ปกิณณกธรรม ตอนที่ 261
ตอนที่ ๒๖๑
สนทนาธรรม ที่ วิทยาลัยการสาธารณสุขสิรินธร จ.พิษณุโลก
พฤษภาคม พ.ศ.๒ ๕๔ ๕
ท่านอาจารย์ ถ้ามีปัญญาสูงกว่านั้นอีกระดับหนึ่ง ซึ่งต้องเป็นการตรัสรู้ของพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า จึงมีคำว่า สติปัฏฐาน เพื่อที่จะระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมตามความเป็นจริง ในขณะนี้เป็นนามธรรม เป็นรูปธรรม ถ้าสติปัฏฐานไม่เกิด เราก็ฟังเรื่องของนามธรรมรูปธรรม มีความเข้าใจทีละเล็กทีละน้อยเรื่องของนามธรรมรูปธรรม แต่ขณะที่ฟังเป็นสติขั้นฟัง กุศลใดๆ ทั้งหมดที่จะขาดสติเจตสิกไม่มีเลย ไม่ว่าจะเป็นทาน ไม่ว่าจะเป็นศีล ไม่ว่าจะเป็นสมถภาวนา การช่วยเหลือผู้อื่น หรือวาจาที่เป็นประโยชน์ทั้งหมด ขณะนั้นเพราะจิตเกิดร่วมกับสติเจตสิกที่ระลึกเป็นไปอย่างนั้นๆ การกระทำ และคำพูดนั้นๆ จึงได้เกิดขึ้น
สติเป็นประโยชน์ในที่ทั้งปวง หรือจะใช้คำแปลกันว่า จำปรารถนาในที่ทั้งปวง ซึ่งหมายความว่า เป็นประโยชน์ในที่ทั้งปวงเพราะสติเกิดระลึกได้ วันนี้มีใครระลึกที่จะให้ทานบ้างไหม ไม่ มีก็ได้ แต่ว่าระลึกที่จะฟังธรรม ถ้าสติไม่เกิด ไปแล้ว ระลึกเรื่องอื่นทันที แม้แต่ขณะที่กำลังฟัง เวลาฟัง เข้าใจ พิจารณา นั่นคือหน้าที่ของสติที่ไม่ไปอื่น แต่ระลึกสภาพที่เรื่องราวที่กำลังได้ยินได้ฟัง แล้วปัญญาก็สามารถที่จะเกิดค่อยๆ เข้าใจ เป็นสภาพธรรมทั้งหมด คือ จิต เจตสิก ทั้งหมด แต่ว่าให้ทราบว่า ต้องรู้ลักษณะของสติว่า เป็นธรรมฝ่ายดี แล้วก็เกิดกับกุศลทุกประเภท ไม่ว่าจะเป็นขั้นทาน สติก็ระลึกเป็นไปในการให้ บางคนอาจจะมีเสื้อผ้าหลายๆ ตัว เกิดคิดไหมว่า ตัวนี้จะให้ใคร เป็นประโยชน์แก่ใคร นั่นคือสติ ไม่ใช่เรา ทั้งๆ ที่เคยเป็นเราทำกุศล แต่ความจริงคือสติเกิดขึ้นจึงเป็นไปในกุศล แล้วแต่ว่าระดับไหน ระดับทาน ระดับศีล ระดับสมถะ หรือระดับสติปัฏฐาน
สติปัฏฐานเป็นเรื่องใหญ่ เป็นเรื่องที่ถ้าไม่มีพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ไม่มีใครอบรมเจริญสติปัฏฐาน เพราะจากการตรัสรู้จึงสามารถที่จะรู้ว่า หนทางจริงๆ ที่จะทำให้รู้ลักษณะของสภาพธรรม ไม่ใช่เพียงระดับขั้นฟัง แต่ขั้นประจักษ์แจ้งในความเป็นนามธรรม และรูปธรรม ต้องเป็นเมื่อสติเกิดแล้วก็ระลึกลักษณะของสภาพธรรม เพราะฉะนั้น ต้องมีความเข้าใจสภาพธรรมก่อน ถ้าไม่มีความเข้าใจสภาพธรรม สติปัฏฐานจะเกิดได้ไหม เรียกชื่อกันว่าสติปัฏฐาน แต่ตัวจริงไม่ใช่สติปัฏฐาน ของปลอมกับของจริง ดอกไม้ปลอมกับดอกไม้จริง ถ้าไม่ใช่ของจริง ก็ต้องเป็นของปลอม ไม่ใช่สติก็ไปเรียกว่าสติทั้งๆ ที่ไม่ใช่สติ
