แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1812
ครั้งที่ ๑๘๑๒
สาระสำคัญ
เรื่องผลของกรรม (วิบาก)
ขุ. สารีปุตตเถรคาถา
ที่ห้องประชุมตึกสภาการศึกษามหามกุฏราชวิทยาลัย
วันอาทิตย์ที่ ๑๙ มิถุนายน ๒๕๓๑
ในเมื่อรู้ชัดในเรื่องผลของกรรม ในเรื่องของวิบาก ก็ต้องรู้ด้วยว่า แม้การหลับ ก็เป็นผลของกรรม หรือแม้การตื่นก็เป็นผลของกรรม
เวลาที่นอนไม่หลับ เป็นผลของกรรมหรือเปล่า เวลานอนไม่หลับก็ต้องเห็น จิตเห็นเป็นผลของกรรม ต้องได้ยินก็เป็นผลของกรรมไม่ให้หลับ หรือเวลาที่หลับแล้ว จะไม่ให้ตื่นได้ไหม ถ้าตื่นก็คือเห็นซึ่งเป็นผลของกรรมอีก
เพราะฉะนั้น วันหนึ่งๆ หนีไม่พ้นเรื่องผลของกรรมที่จะต้องหลับบ้าง ตื่นบ้าง และบางครั้งการไม่หลับก็ไม่ใช่เป็นเพียงผลของกรรมเท่านั้น แต่เป็นผลของการสะสมอกุศลก็ได้ เพราะว่าจิตที่เป็นโลภะเกิดขึ้นนึกคิดเรื่องราวต่างๆ ทางใจ แม้ว่าไม่เห็น ไม่ได้ยิน ไม่ได้กลิ่น ไม่ลิ้มรส ไม่รู้สิ่งที่กระทบสัมผัส ขณะที่กำลังคิดนึก ต่างๆ ทางใจ ขณะนั้นไม่ใช่ผลของกรรม แต่เป็นกิเลสที่ทำให้ไม่หลับ
ท่านที่ชอบหลับ อยากหลับตลอดไปหรือเปล่า หรือชอบอย่างอื่นด้วย ไม่ใช่ชอบแต่หลับอย่างเดียว คิดดู ทำไมเราไม่ได้หลับตลอดไป ทุกคนหลับจริง แต่ไม่ได้หลับตลอดไป เพราะว่ามีกรรมที่ทำให้ต้องเห็นจึงต้องตื่น และจริงๆ แล้วก็ยังอยากเห็น ยังอยากได้ยิน เพราะฉะนั้น คืนนี้ทุกคนจะหลับด้วยการรอวิบากของวันรุ่งขึ้นที่จะเกิด โดยที่ไม่รู้เลยว่าวิบากประเภทใดจะเกิดขึ้น ถ้าไม่คิดถึงคืนนี้ที่จะเกิด ก็ขอให้คิดถึง เมื่อคืนนี้ที่ผ่านมาแล้วที่หลับ ก่อนหลับรออะไรไหมที่จะเกิดหลังจากที่ตื่นแล้ว
สำหรับปฏิสนธิจิตและภวังคจิต ดูเหมือนกับว่าไม่มีบทบาทอะไรเลย แต่ จริงๆ แล้วจิตแต่ละประเภทมีความสำคัญ ปฏิสนธิจิตสำคัญ เพราะว่าจะทำให้ เป็นบุคคลไหน และจะทำให้ตลอดชีวิตนั้นมีวิบากประเภทใดเกิดขึ้นบ้างตามกำลังของกรรมที่ได้กระทำแล้ว เปรียบเสมือนไร่นาว่าจะมีนากว้างใหญ่ หรือจะมีนาแคบเล็ก จะมีดินดี หรือจะมีดินไม่ดี พวกนี้เป็นปัจจัยให้พืชงอกงามมากหรือน้อย นี่คือกรรมนั้น ที่จะทำให้ปฏิสนธิเป็นปัจจัยทำให้ตลอดชีวิตนั้นจะมีกรรมอะไรอีกที่สามารถจะให้ผลได้
แต่ปฏิสนธิจิตดูเหมือนไม่มีความหมาย เพราะว่าไม่เห็น ไม่ได้ยิน ไม่รู้จักแม้แต่ เป็นใคร ชื่ออะไร และขณะที่เป็นภวังคจิตก็เช่นเดียวกัน ดำรงภพชาติสืบต่อจากปฏิสนธิ เมื่อปฏิสนธิจิตเป็นจิตประเภทใดดับไป กรรมไม่เพียงทำให้ปฏิสนธิจิตเกิดเท่านั้นแล้วก็ตาย แต่กรรมทำให้จิตประเภทเดียวกันทำกิจดำรงภพชาติสืบต่อ เพื่อรอวิบากอื่นที่จะเกิด เพราะฉะนั้น ทุกคนที่ตื่นและก็หลับ หลับแล้วก็ตื่นทุกวันๆ ให้ทราบว่า ในขณะที่เป็นภวังค์ที่หลับในคืนหนึ่งๆ นั้น เป็นจิตที่ทำกิจเพื่อรอวิบาก ที่จะเกิดในวันต่อไปโดยที่ไม่มีใครสามารถจะรู้ได้
