ปกิณณกธรรม ตอนที่ 263


    ตอนที่ ๒๖๓

    สนทนาธรรม ที่ วิทยาลัยการสาธารณสุขสิรินธร จ.พิษณุโลก

    พฤษภาคม พ.ศ.๒ ๕๔


    ท่านอาจารย์ นี่คือปัญญาที่สะสมมาถึงระดับขั้นที่จะได้เป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า จึงสามารถที่จะรู้ได้ แม้ขณะนั้นที่เข้าใจว่าสงบ ความจริงเมื่อปัญญายังไม่รู้ลักษณะของสภาพธรรมตามความเป็นจริง จะสงบได้อย่างไร ในเมื่อยังมีความเป็นเราที่ได้ฌาน หรือว่าเป็นเราที่สงบ เพราะฉะนั้น ก็ยังมีความสำคัญตนว่าเป็นเราอยู่

    ด้วยเหตุนี้กิเลสจึงมีทั้งอย่างละเอียด เช่นในขณะที่นอนหลับสนิท คนที่หลับที่เป็นโจร กับคนที่หลับที่เป็นปุถุชน กับคนที่หลับที่เป็นพระอรหันต์ มีความต่างกัน เวลาที่พระอรหันต์ตื่น ไม่มีกิเลสเลย แต่คนที่หลับแล้วตื่นที่ยังมีกิเลสอย่างละเอียดที่ยังไม่ได้ดับ ทันทีที่ตื่นก็เป็นกิเลสเป็นความเศร้าหมอง เป็นสภาพของจิตที่ติดข้องในสิ่งที่มีอยู่ในขณะนั้นที่ปรากฏ จะกล่าวว่าไม่มีโลภะ กล่าวไม่ได้ แต่ว่าขณะใดที่กุศลจิตเกิด ขณะนั้นเจตสิกที่เป็นฝ่ายโสภณเกิด จึงเป็นกุศล เพราะฉะนั้น จึงมีเจตสิกซึ่งตรงกันข้ามกัน โลภะเป็นอกุศลเจตสิก อโลภะเป็นโสภณเจตสิก โทสะเป็นอกุศลเจตสิก อโทสะเป็นโสภณเจตสิก โมหะเป็นอกุศลเจตสิก ปัญญาเป็นโสภณเจตสิก เพราะฉะนั้น ก็มีสภาพธรรมที่เกิดขึ้นทำกิจการงานตามเหตุตามปัจจัย ขณะใดที่เป็นอกุศลก็เพราะอกุศลเจตสิกเกิด ขณะใดที่เป็นจิตที่ดี ก็เพราะโสภณเจตสิกเกิด ตามเหตุตามปัจจัย ต้องรู้ ทั้งหมดนี้ต้องรู้ แล้วการรู้ ไม่ใช่ว่านึกเอา พระไตรปิฎก และอรรถกถาไม่ใช่สำหรับอ่าน แต่สำหรับเรียน สำหรับศึกษา สำหรับพิจารณาให้เข้าใจ มิฉะนั้นแล้วคนเราก็ไม่ต้องไปไหนเลย หยิบหนังสือแพทย์มาก็อ่านเองตั้งแต่ต้น ผ่าตัดไปได้เสร็จ แต่จริงๆ แล้วไม่ใช่อย่างนั้นเลย ต้องเป็นการเข้าใจจริงๆ การพิจารณาเข้าใจจริงๆ แล้วคนนั้นก็จะรู้ว่า ความเข้าใจของเขายังน้อย ผิวเผิน หรือว่าเริ่มลึก แล้วเริ่มถูกต้องมากขึ้น อันนี้ก็เป็นแต่ละคน เพราะปัญญาเกิดขึ้นจึงรู้ แต่ถ้าปัญญาไม่เกิดก็ไม่รู้ ก็เพียงเดาแล้วถือเอา ขณะใดที่ถือเอา ขณะนั้นก็ไม่ใช่ปัญญา เรื่องธรรมก็เป็นเรื่องใหญ่ เป็นเรื่องโลก เป็นเรื่องชีวิต เป็นเรื่องทุกขณะที่มี