ทีนี้รู้จักตัวปลอมตัวจริงไหม ถ้าตัวจริงยังไม่เกิดก็รู้ไม่ได้ว่าอะไรจริง จนกว่าสภาพที่เป็นจริงเกิด เมื่อนั้นก็จะรู้ว่า สภาพที่เป็นจริงๆ เป็นอย่างนี้ ธรรมยากหรือง่าย ยาก สรรเสริญพระปัญญาคุณอีกแล้ว ทุกครั้งที่เราสวดมนต์ อิติปิโส ภควา อรหัง สัมมาสัมพุทโธ พวกนี้ เป็นคุณธรรมของพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า แต่ถ้าเราไม่รู้ว่า ตรัสรู้อะไร เราสรรเสริญไม่ถูก เป็นพระพุทธเจ้าเพราะอะไร ทราบแต่เพียงว่าไม่มีกิเลส และกิเลสอยู่ที่ไหน อย่างไรก็ยังไม่รู้ ว่าดับจริงๆ คือไม่มีกิเลสเกิดอีกเลย เป็นสิ่งที่เป็นไปได้ แต่ต้องอบรม ค่อยๆ ฟัง ค่อยๆ อบรม ในพระไตรปิฎกใช้คำว่า จิรกาลภาวนา ขณะที่กำลังฟังกำลังอบรม เป็นภาวนา ทำให้เกิด ทำให้เจริญ สิ่งที่ยังไม่เกิดก็เกิดขึ้น สิ่งที่มีแล้วก็เจริญเพิ่มขึ้น การฟังแต่ละครั้งก็เป็นภาวนาด้วย อบรมขั้นฟัง จนกว่าจะถึงอบรมด้วยสติปัฏฐาน ถ้าเป็นสติปัฏฐานที่ถูก ที่จริงไม่มีวันที่จะคลอนแคลน แต่ถ้ามีความไม่รู้ หรือความเข้าใจผิดตั้งแต่ต้น ไม่ใช่สติปัฏฐาน ก็เข้าใจว่าสติปัฏฐาน ก็ไม่มีการที่จะรู้จักว่าสติปัฏฐานจริงๆ นั้นคืออะไร เบื่อธรรมไหม อยู่ที่ไหนล่ะ ธรรม
ผู้ฟัง การที่เราจะดูแลผู้ป่วย เรามีจิตที่เป็นกุศล อยากช่วยให้เขาหายเจ็บไข้ได้ป่วย อยู่สิ่งแวดล้อมที่ดี แต่ในบางครั้ง เคยเจอมดเต็มโต๊ะคนไข้เลย ถ้าเราไม่ทำความสะอาดตรงนั้น สิ่งแวดล้อมคนไข้ก็จะไม่ดี เราก็คงต้องทำความสะอาด มันก็ทำให้มดตายไปหลายตัว แล้วเรารู้สึก เราไม่สบายใจ แต่คนไข้ดีขึ้น อย่างนี้อาจารย์ เราจะมีวิธีคิดอย่างไรที่ทำให้เรารู้สึกไม่สบายใจเพราะเราฆ่ามดอย่างนี้
สุภีร์ การที่จะเป็นกรรมว่า เป็นการฆ่าสัตว์ตัดชีวิตอะไรหรือเปล่า อยู่ที่เจตนา คือว่าถึงจะมีมดมีอะไรอยู่ ถ้าเรามีสติเกิด สติขั้นศีลที่กล่าวไป เมื่อกี้มีสติขั้นทาน ที่บอกว่าระลึกได้ในการที่จะให้อะไรใคร สติขั้นศีล คือ ระลึกได้ที่จะไม่ฆ่าสัตว์ไม่พูดเท็จ อะไรต่างๆ เมื่อเวลามีมด มีวิธีการหลายๆ อย่างที่จะไม่ฆ่ามด เราอาจจะไล่ไปธรรมดาๆ หรืออาจจะทำอะไรเบาๆ ค่อยๆ หรืออาจจะแค่เอาอะไรมาวางให้เขาเกาะติดกัน แล้วเอาไปปล่อยที่อื่น มีวิธีการมากมาย ถ้าสติเกิด เพราะฉะนั้น สติจำปรารถนาในที่ทั้งปวงจริงๆ เพราะเหตุว่าเมื่อสติเกิดเป็นกุศล ในที่กล่าวถึงนี้คือ เป็นสติที่เกิดในกุศลขั้นศีล คือขั้นที่จะไม่ประทุษร้ายผู้อื่น หรือว่าไม่ทำร้ายผู้อื่น
ท่านอาจารย์ ทำอกุศลง่ายกว่า ใช่ไหม ทำแรงๆ ทีเดียวจบ แต่กุศลมีวิริยะ ความเพียรที่เป็นโสภณ เป็นฝ่ายที่ดีเกิดด้วย และจิตใจในขณะที่ทำ จะเป็นจิตใจที่อ่อนโยน คนนั้นจะรู้เลยว่า ไม่ใช่ความโกรธหรือความหยาบกระด้าง และมีเมตตาด้วย แล้วการที่จะช่วย เท่าที่จะช่วยได้เต็มความสามารถ แสดงว่าขณะนั้นเป็นจิตใจที่เป็นไปในฝ่ายดี แล้วถ้าฝึกอบรมบ่อยๆ ก็จะชิน สิ่งที่คิดว่า ลำบากก็ไม่ลำบาก เป็นสิ่งที่ทำได้
