ปกิณณกธรรม ตอนที่ 266
ตอนที่ ๒๖๖
สนทนาธรรม ที่ วิทยาลัยการสาธารณสุขสิรินธร จ.พิษณุโลก
พฤษภาคม พ.ศ.๒ ๕๔ ๕
ท่านอาจารย์ แล้วเราจะเชื่อตามพระองค์ไหมว่า ทำไมไม่ทรงแต่งตั้งบุคคลใดเป็นศาสดาแทนพระองค์ ในเมื่อสมัยโน้นก็มีพระภิกษุที่เป็นอรหันต์มากมาย ท่านพระมหากัสสปะก็ยังอยู่ ท่านพระอานนท์ก็ยังอยู่ พระอริยบุคคลมากมาย ก็ไม่ทรงตั้งบุคคลใดเป็นศาสดาเลย เพราะว่าพระธรรมที่ได้ทรงแสดงไว้ดีแล้วนั่นแหละเป็นศาสดา ทุกยุคทุกสมัย เพราะว่าแต่ละคนก็ต้องจากโลกนี้ไป และอะไรจะเหลือ ถ้าแต่งตั้งเป็นบุคคล แต่คำสอนที่ได้ทรงแสดงไว้แล้วนั่นแหละ จะเป็นศาสดาแทนพระองค์ ถ้าใครศึกษาคำสอนก็สามารถที่จะเข้าใจความเป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ค่อยๆ เห็นพระคุณจริงๆ ไม่ใช่เพียงแต่กราบไหว้บูชา แต่ไม่รู้ว่าพระคุณที่สวดสรรเสริญนั้น คืออะไร เพราะฉะนั้น ก็เป็นเรื่องที่เราเป็นผู้ตรงขึ้นต่อพระธรรมที่จะรู้ว่าถูกคืออย่างไร ไม่ถูกคืออย่างไร
ผู้ฟัง แต่ผมยังกลัวว่า ในขณะที่เราสอนในกลุ่มน้อย ในระดับโรงเรียน แต่พฤติกรรมของสังคม คนเรามันห่างไกลพระรัตนตรัย ขาดความเชื่อถือพระรัตนตรัยตามหลักอุบาสก อุบาสิกา มันจะสู้กระแสมันได้หรือเปล่า แล้วจะรออีกกี่ปีกี่ชาติที่มันจะเห็นตรงเห็นดี เห็นงาม อย่างนี้ ตรงกับพระธรรมของอาจารย์นี้
ท่านอาจารย์ ถึงมีน้อยก็ดีกว่าไม่มีเลย
ผู้ฟัง พอดีสงสัย อย่างนิพพานเป็นอสังขตธรรม ไม่มีเหตุปรุงแต่ง แล้วเวลาเราทำบุญ ทำทาน แล้วให้เป็นปัจจัยแก่พระนิพพานในอนาคตกาลโน้นเทอญ เจริญมรรค ๘ เจริญไปถือเป็นเหตุ หรือเปล่า
ท่านอาจารย์ ไปไหน ไปไม่มีจุดไม่ได้ ใช่ไหม
ผู้ฟัง ที่เจริญว่าจะให้ไปนิพพาน จะถือว่าเป็นเหตุไปถึงนิพพานหรือเปล่า เพราะฉะนั้น นิพพานก็ต้องมีเหตุให้ถึงหรือเปล่า
ท่านอาจารย์ การอบรมเจริญปัญญา ตั้งแต่ขั้นการฟังเพื่อละความไม่รู้ เพื่ออบรมปัญญาที่สามารถที่จะเห็นนามธรรม และรูปธรรมตามความเป็นจริง จนสามารถที่จะละความติดข้อง จึงจะประจักษ์แจ้งในธาตุอีกอย่างหนึ่ง ซึ่งต่างกับธาตุที่เป็นนามธรรม และรูปธรรมที่เกิดขึ้น เพราะฉะนั้น สภาพของนิพพานอย่างเดียวที่สามารถจะทำให้ดับกิเลสได้ เมื่อปัญญาสามารถรู้แจ้งลักษณะของนิพพาน