ปกิณณกธรรม ตอนที่ 252
ตอนที่ ๒๕๒
สนทนาธรรม ที่ วิทยาลัยการสาธารณสุขสิรินธร จ.พิษณุโลก
พฤษภาคม พ.ศ.๒ ๕๔ ๕
ท่านอาจารย์ นอกจากนั้นก็เป็นเวลาที่ตั้งแต่ตื่น ก็พิจารณาว่า จะไปแสดงธรรม หรือว่าจะไปอนุเคราะห์บุคคลใด แม้ว่ายังไม่ถึงเวลาบิณฑบาต ชาวบ้านอาจจะยังไม่พร้อมก็ได้เสด็จไปเพื่อที่จะได้สนทนาธรรมกับบุคคลนั้น เพื่อที่จะให้เขาเข้าใจว่า อะไรเป็นสิ่งที่มีจริงๆ ที่ถูกต้อง เพื่อว่าแม้วันนี้เขายังไม่สามารถจะเข้าใจธรรมได้โดยตลอดทั้งหมด แต่เมื่อได้ฟังครั้งหนึ่ง ต่อไปเขาก็คงจะได้ฟังอีก แล้วก็คงจะเข้าใจอีก เพราะว่าแต่ละคนต้องมีการเริ่มต้น ถ้าเราไม่เริ่มต้นเลย เราจะไปเข้าใจพระธรรมสูงๆ ได้ไหม ในเมื่อพระธรรมต้นๆ เรายังไม่เข้าใจเลย เพราะฉะนั้น การฟังพระธรรมจากพระไตรปิฎก จะต้องเริ่มจากครั้งที่ ๑ เป็นครั้งที่ ๒ ครั้งที่ ๓ จนกระทั่งสามารถที่จะรู้จักพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าโดยพระปัญญาคุณ พระบริสุทธิคุณ และพระมหากรุณาคุณ ที่ทรงแสดงพระธรรม แม้บุคคลนั้นจะอยู่ไกลแสนไกล แต่คนนั้นสามารถที่จะรู้แจ้งอริยสัจธรรมได้ เสด็จไปโปรด ลองคิดว่า ยุคนี้สมัยนี้มีใครไหม สักคนเดียวที่สามารถที่จะฟังธรรมแล้วเข้าใจจนถึงรู้แจ้งอริยสัจธรรม ก็เสด็จไปโปรด แสนไกล นี่ก็เป็นสิ่งซึ่งถ้าเราได้อ่านพระไตรปิฎก ได้ฟังพระธรรมก็จะทำให้เห็นพระปัญญาคุณ พระบริสุทธิคุณ และพระมหากรุณาคุณมากขึ้น เพียงได้ยินคำว่า “อภิธรรม” ชักจะเบื่อหรือยัง
สุภีร์ คำว่า อภิธรรม คำว่า ธรรม คำเดียว หมายถึงสิ่งที่มีอยู่จริง ในโลกเรานี้ ที่เราเห็นๆ กันอยู่ หรือว่าสัมผัสอะไรกันอยู่อย่างนี้ มีทั้งสิ่งที่มีจริงด้วย ทั้งสิ่งที่ไม่มีจริงด้วย แต่ถ้าเป็นเรื่องของธรรมจะกล่าวถึงเฉพาะสิ่งที่มีจริงเท่านั้น สิ่งที่มีจริงจะเรียกชื่ออะไรก็ตาม หรือไม่เรียกชื่ออะไรก็ตาม สิ่งนั้นก็ยังคงมีอยู่เสมอ สิ่งนั้นก็ยังเป็นอย่างนั้นแหละ อย่างนี้ สิ่งนี้เรียกว่า ธรรม ซึ่งเดี๋ยวท่านอาจารย์ก็คงจะกล่าวว่าธรรมแต่ละประการๆ มีอะไรบ้าง มีข้อสังเกตอย่างไร ซึ่งคำว่า ธรรม คำเดียวหมายความถึงสิ่งที่มีอยู่จริงๆ ส่วนคำว่า อภิ เป็นการแสดงธรรมอีกนัยหนึ่ง ที่แสดงโดยละเอียดมาก เพราะเหตุว่าพระวินัยปิฎกแสดงข้อปฏิบัติทางกาย ทางวาจา โดยเฉพาะเน้นที่เพศบรรพชิต คือพระภิกษุ แต่พระสูตรก็แสดงตามกาล ตามบุคคล ที่แต่ละอัธยาศัยต่างๆ กัน ก็จะแสดงเป็นชื่อบุคคลนั้น บุคคลนี้ แต่ถ้าเป็นการแสดงในพระอภิธรรม เป็นการแสดงนัยที่ละเอียดกว่านั้น คำว่า อภิ แปลว่า ละเอียด ละเอียดยิ่งกว่าพระวินัย แล้วก็พระสูตร เพราะเหตุว่าจริงๆ แล้วสิ่งที่มีจริงๆ ที่เราควรจะรู้ว่ามีอะไรบ้างจริงๆ แสดงไว้ในพระอภิธรรมทั้งหมด ฉะนั้น คำว่า อภิ ธรรม หมายถึง ธรรมที่ละเอียดลึกซึ้งอย่างยิ่ง เมื่อเราเข้าใจแล้วก็จะเข้าใจความจริงว่า ความจริงที่มีอยู่นั้นเป็นอย่างไร จริงอยู่ว่า ธรรม คือ สิ่งที่มีอยู่จริง แต่ว่าเวลาแสดงใน อภิธรรม คือแสดงสิ่งที่มีอยู่จริงนั่นแหละโดยละเอียดอย่างยิ่งเลย อันนี้เป็นความหมาย
