ปกิณณกธรรม ตอนที่ 257


    ตอนที่ ๒๕๗

    สนทนาธรรม ที่ วิทยาลัยการสาธารณสุขสิรินธร จ.พิษณุโลก

    พฤษภาคม พ.ศ.๒ ๕๔


    ท่านอาจารย์ เวลานี้มีสภาพธรรมกำลังปรากฏ อะไรถึง ไม่ใช่เรา ไม่มีเรา แต่ต้องมีปัญญาที่ได้ฟังพระธรรมรู้ว่าเป็นธรรมซึ่งเกิดดับจริงๆ ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน ถึงกาลที่จะค่อยๆ รู้ลักษณะนั้นจนประจักษ์แจ้งความเกิดดับ ซึ่งเป็นอริยสัจธรรม เป็นความจริงซึ่งไม่มีใครปฏิเสธเลย แต่ต้องถึงด้วยปัญญาของตนเอง

    สภาพที่จะถึงลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏในขณะนี้ เมื่อไม่ใช่ตัวตน ต้องเป็นธรรมฝ่ายดี ต้องเป็นสติเจตสิก เพราะฉะนั้น เวลาพูดถึงสติ จะไม่เหมือนกับที่เราเคยคิดเลย สติเจตสิกเป็นธรรมที่มีจริงๆ แต่ว่าเวลาสติเกิดขึ้น จะต้องเป็นไปในฝ่ายดีงามทั้งหมด วันนี้คิดอะไรบ้างตั้งแต่เช้ามา ลองพิจารณาย้อนกลับไป ขณะที่คิดเป็นกุศล หรือคิดเป็นอกุศล ยังไม่รู้เลย ถ้าตื่นขึ้นมาแล้วก็ชำระล้างร่างกาย แต่งตัวเรียบร้อยไปรับประทานอาหาร เป็นกุศลหรือเป็นอกุศล

