แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1805


    ครั้งที่ ๑๘๐๕


    สาระสำคัญ

    อถ,ขุ. อรรถกถาจัณฑาลิวิมาน - กรรมที่ทำให้ปฏิสนธิในสวรรค์

    กัมมอารมณ์ กัมมนิมิตอารมณ์ และคตินิมิอารมณ์

    อุตุชรูปภายใน และอุตุชรูปภายนอก เกิดเพราะกรรม

    อภิธัมมัตถวิภาวินีฎีกา - การเกิดวนเวียนไปในสังสารวัฏฏ์

    อถ.ตาลปุตตเถรคาถา - กรรมที่ทำให้วนเวียนไปในสังสารวัฏฏ์


    ที่ห้องประชุมตึกสภาการศึกษามหามกุฏราชวิทยาลัย

    วันอาทิตย์ที่ ๒๙ พฤษภาคม ๒๕๓๑


    ข้อความในวิมานวัตถุมีหลายสูตรที่แสดงอย่างนั้น เช่น อรรถกถา ขุททกนิกาย อรรถกถาจัณฑาลิวิมาน ซึ่งมีข้อความว่า

    พระผู้มีพระภาคเจ้าประทับอยู่ ณ กรุงราชคฤห์ ในเวลาใกล้รุ่ง ทรงเข้า มหากรุณาสมาบัติที่พระพุทธเจ้าปฏิบัติกันมาแล้ว เมื่อทรงออกแล้วตรวจดูโลกอยู่ ได้ทรงเห็นหญิงจัณฑาลแก่คนหนึ่งซึ่งอยู่ในจัณฑาลิคามในนครนั้นนั่นเองสิ้นอายุ ก็กรรมของนางที่นำไปนรกปรากฏชัดแล้ว พระองค์ทรงมีพระทัยอันพระมหากรุณา ทรงดำริว่า เราให้นางทำกรรมอันนำไปสู่สวรรค์ จักห้ามการเกิดในนรกของนาง ด้วยกรรมนั้นให้ดำรงอยู่บนสวรรค์

    พระผู้มีพระภาคจึงเสด็จเข้าไปบิณฑบาตยังกรุงราชคฤห์พร้อมกับภิกษุหมู่ใหญ่ ก็สมัยนั้น หญิงจัณฑาลีนั้นถือไม้ออกจากนคร พบพระผู้มีพระภาคกำลังเสด็จ แม้พระผู้มีพระภาคประทับยืนตรงหน้าเหมือนห้ามมิให้นางไป

    ครั้งนั้น ท่านพระมหาโมคคัลลานะรู้พระทัยของพระศาสดาและความหมดอายุของหญิงนั้นแล้ว เมื่อจะให้นางถวายบังคมพระผู้มีพระภาค จึงได้กล่าวคาถา ๒ คาถาว่า

    ดูก่อน แม่จัณฑาลี ท่านจงถวายบังคมพระยุคลบาทของพระโคดม ผู้มีพระเกียรติยศเถิด พระโคดมผู้เป็นพระพุทธเจ้าองค์ที่ ๗ ประทับยืนเพื่ออนุเคราะห์ท่านคนเดียว ท่านจงทำจิตให้เลื่อมใสยิ่งในพระองค์ผู้เป็นพระอรหันต์ ผู้คงที่ และ จงรีบประคองอัญชลีถวายบังคมเถิด ชีวิตของท่านน้อยเต็มที

    พระเถระเมื่อระบุคุณของพระผู้มีพระภาคด้วยคาถา ๒ คาถาอย่างนี้ ทำให้ นางสลดใจด้วยการชี้ชัดว่า นางหมดอายุ ประกอบนางไว้ในการถวายบังคม พระศาสดา ก็นางได้ฟังคำนั้นแล้ว เกิดสลดใจ มีใจเลื่อมใสในพระศาสดา ถวายบังคมด้วยเบญจางคประดิษฐ์ ประคองอัญชลีนมัสการอยู่ ได้ยืนมีจิตเป็นสมาธิด้วยปีติอันซ่านไปในพระพุทธคุณ