ท่านอาจารย์ นอกจากคำว่า อภิธรรม ก็ยังมีคำว่า ปรมัตถธรรม คู่กันด้วย
สุภีร์ คำว่า ปรมัตถธรรม ธรรม เราทราบความหมายแล้วว่า เป็นสิ่งที่มีจริงมีลักษณะเป็นของตนๆ ธรรม ส่วนคำว่า ปรมัตถธรรม มาจาก ๓ คำรวมกัน คือ ปรม บวกกับ อัตถ บวกกับ ธรรม คำว่า ปรม แปลว่า ยิ่ง หรือว่า ไม่มีการวิปริต แปรปรวนไปเป็นอย่างอื่น คือ สภาพธรรมเป็นอย่างไรก็เป็นอย่างนั้น อย่างเช่น ยกตัวอย่าง อย่างหนึ่งเวลาเราพูดถึง เช่น เราโกรธขึ้นมา ความโกรธจะเปลี่ยนให้เป็นอย่างอื่นก็ไม่ได้ อย่างนี้เรียกว่า ปรม ก็คืออย่างยิ่ง หรือว่าไม่มีการเปลี่ยนแปลงเป็นอย่างอื่น ส่วนคำว่า อัตถ หมายถึงมีลักษณะ สภาพธรรมที่มีจริง สภาพธรรมที่มีจริงจะมีลักษณะของเขาเอง สิ่งที่ไม่มีจริง จะไม่มีลักษณะ แต่ว่าสิ่งที่มีจริงจะมีลักษณะ ฉะนั้นจึงมีคำว่า อัตถ ปรม นี่คืออย่างยิ่ง ไม่เปลี่ยนแปลง อัตถ คือลักษณะ ธรรม คือ ธรรมที่เรากำลังจะกล่าวถึงนี้ ฉะนั้น คำว่า ปรมัตถธรรม เวลาแปลรวมความทั้งหมดแล้ว จะได้ความว่า ธรรมที่มีลักษณะ ไม่วิปริตเปลี่ยนแปลงเป็นอย่างอื่น จะใช้คำพูดหรือไม่ใช้คำอะไรเลยก็ได้ ธรรมก็ยังเป็นธรรมอยู่อย่างนั้นแหละ
ท่านอาจารย์ มีอีกคำหนึ่ง สภาวธรรม ก็คงจะได้กล่าวถึงแล้ว แต่ขอให้เน้นอีกครั้งหนึ่ง
สุภีร์ คำว่า สภาวธรรม มาจากคำว่า สันโต ภาโว เท่ากับ สภาโว สันโต แปลว่า มีอยู่ ภาโว แปลว่าเป็นอยู่ ธรรมที่มีอยู่เป็นอยู่ มีอยู่เป็นอยู่ ซึ่งก็คงจะไม่ได้มีอยู่เป็นอยู่ ในขณะอื่น ขณะไหน คือมีอยู่เป็นอยู่ในขณะนี้ นี่เอง เรียกว่า สภาวะ
ท่านอาจารย์ อย่างเห็นอย่างนี้ มีจริงๆ ไหม มีจริง เป็นธรรมหรือเปล่า คือสิ่งใดที่มีจริง ซึ่งดูเหมือนธรรมดาเหลือเกินในชีวิตประจำวัน แต่ธรรม คือ ธรรมดาที่พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงตรัสรู้ทั้งหมด ตั้งแต่เกิดมามีใครมีอะไรบ้าง นอกจากเห็น ได้ยิน ได้กลิ่น ลิ้มรส รู้สิ่งที่กระทบสัมผัส คิดนึก เมื่อวานนี้ ปีก่อน หรือเมื่อไร ชาติไหนก็ตาม แต่จะพ้นจาก ๖ ทางนี้ไม่ได้เลย คือเพราะมีตาจึงเห็น มีหูจึงได้ยิน มีจมูกจึงได้กลิ่น มีลิ้น จึงลิ้มรส มีกายจึงกระทบสัมผัสสิ่งที่กำลังปรากฏ แล้วใจก็คิดนึกถึงแต่เรื่องที่เห็น เรื่องที่ได้ยิน คิดถึงกลิ่น คิดถึงรส คิดถึงกระทบสัมผัส นี่คือการคิดนึก ถ้ามีเพียงเห็นแล้วไม่คิดเลย