โลภะติดข้องในทุกสิ่งทุกอย่างที่มีโลภะติดในกุศลได้ไหม กุศลของเรา เรามีกุศลมาก เราอยากจะทำกุศลมากๆ ด้วยความต้องการ เพราะฉะนั้น ธรรมทั้งหมดสามารถเป็นที่ตั้งของโลภะ เป็นที่ยึดถือของโลภะได้ เว้นนิพพาน เพราะฉะนั้น ถ้าไม่มีนิพพาน ดับกิเลสใดๆ ไม่ได้เลยทั้งสิ้น แต่เพราะเหตุว่านิพพานเป็นปรมัตถธรรมที่มีจริง แต่ว่าจะสามารถรู้แจ้งได้ด้วยปัญญาที่ถึงขั้นที่สามารถจะรู้นิพพานได้ จึงจะมีนิพพานเป็นอารมณ์ขณะใด ขณะนั้นก็จะเป็นโลกุตตรจิตที่ดับกิเลส ได้แก่ โสดาปัตติมรรคจิต ซึ่งเป็นโลกุตตรกุศลระดับแรก เป็นปัจจัยให้เกิดโสดาปัตติผลซึ่งเกิดสืบต่อทันที กุศลใดๆ ที่ทำไม่สามารถที่จะให้ผลทันทีได้ เว้นโลกุตตรกุศล เพราะว่าจิตเกิดดับสืบต่อ ไม่มีระหว่างคั่นเลย จิตขณะนี้ดับเป็นปัจจัยให้จิตขณะต่อไปเกิด ถ้าเป็นกุศลจิตที่ได้กระทำ เช่นในวันนี้ที่ได้ศึกษาธรรม ได้เข้าใจธรรม เป็นกุศลที่ประกอบด้วยปัญญา ยังไม่ได้ให้ผลทันที กุศลทั้งหลายไม่ได้ให้ผลทันทีที่กุศลนั้นดับไป เว้นโลกุตตรกุศล เวลาที่โสดาปัตติมรรคจิตเกิดแล้วดับไป โสดาปัตติผลจิตต้องเกิดสืบต่อทันทีไม่มีระหว่างคั่นเลย เพราะว่าโสดาปัตติมรรคจิตเป็นการดับกิเลส เพราะฉะนั้น ไม่ใช่เป็นจิตที่จะทำให้ปฏิสนธิ ทำให้เกิดผลคือปฏิสนธิ โสดาปัตติผลจิต ไม่ได้ทำกิจปฏิสนธิ เหมือนอย่างกับวิบากของกุศลอื่นๆ ที่ทำกิจปฏิสนธิได้ ทำกิจภวังค์ได้ แต่ว่า พวกโลกุตตรวิบากซึ่งเป็นผลของโลกุตตรกุศล ไม่ได้ทำกิจที่ทำให้ปฏิสนธิ แต่ดับการเกิดในอบายภูมิ แล้วก็ดับการเกิดจนกระทั่งไม่มีการเกิดอีกเลย เมื่อถึงความเป็นอรหัตตมรรค มีจริง ต้องอบรม เพราะว่าผู้ที่ได้ประจักษ์แจ้งลักษณะของสภาพธรรม ที่เป็นอริยสัจมีมากมายนับไม่ถ้วนในครั้งอดีตกาล ท่านเหล่านั้นก่อนที่จะถึงระดับนั้นก็ เหมือนเรา จากความไม่รู้ ก็ค่อยๆ รู้ ค่อยๆ รู้ จนกระทั่งถึงระดับขั้นที่รู้แจ้งอริยสัจธรรมได้ จากความเป็นปุถุชน สู่ความเป็นกัลยาณปุถุชน แล้วก็อบรมเจริญปัญญาจนกระทั่งประจักษ์ความจริงของสภาพธรรม
ผู้ฟัง อาจารย์จะแนะอย่างไร ทำอย่างไรเราถึงจะทำให้สถาบันการศึกษา อย่างน้อย ๔ ๕ แห่ง๖ ๗ แห่งที่มา จะได้กลับไปสั่งสอนอบรมนักเรียน ให้มีการทำพิธีกรรมต่างๆ ที่มันเป็นเกื้อหรือเกื้อกูลต่อการเสริมสร้างปัญญา ไม่ใช่เป็นพิธีกรรมแต่เพียงถ่ายเดียว