    พระผู้มีพระภาคเสด็จเข้าไปพระนครพร้อมด้วยภิกษุสงฆ์ ด้วยทรงดำริว่า เท่านี้ก็พอจะให้นางเกิดในสวรรค์ได้ ดังนี้ ต่อมา แม่โคลูกอ่อนตัวหนึ่งหันวิ่งตรงไปจากที่นั้น เข้ามาเอาเขาขวิดนางจนสิ้นชีวิต

    ท่านพระสังคีติกาจารย์เพื่อแสดงเรื่องนั้นทั้งหมด ได้กล่าวคาถา ๒ คาถาว่า

    หญิงจัณฑาลผู้นี้ อันพระมหาเถระผู้มีตนอันอบรมแล้ว ธำรงไว้ด้วยสรีระ อันสุดท้าย ตักเตือนแล้ว จึงถวายบังคมพระยุคลบาทของพระโคดมผู้มีพระเกียรติยศ แม่โคได้ขวิดนางในขณะที่กำลังยืนประคองอัญชลีนมัสการพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ผู้ส่องแสงสว่างในโลกมืด ดังนี้ ก็นางจุติจากนั้นไปบังเกิดในภพดาวดึงส์

    ไม่ได้แสดงว่า นางมีอะไรเป็นอารมณ์ของปฏิสนธิจิต เพียงแต่แสดงว่า กรรมอะไรที่ทำให้ปฏิสนธิในสวรรค์ชั้นดาวดึงส์

    เพราะฉะนั้น ทุกคนที่เกิดไม่ว่าจะเป็นที่ไหนก็ตาม แล้วแต่กรรมที่เป็นชนกกรรม แต่อาจจะเป็นการนึกถึงอารมณ์นั้น และเมื่อชวนจิตดับ ภายหลังจุติจิตเกิดและก็ดับ ปฏิสนธิจิตก็มีอารมณ์เดียวกับชวนจิตสุดท้ายซึ่งเป็นการนึกถึงกรรม หรือบางครั้งอาจจะไม่ใช่การนึกถึงกรรม แล้วแต่ว่าจะเป็นอารมณ์อะไรก็ตามซึ่งชวนจิตขณะนั้นกำลังเสพ กำลังมีอารมณ์นั้นก่อนจุติ และเมื่อจุติจิตดับแล้ว ปฏิสนธิจิตก็มีอารมณ์นั้น

    ขณะที่กำลังเห็น เมื่อวิถีจิตทางตาดับหมดแล้วก็สิ้นชีวิตได้ ขณะที่กำลังได้ยินเสียง เมื่อโสตทวารวิถีจิตดับหมดแล้ว จุติจิตก็เกิดได้ ปฏิสนธิก็เกิดต่อ โดยที่ไม่ได้แสดงไว้โดยละเอียดว่า เมื่อปฏิสนธิหญิงจัณฑาลผู้นี้มีอารมณ์ใดเป็นอารมณ์ จะมีกรรมเป็นอารมณ์ หรือมีกรรมนิมิตเป็นอารมณ์ หรือมีคตินิมิตเป็นอารมณ์

    ถ้าเป็นคตินิมิต ก็หมายความว่าเห็นนิมิตของคติที่จะเกิด เห็นเปลวไฟนรก หรือเห็นสถานที่รื่นรมย์ของสวรรค์ชั้นหนึ่งชั้นใดก็ได้ นั่นคืออารมณ์ที่เรียกว่า คตินิมิต เพราะเป็นนิมิตของคติที่จะไปสู่หลังจากจุติจิตดับแล้ว

