหรับบางท่านที่เป็นผลของกุศลที่ประกอบด้วยปัญญา ก็ทำให้ มหาวิบากปฏิสนธิประกอบด้วยปัญญา บางท่านยังไม่ค่อยสนใจศึกษาพระธรรม หรือถึงแม้ว่าศึกษาแล้ว ก็แล้วแต่ระดับขั้นของปัญญาที่สะสมมาว่า เป็นปัญญา ขั้นไหน ถ้าเป็นปัญญาที่มีกำลัง ก็สามารถเข้าใจพระธรรมได้อย่างรวดเร็ว และ บางท่านเพียงฟัง ก็สามารถรู้ลักษณะของนามธรรมและรูปธรรม ประจักษ์แจ้ง การเกิดดับ รู้แจ้งอริยสัจจธรรมเป็นพระโสดาบันบุคคลได้ เพราะว่าสภาพธรรม กำลังปรากฏ แต่ปรากฏกับผู้ที่สะสมปัญญามาน้อย หรือมาก หรือไม่ได้สะสมปัญญามาเลย

    ถ้าสะสมปัญญามากก็เข้าใจทันที สามารถประจักษ์แจ้งการเกิดดับของ กำลังเห็นในขณะนี้ได้ กำลังได้ยินในขณะนี้ได้ แสดงให้เห็นว่า ฝ่ายกุศลวิบาก ๑๘ ดวงนั้น ต้องมีการประณีตเพิ่มขึ้นตามขั้นของเหตุซึ่งได้กระทำแล้ว

    เพราะฉะนั้น ทุกคนปฏิสนธิจะเกิดอีก แต่ไม่ทราบว่าจะเป็นที่ไหน และ จะได้พบกันอีกหรือไม่ ถ้าเกิดในสวรรค์ พบกันก็จำได้ เพราะว่าเทพทั้งหลาย เป็นโอปปาติกะกำเนิด เป็นกำเนิดที่สามารถระลึกถึงชาติก่อนว่า จุติด้วยสภาพอย่างไร และด้วยผลของกรรมอะไรจึงทำให้ปฏิสนธิในเทพชั้นนั้นๆ แต่ถ้าเกิดเป็นมนุษย์อีก ต่างคนต่างเกิดเป็นมนุษย์ ก็ไม่มีการที่จะรู้ได้เลยว่า คนนี้ชาติก่อนเคยพบกันหรือเปล่า หรือเคยรักเคยชังกันสถานใด ถ้าเกิดเป็นสัตว์ดิรัจฉาน ก็จำกันไม่ได้ ไม่มีทางรู้เลยว่า ใครเป็นใครในชาติไหน

    ปฏิสนธิจิตบางประเภทก็ทำให้เกิดในไข่ เช่น ไก่ ตุ๊กแก จิ้งจก แม้แต่เพียง การปฏิสนธิก็จะเห็นได้ว่า ช่างวิจิตรตามกรรม กรรมบางประเภทก็ทำให้เกิดใน เถ้าไคลที่ชื้นแฉะ เช่น พวกหนอน พวกแมลงต่างๆ และสำหรับในภูมิมนุษย์ก็ทำให้เกิดในครรภ์ สำหรับพวกเทพและสัตว์นรก เปรต อสุรกาย ก็ทำให้เกิดเป็นตัว สมบูรณ์ขึ้นทันที เป็นโอปปาติกะกำเนิด

    สำหรับปฏิสนธิจิตที่จะเกิดต่อจากจุติจิตในชาตินี้ ขอกล่าวถึงเรื่องกรรม ที่บางท่านประมาทแล้วในครั้งพระผู้มีพระภาคพระองค์ก่อนๆ

    อรรถกถา ขุททกนิกาย สุตตนิบาต อรรถกถากปิลสูตรที่ ๖ มีข้อความว่า

    เมื่อพระผู้มีพระภาคพระนามว่ากัสสปะเสด็จปรินิพพานแล้ว กุลบุตร ๒ พี่น้องออกบวชแห่งสำนักของสาวกทั้งหลาย ผู้พี่ชื่อว่าโสธนะ ผู้น้องชื่อว่ากปิละ ท่านทั้งสองมีมารดาชื่อสาธนี มีน้องสาวชื่อตาปนา ทั้งมารดาและน้องสาวนั้นบวชในสำนักนางภิกษุณี

