ปกิณณกธรรม ตอนที่ 256
ตอนที่ ๒๕๖
สนทนาธรรม ที่ วิทยาลัยการสาธารณสุขสิรินธร จ.พิษณุโลก
พฤษภาคม พ.ศ.๒ ๕๔ ๕
ท่านอาจารย์ แม้แต่ขั้นการฟังอย่างธรรมทุกสิ่งทุกอย่างที่มีจริงเป็นธรรมมีลักษณะเฉพาะธรรมแต่ละอย่างๆ เช่น โลภะ ความติดข้อง ก็มีลักษณะอย่างหนึ่ง เกิดขึ้นก็ทำหน้าที่นั้น ไม่ว่าจะเกิดกับใครที่ไหน เด็กผู้ใหญ่อย่างไรก็ตาม ลักษณะของความติดข้องปรากฏ เพราะเหตุว่าโลภะเกิดขึ้นทำหน้าที่ของโลภะ เวลาที่โทสะเกิด ความขุ่นเคืองไม่สบายใจแม้นิดเดียว เพียงแค่ขุ่นใจ ลักษณะนั้นก็เกิดขึ้นทำหน้าที่ของโทสเจตสิก ถ้ามีความเข้าใจที่ถูกต้องอย่างนี้ว่า เป็นธรรมแต่ละอย่าง จะเข้าใจผิดเป็นอย่างอื่นไหม ขั้นเข้าใจ นี่คือปัญญา คือความเห็นที่ถูกต้องตามความเป็นจริงของสภาพธรรมนั้น เพราะฉะนั้น ปัญญา คือความเห็นที่ถูกต้อง ความเข้าใจที่ถูกต้อง แล้วก็จะเจริญขึ้นจนกระทั่งมีคำอีกหลายคำ เช่นคำว่า ญาณ เป็นต้น หรือว่า วิปัสสนาญาณ พวกนี้ก็เป็นปัญญาระดับขั้นต่างๆ แต่ต้องมีลักษณะของความเห็นถูก ความเข้าใจถูก เป็นมูล ที่จะอบรมเจริญขึ้นเป็นขั้นต้น เป็นเจตสิกชนิดหนึ่ง เป็นขันธ์อะไร ปัญญาเจตสิก เป็นขันธ์อะไร สังขารขันธ์ ยกตัวอย่างสังขารขันธ์เองได้ไหม ลองคิดถึงวันหนึ่งๆ จะมีสังขารขันธ์อะไรอีก ชื่อยากๆ ไปหมดแล้ว เวทนา สัญญา เจตนา เอกัคคตา ชีวิตินทรีย์ มนสิการ ชื่อยากๆ ไปหมดแล้ว วิริยะ เคยได้ยินไหม ความเพียรมีจริงๆ เพราะฉะนั้น ต้องเป็นธรรม เป็นนามธรรมหรือเป็นรูปธรรม เป็นนามธรรม เป็นจิตหรือเป็นเจตสิก เป็นเจตสิก เป็นขันธ์อะไร สังขารขันธ์ ไม่ลำบาก ไม่ยากเลย เรื่องของธรรม ถ้าเราศึกษาตรง เราก็จะเข้ใจได้ถูกต้อง แต่จะมีคำที่ใช้ในที่ต่างๆ อย่างคำว่า สังขารธรรม หรือว่า สังขารทั้งหลายไม่เที่ยง คำนี้ไม่ได้หมายความถึง สังขารขันธ์ แต่หมายความถึง สภาพธรรมใดๆ ก็ตามที่มีปัจจัยเกิดแล้วดับ
จิต เจตสิก รูป เป็นสังขารธรรม นิพพานไม่เกิด ไม่ดับ ไม่มีปัจจัยปรุงแต่ง นิพพานเป็นวิสังขารธรรม ปราศจากปัจจัยที่จะปรุงแต่งให้เกิดขึ้น เพราะฉะนั้น ต้องมีความเข้าใจความหมายของสังขารธรรมกับสังขารขันธ์ ถ้าสังขารธรรมก็กว้าง สภาพธรรมใดๆ ที่เกิดดับ ได้แก่ จิต เจตสิก รูป ทั้งหมด แต่พอพูดถึงสังขารขันธ์ แคบเข้ามาอีก เพราะว่าพูดโดยนัยของขันธ์ ๕ ก็ต้องได้แต่เจตสิก เพียง ๕๐ ดวงเท่านั้น
ผู้ฟัง ถ้ารากแก้วไม่ดี ในการที่จะไปศึกษาอื่น ก็จะแปรเปลี่ยนไปด้วย ไม่ดีตามไปด้วย ตรงนี้จะมีวิธีการสอดแทรกอย่างไร หรือสอนอภิธรรมให้นักศึกษารุ่นใหม่ได้เรียนรู้พร้อมๆ กับวิทยาศาสตร์ด้วย
