ปกิณณกธรรม ตอนที่ 251


    ตอนที่ ๒๕๑

    สนทนาธรรม ที่ วัดธาตุทอง

    เมษายน พ.ศ. ๒ ๕๔๕


    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้น ต้องมีการฟัง แล้วต้องการเข้าใจความต่างของสติกับสติสัมปชัญญะ ถ้าไม่เข้าใจตรงนี้ สติปัฏฐานก็ไม่เกิด แล้วเมื่อมีความเข้าใจถึงระดับที่ปรุงแต่งให้มีการระลึก สติปัฏฐานต้องมีสัมมาทิฏฐิ ไม่ใช่สติปัฏฐานลอยๆ เปล่าๆ ที่ไปรู้สภาพธรรมหนึ่งสภาพธรรมใด แต่ปกติสติปัฏฐานจะต้องมีสัมมาทิฏฐิ ความเห็นถูก มีสัมมาสังกัปปะ สัมมาวายามะ มีสัมมาสติ มีสัมมาสมาธิ ๕ เจตสิกนี้ต้องมีในที่นั้น ขาดไม่ได้เลย เพราะฉะนั้น เมื่อเวลาที่สัมมาสติเกิด ปัญญาถึงแม้ว่าจะน้อยสักเท่าไร แต่ก็ยังรู้ความต่างของขณะที่หลงลืมสติกับขณะที่สติเกิด เพราะฉะนั้น นี่จึงจะเป็นสติปัฏฐาน ไม่ใช่ว่าเรียกชื่อ สติปัฏฐาน คนนี้เข้าใจสติปัฏฐานไหม คนนั้นสติปัฏฐานเคยเกิดหรือเปล่า แต่ว่าสติปัฏฐานเกิดต้องมีปัญญาก่อนนั้นที่จะรู้เรื่องของสติปัฏฐาน และแม้ในขณะนั้นก็ต้องมีปัญญาที่รู้ว่า ขณะนั้นไม่ใช่ขณะที่หลงลืมสติ แต่ตัวสภาพธรรมกว่าจะรู้ กว่าจะค่อยๆ ประจักษ์ ศึกษา สิกขา เราจะรู้เลย การศึกษาก่อนๆ ฟังเรื่องราว แต่การศึกษาคือค่อยๆ เข้าใจลักษณะที่เป็นสภาพรู้ที่กำลังรู้ แล้วก็ลักษณะของสิ่งที่ปรากฏ ซึ่งเหมือนเดิม เป็นปกติ คือไม่สามารถจะรู้อะไรได้ ปัญญาค่อยๆ เห็นความต่าง ค่อยๆ รู้ในลักษณะของความเป็นธาตุรู้ ซึ่งมีจริงๆ เพราะว่าขณะนั้นกำลังรู้แข็ง หรือว่ากำลังรู้เสียง เพราะฉะนั้น ลักษณะของสภาพธรรมที่เป็นธาตุรู้ หรือนามธาตุ คนนั้นก็จะรู้ว่า นี่คือสิ่งที่จะต้องศึกษา สิ่งที่จะต้องเข้าใจขึ้นๆ จนกระทั่งถึงความเป็นพระอรหันต์ เป็นเสขบุคคล ก็ต้องศึกษาสิ่งต่างๆ เหล่านี้นั่นเอง ไม่ใช่ศึกษาสิ่งอื่น มีสิ่งนี้ให้ศึกษาตัวจริง ไม่ใช่ศึกษาเพียงชื่อ หรือเรื่องราว เพราะฉะนั้น ก็จะรู้ว่า วิชาการอื่นทั้งหมด ทั้งทางโลก ทั้งเรื่องของวิทยาศาสตร์ แพทยศาสตร์ อะไรทั้งหมด รวมทั้งเรื่องของสภาพธรรม เป็นการศึกษาเรื่องราว แต่ตัวจริงของธรรม ไม่มีใครรู้ ถ้าสติสัมปชัญญะไม่เกิด แล้วก็ไม่รู้ลักษณะของสภาพนั้นทีละอย่างๆ ๆ จนกระทั่งรู้ว่า ถ้าสติสัมปชัญญะไม่เกิด ก็ไม่มีหนทางที่จะรู้ลักษณะของนามธรรม และรูปธรรม แล้วถ้าไม่รู้ลักษณะที่เป็นนามธรรม รูปธรรม ก็ยังเป็นเรา อย่างไรๆ ที่คิดก็ต้องเป็นเรา ทำอะไรทั้งหมดก็ต้องเป็นเรา