    บวชหมดทั้งครอบครัว ทั้งมารดา น้องสาว และบุตรชายทั้งสอง ก็ต้องเป็นผู้ที่มีศรัทธามาก แต่ควรที่จะไม่ประมาทในเรื่องของอกุศล

    ในบรรดาพระภิกษุทั้งสองนั้น พระภิกษุผู้พี่คิดว่า เราจะบำเพ็ญวาสธุระ (ธุระเป็นเครื่องอบรมตน ได้แก่ การอบรมเจริญวิปัสสนา) ดังนี้แล้วก็อยู่ในสำนักของอุปัชฌาย์และอาจารย์ทั้งหลายเป็นเวลา ๕ ปี ไปสู่ป่า และได้บรรลุพระอรหัต

    พระกปิละคิดว่า เรายังหนุ่มอยู่ก่อน ในเวลาแก่แล้วเราจะบำเพ็ญแม้วาสธุระดังนี้แล้วก็เริ่มคันถธุระ ได้เป็นผู้ทรงพระไตรปิฎกแล้ว พระกปิละนั้นมีบริวาร เพราะอาศัยปริยัติ เพราะอาศัยบริวาร ลาภก็เกิด พระกปิละนั้นเมาด้วยการเมาในการที่ตนเป็นพาหุสัจจะ สำคัญตนว่าเป็นบัณฑิต มีความสำคัญว่าตนรู้ แม้ในสิ่งที่ตนยังไม่รู้ กล่าวสิ่งที่เป็นกัปปิยะที่ภิกษุเหล่าอื่นกล่าวแล้วว่าเป็นอกัปปิยะ (คือ กล่าวสิ่งที่สมควรว่าเป็นสิ่งที่ไม่สมควร) แม้สิ่งที่เป็นอกัปปิยะก็กล่าวว่าเป็นกัปปิยะ แม้สิ่งที่มีโทษก็กล่าวว่าไม่มีโทษ แม้สิ่งที่ไม่มีโทษก็ว่ามีโทษ

    ศึกษามาก แต่เมาด้วยลาภสักการะ และเพราะเหตุใดจึงกล่าวผิดจากที่ พระผู้มีพระภาคตรัสไว้ น่าคิดมากทีเดียว

    ต่อแต่นั้น พระกปิละนั้น อันพระภิกษุทั้งหลายผู้มีศีลเป็นที่รักโอวาทอยู่ โดยนัยว่า ท่านอย่าได้พูดอย่างนี้ ดังนี้ เป็นต้น ก็เที่ยวพูดขู่ตะคอกภิกษุทั้งหลายด้วยคำทั้งหลายว่า พวกท่านเหมือนกับคนมีกำมือเปล่าจะรู้อะไร ดังนี้ เป็นต้น อยู่นั้นแล

    ภิกษุทั้งหลายได้บอกเรื่องนี้แม้แก่พระโสธนเถระ ผู้เป็นพี่ชายของท่าน แม้พระโสธนเถระนั้นก็เข้าไปหาพระกปิละนั้น แล้วกล่าวกับพระกปิละว่า อย่าได้พูดแม้แต่สิ่งที่เป็นกัปปิยะว่าไม่เป็นกัปปิยะ แม้สิ่งที่มีโทษว่าไม่มีโทษ ท่านพระกปิละนั้น ก็ไม่สนใจคำของท่านพระโสธนเถระผู้เป็นพี่ชาย

    ลำดับนั้น ท่านพระโสธนเถระได้กล่าวกับท่านพระกปิละว่า

    ผู้อนุเคราะห์จะพึงพูดคำหนึ่งหรือสองคำ ไม่พึงพูดให้มากไปกว่านั้น เพราะว่าถ้าท่านผู้อนุเคราะห์จะพึงกล่าวให้มากไปกว่านั้น จะพึงมีโทษในสำนักของพระอริยะได้

    แม้แต่การที่จะเตือน หรือการที่จะกล่าว ถ้าพูดมากกว่าที่ควรจะพูด ก็อาจจะทำให้ผู้ฟังเข้าใจผิดได้ คือ ไม่ได้เข้าใจเจตนาจริงๆ ของผู้พูด เพราะในขณะที่กำลังเป็นอกุศล ย่อมไม่เห็นว่าสิ่งใดถูกและสิ่งใดผิด สิ่งใดควรและสิ่งใดไม่ควร เพราะฉะนั้น ผู้ที่รู้สภาพธรรมแล้ว ท่านจึงกล่าวว่า ผู้อนุเคราะห์จะพึงพูดคำหนึ่ง หรือสองคำ ไม่พึงพูดให้มากไปกว่านั้น