มีผู้ที่ตระเตรียมเดินทางไปพักผ่อน ทุกอย่างพร้อม แต่ก็มีเหตุทำให้ไม่ได้เดินทาง แสดงให้เห็นว่า ก่อนจะหลับก็รอวิบากประเภทหนึ่งที่คิดไว้ว่าจะเป็น วิบากอย่างนั้นอย่างนี้ แต่ไม่มีใครสามารถรู้ได้จริงๆ ว่า แม้วิบาก คือ การเห็น การได้ยินเหล่านี้ ก็ต้องเป็นไปตามกรรม ซึ่งจะเป็นปัจจัยให้วิบากนั้นๆ เกิดขึ้น ไม่ใช่เป็นไปตามความคิด หรือความพอใจ หรือความหวัง หรือความต้องการ
เพราะฉะนั้น ถ้าคืนนี้หลับด้วยความปลอดโปร่ง คือ ไม่รออะไรทั้งสิ้น เพราะไม่รู้ว่าอะไรจะเกิดเพราะกรรมใดเป็นปัจจัย ก็จะเบาสบาย แทนที่จะห่วง วิตกกังวลว่าวิบากนั้นๆ จะเกิดหรือไม่เกิด
ภวังคจิตเป็นประภัสสรจิต หมายความว่าในขณะนั้นยังไม่มีอกุศลใดๆ เกิดร่วมกับจิตที่กำลังทำกิจภวังค์ และสำหรับผู้ที่เกิดเป็นมนุษย์ที่ไม่พิการก็เป็น มหาวิบากดวงหนึ่งดวงใดใน ๘ ดวง
เวลาตื่นขึ้นมาตอนกลางวันรอวิบากหรือเปล่า
ขณะใดที่เป็นภวังค์ ขณะนั้นไม่ใช่วิบากทางตา หู จมูก ลิ้น กาย เพราะฉะนั้น ขณะที่ตื่นแล้วภวังคจิตคั่น รอวิบากอย่างสั้นๆ และเร็วมาก เพราะว่าวิบากมาเร็วมากทั้งทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย โดยไม่รู้ตัวว่าขณะนั้นเป็นวิบาก แต่ให้ทราบว่า ขณะใดที่เป็นภวังค์ ขณะนั้นกำลังรอวิบากอื่นที่จะเกิดขึ้นต่อไป และวันนี้ใครรู้บ้างว่า ภวังค์เกิดเพียงเพื่อรอวิบากอื่นที่จะเกิด เพราะว่า ขณะที่ตื่นวิบากเกิดขึ้นอย่างเร็วมาก ขณะนี้เท่าไรแล้ว วิบากทั้งทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย
ขุททกนิกาย สารีปุตตเถรคาถา ข้อ ๓๙๖
ท่านพระสารีบุตรกล่าวคาถาว่า
เราไม่ยินดีต่อความตายและชีวิต เราเป็นผู้มีสติสัมปชัญญะจักละทิ้งร่างกาย นี้ไป ไม่ยินดีต่อความตายและชีวิต รอคอยเวลาตายอยู่ เหมือนลูกจ้างรอให้หมดเวลาทำงาน ฉะนั้น
นี่คือพระภิกษุซึ่งเป็นพระอรหันต์ และเห็นว่าการที่จะต้องเห็น เป็นกิจชนิดหนึ่ง เป็นการงานอย่างหนึ่ง การได้ยินก็เป็นกิจอีกชนิดหนึ่ง การได้กลิ่นก็เป็นกิจอีกชนิดหนึ่งซึ่งจะต้องเกิดขึ้นได้กลิ่น การลิ้มรสก็เป็นกิจอีกชนิดหนึ่งซึ่งจะต้องเกิดขึ้นลิ้มรส ทุกวันนี้ก็ลิ้มรสเช้า สาย บ่าย ค่ำ แล้วแต่ว่าจะลิ้มรสขณะใด ทางกายที่กระทบสัมผัส ก็เป็นกิจการงานหน้าที่ที่จะต้องรู้เย็นหรือร้อน อ่อนหรือแข็ง ตึงหรือไหว เหมือนลูกจ้าง รอให้หมดเวลาทำงานสำหรับผู้ที่เป็นพระอรหันต์ แต่สำหรับผู้ที่ยังมีกิเลสไม่ได้รอ อย่างนี้ แต่รอว่าพรุ่งนี้จะเห็นอะไร จะได้ยินอะไร จะลิ้มรสอะไร จะมีกิจการงานอะไร
แสดงให้เห็นว่า ผู้ที่หมดกิเลสกับผู้ที่มีกิเลสรอต่างกัน
เรื่องของภวังคจิตเป็นเรื่องยากที่จะรู้ได้ คือ ภวังคจิตจะเกิดคั่นทุกวาระวิถี ที่จิตเกิดขึ้นรู้อารมณ์ทางทวารหนึ่งทวารใด มีใครสามารถรู้ลักษณะของภวังคจิต ในขณะนี้ได้ไหม ทั้งๆ ที่ทางตาที่เห็น เป็นการรู้อารมณ์ลักษณะหนึ่ง คือ รู้สิ่งที่ปรากฏทางตา และขณะที่กำลังได้ยินขณะนี้ เสียงก็เป็นสภาพธรรมอีกอย่างหนึ่ง ซึ่งไม่ใช่สิ่งที่ปรากฏทางตา