    ผู้ฟัง ถึงแม้ว่าในสมัยก่อนเขาจะสามารถอธิบายให้เราเห็นว่า นามธรรมไม่ใช่รูปธรรม แตกต่างกันอย่างไร นั่นก็เป็นแค่เรื่องราวที่เขาอธิบายให้ฟัง

    ท่านอาจารย์ ถูกต้อง ที่คนฟังต้องฟังแล้วรู้ว่า ขณะนี้สภาพธรรมมี อย่าง เห็น มีใครต้องไปบอกอะไรหรือเปล่าว่า เป็นนาม เป็นรูป ต้องเรียกชื่อว่าเห็นไหม ไม่เรียกชื่อเห็น เห็นก็ทำหน้าที่เห็น นามธรรมเกิดขึ้นต้องรู้ คือ มองเห็น เวลาที่ได้ยินเสียง นามธรรมก็ต้องเกิดขึ้นได้ยินคือรู้เสียงว่า เสียงนั้นมีลักษณะอย่างนั้นๆ กำลังรู้ลักษณะของเสียงนั้น ไม่ใช่เพียงคิดว่าเสียง คงจะเป็นอย่างนี้ ไม่ใช่ เสียงจริงๆ ไม่ต้องคิดเลย สภาพของนามธรรม กำลังได้ยินเสียงนั้นชัดเจน เพราะฉะนั้น ก็รู้ว่าลักษณะของสภาพรู้ขณะนั้นไม่ใช่เรา เป็นแต่เพียงธาตุหรือสภาพธรรมที่มีจริงๆ ไม่อย่างนั้นก็ไม่มีนามรูปปริจเฉทญาณ ไม่มีวิปัสสนาญาณ ที่สามารถจะเห็นเมื่อปัญญาเจริญสมบูรณ์ ถึงกาลที่จะประจักษ์แจ้ง

    ผู้ฟัง สติปัฏฐานจะแสดงออกถึงการกระทำ และคำพูด ไม่ทราบแสดงอย่างไร

    ท่านอาจารย์ หมายความว่า ถ้าเราเข้าใจผิด คำพูดเรื่องสติปัฏฐานจะผิดหรือจะถูก

    ผู้ฟัง เข้าใจผิด ก็ต้องผิดตามไปด้วย

    ท่านอาจารย์ ใช่ คำพูดก็ต้องผิด ถ้ามีมิจฉาทิฏฐิ ความเห็นผิด วาจาจะผิดไหม การกระทำผิดไหม ต้องผิดตามไปด้วย

    ผู้ฟัง แล้วที่ว่าจะไปรู้ว่า คนโน้นว่าเจริญสติปัฏฐาน ก็ไม่อยู่ในวิสัยที่เราจะรู้ได้