ท่านอาจารย์ จริงๆ อภิธรรม ก็เป็นชีวิตประจำวัน เพราะฉะนั้น ถ้ามีเหตุการณ์หนึ่ง เหตุการณ์ใดเกิดขึ้นเราก็อาจจะชี้ไปถึงอภิธรรมก็ได้ว่า เป็นสภาพธรรมที่มีจริง สิ่งที่ทำนั้นเป็นสิ่งที่มีประโยชน์หรือไม่มีประโยชน์ แล้วเราก็อาจจะเติมคำว่า เป็นกุศล หรือเป็นอกุศล กรรม คือ การกระทำทางกาย ทางวาจา เราก็อาจจะค่อยๆ ให้เขาคุ้นเคยกับเหตุผลในทางธรรม ถ้าเรามีหลักพื้นฐานที่มั่นคง เราก็จะช่วยคนอื่น เมื่อถึงกาลที่พิจารณาว่า คนนี้ควรที่จะได้รับฟังคำสอนระดับไหน เรื่องสมาธิเมื่อกี้นี้ ก็คงจะเข้าใจว่า ได้แก่ เอกัคคตาเจตสิก เจตสิกที่ตั้งมั่นในอารมณ์หนึ่ง ถ้าไม่มีเอกัคคตาเจตสิกก็จะไม่มีลักษณะของสมาธิ แต่เพราะเหตุว่าเอกัคคตาเจตสิก เป็นสภาพที่ตั้งมั่นในอารมณ์หนึ่ง ถ้าตั้งมั่นบ่อยๆ นานเข้า ก็จะทำให้ลักษณะของสมาธิปรากฏ แล้วแต่ว่าจะเป็นมิจฉาสมาธิ หรือสัมมาสมาธิ โทษของมิจฉาสมาธิมีไหม อะไรที่ผิดๆ ก็อาจจะทำให้เราเข้าใจว่าสิ่งนั้นถูก แต่ต้องอาศัยการศึกษา และการเป็นผู้ตรงต่อธรรม ถ้าสิ่งใดที่ไม่ถูก ก็อย่าเก็บไว้ ไม่มีประโยชน์เลย รีบทิ้งๆ ไป แล้วก็จะได้มีความเห็นที่ถูกตรงยิ่งขึ้น เพราะว่าการศึกษาธรรมไม่ใช่เพื่อประโยชน์อื่นเลย ถ้าเราอยากได้ลาภ ได้ยศ ได้สรรเสริญ สุข เราทำอย่างอื่นก็ได้ แต่ว่าเรื่องของการศึกษาธรรม เพื่อละความติดข้อง ในทุกสิ่งทุกอย่างที่เคยติด เพราะเหตุว่าถ้าเรายังคงติดข้องในสิ่งหนึ่งสิ่งใด เราก็จะต้องวนเวียนไปในสังสารวัฏฏ์ เหมือนกับที่เราได้มาอยู่ถึงจุดนี้ เพราะความติดข้อง แล้วแต่ว่าจะมีความต้องการชนิดไหนเกิดขึ้น เป็นเหตุที่จะให้ทำกุศลกรรม หรืออกุศลกรรม
ผู้ฟัง ศัพท์คำว่า อายตนะ ผมชอบเอามาสอนนักศึกษาว่า ทวารทั้ง ๖ ทวาร นี้เป็นหัวใจ เป็นด่านสำคัญ สอนวิธี ให้เขาจัดการ อยากจะให้อาจารย์แนะนำว่า เราจะสอนวิธีการจัดการกับอายตนะอย่างง่ายๆ ได้อย่างไร สอนกับเด็กอย่างไร เพราะว่าตัวนี้ ทำความเห็น ความเข้าใจ คิดว่า ถ้าเราจัดการตรงนี้ได้อย่างง่ายๆ แล้ว ก็จะเป็นช่องทางในการตัดอะไรอื่นๆ ที่จะเป็นเกิดอกุศลต่อไปได้อีก
ท่านอาจารย์ เราก็คงจะต้องเปลี่ยนใหม่ คือ ธรรมทั้งหมดไม่มีง่ายเลย ถูกหรือผิด ถ้าพูดว่ายาก เป็นการสรรเสริญพระปัญญาคุณของพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า สรรเสริญพระบริสุทธิคุณ พระมหากรุณาคุณ แต่ว่าไม่ใช่ยากเกินไป ถ้าเราสามารถที่จะทำให้เขาเริ่มเข้าใจ ตามวัย ตามกาลด้วย เด็กเล็กๆ นี้เราก็อาจจะสอนเขาได้ ตามควร พอโตขึ้นแล้วก็ค่อยๆ สอน จนกระทั่งเรื่องของสภาพธรรมที่มีจริงๆ ก็สอนให้เขารู้ได้ อาจจะเริ่มตั้งแต่กุศล อกุศลก่อนก็ได้ แต่อย่าหวังอะไรมากมายที่คิดว่าคนอื่นจะต้องเข้าใจธรรมได้เพียงได้ฟังเรื่องนั้น หรือได้ฟังเรื่องนี้ แต่ว่าความเข้าใจจริงๆ ต้องเข้าใจสิ่งที่มีอยู่ เพราะว่าความจริง เพราะสิ่งนี้มี จึงได้ทรงแสดงตามความเป็นจริงของสิ่งนี้ ที่เกิดขึ้นเป็นไปอย่างนี้ เช่น อายตนะ ได้แก่ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ถ้าไม่มีตาจะมีอะไรมากระทบไหม