    ผู้ฟัง ดิฉันว่าเป็นกุศล

    ท่านอาจารย์ ทุกคนเห็นด้วยหรือเปล่า เป็นอกุศล จริงๆ มีเหตุผลด้วย ทำไมเป็นอกุศล เพราะว่าลักษณะของโลภะ เป็นความติดข้องต้องการ เพียงแค่เห็น ติดในสิ่งที่เห็น ไม่รู้ตัวเลย บางคนก็เข้าใจว่า ต้องอยากได้มากๆ ต้องกระทำทุจริต หรือต้องไปแสวงหามาถึงจะเป็นโลภะ แต่ลักษณะของโลภะ เป็นสภาพที่ติดโดยไม่รู้ตัวเลย ตั้งแต่เกิดมาพอรู้สึกตัวก็ติดข้องในความเป็น จะเป็นอะไรก็แล้วแต่ มีความติด มีใครอยากตายบ้าง แม้แต่สัตว์ก็ดิ้นรนที่จะหนีความตาย เพราะอะไร เพราะติดข้องในความเป็น จะเป็นอะไรก็แล้วแต่ มีความติดข้องโดยที่ไม่รู้ตัวเลย เราติดทั้งวัน ทั้งเดือน ทั้งปี กี่วัน กี่เดือน กี่ปี โดยไม่รู้จักว่าแท้ที่จริงแล้ว มีสหายสนิทร่วมมาตั้งแต่เกิด บางแห่งจะใช้คำว่ามีครู และอาจารย์ ทั้ง ๒ อย่าง ใช้คำว่ากระซิบ ไม่ดังเลย แต่ทำตามตลอดเวลา ทุกอย่างที่เราทำ เพราะความต้องการทั้งหมด ถ้าเป็นกุศลต้องเป็นไปในทาน การให้สิ่งที่เป็นประโยชน์ต่อบุคคลอื่น เพื่อประโยชน์ของเขา ไม่ใช่เพื่อประโยชน์ของเรา บางคนก็ให้เพราะว่าได้บุญ ใช่ไหม ตัวเองจะได้บุญ แล้วผลตอบสนองคือ ได้อะไรๆ ที่ดี เกิดบนสวรรค์บ้าง อะไรบ้าง คิดหวังเพื่อตัวเอง แต่จริงๆ นั่นไม่ใช่บุญ ขณะที่หวังเป็นความติดข้อง ต้องการผล ไม่ใช่การสละ เพราะฉะนั้น ทานคือการให้ ต้องเป็นการให้เพื่อประโยชน์สุขแก่คนอื่น ขณะที่ให้ด้วยการที่คิดที่จะให้คนอื่นเป็นสุข หรือให้เขาพ้นจากทุกข์ ขณะนั้นเป็นกุศล วันนี้มีหรือยัง ตั้งแต่ตื่นมา มีหรือยัง ถ้าไม่มี จะบอกว่าเป็นกุศลไม่ได้เลย ถูกมอมเมาด้วยโลภะจนไม่รู้ตัวเลยว่า แท้ที่จริงแล้วก็อยู่ใต้อำนาจของโลภะ ครอบงำตลอดเวลา ทั้งทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ เพราะฉะนั้น ไม่แว่ว ใช่ไหม เมื่อกี้นี้ ที่ได้ยินคำว่า กุศล แต่ความจริงแล้วเป็น อกุศล เมื่อเช้านี้ รู้สึกขุ่นใจบ้างไหม นิดเดียว ไม่มากแค่เห็นฝุ่น หรือเห็นอะไรก็ได้ กระทบอะไรก็ได้นิดๆ หน่อยๆ ขุ่นใจไหม หรือดอกไม้ ถ้าคนเห็นว่าสวยก็ติดข้อง แต่คนเห็นว่าไม่สวยก็ขุ่นใจ ก็ ๒ อย่าง ไม่โลภะ ก็ต้องโทสะ อยู่อย่างนี้แหละ แล้วก็ยึดถือว่าเป็นเรา แต่ความจริงก็เป็นสภาพธรรมซึ่งเกิดเพราะอวิชชาเป็นปัจจัย ถ้าจะโยงไปก็ถึงปฏิจจสมุปบาท แต่ไม่จำเป็นต้องใช้ชื่อเลย ถ้าเรามีความเข้าใจที่ถูกต้องว่า เป็นสภาพธรรมแต่ละอย่างซึ่งอาศัยกันเกิดขึ้นเป็นไป แต่ว่าต้องมีความเห็นที่ตรงถูกต้อง กุศลเป็นกุศล กุศลไม่ใช่เรา อกุศลก็ไม่ใช่เรา แต่กุศลเป็นธรรมที่มีจริง อกุศลเป็นธรรมที่มีจริง ผลของกุศลก็อย่างหนึ่ง ผลอกุศลก็อย่างหนึ่ง

    เรื่องของธรรมตรงๆ ไม่มีสัตว์ ไม่มีบุคคล ที่จะไปเป็นผู้จัดการโลก หรือว่าผู้จัดการธรรมได้เลย แต่ทรงแสดงสภาพธรรมตามความเป็นจริงของธรรมนั้นๆ เพราะฉะนั้น ให้ทราบว่า ขณะใดที่ไม่เป็นไปในทาน ในศีล ในความสงบของจิต หรือในการศึกษาเพื่อเข้าใจถูกต้องในสภาพธรรม จนกระทั่งอบรมเป็นปัญญาที่สามารถที่จะดับกิเลสได้ ถ้าไม่ใช่เป็นไปอย่างนี้ ทุกขณะเป็นอกุศลประเภทหนึ่งประเภทใด เพราะว่าอกุศลมี ๓ ประเภท โลภมูลจิต จิตที่ประกอบด้วยโลภเจตสิก โทสมูลจิต จิตที่ประกอบด้วยโทสเจตสิก โมหเจตสิก แม้ไม่มีโลภเจตสิกเกิดร่วมด้วย ไม่มีโทสเจตสิกเกิดร่วมด้วย ก็มีโมหะ ความไม่รู้ลักษณะของสภาพนั้นๆ

