ปกิณณกธรรม ตอนที่ 262


    ตอนที่ ๒๖๒

    สนทนาธรรม ที่ วิทยาลัยการสาธารณสุขสิรินธร จ.พิษณุโลก

    พฤษภาคม พ.ศ.๒ ๕๔


    ท่านอาจารย์ แต่ความอดทนที่จะละโลภะ คิดดู เป็นเพื่อนสนิท พอเกิดมา ไม่มีใครรู้ว่าทันทีที่รู้สึกตัว มีความติดข้องในความเป็นทุกสภาพ ไม่ว่าจะเกิดเป็นอะไร ภพไหน ภูมิไหน ก็ยินดีติดข้องเหมือนเดี๋ยวนี้ที่เราก็ยินดีติดข้องในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส ในโผฏฐัพพะ ในความมีชีวิต แต่ว่าการที่จะละตัวนี้ สภาพธรรมที่เป็นศัตรูที่สนิทชิดเชื้อที่สุดได้หมดสิ้น ต้องอาศัยปัญญาระดับไหน ถ้าไม่มีปัญญาที่เป็นเหมือนกับประกายไฟสักจุดหนึ่งเล็กๆ แสงไฟใหญ่ๆ กองไฟโตๆ ก็มีไม่ได้ เพราะฉะนั้น เราไม่ได้หวังเลยว่า ใครจะมีปัญญาสามารถที่จะเข้าใจพระธรรมได้มากน้อยแค่ไหน ตามการสะสม แต่ถ้ามีโอกาสก็ให้เขาเป็นมิตรจริงๆ ให้สิ่งที่ถูกต้อง ให้ความหวังดี ที่จะไม่ให้เขาผิด หรือว่าจะให้สิ่งที่ผิดกับเขา เพราะเห็นว่าเป็นสิ่งที่ง่าย จะฆ่ามด หรือว่าจะช่วย แม้ว่าช่วยนั้นยากกว่า แล้วก็เสียเวลาด้วย ฆ่าง่ายนิดเดียว มดก็ตัวเล็กนิดเดียว ฟังแล้วหนักใจไหม หรือเบาใจ ไม่มีเรา เราเกิดมาก็มีเจตสิกแล้วแต่จะเป็นฝ่ายดี หรือฝ่ายไม่ดี แล้วแต่สภาพธรรมใดจะมีน้ำหนักมากกว่ากัน

    ผู้ฟัง บางครั้งจะมีความรู้สึกว่า การจะนำพระธรรมคำสอนมาใช้ในชีวิตประจำวัน หรือว่าใช้ในเชิงวิชาชีพ มันเป็นสิ่งที่ยาก แล้วบางครั้งเวลาเราทำ เราก็จะมีความรู้สึกสงสัย ไม่แน่ใจว่า ถูกต้องหรือเปล่า แล้วการให้ความรู้คนผิดๆ ก็คงจะเป็นโทษอย่างมหันต์ ความลังเลสงสัย ไม่แน่ใจจะเข้ามาตลอดเวลา แล้วบางครั้งเราก็รู้สึกว่า เราจะสวนกระแสไหวไหม เพราะว่ากระแสทางโลกยุคปัจจุบัน ต้องการอะไรที่ง่ายเบ็ดเสร็จสมบูรณ์ สะดวกสบาย แล้วก็ธรรมอยู่ในกระแสของความคิดของคนไทยว่า เป็นเรื่องที่ง่ายไปเสียแล้ว ก็เลยรู้สึกว่า บางทีก็พบอุปสรรคมากเหลือเกินในการทำงาน เพื่อพระศาสนา ความสงสัย ความลังเลใจ มันเป็นตัวที่บั่นทอนพอสมควร

