ปกิณณกธรรม ตอนที่ 258


    ตอนที่ ๒๕๘

    สนทนาธรรม ที่ วิทยาลัยการสาธารณสุขสิรินธร จ.พิษณุโลก

    พฤษภาคม พ.ศ.๒ ๕๔


    ท่านอาจารย์ ถ้าไม่มีจิต จะเป็นสัตว์ เป็นบุคคลไม่ได้ สภาพอ่อนแข็งเกิดขึ้น รูปร่างสัณฐานเป็นต้นไม้ เป็นดอกไม้ เป็นภูเขา เป็นน้ำทะเล ก็ไม่ใช่จิต ก็เป็นแต่เพียงรูป แต่ว่าถ้าไม่มีจิตซึ่งเป็นสภาพรู้ หรือธาตุรู้ สิ่งใดๆ ก็ปรากฏไม่ได้เลย เพราะว่ารูปธรรมไม่สามารถจะรู้อะไรได้ทั้งสิ้น เพราะฉะนั้น ไม่ว่าจะที่ตัวหรือนอกตัว เห็นสิ่งใด หรือว่ากระทบสัมผัสสิ่งใด รู้ได้เลย สภาพนั้นๆ ไม่ใช่ลักษณะของรูปธรรม แต่ขณะใดที่เป็นสภาพรู้ สามารถเห็น สามารถเข้าใจ สามารถคิดนึก ขณะนั้นเป็นลักษณะของนามธรรม ซึ่งนามธรรมมี ๒ อย่าง จิตกับเจตสิก จิตเป็นใหญ่เป็นประธานในการรู้แจ้งลักษณะของอารมณ์ที่กำลังปรากฏ ทุกคนมีตา แต่ตาเป็นรูปธรรมหรือนามธรรม ตาเป็นรูปธรรม นี่คือประโยชน์ที่ได้รับจากเมื่อวานนี้ ตาเป็นรูปธรรม แต่ว่าเห็นไม่ใช่ตา สิ่งที่ปรากฏให้เห็นก็ไม่ใช่นามธรรม

    เพราะฉะนั้น นามธรรมเป็นสภาพที่เห็น ขณะนี้มีสิ่งที่ปรากฏให้เห็น เพราะนามธรรมเกิดขึ้นโดยอาศัยตา สภาพธรรมแต่ละอย่าง เราเกิดมาเราไม่เคยรู้เลยว่า เกิดขึ้นมาได้อย่างไร อาศัยอะไรเกิดขึ้น แต่ทุกอย่างที่เกิดต้องมีปัจจัยที่จะทำให้สภาพธรรมนั้นเกิด ปัจจัย คือ สภาพที่เกื้อกูล เป็นการสนับสนุนส่งเสริมให้สิ่งหนึ่งสิ่งใดเกิดขึ้น เพราะฉะนั้น การที่จิตจะเกิดขึ้นมาโดยไม่มีเหตุเป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้