    ถ้าเป็นผู้ตรง คือ วันนี้มีอกุศลมากหรือกุศลมาก เมื่อกี้นี้รู้สึกว่าเราจะมีเครื่องดื่มที่อร่อย เป็นกุศลหรือเป็นอกุศล ขณะที่ดื่ม เป็นอกุศล เริ่มเห็นตามความเป็นจริง เพื่อที่จะได้เจริญธรรมฝ่ายกุศลขึ้น มีหนทางที่เกิดจากความเข้าใจถูกต้อง ถ้ามีความเห็นถูก มีความเข้าใจถูก ทุกอย่างจะถูก ปัญญาจะนำไปในทางที่ถูก แต่ถ้าเห็นผิดก็นำไปผิด อย่างเข้าใจว่า อกุศลเป็นกุศล ก็ผิดแล้ว ก็จะนำต่อไปให้เป็นอกุศล โดยที่ว่าเข้าใจว่าเป็นกุศล ที่จะละอกุศล แต่ความจริงไม่ใช่ ถ้าเป็นมิจฉาก็เป็นอกุศล ถ้าเป็นสัมมาถึงจะเป็นกุศล รู้จักตัวเองว่ามีอกุศล ก็ยังดีกว่ามีอกุศลแล้วก็ไม่รู้ว่าเป็นอกุศล ทรงสรรเสริญไว้ ผู้ที่มีอกุศลแล้วรู้ ดีกว่าผู้ที่แม้มีกุศลก็ยังไม่รู้

    ทีนี้เราก็จะมีเมตตาเพิ่มขึ้น ใช่ไหม ทุกคนเหมือนกันหมด รักสุข เกลียดทุกข์ ทุกคนอยากจะได้สิ่งที่ดี อยากจะเห็น อยากจะได้ยิน อยากจะได้กลิ่น อยากจะลิ้มรส อยากจะรู้สิ่งที่กระทบสัมผัส เราอย่างไร เขาก็อย่างนั้น พอที่จะแบ่งปันให้ได้ เราก็แบ่งปันไปเลยทันที ก็ทำให้กุศลจิตของเราเกิดได้เพิ่มขึ้น ไม่ว่าจะในเรื่องของทาน ในเรื่องของศีล ศีลเป็นเรื่องของกาย วาจา ใครที่เคยพูดไม่ดีบ่อยๆ คนอื่นฟังแล้วไม่สบายใจ ถ้าเราเป็นคนนั้นที่ได้ยิน จะเป็นอย่างไร เราก็อาจจะเปลี่ยนเสียง เปลี่ยนคำพูด ก็เป็นกุศลในขณะนั้น วันหนึ่งๆ ถ้าเข้าใจมีกุศลได้มาก เพราะแม้แต่เมตตา ความเป็นมิตร พร้อมที่จะช่วยบุคคลอื่น ก็เป็นกุศลที่เจริญได้ แต่กุศลที่ประเสริฐสุด คือการเข้าใจพระธรรม

    ใครอยากถึงนิพพานบ้าง นิพพานคืออะไร ที่อยากถึง ถ้าอยากถึงก็ต้องตอบได้ว่า นิพพานคืออะไร ถ้าอยากถึง โดยไม่รู้ ก็ไปไหนก็ไม่รู้ ก็คิดว่า ไมรู้ ไม่รู้นั้นเป็นนิพพาน แต่ไม่ใช่นิพพาน เพราะฉะนั้น ถ้าอยากถึงนิพพาน เพราะอะไร นิพพานคืออะไร ได้ยินชื่อนิพพานก็อยากแล้ว เห็นโลภะไหม แค่ชื่อก็อยาก

    ผู้ฟัง คืออยากหลุดพ้นจากการเวียนว่ายตายเกิด

    ท่านอาจารย์ แล้วจะหลุดพ้นได้อย่างไร

    ผู้ฟัง อย่างเริ่มเข้ามาศึกษาอย่างนี้ ถือว่าเป็นจุดเริ่มต้นที่สักวันหนึ่งก็น่าจะเป็นหนทางที่จะไปถึงนิพพานได้ ความหวัง