    ท่านอาจารย์ วิธีที่จะหายสงสัย คือเราศึกษาเพิ่มขึ้นจนกระทั่งความสงสัยลดน้อยลงไป แต่ว่าเราก็คงจะไม่ลืมว่า โลกยุคนี้เป็นยุคเสื่อมของพระศาสนา อีกไม่นานเลยพระศาสนาจะอันตรธาน มีพระไตรปิฎกจริง มีอรรถกถาจริง มีตำราจริง แต่ไม่มีความเห็นถูกตามตำรา หรือว่าตามพระไตรปิฎกนั้น เท่ากับว่าเพิ่มความเห็นผิดอย่างรวดเร็วมาก ยิ่งความเห็นผิดแพร่หลายมากเท่าไร ก็บั่นทอนความถูกต้องของพระศาสนามากเท่านั้น ซึ่งเราไม่มีทางจะไปทำอะไรได้เลยกับจิตใจของคนกับยุคสมัยของโลก แต่เราสามารถจะช่วยตัวเองได้ โดยการที่ว่าเป็นคนหนึ่งที่ไม่เห็นผิด ต้องอาจหาญร่าเริงกล้าหาญจริงๆ ต่อการที่จะอยู่ฝ่ายถูก ถ้าเราเห็นอย่างนี้คงไม่มีใครเอาเราไปฆ่าตาย ถ้าจะไม่ได้ลาภ ไม่ได้ยศ ไม่ได้สรรเสริญเพราะสอนถูก ก็ไม่เห็นเป็นไร เพราะเราไม่ได้ต้องการลาภ ยศ สรรเสริญจากพระศาสนา หรือจากใดๆ เพราะว่าต้องเป็นเรื่องละ สิ่งหนึ่งซึ่งทุกคนจะหลงทางจากพระศาสนา คือ คำนึงถึงตัวเอง แล้วเป็นผู้ที่ติดในลาภ ยศ สรรเสริญ สักการะ แต่ถ้าเป็นผู้ที่เป็นเรื่องละโดยตลอด จะเห็นว่าลาภ ยศ สรรเสริญ สุข เป็นไปตามเหตุตามปัจจัย แล้วก็หมด ไม่เห็นมีอะไรที่ยั่งยืน การสรรเสริญจริงๆ สรรเสริญคุณความดี หรือสรรเสริญเกียรติยศ ชื่อเสียง เงินทอง ลองคิดดู ใครก็ตามที่มีเกียรติยศใหญ่ มีชื่อเสียงมาก มีเงินทองมหาศาล ก็เป็นที่ติเตียนในความประพฤติที่ไม่ดี ทางกายวาจา และรวมไปถึงใจด้วย ถ้าเป็นผู้ที่โหดร้าย แต่ว่าผู้ที่เป็นผู้ที่ดี เป็นกุศล ถึงจะไม่มีลาภ ยศ สรรเสริญ สุขอย่างนั้น แต่ก็ไม่มีใครไปติเตียน สิ่งหนึ่งที่เป็นอันตราย แม้แต่ผู้ที่ศึกษาธรรม คือ การติดในสักการะ ในลาภ ยศ สรรเสริญ

    เพราะฉะนั้น ต้องเป็นผู้ที่มั่นคงจริงๆ เพื่อการละ ไม่ว่าจะศึกษา ไม่ว่าจะทำงานเผยแพร่ศาสนา เป็นไปเพื่อการละ แต่ถ้าเป็นผู้ที่มีความเห็นถูกต้องจริงๆ จะเห็นคุณประโยชน์ของการเป็นผู้ที่มั่นคงในทางที่ถูกต้อง วันหนึ่งข้างหน้าก็จะได้ประโยชน์ใหญ่จริงๆ ที่จะเป็นผู้ที่ไม่ตามสิ่งที่ผิด หรือว่าตามหมู่คณะในทางที่ผิด เป็นผู้ที่กล้าที่จะยืนอยู่ในทางที่ถูกได้ ต้องเป็นที่สรรเสริญแน่ สำหรับผู้ที่มั่นคง