จะมีอะไรต่อไปไหม จะมีเรื่องราวอะไรต่อไปไหม เพราะฉะนั้น จะเห็นได้ว่าธรรมเป็นสิ่งที่มีจริง แล้วก็เป็นปรมัตถธรรม หมายความว่าไม่สามารถที่จะเปลี่ยนแปลง ลักษณะของสภาพนั้นได้เลย แม้พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงตรัสรู้ก็ทรงเคารพธรรม ไม่ใช่ว่าพระองค์จะไปแก้ไข ไปเปลี่ยนแปลงโลภะให้เป็นโทสะ หรือว่าอะไรต่างๆ เหล่านั้นได้เลยสักอย่างเดียว แต่ว่าได้ตรัสรู้สภาพธรรมตามความเป็นจริงอย่างไร ทรงแสดงอย่างนั้น
ผู้ที่เข้าใจธรรมก็จะรู้ว่า ธรรมนั้นเป็นปรมัตถธรรม แล้วปรมัตถธรรม หรืออภิธรรมเป็นคัมภีร์ที่ยิ่งใหญ่ เพราะเหตุว่าเป็นการกล่าวถึงเรื่องสภาพธรรมทั้งหมด โดยละเอียด สิ่งที่มีจริงๆ ทรงแสดงโดยละเอียด แล้วจะให้ตัดอะไรทิ้ง ผู้ที่บอกว่ารู้จักธรรม แต่ไม่รู้จักปรมัตถธรรม หรือไม่รู้จักอภิธรรม พูดไม่ถูก เพราะรู้จักธรรมก็เข้าใจถูกต้องว่า ธรรมเป็นธรรม เป็นปรมัตถธรรม เป็นอภิธรรม ไม่มีใครสามารถสร้างธรรมได้เลย ธรรมทุกอย่างในขณะนี้ที่เกิด พระผู้มีพระภาคทรงตรัสรู้เหตุปัจจัยที่ทำให้สภาพธรรมในขณะนี้เกิดขึ้นเป็นไปทุกๆ ขณะ แล้วจะไปตัดอะไรออก วันนี้จะตัดอะไร ตัดเห็น หรือตัดได้ยิน หรือตัดได้กลิ่น หรือตัดลิ้มรส หรือตัดการกระทบสัมผัส หรือว่าตัดการคิดนึก ไม่มีใครสามารถจะตัดหรือทำอะไรกับธรรมได้เลย
ด้วยเหตุนี้หัวใจของพระพุทธศาสนาซึ่งในศาสนาอื่นไม่มี คือธรรมทั้งหลายเป็นอนัตตา ไม่อยู่ในอำนาจบังคับบัญชาของใคร ไม่มีใครเป็นเจ้าของ ไม่มีใครสามารถดลบันดาลได้ ใครก็ตามที่เกิดแล้วไม่ตายได้ไหม นี่คือธรรม สิ่งใดที่จริง สิ่งนั้นไม่มีใครสามารถเปลี่ยนแปลงได้ แต่ว่าสำหรับผู้ที่ไม่ตรัสรู้ ก็เข้าใจว่าเกิดแล้ว อยู่ไปนาน แล้วถึงจะตาย วันนี้ยังไม่ตาย แต่ว่าจากการตรัสรู้ สิ่งหนึ่งสิ่งใดที่กำลังปรากฏในขณะนี้ ลองคิดตาม ลองค่อยๆ พิจารณา สิ่งใดสิ่งหนึ่งที่กำลังปรากฏในขณะนี้ สิ่งนั้นต้องเกิดจึงจะปรากฏ ถ้าสิ่งนั้นไม่เกิดเลย ไม่มีเลย จะปรากฏได้ไหม นี่คือธรรม เสียง เมื่อกี้นี้ไม่มี แล้วมี แล้วหามีไม่ จากไม่มี แล้วก็มี แล้วก็หามีไม่ ไม่ใช่แต่เฉพาะเสียง ทุกขณะจิต สภาพธรรมที่เกิดทั้งหมด ไม่เว้นเลย เกิดแล้วต้องดับอย่างรวดเร็ว เมื่อไม่ประจักษ์ การเกิดดับของสภาพธรรมอย่างรวดเร็ว ก็ไม่มีการที่จะสอนว่า ธรรมเป็นธรรม แล้วก็ธรรมเป็นอนัตตา เพราะฉะนั้น ก็เป็นเรื่องที่ขณะที่ฟังต้องพิจารณาด้วยว่า พระธรรมที่ทรงแสดง ทรงแสดงเรื่องของสิ่งที่มีจริงตามปกติ ตามธรรมดา แต่ตรัสรู้สภาพที่แท้จริง ของธรรมนั้นๆ ซึ่งทรงแสดงไว้ว่า สภาพธรรมที่มีจริงที่เป็นปรมัตถธรรมมี ๔ อย่าง ไม่มากเกินกว่าที่จะศึกษา ใช่ไหม ๔ จิต เจตสิก รูป นิพพาน ทั้ง ๓ ปิฎก ถ้าไม่มีจิต