    เป็นเรื่องความละเอียดของจิตซึ่งจะต้องระวังว่า สำหรับผู้ฟัง ถ้าฟังแล้วเกิดอกุศลไปใหญ่โต ผู้พูดก็ยุติเสีย เพื่อไม่ให้ผู้ฟังเกิดอกุศลมากไปอีก

    ท่านพระโสธนเถระกล่าวว่า พระกปิละเองจะปรากฏด้วยกรรมของตนเอง ดังนี้ แล้วก็หลีกไป จำเดิมแต่นั้น ภิกษุทั้งหลายที่มีศีลเป็นที่รัก ก็ทอดทิ้งพระกปิละนั้นเสีย

    พระกปิละนั้นเป็นผู้ประพฤติชั่ว มีพระภิกษุประพฤติชั่วแวดล้อมอยู่ วันหนึ่ง คิดว่า เราจะลงอุโบสถ แล้วก็ขึ้นสู่อาสนะอันประเสริฐ จับพัดอันวิจิตร พอนั่งลงก็พูดขึ้น ๓ ครั้งว่า

    อาวุโสทั้งหลาย ปาติโมกข์ย่อมควรแก่ภิกษุทั้งหลายในที่นี้หรือ

    ครั้งนั้น แม้ภิกษุรูปหนึ่งก็ไม่ได้พูดว่า ปาติโมกข์ย่อมควรแก่ข้าพเจ้า ทั้งก็ไม่ได้พูดว่า ปาติโมกข์ย่อมควรแก่พระกปิละนั้น หรือแก่พระภิกษุทั้งหลายเหล่านั้น

    ลำดับนั้น พระกปิละนั้นก็พูดว่า เมื่อปาติโมกข์พวกเราฟังก็ดี ไม่ฟังก็ดี ชื่อว่าวินัยไม่มีหรอก ดังนี้แล้วก็ลุกขึ้นจากอาสนะ

    พระกปิละนั้น ทำพระศาสนาของพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงพระนามว่ากัสสปะ ให้เสื่อมถอย คือ ให้พินาศแล้ว ด้วยประการฉะนี้

    ในกาลต่อมา ท่านพระโสธนเถระก็ปรินิพพาน พระกปิละก็มรณะและเกิดในอเวจีมหานรก มารดาและน้องสาวของพระกปิละที่มีความเห็นตามท่านและด่าบริภาษภิกษุทั้งหลายที่มีศีลเป็นที่รัก เมื่อสิ้นชีวิตแล้วก็เกิดในนรก

    ในสมัยเดียวกัน ขณะนั้นก็มีเรื่องของบุคคลอื่นที่ได้กระทำกรรมต่างๆ กันด้วย ซึ่งข้อความใน อรรถกถากปิลสูตร มีว่า

    ก็ในกาลครั้งนั้น บุรุษประมาณ ๕๐๐ คน ทำบาปกรรมทั้งหลาย

    จะเห็นได้ว่า กรรมของแต่ละชีวิต แต่ละภพ แต่ละชาติของแต่ละคนก็ ต่างกันไป สำหรับบุรุษประมาณ ๕๐๐ คนนี้

    ทำบาปกรรมทั้งหลายมีการฆ่าชาวบ้านเป็นต้น เลี้ยงชีวิตด้วยความเป็นโจร ถูกพวกมนุษย์ในชนบทติดตามหนีไปอยู่ ได้เข้าไปสู่ป่า ไม่เห็นที่กำบังหรือที่นั่งอะไร ในป่านั้น ได้เห็นภิกษุผู้อยู่ป่าเป็นวัตรรูปหนึ่ง ซึ่งอยู่ในที่ไม่ไกล ก็ได้เข้าไปไหว้แล้วกล่าวว่า ขอท่านจงเป็นที่พึ่งของพวกกระผม

    พระเถระกล่าวว่า

    ที่พึ่งเช่นกับศีลสำหรับท่านทั้งหลายไม่มี ขอให้ท่านทุกคนจงสมาทานเบญจศีล โจรเหล่านั้นรับคำแล้วก็สมาทานศีล

