ปกิณณกธรรม ตอนที่ 265
ตอนที่ ๒๖๕
สนทนาธรรม ที่ วิทยาลัยการสาธารณสุขสิรินธร จ.พิษณุโลก
พฤษภาคม พ.ศ.๒ ๕๔ ๕
ผู้ฟัง ถ้าดูตามพระไตรปิฎก ก็จะมีแต่ละหมวดต่างๆ แยกกันไป เป็นแต่ละบรรพ อย่างเช่นการกำหนดในกาย เช่นเขาจะยกว่า คัจฉันโต วา คัจฉามีติ ปชานาติ เมื่อเดินอยู่ ก็รู้ชัดว่า เราเดินอยู่
ท่านอาจารย์ ถูกต้อง แต่บอกว่าให้เดินผิดปกติหรือเปล่า
ผู้ฟัง ถ้าเราระลึก ระลึกเดินนี่
ท่านอาจารย์ หมายความว่าขณะที่เดิน ถ้าสัมมาสติเกิดก็มีลักษณะของนามธรรมหรือรูปธรรมซึ่งปัญญาต้องรู้ก่อนว่า รูปธรรมไม่สามารถจะรู้อะไรได้เลย ถ้ากระทบกายมีลักษณะที่อ่อนหรือแข็ง เย็นหรือร้อน ตึงหรือไหวเท่านั้น ทั้งตัวหายไปหมดเลย เหลือแต่เฉพาะลักษณะที่สติกำลังระลึกเท่านั้น เพราะว่ารูปเกิดดับเร็วมาก ๑๗ ขณะไม่มีอะไรเหลือ เคยถามหลายครั้ง ขณะนี้มีฟันไหม มีหรือไม่มี ฟัน
ผู้ฟัง ไม่มี
ท่านอาจารย์ ไม่มี ใช่ไหม ใครว่ามีบ้าง ถ้าบอกว่ามี จะถามต่อว่ามีเมื่อไร ฟัน มีเมื่อไร
ผู้ฟัง เมื่อนึกถึงฟัน
ท่านอาจารย์ นึกถึง หรือว่ากระทบสัมผัส
ผู้ฟัง เอาเคาะๆ กัน
ท่านอาจารย์ เคาะๆ กันนั้นฟันหรือแข็ง เพียงแค่แข็ง ก็นึกถึงฟันแล้ว แล้วยังจำได้ว่าเรามีฟัน เพราะฉะนั้นความเป็นเราจะเหนียวแน่นสักแค่ไหน ทั้งๆ ที่ไม่มีเลย แต่จำไว้ว่า มี คนที่ถูกตัดขาออกแรกๆ เขาก็ยังคิดว่าขาเขายังอยู่ เพราะเขาเคยมีขา แล้วเขาก็จำได้ว่ามีขา พอขาถูกตัดไป ทั้งๆ ที่ไม่มีแล้ว ก็ยังจำว่ายังมีขาอยู่ ฉันใด รูปเกิดดับเร็วมาก หมดไปทุกขณะ รูปใดที่ไม่ปรากฏ รูปนั้นเกิดแล้วดับแล้ว อย่างเสียงในป่า เสียงเกิดขึ้นเพราะการกระทบกันของวัตถุที่แข็งกระทบกันเมื่อไร เสียงก็ปรากฏขึ้นเมื่อนั้น มีคำถามว่าแล้วเสียงในป่ามีไหม ทั้งๆ ที่ไม่ได้ยิน แต่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงว่า เมื่อมีปัจจัย ของสิ่งใดที่จะเกิด สิ่งนั้นก็เกิด แต่เสียงดับไหม ถึงแม้ว่าเกิดแล้ว เสียงก็ดับ เพราะฉะนั้น สิ่งใดก็ตามที่ไม่ปรากฏ แม้มีก็เหมือนไม่มี เพราะเหตุว่าเกิดแล้วดับแล้ว เวลานี้ต้องเปลี่ยนความทรงจำ จากรูปตั้งแต่ศีรษะจรดเท้า มีครบทุกอย่างทั้งฟัน ทั้งตา ทั้งผม ทั้งเล็บ อะไรทั้งหมด จริงๆ แล้วเหลือเพียงชั่วขณะจิตที่กำลังมีรูปนั้นเป็นอารมณ์ รูปอื่นไม่มีเลย ไม่ปรากฏเลย ไม่เหลือเลย
นี่คือความรวดเร็วของสภาพธรรมที่เกิดดับ การที่จะหมดความเป็นตัวตนได้ ไม่ใช่ยังคงมีรูปตั้งแต่ศีรษะตลอดเท้าด้วยความทรงจำ เพราะจริงๆ จำไว้หมดเลย ทั้งๆ ที่ไม่เห็น ไม่ปรากฏ จำว่ามี ตั้งแต่ผม ไปจนถึงเล็บเท้า ปลายเท้าเลย แต่ว่าตรงแข็ง ส่วนหนึ่งส่วนใดที่กระทบสัมผัส ตรงนั้นต่างหากที่เกิดแล้วดับ ที่ปัญญาสามารถจะรู้ได้ว่าขณะนั้นสภาพธรรมใดเกิด สภาพธรรมนั้นดับ ตรงอื่นไม่ได้ปรากฏเลย