    . กรรมอารมณ์ต้องเป็นในปัญจทวาร ใช่ไหม

    สุ. ทางมโนทวารทวารเดียว การระลึกถึงกรรม

    . ส่วนที่เห็น ได้ยิน แล้วในชวนะ …

    สุ. นั่นเป็นกรรมนิมิตอารมณ์ ถ้าเป็นกรรมนิมิต ก็หมายความว่า เป็นสี เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะได้ทั้งนั้น

    . เป็นสี เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะได้ทั้งนั้น แต่อารมณ์นั้นเป็นอารมณ์ในปัจจุบัน ไม่ได้คิดถึงในอดีต

    สุ. หรือจะเป็นการเห็นด้วยอำนาจของกรรมก็ได้ แต่นั่นต้องเป็น กรรมนิมิตอารมณ์ เช่น เห็นเครื่องมือเครื่องใช้ในการทำกรรมนั้น เช่น เห็นอุปกรณ์ อย่างเห็นจีวรที่ได้ถวาย ขณะนั้นก็เป็นเครื่องหมายของกรรมซึ่งเป็นกรรมนิมิตอารมณ์

    เพราะฉะนั้น กรรมนิมิตอารมณ์ หมายความถึงนิมิตของกรรมที่ได้กระทำแล้ว ก็ได้ หรือหมายความถึงสี เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะที่กำลังปรากฏในขณะนั้นก็ได้

    . ได้ทั้ง ๖ ทวาร

    สุ. กรรมนิมิตอารมณ์ได้ทั้ง ๖ ทวาร แต่กรรมอารมณ์ได้ทางมโนทวาร ทวารเดียว

    . จากการฟังแล้ว สำคัญที่การเจริญกุศลบ่อยๆ เนืองๆ มากกว่า และหมั่นเจริญกุศลทุกขั้น เพราะว่าจุติจิตจะเกิดเมื่อไรก็ได้ ต้องเกิดแน่ๆ แต่เมื่อไรไม่รู้ และกุศลจิตทุกขั้นที่ได้เจริญไปแล้ว ถ้ามีกำลังอะไรก็ห้ามไม่ได้ ใช่ไหม

    สุ. เลือกไม่ได้เลยว่า จะให้กุศลกรรมหรืออกุศลกรรมให้ผล และจะให้กรรมที่ทำด้วยกุศลโสมนัสประกอบด้วยปัญญา เป็นอสังขาริก ไม่อาศัยการชักจูงให้ผล เพราะอาจจะเป็นกรรมที่ทำด้วยความรู้สึกเฉยๆ เป็นอุเบกขาเวทนา และ ไม่ประกอบด้วยปัญญาให้ผลก็ได้

    แม้ว่าท่านผู้ฟังจะฟังพระธรรม ในขณะที่ฟังเป็นมหากุศล เป็นญาณสัมปยุตต์ ที่เข้าใจพระธรรม และบางครั้งบางขณะก็อาจจะเกิดความซาบซึ้งเป็นโสมนัสเวทนา แต่เวลาที่จะจุติ ไม่สามารถเลือกได้ว่าจะให้กรรมไหนให้ผล แต่สามารถดูชีวิตของคนที่เกิดแล้วได้ว่า ขณะที่เป็นบุคคลนี้ในชาตินี้ เป็นผลของกุศลระดับใด เป็นผลของกุศล ที่ประณีต หรือเป็นผลของกุศลที่ไม่ประณีต

    . กรรมหนึ่งกรรมใดที่ให้ผล คือ ในชวนจิตที่กระทำกรรมสำเร็จ จนครบองค์แล้ว ขณะที่ให้ผล จะให้ผลได้กี่อย่าง เช่น ให้ผลเป็นรูปได้ไหม ให้ผลเป็น จิตได้หลายๆ ดวง หรือขณะปฏิสนธิเพียงดวงเดียว