    สำหรับสภาพธรรมที่ปัจจัยเกื้อกูลให้จิตเกิดขึ้น คือ เจตสิก เป็นสภาพที่เกิดพร้อมกัน ดับพร้อมกัน รู้อารมณ์เดียวกัน อารมณ์คือสิ่งที่จิตรู้ ไม่ว่าจิตกำลังรู้สิ่งใด สิ่งนั้นเป็นอารมณ์ของจิต ขณะนี้กำลังมีอารมณ์ไหม มีใครไม่มีอารมณ์บ้างไหม เมื่อจิตเกิดต้องมีอารมณ์ อารมณ์จะปรากฏหรือไม่ปรากฏอีกเรื่องหนึ่ง แต่ว่าเราจะเปลี่ยนธาตุหรือสภาพของความจริงไม่ได้ เมื่อจิตเป็นสภาพรู้เกิดขึ้นต้องรู้ แต่ว่าอารมณ์จะปรากฏหรือไม่ปรากฏนั่นอีกเรื่องหนึ่ง เช่นในขณะแรกที่เกิด จิตทำหน้าที่ปฏิสนธิสืบต่อจากชาติก่อน ขณะเดียวที่เกิดสืบต่อจากจุติจิตของชาติก่อน ไม่มีใครสามารถจะรู้ได้เลย จำได้ไหมว่า ตอนนั้นเป็นอย่างไร อารมณ์อะไรปรากฏ หรือว่าตอนที่หลับสนิท ใครจำได้ไหม ตอนหลับสนิท จิตมีอารมณ์อะไร แม้จิตเกิดก็ไม่รู้ ขณะนั้นจะไม่มีความรู้ความทรงจำในเรื่องของโลกนี้เลย เพราะเหตุว่าจิตที่ทำหน้าที่ปฏิสนธิสืบต่อจากชาติก่อน ๑ ขณะ ดับไปแล้ว กรรมก็ทำให้จิตเกิดสืบต่อเป็นภวังคจิต เป็นผลของกรรมเดียวกัน ทำให้เป็นบุคคลนี้ สืบต่อจนกว่าจะถึงขณะสุดท้ายของจิต คือขณะที่จุติจิตเกิดแล้วก็ดับ ทำกิจเคลื่อนจากความเป็นบุคคลนี้ จะไม่กลับมาสู่ความเป็นบุคคลนี้อีกเลย เป็นไปไม่ได้เลย เมื่อ ๒,๕๐๐ กว่าปี ก็มีบุคคลมากมายในพระไตรปิฎก กลับไปเป็นบุคคลนั้นได้สักคนไหม ไม่ได้เลย ไม่ว่าจะชื่อใดๆ ในพระไตรปิฎก นางเวเทหิกา หรือว่าจะเป็นพราหมณ์ชื่อนั้น ชื่อนี้ก็ตาม มีความเห็นถูก มีความเห็นผิดอย่างไรก็ตาม ก็จะกลับไปสู่ความเป็นคนเก่าไม่ได้ แต่มีการสืบต่อจากบุคคลเก่าจากจิต ๑ ขณะสู่จิตอีก ๑ ขณะ สู่จิตอีก ๑ ขณะ จิตเมื่อวานนี้กับจิตวันนี้ ไม่ใช่ขณะเดียวกัน แต่สิ่งที่ได้ยินได้ฟัง เมื่อวานนี้ ความเข้าใจเมื่อวานนี้ก็สะสมสืบต่อมาจนถึงวันนี้ได้ ที่เราได้ฟังเรื่องของจิต เรื่องของเจตสิก เรื่องของขันธ์ เมื่อวานนี้ เราก็สามารถที่จะเข้าใจ เวลาที่ได้ยินคำว่าจิต ก็มีการสะสมสืบต่อจากที่เคยได้ยินได้ฟังมาแล้ว

    เพราะฉะนั้น ก็เป็นสิ่งที่ถ้าพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าไม่ทรงตรัสรู้ ไม่ทรงแสดง ไม่อุปการะแก่สัตว์โลก บุคคลอื่นไม่สามารถที่จะคิดเองได้เลย ใครจะคิดว่าขณะนี้มีจิตเห็นแล้วก็ดับ แล้วก็จิตได้ยิน เห็นแล้วก็ดับ ทุกขณะของจิตเกิดขึ้นทำกิจรู้ รู้อะไร เพียงรู้ คือรู้อารมณ์ที่ปรากฏ เช่น ขณะนี้มีสิ่งปรากฏทางตาให้เห็น นี่คือหน้าที่ของจิตเห็น เห็นแล้วก็หมดไป ขณะที่เสียงปรากฏ ปรากฏกับจิตที่ได้ยิน จิตนั้นเกิดขึ้นเป็นใหญ่เป็นประธานในการรู้ลักษณะของเสียง มีเสียงหลายเสียง แต่จิตจะเกิดขึ้นได้ยินเสียงทีละเสียง สลับกันอย่างรวดเร็ว จนกระทั่งเหมือนกับว่าพร้อมกัน เหมือนกับเห็นด้วยได้ยินด้วย นี่เพราะการเกิดดับสืบต่อ เหมือนนายมายากลที่ทำให้หลงเข้าใจว่า มีคน มีสัตว์ แล้วก็โลกนี้เที่ยง สิ่งต่างๆ ที่ปรากฏไม่ได้ดับเลย