เพราะฉะนั้น ก่อนที่จะรู้อย่างนี้ มีอัตตสัญญา ในพระไตรปิฎกมีไหม อัตตสัญญา ความทรงจำว่ามีเรา แต่อบรมเจริญไปเพื่อละอัตตสัญญา เพื่อให้มีความเห็นที่มั่นคงถูกต้องในอนัตตสัญญา ทั้งตัวนี้จะย่อลงไปจนหมด เหลือเพียงเฉพาะสิ่งที่ปรากฏ ซึ่งไม่ใช่แขน ไม่ใช่ขา ไม่ใช่เท้า ไม่ใช่อะไรทั้งสิ้น ถ้าเป็นแข็งก็คือแข็งกับธาตุที่กำลังรู้แข็ง จึงไม่มีเรา ถ้ามิฉะนั้นก็ยังต้องมีเราอยู่
ก็พิจารณาดูว่าความจริงเป็นอย่างไร ความไม่รู้กับความยึดมั่นเป็นอย่างไร แล้วจะยังคงมีความยึดมั่นอย่างนี้อยู่ตราบใดที่ยังไม่สามารถจะรู้ลักษณะของสภาพธรรมแต่ละอย่าง แต่ละอย่าง โดยสติสัมปชัญญะเกิด ไม่ใช่โดยเราไปนั่งทำอะไร เพื่อที่จะให้เห็น แต่การที่สภาพธรรมจะปรากฏได้จริงๆ ก็ต่อเมื่อปัญญาอบรมเพิ่มขึ้นจนกระทั่งคลายอัตตสัญญา แล้วก็รู้จริงๆ ว่า สภาพธรรมเป็นสภาพธรรม ไม่ใช่ใคร
ผู้ฟัง ในกายบรรพ มียุคของบรรพที่พิจารณา เกศา โลมา นขา ทันตา ตโจ ก็ยังสงสัยว่า ถ้าเรา อย่างเกศา ก็ยังพอเห็นได้อย่างนี้ แต่ถ้าเป็นอวัยวะภายใน เป็นอาหาร เป็นอะไร จะเป็นไปได้ไหม ที่จะอยู่ในบรรพนี้ แล้วก็พิจารณาได้
สุภีร์ อย่างที่ท่านอาจารย์ได้กล่าวว่า แล้วแต่อะไรจะปรากฏ แต่พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าแสดงสภาพธรรมตามความเป็นจริง จริงๆ แล้วชื่อต่างๆ เหล่านี้ ผม ขน เล็บ ฟัน หนัง อะไรก็ดี หรือว่าใช้ชื่อที่ผ่านมาว่า เกศา โลมา นขา ทันตา ตโจ มังสัง นหารู อะไรที่อยู่ข้างใน อะไรเหล่านี้ จริงๆ แล้วที่ท่านอาจารย์ได้ถามไปว่า ฟันมีไหม มีตอนไหน ก็เช่นเดียวกัน เคยคิดไหมครับว่า เรามีหัวใจ ก็ธรรมดา เวลาคิดก็รู้ว่า เป็นแต่สภาพธรรมอย่างหนึ่ง เวลาคิดเรื่องหัวใจ เห็นผมไหม ทุกคนมองไป ผมที่ศีรษะ บางคนก็อาจจะย้อมแดงบ้าง บางคนก็อาจจะขาวหน่อย อะไรอย่างนี้ คิดเรื่องผม เห็นผม เป็นแต่เพียงสิ่งที่ปรากฏทางตา เวลาคิด คิดว่าเป็นผม ก็เป็นความคิดชนิดหนึ่ง ถ้าไม่คิดก็ไม่มีผม ถ้าเห็นก็เป็นแต่สิ่งที่ปรากฏทางตา สิ่งอื่นๆ ก็เช่นเดียวกัน ปอด หัวใจ อะไรต่างๆ เราคิดว่าเรามี มีตอนไหน มีตอนคิด สิ่งที่มีจริงคือความคิดว่ามี ถ้าไม่คิดก็ไม่มี หรือว่าบางท่านอาจจะไปเห็นเวลาเขาผ่าศพ ผ่าอะไร ตอนนั้นก็มีมองเห็นด้วย ใช่ไหม มองเห็นก็เป็นแต่สิ่งที่ปรากฏทางตา พอเห็นสิ่งที่ปรากฏทางตาก็คิด เพราะฉะนั้น สิ่งที่มีจริงๆ คือความคิด เรื่องปอด เรื่องหัวใจ เรื่องอะไรต่างๆ เมื่อมีการคิดอย่างนั้นเกิดขึ้นก็ให้รู้ตามความเป็นจริงว่า นั่นเป็นความคิดอย่างหนึ่ง คือจิตนั่นเอง ที่เราได้กล่าวถึงว่า เป็นปรมัตถธรรมชนิดหนึ่ง เป็นจิตปรมัตถธรรม เป็นวิญญาณขันธ์ พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดงธรรมครบทุกประการ ไม่ว่าใครจะทำอะไร จะคิดอะไร คือสิ่งทั้งหมดทั้งปวงที่เราเคยเป็นอยู่ ที่เคยไม่รู้มากมายเหลือเกิน ให้รู้ทุกๆ ประการ ไม่มีเลือกเลย แล้วแต่อะไรจะปรากฏให้รู้ ก็รู้สิ่งนั้น แล้วแต่มีเหตุปัจจัยให้สติปัฏฐานเกิดขึ้น ปัญญาพอหรือเปล่าที่จะรู้ตามความเป็นจริง