    ท่านอาจารย์ ด้วยปัญญา แต่จริงๆ แล้วถ้ายังไม่เห็นทุกข์ คือ การเกิดดับตราบใด เราก็ยังชอบรูปสวยๆ เสียงเพราะๆ อาหารอร่อย กลิ่นหอมๆ แสดงว่าความต้องการของเรายังมี ยังไม่ได้เห็นทุกข์จริงๆ เราจะเห็นทุกข์ก็ต่อเมื่อเป็นทุกขเวทนา เจ็บไข้ได้ป่วย เมื่อพลัดพรากจากสิ่งที่รัก เมื่อประสบกับสิ่งที่ไม่รัก เมื่อนั้นเวทนา ความรู้สึกของเราไม่สบายใจ เราก็รู้สึกว่า นั่นเป็นทุกข์ แต่ขณะนี้เดี๋ยวนี้ ทุกข์คือการเกิดดับของสภาพธรรม ยังไม่เห็น ยังไม่ประจักษ์ เพราะฉะนั้น จะไม่มีการน้อมไปสู่นิพพาน จนกว่าจะมีการประจักษ์ เมื่อไร เมื่อนั้นก็จะค่อยๆ ละความติดข้องในสภาพธรรมที่เกิดดับ แล้วน้อมไปสู่สภาพธรรมที่ไม่เกิดดับ ต้องเป็นไปตามขั้น แต่ว่าบางคนได้ฟังว่า นิพพานดับกิเลส ก็อยากดับกิเลส แต่จริงๆ อาหารก็อร่อย ทุกอย่างก็ยังดีอยู่ ใช่ไหม ข้อสำคัญที่สุดต้องเข้าใจถูก โดยเฉพาะหนทางที่จะอบรมเจริญปัญญา ในพระไตรปิฎกมีทั้งมิจฉามรรค และสัมมามรรค ทรงเตือนไว้ทุกประการ ที่จะไม่ให้พุทธบริษัทเข้าใจผิด นี่เป็นพระมหากรุณา เพราะว่าในสมัยที่ยังไม่ปรินิพพาน ผู้ที่มีปัญญาที่เกิดในสมัยนั้นเพียงฟังพระธรรม ท่านก็สามารถที่จะรู้แจ้งอริยสัจธรรมได้ แต่สำหรับคนยุคนี้สมัยนี้ ถ้าไม่ศึกษาโดยรอบครอบ โดยถี่ถ้วน โดยเข้าใจจริงๆ จะเข้าใจผิด และจะทำให้คำสอนที่ทำให้สามารถเข้าใจสภาพธรรม ค่อยๆ ลบเลือนไปได้ เพียงแค่ว่ามีใครจะศึกษาต่อไป นี่ก็เป็นที่ปีติยินดีที่เห็นประโยชน์ของการฟัง ที่ไม่ทอดทิ้ง หรือว่าไม่ละเลยการศึกษาธรรม ข้อสำคัญคือพระธรรมมีจริง พร้อมที่จะให้พิสูจน์ ยากหรือ เป็นการสรรเสริญพระปัญญาคุณของพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ยิ่งบอกว่ายากๆ ก็ยิ่งสรรเสริญ ต้องไม่ง่ายอย่างที่เราคิด กว่าจะได้ตรัสรู้ก็ต้องสะสมพระบารมีนานมาก เพื่อจะรู้สิ่งธรรมดาๆ ที่มีอยู่ในชีวิตประจำวัน นี่เป็นขั้นฟัง ขั้นที่จะรู้ลักษณะของจิตจริงๆ จะยากกว่านี้ไหม นี่คือการฟังเรื่องจิต เรื่องเจตสิก แต่การที่จะรู้ลักษณะของจิตที่กำลังเกิดขึ้นทำหน้าที่พร้อมเจตสิกต่างๆ และต้องละเอียดด้วย เพราะตั้งแต่เกิดจนตายเป็น จิต เจตสิกทั้งหมด เวลาที่คิด เป็นเราหรือเปล่า จิต เจตสิก เวลาที่หัวเราะ สนุกสนาน เป็นเราหรือเปล่า จิต เจตสิก รูปทั้งนั้นเลย คงไม่ลืมความหมายของคำว่า ปฏิปัตติ ถึงเฉพาะลักษณะที่ถึงเฉพาะ คือ สติเจตสิก พร้อมด้วยสภาพธรรมที่เกิดร่วมกันในขณะนั้น ที่ใช้คำว่า สติปัฏฐาน เป็นสภาพที่ระลึก หมายความว่า มีสภาพธรรมขณะนี้กำลังปรากฏ แล้วยังไม่คิดเรื่องอื่นเลย ก็รู้ในลักษณะนั้นๆ ค่อยๆ เข้าใจความเป็นนามธรรม และรูปธรรมทีละเล็กทีละน้อย จนกระทั่งเป็นจิต เจตสิก รูปอย่างนั้นๆ จริงๆ ตามที่ได้ฟัง แม้ว่าจะต้องใช้เวลาอีกนานแสนนาน ก็คงไม่ท้อถอย