ผู้ฟัง อยากให้อาจารย์ช่วยอธิบาย โสภณเจตสิก
ท่านอาจารย์ โสภณเจตสิก เชิญคุณสุภีร์
สุภีร์ โสภณเจตสิก คำว่า โสภณ แปลว่าดีงาม คำว่าโสภณ ทุกท่านก็คงจะได้ ยินกันมาพอสมควรแล้ว อย่างเช่นคำว่า โสภา อะไรอย่างนี้ ความหมายเช่นเดียวกัน คือว่าเป็นสิ่งที่ดีงาม เป็นฝ่ายที่ดีงาม โสภณเจตสิก คือเจตสิกฝ่ายที่ดีงาม คำว่าเจตสิกทุกท่านคงทราบแล้วว่า เป็นสภาพธรรมชนิดหนึ่งที่เกิดร่วมกับจิต รู้อารมณ์เดียวกัน ซึ่งโสภณเจตสิกมีอยู่ ๒๕ ประเภท แบ่งออกเป็นประเภทใหญ่ๆ ๔ ประเภทด้วยกัน คือ
ประเภทที่ ๑ โสภณสาธารณเจตสิก นี้มี ๑๙ ประเภท ประเภทใหญ่ๆ
ประเภทที่ ๒ คือ วิรตีเจตสิก เจตสิกที่ทำหน้าที่งดเว้นความประพฤติทางกายทางวาจาที่ไม่ดี ๓ ประเภท ความหมายของโสภณสาธารณเจตสิก คือเจตสิกที่เป็นฝ่ายดีงาม แล้วก็เกิดกับกุศลจิต แล้วก็จิตที่ดีงามทุกประเภทเลย มี ๑๙ ประเภท ประเภทที่ ๒ คือ วิรตีเจตสิก เจตสิกที่ทำหน้าที่งดเว้นการประพฤติทางกายทางวาจาที่ไม่ดีไม่งาม ประเภทใหญ่ๆ
ประเภทที่ ๓ ของโสภณเจตสิก คือ อัปปมัญญาเจตสิก เจตสิกที่ไม่มีประมาณในสัตว์ในบุคคล คือ ไม่ว่าเขาจะเป็นคนดี คนไม่ดี อะไรต่างๆ ก็สามารถให้ความกรุณา ให้มีความเป็นเพื่อนเป็นมิตรได้ ซึ่งอัปปมัญญาเจตสิกมี ๒ ประเภท คือกรุณากับมุทิตา ซึ่งเราก็คงจะเคยได้ยินชื่อมาพอสมควร กรุณาเจตสิก ความกรุณา อยากให้คนอื่นพ้นจากสิ่งที่ไม่ดีที่เขาได้รับอยู่ นี่เป็นเจตสิกประเภทหนึ่ง เป็นอัปปมัญญา กลุ่มของอัปปมัญญาเจตสิก แล้วอีกประเภทหนึ่ง คือ มุทิตาเจตสิก มีอยู่ในกลุ่มของอัปปมัญญา มี ๒ แล้ว
ประเภทสุดท้าย กลุ่มใหญ่ๆ ประเภทสุดท้ายก็คือ ปัญญาเจตสิก ซึ่งท่านอาจารย์ได้กล่าวหลายรอบแล้ว ปัญญาเป็นสิ่งที่สำคัญมาก ในการที่จะเข้าใจสภาพธรรมตามความเป็นจริง คำว่าปัญญา คือ สภาพธรรมหรือว่าเจตสิกประเภทหนึ่งที่ทำหน้าที่รู้สภาพธรรมตามความเป็นจริงว่าอะไรเป็นอะไร อะไรเป็นนาม อะไรเป็นรูป เกิดดับอย่างไร เป็นปัญญาเจตสิก
ฉะนั้นโสภณเจตสิก มี ๒๕ ประเภท แบ่งเป็นประเภทใหญ่ๆ ๔ ประเภท คือ
(๑) โสภณสาธารณะ มี ๑๙
(๒) วิรตี ทำหน้าที่งดเว้นความประพฤติไม่ดีทางกายทางวาจา ๓
(๓) อัปปมัญญาเจตสิกที่ไม่มีประมาณในสัตว์ในบุคคล ๒
(๔) ปัญญาเจตสิกอีก ๑
รวมเป็น ๒๕ ซึ่งโสภณสาธารณเจตสิกก็มีอยู่ ๑๙ ประเภท เกิดกับโสภณจิต ใน ๑๙ ประเภท นี้ ท่านอาจารย์จะให้กล่าวเลยไหม ในโสภณ