    ผู้ฟัง อะไรเป็นเหตุใกล้ให้เกิดสติกับสัมปชัญญะ

    ท่านอาจารย์ เชิญคุณสุภีร์

    สุภีร์ เหตุใกล้ให้เกิดของสติกับสัมปชัญญะ ก่อนจะทราบเหตุใกล้ให้เกิด ทราบก่อนว่า เหตุใกล้คืออะไร คำว่าเหตุใกล้ หมายถึงว่า สิ่งที่เป็นเหตุ เหตุหนึ่งที่ขาดไม่ได้เลยที่สติจะเกิด หรือว่าถ้าเป็นเหตุใกล้ของปัญญา คือสิ่งที่ขาดไม่ได้เลย ที่ต้องมีสิ่งนี้เท่านั้น ปัญญาถึงจะเกิดได้ อย่างนี้เรียกว่าเหตุใกล้ แต่เหตุมีมากมายหลายประการเหลือเกิน เหตุที่จะทำให้สภาพธรรมแต่ละอย่างเกิดขึ้น มีมากมายหลายประการเหลือเกิน เพราะเหตุว่าสติกับสัมปชัญญะ หรือว่าปัญญาก็เป็นสังขารธรรม จะมีเหตุปัจจัยปรุงแต่งจึงเกิดขึ้นเป็นสังขารธรรม การศึกษาธรรม คำแรกก็ต้องไม่ลืมด้วย เพราะเหตุว่า สติกับสัมปชัญญะเป็นสังขารธรรม ต้องอาศัยเหตุปัจจัยจึงเกิดขึ้นได้ มีเหตุปัจจัยมากมายหลายประการที่จะทำให้สติเกิด แต่เหตุใกล้ คือ เหตุที่ขาดไม่ได้ เหตุใกล้ก็คือเหตุที่ขาดไม่ได้เลยที่จะทำให้สติเกิด ในตอนนี้เรากล่าวถึงสติซึ่งเป็นสติปัฏฐาน เหตุใกล้ที่จะทำให้สติปัฏฐานเกิด คือ อารมณ์ของสตินั่นเอง ที่เราได้ทราบโดยชื่อมี กายานุปัสสนาสติปัฏฐาน เวทนานุปัสสนาสติปัฏฐาน จิตตานุปัสสนาสติปัฏฐาน และ ธัมมานุปัสสนาสติปัฏฐาน หรือเรากล่าวย่อๆ ว่า กาย เวทนา จิต ธรรม นี่คือเหตุใกล้ให้สติปัฏฐานเกิด ส่วนปัญญา คือ สมาธิที่ถูกต้องเป็นเหตุใกล้ให้ปัญญาเกิด เดี๋ยวจะให้ท่านอาจารย์อธิบายความเพิ่มเติม สำหรับเหตุใกล้ของสติปัฏฐาน คือ อารมณ์ของสติ นั่นเอง คือ กาย เวทนา จิต ธรรม ส่วนเหตุใกล้ของสัมปชัญญะ หรือว่าปัญญา คือ สัมมาสมาธิ