    สุ. ให้ผลดวงเดียวไม่ได้ เพราะว่ากรรมกว่าจะสำเร็จลงไปก็มีชวนะหลายวาระ

    . ถ้าเป็นอกุศล ต้องเพียงดวงใดดวงหนึ่งเท่านั้นที่จะให้ผลเป็นปฏิสนธิ

    สุ. ถ้าเป็นผลของอกุศลกรรม ขณะนั้นจิตจะเศร้าหมองเป็นอกุศล เพราะว่าอกุศลกรรมนั้นเป็นชนกกรรมจึงทำให้จิตก่อนจะจุตินึกถึงอดีตกรรมนั้น เป็นกรรมอารมณ์ หรือเห็นนิมิตของกรรมที่เป็นอกุศลนั้น เป็นกรรมนิมิตอารมณ์ หรือเห็นคติที่จะไปสู่ เช่น เห็นไฟนรก หรือแล้วแต่ว่าจะเป็นภูมิหนึ่งภูมิใด ขณะนั้นเป็น คตินิมิตอารมณ์ แต่ต้องเป็นผลของกรรมที่ได้กระทำสำเร็จลงแล้ว แม้แต่หญิงจัณฑาลที่กล่าวถึง ก็ได้ถวายบังคมพระผู้มีพระภาคสำเร็จแล้ว เป็นกรรมที่ได้กระทำแล้ว แต่ก็ไม่ทราบว่า ในขณะที่ถูกแม่โคขวิดในขณะนั้น ก่อนจุติจิตจะเกิดหญิงนั้นมีอะไรเป็นอารมณ์ ไม่ได้ทรงแสดงไว้เลย เพียงแต่แสดงไว้ว่า กรรมใดทำให้ปฏิสนธิในภูมิใด แต่ไม่ได้ทรงแสดงถึงกับว่าก่อนที่จุติจิตของหญิงนั้นจะเกิด ขณะนั้นหญิงนั้นมี กรรมอารมณ์ หรือมีกรรมนิมิตอารมณ์ หรือมีคตินิมิตอารมณ์

    . ขณะที่ปฏิสนธิจิตเกิดเนื่องจากกรรมหนึ่งกรรมใดแล้ว ภวังคจิตเกิดต่อ ภวังคจิตก็เป็นผลของกรรมเดียวกันด้วย ใช่ไหม

    สุ. แน่นอน

    . ถ้าปฏิสนธิเกิดขึ้น กัมมชรูปที่เกิดพร้อมกัน ก็ยังเป็นผลจากกรรมที่ทำไว้กรรมเดียวกัน ดวงเดียวกัน ใช่ไหม

    สุ. ชนกกรรมทำให้ปฏิสนธิจิตเกิดพร้อมกับเจตสิก เกิดพร้อมกับกัมมชรูป

    ถ. เข้าใจแล้ว

    สุ. ทันทีที่ปฏิสนธิจิตเกิด ต้องมีเจตสิกเกิดร่วมด้วย และมีกัมมชรูปเกิด ร่วมด้วย นี่เป็นเหตุที่แต่ละคนเมื่อเจริญเติบโตขึ้น ไม่ว่าจะเป็นสัตว์ดิรัจฉาน หรือเป็นมนุษย์ก็ตาม จะมีรูปร่างผิวพรรณ ส่วนของอวัยวะน้อยใหญ่ต่างกันตามกรรม ซึ่งเป็นชนกกรรมที่ทำให้ปฏิสนธิจิตเกิดพร้อมกับกัมมชรูป เพราะว่าในกลุ่ม ๓ กลุ่ม ที่เป็นกัมมชรูป หรือกัมมชกลาปสำหรับคนที่เกิดในครรภ์ จะมีภาวทสกะกลุ่มหนึ่ง หทยทสกะกลุ่มหนึ่ง และกายทสกะกลุ่มหนึ่ง ซึ่งเล็กมาก มองไม่เห็นเลย แต่ในกลุ่มแต่ละกลุ่มซึ่งเป็นกัมมชรูปนั้นมีธาตุไฟ และธาตุไฟนั้นจะเป็นสมุฏฐานทำให้กลุ่มของรูปที่เกิดเพราะธาตุไฟนั้นเกิดขึ้น เพราะฉะนั้น กรรมนั้นจึงทำให้แต่ละคนเจริญ เติบโตขึ้นและมีรูปร่างสูงต่ำดำขาวต่างกัน เพราะว่าธาตุไฟซึ่งเป็นอุตุที่เกิดพร้อมกัมมชรูปเป็นสมุฏฐานให้เจริญเติบโตมาเรื่อยๆ