ท่านอาจารย์ จริงๆ แล้ว การศึกษาทั้งหมดต้องมาจากผู้รู้ ถูกต้องไหม ถ้าไม่มีผู้รู้จะให้การศึกษาใดๆ ไม่ได้เลย พระพุทธศาสนาก็เช่นเดียวกัน จะต้องมีผู้ที่ศึกษาแล้วเข้าใจธรรม ตามวัดท่านก็มีการศึกษาปริยัติธรรม เท่าที่ทราบ แต่ต้องเป็นเรื่องที่ตรงกับจุดประสงค์ เพราะถ้าจุดประสงค์เพื่อต้องการได้รับประกาศนียบัตร หรืออะไรเป็นเครื่องยืนยันการศึกษา อันนั้นก็ไม่มีการในครั้งพุทธกาล เพราะว่าเป็นเรื่องละ เรื่องขัดเกลาจริงๆ แต่ถ้าศึกษาเพื่อที่จะรู้ เพื่อที่จะเข้าใจ ส่วนตัวของเรา ก็ไปศึกษาที่มีการศึกษาปริยัติธรรม เรื่องจิตเรื่องเจตสิกได้ แต่ส่วนใหญ่ก็จะเน้นไปในเรื่องของจำนวน แต่ว่าข้อความต่างๆ ที่มีในพระไตรปิฎกก็ยกขึ้นมากล่าว แต่ผู้ฟังต้องพิจารณา แล้วต้องสอบเหตุผล ให้เกิดความเข้าใจของตัวเองด้วย
จริงๆ แล้วเรื่องประเพณีต่างๆ ก็เกี่ยวข้องกับพุทธศาสนา แต่ต้องดูว่ามีความเข้าใจถูกต้องในสิ่งนั้นหรือเปล่า ถ้าไม่มี ก็ไม่ต้องทำ ขอยกตัวอย่างจริง คือการสวดศพ ที่เป็นพระอภิธรรม คนฟังไม่เข้าใจ ใช่ไหม แต่ก็ยังคงมีการสวดอยู่ แต่ข้อสำคัญที่สุดคือ พยายามที่จะรู้ว่า เป็นคำสอนซึ่งเราวันหนึ่งเมื่อได้ศึกษาแล้วก็สามารถที่จะเข้าใจได้ เหมือนกับเป็นเครื่องเตือนว่า อย่าทิ้ง อย่าลืม คัมภีร์ที่สำคัญมาก คือพระอภิธรรม แต่ถ้าไม่มีความเข้าใจก็เป็นอย่างที่ทุกงานศพที่เราเห็น บางคนก็มีสนทนาธรรมด้วย นอกจากการสวด เพราะการสวดก็พระที่ท่านมารับไทยธรรมที่อุทิศส่วนกุศลให้ผู้ตายเป็นผู้สวด
ผู้ฟัง เรียนถามอาจารย์ เรื่องของกัลยาณมิตร
ท่านอาจารย์ เป็นมิตรที่ดี มิตรที่ดีก็ให้สิ่งที่เป็นประโยชน์ในทางธรรม ก็เป็นกัลยาณมิตรในทางธรรม ใครเป็นกัลยาณมิตร สูงสุดของกัลยาณมิตรคือใคร พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ไม่เคยให้โทษกับใครเลยทั้งสิ้น
ผู้ฟัง องค์ของการเป็นพระโสดาบัน จะเป็นไปได้ต้องประพฤติปฏิบัติอย่างไร