สีสันวัณณะจะกระทบตาได้ไหม ไม่ได้ ถ้าไม่มีหู เสียงจะมากระทบได้ไหม จะกระทบอะไรก็ไม่ได้ เพราะฉะนั้น อายตนะ หมายความถึงสภาพธรรมที่มีการประชุมรวมกันของสภาพธรรมหลายอย่าง ทำให้มีการเห็นเกิดขึ้น การได้ยินเกิดขึ้น การได้กลิ่นเกิดขึ้น สภาพธรรมทุกอย่างเกิดขึ้นก็ต้องมีอายตนะ ลองคิดถึง ขณะที่กำลังหลับสนิท ไม่มีอะไรปรากฏเลย แต่พอตื่น ทำไมเห็น ถ้าเป็นคนตาบอดจะเห็นไหม ไม่เห็น เพราะไม่มีจักขายตนะ ไม่มีจักขุปสาท แต่เมื่อมีจักขายตนะ จะเห็นหรือไม่เห็น แล้วแต่กรรม กำลังนอนหลับสนิท ตาบอดหรือเปล่า ไม่บอด เพราะกรรมทำให้จักขุปสาทเกิดดับสืบต่ออยู่ตลอด แม้ว่าจะไม่มีสิ่งใดมากระทบ จิตเห็นยังไม่เกิด แต่กรรมทำให้จักขุปสาทรูปเกิด รวมทั้งกายปสาททั่วตัว รูปที่เกิดจากกรรม กรรมจะทำให้เกิดอยู่ตลอดเวลา มิฉะนั้นเราก็ต้องหายไปหมดในระหว่างที่หลับสนิท แต่ความจริง กรรมทำให้รูปต่างๆ เกิด รูปที่เกิดเพราะกรรม ชื่อว่า กัมมชรูป ชะ แปลว่าเกิด รูปที่เกิดจากกรรม เป็นกัมมชรูป เราทำได้ไหม ไม่ได้ แต่กรรมที่ได้กระทำแล้วเป็นปัจจัยทำให้กัมมชรูปเกิด แม้จะนอนหลับสนิท จักขุปสาท โสตปสาท ฆานปสาท ชิวหาปสาท กายปสาท ก็เกิดเพราะกรรม แต่จะเห็นหรือว่าจะได้ยิน หรือจะได้กลิ่น หรือจะลิ้มรส หรือจะรู้สิ่งที่กระทบสัมผัส หรือจะคิดนึก ต้องแล้วแต่เหตุปัจจัย
การศึกษาสภาพธรรม โดยไม่ได้ใช้ศัพท์ อายตนะ ในชีวิตประจำวัน คงจะทำให้เข้าใจได้ แต่ว่าเวลาที่เราใช้ศัพท์ เราก็ต้องอธิบายว่าต้องมีการประชุมรวมกันของสภาพธรรมที่กระทบตา กระทบหู กระทบจมูก กระทบลิ้น กระทบกาย กระทบใจ สภาพรู้ก็เกิดขึ้นรู้ในขณะนั้นตามสมควร แต่จริงๆ พระพุทธศาสนายังไม่ต้องสนใจในเรื่องศัพท์สูงๆ หรือว่าสิ่งซึ่งเราอาจจะได้ยินแต่ชื่อ แต่ว่ายังไม่รู้พื้นฐานว่าแท้ที่จริงก็เป็นธรรมซึ่งไม่พ้นจาก จิต เจตสิก รูป ไม่ว่าอริยสัจ จะพ้นจากจิต เจตสิก รูป ได้ไหม อริยสัจ ๔ พ้นจาก จิต เจตสิก รูป ได้ไหม ไม่ได้ ถ้าไม่มีจิต เจตสิก รูป ก็ไม่ต้องมีอริยสัจ ปฏิจจสมุปบาทพ้นจาก จิต เจตสิก รูป ได้ไหม ไม่ได้เลย เพราะฉะนั้น พื้นจริงๆ คือจิต เจตสิก รูป ซึ่งมีจริง แต่เกิดขึ้นเพราะปัจจัยต่างๆ ที่ยิ่งศึกษาก็ยิ่งจะละเอียด แล้วเห็นความไม่ใช่ตัวตนยิ่งขึ้น เวลาที่อกุศลจิตเกิด จะมีเจตสิก ๗ ประเภทนี้ไหม มี ขาดไม่ได้เลย ขณะที่พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ทรงตรัสรู้ โสดาปัตติมรรคของพระองค์ที่เกิดมีเจตสิก ๗ ดวงนี้ไหม มี ขณะที่สกทาคามิมรรคจิตเกิด มีเจตสิก ๗ ดวงไหม อนาคามิมรรคจิตเกิด มีไหม อรหัตตมรรคจิตเกิดมีไหม มี นี่คือเป็นผู้ที่เข้าใจธรรมจริงๆ เพราะว่ามีเหตุผล เป็นคำตอบจากความเข้าใจของตัวเอง ไม่ใช่เพียงแต่จำจากหนังสือ
