แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1804
ครั้งที่ ๑๘๐๔
สาระสำคัญ
ปัจจัยแท้จริงของชีวิตมี ๔ อย่าง
ภัยของชีวิต
อถ.ขุ.อุโบสถวิมาน - ผู้มีปัญญาเห็นโทษของการเกิด เห็นภัยของกิเลส
อถ.ขุ.ประภัสสรวิมาน - ฟังพระธรรมอันพระศาสดาพุทธเจ้าทรงแสดง
อถ.ขุ. มาลุงกยปุตตเถรคาถาที่ ๕
ปฏิสนธิจิต รู้อารมณ์อะไร
อถ.ขุ. อรรถกถาจัณฑาลิวิมาน - เพราะผลของกรรมทำให้บุคคลนั้นเกิดในที่นั้นๆ
ที่ห้องประชุมตึกสภาการศึกษามหามกุฏราชวิทยาลัย
วันอาทิตย์ที่ ๒๙ พฤษภาคม ๒๕๓๑
ถ้าพิจารณาดูสภาพที่มีชีวิตของทุกชีวิตในโลก จะเห็นได้ว่า ชีวิตที่ปรากฏอยู่ ในโลกนี้ได้ ก็ด้วยปัจจัยต่างๆ เหล่านี้เท่านั้นเอง ไม่ใช่ด้วยเหตุอื่นมากมายเลย เหตุอื่นที่คิด ก็เป็นไปด้วยความพอใจในอุปกรณ์ของชีวิตที่จะทำให้พอใจยิ่งขึ้น สะดวกสบายยิ่งขึ้น แต่อุปกรณ์คือปัจจัยแท้จริงของชีวิต ย่อมขึ้นอยู่กับลมหายใจ เข้าออก ขึ้นอยู่กับมหาภูตรูป ขึ้นอยู่กับกวฬีการาหาร ขึ้นอยู่กับไออุ่น และขึ้นอยู่กับวิญญาณ
บางคนก็คิดถึงชีวิตที่ยาวนานเหลือเกิน แต่ถ้าปัจจัยเหล่านี้ไม่เป็นปกติ สิ้นสุดลงเมื่อไร เมื่อนั้นชีวิตก็ต้องสิ้นสุดลงทันที นี่ก็น่าจะเห็นภัยของชีวิต ที่คิดว่า สนุกเหลือเกิน สบายมาก และก็มีความสุข แต่แท้ที่จริงแล้วภัยของชีวิตมีทุกขณะ ถ้าจะพิจารณาให้ละเอียดกว่านั้นอีก นอกจากลมหายใจเข้าออก มหาภูตรูป กวฬีการาหาร ไออุ่น และวิญญาณ สภาพที่ทำให้ต้องเกิดอีกนั้นมีอยู่อย่างเดียว คือ กิเลสทั้งหลาย
ถ้าดับกิเลส จะดับทุกข์ทั้งหมด ไม่ต้องลำบาก หรือเห็นภัยต่างๆ ของชีวิต เพราะว่าไม่ต้องเกิด ไม่ต้องเห็น ไม่ต้องได้ยิน ไม่ต้องลำบาก ไม่ต้องทุกข์ยาก ไม่ต้องวิตก ไม่ต้องกังวลใดๆ ทั้งสิ้น แต่ต้องเป็นผู้ที่ฟังพระธรรม มิฉะนั้นแล้ว ไม่สามารถเห็นภัยของกิเลสได้เลย เพราะว่าทุกคนที่มีความพอใจในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส ในโผฏฐัพพะ ไม่มีการที่จะเบื่อรูป เบื่อเสียง เบื่อกลิ่น เบื่อรส เบื่อโผฏฐัพพะเลย
ขอกล่าวถึงการเกิดในสวรรค์ ซึ่งผู้ที่มีปัญญาก็ยังเห็นโทษ
ปรมัตถทีปนี อรรถกถา ขุททกนิกาย อุโบสถวิมาน มีข้อความว่า
เทพธิดาท่านหนึ่งแสดงโทษของตนแก่ท่านพระมหาโมคคัลลานะว่า
ฉันทะ ความพอใจ เกิดขึ้นแก่ดิฉัน เพราะได้ฟังเรื่องสวนนันทวันอยู่เนืองๆ ดิฉันจึงตั้งจิตไปในสวนนันทวันนั้น ก็เข้าถึงสวนนันทวันได้จริงๆ ดิฉันไม่ได้ทำตามพระวาจาของพระศาสดาพุทธเจ้าเผ่าพันธุ์แห่งพระอาทิตย์ ดิฉันนั้นตั้งจิตใจไว้ในภพ อันเลว จึงร้อนใจในภายหลัง
เกิดถึงบนสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ เพราะว่าได้ยินได้ฟังเรื่องความเพลิดเพลิน ความสะดวกสบาย ความสนุกรื่นเริงของสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ที่มีสวนนันทวัน เพราะฉะนั้น ก็เกิดในสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ แต่ก็รู้ว่า แม้เกิดบนสวรรค์ก็ยังต้องเกิดอีก ในเมื่อมีกิเลสที่จะทำให้เกิด และชีวิตของเทพธิดาท่านนั้น จะต้องอยู่ในวิมานนั้น ๓ โกฏิ ๖ หมื่นปี