    การฟังพระธรรมต้องฟังให้เข้าใจว่า เราฟังเพื่ออะไร เพื่อมีความเห็นที่ถูกต้อง นี่เป็นจุดสูงสุด เพราะว่าเมื่อมีความเห็นถูกจะละคลายอกุศล แต่ถ้าใครก็ตามซึ่งไม่มีความเห็นถูก แล้วก็คิดว่าสามารถที่จะเป็นตัวตนที่ละคลายอกุศลจนกระทั่งดับอกุศลได้ เป็นผู้ที่เข้าใจผิด เพราะว่าเราหรือความเห็นผิดไม่สามารถจะดับอกุศลใดๆ ได้เลย แต่ปัญญาเท่านั้นที่สามารถทำกิจของปัญญา คือ ละคลายความไม่รู้ ซึ่งเป็นเหตุให้เกิดอกุศลทั้งหลาย คนไทยเราใช้คำภาษาบาลีมาก แต่เวลาศึกษาธรรมต้องเข้าใจเสียใหม่ ให้ถูกต้องตามความเป็นจริง เพราะคำภาษาบาลีเป็นคำที่ใช้แทนสภาพธรรมที่มีจริง อย่างคำว่าปัญญา ถ้าเรายังไม่รู้ว่า ปัญญารู้อะไร ปัญญาคืออะไร แต่เราก็ใช้คำว่าปัญญา แต่ที่ใช้คำว่า ปัญญาแทนสภาพธรรม หมายความถึงคำนี้มุ่งหมายถึงสภาพธรรมที่สามารถเห็นถูก เข้าใจถูกในสิ่งที่กำลังปรากฏ ตามความเป็นจริงของสิ่งนั้น ซึ่งปัญญานี้จะมีหลายระดับ และมีชื่อต่างๆ กันไปด้วย จนกระทั่งถึงโลกุตตรปัญญา คือ ปัญญาที่สามารถจะประจักษ์ลักษณะของนิพพาน ซึ่งเป็นสภาพธรรมที่ต่างกับสภาพธรรมทั้งหมด ที่เป็นโลกที่กำลังปรากฏทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ ถ้าศึกษาพระธรรม แล้วก็มีความเข้าใจในคำที่ได้ยินได้ฟังถูกต้อง ก็จะมีความเข้าใจชัดขึ้นในคำที่เราใช้ในภาษาไทย เช่นคำว่า โลก ในภาษาไทย ไม่มีทางที่จะเห็นถูกตามพระธรรมที่ทรงแสดง เพราะเราไม่ได้ศึกษาว่า คำนี้หมายความว่าอะไร แต่คำว่าโลก หรือ โล-กะ หมายความถึงสิ่งที่แตกดับ คือ เกิดแล้วดับ มีอะไรบ้างในโลกซึ่งไม่ดับ เราเห็นแต่สิ่งนั้นเกิดขึ้น แต่ตอนเกิดก็ไม่เห็น เหมือนสิ่งนั้นปรากฏ แต่ความจริงเมื่อจะปรากฏ คือต้องเกิดจึงปรากฏได้ แล้วก็ดับไปอย่างรวดเร็วมาก นี่คือลักษณะของโลก หรือสภาพทั้งหมดที่เป็นโลก ตอนนี้มีข้อสงสัยไหม ในคำนี้ อยู่บนโลก อยู่ในโลก แล้วโลกนี้ โลกอะไร เชิญคุณสุภีร์ให้ความเหมายของโลก