    ผู้ฟัง ขอเรียนถามว่า จะเริ่มต้นจากเล่มไหน เป็นขบวนการที่จะให้ไปได้เร็วขึ้น

    ท่านอาจารย์ โลภะมีทุกวัน โทสะก็มีทุกวัน ธรรมก็มีทุกวัน ถ้าฟังวิทยุ หรือฟังรายการเทปของมูลนิธิ เป็นชีวิตประจำวัน เมื่อไรก็เมื่อนั้น ประเดี๋ยวเราก็มีโลภะ ประเดี๋ยวเราก็มีกุศล ก็เป็นเรื่องของสภาพธรรมที่มีจริงๆ แต่ว่าถ้าจะศึกษาพระไตรปิฎก ๓ ปิฎก ก็ควรที่จะตั้งต้นที่พระอภิธรรมปิฎก เพราะว่าเป็นการตรัสรู้ธรรม ซึ่งถ้าไม่มีการตรัสรู้อย่างนี้ พระสุตตันตปิฎก และพระวินัยปิฎกก็มีไม่ได้ แต่ว่าการที่จะหยิบพระไตรปิฎก โดยเฉพาะพระอภิธรรมปิฎกขึ้นมาอ่านเอง รับรองได้ว่าไม่มีใครสามารถจะเข้าใจได้ เพราะว่าท่านแสดงกับท่านพระสารีบุตร พระอัครสาวกในครั้งที่เสด็จขึ้นไปแสดงพระอภิธรรมโปรดพระพุทธมารดา แล้วบนสวรรค์ก็มีบรรลุมรรคผล มีการที่เข้าใจอริยสัจธรรมได้ด้วย ไม่ใช่แต่เฉพาะในมนุษย์ แต่ว่ามีพระอรรถกถาจารย์รุ่นหลังซึ่งท่านก็ได้เก็บข้อความจากพระอภิธรรมปิฎกมาประมวลเป็น อภิธัมมัตถสังคหะหลายๆ สำนัก ทุกสำนักก็จะศึกษากันตาม อภิธัมมัตถสังคหะ ซึ่งเริ่มด้วย จิตปรมัตถ์ กล่าวถึงเรื่องจิตทั้งหมด แต่ว่าจริงๆ แล้วในสมัยพุทธกาล ไม่มีการแยกเป็นปริจเฉทที่ ๑ หรือแยกจิตจากเจตสิกเลย แสดงรวมกันไปได้ คือ ทุกอย่างเป็นธรรม อย่างที่พอพูดถึงปรมัตถธรรม ก็พูดถึงเรื่องจิต เจตสิก นามธรรม รูปเป็นรูปธรรม ไม่ต้องไปคอยถึงปริจเฉทที่ ๖ ซึ่งเขาจะแสดงเรื่องของรูปโดยละเอียด แต่เราก็สามารถที่จะกล่าวพื้นฐานทั่วๆ ไปได้ แล้วก็ศึกษาตาม เพราะฉะนั้น อย่ารั้งรอหรือรีรอที่จะฟังอะไรก็ได้ ที่เกี่ยวกับธรรมที่มีจริงๆ ที่กำลังปรากฏ ฟังวันนี้ก็ไปต่อกับวันหลังได้ เหมือนกับวันนี้ก็มีตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ เมื่อวานนี้ก็มี ก็ไม่ต้องคอยว่าจะไปรู้ตาก่อน หรือหูก่อน จมูกก่อน ลิ้นก่อน เป็นสิ่งที่พิสูจน์ได้ทุกขณะ

    ผู้ฟัง คำว่า ดูกร ดู-กะ-ระ คืออะไร

    สุภีร์ คำอย่างนี้เป็นบอก เป็นคำร้องเรียก อย่างเวลาเรารู้จักกัน อย่างผมเรียกท่านอาจารย์ จะพูดกับท่านอาจารย์ ก็ต้องเรียกก่อน ท่านอาจารย์ครับ เรียก คือ ดูกร ดูก่อน นั่นเอง เวลาพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าจะแสดงธรรมกับภิกษุทั้งหลาย เรียกก่อนว่า ภิกขเว ดูกรภิกษุทั้งหลาย ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ก็เหมือนเราทั่วๆ ไป ถ้าเรารู้จักกันเราก็เรียกว่า คุณ ก. คุณ ข. ก็ว่าไป ถ้าไม่รู้จักก็ท่าน คุณ อย่างนี้เฉยๆ เป็นคำร้องเรียกก่อนที่จะพูดกัน ก็เรียกก่อน ก็เป็นธรรมดา อยู่มาดีๆ เห็นหน้ากันจะพูดเลย ก็ไม่เหมาะ ก็จะเรียกก่อน