ไม่มีเจตสิก ไม่มีรูป ก็ไม่ต้องมีอะไรเลย เพียงแต่ว่าแต่ละคน ก่อนศึกษาธรรม ไปแสวงหาธรรม เหนือจรดใต้ก็มี แต่พอรู้จักธรรมแล้ว หนีธรรมไม่พ้น มีใครที่จะพ้นจากธรรมบ้าง สิ่งที่มีจริงทั้งนั้นเลย ทางตาที่กำลังเห็น ชื่ออะไร เห็นเป็นชื่ออะไร ชาติอะไร เป็นคนจีนหรือเป็นคนไทย ถ้าไม่มีรูปร่างเอามาเกี่ยว สัตว์เห็น นกเห็น คนเห็น เทวดาเห็น เฉพาะเห็นเท่านั้น เป็นคนหรือเปล่า เป็นนกหรือเปล่า เป็นสัตว์หรือเปล่า แต่เห็นเป็นสภาพธรรมที่เกิด เพราะต้องมีจักขุปสาท ถ้าไม่มีจักขุปสาท เป็นรูปที่สามารถกระทบกับสี สิ่งที่ปรากฏทางตา จะใช้คำว่าแสงสว่าง หรือจะใช้คำว่าอะไรก็ได้ เพราะว่าธรรมไม่ต้องมีชื่อเลย ก็สามารถที่จะเข้าใจได้ อย่างถ้าพูดถึงเห็นเดี๋ยวนี้ ไม่เรียกว่าเห็น ภาษาอังกฤษจะเรียกอะไร ภาษาจีน ภาษาพม่าจะเรียกอะไรก็ตามแต่ เปลี่ยนเห็น เป็นอย่างอื่นได้ไหม เพราะฉะนั้น ปรมัตถธรรม ไม่มีเชื้อชาติอย่างที่เราคิด แล้วเวลาที่เราเข้าใจธรรมแล้ว เราจะรู้เลย เหมือนกันหมด ความเข้าใจบุคคลต่างๆ จะเพิ่มขึ้น ความเห็นใจ แล้วการรู้ว่า แต่ละคนไม่ได้อยากจะมีอกุศล ไม่อยากจะมีอวิชชา หรือโมหะ หรือความไม่รู้ แต่ตราบใดที่ปัญญายังไม่เกิดขึ้น ก็ยังต้องมี เพราะว่าไม่รู้ เมื่อไม่รู้ แล้วความไม่รู้นั้นเองก็จะไปเป็นความรู้ไม่ได้ แต่ความรู้จะค่อยๆ ละความไม่รู้ หรือความเห็นผิดได้
เราอาจจะพูดอย่างนั้นตอนที่เรายังไม่ได้ศึกษา แล้วเราก็คิดว่าเป็นส่วนเกินบ้าง เป็นอะไรบ้าง แต่ความจริงถ้าศึกษาแม้เพียงเข้าใจความหมายของธรรม เราก็รู้ว่า ถ้าผู้นั้นไม่ได้เป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าจะตรัสสอนอย่างนี้ได้ไหมว่า ทุกอย่างเป็นธรรม แล้วก็เป็นอนัตตาด้วย แล้วทรงแสดงไว้ละเอียดมาก เรื่องของจิต เรารู้แต่ชื่อ เราบอกได้ทุกคนมีจิต แต่ถามทุกคนเวลานี้ว่า จิตอยู่ที่ไหน ตอบได้ไหม ทุกคนมี แต่จิตอยู่ที่ไหน
เพราะฉะนั้น ความรู้ของเราเผินมาก ถ้าไม่ศึกษาจริงๆ เราไม่รู้จักจิต แต่เราเรียกชื่อจิต เราบอกว่า เรามีจิต พอถามความละเอียดของจิต ตอบไม่ได้เลย ทั้งๆ ที่ขณะนี้ก็มีจิต ถ้าไม่มีจิตก็จะไม่อยู่ตรงนี้แน่ เพราะฉะนั้น เป็นเรื่องซึ่งแม้ว่า สภาพธรรม ที่มีอยู่ต้องอาศัยผู้ที่ตรัสรู้ ทรงแสดงจากการตรัสรู้ จึงจะทำให้เราสามารถเข้าใจทุกอย่างที่มีจริงเพิ่มขึ้นว่า ธรรมทั้งหลายเป็นอนัตตา ทุกอย่าง ถ้าศึกษาโดยละเอียดแล้ว บังคับบัญชาไม่ได้เลย หาสัตว์ บุคคล ตัวตนไม่ได้ อย่างจิตเห็นที่กล่าวถึงเมื่อกี้นี้ ไม่ใช่คนเห็น ไม่ใช่สัตว์เห็น แต่เป็นธาตุ หรือสภาพธรรมอย่างหนึ่งซึ่งสามารถที่จะเห็น เช่นในขณะนี้