    สุภีร์ คำว่า โลก ก็มาจากคำว่า โล-กะ นั่นเอง โลก คือ เขียนเหมือนภาษาไทยเลย แต่ว่าอ่านผิดกันนิดหน่อย คำว่า โล-กะ แปลว่า แตกดับ คือมีการเกิดขึ้นแล้วมีการดับไป ทุกๆ สิ่งทุกๆ อย่างที่มีจริงเป็นโลก เพราะเหตุว่าเกิดขึ้นแล้วต้องดับไป นี่เป็นโลก สิ่งต่างๆ ที่เราได้ฟังไปเมื่อวานนี้ อย่างจิต เจตสิก และรูป ก็ตาม เป็นโลกนั่นเอง เพราะเหตุว่ามีการเกิดขึ้นแล้วก็มีการดับไป สภาพธรรมอันหนึ่งที่เหนือโลกก็คือ พระนิพพาน เรียกว่า โลกุตตระ ก็มาจากคำว่า โลก + อุตฺตร อุตฺตร แปลว่า เหนือ คือไม่ใช่โลก เกินยิ่งกว่าโลกขึ้นไป เรียกว่า โลกุตตระ คือพระนิพพาน มีพระนิพพานอย่างเดียวที่เป็นโลกุตตระจริงๆ เพราะเหตุว่าไม่มีการเกิดขึ้น ไม่มีการดับไป ส่วนธรรมอย่างอื่นไม่ว่าจะเป็นสิ่งที่ปรากฏทางตาก็ดี หรือว่าจิตเห็นก็ดี ก็เป็นโลก เพราะว่าเห็นแล้วก็ดับไป เวลาเห็นกับได้ยินตอนนี้เป็นคนละขณะกัน เห็นก็เกิดแล้วดับไปก่อน ได้ยินจึงเกิด ได้ยินตอนหลังอีกที สิ่งที่เกิดขึ้นแล้วดับไปเรียกว่าโลก ที่เป็นโลกจริงๆ คือ เป็นสิ่งที่เกิดแล้วดับ แต่เวลาแสดงโลก แสดงโลก ๓ อย่าง ต่อไปจะกล่าวโลก ๓ อย่าง คือ ๑. โอกาสโลก ๒. สัตวโลก ๓. สังขารโลก โลกที่เรากล่าวไปเป็นสภาพธรรมที่มีจริง เกิดดับด้วย เป็นลักษณะของสังขารโลก คือ สังขารธรรมทุกประการ เกิดขึ้นแล้วก็ดับไป อย่างนี้เรียกว่า สังขารโลก ส่วนโอกาสโลก เป็นสถานที่อยู่ของหมู่สัตว์ที่ไปเกิด ถ้าอธิบายเรียงลำดับอย่างนี้ จะเข้าใจง่ายขึ้นสิ่งที่มีจริง และเกิดดับ เรียกว่าสังขารโลก สิ่งที่มีจริงแล้วเกิดดับด้วย คือทุกอย่างที่ตอนนี้ จิต เจตสิก รูป ที่เราได้ศึกษาไป เวลาจิต เจตสิก รูป เกิด มีเป็นคน เป็นสัตว์ มานั่งอยู่ตรงนี้ หรือว่าเป็นนกบินอยู่บนอากาศ อะไรก็ตามแต่ เป็นปลา เป็นอะไรอย่างนี้ คือจิต เจตสิก รูป หรือว่าขันธ์ ๕ เราสมมติเรียกกันว่า เป็นสัตว์ชนิดนั้นชนิดนี้ ว่าเป็นนก ว่าเป็นปลา ว่าเป็นมนุษย์ ว่าเป็นแมว เป็นสุนัข อะไรอย่างนี้ เป็นกลุ่มๆ ไป อย่างนี้เรียกว่าสัตวโลก ซึ่งการที่ สัตวโลกจะมี เพราะว่ามีสังขารโลกนั่นเอง สมมติเรียกต่างๆ กันไปว่าเป็นสัตว์ชนิดนั้น สัตว์ชนิดนี้ อย่างนี้เรียกว่า สัตวโลก ส่วนสถานที่ที่เป็นที่อยู่ของสัตวโลก เรียกว่า โอกาสโลก หมู่มนุษย์เราเป็นที่อยู่ของมนุษย์ สัตว์เดรัจฉานหลายๆ ประการ เรียกว่าโอกาสโลก ประเภทหนึ่ง ทุกท่านอาจจะเคยได้ยินว่า มีนรก มีภูมิเปรต มีภูมิของ อสุรกาย หรือว่ามีเทวดาตั้ง ๖ ชั้น สถานที่ต่างๆ เหล่านั้นเป็นโอกาสโลก สัตว์บุคคลที่ไปเกิดอย่างเช่น พวกเทวดา อะไรอย่างนั้นเป็นสัตวโลก แต่จริงๆ แล้วการที่จะมีสัตวโลก มีโอกาสโลก ก็พราะว่ามีสังขารโลกนั่นเอง