พอใจไหม อยู่เสียนาน และเพลิดเพลินอยู่ที่สวนนันทวัน ถ้าไม่มีปัญญาจริงๆ จะไม่เห็นโทษเลย แต่ผู้ใดที่เห็นโทษก็จะกล่าวว่า ดิฉันไม่ได้ทำตามพระวาจาของ พระศาสดาพุทธเจ้าเผ่าพันธุ์แห่งพระอาทิตย์
อีกท่านหนึ่ง
ปรมัตถทีปนี อรรถกถา ขุททกนิกาย ปภัสสรวิมาน มีข้อความว่า
เทพธิดากล่าวกับท่านพระมหาโมคคัลลานะว่า
ข้าแต่ท่านผู้เจริญ ดิฉันได้ถวายพวงมาลัยและน้ำอ้อยแด่พระคุณเจ้าผู้เที่ยวบิณฑบาตอยู่ ดิฉันจึงได้เสวยผลแห่งกรรมนั้นในเทวโลก ข้าแต่ท่านผู้เจริญ แต่ดิฉันยังมีความเดือดร้อน ผิดพลาด เป็นทุกข์ เพราะดิฉันไม่ได้ฟังพระธรรมอันพระพุทธเจ้าผู้เป็นพระธรรมราชาทรงแสดงดีแล้ว
ข้าแต่ท่านผู้เจริญ เพราะเหตุนั้นดิฉันจึงมากราบเรียนพระคุณเจ้าซึ่งเป็น ผู้อนุเคราะห์ดิฉัน โปรดชักชวนผู้ที่ควรอนุเคราะห์นั้นด้วยธรรมที่พระพุทธเจ้า ผู้เป็นพระธรรมราชาทรงแสดงดีแล้ว ทวยเทพที่มีศรัทธาความเชื่อในพระพุทธรัตนะ พระธรรมรัตนะ และพระสังฆรัตนะ ก็รุ่งโรจน์ล้ำดิฉัน โดยอายุ ยศ สิริ ทวยเทพ อื่นๆ ก็ยิ่งยวดกว่า โดยอำนาจและวรรณะ มีฤทธิ์มากกว่าดิฉัน
จะอยู่บนสวรรค์ ถ้าไม่รู้เรื่องลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ก็เหมือนกัน ใช่ไหม
อยู่บนสวรรค์เห็นสิ่งที่น่าเพลิดเพลินแต่ไม่รู้ว่า ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน เป็นมนุษย์ในขณะนี้ก็มีการเห็น มีการได้ยิน แต่ไม่รู้ลักษณะของ สภาพธรรมที่เป็นนามธรรมหรือเป็นรูปธรรมที่ไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล และจะทำอย่างไร
ก็มีหนทางเดียว คือ ต้องฟังพระธรรมต่อไปอีก
ฟังพระธรรมเรื่องอะไร
ก็เรื่องตา เรื่องหู เรื่องจมูก เรื่องลิ้น เรื่องกาย เรื่องใจ โดยประการต่างๆ เพื่อให้เข้าใจลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏ และเห็นภัยว่าเป็นสภาพธรรมที่เล็กน้อย เกิดขึ้นเพียงชั่วครู่และดับไป
เพราะฉะนั้น ในขณะนี้ซึ่งทุกคนมีโอกาสได้ฟังพระธรรม จะเข้าใจมากน้อยเท่าไร ก็ต้องฟังต่อไปอีกเรื่อยๆ ชาตินี้ยังไม่ถึงการรู้แจ้งเป็นพระอริยบุคคล ชาติหน้าต้องฟังอีก ถ้ามีโอกาสที่จะได้ฟังพระธรรม เกิดในประเทศที่สมควร ก็ขอจงฟัง พระธรรมต่อไป จนกว่าจะประจักษ์แจ้งลักษณะของสภาพธรรมตามความเป็นจริง ซึ่งเป็นขณะที่หายาก ถ้าพิจารณาดูแต่ละชีวิตในโลกที่จะได้ขณะที่ประเสริฐ คือ ขณะที่พระผู้มีพระภาคทรงอุบัติขึ้น ๑ ขณะที่ได้เกิดขึ้นในปฏิรูปเทส คือ ในประเทศที่มีพระพุทธศาสนา ๑ ขณะที่ได้สัมมาทิฏฐิ คือ ความเห็นถูก ๑ และขณะที่อวัยวะทั้ง ๖ ไม่บกพร่อง ๑ แสดงให้เห็นว่า ทุกท่านยังเป็นผู้ที่ถึงพร้อมด้วยขณะเหล่านี้ ก็ขอ ขณะเหล่านี้อย่าได้ล่วงเลยท่านทั้งหลายไปเสีย ตามข้อความใน ปรมัตถทีปนี อรรถกถา ขุททกนิกาย ฉักกนิบาต มาลุงกยปุตตเถรคาถาที่ ๕