ท่านอาจารย์ ตอนนี้เป็นชื่อ เป็นจำนวน เป็นตัวเลข คงไม่มีใครเอาเครื่องคิดเลขมานั่งบวก ไม่ต้องกังวลเรื่องของตัวเลข แต่ว่าความเข้าใจของเราจะทำให้เราจำ โดยที่ว่าจำพร้อมความเข้าใจ เพราะฉะนั้น ถ้าจะกล่าวถึงโสภณสาธารณเจตสิก ๑๙ โสภณ หมายความว่าที่เป็นสาธารณะ ต้องเกิดกับจิตที่ดีทั้งหมดเลย จะขาดเจตสิกสัก ๑ ไม่ได้เลย ๑๙ ต้องเกิดทุกครั้งที่จิตฝ่ายดีเกิด ไม่ว่าจะเป็นกุศลจิต หรือกุศลวิบากจิต ซึ่งมีเจตสิกฝ่ายดีเกิดร่วมด้วย ไม่ว่าจะเป็นกิริยาจิตของพระอรหันต์ ที่มีเจตสิกฝ่ายดีเกิดร่วมด้วย ก็จะต้องพร้อมทั้ง ๑๙ ก็น่าสนใจว่า ๑๙ อะไรตั้งมากมายเลย ขาดอันไหนก็ไม่ได้ ลองเริ่มอันที่ ๑
สุภีร์ ศรัทธาเจตสิก คงเคยได้ยิน ศรัทธาเจตสิก ก็ไม่ใช่ศรัทธาแบบที่เราว่าเป็นความเชื่อ อะไรที่เราใช้กันแบบสติ อะไรอย่างนี้ ศรัทธาเจตสิกเป็นเจตสิกที่ผ่องใสในกุศล เพราะเหตุว่านี้เป็น ๑ ในโสภณสาธารณเจตสิก จิตนี้ถ้าเป็นอกุศล ไม่ผ่องใส แต่เมื่อเป็นกุศล มีความผ่องใส เพราะว่ามีศรัทธาเจตสิก เป็นเจตสิกที่ผ่องใสในเมื่อเป็นกุศล นี้เป็นประเภทที่ ๑
ท่านอาจารย์ ทีละอันให้หายสงสัยว่า ขณะที่กำลังฟัง มีศรัทธาเจตสิกด้วยหรือ ที่ฟัง ศรัทธาเจตสิกเป็นสภาพที่ผ่องใสจากอกุศล ถ้าเรายังคงอยากจะไปสนุก ไปเปิดทีวีดู ไปพักผ่อน ไปปืนเขา ไปอะไรก็ได้ ขณะนั้นไม่ใช่ศรัทธาแน่นอน แต่เป็นโลภะ
ลักษณะที่ต่างกันของโลภะ คือติดข้องต้องการ แต่สำหรับศรัทธา ไม่มีความติดข้องที่จะไปต้องการอย่างอื่น นอกจากขณะนั้นเป็นสภาพธรรมที่สะอาด หรือใสจากอกุศลใดๆ ที่จะมาฟังธรรม หรือจะหยิบหนังสือธรรมขึ้นมาอ่าน เมื่อวานนี้ได้ไปคนละหลายเล่ม ไม่ทราบมีใครมีศรัทธาหยิบขึ้นมาอ่านบ้างหรือยัง ขณะนั้นอาจจะไม่รู้ตัว โสภณสาธารณะ ๑๙ เกิดขณะนั้น ลักษณะของศรัทธามี ทำไมเราไม่ทำอย่างอื่น แต่มีใจที่ไม่มีโลภะต้องการอย่างอื่น ไม่มีโทสะ ไม่มีความที่จะไม่รู้ต่อไป เพราะฉะนั้น จึงมีศรัทธา แม้แต่กิริยาอาการที่เอื้อมไปหยิบ ขณะนั้นจิตก็ต้องปราศจากโลภะ โทสะ โมหะ จึงได้หยิบหนังสือธรรมขึ้นมา ระหว่างที่อ่านทั้งหมด ที่มีความสนใจที่จะพิจารณาข้อความนั้นๆ ก็เป็นกุศลจิต ซึ่งต้องมีศรัทธา เพราะฉะนั้น กุศล ไม่ว่าจะเป็นไปในทาน ในศีล ในสมถะความผ่องใส หรือความสงบของจิต หรือสติปัฏฐาน ที่จะเกิดต่อไปเมื่อมีปัจจัยเพียงพอที่จะเกิดก็เกิด ก็จะต้องมีศรัทธา ซึ่งลักษณะของศรัทธาจะไม่เหมือนกับที่เราเห็นความเชื่ออื่นๆ เขามีศรัทธา อาจจะร้องเพลงสรรเสริญ หรืออาจจะทำอะไรๆ ก็ได้ มีกิริยาอาการกราบไหว้ ซึ่งเหมือนกับศรัทธา แต่ว่าเห็นผิด การเคลื่อนไหวทางกาย ทางวาจา ผิดหมด อย่างผู้ที่สรรเสริญด้วยการร้องเพลง บูชาอะไรต่างๆ ในความเห็นอื่นๆ ซึ่งไม่ใช่การรู้ลักษณะของสภาพธรรมขณะนั้นไม่ใช่ศรัทธา แต่ดูเหมือนศรัทธา จนกระทั่งคนบอกว่าดูศรัทธาของเขา เขามีศรัทธามาก จนกระทั่งทำอย่างนั้นอย่างนี้ได้ แต่ความจริงเป็นไปด้วยความเห็นผิด และมีความต้องการที่จะให้ความเห็นผิดนั้นต่อไป จึงได้กระทำสิ่งนั้น