    ท่านอาจารย์ ถ้าจะรู้ว่าใครมีศีล แค่วันนี้วันเดียวไม่รู้หรอก เพราะไม่มีอะไรที่จะให้ล่วงศีล ทรงแสดงไว้ว่า ต้องอยู่ด้วยกันนานๆ แล้วต้องเป็นผู้มีปัญญาด้วย บางคนต่อหน้า ถึงจะอยู่นานก็ดี ลับหลังไปนิดเดียวไม่เป็นคนนั้นไปแล้วก็ได้ เพราะฉะนั้น ต้องเป็นผู้มีปัญญาจริงๆ ถ้าจะรู้ว่าใครมีสมาธิ ก็มีความมั่นคงเวลาที่มีอันตรายเกิดขึ้น ถ้าจะรู้ว่าใครมีปัญญาก็ต่อเมื่อสนทนากัน เพราะฉะนั้น การที่เราจะรู้ว่า ใครมีความเห็นถูก เห็นผิด ระดับไหน คำพูดนั้นตรงกับสภาพธรรมแค่ไหน หรือไม่ตรง เช่น ถ้าบอกว่า ธรรมทั้งหลายเป็นอนัตตา หนทางที่จะให้คนอื่นเกิดปัญญาก็ต้องเป็นแนวของอนัตตาโดยตลอด จะเอาอัตตาไปใส่ ก็ไม่ตรงกับอนัตตา เพราะว่าการที่จะรู้ความเป็นอนัตตา เมื่อได้ฟังเข้าใจขึ้น ความเข้าใจความเป็นอนัตตาย่อมมั่นคงขึ้น เมื่อมั่นคงแล้ว ก็ไม่มีตัวอยากที่จะให้สติเกิด ที่จะให้รู้นั่น รู้นี่ แต่พอมีปัจจัยที่สติเกิด คนนั้นรู้ได้ทันทีในความเป็นอนัตตาของสติซึ่งเกิดเพราะเหตุปัจจัย และการรู้ว่าสภาพธรรมทุกขณะเกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัย จะไม่ถูกต้อง หรือว่าถูกต้อง ในเมื่อรู้ว่าเกิดเพราะไม่ใช่เราต้องการ แต่เพราะมีปัจจัยจึงเกิดขึ้น แต่ถ้าบอกให้ทำอย่างนี้ ให้ทำอย่างนั้น อันนั้นถูกต้องหรือเปล่า จะทำให้คนนั้นมีความซาบซึ้ง หรือว่ามั่นคงในความเป็นอนัตตาของสภาพธรรมขึ้นอีกหรือเปล่า แต่ก็จะกลบความเป็นอนัตตา ไม่มีทางเลย ต้องเป็นเรื่องที่เข้าใจจริงๆ และต้องอดทนที่จะรู้ว่า สภาพธรรมขณะนี้เป็นอนัตตาอย่างไร สัมมาสติต้องเกิดแน่ เมื่อมีเหตุปัจจัย แต่ถ้าไม่มีเหตุปัจจัยจะไปพยายามสักเท่าไร ก็ไม่ใช่สัมมาสติ และก็เคลื่อนไปทุกที ไม่สามารถที่จะเข้าใจความเป็นอนัตตาได้ แม้โดยขั้นการฟัง อย่างคุณศุภัสสร ขอคำแนะนำใช่ไหม ถ้าให้ไปเป็นอย่างไร เพิ่มความเป็นอัตตา หรือเพิ่มว่าเข้าใจในความเป็นอนัตตา แม้เพียงเท่านี้ก็ต้องรู้ว่า เป็นประโยชน์หรือไม่เป็นประโยชน์ ทำให้เข้าใจผิด หรือทำให้เข้าใจถูก ถ้าให้คุณศุภัสสรไปทำได้ดี ดีใจ ยิ่งไปกันใหญ่เลยใช่ไหม หมดเลย อนัตตา ไม่เหลือแล้ว ทำได้

    ผู้ฟัง จากที่หนูศึกษามาจากท่านอาจารย์ มีธรรมเตือนใจหนูอยู่ข้อหนึ่ง คือศึกษาเพื่อละ ถ้าเมื่อไรที่หนูรู้สึกว่า หนูเริ่มที่จะเข้าใจเพิ่มขึ้นแล้วยินดี หรืออะไรอย่างนี้ หรือว่าต้องการผลเล็กน้อยก็จะเริ่มรู้สึกตัวว่าไม่ใช่ทางที่ละ

    ท่านอาจารย์ แล้วหนทางนี้จะประคับประคองไปตลอด ถ้าตราบใดที่ยังมีโลภะจะกั้นทันที แม้แต่วิปัสสนาญาณทุกขั้น ถ้ามีโลภะเข้าไปแทรกเมื่อไร ก็คือกั้นได้ทันที

    ผู้ฟัง จากที่ผมถามอาจารย์ท่านตอนแรกๆ ที่ว่า ผมเคยสนทนากับบางคน เขาบอกว่า ธรรมของพระพุทธเจ้าลึกซึ้งเกินไป แต่เขาจะไม่พิจารณา แต่จะเชื่อทันที เพราะว่าปัญญาเขาไม่สามารถจะรู้ได้

    ท่านอาจารย์ แล้วเขาไม่เจริญปัญญาหรือ คือ ไม่รู้ ก็ไม่รู้ไปเรื่อยๆ หรือว่าเมื่อไรจะมีปัญญาขึ้นมาบ้าง

    ผู้ฟัง คิดว่าก็คงไม่รู้ต่อไป

    ท่านอาจารย์ หมายความว่าเขาไม่สนใจในเรื่องของปัญญา

    ผู้ฟัง ใช่

    ท่านอาจารย์ คนเราเกิดมาต่างกันหรือเหมือนกัน

    ผู้ฟัง ต่างกัน

    ท่านอาจารย์ ถ้าชาตินี้ไม่มีปัญญา ชาติหน้าเป็นอย่างไร

    ผู้ฟัง เหมือนในชาตินี้

    ท่านอาจารย์ ชาติต่อๆ ไป ใช่ ก็ต้องเป็นอย่างนั้น

    ผู้ฟัง ชาตินี้ไม่มีปัญญา ชาติหน้ายิ่งแย่ใหญ่ ยิ่งแย่กว่าอีก มันไม่มีขึ้นเลย มีแต่ลงมีแต่ลง