    ท่านอาจารย์ ความเข้าใจของเราสำคัญที่สุดว่า เราเข้าใจอะไร ระดับไหน นั่นเป็นเพียงชื่อ อย่างคำว่ากาย คืออะไร อยู่ที่ไหน เวทนา ถ้าเราไม่ศึกษาเมื่อกี้นี้ว่า เป็นเจตสิก และเป็นสัพพจิตตสาธารณเจตสิก เวทนาต้องเกิดกับจิตเสมอ ที่เวทนาจะไม่เกิด ไม่มีเลย ก็พอรู้จักเวทนา กายก็พอรู้จัก อยู่ที่ไหน กาย ก็มีคนแตะที่ตัว กาย เวทนา จิต พอรู้จักแล้วใช่ไหม ธรรม ทุกอย่างเป็นธรรม แต่ไม่รู้ เพราะฉะนั้น คือสิ่งที่มีอยู่ทั้งหมด ถ้าปัญญาจะรู้ก็รู้สิ่งที่มี ไม่ใช่สิ่งที่ไม่ปรากฏ ไม่ใช่สิ่งที่ยังไม่เกิดขึ้น แต่สิ่งเดี๋ยวนี้ที่มี พอเริ่มจะรู้ว่า เพียงฟังเข้าใจ หรือว่าสามารถที่จะรู้ลักษณะจริงๆ ของสภาพธรรมที่กล่าวถึงได้ แต่ว่าไม่ใช่เรื่องที่เป็นไปด้วยความต้องการหรือตัวเรา เดี๋ยวจะทำสติปัฏฐาน เดี๋ยวสติปัฏฐานจะเกิด นั่นไม่ใช่ความเห็นที่ถูกต้อง เพราะลืมความหมายของคำว่า อนัตตา ไม่ใช่เรา จะบังคับให้สติเกิดได้ไหม ถ้าบังคับได้บังคับเลย ไม่ให้ขาดเลย ก็เป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ เหมือนกับจะให้ได้ยินได้ไหม ถ้าไม่มีเสียงมากระทบหู ทำอย่างไรๆ ได้ยินก็เกิดไม่ได้ เพราะไม่มีเสียง จะกระทบหู แล้วจะไปทำให้ได้ยินเกิด เป็นไปไม่ได้ เพราะฉะนั้น ถ้าความรู้ความเข้าใจเรื่องของสภาพธรรมยังไม่พอ ก็ไม่มีปัจจัยที่จะให้สติปัฏฐานเกิด เพราะสติปัฏฐานจะเกิดต้องมีปัญญามาก่อน ถ้าไม่มีปัญญาขั้นฟัง ขั้นเข้าใจ สติปัฏฐานเกิดไม่ได้เลย มีกายก็จริง จะระลึกอย่างไร ถ้าเป็นคนที่ได้รับการบอกเล่าว่า ให้ระลึกก็ได้ แต่ไม่มีปัญญา ก็รู้ว่ากายอยู่ตรงนี้ พอกระทบสัมผัสก็แข็งนี่แหละ แต่ก็ไม่มีปัญญา เพราะว่าไม่รู้ว่าอะไร แล้วจะละกิเลสอะไรได้ จากการที่เพียงแต่กระทบกาย แล้วก็มีสิ่งที่เย็นบ้าง อ่อนบ้าง ร้อนบ้าง แข็งบ้าง ตึงบ้าง ไหวบ้างปรากฏ ยังคงเป็นความไม่รู้ ยังไม่ต้องไปคิดถึงเรื่องนั้นเลย แต่ว่าให้มีความเข้าใจเรื่องของธรรม เพราะว่าสติปัฏฐาน หมายความถึง สิ่งที่มีอยู่ทั้งหมด สติสามารถจะรู้โดยระลึก แล้วค่อยๆ เข้าใจ ปัญญาก็จะค่อยๆ เจริญขึ้นจนประจักษ์ลักษณะที่แท้จริงซึ่งไม่ใช่เรา แต่เป็นธรรมจริงๆ เกิดขึ้นแล้วก็ดับไปด้วย

    นี่คือความหมายของสติปัฏฐาน เป็นสติสัมปชัญญะที่เกิดรู้ลักษณะของสิ่งหนึ่งสิ่งใดก็ตามที่ปรากฏ โดยที่สติเกิดระลึกลักษณะนั้น แต่ถ้าสติยังไม่เกิด ยังไม่ระลึกลักษณะนั้น จะมีแต่เราต้องการที่จะให้สติเกิด ที่จะให้สติรู้ แต่ความจริงก็ไม่ใช่สติ เพราะเหตุว่าถ้าสติจะเกิดมีเหตุปัจจัย คือ สัญญาความจำที่มั่นคง สัญญาเป็นปรมัตถธรรมหรือเปล่า เป็น เป็นปรมัตถธรรมอะไร เจตสิกปรมัตถ สัญญาจำทุกอย่าง ตั้งแต่เริ่มเข้ามาในห้องนี้ มีสัญญาใหม่ซึ่งไม่เหมือนสัญญาเก่า คือสัญญาเก่าเป็นสัญญาเรื่องราว เรื่องตัวตน เรื่องสิ่งที่ปรากฏทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ แต่สัญญาใหม่คือเริ่มจำว่า มีทุกสิ่งทุกอย่างเป็นธรรมกำลังปรากฏด้วย แล้วมีหนทางที่จะรู้ความจริงของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ แต่หนทางนี้ต้องเกิดเพราะมีปัญญา ความรู้ความเข้าใจในสิ่งที่มีก่อน จนกระทั่งเป็นสัญญาความจำที่มั่นคงว่า ขณะนี้เป็นธรรม ไม่ว่าเราจะเรียกว่า ปรมัตถธรรม จะเรียกว่า สังขารธรรม จะเรียกว่า จิต หรือ เจตสิก รูป เพื่อรู้ความจริงว่า เป็นธรรม แต่ที่แสดงโดยนัยต่างๆ เพราะเหตุว่าธรรมมีหลากหลาย เมื่อวานนี้ทั้งหมดก็เป็นธรรม วันนี้ทั้งหมดทุกอย่างก็เป็นธรรม ถ้าเรามีความทรงจำที่มั่นคงจริงๆ ว่า ขณะนี้เป็นธรรม แล้วไม่ใช่เพียงจำชื่อ จำประโยคว่า ขณะนี้เป็นธรรม แต่ต้องถึงกระดูกหรือจรดกระดูก ถึงความมั่นคงว่า ขณะนี้เป็นธรรม เราระลึกอย่างนี้บ้างหรือเปล่า เรากำลังฟังเรื่องธรรมจริง แต่ทุกอย่างยังเหมือนเดิม จนกว่าฟังแล้วฟังอีก ฟังแล้วฟังอีก ระลึกว่าเป็นธรรมจริงๆ เมื่อไร เมื่อนั้นคือ สติเริ่มที่จะระลึกลักษณะที่เป็นธรรมของสิ่งที่มีจริงๆ ทุกขณะ ทุกวัน