    ท่านอาจารย์ พอเรียกแล้ว สนใจไหมที่ถูกเรียก เพราะฉะนั้น ถ้าถูกเรียกแล้วก็สนใจฟัง เพราะว่าพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงเรียกเพื่อที่จะให้ฟัง บางทีก็กำลังคุยกัน บางทีก็นึกถึงเรื่องอื่น บางทีกำลังคิดอะไรค้างๆ อยู่ ขณะนั้นก็จะพลาดโอกาสที่จะได้ยิน แม้สักคำเดียวซึ่งก็ไม่ควรที่จะพลาด ด้วยเหตุนี้จึงตรัสเรียกก่อนเพื่อที่จะได้ทรงแสดงธรรม แล้วเมื่อกี้นี้ถ้าไม่มีคำว่า หนอ จะเข้าใจมากกว่ามีคำว่า หนอ ในภาษาไทยหรือเปล่า ลองคิด คือเป็นความไพเราะของภาษาบาลี จริง แต่ว่าอรรถในภาษาไทย ถ้าใช้คำนั้นแล้วก็จะรู้สึกว่าเข้าใจ หรือว่าไม่ใช้ก็เข้าใจ อย่างสังขารทั้งหลายไม่เที่ยง เพียงเท่านี้เข้าใจ แต่พอสังขารทั้งหลายไม่เที่ยงหนอ เข้าใจไหม หนอ ที่ถามเพราะไม่เข้าใจ ใช่ไหม เพราะฉะนั้น สิ่งใดที่ทำให้ไม่เข้าใจก็ไม่จำเป็น นั่นเป็นเรื่องของภาษา แต่เรื่องของความเข้าใจอรรถนั้น เป็นอีกเรื่องหนึ่ง ก็ต้องพิจารณาว่า เพียงคำว่า สังขารทั้งหลายไม่เที่ยง เราเข้าใจได้ ไม่จำเป็นที่จะต้องเพิ่มคำที่ทำให้เราสงสัย หรือว่าไม่เข้าใจ แล้วเวลาที่บอกว่า สังขารทั้งหลายไม่เที่ยงหนอ คิดอย่างไร หรือเวลานี้ สังขารทั้งหลายก็ไม่เที่ยง ก็ต้องอุทานออกมาว่า สังขารทั้งหลายไม่เที่ยง หรืออย่างไร แบบที่ว่าบางคนบอกว่าเวลาได้ยิน ให้พูด หรือ ให้คิดว่า ได้ยินหนอ เคยได้ยินไหม ขณะที่กำลังได้ยิน ทุกคนได้ยินเป็นปกติ พูดหรือเปล่าว่าได้ยิน ไม่พูด แล้วทำไมต้องพูดว่าได้ยินหนอ เพื่ออะไร เตือนสติว่าอย่างไร เพราะขณะนั้นได้ยินหมดแล้ว ใช่ไหม ได้ยินหมดแล้ว แล้วก็พูดว่าได้ยิน แล้วก็หนอ ในขณะที่ไม่ได้ยิน ขณะที่ไม่ได้ยิน นึกถึงคำว่า ได้ เพราะว่าขณะที่นึกถึงคำว่าได้ ขณะนั้นจะมีเสียงเป็นอารมณ์ไม่ได้ จะรู้เสียงไม่ได้ ต้องนึกถึงคำ มีคำเป็นอารมณ์ เพราะฉะนั้น การศึกษาธรรม ต้องทราบว่า ปรมัตถธรรมเป็นสิ่งที่มีจริง มีลักษณะเฉพาะแต่ละอย่างจริงๆ แต่ว่าสิ่งที่รวมกัน แล้วก็เกิดความทรงจำว่า เป็นสิ่งหนึ่งสิ่งใด หรือแม้แต่คำภาษาที่ใช้ ไม่ใช่ปรมัตถธรรม แต่เป็นบัญญัติ หมายความว่าเป็นสิ่งที่กล่าวขานให้รู้ความหมายของสิ่งนั้น เชิญคุณสุภีร์ให้ความหมายคำว่า บัญญัติ ด้วย