    ท่านอาจารย์ ลองคิดถึงที่ผ่านมาแล้วก็แล้วกัน เพราะฉะนั้น ไม่มีคำถามเรื่องนาน เรื่องอดทน เรื่องค่อยๆ เกิด ค่อยๆ รู้ ค่อยๆ ละ จะทันทีได้อย่างไร สะสมมาจนกระทั่งมืดมิดสนิท แล้วถึงเวลาจะให้สว่างวูบวาบขึ้นมา เป็นไปได้อย่างไร

    ผู้ฟัง อยู่เฉยๆ ก็ยังเบื่อเลย ไม่มีอะไรทำก็เบื่อ หรือมีอะไรทำก็เบื่อ

    ท่านอาจารย์ เพราะมีเรา ถ้ารู้ว่าเบื่อเป็นสภาพธรรมอย่างหนึ่ง คราวนี้จะไม่มีเบื่อ เห็นก็เป็นสภาพธรรมอย่างหนึ่ง มีงานทำมากมาย แล้วก็เป็นปัญญาด้วยที่รู้จริงๆ ก็แค่เห็น แล้วก็แค่เบื่อ ทุกอย่างเป็นธรรมหมด

    ผู้ฟัง ให้รู้ว่าเบื่อ ไม่ต้องไปยุ่งกับความเบื่อนั้นเลยหรือ

    ท่านอาจารย์ ใครรู้ นี่ เรื่องของธรรมต้องฟังละเอียด ใครรู้

    ผู้ฟัง ผู้ที่มีอาการเบื่อเกิดขึ้น

    ท่านอาจารย์ เรารู้ ต้องตอบตรงๆ เลย มีความเป็นตัวตน เพราะฉะนั้น ก็ต้องเบื่อ เมื่อมีความเป็นตัวตน แล้วจะพ้นจากความเบื่อไม่ได้ ความเบื่อนั้นก็กลายเป็นเราอีก เราเบื่ออีก เราไม่เบื่ออีก เราทั้งนั้น เมื่อไรจะรู้ความจริงว่า ไม่ใช่เราสักอย่างเดียว ทุกอย่าง ถ้าไม่มีเหตุปัจจัยก็ไม่เกิด เมื่อเกิดก็หมายความว่ามีเหตุปัจจัยแล้วก็เกิด เกิดแล้วก็คงอยู่ต่อไปไม่ได้ เกิดแล้วก็หมด เดี๋ยวนี้เบื่อหรือเปล่า เบื่อเมื่อกี้นี้หายไปไหน ถ้ามาอีกก็คือเกิดอีก ไม่ใช่อันเก่าแล้ว

    ผู้ฟัง อาการเดียวกัน ไม่ใช่ว่าของเก่าเกิดซ้ำ

    ท่านอาจารย์ ถูกต้อง ไม่มีของเก่ามาเกิดได้เลย เพราะว่าทุกอย่างเกิดเพราะเหตุปัจจัย ดับไปแล้ว เอากลับมาได้ไหม เสียงที่ดับไปแล้ว ไปหาที่ไหน ให้เอากลับคืนมาได้ไหม

    ผู้ฟัง ไม่ได้เลย

    ท่านอาจารย์ ทุกอย่างเหมือนอย่างนั้น มี แต่ไปตลอด พอเกิดมาจิตเกิด แล้วก็ไป ไป ไป ไป ทุกขณะไม่เหลือ ทุกขณะ นี่กำลังไป เดี๋ยวไปทางตา เดี๋ยวไปทางหู เดี๋ยวไปทางจมูก เดี๋ยวไปทางลิ้น ทางกาย ทางใจ คิดนึกไปต่างๆ ไปทุกขณะ ไปไม่หยุด ตราบใดที่จิตเกิด เกิดแล้วต้องไป