    ในสมัยพระทีปังกรที่พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นี้ ในพระชาติที่เป็นสุเมธดาบส แล้วก็ได้ทำกุศลโดยการที่ว่า มีที่แฉะ เดินข้ามลำบาก เป็นหลุม เป็นบ่อ สุเมธดาบสก็ทอดกายลง เพื่อที่จะให้พระทีปังกรสัมมาสัมพุทธเจ้าเดินเหยียบพระองค์ไป ในสมัยที่เป็นสุเมธดาบสได้รับคำพยากรณ์ สุเมธดาบสในอีก ๔ อสงไขยแสนกัป แสนกัปแล้วก็ ๔ อสงไขยแสนกัป ไม่ใช่ปี ไม่ใช่เดือน แต่เป็นกัป กัปนี้ก็นานมาก จะได้ตรัสรู้เป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ทรงพระนามว่า โคตมสัมมาสัมพุทธเจ้า ชาวเมืองที่ได้ยินได้ฟังดีใจว่า ถึงแม้เขาไม่สามารถที่จะรู้แจ้งอริยสัจธรรมในสมัยของพระทีปังกรสัมมาสัมพุทธเจ้า เขาก็ยังมีหวังว่า อีก ๔ อสงไขยแสนกัป ในสมัยของพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นี้ เขาอาจจะได้รู้แจ้งอริยสัจธรรม นี่คือความเพียรอย่างยิ่ง ความอดทนอย่างยิ่ง ซึ่งไม่มีอะไรเพียรเท่า หรืออดทนเท่า แต่ไม่ใช่ไปเพียรทุ่มเททำอะไรที่ปัญญาไม่เกิด แต่เพียรที่จะค่อยๆ เข้าใจให้ถูกต้องว่า ขณะนี้เป็นธรรม ถ้าสติสัมปชัญญะไม่เกิด ไม่ระลึก ก็เป็นเพียงการคิดเรื่องการเกิดดับ ทั้งๆ ที่สภาพธรรมกำลังเกิดดับจริงๆ การฟังธรรมจึงมีหลายขั้น ขั้นฟังเข้าใจ แล้วขั้นปฏิปัตติ คือสติปัฏฐานเกิดระลึกลักษณะของสภาพธรรม ถึงขั้นปฏิเวธ คือประจักษ์แจ้งสภาพธรรมนั้นได้ตามความเป็นจริง