ธรรมที่ทรงตรัสรู้ทรงจำแนกออกได้หลายนัย ประการแรก คือ ธรรมที่มีจริงๆ แต่ไม่สามารถจะรู้อะไรได้เลย ทรงใช้คำว่า รูปธรรม รู-ปะ-ธัม-มะ หรือรูปธรรม เป็นสภาพธรรมที่แม้มีแต่ก็ไม่สามารถจะรู้อะไรได้เลย ไม่คิด ไม่สุข ไม่ทุกข์ เพราะไม่รู้อะไร ลักษณะที่แข็ง สภาพที่เป็นเพียงแข็ง ปวดหรือเจ็บหรือเปล่า ไม่ปวด ไม่เจ็บ ใช่ไหม เสียง รู้อะไรบ้างหรือเปล่า หรือเป็นแต่เพียงความดังที่เกิดจากของแข็งกระทบกัน เป็นปัจจัยให้เกิดเสียงขึ้น แล้วเสียงก็ดับไป ไม่รู้เลย ใครจะได้ยินหรือไม่ได้ยิน ไม่ใช่ว่าเสียงจะต้องไปรู้อะไรทั้งสิ้น
รูปธรรมทั้งหมดไม่สามารถจะรู้อะไรได้เลย ไม่ใช่สภาพรู้ แต่ภาษาไทยใช้ภาษาบาลี โดยใช้คำ แต่ว่าไม่ได้ตามที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดง เช่น สมัยนี้จะนิยมใช้คำว่า รูปธรรม เวลาที่มีโครงการที่ยังไม่เป็นรูปเป็นร่าง ก็จะใช้คำว่ารูปธรรม แต่ว่าจริงๆ ถ้าศึกษาแล้ว รูป หมายความถึงสภาพธรรมที่ไม่รู้อะไรเลยทั้งสิ้น เป็นธรรมชนิดหนึ่งซึ่งมีจริง แต่ไม่ใช่สภาพรู้ เพราะฉะนั้น วันนี้ เราก็พอที่จะรู้ได้ว่า ธรรมมี แล้วอะไรเป็นรูปธรรมบ้าง ที่ตัวมีรูปธรรมไหม มี ใช่ไหม ถ้ากระทบสัมผัสตั้งแต่ ศีรษะตลอดเท้า แข็งหรืออ่อน เย็นหรือร้อน ตึงหรือไหว เราทำรูปนี้ขึ้นมาหรือเปล่า ไม่มีตัวตนที่จะทำ แต่มีเหตุปัจจัยที่จะให้รูปเกิด มีสมุฏฐาน ๔ อย่างที่ทำให้รูปเกิด คือ กรรมก็เป็นสมุฏฐาน ๑ จิตก็เป็นสมุฏฐาน ๑ อุตุ ความเย็น ความร้อน ก็เป็นสมุฏฐาน ๑ อาหารที่เราบริโภคเข้าไปก็เป็นสมุฏฐาน ๑ ที่ทำให้เกิดรูป แต่ถ้ามีเพียงรูป ไม่มีนามธรรมเลย จะเดือดร้อนไหม ภูเขาไฟจะระเบิด น้ำจะท่วม ฝนจะตก ข้าวไม่มี พืชผลไม่ได้ผลเลย ลมฟ้าอากาศจะแปรปรวนอย่างไร จะมีใครเดือดร้อนไหม ถ้าไม่มีนามธรรมหรือสภาพรู้
ธรรมอีกอย่างหนึ่ง ซึ่งไม่มีใครสามารถจะไปบันดาลไม่ให้เกิด แต่สภาพธรรมนี้ต้องเกิด เหมือนกับรูปธรรมก็ต้องเกิดเมื่อมีเหตุปัจจัย นามธรรมก็ต้องเกิดเมื่อมีเหตุปัจจัย เพราะฉะนั้น นามธรรมเป็นสภาพรู้ หรือธาตุรู้ ไม่มีรูปใดๆ เจือปนในธาตุชนิดนั้นเลย เคยศึกษาเรื่องธาตุต่างๆ ชื่อต่างๆ เป็นนามธรรม หรือเป็นรูปธรรม ธาตุที่ได้ศึกษามาแล้ว โดยวิชาการต่างๆ เป็นรูปธรรมทั้งนั้น แต่ไม่ใช่นามธาตุหรือนามธรรม สำหรับรูปธรรมต้องมองเห็น หรือว่ามองไม่เห็นก็เป็นรูปธรรม กำลังมี ถ้าฟังจริงๆ ธรรมมีอยู่ ตอนนี้ปรมัตถธรรมมี ๒ อย่าง คือ รูปธรรมอย่างหนึ่งกับนามธรรมอีกอย่างหนึ่ง รูปธรรมไม่ใช่สภาพรู้ ไม่สามารถจะรู้อะไรได้เลยทั้งสิ้น