    สุภีร์ คำว่า บัญญัติ มาจากภาษาบาลีว่า ปญฺตฺติ ตฺติ แปลว่า ให้รู้ คำหน้าคือ มาจากศัพท์ ๒ ศัพท์ ป บทหน้า แปลว่า ประการนั้นๆ ประการต่างๆ หลายๆ ประการ ตฺติ แปลว่าให้รู้ ให้รู้โดยประการนั้นๆ หลายๆ ประการ ให้รู้ว่าอะไรเป็นอะไร อันนี้ตามศัพท์ของปญฺตฺติ หรือว่าบัญญัติ มาจากคำว่า ป บทหน้าแปลว่าประการนั้นๆ ประการต่างๆ ญัตติ แปลว่าให้รู้ ให้ตัวเองรู้ก็ได้ ให้คนอื่นรู้ก็ได้โดยประการต่างๆ หลายๆ ประการ

    ท่านอาจารย์ ชื่อทั้งหมดเป็นบัญญัติ แต่สภาพธรรม แม้ไม่มีชื่อก็มีลักษณะของสภาพธรรมนั้นๆ แต่จำเป็นต้องใช้ชื่อ เพื่อที่จะได้ให้เข้าใจว่าหมายความถึงสภาพธรรมอะไร ทุกคนมีชื่อหมดเลย ใช่ไหม ความจริงก็คือขันธ์ ๕ รูปขันธ์ เวทนาขันธ์ สัญญาขันธ์ สังขารขันธ์ วิญญาณขันธ์ แล้วจะเรียกอย่างไร ถ้าไม่มีชื่อทำให้สะดวกขึ้น ขันธ์ทางซ้าย ขันธ์แถวที่ ๖ หรืออะไรอย่างนี้ก็ลำบาก หรือว่าขันธ์ ๕ สร้างพระวิหารเชตวัน แต่ถ้ากล่าวว่าท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐีสร้างพระวิหารเชตวัน เราก็เข้าใจได้ เราก็ไม่เข้าใจผิดว่าหมายถึงขันธ์ ๕ ไหน ก็ขันธ์ที่ใช้คำว่า ท่านอนาถบิณฑิกะ ใช้ชื่อนั้นเป็นผู้สร้าง นี่ก็ต้องเป็นเรื่องที่ต้องเข้าใจว่ามี ๒ อย่าง สมมติสัจจะกับปรมัตถสัจจะ ถ้าสมมติสัจจะก็เป็นบัญญัติ ถ้าปรมัตถสัจจะก็เป็นปรมัตถ์ คุณสุภีร์ช่วยยกตัวอย่าง สมมติสัจจะด้วย