    สติปัฏฐาน ไม่ใช่ว่าใครต้องการก็จะเกิดหรือใครไม่รู้ก็จะเกิด แต่สติปัฏฐานเกิดเพราะมีความเข้าใจเบื้องต้นในเรื่องของสิ่งที่มีจริงๆ ที่พระผู้มีพระภาคทรงตรัสรู้ และทรงแสดง จนกระทั่งความจำที่มั่นคงมีเมื่อไร เมื่อนั้นเพราะสติเกิด กำลังระลึกลักษณะที่เป็นธรรม ที่จริงทุกอย่างเป็นธรรม แต่เวลาที่แข็งปรากฏเป็นโต๊ะ เห็น มี แต่เป็นแก้วน้ำ

    เราไม่ได้รู้ลักษณะของสิ่งที่ปรากฏทางตาว่า สภาพธรรมที่ปรากฏทางตา เดี๋ยวนี้ อย่างนี้ โดยที่ยังไม่ต้องไปนึกถึงอะไรเลย หรือแข็งที่กำลังปรากฏ ยังไม่ทันจะนึกว่า เป็นโต๊ะ เป็นเก้าอี้ หรือเป็นอะไรเลย แต่ลักษณะแข็ง เริ่มที่จะใส่ใจ ลักษณะที่แข็งเพราะรู้ว่าเป็นธรรม เมื่อเป็นธรรมแล้ว ขณะนั้นจะมีความคิดอื่น ในขณะที่กำลังรู้ลักษณะของธรรมไม่ได้ เพราะฉะนั้น ขณะใดที่มีลักษณะของธรรมหนึ่งธรรมใดกำลังปรากฏ โดยสติระลึกตรงลักษณะนั้น เรื่องราวความคิดนึกต่างๆ จะไม่มีอยู่ในที่นั้น คนก็ไม่มีอยู่ในที่นั้น เพราะว่ามีสภาพที่รู้ แล้วก็มีสภาพที่แข็ง ลักษณะที่แข็งไม่ใช่สภาพที่รู้แข็ง

    นี่คือปัญญาตามที่ได้เรียนมาทั้งหมดว่า จิตเป็นสภาพรู้ หรือธาตุรู้ เป็นนามธรรม ส่วนรูปธรรมไม่สามารถจะรู้อะไรได้เลย ทุกอย่างต้องตรงแล้วก็สอดคล้องตั้งแต่เบื้องต้น จนถึงที่สุด

    สติปัฏฐานจะมีคำอธิบายว่า ตามรู้ หมายความว่ามีลักษณะที่ปรากฏ แล้วขณะนั้นสติสัมปชัญญะระลึก คือตามรู้ลักษณะที่เป็นปรมัตถ์ ไม่ใช่เป็นเรื่องราวต่างๆ จะเห็นว่า ทั้งหมดเป็นสิ่งที่มีจริงที่มีลักษณะเฉพาะอย่างๆ ทุกขณะตั้งแต่เกิดจนตาย เป็นธรรมทั้งหมด แต่ว่าเพียงฟังก่อน แล้วก็สติเริ่มระลึกบ้าง หรือหลงลืมบ้าง ก็จะเริ่มเห็นความต่างของขณะที่สติสัมปชัญญะซึ่งเป็นสติปัฏฐานเกิด กับขณะที่ไม่ใช่สติสัมปชัญญะ เป็นแต่เพียงขณะที่กำลังฟังเรื่องธรรมทั้งๆ ที่ลักษณะของธรรมปรากฏตลอดเวลา ทุกอย่างเป็นธรรม มีลักษณะจริงๆ ปรากฏทั้งวัน