    พระเถระกล่าวว่า

    บัดนี้พวกท่านเป็นผู้มีศีลแล้ว เมื่อท่านทั้งหลายแม้ถูกปลงชีวิตของตนให้พินาศอยู่ ท่านทั้งหลายอย่าได้ประทุษร้ายใจ (อย่าโกรธ)

    ไม่ทำร้ายใจของตนเอง คือ โดยการที่ไม่โกรธ

    พวกโจรเหล่านั้นรับคำแล้ว

    เวลาที่รับศีล ควรจะไม่โกรธ ดีไหม

    ครั้งนั้น ชาวชนบทเหล่านั้นมาถึงที่นั้นแล้วก็มองหาอยู่ ข้างโน้นบ้าง ข้างนี้บ้าง ก็ได้พบโจรเหล่านั้น แล้วก็พากันปลงชีวิตเสียสิ้นทุกคน โจรเหล่านั้นทำกาละ (สิ้นชีวิต) แล้วบังเกิดในสวรรค์

    ถ้าใครสามารถทำอย่างโจรได้ คือ กำลังถูกฆ่าอยู่ก็ไม่โกรธ ขณะนั้นผลของกุศลจิตที่เกิดก่อนจุติจิตเป็นชนกกรรม ทำให้กุศลวิบากจิตปฏิสนธิในสวรรค์ เพราะฉะนั้น แทนที่จะไปคิดถึงว่าถ้าโจรมาฆ่าก็จะไม่โกรธ ไม่ต้องเป็นโจรก็ได้ ใครก็ได้ ไม่ต้องฆ่าก็ได้ ทำอะไรก็ได้และไม่โกรธ ขณะนั้นถ้าจุติจิตเกิด กุศลจิต ซึ่งเกิดก่อนจุติเป็นชวนะสุดท้าย จะเป็นชนกกรรมทำให้ปฏิสนธิในสุคติภูมิได้ แต่ต้องไม่โกรธจริงๆ เพราะว่าเห็นประโยชน์ของความไม่โกรธ และเห็นโทษของความโกรธ

    เป็นไปได้ ถ้าจะไม่โกรธเสียเดี๋ยวนี้ และต่อๆ ไป เพราะว่าจะปฏิสนธิเมื่อไร ไม่ทราบ ปฏิสนธิสำหรับชาติหน้าจะเกิดเมื่อไรไม่ทราบ ถ้ากระทำอยู่เสมอจนกระทั่งเป็นอาจิณณกรรม ก็จะทำให้หวังได้ว่า กรรมนั้นจะทำให้เกิดในสวรรค์ได้

    บรรดาโจรเหล่านั้น โจรผู้เป็นหัวหน้าได้เป็นเทพบุตรผู้เป็นหัวหน้า โจรนอกนี้ ได้เป็นบริวารของเทพบุตรผู้เป็นหัวหน้านั่นเอง ท่านเหล่านั้นท่องเที่ยวกลับไปกลับมาอยู่ ให้พุทธันดรหนึ่งสิ้นไปในเทวโลก แล้วเคลื่อนจากเทวโลกในกาลแห่งพระพุทธเจ้าของเราทั้งหลาย คือ ในสมัยของพระผู้มีพระภาคพระสมณโคดมพระองค์นี้

    เทพบุตรผู้เป็นหัวหน้าได้ถือปฏิสนธิในท้องแห่งภรรยาของชาวประมง ผู้เป็นหัวหน้าสกุล ๕๐๐ สกุล ในบ้านชาวประมงซึ่งมีอยู่ที่ประตูเมืองสาวัตถี เทพบุตรพวกนี้ได้ถือปฏิสนธิในครรภ์ของภรรยาชาวประมงที่เหลือทั้งหลาย เขาเหล่านั้นได้ถือปฏิสนธิและออกจากครรภ์ในวันเดียวกันนั้นเอง ด้วยประการฉะนี้

    นี่อีกภพหนึ่ง อีกชาติหนึ่ง หลายๆ ภพ หลายๆ ชาติจากสมัยพระผู้มีพระภาคพระกัสสปะซึ่งเป็นโจร จนกระทั่งถึงได้ไปเกิดบนสวรรค์ และในที่สุดได้เกิดในตระกูลของชาวประมง