ท่านอาจารย์ ต้องประพฤติปฏิบัติตามพระธรรม ศึกษาให้เข้าใจ คบสัตบุรุษ แต่ก็ยากที่จะรู้ว่าใครเป็นสัตบุรุษ ต้องเป็นผู้ที่มีปัญญาจึงจะรู้ได้ ฟังธรรมของท่าน พิจารณาด้วยความแยบคาย ประพฤติธรรมสมควรแก่ธรรม ก็เป็นเพียงหัวข้อๆ แต่หัวข้อทั้งหมดต้องเข้าใจ มิฉะนั้นเพียงแต่อ่านเฉยๆ เราจะทำอย่างไรได้ เราต้องมีความรู้ธรรมก่อน แล้วเราถึงจะสามารถเข้าใจได้ อย่างการที่จะรู้ว่าใครเป็นสัตบุรุษ หรือผู้ที่ประพฤติดีตามธรรม ผู้ที่ประพฤติถูกต้องก็ต้องศึกษาธรรม แล้วถึงจะรู้ได้
ผู้ฟัง ปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม แค่ไหนจึงจะเรียกว่าสมควร
ท่านอาจารย์ ขณะนี้เป็นธรรมถูกต้องไหม ปฏิบัติธรรมสมควรแก่การที่จะรู้ว่าเป็นธรรม ถ้ารู้ว่าเป็นธรรมแล้วก็ไม่ได้ปฏิบัติอบรมเจริญปัญญาที่จะรู้ถูกต้องให้ยิ่งขึ้น ก็ไม่ชื่อว่า ปฏิบัติธรรมสมควรแก่การที่จะรู้แจ้งธรรม สิ่งที่ได้เรียนแล้ว อย่าคิดว่าเป็นแต่เพียงแค่นี้ แต่สิ่งที่เริ่มเห็นว่าเป็นจริง จะมีความจริงถึงขั้นที่ประจักษ์แจ้งในทุกคำที่ได้ยิน เช่น สภาพธรรมเกิดแล้วดับ ขณะนี้มีสภาพธรรมกำลังปรากฏให้รู้จริงๆ เป็นธรรมจริงๆ แต่ยังไม่ประจักษ์การเกิด และดับ แต่ว่าโดยการฟัง พิจารณาแล้วต้องรู้ว่าสิ่งใดปรากฏ สิ่งนั้นต้องเกิด ไม่เกิดก็ปรากฏไม่ได้ เพราะฉะนั้น เมื่อการเกิดของธรรมมีจริง การดับของธรรมมีจริง ปัญญาก็ย่อมสามารถที่จะประจักษ์แจ้งได้ มิฉะนั้นการฟังของเราก็เป็นโมฆะทั้งหมด เพราะฉะนั้น ปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรมจริงๆ คือปฏิบัติธรรมที่จะทำให้รู้แจ้งสภาพธรรมที่สมควรที่จะรู้แจ้งได้ การอบรมนั้น หนทางนั้นเป็นหนทางที่สมควรที่จะรู้แจ้งสภาพธรรมได้ ก็เป็นการปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม เพียงขั้นฟัง เป็นการปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรมหรือยัง หรือเป็นเบื้องต้นที่จะทำให้ถึงการปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม
เพราะฉะนั้น ก็เป็นเรื่องที่ละเอียด เป็นเรื่องที่จะต้องอบรมว่า เมตตาจริงๆ คือ อโทสะที่มีต่อสัตว์ บุคคลต่างๆ คือความไม่โกรธ เพราะว่าเวลาโกรธแล้วนี่ ที่เคยเป็นอย่างดี ก็กลายเป็นอย่างร้ายไปหมด ที่เคยพูดดีก็กลายเป็นคำร้ายๆ ที่หวังดีก็กลายเป็นหวังร้ายไปหมด นี่ก็เป็นเรื่องที่ว่าต้องเข้าใจจริงๆ ว่า ขณะใดที่โกรธ ขณะนั้นไม่ใช่เมตตา สมควรไหมที่จะกล่าวว่า สัพเพ สัตตา ถ้าเรายังเป็นอย่างนี้อยู่ แต่ว่าถ้าเรามีความเข้าใจที่ถูกต้องจะมีสติระลึกได้ เพราะว่าสติมีหลายระดับ ยังไม่ใช่สติที่ระลึกรู้ในสภาพที่เป็นนามธรรมหรือเป็นรูปธรรม เพราะเราบังคับไม่ได้ พอฟังวันนี้แล้วจะให้สติไประลึกลักษณะของนามธรรม และรูปธรรมเลย เป็นไม่ได้เลย แต่สติจะค่อยๆ เกิด ค่อยๆ เป็นไปทางกายบ้าง ทางวาจาบ้าง ทางใจบ้าง แล้วเมื่อนั้นเราก็จะรู้ว่า ขณะที่สติเกิด เป็นกุศล ตรงกันข้ามกับขณะที่เป็นอกุศล
แม้แต่เมตตา ตั้งแต่คนในบ้าน คนนอกบ้านไปเรื่อยๆ จนกระทั่งถึง แม้แต่ทุกคน หรือคนแปลกหน้าซึ่งไม่เคยเห็นกันมาก่อนเลย ความเมตตากับความไม่เมตตาก็ต่างกัน อย่างนี้เป็นเพียงการอบรม ยังไม่ถึงอัปปนาสมาธิ เพราะฉะนั้น ก็ยังไม่ใช่ฌานจิต ถ้ายังไม่ถึงฌานจิตแล้ว การที่เราจะแผ่ความเมตตาของเราออกไปทั่วทิศ เริ่มตั้งแต่ทิศนี้ แล้วก็ทิศโน้น ไม่ว่าจะมีสัตว์อะไรทั้งสิ้น ทิศเบื้องบน ทิศเบื้องล่างทั้งหมด จึงจะเรียกว่าแผ่ แต่ขณะที่ยังไม่มีมากพอ ต้องอบรมเจริญ ใช้คำว่าเจริญเมตตาได้ ค่อยๆ อบรมให้มีมากขึ้น แต่จะใช้คำว่าแผ่ไม่ได้
ผู้ฟัง ขอเปลี่ยนคำแผ่เมตตานี้เป็นคำอธิษฐาน อะไรสักอย่างได้ไหม เพราะเราอธิษฐานให้สัตว์ทั้งหลายไม่มีเวรกัน อธิษฐานให้ไม่เบียดเบียนกัน อะไรอย่างนี้
ท่านอาจารย์ แล้วจะเป็นอธิฐานหรือเปล่า
ผู้ฟัง อธิษฐาน
ท่านอาจารย์ แล้วจะเป็นอย่างที่เราอธิษฐานหรือเปล่า
ผู้ฟัง จะให้เป็น
ท่านอาจารย์ อย่างนั้นขอให้อธิษฐานวันนี้เลย สัตว์ทั้งโลกก็จะได้ปลอดภัย ไม่มีอันตราย ถ้าเป็นไปได้ เป็นไปได้หรือเปล่า
ผู้ฟัง ไม่ได้
ท่านอาจารย์ เราจะคิดอย่างไร สัตว์ทั้งหลายก็มีกรรมเป็นของๆ ตน คำนี้ลืมไม่ได้เลย ผู้ที่เป็นพุทธศาสนิกชนจริงๆ ที่ได้ฟังพระธรรม จะมีความเข้าใจมั่นคงในเรื่องกรรม และผลของกรรมยิ่งขึ้น แม้แต่ในการอบรมเจริญปัญญาก็จะเห็นกรรมชัดเจน และผลของกรรมชัดเจนด้วย ว่าเป็นสภาพธรรมแต่ละอย่าง
ผู้ฟัง ในกรณีที่เราถูกบังคับมา ในฐานะคุณครูผู้สอน เราจะไปแก้ตรงไหน ทำมายึดติดมาไม่รู้กี่สิบร้อยปีแล้ว การแผ่เมตตา
ท่านอาจารย์ เปลี่ยนได้ หลังจากที่เราสนทนาธรรมแล้ว ศึกษาธรรมแล้ว เราอุทิศส่วนกุศลได้แทนเมตตา
ผู้ฟัง ที่เราติดรูปแบบ
ท่านอาจารย์ เราก็เปลี่ยนสิ