    สุภีร์ สมมติสัจจะ ก็เป็นความจริงโดยสมมติ ที่สมมติในภาษาไทยจริงๆ มาจากภาษาบาลีอีกนั่นแหละ มาจากคำว่า สมฺมติ แยกออกมาเป็น ๒ คำ สํ + มติ สํ คือ พร้อมกันหลายๆ คน มติแปลว่า รู้ สำเร็จรูปเป็น สมฺมติ คือ รู้กันหลายๆ คน แต่ละกลุ่มๆ ภาษาไทยเรียกว่า สมมตินั่นเอง มาจากบาลีว่า สมฺมติ คือ รู้กันหลายๆ คน ในกลุ่มๆ หนึ่งก็สมมติกันว่า อันนี้เป็นคนนะ คนนี้ชื่อนาย ก. อย่างผมก็สมมติกันว่าเรียก สุภีร์ เรียกว่ามีเฉพาะกลุ่มนี้เท่านั้นเองที่รู้ เรียกว่า สมฺมติ หรือว่าสมมติ ในกลุ่มที่ศึกษาธรรมด้วยกัน เช่นเดียวกัน อย่างเวทนา ถ้าคนไม่ศึกษาธรรม เขาก็จะเข้าใจอย่างอื่นมากมาย กลุ่มคนที่ศึกษาธรรมก็ใช้คำนี้ เรียกธรรมอย่างใดอย่างหนึ่ง สมมติคำนี้เรียกว่า เวทนา เวลากล่าวถึงคำนี้ ทุกคนก็เข้าใจกัน สำหรับกลุ่มที่ศึกษาธรรมก็จะเข้าใจว่า เป็นสภาพธรรมชนิดหนึ่งที่รู้สึกกับอารมณ์ รู้สึกดีใจบ้าง เสียใจบ้าง ทุกข์ สุขบ้างหรือว่าเฉยๆ บ้าง อะไรอย่างนี้ ก็ใช้คำๆ หนึ่งเรียกขึ้นมา แต่ถึงไม่เรียกก็มี เพราะว่าเวทนาเจตสิกเป็นปรมัตถธรรม แต่เราก็ใช้ชื่อเรียกว่า เวทนา เพื่อว่าคนที่ศึกษา คนที่คุยกันในเรื่องพระพุทธศาสนาจะได้เข้าใจกัน หรืออย่างคำว่า สติปัฏฐาน เราก็เป็นคำๆ หนึ่งที่ใช้เรียกสภาพธรรมอย่างใดอย่างหนึ่ง จริงๆ สภาพธรรมอย่างนั้นก็มี ถ้าเกิดกับใครสำหรับบุคคลที่เข้าใจ มีเหตุปัจจัยพอที่สติปัฏฐานจะเกิด ก็ใช้คำว่าสติปัฏฐาน เรียกชื่อเพื่อที่จะได้เข้าใจกัน เวลาคุยกัน ตอนนี้กำลังคุยกันเรื่องนี้ อย่างนี้ เรียกว่า สมมติสัจจะ จะเป็นเรื่องที่มีจริงหรือไม่มีจริงก็ตาม บางเรื่องที่สมมติกันขึ้นมา เป็นเรื่องที่มีจริง อย่างเช่น เรื่องจิต เจตสิก รูป อย่างจิตเห็น ไม่ต้องเรียกว่า จิตเห็น ก็เห็น แต่เวลาเราเรียกเป็นชื่อ โดยภาษาบาลี เราเรียกว่า จักขุวิญญาณ อย่างนี้เป็นชื่อของจิตเห็น ซึ่งเวลาเราคุยกัน เราก็จะได้รู้ว่า ตอนนี้ เราคุยถึงเรื่องนี้อยู่ แต่จริงๆ แล้วไม่ใช้ชื่อก็มี เพราะเหตุว่าเป็นปรมัตถธรรม นี่เป็นการสมมติในสิ่งที่มีจริง อย่างรูปแข็งอ่อน เราเรียกว่า ปฐวีธาตุ อย่างนี้ก็ปฐวีธาตุเป็นสมมติสัจจะ คือ เป็นความจริงที่ใช้สมมติเรียกสิ่งที่มีจริง บางทีสมมติก็เรียกสิ่งที่ไม่มีจริงก็ได้ อย่างเช่น คน สัตว์ บุคคลต่างๆ อย่างนี้ เรียกว่าเป็นแก้วน้ำ จริงๆ ก็เป็นแค่สิ่งที่ปรากฏทางตาเท่านั้นเอง อันนี้เป็นสมมติสัจจะ