โลกของสิ่งที่ปรากฏทางตาเงียบมาก ถ้าไม่มีการได้ยิน มีแต่สิ่งที่ปรากฏทางตาเท่านั้น จะเป็นโลกที่เงียบสำหรับผู้ที่ไม่มีโสตปสาท ไม่มีการได้ยินเลย แต่สำหรับผู้ที่ มีทั้งจักขุปสาทและโสตปสาทจะเห็นว่า อารมณ์ที่กำลังปรากฏเสมือนไม่ได้แยกขาดจากกันเลย คือ ทั้งๆ ที่เห็น ก็ได้ยิน ถ้าพิจารณาจริงๆ ก็สามารถรู้ได้ว่า ขณะที่เห็นไม่ใช่ขณะที่ได้ยิน และขณะที่ได้ยินไม่ใช่ขณะที่เห็น จะต้องมีสิ่งที่ตัด หรือแทรก หรือคั่น เพราะฉะนั้น โดยความเข้าใจขั้นปริยัติก็รู้ว่า ต้องมีภวังคจิต นี่คือเหตุผล และการที่จะประจักษ์แจ้งจริงๆ ว่า ขณะที่รูปปรากฏทางตา แยกขาดจากรูปที่ปรากฏทางหู ต้องเป็นสิ่งที่สามารถประจักษ์แจ้งได้ แต่ต้องอาศัยการฟังและความเข้าใจ ที่มั่นคง ค่อยๆ พิจารณาไป สติเกิดระลึก ค่อยๆ เข้าใจขึ้น ค่อยๆ รู้ขึ้นในลักษณะของนามธรรมและรูปธรรมจนกว่าจะชินทั้ง ๖ ทวาร
เพราะฉะนั้น เมื่อกล่าวถึงภวังคจิต เป็นสภาพธรรมที่มีจริง และที่จะรู้ว่ามีได้ ก็เมื่อลักษณะของภวังคจิตปรากฏ คือ ในขณะที่นอนหลับสนิท ไม่เห็น ไม่ได้ยิน ไม่ได้กลิ่น ไม่ลิ้มรส ไม่รู้สิ่งที่กระทบสัมผัส ไม่คิดนึก กำลังหลับสนิทจริงๆ ทุกคน ก็รู้ว่ามี ซึ่งภวังคจิตเป็นจิตประเภทหนึ่งที่เกิดดับสืบต่อดำรงภพชาติโดยไม่เห็น โดยไม่ได้ยิน โดยไม่ได้กลิ่น โดยไม่ลิ้มรส โดยไม่รู้สิ่งกระทบสัมผัส โดยไม่คิดนึก
เมื่อภวังคจิตเป็นสิ่งที่มีจริง และลักษณะสภาพของภวังคจิตคือจิตที่รู้อารมณ์เดียวกับปฏิสนธิจิต ซึ่งไม่ใช่อารมณ์ของโลกนี้ที่ปรากฏทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ ขณะที่เป็นภวังคจิตไม่มีกิเลสใดๆ เกิดร่วมกับจิตที่กำลัง ทำภวังคกิจนั้นเลย เพราะว่าไม่เห็นก็ไม่มีความยินดีพอใจในสิ่งที่ปรากฏทางตา ไม่ได้ยินก็ไม่มีการยินดียินร้ายในเสียง ไม่ได้กลิ่น ไม่ลิ้มรส ไม่รู้สิ่งที่กระทบสัมผัส ไม่คิดนึก เพราะฉะนั้น ถ้าหลับอยู่จะดีไหม เพราะว่าขณะนั้นไม่เกิดกิเลส คือ ความยินดียินร้าย
ท่านที่ตื่นขึ้นและระลึกได้ว่า ขณะใดที่มีความโลภ ความพอใจในสิ่งหนึ่งสิ่งใดเกิดขึ้น ก็อาจจะคิดว่า หลับเสียก็ดี คือ ไม่ต้องมีโลภะเกิดขึ้น หรือตื่นแล้วได้ยินเสียงที่ไม่น่าพอใจ เกิดความขุ่นเคืองใจ ในขณะนั้นก็อาจจะระลึกได้ว่า ถ้าหลับเสียก็ดี คือ ไม่ต้องได้ยินเสียงที่ไม่น่าพอใจ
แต่การที่จะหลับหรือตื่น ไม่อยู่ในอำนาจบังคับบัญชาของใครเลย จิตที่หลับ คือ ภวังคจิต เป็นวิบากจิต เป็นจิตที่เกิดขึ้นเพราะกรรมเป็นปัจจัย เวลาที่ตื่น ถ้ามีการเห็นก็เป็นวิบากจิตที่จะต้องตื่นขึ้นเห็น และสำหรับผู้ที่หลับอยู่ ก็ต้องเป็นผู้ที่ มีผลของกรรมหนึ่งกรรมใดที่จะเกิดเมื่อตื่นขึ้น เห็นบ้าง ได้ยินบ้าง จะหลีกเลี่ยงการรับ ผลของกรรมไม่ได้เลย ตราบใดที่ยังไม่ปรินิพพาน เพราะฉะนั้น ทุกคนที่หลับ ก็ต้องตื่นขึ้น เพราะยังมีวิบากจิตที่เกิดขึ้นรับผลของกรรม