    ท่านอาจารย์ พระอาทิตย์เป็นโลกหรือเปล่า เป็นหรือไม่เป็น พระจันทร์เป็นโลกหรือเปล่า ดาวเป็นโลกหรือเปล่า โลกอะไร โลกมี ๓ เป็นโลกอะไร สังขารโลก หรืออะไรอีก โอกาสโลก ถ้าเป็นสัตว์ เป็นบุคคล ก็เป็นสัตวโลก และทุกอย่างเป็นสังขารโลก เพราะโลกคือเกิดดับ สิ่งที่เกิดทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นจิต เจตสิก รูป เป็นสังขารทั้งนั้น เพราะฉะนั้น คำว่าสังขารในภาษาไทย เราบอกว่า สังขารไม่เที่ยง เราคิดถึงแต่ร่างกาย คิดถึงแต่รูป แต่ความจริงสภาพธรรมทั้งหมดไม่เว้นเลยที่เกิดแล้วดับเป็นสังขารธรรม แต่ไม่ใช่สังขารขันธ์ทั้งหมด ที่เป็นสังขารขันธ์เฉพาะอะไร จิตเป็นสังขารขันธ์ได้ไหม ไม่ได้ เพราะอะไร จิตเป็นวิญญาณขันธ์ สิ่งที่ได้ยินได้ฟังไม่เปลี่ยน จิตเป็นวิญญาณขันธ์ แต่จิตจะไปเป็นรูปขันธ์ เวทนาขันธ์ สัญญาขันธ์ สังขารขันธ์ไม่ได้ สิ่งใดที่ตรัสรู้ สิ่งนั้นเป็นความจริง ที่ไม่มีใครสามารถจะเปลี่ยนได้ สำหรับเวทนา เป็นปรมัตถธรรมอะไร เพราะว่าปรมัตถธรรมมี ๔ ถ้าพูดถึงปรมัตถ์ ได้แก่ ๔ จิต เจตสิก รูป นิพพาน คนโบราณ ช่างย่อ เป็น จิ เจ รุ นิ คล้ายๆ เป็นคาถา แต่ว่าถ้าใครไม่รู้ เลยไปท่อง คิดว่าเป็นคาถาศักดิ์สิทธิ์อะไรสักอย่างหนึ่ง แต่ของท่านในความหมายคือ จิ ได้แก่ จิต เจ ได้แก่ เจตสิก รุ ได้แก่รูป และก็นิ ได้แก่ นิพพาน แต่ถ้าเราไม่รู้ ๔ คำ เราไปจำเฉยๆ เราก็ไม่รู้ว่าคืออะไร แต่พอรู้ จิต เจตสิก รูป นิพพาน เราย่อเองได้ไหม เหมือนคนสมัยก่อนที่ท่านย่อ เราก็ จิ เจ รุ นิ ก็เป็นคำที่ง่าย และก็รู้ความหมายด้วยว่า หมายความถึงปรมัตถธรรม

    เวทนาเป็นสภาพความรู้สึกที่มีจริง เป็นปรมัตถธรรมอะไร ถ้าถามต้องตอบให้ตรงกับคำถาม ถ้าถามว่าเป็นปรมัตถธรรมอะไร จะตอบว่าอย่างไร ปรมัตถธรรมมี ๔ จิต เจตสิก รูป นิพพาน เพราะฉะนั้น ถ้าถามว่าความรู้สึกที่เป็น ใช้คำว่า เวทนา ในภาษาบาลี ไม่ใช่ เวด-ทะ-นา ภาษาไทย ใช้ เวดทะนา หมายความว่าสงสารมาก น่าสงสารเหลือเกิน แต่ภาษาบาลีไม่มีคำนั้น มีแต่ เวทนา เป็นสภาพที่รู้สึก จะรู้สึกดีใจ เสียใจ ทุกข์ สุข ประการใดๆ เฉยๆ ก็เป็นความรู้สึกชนิดหนึ่ง เพราะฉะนั้น สภาพความรู้สึกที่มีจริง เป็นปรมัตถธรรมอะไร เจตสิกปรมัตถ์