คำถามต่อไป รูปจำเป็นต้องมองเห็นเท่านั้นหรือ หรือว่าสิ่งที่มองไม่เห็นก็เป็นรูปด้วย สิ่งที่มองไม่เห็นก็เป็นรูปด้วย เพราะอะไร คำจำกัดความมีแล้ว ลักษณะของสภาพธรรมเปลี่ยนไม่ได้ สิ่งใดก็ตามที่ไม่สามารถจะรู้อะไรได้เลยทั้งสิ้น เป็นรูปธรรมทั้งหมด แสงสว่างที่กำลังปรากฏ รูปพรรณสัณฐานต่างๆ แล้วก็เสียงต่างๆ กลิ่นต่างๆ รสต่างๆ เย็น ร้อน อ่อน แข็ง ตึง ไหวที่สามารถจะกระทบทางกายได้ เป็นรูป ซึ่งปรากฏตลอดชีวิต รูปมีมากมาย ในทางพระพุทธศาสนาจากการตรัสรู้มีรูป ๒๘ รูป แต่รูปที่ปรากฏทุกวันไม่พ้น ๗ รูป ทางตา ๑ รูป ขณะนี้ไม่เรียกอะไรก็ได้ ใช่ไหม ที่กำลังปรากฏให้เห็น นั่นรูป ๑ ทางหูกำลังฟัง รูปกำลังปรากฏอีกรูป ๑ ทางจมูกมีรูปปรากฏไหม ไม่มีหรือ เดี๋ยวนี้ไม่มี แต่เคยมีไหม ทางจมูกมีรูปปรากฏได้ไหม กลิ่น ไม่ปรากฏทางตา ไม่ปรากฏทางกาย กลิ่นต้องปรากฏทางจมูกเท่านั้น เมื่อกี้นี้คงรับประทาน รสหลากหลาย ถ้าไม่มีจิตที่ลิ้มรส รสจะปรากฏไม่ได้เลย
จิตเป็นสภาพรู้ เป็นใหญ่เป็นประธาน สามารถเห็น สามารถได้ยิน สามารถได้กลิ่น สามารถลิ้มรส สามารถรู้สิ่งที่กระทบสัมผัสกาย สามารถคิดนึก จิตเป็นใหญ่เป็นประธาน ในการรู้สิ่งที่กำลังปรากฏ เป็นนามธาตุ ไม่มีรูปธาตุใดๆ เจือปนเลยทั้งสิ้น เพราะฉะนั้น ลองคิดถึงธาตุชนิดนี้ ธาตุรู้เป็นใหญ่เป็นประธานในการรู้สิ่งที่กำลังปรากฏ เช่น ทางตา จิตเห็น รูปไม่เห็นอะไรเลย แต่ขณะนี้ที่เห็นเคยเป็นเราเห็น แต่ความจริงเป็นธรรมชนิดหนึ่งซึ่งเป็นธาตุรู้เฉพาะสิ่งที่ปรากฏทางตา เพราะเหตุว่าต้องอาศัยตาอย่างเดียว จึงจะเห็นได้ อาศัยหูก็เห็นไม่ได้ อาศัยจมูกก็เห็นไม่ได้ นี่เป็นธรรมหรือเปล่า เป็นหรือไม่เป็นธรรม เป็นอนัตตาหรือเปล่า เกิดขึ้นแล้วดับไปหรือเปล่า เคยได้ยินคำว่า อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ตรงไหม อนิจจัง ไม่เที่ยง ไม่เที่ยงที่นี่คือเกิดแล้วดับ เป็นทุกข์ เพราะเหตุว่าใครจะเห็นว่าสิ่งที่เกิดขึ้นชั่วขณะที่แสนสั้น แล้วก็ดับไปเลย ไม่กลับมาอีก ไม่มีอะไรสักอย่างที่กลับมา จิตขณะแรกที่เกิด ทุกคนต้องมีจิตขณะแรกที่เกิด ถ้าไม่มีจิตขณะแรกที่เกิด ขณะนี้ก็ไม่มีจิต เพราะว่าจะต้องสืบต่อทีละหนึ่งขณะ จากขณะแรกจนถึงขณะนี้ จิตขณะแรกก็ดับไปไม่กลับมาอีกเลย จิตเห็นเมื่อกี้นี้ก็ดับไป ไม่กลับมาอีกเลย จิตได้ยินขณะนี้ก็เกิด แล้วก็ดับไปไม่กลับมาอีกเลย
เพราะฉะนั้น ทุกอย่างเป็นอย่างนี้ คือ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ที่ใช้คำว่า ไตรลักษณะ สภาพธรรมใดก็ตามไม่ว่านามธรรมหรือรูปธรรมทั้งสิ้น เกิดแล้วต้องดับอย่างรวดเร็ว แต่ต้องอาศัยพระปัญญาคุณที่ทรงตรัสรู้ จึงทรงแสดงความจริงโดยละเอียด นอกจากพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า จะมีใครแสดงอย่างนี้ไหม เคยได้ยิน ได้ฟังใครแสดงก่อนนี้หรือเปล่า แล้วจะเชื่อหรือไม่เชื่อ ก็เป็นเรื่องที่พิสูจน์ได้ ขณะนี้ความจริงกำลังเป็นอย่างนี้หรือเปล่า เป็นหน้าที่ของอุบาสก อุบาสิกา หรือเปล่า หรือเป็นอุบาสก อุบาสิกา แต่ไม่สนใจที่จะฟังพระธรรม เพราะว่าอุบาสกอุบาสิกาไม่ใช่เพียงแต่ กล่าวคำว่า พุทธัง สรณัง คัจฉามิ มีพระพุทธเจ้าเป็นสรณะ มีพระธรรมเป็นสรณะ มีพระสงฆ์เป็นสรณะ โดยไม่รู้ว่า พระพุทธเจ้าเป็นสรณะอย่างไร จะพึ่งพระพุทธเจ้า จะพึ่งอย่างไร จะพึ่งให้หายป่วย จะพึ่งให้ได้ลาภยศ นั่นไม่ต้องพึ่งพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า แต่พึ่งเพื่อที่จะละความติดข้อง ซึ่งไม่มีใครสามารถที่จะสอนให้ละได้เลย เรื่องของติดเป็นเรื่องธรรมดา มีใครบ้างไม่ชอบรูปสวยๆ ไม่ชอบเสียงเพราะๆ ไม่ชอบกลิ่นหอม ไม่ชอบอาหารรสอร่อย ไม่ชอบการสัมผัสที่สบาย ไม่ชอบเรื่องสนุกสนานรื่นเริง ซึ่งคิดจากการเห็นสิ่งโน้นบ้างสิ่งนี้บ้าง แต่ที่จะให้ละ ถ้าไม่มีปัญญา ละไม่ได้เลย ใครคิดว่าจะละได้ วันนี้ละได้ไหม ละจริงๆ เป็นผู้ตรง การศึกษาพระธรรมทำให้เป็นผู้ที่ตรง ตรงต่อการที่จะรู้ว่า เข้าใจธรรมระดับไหน แล้วจะเข้าใจยิ่งขึ้นได้อย่างไร
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 241
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 242
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 243
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 244
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 245
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 246
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 247
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 248
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 249
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 250
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 251
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 252
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 253
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 254
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 255
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 256
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 257
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 258
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 259
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 260
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 261
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 262
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 263
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 264
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 265
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 266
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 267
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 268
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 269
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 270
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 271
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 272
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 273
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 274
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 275
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 276
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 277
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 278
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 279
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 280
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 281
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 282
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 283
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 284
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 285
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 286
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 287
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 288
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 289
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 290
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 291
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 292
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 293
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 294
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 295
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 296
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 297
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 298
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 299
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 300