ถ้าไม่มีการศึกษาจริงๆ เราก็ใช้คำศรัทธาในทางที่ผิด เพราะคิดว่าความเห็นผิดก็มีศรัทธาได้ แต่ว่าถ้าโดยปรมัตถธรรมแล้ว ขณะใดที่เห็นผิด ขณะนั้นไม่มีศรัทธาเจตสิกเกิดร่วมด้วย
เริ่มได้ยินชื่อสิ่งที่กำลังมีในขณะนี้ แต่ตัวจริงยังไม่เห็นเลยสักอย่าง ต้องสติปัฏฐานเท่านั้น แต่ว่าไม่ใช่เราจะไปทำสติปัฏฐาน ถ้าทำสติปัฏฐานนั้นคือผิด
การศึกษาธรรมต้องละเอียดมาก ที่จะต้องสอดคล้อง และตรง ตั้งแต่ต้นจนถึงที่สุด ถ้าอนัตตาคือมีความเข้าใจมั่นคงขึ้นในความเป็นอนัตตาของสภาพธรรมที่จะรู้จริงๆ ว่า อนัตตานั้นคือไม่สามารถบังคับบัญชาได้ แล้วก็ไม่ใช่เรา แต่ว่าเป็นธรรมจริงๆ แต่ละอย่าง ซึ่งความจริงในวันหนึ่งๆ มีแต่สภาพธรรมทั้งนั้นที่ปรากฏ ลักษณะของธรรมต่างกันไปแต่ละอย่าง เวลาโกรธ เวลาหิว เวลาดีใจ เวลาเจ็บ เป็นลักษณะของสภาพธรรมแต่ละอย่างจริงๆ หรือเปล่า จริง หรือไม่จริง จริง ไม่มีใครไปทำขึ้น แต่เกิด
ความจริง คือ มีลักษณะของสภาพธรรมปรากฏทุกวัน แต่ไม่รู้ เพราะฉะนั้น เมื่อมีลักษณะของสภาพธรรมปรากฏ จึงฟัง ศึกษาให้เข้าใจว่าลักษณะนั้นๆ เป็นธรรมแต่ละอย่าง เป็นธรรมจริงๆ แต่เป็นธรรมที่มีลักษณะต่างกันเป็นแต่ละอย่าง เวลาที่กุศลจิตเกิด ยังไม่รู้เลยว่า มีธรรมอะไรบ้าง เพราะตั้ง ๑๙ อย่างแล้วยังไม่ปรากฏเลย แต่จากการฟัง เริ่มเข้าใจ เวลาที่สภาพธรรมใดมีลักษณะนั้นๆ ปรากฏ ให้รู้ ถ้าเป็นผู้ที่ไม่เข้าใจเรื่องสติปัฏฐาน ก็เพียงฟัง แต่ว่าไม่รู้ลักษณะจริงๆ ที่ปรากฏ แต่พอเข้าใจเรื่องสติปัฏฐาน เริ่มที่จะมีขณะที่เป็นสติปัฏฐานที่จะรู้ลักษณะนั้นๆ ว่า เป็นธรรม
ผู้ฟัง ถ้าเราใช้วิธีการศึกษาอย่างนี้ ในปัจจุบันนี้ผมรู้สึกว่าจะเป็นการลำบากมาก เพราะว่ารู้ได้ยาก ต้องใช้ปัญญาแทงตลอดจริงๆ สมมติเราจะสอนนักศึกษา ถ้าค่อยๆ อธิบายไป ให้เรียนแบบนี้ กับอีกแบบหนึ่งที่เขาสอนกันทั่วไป สั่งไปเลยว่า กำหนดตรงนั้นตรงนี้ให้รู้เวทนา อย่างเด็กอีกกลุ่มที่เรียนกับเราก็ถ้าศรัทธาน้อย หรือไม่มีพื้นมา จะเบาบางไป อีกกลุ่มกำหนดรู้กันตรงโน้นตรงนี้ รู้ไปหมดแล้ว มัวแต่มานั่ง ค่อยๆ ปูพื้นอย่างนี้ มันช้าไปกว่าจะรู้ จุติจิตเกิดไปแล้ว ก็ยังไม่รู้หรือเปล่าไม่ทราบ
ท่านอาจารย์ ลืมจุดประสงค์ของการศึกษาหรือเปล่า โดยมากเราทำอะไรเราคิดถึงจุดประสงค์แท้จริงหรือเปล่า อย่างการศึกษา การให้ความรู้ หรือการจะเรียนรู้ จุดประสงค์คืออะไร จุดประสงค์จริงๆ ให้เกิดความเห็นถูก หรือว่าให้เกิดความเห็นผิด เพราะฉะนั้น ทุกคนจะลืมจุดประสงค์ แต่ว่าถ้าเราย้อนกลับมาคิดจุดประสงค์แท้จริงของการศึกษา ไม่ว่าจะที่บ้านกับลูกหลาน มิตรสหายเพื่อนฝูง ที่โรงเรียน หรือที่อื่นๆ ก็ตาม จุดประสงค์ของการศึกษา คือ เพื่อให้มีความเข้าใจที่ถูกต้อง เราจะไม่ให้ความเห็นผิดหรือความเข้าใจผิด เพราะว่านั่นไม่ใช่การศึกษาเลย ไม่ชื่อว่าเป็นการศึกษา เพราะเหตุว่าไม่มีความเข้าใจที่ถูกต้อง เราอาจจะคิดว่าเป็นแนวการศึกษา การศึกษาทุกคนต้องการมาทำอย่างนี้ เป็นการศึกษา แต่ตราบใดที่ไม่ใช่ความเห็นที่ถูกต้อง ตราบนั้นไม่ใช่การศึกษา แล้วเราเองลืมจุดประสงค์นี้หรือเปล่า หรือเราจะเปลี่ยนจุดประสงค์ เป็นการศึกษา คือเพื่อความไม่รู้ ถ้าเราต้องการเพื่อความไม่รู้