    ปฏิปัตติ ไม่ใช่ภาษาไทย แปลเอง คิดเองว่า ทำ เพราะว่าจริงๆ แล้วเป็นจิต เจตสิก รูป ไม่ใช่เรา เมื่อวานนี้จนมาถึงวันนี้ จิตเกิดดับนับได้ไหม แล้วเป็นอย่างนี้สืบต่อกัน ชาติก่อนกับชาตินี้ใกล้กันมากเลย ถ้าเกิดเป็นเทวดา หรือว่าจากชาตินี้ไปเกิดเป็นเทวดา ไม่นานก็เห็นอีกแล้ว ไม่นานเลย เห็นอีก ได้ยินอีก เห็นๆ ๆ ๆ ๆ ในแต่ละชาติก็สืบต่อมาจนกระทั่งถึงเดี๋ยวนี้ นานแสนนานท่าไรก็คือว่า ยังไม่มีปัจจัยที่จะดับการเห็น การเห็นก็ต้องเกิด เพราะฉะนั้น ความคิดของผู้ที่เป็นพระโพธิสัตว์กับความคิดของชาวโลกต่างกัน ชาวโลกไม่เคยคิดเลยว่า ธาตุที่เกิด มีปัจจัยเกิด เกิดไปอย่างนี้ แล้วเมื่อไรจะดับหมด ไม่ต้องเกิดอีก แต่พระโพธิสัตว์ท่านคิด สิ่งที่มีปัจจัยปรุงแต่งเกิดขึ้นอย่างนี้ เมื่อไรจะดับได้ ไม่ต้องเกิดอีก ความคิดไม่เหมือนกัน นานจนไม่ต้องนับ นับก็นับไม่ไหว ว่ากี่ขณะมาแล้ว วันนี้ แล้วกัปหนึ่งจะนานแค่ไหน ข้อสำคัญคือ ทุกคนต้องตายแน่นอน วันไหนก็ไม่ทราบ ถ้าเราไม่สะสมปัญญาไว้ต่อไปก็ไม่มีปัญญา เวลาฟังพระธรรมก็ไม่เข้าใจ แต่ถ้าเราสะสมปัญญาตั้งแต่ขณะนี้ ต่อไปเวลาที่เราได้ยินได้ฟังพระธรรม เราก็เข้าใจเร็วขึ้น คนที่เข้าใจพระธรรม เห็นคุณค่าแล้ว เอาอะไรมาแลก ยอมไหม เพชรนิลจินดา ทรัพย์สมบัติทั้งหลายก็ต้องทิ้งไว้ในโลกหมด แต่สิ่งที่จะติดตามไปได้คือความรู้ ความเข้าใจถูกต้อง ในพระธรรม ในธรรมที่กำลังปรากฏ ไม่มีสิ่งอื่นใดที่จะทำให้เราเข้าใจว่า สิ่งที่มีค่าสูงสุดในชีวิตของเรา คือ พระธรรมที่พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ทรงแสดง เพราะว่าทุกคนมีโอกาสที่จะได้ยิน ได้ฟัง ได้ไตร่ตรอง แต่ก็แล้วแต่บุญกรรม เพราะว่าคงจะมีอีกหลายคนซึ่งไม่มีโอกาสได้ทราบ และไม่ได้ฟังวิทยุ แล้วก็ไม่เคยสนทนากันในเรื่องนี้ แต่ว่าถ้าสะสมศรัทธา ความเห็นที่ถูกต้องว่า ในชีวิตของเรา เรามีปัญญาที่จะรู้ความจริงแล้วหรือยัง ถ้าไม่มี เราก็เกิดมาแล้วก็เป็นสุขเป็นทุกข์ไปวันหนึ่งๆ แล้วก็จากโลกนี้ไป แต่ว่าสิ่งที่เราได้จากการมีชีวิตในโลกนี้ คือ โลภะบ้าง โทสะบ้าง โมหะบ้าง แล้วก็กุศลเพียงเล็กๆ น้อยๆ นิดๆ หน่อยๆ แต่ถ้ามีความเข้าใจพระธรรมก็จะติดตามไป มีโอกาสที่เราสามารถที่จะได้ยินได้ฟังต่อไป แล้วก็เข้าใจต่อไปว่า ทรัพย์สมบัติก็เอาไปไม่ได้ ญาติพี่น้อง มิตรสหาย ก็ติดตามไปไม่ได้ เพราะว่าจริงๆ แล้วทุกคนเกิดมาคนเดียว ด้วยกรรมของแต่ละคน ไม่ใช่กรรมของคนอื่น แม้แต่ขณะที่เกิดมาแล้ว จริงๆ แล้วถ้าฟังพระธรรมต่อไป จะทราบว่า อยู่คนเดียว กับความคิดนึกของตัวเองทั้งวันตลอดชีวิต ขณะที่เห็น เห็นคนเดียว หรือว่าคนอื่นมาเห็นด้วย ในขณะที่กำลังเห็นเดี๋ยวนี้ แต่ละคน มีคนอื่นมาเห็นด้วยหรือเปล่า ไม่เลย เกิดมาก็เห็นคนเดียว ได้ยินคนเดียว คิดคนเดียว อยู่คนเดียว แต่ในความคิดไม่ใช่คนเดียว คิดถึงคนโน้นบ้าง คิดถึงคนนี้บ้าง จนเต็มโลก เดี๋ยวคิดถึงญาติพี่น้อง เดี๋ยวคิดถึงมิตรสหาย เพื่อนฝูง คิดทุกวัน หารู้ไม่ว่า แท้ที่จริงแล้วก็เป็นคนเดียวนั่นแหละที่คิดเรื่องต่างๆ ถ้าคิดถึงคนหนึ่ง ก็มีคนเดียว ถ้าคิดถึงอีก ๒ คน ๓ คน ก็มีอีก ๒ คน ๓ คน จนในที่สุดก็เป็นเรื่องเป็นราวทั้งหมด ตามความคิด แต่พอหยุดคิด หายไปไหนแล้ว คนในความคิดไม่มีเลย ฉันใด คนในความคิดจะมีก็ต่อเมื่อเกิดคิดขึ้น