    มีความมั่นใจ เพราะว่าต้องมี ๔ อย่าง ศึกษาธรรมแล้ว ต้องรู้ว่าได้แก่ ปรมัตถธรรมอะไร เพราะว่าสิ่งที่มีจริงแท้ในโลกนี้ หรือว่าจะรวมนิพพานด้วย ซึ่งเหนือโลก ก็มีเพียง ๔ อย่าง คือ จิต เจตสิก รูป นิพพาน จะเรียกชื่อว่าอะไร โดยฐานะของศาสตร์ไหนก็ตาม แต่ทั้งหมดต้องเป็น ๑ ใน ๔ คือจิต หรือเจตสิก หรือรูป หรือนิพพาน ซึ่งความจริง นิพพานพ้นไปจากการเกิดดับ ไม่มีการปรากฏกับโลภะ หรืออวิชชา หรือความไม่รู้ได้เลย เพราะฉะนั้น ก็เท่าที่มีอยู่ขณะนี้คือ จิต เจตสิก รูป เป็นสังขารธรรม เป็นสภาพธรรมที่เกิดดับ แต่ว่าเวทนาเป็นปรมัตถธรรม เจตสิก เป็นขันธ์อะไร เวทนาขันธ์ เพราะว่าขันธ์ มี ๕ รูปทุกชนิด ทุกประเภท ไม่ว่าจะในอดีต ปัจจุบัน อนาคต หรือต่อไป ก็ต้องเป็นรูป จะเป็นอื่นไม่ได้ รูปทั้งหมดแม้แต่รูปๆ เดียว ไม่ใช่ต้องมารวมกันเป็นกอง รูปนั้นแหละก็เป็นรูปขันธ์ เวทนาทุกชนิด ไม่ว่าเป็นความรู้สึกชนิดใด ในอดีต หรือปัจจุบัน อนาคต ก็เป็นเวทนาขันธ์ จิต เป็นวิญญาณขันธ์ เหลืออะไรอีก เหลืออีก ๒ ขันธ์ ใช่ไหม การที่เราจะไม่ต้องตามลำดับ จะเป็นเครื่องส่องถึงความเข้าใจของเรา ก่อนว่าเป็นอย่างไร ส่วนการจะเรียงลำดับนั้นก็ทีหลังได้ แต่ว่าเราต้องมีความเข้าใจจริงๆ เหลืออีกกี่ขันธ์ ขันธ์ ๕ ที่กล่าวถึงแล้ว คือ รูปขันธ์ เวทนาขันธ์ วิญญาณขันธ์ เหลือสัญญาขันธ์ กับสังขารขันธ์

    สัญญาขันธ์เป็นปรมัตถธรรมอะไร ต้องกลับมาหาปรมัตถธรรมทุกครั้ง เจตสิกปรมัตถ์ แล้วก็สังขารขันธ์เป็นปรมัตถ์อะไร เจตสิกเท่าไร มีจำนวนขึ้นมานิดหน่อย เพราะว่าเจตสิกทั้งหมดมี ๕๒ เวทนาเจตสิก ๑ เป็นเวทนาขันธ์ สัญญาเจตสิก ๑ เป็นสัญญาขันธ์ เจตสิกที่เหลือ ๕๐ ทุกเจตสิกเป็นสังขารขันธ์