ผู้ฟัง ผัสสเจตสิก สัญญาเจตสิก ปัญญาเจตสิก และจิตรู้อารมณ์ต่างกันอย่างไร
ท่านอาจารย์ ใช่ คำตอบก็ต้องบอกว่า ผัสสเจตสิกรู้อารมณ์อย่างไร จิตรู้อารมณ์อย่างไร สัญญารู้อารมณ์อย่างไร
ผู้ฟัง หมายถึงโดยมีอะไรเป็นองค์ประกอบ
ท่านอาจารย์ มิได้ โดยลักษณะของสภาพนั้นๆ อย่างผัสสเจตสิกเป็นเจตสิกที่รู้อารมณ์โดยกระทบ แต่ไม่ใช่โดยรู้สึก มีหน้าที่กระทบ ขณะนี้ใครเห็น เพราะผัสสเจตสิกกระทบรูปารมณ์ ซึ่งขณะอื่น คนอื่นกำลังได้ยิน เพราะฉะนั้น ผัสสเจตสิกของบุคคลนั้นก็กระทบเสียง เพราะฉะนั้น ก็แล้วแต่ว่าผัสสเจตสิกจะกระทบอะไร จิตก็เกิดขึ้นพร้อมกับผัสสะนั้น รู้อารมณ์นั้น ผัสสะเป็นขันธ์อะไร
ผู้ฟัง ผัสสะเป็นสังขารขันธ์
ท่านอาจารย์ สังขารขันธ์ จิตเป็นขันธ์อะไร
ผู้ฟัง จิตเป็นวิญญาณขันธ์
ท่านอาจารย์ วิญญาณขันธ์ แล้วสังขารธรรมได้แก่ปรมัตถ์อะไร
ผู้ฟัง จิต เจตสิก รูป
ท่านอาจารย์ จิต เจตสิก รูป เว้นนิพพาน นิพพานไม่ใช่ขันธ์ เพราะว่าไม่เกิดดับ
ผู้ฟัง ต้องการทราบรายละเอียดของชีวิตินทริยเจตสิก กับมนสิการเจตสิกที่ยังค้างอยู่
ท่านอาจารย์ ชีวิตินทริยเจตสิก แปลหน่อยได้ไหม
สุภีร์ ชีวิตินทริยะ ก็มาจากคำว่า ชีวิต ชี-วิ-ตะ แปลว่า ชีวิต อินทริยะ คือเป็นใหญ่ ชีวิตินทริยเจตสิก ก็แปลตามศัพท์ ก็คือว่า เป็นใหญ่ในการให้มีชีวิตดำรงอยู่ ให้สัมปยุตตธรรม คือ จิต เจตสิกที่เกิดร่วมด้วยมีชีวิตดำรงอยู่ทำกิจหน้าที่จนเสร็จ
ท่านอาจารย์ ลองคิดดูถึงจิต นามธรรม เมื่อกี้ที่รับประทานโอวัลติน ได้คุยกับบางท่าน ก็บอก นี่เห็นไหม ไม่มีใครบอกได้เลยว่า นี่เป็นโอวัลติน นี่เป็นครีม นั่นเป็นน้ำตาล รวมกันหมดแล้วก็แยกไม่ออก แต่นั่นเป็นรูปธรรม ยังมองเห็น ยังชิมได้ ว่ามีรสอะไรบ้าง แต่นามธรรมไม่มีรูปใดๆ เจือปนเลย นามธรรมล้วนๆ แต่ละอย่างมีลักษณะเฉพาะแต่ละอย่างจริงๆ จิตก็เป็นใหญ่เป็นประธานในการรู้แจ้งสิ่งที่กำลังปรากฏ เจตสิกอื่นๆ ที่เกิดร่วมกันต่างทำหน้าที่ของตน ไม่ก้าวก่ายกันเลย ผัสสเจตสิกจะไปทำหน้าที่ของเวทนาเจตสิกก็ไม่ได้ หรือว่าเจตนาจะไปทำหน้าที่ของชีวิตินทริยก็ไม่ได้ ชั่วขณะเดียวที่แสนสั้น จะเร็วสักแค่ไหน เพราะว่าลองเปรียบเทียบ รูปๆ หนึ่ง มีอายุเท่ากับจิตเกิดดับ ๑๗ ขณะแต่กำลังเห็น และได้ยินเหมือนพร้อมกัน แต่ตามความเป็นจริงที่ทรงแสดง มีจิตเกิดคั่น เกิน ๑๗ ขณะ เพราะฉะนั้น ความดับไปของรูปจะรวดเร็วสักแค่ไหน ยิ่งความดับไปของจิตจะรวดเร็วสักแค่ไหน แต่กระนั้นยังต้องอาศัยเจตสิก ๗ ดวง ซึ่งรวมทั้งชีวิตินทริยเจตสิกด้วย ซึ่งเป็นเจตสิก ซึ่งเป็นใหญ่ในการที่จะให้สหชาตธรรมที่เกิดร่วมกัน ดำรงชีวิตอยู่ชั่วขณะที่แสนสั้น ก่อนที่จะดับไป ใครรู้ล่ะอย่างนี้ ถ้าไม่ใช่พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ทุกอย่างต้องมีปัจจัย แม้แต่ชีวิตินทริยะก็เป็นสิ่งที่จะต้องเกิดกับจิตทุกขณะ ที่จะเกื้อกูลทำให้สภาพของจิต เป็นสภาพที่ดำรงอยู่ชั่วขณะที่แสนสั้น แล้วความจริงชีวิตินทริยะมี ๒ อย่าง คือ รูปที่เป็น ชีวิตินทริยะก็มี นามที่เป็นชีวิตินทริยะ ก็ได้แก่ ชีวิตินทริยเจตสิก