    สติปัฏฐานจะเกิดเมื่อไรก็ได้ เดี๋ยวนี้ก็ได้ คนที่กำลังฟังพระธรรมเทศนาสามารถที่จะเป็นพระอริยบุคคล คือระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏ ในขณะที่ฟัง แล้วก็สามารถที่จะประจักษ์แจ้งแทงตลอดในการเกิดขึ้นแล้วดับไปของสภาพธรรมนั้น ก็รู้ว่าสิ่งที่ได้ยินได้ฟังเป็นความจริงทุกอย่าง คำเทศนาหรือพระธรรมที่ทรงแสดงเป็นความจริงทั้งหมดด้วยตนเองที่ได้ประจักษ์แจ้งความจริงนั้น นี่คือสติปัฏฐาน เป็นเรื่องการรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่มีจริงมากขึ้นตามลำดับ จากขั้นที่เริ่มฟัง จากขั้นที่เข้าใจ แล้วถึงขั้นที่จะประจักษ์แจ้ง เพราะว่าพระศาสนาต้องครบถ้วนทั้ง ๓ อย่าง ถ้ามีแต่เพียงการฟัง แต่ไม่มีใครสามารถที่จะประจักษ์จริงๆ อย่างนั้นได้ การฟังทั้งหมดของเราก็เป็นโมฆะ เหมือนฟังเรื่องซึ่งไม่สามารถจะพิสูจน์ได้ แต่ว่าตามความเป็นจริง สิ่งที่ได้ฟังเป็นความจริง พร้อมที่จะให้ผู้ที่ได้อบรมเจริญปัญญาสามารถประจักษ์ได้จริงๆ ต้องมีการศึกษาตามลำดับตั้งแต่ขั้นฟัง สุตมยปัญญา ขั้นคิดพิจารณาไตร่ตรอง สิ่งที่ได้ฟังแล้ว จินตามยปัญญา และภาวนามยปัญญา คือการอบรมเจริญปัญญาที่สามารถจะรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังมีจริงในขณะนี้ได้ ซึ่งก็ต้องยากขึ้นตามลำดับ ทั้งๆ ที่สิ่งที่มีจริง ยากที่จะรู้ เพราะว่าเกิดแล้วดับแล้วเร็วมาก แต่ก็มีสิ่งที่เกิดอีก ปรากฏอีก ให้เข้าใจได้อีก ไม่มีวันจบ สิ่งที่จะปรากฏให้ศึกษามีอยู่ทุกขณะ แม้ไม่มีหนังสือเลย เพียงขั้นฟังก็สามารถที่จะค่อยๆ พิจารณาเข้าใจได้ ตอนนี้มีข้อสงสัยอะไรบ้างไหม

    ผู้ฟัง ในเรื่องของโลภะ พอดีอ่านในเรื่องของความหมายเสร็จแล้ว มียกตัวอย่างในเรื่องของการอาบน้ำ การรับประทานอาหารก็เป็นโลภะเหมือนกัน เลยสงสัย ถ้าถือเป็นโลภะแล้ว เราไม่ต้องทำสิ่งเหล่านี้หรืออะไรอย่างนี้ เพราะว่าในชีวิตประจำวัน เราก็ต้องอาบน้ำ เราก็ต้องรับประทานอาหาร คิดอย่างนี้ ตอนแรก

    สุภีร์ สำหรับคำสอนของพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า แสดงความเป็นเหตุเป็นผลของสภาพธรรม ฉะนั้นการที่ท่านผู้ถามได้ถามเมื่อกี้นี้ ก็คงเป็นคำถามของหลายๆ ท่านว่า เวลาเราเห็นเสร็จเรียบร้อยก็มีกิเลสเกิดขึ้น อย่างที่ท่านอาจารย์อุปมาเหมือนกับว่า ต้นไม้ที่มียางอยู่ พอไปสะกิดนิดหน่อย ยางก็ออก เวลาเห็น กิเลสก็มาแล้ว เวลาได้ยิน กิเลสก็มาแล้ว อย่างนี้เราก็ไม่ต้องเห็น หรือว่าไม่ต้องได้ยิน นี่ไม่ใช่คำสอนของพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า เวลาเห็น แล้วปัญญาก็สามารถเกิดได้ รู้ความจริงได้ว่า เป็นสภาพธรรมอย่างหนึ่ง เป็นจิตอย่างไร เป็นเจตสิกอย่างไร ที่เราศึกษากันมา แต่อันนี้ก็แล้วแต่ปัญญาของแต่ละคนว่า จะมีความรู้ได้ขนาดไหน ฉะนั้นการที่จะดับกิเลส ที่มาทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจก็ดี การดับไม่ใช่ว่าเห็นสิ่งใดแล้ว เกิดกิเลส ก็ไม่ต้องเห็นอีก แต่ว่าดับที่เหตุซึ่งท่านก็แสดงว่า เป็นสมุทัย เคยได้ยินไหม มีทุกข์ สมุทัย เวลาจะดับทุกข์ ดับที่เหตุให้เกิดทุกข์ คือดับที่สมุทัย ฉะนั้นธรรมทุกอย่างมีเหตุให้เกิด เวลาจะดับก็ดับที่เหตุ ซึ่งสิ่งที่จะดับได้ก็ปัญญาเท่านั้นที่จะดับได้ ปัญญาเป็นความเข้าใจที่ถูกต้อง รู้ว่าอะไรเป็นอะไร รู้ว่าเป็นธรรมอย่างไร เกิดดับอย่างไร อันนี้เป็นคำตอบย่อๆ

    ท่านอาจารย์ เมื่อกี้ได้ยินว่า ถือว่าเป็นโลภะ ใช่ไหม แล้วทำไมเราจะถือกันด้วยความคิดของเราเอง หรือว่าสภาพนั้นเป็นโลภะจริงๆ ในพระพุทธศาสนาไม่ใช่มีการถือตามใจชอบว่าอยากจะให้เรียกอันนี้เป็นโลภะ หรืออันนั้นต้องเป็นกุศล แต่ลักษณะแท้จริงของสภาพธรรมนั้นเป็นอย่างไร เป็นสิ่งที่เราจะต้องไตร่ตรอง ไม่ใช่ถือความเห็นของเรา อย่างบางคนบอกว่า เขาไม่มีโลภะเลย เขาไม่เห็นอยากได้อะไรของใครเลย จะว่าเขามีโลภะได้อย่างไร เขาถือว่าเขาไม่มีโลภะ นั่นคือความเห็นส่วนตัว แต่ว่าตามความเป็นจริง ธรรมเป็นจริงอย่างไร ใครจะเห็นด้วยไม่เห็นด้วยอย่างไร ก็เปลี่ยนลักษณะของสภาพธรรมนั้นไม่ได้ เพราะฉะนั้น ปัญญา คือสามารถที่จะเข้าใจถูกต้อง จริงๆ แล้วก็เป็นผู้ที่ตรง ถ้าพูดถึงธรรม จะมีชื่อสุจินต์ จะมีชื่อสุภีร์ ไหม ไม่มี เป็นธรรม โลภะ เกิดขึ้นกับเด็ก กับผู้ใหญ่ กับผู้หญิง ผู้ชาย กับขอทาน พระราชามหากษัตริย์ หรือกับใครก็ตามแต่ โลภะทำหน้าที่ของโลภะ จะทำหน้าที่อื่นไม่ได้ หน้าที่ของโลภะ คือ ติดข้อง ต้องการ แต่ว่าความติดข้องต้องการไม่ได้ใหญ่โตมหาศาล จนกระทั่งทำให้เรารู้สึกว่า เราอยากจะได้ ถึงจะเป็นโลภะ แต่เพียงแค่เห็น เรามีความติดในสิ่งที่เห็น และในการเห็นไหม เรียกว่าเราเกิดมา เราอยากเห็นหรือเปล่า หรือไม่อยากเห็น เวลาเกิดมาแล้ว อยากได้ยินหรือเปล่า หรือไม่อยากได้ยิน ถ้าตาเรากำลังใกล้จะบอดจะเสีย เราต้องไปหาหมอ ใช่ไหม คือรักษาเพื่อที่จะให้มีการเห็นต่อไป