ในพระไตรปิฎกก็เป็นเรื่องของกุศลกรรม อกุศลกรรม และสภาพธรรมทั้งหมด ที่จะเกื้อกูลให้เข้าใจสิ่งที่กำลังปรากฏยิ่งขึ้น
สำหรับผู้ที่ปฏิสนธิแล้วในโลกนี้ ย่อมไม่ทราบว่า ปฏิสนธิจิตของท่านมีอารมณ์อะไร ฉันใด การที่ท่านจะจากโลกนี้ไปสู่โลกอื่น ขณะที่จุติจิตดับ ปฏิสนธิจิต ชาติหน้าเกิด โดยมีอารมณ์เดียวกับชวนะสุดท้ายก่อนจุติ ซึ่งอาจจะเป็นกุศลจิต หรืออกุศลจิต แล้วแต่กรรมหนึ่งซึ่งเป็นชนกกรรม แต่ขณะใดก็ตามที่เป็นปฏิสนธิจิต ขณะนั้นอารมณ์ไม่ปรากฏ
เมื่อได้ศึกษาเรื่องจิตแต่ละประเภท ควรที่จะได้ทราบว่า จิตนั้นเป็นชาติอะไร จิตนั้นเป็นภูมิอะไร จิตนั้นรู้อารมณ์อะไร จิตนั้นอาศัยทวารอะไร และจิตนั้นทำกิจอะไร
อาจจะทำให้บางท่านคิดว่ายุ่งยาก แต่แท้ที่จริงแล้วถ้าขณะนี้สามารถเข้าใจได้ สามารถพิจารณาพิสูจน์รู้ได้ จะทำให้เป็นผู้ละเอียดที่จะรู้ว่า ที่เข้าใจว่าเป็นชีวิต ของท่าน แท้ที่จริงเป็นการเกิดดับสืบต่อกันของจิตในแต่ละภพ ในแต่ละชาตินั่นเอง
เพราะฉะนั้น เมื่อเริ่มจากปฏิสนธิจิตซึ่งเป็นกิจแรกใน ๑๔ กิจ ก็ควรจะทราบว่า จิตที่ทำปฏิสนธิกิจเป็นชาติอะไร เป็นภูมิอะไร รู้อารมณ์อะไร และทวารอะไร
สำหรับปฏิสนธิจิต ๑๙ ดวง ต้องเป็นชาติวิบากทุกดวง เพราะเป็นผลของกรรม กุศลจิตและอกุศลจิตซึ่งเป็นเหตุ ทำปฏิสนธิกิจไม่ได้ จิตที่ทำกิจนี้ต้องเป็นชาติวิบากเท่านั้น คือ เป็นผลของกุศลกรรมหรืออกุศลกรรมซึ่งเกิดก่อนที่จะจุติ
เวลาที่จะตายเร็วมากทีเดียว ไม่มีใครสามารถรู้ได้ แต่แม้กระนั้นกุศลจิตหรืออกุศลจิตก็เกิดก่อนจุติจิต
สำหรับภูมิของปฏิสนธิ ก็จำแนกออกไปว่า ถ้าเป็นผลของกุศลที่เป็นไปใน รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ก็จะเกิดในกามภูมิ
โดยภูมิ มีทั้งปฏิสนธิจิตที่เป็นไปในกามภูมิ เป็นไปในรูปภูมิ เป็นไปในอรูปภูมิ
ปฏิสนธิจิตรู้อารมณ์อะไร
ปฏิสนธิจิตต้องมีอารมณ์ด้วย แต่ไม่ใช่อารมณ์ของชาตินี้ ปฏิสนธิจิตของชาตินี้ มีอารมณ์เดียวกับกุศลจิตและอกุศลจิตก่อนจุติจิตของชาติก่อน
ก่อนจะจุติ ชาติก่อนอาจจะเป็นสัตว์ดิรัจฉาน แต่กรรมหนึ่งที่จะทำให้พ้นจากสภาพของการเป็นสัตว์ดิรัจฉาน เป็นชนกกรรม ทำให้กุศลชวนะเกิดก่อนจุติจิต เพราะฉะนั้น กุศลชวนะนั่นเองเป็นปัจจัยให้มหาวิบากทำกิจปฏิสนธิในสุคติภูมิ อาจจะเกิดเป็นมนุษย์ก็ได้ หรืออาจจะเกิดในสวรรค์ก็ได้
แต่ละท่านในที่นี้ ชาติก่อนนี้เองอาจจะเป็นสัตว์ดิรัจฉานก็ได้ เป็นเปรตก็ได้ เป็นอสุรกายก็ได้ เกิดในนรกก็ได้ หรืออาจจะเป็นมนุษย์มาแล้วก็ได้ หรือมาจากสวรรค์ชั้นหนึ่งชั้นใดก็ได้ หรืออาจจะถึงกับเป็นรูปพรหมบุคคลในรูปพรหมภูมิก็ได้ และถ้า จุติจากอรูปพรหมบุคคล ปฏิสนธิของผู้นี้ต้องเป็นมหาวิบากญาณสัมปยุตต์ คือ มีปัญญาเกิดร่วมด้วย
สำหรับปฏิสนธิจิตทั้ง ๑๙ ประเภทที่เป็นชาติวิบาก ที่จำแนกไปตามภูมิต่างๆ และมีอารมณ์เดียวกับจิตใกล้จะจุติของชาติก่อนนั้น รู้อารมณ์โดยไม่ต้องอาศัย ทวารหนึ่งทวารใดเลย คือ ไม่อาศัยตา ไม่อาศัยหู ไม่อาศัยจมูก ไม่อาศัยลิ้น ไม่อาศัยกาย และไม่อาศัยใจด้วย เพราะฉะนั้น เป็นอารมณ์ที่ไม่ปรากฏ และวิบากจิต ๑๙ ดวงนี้เท่านั้น ที่จะทำปฏิสนธิกิจได้