    ผู้ฟัง หายไปไหน

    ท่านอาจารย์ ดับเลย ไม่กลับมาอีกเลย ก็เสียงหายไปไหน

    ผู้ฟัง ก่อนที่เสียงจะเกิดก็ไม่รู้ว่าเสียงอยู่ที่ไหน พอดับลงไปก็ไม่รู้ว่าหายไปไหน

    ท่านอาจารย์ แต่พระพุทธเข้าทรงแสดงเหตุเกิดของธรรมทุกอย่าง

    ผู้ฟัง เกิด เรื่องลอยๆ ไม่ได้

    ท่านอาจารย์ ไม่ได้เลย นั่นคือคนไม่รู้ เกิดขึ้นลอยๆ คือคนไม่รู้ คนรู้จะไม่บอกว่าเกิดขึ้นลอยๆ ต้องมีเหตุ จึงดับเหตุที่จะไม่ให้เกิดได้ ถ้าไม่รู้เหตุ อย่างไรๆ ก็ดับไม่ได้ เพราะว่าไม่รู้ว่าเกิดมาเพราะอะไร แต่พอรู้เหตุก็รู้ว่าดับเหตุ เมื่อดับเหตุแล้ว อย่างอื่นอะไรๆ ก็เกิดไม่ได้ทั้งนั้น เพราะดับเหตุหมดแล้ว แต่ทีนี้เราไม่รู้เหตุ เราก็สร้างเหตุไปเรื่อยๆ สร้างเหตุไปเรื่อยๆ แล้วก็ดับก็ไม่ได้ เพราะกำลังสร้างอยู่เรื่อยๆ ก็ต้องเกิดไปเรื่อยๆ

    ผู้ฟัง เมื่อธรรม เกิดขึ้นเอง โดยไม่มีใครไปทำให้เกิด แล้วจะเอาอะไรไปดับ

    ท่านอาจารย์ ปัญญากับอวิชชาไม่เหมือนกัน แล้วก็ไม่ได้เอาด้วย ถ้าเอาก็ต้องไปหามาว่าอยู่ที่ไหนจะได้เอามาได้ใช่ไหม เราคงไม่ต้องคิดไกล ไปจนกระทั่งถึงว่า เราจะได้เป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า เพียงศึกษาพระธรรมที่ทรงแสดงไว้ พอไหม

    ผู้ฟัง กว่าจะเข้าใจ ก็ต้องใช้เวลาเหมือนกัน

    ท่านอาจารย์ ยิ่งถ้าจะเป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าเอง ยิ่งมากกว่านี้ มากนักหนาเลยที่จะตรัสรู้ด้วยพระองค์เอง นี่เพียงแค่สาวก ท่านพระสารีบุตรก็สาวก ผู้มีปัญญาเลิศขนาดนั้นก็ยังเป็นสาวก แล้วเราเป็นใคร จะเอาอย่างไรดี


    สนทนาธรรมที่วิทยาลัยสาธารณสุขสิรินธร

    จังหวัดพิษณุโลก พฤษภาคม พ .ศ. ๒๕๔๕

    ท่านอาจารย์ ได้ทราบว่าทุกท่านที่นี้ก็เป็นผู้ที่อยู่ในวงของการศึกษา แล้วก็สังคม เกี่ยวกับเรื่องของจริยศึกษา ซึ่งเป็นสิ่งที่จำเป็นมาก ที่เราจะต้องเป็นผู้ที่ตรง คือว่ามีความเข้าใจในสิ่งที่เราทำงานหรือร่วมงานในด้านนี้ คือในด้านจริยศึกษา จะเห็นได้ว่า เราก็มีพุทธศาสนาในหนังสือศีลธรรมตอนเป็นเด็ก ไม่ทราบสมัยนี้ยังมีอยู่หรือเปล่า หรือว่าต่อไปจะมีหรือเปล่า ก็ไม่ทราบ แต่ว่าทุกชีวิตจะขาดจริยศึกษาไม่ได้ เพราะเหตุว่าเป็นเรื่องของความประพฤติทางกาย ทางวาจาที่ดีงามของสังคม ถ้าสังคมไม่มีการประพฤติที่ดีงามทางใจ ทางวาจา ทางกาย ก็จะทำให้สังคมอยู่กันโดยไม่สงบสุขแน่ แต่การที่เราจะมีสังคมที่ดี แล้วก็มีสิ่งที่ได้ทราบมาว่า ได้รับฟังเรื่องของทาน เรื่องของศีล เรื่องของภาวนา ถ้าไม่มีความเข้าใจที่ถูกต้องมั่นคงจริงๆ ไม่ว่าจะการสอน หรือว่าในความประพฤติของเราจะไม่มั่นคง เพราะเหตุว่าแม้แต่การที่จะให้ความรู้คนอื่น ถ้าเราเป็นผู้ที่ไม่เข้าใจ ไม่รู้จริงๆ เราก็ให้ไม่ได้ อาจจะมีแต่เปลือก แต่ว่าแก่นจริงๆ ที่เป็นรากที่จะให้มีความประพฤติทางกาย ทางวาจาที่ดีขึ้นๆ ต้องอาศัยปัญญา คือ ความเห็นถูก ความเข้าใจถูก ซึ่งในพระพุทธศาสนาทรงแสดงไว้ทุกระดับขั้น เพราะว่าเป็นเรื่องของชีวิตจริงๆ ทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ทุกวัน ไม่ว่าเราจะอยู่ที่ไหนก็ตาม