คิดว่าง่ายดี เราไม่มีจุดประสงค์ที่ถูกต้องในการศึกษา และในการให้การศึกษา แต่ถ้าเรามีจุดประสงค์ที่ถูกต้อง เรามีความอดทน สิ่งที่ว่ายาก วันหนึ่งก็ง่าย มีใครบ้าง ไหมที่เกิดมาก็ขี่จักรยาน ไม่ต้องหัดเลย ว่ายน้ำเป็น ไม่ต้องหัดเลย เล่นกีฬาต่างๆ สกีหรืออะไรก็แล้วแต่ โดยที่ไม่ต้องหัดเลย เป็นไปไม่ได้เลย ชีวิตทั้งชีวิตเป็นการศึกษา แต่ว่าการศึกษา ถ้าไม่เข้าใจจุดประสงค์จริงๆ ว่าศึกษาเพื่ออะไร อย่างวิชาการทางโลก ศึกษาเรื่องความรู้ที่จะให้มีความสามารถในการทำงาน ในการเลี้ยงชีพ นั่นคือจุดประสงค์ของการศึกษาทางโลก แต่จุดประสงค์ของการศึกษาทางธรรม ธรรมเป็นสิ่งที่มีจริง ถ้าจะให้ใครศึกษาต้องให้คนนั้นเห็นถูก ไม่ใช่ให้เห็นผิด เพราะฉะนั้น เราจะเป็นส่วนที่ให้การศึกษา หรือว่าถึงแม้ว่ายากเกินไปก็ไม่เอาแล้ว แต่ว่าถ้าถึงแม้ว่ายากเกินไป หรือยากแต่ไม่เกินไป เริ่มต้นได้ทีละเล็กทีละน้อย การศึกษาต้องเริ่มตั้งแต่ขั้น อนุบาลหรือเปล่า หรือเอาปริญญาเอกมาศึกษาทันที เป็นไปไม่ได้เลย ใช่ไหม สติปัฏฐานเป็นระดับไหน อนุบาล ประถม หรือว่าปริญญาเอก ถ้าไม่มีความเข้าใจเรื่องสติปัฏฐานเลย ใช้แต่ชื่อว่าสติปัฏฐาน แล้วเราเองซึ่งเป็นผู้ที่จะให้ความรู้คนอื่น เราเองถ้าไม่ได้ศึกษาก็เป็นผู้ที่ไม่รู้ เมื่อผู้ไม่รู้ให้คนอื่น ผู้นั้นก็ไม่รู้ บุคคลอื่นก็ไม่รู้ ก็ไม่รู้กันต่อๆ ไป นี่ไม่ใช่จุดประสงค์ของการศึกษา
ในโลกนี้จะมีคนสักเท่าไรก็ตาม แต่ถ้ามี ๑ หรือ ๒ หรือ ๓ หรือจำนวนน้อยสักเท่าไรก็ตาม แต่หวังดีต่อบุคคลอื่น เป็นมิตรจริงๆ คือให้ความรู้ที่ถูกต้อง ถ้าไม่ใช่มิตร เราให้สิ่งที่ผิด เราไม่มีความเมตตา กรุณา สงสารเขาเลย ให้สิ่งที่ผิดแล้วเขาก็เห็นผิด ไม่ใช่ชาตินี้ชาติเดียว ความเห็นผิดเริ่มแล้วก็จะมากขึ้น จะติดตามทุกชาติไป ในครั้งที่พระผู้มีพระภาคยังไม่ปรินิพพาน มีผู้ที่เห็นผิดมากมาย มีครู ๖ คนซึ่งมีชื่อเสียงมาก ครู ๖ คนก็สอนให้คนอื่นเห็นผิดไปเรื่อยๆ แต่พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ทรงสอนให้คนอื่นมีความเห็นถูกขึ้นเรื่อยๆ