ท่านอาจารย์ เป็นเรื่องที่ต้องศึกษาโดยละเอียด ไม่ใช่เพียงแต่อ่าน เพราะว่าอ่านแล้ว ก็เข้าใจผิดได้ อย่างเรื่องของผม ขน เล็บ ฟัน หนัง ที่มีอยู่ในกายานุปัสสนาสติปัฏฐาน ธรรมทั้งหมดจะไม่พ้นไปจากการที่ปัญญาสามารถจะรู้ความจริงของสภาพธรรมนั้นได้ ก็น่าสงสัยว่า ทำไมถึงมี ผม ขน เล็บ ฟัน หนัง ในมหาสติปัฏฐานด้วย อย่างที่ได้กล่าวถึงแล้ว คำว่า มหา กว้างใหญ่รวมทุกอย่างไม่เว้น ก่อนการตรัสรู้ของพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ก็มีผู้ที่แสวงหาทางที่จะหมดจดจากกิเลส แต่เพราะความที่เขาไม่ใช่พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า แม้อุทกดาบส อาฬารดาบส ผู้ที่สามารถบรรลุถึงอรูปฌานขั้นที่ ๓ และขั้นที่ ๔ ซึ่งเป็นอรูปฌานขั้นสูงสุด ก็ยังไม่รู้ความจริงของสภาพธรรม แต่ว่าสามารถที่จะบรรลุถึงอรูปฌานขั้นสูงสุด ก่อนการตรัสรู้ของพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า แสดงว่า ผม ขน เล็บ ฟัน หนัง ซึ่งจะเป็นทางที่จะทำให้จิตสงบ เพราะระลึกถึงความเป็นปฏิกูลของผมบ้าง ขนบ้าง เล็บบ้าง ฟันบ้าง หนังบ้าง เล็กน้อยเหลือเกิน เมื่อเทียบกับความมั่นคงของจิตที่สงบถึงระดับขั้นของอัปปนาสมาธิ ที่ไม่มีรูปเป็นอารมณ์ มีแต่นามธรรมเป็นอารมณ์ ถึงขั้นนั้นก็ยังไม่รู้ความจริงของสภาพธรรม เพราะฉะนั้น ผม ขน เล็บ ฟัน หนัง คือผู้ที่พิจารณากาย เห็นส่วนของกาย โดยความเป็นปฏิกูล คือ เราเคยเห็นผมว่าสวย ท่านเหล่านั้นก็มาคิดใหม่ ลักษณะกลมๆ ยาวๆ ตั้งอยู่บนโอกาสที่หนังศีรษะซึ่งปฏิกูล มีอะไรต่ออะไร ถ้าอ่านตามเรื่อง ก็จะเห็นคำอธิบายของวิธีที่ตรึกพิจารณาอย่างไร แล้วจิตสงบ แต่ไม่ได้รู้ความจริง
สมถภาวนากับวิปัสสนาภาวนาต่างกัน สมถภาวนามีก่อนการตรัสรู้ เมื่อมีผู้ที่มีปัญญาสามารถที่จะเข้าใจว่า แม้ชีวิตธรรมดาประจำวัน อย่างผมทุกคนก็มี แต่ว่าติดข้องในผม ทางที่ไม่ติดข้องก็คือว่าระลึกจนกระทั่งเห็นความเป็นปฏิกูล แต่ก็เพียงสงบระงับ ถ้าถึงอุปจารสมาธิ อัปปนานาสมาธิ ก็เป็นฌานจิต แต่ก็ไม่ได้รู้ลักษณะของสภาพธรรมใดๆ ทั้งสิ้น เพราะฉะนั้น ถ้าผู้นั้นเคยระลึกถึงผมในลักษณะนั้น และได้ฟังพระธรรม ขณะหนึ่งขณะใดที่สัมมาสติเกิด แม้แต่ขณะที่กำลังระลึกถึงความเป็นปฏิกูล ขณะนั้นก็รู้ในความไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล
เพราะฉะนั้น จึงไม่ได้จำกัด ไม่ได้เว้นเลย แต่หัวใจของการอบรมเจริญปัญญา คือสามารถที่จะรู้สิ่งนั้นเป็นอะไร เป็นนามธรรม หรือเป็นรูปธรรม ทางเดียวที่จะละความยึดถือว่าเป็นตัวตน ต่อเมื่อมีปัญญารู้ว่าสิ่งนั้นเป็นอะไร ถ้าไม่รู้ก็ต้องเป็นผมของเราอยู่นั่นแหละ ทุกอย่างก็ต้องเป็นของเรา แต่พอรู้ในลักษณะที่เป็นนาม ลักษณะนั้นเป็นสภาพรู้ ธาตุรู้ เกิดขึ้นแล้วก็ดับไป จะเป็นเราได้อย่างไร เสียง เกิดขึ้นแล้วก็ดับไป ไม่มั่นคงเลย จะเป็นเราได้อย่างไร ทุกอย่างที่เกิดดับก็ไม่เป็นเรา