สำหรับผู้ที่ชอบนอน ชอบหลับ จะไม่พ้นไปจากกิเลส เพราะว่าขณะนั้น เป็นโลภมูลจิตที่ชอบหลับ แต่ผู้ที่อยากจะหลับเพราะร่างกายอ่อนเพลีย ซึ่งเป็นธรรมดา เมื่อถึงเวลาพักผ่อนก็ควรที่จะหลับ แต่ถ้าไม่หลับ ก็ควรรู้ว่า ไม่หลับก็ดี เพราะว่า เป็นโอกาสที่สติจะระลึกศึกษาลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ
ไม่ว่าจะตื่น หรือจะหลับ ถ้ารู้ว่าบังคับบัญชาไม่ได้ แต่จะถือประโยชน์จาก การตื่น โดยสามารถพิจารณารู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ เป็นกุศลจิต ซึ่งดีกว่าการหลับ เพราะถ้าหลับแล้ว ปัญญาจะเกิดรู้ลักษณะของสภาพธรรมไม่ได้
การที่กล่าวถึงธุดงค์ ๑๓ ข้อ และข้อ ๑๓ คือ การไม่นอน ก็เพราะท่านที่จะรักษาธุดงค์ข้อนี้เห็นประโยชน์ของการเป็นผู้ตื่นมากและเป็นผู้หลับน้อย ไม่ใช่ว่าอยากจะนั่ง ท่านที่รักษาธุดงค์ข้อนี้ ไม่ใช่เป็นผู้ที่อยากจะนั่งสมาธิ แต่เป็นผู้ที่เห็นว่า ถ้าหลับแล้วโอกาสที่สติจะเกิดระลึกลักษณะของสภาพธรรมก็เป็นไปไม่ได้
เมื่อไม่รู้ว่าชีวิตของท่านจะดำรงอยู่นานมากน้อยเท่าไร เพราะฉะนั้น การหลับเพียงเล็กน้อยและเป็นผู้ที่ตื่นมากโดยนั่งและไม่นอน เพราะถ้านอนจะหลับนาน ถ้านั่งจะตื่นเร็ว และในขณะที่ตื่นจะสามารถพิจารณารู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏได้ ด้วยเหตุนี้ท่านจึงเป็นผู้ที่ไม่นอน
ธรรมทั้งหมดต้องประกอบกัน แม้แต่การรักษาธุดงค์ก็ต้องทราบว่า ผู้ที่ไม่นอนเพราะอะไร ก็เพราะการนั่งจะได้หลับน้อย สำหรับผู้ที่มีปกติเจริญสติปัฏฐาน จะไม่ไปนั่งเพื่อสิ่งหนึ่งสิ่งใด แต่รู้ว่า ไม่ว่าสภาพธรรมใดเกิดขึ้น สภาพธรรมนั้น มีเหตุปัจจัยจึงเกิด และถ้าสติระลึกศึกษาลักษณะสภาพรู้ซึ่งเป็นนามธรรมจะทำให้ ละคลายการยึดถือว่าเป็นเราที่เห็น หรือเป็นเราที่ได้ยิน เป็นเราที่คิดนึก หรือเป็นเรา ที่ระลึกลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ
ถ. ประโยชน์ของธุดงค์มีอยู่ข้อหนึ่งที่ว่า ถือการอยู่กลางแจ้งเป็นวัตร อยากทราบว่าจะเป็นประโยชน์ต่อการเจริญกุศลอย่างไร
สุ. ธุดงค์ทั้งหมดอยู่ที่ว่า เป็นผู้ที่ตื่น และเป็นผู้ที่มีชีวิตอย่างขัดเกลาจริงๆ สามารถอยู่อย่างง่ายๆ เพราะแม้เป็นผู้ที่อยู่ป่าแล้ว ก็ยังไม่อยู่แม้โคนไม้ ยังไม่อยู่ แม้ในที่กำบัง ยังขัดเกลาโดยสามารถอยู่ได้กลางแจ้ง ไม่เป็นผู้ที่ติดในสถานที่ ที่สะดวกสบาย เพราะว่าเรื่องของความเป็นอยู่ ทุกคนเกิดมาแล้วก็ต้องการอยู่สบาย นอนสบาย บริโภคสบาย อยู่ดี กินดี แต่สำหรับผู้ที่จะขัดเกลาเห็นโทษของกิเลสว่า ถ้าอยู่ดีกินดี ยิ่งสบาย ก็ยิ่งติด
บางท่านที่ต้องการขัดเกลาให้ยิ่งกว่านั้นก็รู้ว่า สำหรับชีวิตของบรรพชิต ต้องไม่ติดข้องในเรื่องของที่อยู่อาศัยเลย เพราะบางท่านถ้าอยู่ในอาราม ก็อาจจะติดในอารามที่อยู่อาศัยได้ แต่ถ้าไม่มีอารามที่จะเป็นเจ้าของ ไม่มีห้องที่จะเป็นเจ้าของ ที่จะอยู่จะพัก เป็นผู้ที่สละจริงๆ ละทิ้งจริงๆ ท่านก็จะขัดเกลาโดยที่ว่า บางท่าน อยู่ป่า ซึ่งบางท่านอยู่ป่าแล้วก็ยังอาศัยโคนไม้ แต่สำหรับผู้ที่อยู่กลางแจ้งนั้น แม้อยู่ป่า คือไม่ใช่บ้านแล้ว ยังไม่อาศัยโคนไม้ด้วย จึงอยู่ในที่กลางแจ้ง คือ ไม่ติดความสะดวกสบายในการกินอยู่หลับนอน