เราจะเป็นครู ๖ คน แล้วป่านนี้ก็เพิ่มเป็นเท่าไรแล้วก็ไม่รู้ แล้วก็ฝ่ายที่จะมีความเห็นถูก หรือมีความเป็นมิตรกับคนอื่นจริงๆ จะเป็น ๑ หรือจะเป็น ๒ หรือจะเป็นเท่าไร แต่มีเราอยู่ด้วยในจำนวนนั้น เราจะอยู่ข้างไหน เป็นสิทธิของเรา ที่จะคิดที่จะไตร่ตรอง ประโยชน์สูงสุดของการเป็นมนุษย์ ไม่มีอะไรดีเท่ากับสามารถที่จะศึกษา เข้าใจสิ่งที่มีจริงๆ เพราะว่ามีโอกาสได้ฟังพระธรรม คนที่มีโอกาสได้ฟังพระธรรมคงจะไม่ทราบว่าได้สะสมบุญในอดีต พอที่จะผันชีวิตมาให้ได้มีโอกาสได้ยินได้ฟังสิ่งที่ทำให้ เกิดความเข้าใจถูกต้อง เป็นคำสอนที่ประเสริฐ เพราะว่ามาจากการตรัสรู้ของพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ถ้าเราเป็น ๑ ในนั้น เราอยากจะให้คนอื่นเป็นอย่างนั้นด้วยหรือเปล่า หรือว่าปล่อยเขาไป เขาจะเห็นผิดอย่างไร ก็ปล่อยเขาไป หรือว่าถ้าเราสามารถที่จะช่วยได้ เราจะช่วย
เพราะฉะนั้น ก็เป็นเรื่องที่จะต้องมีความอดทน หัวใจของพระพุทธศาสนาซึ่งประมวลคำสอนทั้งหมด ชื่อว่า โอวาทปาติโมกข์ ขันติเป็นตบะอย่างยิ่ง ความเพียร ความอดทนที่จะเผากิเลส เป็นความอดทนสูงสุด โลภะให้เราอดทนได้ เช่นบางคนอยากจะใส่เสื้อสวยๆ ตอนกลางคืนก็นั่งเย็บเสื้อไปจนรุ่งเช้า รุ่งขึ้นก็ได้ใส่ อดทนทั้งคืน นั่นคือลักษณะของโลภะ ให้อดทนเหมือนกัน แต่ความอดทนที่จะละโลภะ คิดดู เป็นเพื่อนสนิท พอเกิดมา ไม่มีใครรู้ว่าทันทีที่รู้สึกตัว มีความติดข้องในความเป็นทุกสภาพ ไม่ว่าจะเกิดเป็นอะไร ภพไหน ภูมิไหน
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 241
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 242
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 243
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 244
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 245
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 246
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 247
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 248
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 249
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 250
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 251
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 252
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 253
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 254
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 255
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 256
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 257
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 258
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 259
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 260
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 261
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 262
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 263
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 264
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 265
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 266
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 267
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 268
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 269
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 270
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 271
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 272
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 273
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 274
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 275
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 276
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 277
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 278
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 279
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 280
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 281
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 282
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 283
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 284
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 285
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 286
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 287
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 288
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 289
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 290
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 291
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 292
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 293
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 294
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 295
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 296
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 297
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 298
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 299
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 300