    ลักษณะของความติดข้องต้องการ ไม่ใช่เป็นไปในลักษณะของสภาพทีต้องการมากๆ จึงจะเรียกว่า โลภะ ไฟนิดเดียวก็ร้อน กองใหญ่ๆ ก็ร้อน หรือกลิ่นเหม็น แม้แต่เพียงส่วนอณูเล็กที่สุดก็เหม็น เมื่อรวมแล้วก็เป็นลักษณะของกลิ่นที่เหม็นมาก ฉันใด ลักษณะของโลภะก็ฉันนั้น คือแม้แต่เพียงความติดข้องอย่างบางที่สุดก็เป็นโลภะ ไม่ทราบเมื่อกี้นี้มีใครไปล้างมือบ้างหรือเปล่า คงยังไม่ล้าง ยังไม่ได้ออกไปข้างนอก แต่เวลาที่จะกลับมาเข้าบ้าน หรืออะไรนี่ เราก็ล้างมือ ถูสบู่ มือดูสะอาดดี ไม่เห็นเปื้อนน้ำหมึก หรืออะไรสักอย่างเดียว แต่ยังมีสีดำๆ ออกมา หรือเสื้อผ้าที่เราใส่ก็ต้องมีการซัก อะไรออกมา สิ่งที่สกปรก น้ำก็ดำ ฉันใด เราจะมีอกุศลประเภทที่จางที่สุด ที่ไม่สามารถจะรู้ได้เลย เช่น อาสวะ อีกคำหนึ่งของพระอรหันต์ที่ในพระไตรปิฎกใช้ คือ ขีณาสวะ ขีณะแปลว่าดับ หมดสิ้น อาสวะ คือกิเลส อย่างบางหรืออย่างจาง ก็ไม่มีเลย สำหรับพระอรหันต์ แต่สำหรับคนที่ไม่รู้ ถ้ากิเลสอย่างหยาบๆ ไม่เกิด ทั้งๆ ที่เขาไม่ใช่พระอรหันต์ เขาก็คิดว่าเขาไม่มี พวกที่ทำสมถภาวนาอย่างถูกต้องในครั้งพุทธกาล จิตสงบมาก สามารถที่จะบรรลุความสงบของจิต ที่ใช้คำว่า ฌานจิตขั้นต่างๆ ตั้งแต่ขั้น ปฐมฌาน ทุติยฌาน ตติยฌาน จตุตถฌาน ปัญจมฌาน เห็นได้เลยว่าความสงบเพิ่มขึ้นๆ แต่ว่าถ้าไม่มีปัญญา ไม่สามารถที่จะเห็นความต่างขณะที่เป็นฌานขั้นต้น กับฌานขั้นที่ ๒ เพราะขณะนั้นไม่ใช่สงบอย่างที่เราเข้าใจว่า เรากำลังจดจ้องที่หนึ่งที่ใดแล้วสงบ นั่นไม่ใช่อุปจารสมาธิ ไมใช่อัปปนาสมาธิ ไม่ใช่ฌานจิต เราก็ยังหลงคิดว่า นั่นแหละสงบมากแล้ว แต่ถ้าเป็นในระดับนั้น ผู้ที่มีความสงบบ่อยๆ แต่ไม่มีปัญญาที่จะรู้ลักษณะของจิตจริงๆ ไม่มีปัญญาที่จะรู้ลักษณะของสภาพธรรมจริงๆ ท่านเหล่านั้นเข้าใจว่า ตัวเองหมดกิเลส แม้แต่อุทกดาบส อาฬารดาบส ซึ่งเป็นผู้ที่พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ทรงไปศึกษาเรื่องของฌานจิตด้วย ทั้ง ๒ ท่านซึ่งเป็นอาจารย์ ไม่รู้ว่าตัวเองไม่รู้ ก็เชื้อเชิญพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าให้เป็นผู้สอนสำนักเดียวกับท่าน แต่พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้ารู้ว่า ทั้ง ๒ ท่านไม่รู้ความจริง นี่คือปัญญาที่สะสมมาถึงระดับขั้น ที่จะได้เป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า จึงสามารถที่จะรู้ได้แม้ขณะนั้นที่เข้าใจว่าสงบ ความจริงเมื่อปัญญายังไม่รู้ลักษณะของสภาพธรรมตามความเป็นจริง จะสงบได้อย่างไร

    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 97
    18 พ.ย. 2567