    ไม่ว่าจะเป็นมนุษย์หรือเป็นสัตว์ดิรัจฉานที่มีรูปร่างต่างๆ กัน ก็เพราะกรรมนั้นทำให้ปฏิสนธิกัมมชรูปเกิด และในกัมมชรูปนั้นมีอุตุหรือว่าธาตุไฟ เย็น ร้อน ที่จะเป็นสมุฏฐานให้รูปที่เกิดเพราะอุตุนั้นเกิด

    . ขณะที่อุตุในกัมมชรูปเป็นปัจจัยให้รูปที่เกิดจากอุตุเป็นสมุฏฐานเกิด ได้ยินพระสูตรที่เกี่ยวกับผู้ที่กระทำกรรมดีและผลของกรรมให้ผล คือ ขณะที่กระทำทาน และผลของทานให้ผล ขณะที่ให้ผล บุคคลนั้น สมมติว่าไปเกิดเป็นเทวดา และมีวิมานเกิดด้วย เป็นเพราะอุตุที่อยู่ในรูปกลุ่มของกรรมหรือเปล่า

    สุ. นั่นเป็นภายนอก ไม่ใช่ภายใน มีทั้งอุตุชรูปภายใน และอุตุชรูปภายนอกซึ่งเกิดเพราะกรรมด้วย

    . ถ้าเป็นภายใน อุตุที่เกิดจากกรรม ก็ให้ผลเป็นรูปร่างกายอื่นๆ ประกอบกัน

    สุ. จะสังเกตได้ว่า กรรมที่ทุกคนทำก็คล้ายคลึงกัน เช่น การถวายอาหารบิณฑบาต ก็มีอาหารเป็นไทยธรรม และก็มีกุศลศรัทธา มีเจตนา ๓ กาล มีความ ผ่องใส ดูแล้วก็ไม่น่าจะแตกต่างกันมากเลย แต่เจตนาและสภาพของกุศลธรรมที่ เกิดร่วมกันนั้น ก็ละเอียดประณีตต่างกัน จนกระทั่งทำให้แม้ในขณะที่ปฏิสนธิจิตเกิดพร้อมกับกัมมชรูป กัมมชรูปที่มีธาตุไฟนั้นก็ยังเป็นเครื่องประกอบที่จะทำให้รูปร่างและผิวพรรณวรรณะต่างๆ กันไปอีก

    การที่ท่านผู้ฟังฟังพระธรรมที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงและทรงพร่ำสอน เป็นอันมากในพระไตรปิฎก ประโยชน์ คือ เพื่อให้เข้าใจจริงๆ ว่า ชีวิตตั้งแต่เกิด จนตายไม่ใช่เรา เป็นแต่เพียงสภาพธรรม คือ จิต เจตสิก รูป ซึ่งอาศัยเหตุปัจจัยเกิดขึ้นทำกิจการงานต่างๆ ซึ่งกิจของจิตทั้งหมดมี ๑๔ กิจ