    เวลาที่เราฟังธรรม หรือว่าจะเกี่ยวข้องกับจริยศึกษาก็ตาม เป็นเรื่องเดียวกันหรือว่าคนละเรื่อง อันนี้น่าคิด ใช่ไหม เป็นเรื่องเดียวกันหรือคนละเรื่อง พระพุทธศาสนากับจริยศึกษา เป็นเรื่องเดียวกันหรือว่าคนละเรื่อง

    ธรรมเป็นเรื่องที่ต้องคิดไตร่ตรอง แล้วเราก็จะเป็นผู้ที่ตรง แล้วก็มีเหตุผล คงได้ยินว่า พระผู้มีพระภาคทรงแสดงธรรม ธรรมมีอะไรบ้างที่ทรงแสดง นี่เป็นสิ่งที่ถ้าไม่ศึกษาจริงๆ จะไม่ทราบเลยว่า ทรงแสดงทุกอย่างที่มีจริง อย่างเรื่องหัวข้อที่จะพูด เป็นเรื่องของจิต เจตสิก รูป นิพพาน ก่อนอื่นพระผู้มีพระภาคทรงแสดงธรรม จิตเป็นธรรมหรือเปล่า น่าคิดไหม เป็น เจตสิก นี่คงเป็นชื่อใหม่ บางท่านอาจจะไม่เคยได้ยินเลย เพราะว่าในหนังสือเรื่องที่เกี่ยวกับจิตวิทยา หรือปรัชญา จะมีจิต แต่ไม่มีเจตสิก แต่ในพระพุทธศาสนาครบถ้วน เรื่องของสภาพธรรมที่มีจริงๆ เพราะฉะนั้น ธรรมที่ทรงแสดงกว้างขวางมาก ไม่ใช่แต่เฉพาะในโลกนี้ ทั่วจักรวาล ทุกแห่ง ธรรมครอบคลุมไปถึง เพราะเหตุว่าเป็นการตรัสรู้โดยพระปัญญาคุณของพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าที่ทรงแสดงสัจธรรม คือ ความจริงที่มีอยู่ เมื่อเป็นความจริงก็ย่อมจะพิสูจน์ได้ทุกกาลสมัย ถ้าเป็นสิ่งที่ไม่จริง เดี๋ยวก็เปลี่ยน แต่ถ้าเป็นสัจธรรม เป็นความจริง เปลี่ยนไม่ได้เลย เมื่อ ๒,๕๐๐ กว่าปีที่ทรงแสดง ความจริงเป็นอย่างไร ก่อนๆ นั้นอีก หรือว่าต่อไปข้างหน้าอีกนานแสนนาน ความจริงนี้ไม่เปลี่ยน นี่คือความหมายของธรรม ธรรมคือสิ่งที่มีจริงทั้งหมด แล้วก็ผู้ที่ทรงแสดงธรรมได้ครบถ้วน โดยละเอียดคือพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ซึ่งได้ทรงแสดงพระธรรมถึง ๔๕ พรรษา มีการทรงจำสืบต่อมาจนถึงเรา เป็นพระไตรปิฎก คือ พระวินัยปิฎก พระสุตตันตปิฎก พระอภิธรรมปิฎก ทั้ง ๓ ปิฎก มีคุณค่ามากมาย เปรียบไม่ได้เลย ถ้าได้ศึกษาจริงๆ เพราะว่าพระวินัยปิฎก ส่วนใหญ่ก็เข้าใจกันว่า เป็นเรื่องของความประพฤติของพระภิกษุทางกาย ทางวาจา สำหรับเพศบรรพชิต ลองคิดดู บรรพชิตต่างกับคฤหัสถ์ ทางไหน ไม่ใช่เพียงแต่เฉพาะเครื่องนุ่งห่มที่แสดงเพศของบรรพชิต แต่ต้องเป็นใจ ที่ถึงกัน สามารถสละ ละความติดข้องในการครองเรือนสู่เพศบรรพชิต ที่จะอบรมเจริญปัญญาตามที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดง จนถึงกาลที่สามารถที่จะรู้แจ้งอริยสัจธรรมถึงความเป็นพระอรหันต์ เพราะเหตุว่าถ้าไม่ถึงความเป็นพระอรหันต์ ไม่ต้องบวชก็ได้ วิสาขามหาอุบาสิกาก็ไม่ได้บวช ท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐีก็ไม่ได้บวช แต่ว่าท่านก็รู้แจ้งอริยสัจธรรมได้