ผู้ฟัง เช่นทุกเช้านี้ ธงชาติขึ้น ใช่ไหม สวดมนต์ไหว้พระ แผ่เมตตา แบบ สัพเพ สัตตา หรือว่าที่กรณีอาจารย์บอกว่า เราเปลี่ยนคำว่าแผ่เมตตาเป็นเจริญสติ แล้วคำกล่าวล่ะ
ท่านอาจารย์ ขอโทษ เจริญสติ คงจะต่างคนต่างเจริญ แต่ทีนี้ ถ้าเราจะมีแผ่เมตตาด้วย ขณะนั้นไม่เป็นจริงอย่างที่เราพูด เพราะฉะนั้น เราก็จะไม่ทำสิ่งที่ไม่จริง เคารพธงชาติก็เคารพ
ผู้ฟัง ตัดแผ่เมตตาไปเลย หรือ
ท่านอาจารย์ ไม่ต้องแผ่สิ
ผู้ฟัง แล้วกรณีที่อาจารย์เจริญสติ รูปแบบเป็นอย่างไร วิธีการ
ท่านอาจารย์ ไม่มี ถ้ามีรูปแบบเมื่อไร เป็นอัตตาเมื่อนั้น มีไหม รูปแบบของการเจริญสติปัฏฐานในพระไตรปิฎก
ผู้ฟัง แต่ยังติด คิดว่าเราจะนึกถึงเมตตาคนอื่น ไม่ใช่แล้วอย่างนั้น
ท่านอาจารย์ ขอโทษ มีคนหนึ่งก็คงจะไม่ใช่คนเดียว ก็นั่งในห้องแล้วท่องเมตตา ตั้งหลายเที่ยว ท่องไปตั้งครึ่งชั่วโมง หรือครึ่งวัน พอออกมาก็โกรธเลย กรณีหนึ่งระหว่างที่ท่อง เมตตาหรือเปล่า ถ้าเมตตาระหว่างนั้น ออกมาเมตตามีได้ไหม ท่องก็ท่องไป แต่พอเห็นสิ่งที่ทำให้โกรธ คนขับรถตัดหน้าก็โกรธแล้ว หลังจากที่ท่องเมตตามาครึ่งวัน และอีกเรื่องหนึ่ง มีพระภิกษุรูปหนึ่งท่านก็ชอบมากเลยเรื่องการที่จะเจริญเมตตา ท่านก็เจริญเมตตาของท่าน แล้วก็มีแขกมาหา ท่านก็หงุดหงิด เพราะว่าท่านกำลังเจริญเมตตา ก็มีแขกเสียแล้ว แล้วไง เป็นเมตตาหรือเปล่าที่เจริญ นั่นท่องหรือเปล่า แค่ท่อง
ผู้ฟัง ในพระไตรปิฎก มีที่พระถูกงูกัด มีการเจริญ สวดกรณียเมตตาสูตร
ท่านอาจารย์ สวดหมายความว่าอย่างไร
ผู้ฟัง ที่พระสวดกัน
ท่านอาจารย์ สวดไปใจก็โกรธไป หรืออย่างไร เพราะฉะนั้น เป็นเรื่องจิต เป็นเรื่องใจ ถ้าเรื่องของภาวนา ไม่ว่าเรื่องสมถภาวนา หรือสติปัฏฐาน วิปัสสนาภาวนาเป็นเรื่องการอบรมจิต ต้องมีสติสัมปชัญญะที่จะรู้สภาพจิตด้วยสติสัมปชัญญะ คือปัญญาพร้อมกับสติที่กำลังมีสิ่งนั้นเป็นอารมณ์ ถ้าเป็นเมตตาขณะนั้น ก็ต้องรู้สภาพจิตที่เมตตา แต่ถ้าเมตตาไม่มี จะไปตู่ว่าขณะนั้นเป็นเมตตาก็ไม่ได้
ผู้ฟัง เรื่องการเจริญพรหมวิหาร กรุณา และเรื่องมุทิตา อุเบกขา ไปพร้อมกับเมตตาด้วย ได้ไหม