    ครั้งนั้น แม้ภิกษุชื่อกปิละ ก็มาเกิดเป็นปลาสีเหมือนทอง แต่ปากเหม็น ในแม่น้ำอจิรวดี ด้วยเศษกรรมที่เหลือจากการเกิดในนรก

    เป็นพระภิกษุชาติหนึ่งชาติใด และเกิดในนรก และก็เกิดเป็นสัตว์ดิรัจฉาน มีรูปร่างที่วิจิตรมาก คือ เป็นปลาสีเหมือนทอง แต่ปากเหม็น

    ต่อมาวันหนึ่ง เด็กชาวประมงเหล่านั้นทั้งหมด ถือเอาแหไปจับปลา เมื่อ ทอดแหแล้วได้ปลาทองตัวนั้น ซึ่งทั้ง ๕๐๐ คนนั้นก็ได้นำปลาไปให้พระเจ้า ปเสนทิโกศลทอดพระเนตร

    เมื่อพระเจ้าปเสนทิโกศลทอดพระเนตรเห็นปลาสีทองก็ทรงดำริว่า พระผู้มีพระภาคจักทรงทราบเหตุที่ปลานี้มีสีทอง ดังนี้แล้วจึงรับสั่งให้นำปลานั้นไปยังสำนักของพระผู้มีพระภาคด้วย ในเวลาที่ปลาอ้าปากขึ้น พระเชตวันก็มีกลิ่นเหม็นอย่างยิ่ง

    ใครจะรู้ไหมว่า อกุศลวิบากจะเกิดขึ้นในขณะไหนสำหรับผู้ที่อยู่ ณ พระวิหาร เชตวันในขณะนั้น

    พระราชาทูลถามพระผู้มีพระภาคว่า

    ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ เพราะเหตุไร ปลาจึงเกิดเป็นปลามีสีทอง และ เพราะเหตุไร กลิ่นเหม็นจึงฟุ้งออกจากปากของปลานั้น

    พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

    มหาบพิตร ปลานี้เป็นภิกษุพหูสูต ผู้เรียนจบปริยัติ ชื่อว่ากปิละ ในพระศาสนาของพระผู้มีพระภาคพระนามว่ากัสสปะ เป็นผู้ด่าบริภาษภิกษุทั้งหลาย ซึ่งไม่เชื่อถ้อยคำของตน เป็นผู้ทำศาสนาของพระผู้มีพระภาคให้เสื่อมไป เพราะกรรมที่เธอทำพระศาสนาของพระผู้มีพระภาคพระองค์นั้นให้เสื่อมไป เธอจึงเกิดใน อเวจีมหานรก แล้วก็มาเกิดเป็นปลาในบัดนี้ด้วยเศษแห่งวิบาก ด้วยผลอันไหลออกแห่งกรรมที่เธอได้กล่าวพระพุทธพจน์ สรรเสริญพระพุทธคุณเป็นเวลานาน เธอจึงมีวรรณะเช่นนี้ เพราะเหตุที่เธอได้ด่าบริภาษภิกษุทั้งหลาย กลิ่นเหม็นจึงฟุ้งออกจากปากของปลานั้น

    นี่คือผลของกรรมที่วิจิตร

    ต่อไปเป็นข้อความที่แสดงโทษของบรรพชิตผู้ไม่อบรมตน ซึ่งมีข้อความว่า

    ก็ผู้ใดผู้หนึ่งสละเพศคฤหัสถ์ ถ้าแม้บวชด้วยการเข้าถึงเหตุสักว่า การปลงผมและการนุ่งผ้าย้อมฝาดเป็นต้น ถ้าหากว่าเป็นคนปากกล้า คือว่าเป็นผู้พูดคำหยาบ ยินดีในการเบียดเบียน เพราะพอใจในความเบียดเบียนอันมีประการต่างๆ เป็นผู้ประดุจเนื้อร้าย เพราะเป็นผู้ที่เช่นกับเนื้อร้าย เพราะไม่มีหิริโอตตัปปะ โดยที่แท้บุคคลเห็นปานนี้ ได้แก่ ภิกษุที่ยินดีในการทะเลาะเพราะเป็นคนมีปากจัด ถูกโมหะธรรมรึงรัดแล้ว เพราะถึงความงมงายในการที่จะรู้แจ้งซึ่งอรรถแห่งสุภาษิต ย่อม ไม่ทราบแม้ซึ่งคำที่ภิกษุทั้งหลายผู้มีศีลเป็นที่รักกล่าวแล้ว ไม่รู้จักพระธรรมที่ พระผู้มีพระภาคทรงแสดงไว้ คือ ไม่รู้จักพระธรรมที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงไว้แม้ตนจะกล่าวอยู่โดยประการต่างๆ แม้เมื่อเป็นอย่างนั้น ชีวิตของภิกษุนั้น ชื่อว่าเป็นชีวิตชั่ว