    ท่านอาจารย์ พอจะเข้าใจความต่างของสัจธรรม ที่เป็นปรมัตถสัจจะกับสมมติสัจจะ ว่าถ้าเป็นปรมัตถสัจจะ หมายความถึงเป็นปรมัตถธรรม มีจริงๆ เป็นสิ่งที่มีจริง ที่เป็นปรมัตถ์ แต่ถ้าเป็นสมมติสัจจะ คือเป็นสิ่งที่มีจริง โดยคำที่ใช้ ให้เข้าใจความหมายนั้นเท่านั้น เช่น ถ้วยแก้ว เป็นสัจจะไหน ปรมัตถสัจจะ หรือสมมติสัจจะ ถ้วยแก้ว สมมติสัจจะ จาน ช้อน ส้อม พวกนี้ก็สมมติสัจจะ แต่ลักษณะที่แข็ง เป็นปรมัตถสัจจะ เพราะฉะนั้น ก็สามารถที่จะแยกสิ่งที่มีลักษณะจริงๆ ที่เป็นปรมัตถธรรม จริงโดยความที่เป็นลักษณะนั้น ที่เปลี่ยนแปลงไม่ได้ เป็นปรมัตถสัจจะ มีสมมติสงฆ์ไหม เพราะว่าความจริง ถ้าเป็นพระรัตนตรัย พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ สงฆ์ที่นั่น หมายความถึงพระอริยบุคคล ไม่ใช่สมมติสงฆ์ เพราะฉะนั้น ก็สามารถที่จะแยกได้ เวลาที่กล่าวถึงพระรัตนตรัย ต้องหมายความถึงผู้ที่เป็นพระอริยสาวก จึงจะเป็นพระสังฆรัตนะ แต่ละคนจะมีศีล มีความประพฤติขัดเกลามากน้อยสักแค่เท่าไรก็เป็นเรื่องที่ทำเฉพาะตัว ไม่ใช่ทำเพื่อประกาศ หรือให้คนอื่นชื่นชม อนุโมทนา รับรู้หรืออะไร ต่างๆ ทั้งสิ้น ถ้าผู้ใดอ่านพระวินัยปิฎก ทั้งๆ ที่เป็นคฤหัสถ์จะเห็นได้จริงๆ ว่า ที่พระผู้มีพระภาคทรงบัญญัติความประพฤติที่ดีงามทั้งกาย วาจา ยิ่งกว่าของคฤหัสถ์ ก็แสดงให้เห็นว่าผู้ที่อยูในเพศ สมณะ ต้องสงบจริงๆ ระดับไหนแค่ไหน ไม่ใช่จะเหมือนอย่างคฤหัสถ์ แต่ทุกข้อที่บัญญัติเพื่อขัดเกลายิ่งขึ้น เพื่อความสงบ เป็นเรื่องเฉพาะตัว ซึ่งคฤหัสถ์เวลาอ่านแล้ว ถ้าเห็นว่าสิ่งนี้ดี น่าประพฤติปฏิบัติตาม ทำได้ไหม ไม่มีข้อห้ามเลย ต้องไปบอกใครไหมว่า เรามีศีลมากกว่านั้นอีก เราเที่ยวไปเก็บเล็กเก็บน้อยจากพระวินัยมาประพฤติปฏิบัติ แล้วเราก็ไม่มีความจำเป็นที่จะต้องนับว่าเรามีตั้งเท่านั้น หรือมีตั้งเท่านี้ แต่สิ่งใดที่ดีงามที่ทรงบัญญัติไว้ สำหรับพระภิกษุ คฤหัสถ์ที่เห็นสมควรจะกระทำตามได้ ก็ทำโดยที่ว่ายังเป็นเพศของคฤหัสถ์ แล้วก็ไม่จำเป็นที่จะต้องไปบอกใครว่า มีการกระทำที่เป็นไปตามพระวินัยเพิ่มขึ้น เป็นศีลข้อนั้นข้อนี้ เพราะว่าทั้งหมดของพระพุทธศาสนา เป็นเรื่องของการขัดเกลา ที่ใช้คำว่าพระวินัยเป็นรากแก้วของพระศาสนา แสดงให้เห็นว่า ถ้าไม่เป็นไปเพื่อการขัดเกลา พระธรรมทั้งหมดไร้ประโยชน์ เป็นไปเพื่อความมานะ ความสำคัญตน ไม่ได้มีความงอกงามเจริญในพระธรรม เพราะว่าไม่ได้ขัดเกลา ใครก็ตามที่จะศึกษาพระธรรม มีความรู้มาก มีความแตกฉาน หรือจะถึงความเป็นพระอริยบุคคลก็ตาม แต่ไม่เป็นไปเพื่อการอวด หรือไม่เป็นไปเพื่อลาภสักการะ