    พระธรรมเป็นสิ่งที่มีจริงแล้วก็ปรากฏ แต่ยากที่จะรู้ ต้องอาศัยการฟังแล้วฟังอีก ฟังแล้วฟังอีก ทุกท่านที่จะเข้าใจพระธรรม หรือเข้าใจสภาพธรรม ต้องเป็นพหูสูต ผู้ที่ฟังมาก ฟังครั้งเดียวไม่พอ มีข้อความในพระสูตรๆ หนึ่ง ที่กล่าวถึงพระผู้มีพระภาคเสด็จไปโปรดพราหมณ์ผู้หนึ่ง ซึ่งไม่ได้มีศรัทธาในตอนต้นเลย โดยการที่พระองค์เสด็จไปบิณฑบาตตอนเช้า พราหมณ์นั้นก็ไม่ได้อยากจะให้เลย แต่ว่าเกรงว่าถ้าไม่ให้ คนอื่นก็จะว่าได้ เพราะฉะนั้น พราหมณ์นั้นก็ถวายอาหารบิณฑบาต รับบาตรมา บรรจุอาหารแล้วก็ถวาย ซึ่งเป็นสมัยก่อนก็จะรับบาตร แล้วก็ใส่อาหารในบาตร แล้วก็ถวายแก่พระภิกษุไป วันที่ ๒ พระผู้มีพระภาคก็เสด็จไปอีก ที่พราหมณ์คนนั้น พราหมณ์คนนั้นก็จำต้องถวายอีกเป็นครั้งที่ ๒ พอถึงครั้งที่ ๓ วันรุ่งขึ้น วันที่ ๓ พราหมณ์ทนไม่ได้เลย ก็คิดว่า พระผู้มีพระภาคทรงติดรสอาหารของพราหมณ์ จึงได้เสด็จมาถึง ๓ ครั้ง ไม่เข้าใจในพระมหากรุณาที่พระองค์รู้ว่าพราหมณ์ เมื่อได้ฟังพระธรรมแล้ว มีโอกาสที่จะเลื่อมใสในคำสอนซึ่งเป็นความจริง คำสอนของพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นคำจริงทุกคำ คำที่ไม่จริงจะไม่ตรัสเลย ถึงแม้ว่าจะเป็นคำจริง ก็จะดูว่า เป็นคำที่มีประโยชน์หรือไม่มีประโยชน์ เพราะว่าถึงแม้ว่าคำนั้นเป็นคำจริง ไพเราะน่าฟัง แต่ไม่มีประโยชน์ ในกาลนั้น ขณะนั้น ก็ไม่ใช่กาลที่สมควรที่จะพูดคำที่ว่า แม้มีประโยชน์ เพราะว่าคำที่มีประโยชน์ แต่ไม่เหมาะกับกาล ไม่เหมาะกับบุคคล ไม่เหมาะกับสถานที่ คำนั้นกลายเป็นคำที่ไม่มีประโยชน์เลย เช่น คนที่ไม่มีศรัทธาในทาน แล้วไปพูดเรื่องทาน เขาก็จะฟังด้วยความรำคาญใจ หรือว่าคนที่ไม่มีจิตใจสะสมมาในเรื่องของศีล ความสงบทางกายทางวาจา ถ้าเราไปบอกเขาเรื่องของศีล เขาก็จะไม่เห็นด้วย ไม่อยากฟัง โดยเฉพาะในเรื่องของปัญญา การที่จะสะสมความเห็นถูกต่างๆ ก็ต้องแล้วแต่ว่าบุคคลนั้นมีศรัทธาสะสมมาที่จะน้อมใจไปสู่การที่จะเห็นประโยชน์ของการฟังเรื่องของความจริงมากน้อยแค่ไหน แต่ถ้าคนที่ไม่เห็นประโยชน์ เราพูดก็ไม่ฟังเลย หรือว่าวิทยุเปิดแล้วในบ้าน