ถ. สมมติกรรมหนึ่งกรรมใดที่เป็นกุศลเป็นชนกกรรม ชวนะที่ใกล้จุติจิต ต้องเป็นกุศลด้วย ใช่ไหม แต่ไม่ใช่กรรมก่อนจุติจิตที่จะให้ผลเป็นปฏิสนธิ ใช่ไหม
สุ. ต้องเป็นกรรมที่กระทำแล้ว เพราะฉะนั้น ชวนวิถี ๕ ขณะสุดท้าย ก่อนจุติจิตจะเกิด ต้องเกิดขึ้นเพราะกรรมหนึ่งซึ่งเป็นชนกกรรม เป็นกรรมที่ครบองค์ ที่ได้กระทำแล้ว ทำให้อารมณ์นั้นปรากฏแก่จิตของบุคคลนั้น ซึ่งแล้วแต่ว่าจะเป็น กรรมอารมณ์ก็ได้ กรรมนิมิตอารมณ์ก็ได้ คตินิมิตอารมณ์ก็ได้
ที่ใช้คำว่า กรรมอารมณ์ก็ดี หรือกรรมนิมิตอารมณ์ก็ดี หรือคตินิมิตก็ดี หมายความถึงอารมณ์ของชวนจิต ๕ ขณะสุดท้ายก่อนจุติ ซึ่งอารมณ์นั้นก็ไม่พ้นจากอารมณ์ ๖ คือ ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจนั่นเอง แต่ ชนกกรรมทำให้จิตที่เกิดก่อนจุติจิตเป็นกุศลหรืออกุศล แล้วแต่ว่าจะเป็นผลของกรรมใด
ถ. แสดงว่าตอนใกล้จะตาย ไม่ได้ทำกรรมที่ทำให้เกิดปฏิสนธิจิต แต่เป็น กรรมหนึ่งกรรมใดที่ทำไว้ ทำให้เมื่อใกล้จะตายอารมณ์เป็นกุศลหรืออกุศล
สุ. โดยมากทุกคนเห็นคนใกล้จะตาย ก็อาจจะรู้ว่าคนนี้ใกล้จะสิ้นชีวิตแล้ว หรือแม้แต่ผู้ที่ประสบอุบัติเหตุที่ไปสิ้นชีวิตที่โรงพยาบาล หรือหลังจากที่เกิดเหตุ ซึ่งมีอาการสาหัส คนอื่นเห็น ก็รู้ได้ว่าคนนี้ใกล้จะสิ้นชีวิตแล้ว แต่แม้กระนั้นเวลาที่จะสิ้นชีวิตจริงๆ ก็บอกไม่ได้เลยว่าขณะไหน เพราะว่าต้องแล้วแต่กรรม
แม้แต่จุติจิตที่จะเกิด และทำกิจเคลื่อนจากสภาพของความเป็นบุคคลนี้ ก็ขึ้นอยู่กับกรรม อาการสาหัส แต่อาจจะสาหัสถึง ๒ อาทิตย์ก็ได้ หรืออาจจะถึง ๑ เดือน หรือบางคนอาจจะเจ็บหนักเป็นปี ดูเหมือนกับใกล้จะสิ้นชีวิต แต่ก็ยังมีชีวิตต่อไป และเดี๋ยวก็ใกล้จะสิ้นชีวิตอีก แต่ก็ยังมีชีวิตต่อไป ทั้งนี้เพราะว่าจุติจิต ยังเกิดไม่ได้ ยังไม่ถึงกาลที่กรรมนั้นจะทำให้จุติจิตเกิด
เพราะฉะนั้น ถึงแม้คนที่เรามองเห็นว่าป่วยหนักและใกล้จะตาย ก็ยังบอกไม่ได้ว่า จุติจิตจะเกิดเมื่อไร แต่ชนกกรรมจะทำให้ก่อนจุติจิตจะเกิดจริงๆ ขณะนั้นจะมีการนึกถึงกรรมที่ได้กระทำแล้วอย่างรวดเร็วที่สุด คือ เพียงด้วยชวนวิถีจิต ๕ ขณะ เพราะว่าทุกคนในขณะนี้คิดถึงอดีตกรรมได้ ใครทำกรรมอะไรไว้บางวันก็นึกขึ้นมาได้ว่า เมื่อเดือนก่อนหรือตอนที่เป็นเด็กๆ เคยทำกรรมอย่างนั้น เพราะฉะนั้น ในขณะที่ใกล้จะจุติก็เช่นเดียวกัน จิตจะระลึกถึงหรือนึกถึงกรรมที่ได้กระทำแล้ว และเมื่อกรรมนั้นเป็นชนกกรรม จะทำให้คิดถึงอกุศลกรรม หรือกุศลกรรมก็ได้