เพราะฉะนั้น เจตสิกจะไปเกิดกับรูปไม่ได้ เวลาพูดถึงชีวิตินทริยะที่เป็นนามธรรมคือ ชีวิตินทริยเจตสิก เวลาพูดถึงรูปชีวิตินทริยะก็เป็นชีวิตรูป เป็นรูปซึ่งเกิดเพราะกรรมเป็นปัจจัย ที่ตัวมีอากาศธาตุแทรกคั่นละเอียดยิบ จริงไหม พร้อมที่จะแตกสลายให้ละเอียดอย่างไรก็ได้ เพราะว่าจริงๆ แล้วก็มีอากาศธาตุแทรกคั่นอยู่ระหว่างกลุ่มของรูปซึ่งภาษาบาลี ใช้คำว่า กลาป กลุ่มหนึ่งๆ มีรูปเล็กมากรวมกันอย่างน้อยที่สุด ๘ รูป คือ มหาภูตรูป ๔ นี่ขาดไม่ได้เลย ธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุไฟ ธาตุลม มีอยู่ที่ใด ต้องมีสี สิ่งที่สามารถปรากฏทางตา มีกลิ่น มีรส มีโอชา อีก ๔ รูป รวมอยู่ด้วย สำหรับรูป ๔ รูป แม้ว่าจะเกิดรวมกันก็จริง แต่อาศัยเกิดกับมหาภูตรูป ๔ แม้รูป ๘ รูปเกิดพร้อมกัน ดับพร้อมกัน แต่แม้กระนั้นรูปที่เป็นใหญ่เป็นประธานก็เป็น ๔ รูป แล้วรูปที่อาศัยเกิดกับรูปที่เป็นมหาภูตรูปก็มี ๔ รูป ปนกันไม่ได้เลย เพราะฉะนั้น รูปใดๆ ก็ตามซึ่งไม่ใช่มหาภูตรูป อาศัยมหาภูตรูปเกิดขึ้นเป็นไป รูปนั้นชื่อว่า อุปาทายรูป ดีที่เราจะได้ทราบความหมาย ในภาษาบาลีกำกับไปด้วย ไม่ต้องไปเปิดพจนานุกรมทีหลัง
สุภีร์ คำว่า อุปาทายรูป แยกออกมาเป็น อุป + อาทาย อาทาย แปลว่าอาศัย อุป แปลว่าเข้าไป เข้าไปอาศัย รูปที่เข้าไปอาศัยรูปอื่นอยู่ รูปที่เข้าไปอาศัยรูปอื่น คนอื่นไม่ได้อาศัยรูปนี้ แต่รูปนี้อาศัยรูปอื่นเรียกว่า อุปาทายรูป
ท่านอาจารย์ จะเห็นความต่างของการที่เราจะศึกษาเอง อ่านเอง เปิดพจนานุกรมเอง เราไม่สามารถที่จะเข้าใจได้ แต่ถ้าเราเข้าใจเนื้อหาสาระ อรรถ สภาพธรรมแล้ว เราก็มีภาษาบาลีกำกับให้ชัดเจนอีกว่าคำนั้นหมายความว่าอย่างไร จะได้ความรู้ทั้ง ๒ อย่าง เป็นโอกาสดีสำหรับคนรุ่นนี้ ที่จะได้ศึกษาทั้งพระธรรมด้วย และความหมายในภาษาบาลีที่ถูกต้องด้วย ไม่คิดแปลเอาเอง
สำหรับชีวิตรูป มี เป็นรูปที่เกิดจากรรม กลุ่มของกลาปซึ่งเกิดจากกรรมจะมีรูป ๘ รูป คือ ธาตุดิน น้ำ ไฟ ลม สี กลิ่น รส โอชา แล้วยังต้องมีชีวิตรูปซึ่งเป็นรูปที่เกิดเพราะกรรม รวมอยู่ในกลุ่มนั้นด้วย ทำให้กลาปนี้ต่างจากกลุ่มอื่น ซึ่งไม่ได้เกิดเพราะกรรม เช่น รูปที่เกิดเพราะอุตุ อาหาร เป็นต้น จะไม่มีชีวิตรูปเลย แต่ชีวิตรูปซึ่งซึมซาบอยู่ทั่วตัว เพราะหลายกลาปมีทั้งภาวะ มีทั้งตา หู จมูก ลิ้น กายพวกนี้ จะเป็นรูปที่ทรงชีวิต ทำให้รูปนั้นดำรงอยู่จนถึงขณะที่ดับไป เป็นลักษณะของรูป ซึ่งต่างกับรูปซึ่งไม่มีชีวิตรูปรวมอยู่ด้วย เวลาเห็นตุ๊กตา หรือหุ่นขี้ผึ้ง เหมือนคน แต่ไม่มีชีวิตรูป แต่ถ้ากลาปที่เกิดจากกรรมทำให้รูปนั้นเป็นรูปที่ทรงชีวิต ระหว่างที่กลาปนั้นยังไม่ดับ ก็เป็นรูปที่ต่างจากกลาปอื่นๆ นี่คือความหมายของชีวิตินทริยนาม ก็เลยต่อไปถึงเรื่องรูปให้ด้วยนิดหน่อยว่า ไม่ใช่มีแต่เฉพาะเจตสิก ยังมีชีวิตรูปด้วย