    การรู้แจ้งอริยสัจธรรมสามารถที่จะรู้แจ้งได้ จนถึงระดับขั้นพระอนาคามีบุคคล การรู้แจ้งอริยสัจธรรมที่เป็นพระอริยเจ้าที่ดับกิเลส มี ๔ ขั้น ขั้นแรก คือ ขั้นพระโสดาบันบุคคล ขั้นที่ ๒ คือ พระสกทาคามีบุคคล ขั้นที่ ๓ คือ พระอนาคามีบุคคล ขั้นที่ ๔ คือ พระอรหันต์ เพราะฉะนั้น เวลาที่เราจะพูดถึงพระโสดาบัน เรามักจะใช้ในความหมายของพระอรหันต์ เช่นบางคนอาจบอกว่า ฉันไมใช่พระโสดาบัน เหมือนกับคนที่ไม่มีกิเลสเลย แต่คนที่ไม่มีกิเลสเลย ต้องเป็นถึงพระอรหันต์ พระโสดาบันก็ยังมีกิเลสที่ยังต้องละต่อไป ถึงขั้นพระสกทาคามีก็ยังที่มีกิเลสที่จะต้องละต่อไป ถึงขั้นพระอนาคามีก็ยังมีกิเลสที่จะต้องละต่อไป จนถึงความเป็นพระอรหันต์ นี่แสดงให้เห็นว่า การที่เราจะจากความเป็นปุถุชน ได้ยินได้ฟังพระธรรม แล้วก็ประพฤติปฏิบัติตาม จนกว่าจะรู้แจ้งอริยสัจธรรมได้ ไม่เร็วแน่ๆ เพราะว่ากิเลสซึ่งทุกคนมี มีมาก การละกิเลส เป็นสิ่งซึ่งต้องเป็นปัญญาจริงๆ ถ้าไม่ใช่ปัญญาไม่สามารถจะละกิเลสได้เลย เพราะฉะนั้น สำหรับอุบาสก อุบาสิกาซึ่งมีความสนใจในเรื่องของจริยธรรม ไม่ว่าจะเป็นครู หรือจะเป็นอาจารย์ พยาบาล อย่างไรก็ตาม หรือแม้แต่ตัวเอง ก็น่าที่จะคิดว่า พระธรรมมีประโยชน์ สามารถที่จะทำให้เรามีคุณความดี มีกายวาจาใจที่ดีขึ้นได้ยิ่งกว่าคำสอนของคนอื่น เพราะว่าคำสอนของคนอื่น เราอาจจะไปซื้อหนังสือตำราอะไรมาสักเล่มหนึ่ง บอกวิธี มีเพื่อนจะทำอย่างไรถึงจะมีคนรัก จะทำอย่างไรถึงจะสำเร็จประโยชน์ แต่ว่านั่นเป็นเพียงวิธีการ แต่ไม่ใช่ปัญญาที่สามารถที่จะเข้าใจตัวเรา จากการที่เราไม่เคยรู้จักตัวเราเลย ถ้าเราไม่รู้จักตัวเรา เราจะรู้จักคนอื่นได้ไหม เราเพียงแต่คิด คาดคะเน แล้วส่วนใหญ่ก็จะมองเห็นกิเลสของคนอื่น แต่กิเลสของเราไม่เคยเห็น วันหนึ่งๆ คนนั้นก็ไม่ดี คนนี้ก็ไม่ดี แต่ตัวเราไม่ดีบ้างขณะไหน เป็นสิ่งที่เราลืม เพราะฉะนั้น การที่เราจะมีกายวาจาใจที่ดีขึ้น ต้องเพราะรู้ความจริงของสภาพธรรมซึ่งทรงแสดงไว้โดยละเอียด