บางคนอาจจะคิดถึงขณะที่ได้ไปนมัสการสังเวชนียสถาน หรืออาจจะคิดถึงขณะที่ได้ฟังพระธรรม นั่งฟังธรรม หรืออาจจะคิดถึงขณะที่ทอดกฐิน หรือทำบุญ อย่างหนึ่งอย่างใดก็ได้ แล้วแต่ว่ากรรมใดจะเป็นชนกกรรม ก็ทำให้จิตคิดถึง การกระทำนั้นอย่างรวดเร็ว ถ้าเป็นอย่างนั้น กรรมนั้นเป็นชนกกรรม และอารมณ์นั้นชื่อว่ากรรมอารมณ์ เพราะว่ามีกรรมเป็นอารมณ์ของจิตก่อนจะจุติ แต่ต้องเป็นกรรมที่ ทำแล้ว เช่น ทอดกฐินที่เป็นฝ่ายกุศล หรือเป็นการฆ่าสัตว์ ลักทรัพย์ กระทำทุจริตทางกาย ทางวาจาใดๆ ได้ทั้งสิ้น ที่จะเป็นชนกกรรมทำให้จิตนึกถึงอารมณ์นั้นก่อน เป็นชวนวิถี เป็นกุศล หรืออกุศล และดับไป หลังจากนั้นจุติจิตก็เกิด และ ปฏิสนธิจิตก็มีอารมณ์เดียวกับจิตใกล้จะจุติ คือ มีกรรมที่นึกถึงนั้นเองเป็นอารมณ์
ถ. แสดงว่าไม่ได้ทำกรรมตอนใกล้ตาย แต่เจริญกุศลมาก่อน และขณะที่ใกล้จะตายนั้นเป็นปัจจัยให้คิดนึกถึงกรรมที่ได้เคยกระทำเอาไว้ จึงเป็นกรรมอารมณ์ ใช่ไหม
สุ. ข้อนี้ไม่สามารถบอกได้เลย มีข้อความที่พระผู้มีพระภาคทรงอนุเคราะห์ผู้ที่ใกล้จะสิ้นชีวิต แต่ไม่ได้แสดงว่าการที่เขาเกิดในที่นั้น ขณะนั้นมีอะไรเป็นอารมณ์ เพียงแต่ว่าเป็นผลของกรรมใดจึงทำให้บุคคลนั้นเกิดในที่นั้น แต่ไม่ได้แสดงว่า ขณะนั้นชวนะสุดท้ายก่อนจุติมีอารมณ์อะไร
แนวทางเจริญวิปัสสนา เล่ม ๑๘๑ ตอนที่ ๑๘๐๑ – ๑๘๑๐
เรียบเรียงอักษรให้อยู่ในรูปแบบหนังสือ โดยมีเนื้อหาใจความสำคัญครบถ้วน
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1752
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1753
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1754
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1755
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1756
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1757
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1758
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1759
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1760
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1761
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1762
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1763
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1764
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1765
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1766
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1767
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1768
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1769
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1770
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1771
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1772
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1773
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1774
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1775
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1776
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1777
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1778
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1779
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1780
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1781
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1782
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1783
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1784
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1785
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1786
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1787
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1788
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1789
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1790
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1791
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1792
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1793
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1794
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1795
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1796
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1797
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1798
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1799
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1800
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1801
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1802
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1803
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1804
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1805
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1806
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1807
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1808
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1809
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1810
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1811
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1812
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1813
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1814
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1815
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1816
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1817