เวลาที่อ่านสติปัฏฐาน ต้องรู้ว่า ถ้าขณะนั้นไม่ว่าจะมี ผม ขน เล็บ ฟัน หนัง มีลมหายใจ หรือว่ามีอิริยาบถหนึ่งอิริยาบถใดที่ทรงอยู่ ตั้งอยู่ แล้วรูปในอิริยาบถนั้นปรากฏ ก็จะต้องเพื่อรู้ลักษณะจริงๆ ของนามธรรม และรูปธรรม ถ้ามิฉะนั้น ไม่ใช่สติปัฏฐาน ถ้าไม่รู้ลักษณะที่เป็นปรมัตถธรรม ที่เป็นนามธรรม รูปธรรม ขณะนั้นไม่ใช่สติปัฏฐาน ที่เราเรียนเรื่องปรมัตถธรรม เพื่อให้แยกความที่ไม่เคยรู้ แล้วก็ยึดถือสภาพธรรมว่าเป็นเรา โดยบัญญัติ โดยสมมติ โดยความจำ ให้รู้จริงๆ ว่า ขณะใดที่จำว่าเป็นเรา ขณะนั้นไม่ใช่ปรมัตถธรรม
การที่จะรู้ความจริงที่เป็นสัจจะ คือ ต้องมีลักษณะที่เป็นปรมัตถธรรมเท่านั้น สามารถที่จะแยกปรมัตถธรรม และบัญญัติออกจากกันได้ จึงจะรู้ว่าสิ่งใดมีจริง แล้วสิ่งที่มีจริงเท่านั้นที่เกิดดับ ส่วนที่เป็นสิ่งที่เรียกสมมติ คิด ขณะนั้นเป็นแค่เพียงเรื่องราว ไม่มีสภาพธรรมจริงๆ ก็จะทำให้ถึงการประจักษ์การเกิดดับ ซึ่งเป็นทุกขลักษณะไม่ได้ ถ้ามีความเข้าใจอย่างนี้ ทุกบรรพก็เหมือนกัน ลองอ่าน ลองถาม หรือว่าลองให้หายสงสัย จะมีบรรพอื่นเหลือไหม
ผู้ฟัง มันมีอยู่วรรคว่า เอ วัมปิ ภิกขเว ภิกขุ กาเย กายานุปัสสี วิหรติ ดูก่อน ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุย่อมพิจารณาเห็นกายในกายอยู่เนืองๆ อยู่อย่างนี้ คำว่าเนืองๆ นี้ คือเราจะต้องเป็นคำบอกเวลาว่าจะต้องบ่อยๆ หรือเปล่า หรืออย่างไร
ท่านอาจารย์ ครั้งหนึ่งรู้ได้ชัดเจนไหม ครั้งที่ ๒ ชัดเจนหรือยัง ครั้งที่ ๓ นี่คือคำอธิบายความหมายของคำว่าเนืองๆ ครั้งเดียวไม่พอ ไม่สามารถจะรู้ได้ ฟังธรรมฟังครั้งเดียวพอไหม แค่ฟังยังต้องเนืองๆ บ่อยๆ หลายครั้ง แล้วเวลาที่จะรู้จริงๆ ก็ต้องยิ่งเนืองๆ บ่อยๆ หลายครั้ง เพราะเคยไม่รู้มานานแสนนาน ที่กายของทุกคนมีรูปก็ไม่รู้ ใกล้ที่สุด ไปไหนไปด้วยกัน จะนั่ง จะนอน จะยืน จะเดินก็ไม่พ้นจากรูป ก็ยังไม่ได้รู้ลักษณะของรูป เพราะฉะนั้นต้องเนืองๆ บ่อยๆ กว่าจะค่อยๆ รู้ขึ้น แล้วถ้าไม่รู้รูปที่กาย จะไปรู้อะไรดี ถ้าไม่รู้นามธรรมที่กำลังปรากฏ ปัญญาจะไปรู้อะไรได้ ก็ไม่ใช่ปัญญา ก็เป็นการนึกคิดตลอด แล้วก็เข้าใจว่าเป็นปัญญา แต่ความจริงเป็นเรื่องราวอยู่นั่นเอง ตราบใดที่สติสัมปชัญญะไม่เกิด ไม่รู้ลักษณะของนามธรรม และรูปธรรม ขณะนั้นก็ต้องเป็นเรื่องของการคิดนึก
ผู้ฟัง เริ่มได้ความคิดว่า สมัยก่อนที่พอเราเข้ามาเรียน มารับทราบพระพุทธศาสนา หรือก่อนมารับทราบ เราจะมีความรู้สึกว่า พระสูตร พระวินัย อะไรทั้งหมดว่าอะไรต้องเชื่อไว้ก่อน เพราะว่าตอนที่เคยเดินจงกรมอย่างช้าๆ ก็เกิดอาการปวดเมื่อย โมโห รำคาญมาก ในใจก็บอก อยากจะรู้นักว่า บรรทัดไหนที่บอกให้เดินอย่างนี้ ยังไม่ทันสักชั่วโมง ก็มีคนมาบรรยาย มีพระมาบรรยายว่า อยู่ในบรรทัดนี้ หน้านี้ อย่างนี้เลย บรรทัดที่เท่าไร