    ข้อความต่อไปน่าพิจารณา ซึ่งมีข้อความว่า

    ท่านทั้งหลายทั้งปวงจงเป็นผู้สามัคคีกัน เว้นบุคคลนั้นเสีย และอย่าถึงความขวนขวายน้อยด้วยเหตุสักว่าการเว้นภิกษุนั้นเท่านั้น แต่โดยที่แท้แล ท่านทั้งหลาย จงกำจัดบุคคลนั้นผู้เป็นเพียงดังแกลบ จงคร่าบุคคลผู้เป็นดังหยากเยื่อออกเสีย คือว่า จงคร่าบุคคลผู้เป็นดังหยากเยื่อนั้นโดยไม่ต้องใยดีประดุจหยากเยื่อ และจงคร่าบุคคล ผู้เพียงดังแกลบ ประดุจราชบุรุษคร่าคนจัณฑาลซึ่งเป็นโรคเรื้อนมีแผลแตกไหลออก ผู้เข้าไปท่ามกลางแห่งกษัตริย์เป็นต้น คือว่าท่านทั้งหลายจงจับบุคคลนั้นที่มือหรือ ที่ศีรษะแล้วคร่าออกไป เหมือนอย่างท่านพระมหาโมคคัลลานะจับปาปบุคคลนั้น ที่แขนดึงออกไปจากซุ้มประตูภายนอกแล้วใส่ลูกดาล (กุญแจ) เสีย แม้ฉันใด ท่านทั้งหลายก็จงคร่าบุคคลนั้นเสียฉันนั้น

    ถามว่า เพราะเหตุไร

    ตอบว่า ชื่อว่าสังฆารามเขาสร้างไว้สำหรับผู้มีศีลทั้งหลาย ไม่ได้สร้างไว้สำหรับภิกษุทั้งหลายที่ทุศีล ต่อแต่นั้นไป ท่านทั้งหลายจงขับบุคคลลีบ ผู้ไม่ใช่สมณะ ซึ่งถือตัวว่าเป็นสมณะออกไปเสีย เหมือนอย่างว่า ข้าวลีบทั้งหลายแม้ปราศจากข้าวสารในภายใน แต่ก็ปรากฏเหมือนข้าวเปลือก เพราะมีแกลบอยู่ข้างนอก ฉันใด ปาปภิกษุทั้งหลายก็ฉันนั้น แม้เว้นจากคุณสมบัติมีศีลเป็นต้นในภายใน แต่ก็ปรากฏเหมือนกับภิกษุด้วยบริขารมีผ้ากาสาวะเป็นต้นในภายนอก พระผู้มีพระภาคจึง ตรัสเรียกว่า ปลาปา คนลีบ ท่านทั้งหลายจงคร่าบุคคลลีบเหล่านั้นเสีย คือ จงโปรยไป ได้แก่กำจัดบุคคลลีบเหล่านี้เสีย ซึ่งไม่ใช่สมณะโดยปรมัตถ์ แต่สำคัญตนว่าเป็นสมณะ ในภาวะสักว่าเพศ ครั้นกำจัดผู้มีความปรารถนาลามก ผู้มีอาจาระ และโคจรอันลามกได้แล้วอย่างนี้ เธอทั้งหลายผู้บริสุทธิ์แล้ว มีความเคารพกันและกัน จงสำเร็จการอยู่ร่วมด้วยบุคคลผู้บริสุทธิ์ทั้งหลาย



    คำบรรยายคัดลอกจาก E-book
    แนวทางเจริญวิปัสสนา เล่ม ๑๘๑ ตอนที่ ๑๘๐๑ – ๑๘๑๐
    เรียบเรียงอักษรให้อยู่ในรูปแบบหนังสือ โดยมีเนื้อหาใจความสำคัญครบถ้วน
    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 96
    28 ธ.ค. 2564