    ด้วยเหตุนี้พระศาสนาจึงดำรงมั่นคงอยู่ได้ เมื่อเป็นไปด้วยการละ แต่ถ้าเริ่มที่ผู้หนึ่งผู้ใดไม่เป็นไปเพื่อการละ มีความสำคัญตนในความรู้ มีความสำคัญตนในการบรรลุธรรม มีความสำคัญตนในตำรับตำรา มีความสำคัญตนในการมีบุคคลที่นับถือยกย่อง ผู้นั้นเหมือนตายจากพระธรรมวินัย ไม่มีการที่จะงอกเงยได้ เพราะเหตุว่าไม่ได้ขัดเกลา ด้วยเหตุนี้พระพุทธศาสนาจะยั่งยืน มีพระวินัยเป็นรากแก้ว เพราะว่าเป็นเครื่องขัดเกลายิ่งกว่าเพศคฤหัสถ์ เพราะฉะนั้น สำหรับผู้ที่จะเป็นบรรพชิต ต้องมีความสำนึกว่า การที่จะเข้าไปสู่พระธรรมวินัย ต่างกับคฤหัสถ์ เหมือนฟ้ากับดิน ทุกอย่างต้องเป็นไปเพื่อการขัดเกลาอย่างยิ่ง พร้อมที่จะเป็นอย่างนั้นหรือไม่ ถ้าไม่เป็นก็ไม่ใช่บรรพชิต เพราะว่าบรรพชิตไม่ได้อยู่ที่จีวร แต่อยู่ที่พระวินัย ถ้าไม่ประพฤติปฏิบัติตามพระวินัย ก็ไม่ใช่บรรพชิต

    ด้วยเหตุนี้เป็นเรื่องที่กาลสมัยก็ผ่านมา ความคิดความอ่านของคนก็ต่างกันไป แต่ผู้ที่จะได้สาระจริงๆ จากพระธรรม และพระวินัย คือผู้ที่ขัดเกลา แล้วถ้าชาตินี้ไม่ขัดเกลา ยังติดโน่น ติดนี่ ติดลาภ ติดยศ ติดสรรเสริญ ติดสักการะ ชาติต่อไปจะเป็นอย่างไร ก็ไม่ได้ขัดเกลา เพราะฉะนั้น ไม่เป็นทางที่จะทำให้ศาสนายั่งยืน โดยการที่ว่าไม่ขัดเกลา ผู้ที่จะศึกษาธรรม ถ้ารู้จุดประสงค์จริงๆ คือเพื่อการขัดเกลาเท่านั้น และจะได้สาระจากการศึกษาจริงๆ ถ้าเป็นไปอย่างนี้

    ผู้ฟัง ท่านอาจารย์พูดในแง่การปฏิบัติธรรม ในแง่ของรูปแบบสิทธิของมนุษยชนของจากสิทธิสตรี มีสิทธิมาบวชเป็นสามเณรี บวชเป็นภิกษุณี มุมมองของอาจารย์ เป็นอย่างไรบ้าง

    ท่านอาจารย์ พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงประสงค์ให้สตรีบวชหรือเปล่า