ก็เลยมีความรู้สึกว่า อย่างนั้นเชื่อ เดินก็เป็นอันว่าเดิน ซึ่งพอมาถึงวันนี้ อาจารย์บอกว่า ถึงเขาจะเขียน ก็ไม่ใช่ว่าจะต้องทำตาม แต่ก่อนหน้านั้นมีความรู้สึกว่า อะไรที่พระธรรมเขียนไว้ เราจะต้องรู้ให้หมด ทำตามให้หมด ถึงจะเข้าใจ ละกิเลส หรืออะไรก็ตาม ไปจนถึงขั้นฌานสูงได้ มาวันนี้ก็เริ่มมี ๒ อย่างแล้ว ถึงจะมีอยู่ในพระไตรปิฎกว่ามีการเดินจงกรม ก็ไม่ต้องทำตาม แล้วก็แผ่เมตตา ยังไม่ใช่ระดับที่จะแผ่ได้
ท่านอาจารย์ สิ่งที่มีอยู่ในพระไตรปิฎก ต้องเข้าใจถูก ไม่ใช่อ่านแล้วทำ โดยที่ไม่ได้เข้าใจอะไรเลย แม้แต่คำว่า จังกมะ ยังไม่เข้าใจว่าคืออะไร เพียงแต่ว่ามีคำนี้ในพระไตรปิฎกก็จะทำ เพราะฉะนั้น ทุกอย่างไม่ใช่ว่าสำหรับให้เราตามไปโดยที่ไม่เกิดปัญญา หรือว่าความเข้าใจที่ถูกต้อง แม้แต่เมตตา ถ้าจะแผ่ แม้แต่คำแรก สัพเพ สัตตา น่าตกใจไหม หมดเกลี้ยงไม่มีเหลือเลย ความเมตตาของเราต่อสัตว์ทั้งปวง แล้วใจเราเป็นอย่างนั้นจริงๆ หรือเปล่า ถ้าไม่เป็น พูดทำไม พูดทำไม พูดแต่ปาก สัพเพ สัตตา แต่ว่าใจจริงของเรา เมตตาถึงอย่างนั้นหรือเปล่า แล้วเมตตาคืออะไร เห็นงู สัพเพ สัตตา เลย แล้วต้องการอะไร เวลาที่เห็นงู แล้วสัพเพ สัตตา บางคนก็บอกว่า งูจะได้ไม่กัด นี่คือความเห็นถูกหรือความเห็นผิด เพื่อประโยชน์ของตัวเอง หรือว่ามีเมตตาจริงๆ กับสรรพสัตว์ทั้งปวงไม่เหลือ จิ้งจก ตุ๊กแก งู อะไรๆ ทั้งนั้น บางทีขึ้นรถประจำทาง เราก็เห็นคนที่หน้าตาน่ากลัว กำลังถือมืด อย่างนี้ แล้วเราขณะนั้น เรากำลังสัพเพ สัตตา หรือเปล่า หรือว่าท่องใหญ่เพื่อเขาจะไม่ทำร้ายเรา นี้ก็เป็นเรื่องที่ไม่มีเหตุผล ยังไม่ได้เข้าใจถึงความหมายของ สัพเพ สัตตา สัตว์ทั้งปวงไม่มีประมาณ ไม่เหลือเลย
เพราะฉะนั้น ต้องเป็นผู้ที่ตรง ความเมตตา คือ ความเป็นมิตร ความเป็นมิตร ตรงกันข้ามกับศัตรู พร้อมที่จะเกื้อกูล นี้คือมิตรจริงๆ แม้แต่แข่งดีก็ไม่ใช่มิตร ใครก็ตามที่คิดจะแข่งขันกันหรือแข่งดีกัน ผู้นั้นถึงจะพูดเรื่องเมตตาสักเท่าไร แต่ก็ไม่ได้เข้าใจเลยว่า ขณะนั้นขาดเมตตา ไม่ใช่มิตรจริงๆ เพราะเหตุว่าเมตตาเป็นเพื่อนแท้ หวังดีด้วยประการทั้งปวง เพราะฉะนั้น ต้องมีความเข้าใจในชีวิตประจำวันด้วย ตามความเป็นจริงว่า เราเข้าใจคำนี้แล้วเราอบรมเจริญคำนี้ถูกต้องหรือเปล่า
ให้เข้าใจเรื่องของสภาพธรรม ปฏิปัตติ คือสัมมาสติ จะระลึกลักษณะที่เป็นนามธรรมรูปธรรมไม่ได้ เมื่อระลึกไม่ได้ ปฏิเวธ คือ การตรัสรู้หรือแทงตลอดลักษณะของสภาพธรรมนั้นๆ ก็มีไม่ได้ ก็เป็นเพียงความหวังความฝันในสิ่งซึ่งไม่สามารถจะเป็นความจริงได้ เพราะว่าเป็นเรื่องของความรู้ทั้งหมด แต่เมื่อไม่รู้เลย แล้วก็ไปพูดถึงเรื่องของความรู้ โดยไม่รู้ ก็ไม่ทำให้เกิดความเข้าใจที่ถูก