นี่ก็แล้วแต่อัธยาศัยว่า ใครจะเห็นโทษของอกุศลจนกระทั่งพากเพียรขัดเกลา บางท่านเข้ามาอยู่ในวัดวาอารามแล้ว ก็แล้วแต่ผู้ที่มีหน้าที่จะจัดที่อยู่อาศัยที่ใดให้ ท่านก็ยินดีพอใจในที่อยู่อาศัยนั้น คือ ไม่เลือก ไม่เกี่ยงว่าตรงนั้นร้อน ตรงนี้ไม่สะดวก หรืออะไรต่างๆ
ผู้ฟัง สมัยพุทธกาล เรื่องธุดงค์ พระท่านเดินจะมีกลดหรือเปล่าผมก็ไม่ทราบ แต่ปัจจุบันนี้พระที่เดินธุดงค์มีกลด คือ ร่มใหญ่ๆ และมีมุ้งกางในกลดได้ เข้าไปอยู่ ในนั้น สบาย ไม่ต้องกลัวสัตว์ร้ายด้วย ถ้าอยู่โล่งๆ จะกลัว เพราะฉะนั้น ผมเห็นว่า ที่เดินธุดงค์และมีกลด ยังไม่ขัดเกลา ถ้าจะขัดเกลาจริงๆ ต้องไม่มีกลด ถ้าจะอยู่อัพโภกาสจริงๆ ต้องไม่อยู่ใต้ต้นไม้ ไม่อยู่ใต้ร่ม ไม่อยู่ใต้เงื้อมเขาใดๆ ด้วย ต้องอยู่โล่งแจ้งจริงๆ อย่างนี้จึงจะขัดเกลา ถ้ายังอยู่ในกลด ผมว่ายังติดในกลดอยู่ กลด ก็คล้ายๆ กุฏิเคลื่อนที่นั่นเอง
แนวทางเจริญวิปัสสนา เล่ม ๑๘๒ ตอนที่ ๑๘๑๑ – ๑๘๒๐
เรียบเรียงอักษรให้อยู่ในรูปแบบหนังสือ โดยมีเนื้อหาใจความสำคัญครบถ้วน
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1752
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1753
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1754
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1755
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1756
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1757
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1758
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1759
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1760
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1761
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1762
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1763
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1764
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1765
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1766
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1767
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1768
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1769
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1770
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1771
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1772
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1773
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1774
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1775
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1776
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1777
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1778
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1779
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1780
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1781
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1782
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1783
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1784
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1785
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1786
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1787
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1788
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1789
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1790
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1791
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1792
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1793
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1794
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1795
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1796
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1797
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1798
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1799
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1800
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1801
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1802
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1803
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1804
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1805
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1806
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1807
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1808
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1809
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1810
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1811
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1812
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1813
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1814
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1815
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1816
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1817