นี่ก็เหมือนกับเป็นความละเอียด ลึกล้ำ ซ่อนเร้นของสภาพธรรม ซึ่งเปิดเผยได้ โดยการตรัสรู้ ยังมีเจตสิกอะไรอีกไหม มนสิการเจตสิก เพราะว่าเจตสิก ๗ ดวงซึ่งต้องเกิดกับจิตทุกประเภท คือ ผัสสเจตสิก เวทนาเจตสิก สัญญาเจตสิก เจตนาเจตสิก เอกัคคตาเจตสิก ชีวิตอินทริยเจตสิก มนสิการเจตสิก มนสิการเจตสิกเป็นสภาพที่ใส่ใจในอารมณ์ เคยเห็นคนละเอียดๆ ไหม กับคนหยาบๆ ความใส่ใจจะเหมือนกันไหม ในเรื่องเล็กๆ น้อยๆ หรือว่าความสนใจก็ได้ เพราะว่าบางอย่างเราไม่สนใจเลย เห็นแล้วผ่านไปเลย แต่ถ้ามีความสนใจ จะมีความใส่ใจในสิ่งนั้น เพราะฉะนั้น มนสิการเจตสิกก็เป็นสภาพที่ใส่ใจในอารมณ์ที่ปรากฏ วิชาการทั้งหลายที่ไม่ใช่เกิดเพราะกุศลจิต แต่เป็นความสามารถต่างๆ ทางโลก ทางวิทยาศาสตร์ เพราะมนสิการเจตสิกใส่ใจในอารมณ์ ตรึกนึกถึง และมีความสนใจค้นคว้า ที่จะรู้ในลักษณะนั้น ซึ่งเจตสิกพวกนี้ ถ้าไม่พูดถึงชื่อ แต่เราสามารถที่จะรู้ได้ เราสนใจอะไร เราไม่สนใจอะไร นั่นเป็นเพียงสิ่งที่สามารถจะปรากฏ แต่ที่ไม่ปรากฏ คือความรวดเร็วของจิต ซึ่งถึงแม้ว่าจะมีเจตสิกเหล่านี้เกิดร่วมด้วยก็จริง แต่ก็สั้น แล้วก็ผ่านไปเร็วมาก แต่ถ้ามีสภาพธรรมใดซึ่งทำให้จิต เจตสิก ใฝ่ใจสนใจบ่อยๆ เราก็สามารถที่จะเห็นใจความสนใจ ความใส่ใจในขณะนั้นได้ ขนม มีสูตรไหม กับข้าวก็มีสูตร แล้วทุกคนทำออกมาได้เหมือนกันไหม สูตรเดียวกัน อยู่ที่ความใส่ใจหรือเปล่า ในการที่จะดู แม้แต่เกลือจะมากจะน้อยไปนิดหน่อย ไฟจะแรงไปมากน้อยนิดหน่อย พวกนี้ก็เป็นเรื่องของความใส่ใจ แต่จริงๆ แล้วเป็นเจตสิกที่ใส่ใจในอารมณ์ทุกขณะที่จิตเกิด เพราะว่านี่ไม่ใช่หน้าที่ของจิต แต่ว่าเป็นหน้าที่ของมนสิการเจตสิก ขณะนี้มนสิการเจตสิกเกิดหรือเปล่า เกิด ไม่มีสักขณะเดียวที่จิตเกิดแล้วจะไม่มีเจตสิก ๗ ดวงนี้เกิดร่วมด้วย จึงชื่อว่า สัพพจิตตสาธารณเจตสิก หมายความว่า เจตสิก ๗ ดวงนี้สาธารณะกับจิตทุกประเภท สัพพจิตตสาธารณเจตสิก คือ เกิดกับจิตทุกชนิด
อยากจะปฏิบัติกันหรือยัง ลองตอบหน่อย อยากปฏิบัติอะไร ปฏิบัติธรรม ธรรมอะไร จะต้องถามไปจนกระทั่งเป็นคำตอบด้วยเหตุผล แต่ถ้ายังไม่พร้อมด้วยเหตุผล อย่าทำ ทำอะไรไปโดยที่ไม่มีเหตุผล ไม่มีความเข้าใจ ผลคืออะไร ก็ยังคงไม่มีความเข้าใจ ความเข้าใจที่เป็นพื้นไม่มี แล้วทำไป เสียเวลาหรือว่าไม่เสียเวลา โดยมากไม่ทราบเป็นยุคสมัยของการทำตาม ไม่ว่าจะเป็นประเทศไหน เพื่อนบ้านมีอะไร ชาวบ้านแถวนั้นมีอะไร ก็มักจะทำตาม แต่เหตุผลอยู่ที่ไหน ความเข้าใจถูกอยู่ที่ไหน พระพุทธศาสนาไม่ได้สอนให้ทำตาม แต่สอนให้เกิดปัญญาของตนเอง เป็นผู้ที่มีความมั่นคงในเหตุผล ในความถูกต้อง จึงจะรักษาพระธรรมไว้ได้ แม้แต่ความหมายของ ปฏิปัตติ หมายความว่าอะไร ยังไม่ทราบแน่นอน ใช่ไหม