    กิจที่ ๑ คือ ปฏิสนธิกิจ จิตที่ทำกิจนี้ทั้งหมดมี ๑๙ ดวง ซึ่งได้กล่าวถึงแล้ว เป็นอกุศลวิบาก ๑ ดวง เป็นกามาวจรกุศลวิบาก ๙ ดวง เป็นรูปาวจรวิบาก ๕ ดวง เป็นอรูปาวจรวิบาก ๔ ดวง รวมเป็นปฏิสนธิจิต ๑๙ ดวง แต่ถ้าศึกษาโดยละเอียด จะทราบว่า ปฏิสนธิทั้งหมดมี ๒๐ เพราะฉะนั้น ปฏิสนธิที่ไม่ใช่จิต คือ อสัญญสัตตาพรหม การปฏิสนธิซึ่งมีแต่รูปปฏิสนธิในอสัญญสัตตาภูมิ ซึ่งก็ต้องมีเหตุ ไม่ใช่ว่าการไปเกิดเป็นอสัญญสัตตาพรหมไม่มีเหตุก็ไปเกิดได้ ต้องเป็นผู้ที่เจริญ ความสงบของจิตมั่นคงจนกระทั่งถึงขั้นรูปปัญจมฌานที่ ๕ และมีความเห็นว่า ทุกข์ทั้งหมดเพราะมีนาม ถ้าไม่มีสภาพรู้ ไม่มีนามธรรม ทุกข์ก็ไม่มี ถ้ามีแต่เพียงรูป ไม่เดือดร้อนอะไรเลย ไม่มีการรับรู้กระทบสิ่งที่กระทบสัมผัสกาย ไม่มีการเห็น การได้ยิน การได้กลิ่น การลิ้มรส การคิดนึกใดๆ ทั้งสิ้น เพราะฉะนั้น ด้วยความปรารถนาที่จะมีแต่เพียงรูป ไม่มีนาม ก็ทำให้รูปปัญจมฌานกุศลเกิดก่อนจุติจิต และเมื่อจุติจิตดับแล้ว ก็มีแต่รูปปฏิสนธิเป็นอสัญญสัตตาพรหมในอสัญญสัตตาภูมิ

    แสดงให้เห็นว่า การเกิดทุกภพทุกชาติ ไม่ว่าจะเป็นที่ไหนก็ตาม ต้องไม่พ้นจากเหตุที่เป็นกรรมที่ได้กระทำแล้ว

    สำหรับกิจที่ ๑ ขอกล่าวเพียงย่อๆ ถ้าท่านผู้ฟังสนใจก็จะศึกษาได้เองจาก อรรถกถา ซึ่งแสดงความละเอียดของภพภูมิที่เกิดของอกุศลวิบากจิต ๑ ดวง กามาวจรวิบากจิต ๙ ดวง รูปาวจรวิบากจิต ๕ ดวง และอรูปาวจรวิบากจิต ๔ ดวง

    สำหรับผู้ที่กระทำกรรมซึ่งเป็นไปในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส ในโผฏฐัพพะ ที่เป็นจิตประเภทกามาวจรจิต หรือมหากุศลจิตนั้น ไม่สามารถเกิดเป็นพรหมบุคคลได้ เพราะฉะนั้น การที่จะคิดว่าบุคคลนั้นบุคคลนี้ตายและไปเกิดเป็นรูปพรหมบุคคล อรูปพรหมบุคคล ก็เป็นเรื่องที่จะต้องศึกษาถึงเหตุว่า บุคคลนั้นต้องเป็นผู้ที่เจริญ ความสงบจนกระทั่งฌานจิตเกิดและไม่เสื่อม คือ ก่อนจุติจิตจะเกิด ฌานจิตต้อง เกิดก่อน แล้วแต่ว่าจะเป็นปฐมฌาน หรือทุติยฌาน ตติยฌาน จตุตถฌาน หรือ ปัญจมฌาน

    ข้อสำคัญต้องเข้าใจว่า จิตก็ดี เจตสิกก็ดี รูปก็ดี เป็นสภาพธรรมที่เกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัยและดับไป และก็มีปัจจัยเกิดขึ้นและก็ดับ มีปัจจัยเกิดขึ้นและก็ดับ ถ้าปราศจากเหตุปัจจัย จิตในขณะนี้เกิดไม่ได้ เจตสิกเกิดไม่ได้ รูปเกิดไม่ได้ เพราะฉะนั้น เมื่อสิ้นชีวิต ถ้าไม่มีเหตุปัจจัย ปฏิสนธิจิตก็เกิดไม่ได้