    โทสะเป็นขันธ์อะไร สังขารขันธ์ ปัญญาเป็นขันธ์อะไร สังขารขันธ์ สติเป็นขันธ์อะไร สังขารขันธ์ เป็นปรมัตถ์อะไร เจตสิกปรมัตถ์ ไม่ยากเลย แล้วทุกอย่างมีอยู่ที่ตัว ถึงไม่เรียกชื่อ ขณะนี้เราไม่ต้องเรียกอะไรเลย แต่สภาพธรรมก็เกิดแล้ว ทำกิจการงานของสภาพธรรมอยู่ตลอดเวลาตั้งแต่เกิดจนตาย กำลังเห็นก็เป็นจิต พร้อมเจตสิกที่เกิดขึ้น ในขณะที่เห็นต้องมีเจตสิกเกิดร่วมด้วย ๗ ประเภท ขณะได้ยิน ขณะได้กลิ่น ขณะลิ้มรส ขณะรู้สิ่งที่กระทบสัมผัส เป็นวิบาก เป็นชาติวิบาก คือ เป็นผลของกรรม ตอนนี้เราไม่ต้องไปหาผลของกรรมที่ไหนเลย ใช่ไหม ลืมตาขึ้นมาเห็นก็ผลของกรรมแล้ว กำลังได้ยิน จะได้ยินเสียงที่ไพเราะหรือไม่น่าไพเราะ ก็ผลของกรรมแล้ว เพราะฉะนั้น การที่พูดถึงกรรม และผลของกรรม ต้องมีความชัดเจน ไมใช่พูดเลื่อนลอย สามารถที่จะกล่าวได้ แสดงได้โดยละเอียดว่า ขณะไหนเป็นกรรม ขณะไหนเป็นผลของกรรม รู้จักกรรมแล้วเมื่อวานนี้ใช่ไหม กรรมเป็นปรมัตถ์หรือเปล่า เป็นหรือไม่เป็น ต้องเป็น สิ่งที่มีจริงต้องเป็นปรมัตถธรรม แล้วก็ดูว่าเป็นปรมัตถธรรมอะไรใน ๔ ปรมัตถธรรม กรรมได้แก่เจตนาเจตสิก ต้องไม่ลืม อย่างภาษาไทยเราพูดว่า ไม่ได้เจตนา แต่ความจริงเจตนาเกิดแล้วกับจิตทุกขณะ เพียงแต่ว่าเจตนานั้นเป็นกุศลเจตนาหรืออกุศลเจตนา หรือไม่ใช่กุศลเจตนา ไม่ใช่อกุศลเจตนา แต่เป็นเจตนาที่เกิดกับจิต เพราะเป็นผลของกรรม ที่ทำให้เจตนานั้นต้องเกิดขึ้นทำกิจการงานร่วมกันกับจิตอื่น เช่น จิตเห็น จิตได้กลิ่น จิตได้กลิ่น จิตลิ้มรส พวกนี้ก็ต้องมีเจตนาเจตสิกเกิดร่วมด้วย แต่ขณะนั้นเป็นผลของกรรม เพราะฉะนั้น ก็ไม่ใช่เจตนา ความจงใจที่จะเป็นกุศลกรรม หรืออกุศลกรรม แต่ขณะใดที่มีความจงใจที่จะกระทำกุศล เจตนานั้นเป็นกุศลกรรม ขณะใดจงใจที่จะทำอกุศล เมื่อเกิดขึ้นแล้วก็เป็นอกุศลกรรม ถ้ากระทำสำเร็จเป็นปัจจัยที่จะให้เกิดผลคือเกิดเป็นอะไรก็ได้แล้วแต่ ถ้าเป็นผลของอกุศลกรรม เกิดเป็นสัตว์เดรัจฉานก็ได้ เกิดเป็นเปรตก็ได้ เกิดเป็นอสุรกายก็ได้ เกิดในนรกก็ได้ นั่นคือผลของกรรมที่เป็นอกุศล แต่ถ้าเป็นผลกุศลกรรมที่ทำสำเร็จไปแล้ว เลือกไม่ได้อีกเหมือนกัน เพราะว่ากุศลกรรมที่เราทำไม่เท่ากัน กุศลบางประเภทเราก็ทำด้วยจิตที่ปีติ ผ่องใส โสมนัส บางประเภทก็เฉยๆ เพราะฉะนั้น ผลของกรรมก็ต่างกันไป