สุภีร์ คำว่า ปฏิบัติ ก็มาจากภาษา บาลีว่า ปฏิปัตติ ปฏิ ก็ ฏ ปฏิ แปลว่า เฉพาะ ปัตติ แปลว่าถึง แปลตามศัพท์ ปฏิปัตติ คือ ถึงเฉพาะ ภาษาไทยเราใช้คำว่า ปฏิบัติ โดยอรรถ ปฏิปัตติ ที่แปลว่า ถึงเฉพาะ เพราะเหตุว่า สภาพธรรมมีหลายอย่าง มีเห็น ได้ยิน ได้กลิ่น ลิ้มรส กระทบสัมผัส หรือว่ามีสิ่งที่ปรากฏทางตา ปฏิปัตติ คือ ถึงเฉพาะลักษณะเฉพาะอย่างๆ ของแต่ละสภาพธรรม คือ รู้ว่าอันนี้เป็นการเห็นจริงๆ อันนี้เป็นสิ่งที่ปรากฏทางตาจริงๆ อย่างนี้ ก็คือการถึงเฉพาะแต่ละลักษณะๆ ของสภาพธรรม ที่เมื่อเช้าเราได้คุยกันไป จิต เจตสิก รูป มีรูปประการต่างๆ ที่อาจจะกล่าวชื่อยังไม่หมด ก็สภาพธรรมมีแต่ละอย่างๆ แต่ละลักษณะๆ การถึงหรือว่าการรู้ลักษณะอย่างนั้นแหละ เรียกว่า ปฏิปัตติ
ท่านอาจารย์ จะปฏิบัติหรือยัง หรืออย่างไร ถึงเฉพาะ เวลานี้กำลังมีสภาพธรรมกำลังปรากฏ อะไรถึง ไม่ใช่เรา ไม่มีเรา แต่ต้องมีปัญญาที่ได้ฟังพระธรรม รู้ว่าเป็นธรรม ซึ่งเกิดดับจริงๆ ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 241
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 242
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 243
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 244
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 245
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 246
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 247
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 248
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 249
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 250
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 251
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 252
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 253
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 254
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 255
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 256
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 257
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 258
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 259
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 260
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 261
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 262
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 263
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 264
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 265
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 266
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 267
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 268
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 269
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 270
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 271
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 272
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 273
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 274
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 275
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 276
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 277
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 278
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 279
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 280
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 281
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 282
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 283
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 284
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 285
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 286
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 287
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 288
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 289
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 290
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 291
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 292
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 293
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 294
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 295
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 296
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 297
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 298
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 299
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 300