ผู้ฟัง เราไม่ได้ศึกษาอย่างลึกซึ้งอย่างที่ท่านอาจารย์แนะนำ เราก็หนักใจว่า เราจะไปถ่ายทอดอย่างไรประเด็นที่ ๑ ประเด็นที่ ๒ ความลึกซึ้งในการถ่ายทอด มันไม่ได้ เมื่อมันไม่ได้ การศึกษาในพระพุทธศาสนา ใรระดับ ม.ต้น ม.ปลาย มันก็ล้ม แล้วที่สำคัญที่สุดคือว่า ครูบาอาจารย์ที่สอน เขาก็ไม่ตั้งใจมาสอน ก็เหมือนกับ คำที่เล่าลือกันมาว่า เอาครูอะไรก็ได้มาสอนวิชาพระพุทธศาสนา นี่เป็นปัญหาระดับเชิงบริหาร
ท่านอาจารย์ ถึงกาลที่พระพุทธศาสนากำลังเสื่อม ท่านที่นั่งอยู่ที่นี่ เป็นผู้ที่สนใจ แล้วค่อยๆ ศึกษาจนกระทั่งเข้าใจขึ้น ก็จะได้ถ่ายทอดความเข้าใจเท่าที่จะทำได้ แล้วผู้รับก็สำคัญ คือนักเรียนจะมีความสนใจมากน้อยแค่ไหน ก็อยู่ที่เขาจะเห็นประโยชน์ หรือไม่เห็นประโยชน์ เพราะว่าถ้าเป็นเรื่องของพระพุทธศาสนา จริงๆ แล้วไม่ใช่เรื่องวิชาบังคับ เป็นเรื่องศรัทธาของแต่ละคน จะได้ผลมากกว่าการที่เราบังคับว่าทุกคนต้องมาศึกษาพระพุทธศาสนา แม้ว่าเขาจะไม่สนใจเลย แต่แทนที่จะบังคับ เป็นวิชาที่พยายามให้คนเห็นว่ามีประโยชน์อย่างไร แล้วก็คนที่เห็นประโยชน์ เขาก็จะมาศึกษา แต่เราจะไปฝืนคนที่ไม่สนใจให้มาสนใจ เขาก็จะไม่ได้อะไรเลย
ผู้ฟัง มีกลยุทธ์อะไรบ้างให้กับเยาวชน ม. ๑ ม. ๒ ม. ๓ ถึง ม.๖
ท่านอาจารย์ ก็สอนให้เข้าใจธรรมตามลำดับที่จะสอนได้เท่านั้นเอง เพราะจริงๆ แล้วเป็นเรื่องอิสระจริงๆ ตามโรงเรียนก็ช่วยได้ในเรื่องของจริยศึกษา คือเมื่อมีความเข้าใจในเรื่องของบาปบุญคุณโทษต่างๆ ก็ชี้แนะในเรื่องของกุศลให้เจริญ เช่น บุญกิริยาวัตถุ ถ้าเขาสามารถจะมีความเข้าใจว่า กุศล ไม่ใช่เฉพาะทานการให้ เขาก็อาจจะเข้าใจตัวเขาเองว่า ขณะไหนบ้างที่เป็นกุศล ขณะไหนบ้างที่เป็นอกุศล เช่น ขณะที่กำลังก้าวร้าว เขาก็คงจะตอบได้ว่า ขณะนั้นเป็นอกุศล และอกุศลในชีวิตจริงๆ ของแต่ละคน เราก็อาจจะมีตัวอย่างที่ยกขึ้นมาได้ว่า เป็นอกุศลประเภทไหน แล้วก็เป็นกรรมประเภทไหน
ผู้ฟัง ในเรื่องของสติปัฏฐาน ๔ ซึ่งบอกว่าให้พิจาณากาย เวทนา จิต ธรรม เราพิจารณาอย่างไร
ท่านอาจารย์ ไม่ได้เลย พิจารณาอย่างไร นี่ไม่ได้เลย เป็นการอบรมความรู้ความเข้าใจ ในสิ่งที่กำลังปรากฏ แต่ไม่ใช่หนทางว่า ทำกับข้าวอย่างไร ใส่พริกไทย ใส่เกลือ อย่างนั้นไม่ใช่ ไม่ใช่เป็นเรื่องทำโดยสิ้นเชิง ถ้าเป็นเรื่องทำ คือ เรื่องอัตตา เราทำ แต่ไม่ใช่มีความรู้หรือว่าอบรมความรู้ให้เจริญขึ้น
สติปัฏฐาน หรือโพธิปักขิยธรรม เป็นเรื่องการอบรมปัญญาเพิ่มขึ้น จนถึงระดับที่สามารถจะรู้แจ้งอริยสัจธรรมได้ ถ้าเป็นอย่างที่ว่า ใส่เข้าไปในหลักสูตร คือต้องการให้นักเรียนรู้แจ้งอริยสัจธรรม ซึ่งเป็นไปไม่ได้เลย จากการเพียงรู้ชื่อ
ผู้ฟัง หลักวิธีการของอาจารย์ เลื่อมใสมาก เพราะว่ามันคือธรรมชาติของชีวิต ให้เราเข้าใจหลักวิทยาศาสตร์ มีหลายๆ อย่างที่สงสัย ในเรื่องการแผ่เมตตา หรืออะไรต่างๆ ที่ไม่ยอมเข้าวัดก็มีเหตุผลคล้ายๆ ที่อาจารย์ถามว่า มันทำได้จริงหรือเปล่า ก็อยู่ในใจ หลังจากได้ฟังวันนี้แล้วก็ทำให้กลับไปสอนได้ดีขึ้น