    อภิธัมมัตถวิภาวินีฎีกา ปริจเฉทที่ ๕ มีข้อความว่า

    ธรรมอะไรๆ ที่นับเนื่องในภพก่อน หาก้าวไปสู่ภพใหม่ไม่ ใจ เว้นจากเหตุ ที่นับเนื่องในภพก่อน ย่อมเกิดไม่ได้เลย

    แม้แต่ปฏิสนธิจิตที่จะเกิดก็ต้องมีเหตุ คือ นับเนื่องในภพก่อน ต้องมีเหตุ จากภพก่อน จึงทำให้ปฏิสนธิจิตในชาตินี้เกิดขึ้น แสดงให้เห็นถึงการไม่รู้จบของ การตายและการเกิดที่วนเวียนไปในสังสารวัฏฏ์ เพราะว่าเป็นผู้ที่ยังไม่ดับกิเลส เป็นสมุจเฉท

    ขอกล่าวถึงเรื่องของกรรมที่ทำให้วนเวียนไปจนกว่าจะถึงการรู้แจ้งอริยสัจจธรรมของท่านผู้หนึ่ง คือ นักฟ้อนท่านหนึ่ง ข้อความใน อรรถกถาตาลปุฏเถรคาถา ที่ ๑ มีว่า

    นักฟ้อนท่านหนึ่งมีนามว่า นฏคามณิ มีมาตุคาม ๕๐๐ เป็นบริวาร แสดงมหรสพในบ้าน นิคม และราชธานี ได้การบูชาและสักการะเป็นอันมากเที่ยวไป มายังกรุงราชคฤห์แสดงแก่ชาวพระนคร เพราะท่านได้สั่งสมกุศลอันเป็นอุปนิสัยแห่งพระนิพพานในพระพุทธเจ้าพระองค์ก่อนๆ จึงได้ไปเฝ้าพระผู้มีพระภาค ทูลถามปัญหา ฟังพระธรรม และอุปสมบท ไม่นานนักก็บรรลุพระอรหันต์

    ทุกท่านก็ปรารถนาที่จะเป็นอย่างนี้ แต่กว่าจะได้เป็นอย่างนี้ จะต้องฟัง พระธรรมที่ทรงพร่ำสอนเรื่องของตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ เรื่องตายแล้วเกิด เพื่อ จะได้เข้าใจจริงๆ ว่า ไม่ใช่ตัวตน

    ท่านได้กล่าวคาถามีข้อความตอนหนึ่งว่า

    ดูก่อน จิต ท่านทำเราให้เป็นพราหมณ์ก็มี เป็นพระราชามหากษัตริย์ก็มี เพราะอำนาจแห่งท่าน บางคราวเราเป็นแพศย์ เป็นศูทร เป็นเทพเจ้าก็มี เพราะอำนาจแห่งท่าน เพราะเหตุแห่งท่าน มีท่านเป็นมูลเหตุ เราเป็นอสูร บางคราวเป็นสัตว์นรก บางคราวเป็นสัตว์ดิรัจฉาน บางคราวเป็นเปรต ท่านได้ประทุษร้ายเรา บ่อยๆ มิใช่หรือ บัดนี้เราจักไม่ให้ท่านทำเหมือนกาลก่อนอีกละ แม้เพียงครู่เดียว ท่านได้ล่อลวงเราเหมือนคนบ้า ได้ทำความผิดให้แก่เรามาแล้วมิใช่หรือ



    คำบรรยายคัดลอกจาก E-book
    แนวทางเจริญวิปัสสนา เล่ม ๑๘๑ ตอนที่ ๑๘๐๑ – ๑๘๑๐
    เรียบเรียงอักษรให้อยู่ในรูปแบบหนังสือ โดยมีเนื้อหาใจความสำคัญครบถ้วน

    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 96
    28 ธ.ค. 2564