ก็จะมีคนฟังคนหนึ่ง หรือ ๒ คน อีกหลายๆ คนก็ผ่านไปผ่านมาก็ไม่สนใจเลย เพราะฉะนั้น เป็นเรื่องที่จะต้องรู้ด้วย ถึงแม้เป็นสิ่งที่มีประโยชน์ เป็นความจริง ก็ต้องแล้วแต่กาล แล้วแต่บุคคล ในวันที่ ๑ ในวันที่ ๒ พราหมณ์ไม่ได้กล่าวอะไรเลย พระผู้มีพระภาคคอยโอกาส วันที่ ๓ ซึ่งพราหมณ์ก็กล่าวว่าพระผู้มีพระภาคเสด็จไปที่บ้านของตนเพราะติดในรสอาหาร แล้วเมื่อได้ฟังพระธรรม พระผู้มีพระภาคได้ตรัสคำแรกก่อนว่า พราหมณ์เพียงแค่ ๓ ครั้งเท่านี้ พราหมณ์ก็ไม่มีความอดทนแล้ว วันที่ ๑ ไม่พูด วันที่ ๒ ไม่พูด วันที่ ๓ ไม่พูด แต่ว่าทรงแสดงเรื่องของการที่ทุกสิ่งทุกอย่างจะเกิดขึ้น ให้ผลเต็มที่ ต้องไม่ใช่เพียงครั้งเดียว หรือ ๒ ครั้ง หรือ ๓ ครั้ง ทรงแสดงเรื่องของการไถนา หรือว่าการปลูกข้าว ก็ต้องฝนตกบ่อยๆ ถ้าฝนตกครั้งเดียว ๒ ครั้ง ๓ ครั้งก็ไม่พอ ฉันใด การที่จะฟังพระธรรมก็เช่นเดียวกัน ต้องมีความเข้าใจเลย มีโอกาสได้ฟังครั้งที่ ๑ ไม่ควรคิดว่าจะเพียงพอ ถ้าเป็นสิ่งที่มีประโยชน์ ทุกครั้งที่มีโอกาสจะได้ฟัง จะได้อ่าน จะได้สนทนาธรรม จะได้ไตร่ตรองเป็นสิ่งที่จะทำให้เห็นความต่างของการที่ได้ฟังครั้งแรก กับการฟังครั้งต่อๆ ไปว่า ความเข้าใจจะเพิ่มขึ้น แล้วก็จะทำให้ไม่ท้อถอย เพราะว่าไม่ได้หวังประโยชน์อะไร แต่รู้ว่าเพราะเกิดมาไม่มีความเข้าใจ จะแสวงหาความเข้าใจนี้ที่ไหน ตามโรงเรียนก็สอนความรู้ทางโลก เพราะฉะนั้น ไม่ว่าจะเป็นที่ไหน โรงเรียนใดที่มีการสอนให้เข้าใจสภาพธรรมที่กำลังปรากฏก็ควรที่จะได้สนใจที่จะได้ฟัง จะได้มีความเป็นพหูสูต หรือพหุสุต คือผู้ที่มีการฟังมาก ก็เข้าใจมาก

    ไม่ทราบเมื่อวานนี้ มีอะไรที่ยังเหลือที่อยากจะสนทนากันต่อหรือเปล่า เพราะว่าเป็นการปูพื้นเริ่มต้นที่จะให้เข้าใจ แม้แต่ความหมายของคำว่า ธรรม แต่ธรรมก็เกิด คือจิตต้องเกิด จึงจะเป็นสัตว์ เป็นบุคคล ถ้าไม่มีจิต จะเป็นสัตว์ เป็นบุคคล ไม่ได้ สภาพอ่อนแข็งเกิดขึ้น รูปร่างสัณฐานเป็นต้นไม้ เป็นดอกไม้ เป็นภูเขา เป็นน้ำทะเล ก็ไม่ใช่จิต ก็เป็นแต่เพียงรูป

    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 97
    13 พ.ย. 2567