ท่านอาจารย์ คงจะเป็นอย่างนี้ ทุกท่าน เข้าใจแล้วก็กลับไปสอนให้เข้าใจดีขึ้น ยิ่งทำให้คนสนใจที่จะศึกษาเพิ่มขึ้น บนสวรรค์ทุกชั้นมีศาลาสุธรรมา ศาลาฟังธรรม สวรรค์ทุกชั้น ในมนุษย์ก็มีที่ฟังธรรม แล้วแต่ใครจะมาฟัง หรือใครจะไม่มาฟัง เพราะฉะนั้น ในมนุษย์ก็ยังมีการศึกษาธรรม คิดว่าต้องฟังเทวดาพูดถึงจะเข้าใจได้ หรืออย่างไร คอยเทวดาสอน หรือว่าธรรมเป็นความจริง ใครจะกล่าวก็ได้ ไม่คิดถึงตัวบุคคลเลย แต่คิดถึงสิ่งที่กำลังได้ยินได้ฟังว่าเป็นเหตุผลหรือไม่เป็นเหตุผล
ผู้ฟัง ไม่ได้คอยเทวดาสอน อย่างท่านวิสาขา เพราะท่านบรรลุแล้ว อยากจะถามว่าทำอย่างไรถึงจะบรรลุได้
ท่านอาจารย์ ไม่พ้นจากที่ทรงแสดงไว้เลย สติปัฏฐาน ต้องเข้าใจ ต้องรู้ลักษณะของสภาพธรรม เพียงแค่นี้เราก็เริ่มมองเห็นแววแล้ว ถ้าจะเป็นพระอริยบุคคลรู้อะไร หรือว่าไม่รู้อะไรเลยก็เป็นพระอริยบุคคลได้
ผู้ฟัง บุคคลใดก็ตามเจริญรอยตามมรรค ๘ โลกนี้ จะไม่เว้นว่างจากอรหันต์ ผมจำได้ว่าเพราะเคยอ่าน
ท่านอาจารย์ ถ้าอบรมเจริญตาม เพราะฉะนั้น ตามหรือไม่ตาม ใครรู้ ต้องเป็นปัญญาที่รู้ ถ้าไม่ใช่ปัญญาก็รู้ไม่ได้ เพราะฉะนั้น ก่อนอื่นเราต้องมีปัญญาตามลำดับ ที่จะรู้ว่าอริยมรรค ๘ คืออะไร ต่างกับสติปัฏฐานหรือเปล่า หรือไม่ต่างกัน เมื่อพระพุทธเจ้าปรินิพพาน ไม่ทรงแต่งตั้งบุคคลใดเป็นศาสดาแทนพระองค์ แล้วเราจะเชื่อตามพระองค์ไหมว่า ทำไมไม่ทรงแต่งตั้งบุคคลใดเป็นศาสดาแทนพระองค์ ในเมื่อสมัยโน้นก็มีพระภิกษุที่เป็นอรหันต์มากมาย
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 241
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 242
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 243
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 244
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 245
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 246
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 247
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 248
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 249
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 250
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 251
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 252
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 253
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 254
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 255
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 256
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 257
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 258
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 259
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 260
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 261
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 262
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 263
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 264
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 265
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 266
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 267
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 268
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 269
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 270
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 271
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 272
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 273
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 274
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 275
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 276
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 277
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 278
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 279
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 280
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 281
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 282
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 283
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 284
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 285
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 286
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 287
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 288
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 289
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 290
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 291
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 292
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 293
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 294
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 295
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 296
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 297
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 298
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 299
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 300