    ผู้ฟัง ไม่ประสงค์ครั้งแรก

    ท่านอาจารย์ เป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า พระปัญญาเหนือใครทั้งหมดแล้ว ไม่ประสงค์เช่นนั้น ต้องมีเหตุผล แต่ในกาลที่อนุญาตก็เป็นไปตามเหตุผลเหมือนกัน เพราะเหตุว่าเป็นกาลสมบัติที่ผู้หญิงสามารถที่จะอบรมเจริญปัญญา บรรลุถึงความเป็นพระอรหันต์ได้ แล้วเมื่อเป็นพระอรหันต์จะอยู่ครองเรือน อยู่อย่างชาวบ้านต่อไป ผิดวิสัย แม้แต่เพียงบวช ยังไม่ถึงพระอรหันต์ ก็ยังจะอยู่อย่างชาวบ้านไม่ได้แล้ว ถ้าถึงระดับของจิตซึ่งเป็นพระอรหันต์ ไม่ใช่สมมติสงฆ์ แต่เป็นอริยสงฆ์ ก็จะอยู่อย่างคฤหัสถ์ไม่ได้ ด้วยเหตุนั้นจึงทรงอนุญาตให้บวช แต่ว่าทรงจำกัดข้อประพฤติปฏิบัติไว้มาก เพื่อที่จะให้ผู้ที่ในกาลหลังๆ ไม่สามารถที่จะบวชได้ ก็เป็นการที่จะรักษาพระธรรมวินัยไว้มาก เพราะว่าผู้ที่เป็นผู้หญิง ถ้ามีปัญญาก็ถึงความเป็นพระอรหันต์ แต่ว่าในยุคหลังๆ เช่นในยุคนี้ ก็จะไม่มีพระอรหันต์ที่ไม่มีแม้แต่คุณวิเศษ เพราะว่าในพันปีแรกจะมีพระอรหันต์ทรงคุณวิเศษด้วย พันปีที่ ๒ จะมีพระอรหันต์ซึ่งไม่มีคุณวิเศษ ในพันปีที่ ๓ เป็นยุคสมัยของผู้ที่สามารถจะบรรลุได้ถึงความเป็นพระอนาคามีบุคคลเท่านั้น ไม่ถึงความเป็นพระอรหันต์ เพราะฉะนั้น ก็ค่อยๆ เสื่อมไป ไม่มีความจำเป็นใดๆ ที่ผู้หญิงจะต้องบวช เพราะการบวชเป็นการขัดเกลา ถ้าพูดถึงสถานภาพ ซึ่งรู้สึกว่าอยากเหลือเกินที่จะมี ถูกต้องไหม ผู้หญิงอาจจะคิดว่าตนเองต่ำต้อย ไม่มีสถานภาพใดๆ แต่ตามความเป็นจริงสถานภาพที่แท้จริง คือ คุณความดี ไม่ว่าหญิงหรือชาย ถ้าประพฤติไม่ดี มีใครยกย่องบ้าง จะไปเรียกร้องสถานภาพให้ใครมายกย่อง ถ้าความประพฤติไม่ดี แต่ถ้ามีคุณความดีแล้ว ไม่ต้องเรียกร้องให้ใครมายกย่องเลย ชาวโลกหรือใครก็ไม่ต้องไปอ้อนวอน ไปบอก แต่ทุกคนก็ยกย่องในคุณความดี เป็นสัจธรรม เพราะว่าเป็นผู้ที่ทุกคนจะต้องยกย่องในคุณความดี ไม่ใช่ยกย่องเพียงภายนอก ไม่เห็นมีใครไม่ยกย่องผู้หญิงนี่ แม่น้ำเอย ก็ต้องเป็นแม่ทัพ ก็ยังเป็นแม่ของลูก แม้พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าก็ต้องมีพระมารดา แล้วต้องการอะไร เรียกร้องอะไรกันอีก ถ้าต้องการคือทำความดี เป็นที่ยกย่อง ไม่ต้องไปเรียกร้องเลย

    วันนี้ก็ได้ฟังความจริง พระผู้มีพระภาคตรัสรู้ความจริง ทรงแสดงความจริงแล้วเราก็ได้มีโอกาสฟังพระธรรม ซึ่งเป็นความจริงด้วย

    ผู้ฟัง ถ้าไม่ได้พูดถึงเรื่องนี้ ไม่อยากคิดถึง แต่พอพูดถึงเลยคิด คิดแล้วก็หาคำตอบให้ตัวเองไม่ได้ กรณีที่ถามถึงว่า ผู้หญิงบวช ในส่วนตัว จะมีความรู้สึกว่า ไม่จำเป็นต้องเป็นหญิงหรือชายที่จะได้ศึกษาหรือได้เรียนรู้ หรืออะไรในเรื่องของพระธรรม พูดถึงจุดนี้ก็เลยอยากเรียนถามว่า พระพุทธเจ้า คือตัวเองยังไม่เคยศึกษาในลักษณะนี้ ท่านมีเหตุผลหรือมีการคิดที่ท่านคิดอย่างไรถึงจะต้องเป็นผู้ชายที่บวช เพราะว่าพอฟังแล้ว ให้คำตอบตัวเองไม่ได้ว่า ทำไมถึงไม่ให้ผู้หญิงบวช แล้วผู้หญิงถูกยกย่องอยู่แล้ว แต่ทำไมต้องจำกัดว่า เป็นผู้ชายบวช หมายถึงถ้าไม่คิดในแง่ของการศึกษาพระธรรม ในแง่ของการบวชเป็นพระ

    ท่านอาจารย์ ขอเชิญคุณสุภีร์

    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 97
    18 พ.ย. 2567