    สำหรับเรื่องของพระสูตร เป็นเรื่องที่ทรงแสดงธรรมที่มีสถานที่ต่างๆ บุคคลต่างๆ ข้อความต่างๆ สำหรับปิฎกสุดท้ายคือ พระอภิธรรมปิฎก ไม่มีชื่อของสัตว์ บุคคล เป็นเรื่องของสภาพธรรมที่มีจริงๆ เพราะฉะนั้นความต่างกันของ ๓ ปิฎก โดยชื่อ พระวินัยปิฎก ส่วนใหญ่เรื่องของบรรพชิต พระสุตตันตปิฎกเป็นข้อความธรรมที่มีสัตว์บุคคลต่างๆ เช่น พระเจ้าพิมพิสาร พระเจ้าปเสนทิโกศล หรือว่าท่านพระอานนท์ ท่านพระสารีบุตร เป็นต้น แต่เมื่อถึงพระอภิธรรมปิฎก เป็นเรื่องของสภาพธรรมที่มีจริง โดยไม่ต้องมีชื่อใดๆ เลยทั้งสิ้น นี่ก็แสดงให้เห็นว่า ถ้าเรามีความเข้าใจใน ๓ ปิฎกว่า เพราะมีธรรมจึงได้มี ๓ ปิฎก ถ้าไม่มีธรรม ไม่มีสภาพธรรมที่มีจริงๆ ซึ่งเป็นปรมัตถธรรมหรืออภิธรรมซึ่งเป็นปิฎกสุดท้าย พระวินัยปิฎก พระสุตตันตปิฎก หรือสิ่งใดๆ ก็มีไม่ได้เลย เพราะฉะนั้น อาจจะยังไม่คุ้นหูกับคำว่า อภิธรรมปิฎก ใช่ไหม แต่คุ้นหูกับอภิธรรม มีใครไม่เคยได้ยินคำนี้บ้างไหม อภิธรรม ตามหน้าหนังสือพิมพ์ มีแล้ว สวดพระอภิธรรมในงานศพ ได้ยินแต่ผ่านไป ไม่รู้ว่าจริงๆ แล้วพระอภิธรรมคืออะไร แต่ตามความเป็นจริง พระอภิธรรมเป็นการแสดงถึงการตรัสรู้ พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ประเพณีของไทยเราเพื่อที่จะรักษามรดก คือ การที่จะศึกษาคัมภีร์นี้ให้เข้าใจ ไม่ให้สูญหาย ก็นำมาสวดในการทำบุญในงานศพ เพื่อวันหนึ่งเรามีโอกาสจะได้ศึกษาพระอภิธรรม หรือว่ามีโอกาสที่จะได้เข้าใจพระอภิธรรม มีโอกาสที่จะได้เข้าใจคำสอนของพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า และรู้จักพระคุณของพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้ายิ่งขึ้น ถ้าถามผู้ที่ไม่ได้ศึกษาธรรม พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้ามีพระคุณอย่างไร มีใครจะตอบได้ไหม พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงมีพระคุณอย่างไร ถ้าไม่ศึกษาเราจะตอบเพียงเล็กน้อย เท่าที่เราคิด ซึ่งเป็นผู้ที่ไม่มีผู้ใดเปรียบปาน ทรงมีพระปัญญาคุณ พระบริสุทธิคุณ พระมหากรุณาคุณ แต่พระปัญญาคุณรู้อะไร ที่ทำให้พระองค์ทรงเป็นผู้ที่มีพระบริสุทธิคุณ ถึงความเป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ถ้าไม่ศึกษาก็ไม่ทราบ และพระมหากรุณาคุณ คงจะไม่ทราบว่าเป็นผู้ที่ช่วยเหลือบุคคลอื่น วันหนึ่งๆ มากกว่าบุคคลใดทั้งสิ้น มีการบรรทมพักผ่อนน้อยมาก นอกจากนั้นก็เป็นเวลาที่ตั้งแต่ตื่น ก็พิจารณาว่า จะไปแสดงธรรม หรือว่าจะไปอนุเคราะห์บุคคลใด แม้ว่ายังไม่ถึงเวลาบิณฑบาต ชาวบ้านอาจจะยังไม่พร้อม

    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 97
    2 พ.ย. 2567