    ด้วยเหตุนี้แม้ว่าทุกคนจะเกิดมาในโลกนี้ เป็นผลของกุศลกรรมที่เกิดเป็นมนุษย์ นี่เป็นผลของกุศลกรรม แต่ก็จำแนกให้แต่ละคนต่างกันไป กรรมบางอย่างที่กระทำ ไม่ประกอบด้วยปัญญา เป็นปัจจัยให้คนนั้นเกิด แต่ไม่มีปัญญาเจตสิกเกิดร่วมด้วย เพราะฉะนั้น ก็ไม่สามารถที่จะมีความเห็นถูก มีความเข้าใจถูกในสภาพธรรมจนถึงระดับขั้นที่จะรู้แจ้งอริยสัจธรรม เพราะว่าผู้ที่มีปัญญาเจตสิกเกิดร่วมด้วยกับปฏิสนธิจิต ถ้าไม่มีโอกาสได้ฟังอีก ได้เข้าใจอีก ได้อบรมปัญญาอีก ก็ไม่สามารถที่ปัญญาเจริญจนกระทั่งสามารถรู้แจ้งอริยสัจธรรมได้ นี่ก็เป็นเหตุกับผล ที่จะต้องรู้ว่า ทุกคำที่ได้ยิน จะต้องมีความเข้าใจชัดเจนถูกต้องว่าเป็นปรมัตถธรรมอะไร อย่างเจตนา ก็เวลาที่เราได้ยินคำว่ากรรม ในพระไตรปิฎกจะกล่าวว่า กรรมได้แก่เจตนา ถ้าเราเหยียบมดตาย ไม่ได้ตั้งใจเลย เดินไปก็ไปเหยียบเข้า แล้วมดก็ตาย เป็นอกุศลกรรมบถหรือเปล่า นี่เป็นความละเอียดที่ต่อไปจะเพิ่มขึ้นว่า อกุศลจิตเป็นปัจจัยให้เกิดอกุศลกรรมบถ และอกุศลกรรมบถก็เป็นปัจจัยให้เกิดวิบาก ตามวัฏฏะ ๓ ที่เราเคยได้ยินได้ฟัง กิเลสวัฏฏ์ เป็นปัจจัยให้เกิดกรรมวัฏฏ์ กรรมวัฏฏ์เป็นปัจจัยให้เกิดวิบากวัฏฏ์ แต่ถ้าจงใจตั้งใจฆ่ามด เป็นอกุศลกรรมบถไหม เป็น เพราะขณะนั้นเจตนาเป็นอกุศล ถึงความเป็นกรรมบถที่ต้องการจะฆ่า แต่เวลาเดินไป ถ้ากุศลจิตไม่เกิด ขณะนั้นจิตเป็นอะไร กำลังเดินไป ไม่ใช่กุศลที่เดิน จิตขณะที่เดิน ไม่ใช่กุศลจิต จิตที่ทำให้มีการเคลื่อนไหว ให้รูปเคลื่อนไหวเดินไปเป็นจิตอะไร เป็นอกุศลจิต แต่ถ้าไม่มีเจตนาที่จะประทุษร้าย ก็เป็นอกุศลจิตที่มีเจตนาเจตสิกเกิดร่วมด้วย แต่ไม่ใช่ระดับที่จงใจที่จะฆ่า เพราะฉะนั้น ก็มีความต่างขั้นของสภาพธรรมทุกระดับ ขณะนี้ที่กำลังฟังธรรม เป็นกุศลกรรมที่ประกอบด้วยปัญญา ถ้าเป็นผลของกรรมนี้ ที่จะทำให้เกิดต่อไปที่มีกำลังก็จะทำให้ปฏิสนธิจิต เกิดพร้อมกับปัญญาเจตสิกได้ แต่ไม่ทราบว่าจากโลกนี้ไปด้วยกรรมอะไร ที่จะทำให้ปฏิสนธิต่อไปเกิดขึ้น เมื่อมีความไม่แน่นอน เราก็ทำทุกอย่างที่เป็นกุศลกรรม ซึ่งเป็นเหตุที่ดีที่จะทำให้เกิดในภูมิที่สามารถมีโอกาสได้ยินได้ฟังพระธรรมอีก เพราะว่าถ้าเราเกิดเป็นสัตว์เดรัจฉาน อย่างพวกสัตว์เดรัจฉานต่างๆ ที่มี ถึงจะอยู่ในห้องนี้ก็ไม่รู้เรื่อง ก็มีเพียงแค่จิตได้ยิน แต่ว่าไม่สามารถที่จะเข้าใจ ในสิ่งที่กำลังกล่าวถึง ไม่รู้เรื่องของสภาพธรรม

    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 97
    16 พ.ย. 2567