ท่านอาจารย์ เป็นเรื่องของการอบรม แล้วก็มีความรู้ว่าทั้ง ๔ อย่างนี้ต่างกัน คือเมตตามีความปรารถนาดี มีความความเป็นมิตร ต้องการให้คนอื่นมีความสุข กรุณาก็เวลาที่คนอื่นมีความทุกข์ ก็เห็นใจ เข้าใจ แล้วก็ช่วยเหลือให้คนอื่นพ้นจากความทุกข์ แต่ว่าเวลาที่มีกรุณา หมายความว่าขณะนั้นต้องเป็นกุศล ซึ่งคนที่ยังมีกุศลบ้าง อกุศลบ้าง ก็จะมีอกุศลเกิดสลับได้ เพราะว่าบางคนกรุณาคนที่ตกทุกข์ได้ยาก แต่ว่ามีความสำคัญตน ได้ใช่ไหม หรือว่ามีความถือตัวก็ได้ นี่ก็เป็นเรื่องที่ต้องมีความละเอียดขึ้น เป็นกุศลอย่างหนึ่ง กุศลอย่างอื่นก็ควรเจริญด้วย ไม่ใช่ในขณะนั้นก็คิดถึง อย่างคนขอทาน แล้วก็มีคนบอกว่าเขาก็ให้เงินขอทาน แต่ด้วยความคิดว่าเขามีเงินมีทอง มีทุกสิ่งทุกอย่างมากกว่า เพราะฉะนั้น เขาก็อยากจะช่วยคนที่ด้อยกว่า แต่จริงๆ แล้วขณะนั้นก็เป็นสภาพจิตอย่างละเอียด ที่ว่าแม้ให้ก็จริง แต่มีความสำคัญตน ในขณะที่ให้หรือเปล่า แต่ถ้าเป็นกุศลจริงๆ ขณะนั้นไม่มีอกุศลด้วย ไม่มีอกุศลเกิดสลับ แต่เป็นเรื่องที่ถึงมีก็เป็นเรื่อง ที่เป็นจริง ทุกอย่างที่เป็นจริงต้องยอมรับตามความเป็นจริง คือเปลี่ยนไม่ได้ แต่สามารถที่จะเข้าใจได้ว่า ขณะนั้นไม่ใช่ตัวตน เป็นสภาพธรรมแต่ละอย่าง ซึ่งยังไม่ได้ดับสนิท ไม่เกิดอีกเลย เพราะฉะนั้น เมื่อมีเหตุปัจจัยที่สภาพธรรมนั้น จะเกิดในระดับใดก็เกิดขึ้นเป็นไปในระดับนั้น มุทิตาก็เวลาที่มีผู้ที่ได้ดี มีสุข เราก็พลอยยินดีด้วย แต่ไม่ใช่โลภะ เพราะว่าถ้ายินดีเกินไป ขณะนั้นก็เป็นโลภะแล้ว พ้นขีดของความอนุโมทนาในผลของกุศลที่เขาได้ทำ ไม่ว่าจะเป็นใคร ถ้าได้ดีมีสุข ได้ลาภ ได้ยศ สรรเสริญ ทุกอย่างต้องได้มาจากกุศลกรรม ต้องเป็นผลของกุศลกรรม
เพราะฉะนั้น ถ้าใครได้ ขณะนั้นเราก็รู้ว่ามาจากเหตุ คือกุศลกรรม ก็ยินดีด้วยในผลที่เขาจะได้รับ แม้แต่ว่าจะเพียงชั่วคราว เพราะว่าทุกอย่างก็ต้องเปลี่ยนไป สามารถที่จะรู้ถึงเหตุในอดีตได้ว่าทำให้เกิดสิ่งที่ดีทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ซึ่งเป็นผลของกุศล ก็ยินดีด้วย คือ ไม่ริษยา อุเบกขาก็คือว่า ไม่หวั่นไหว ไม่ว่าจะประสบกับสิ่งที่น่ายินดียินร้าย ถ้าเราไม่สามารถที่จะช่วยได้ก็ไม่เดือดร้อน
ผู้ฟัง ระหว่างโลภะกับโมหะ ซึ่งก็ยังแยกไม่ถูกว่า อันนี้คือโมหะ หรือ โลภะ
ท่านอาจารย์ โมหะ เป็นสภาพที่ไม่สามารถจะเข้าใจถูก เห็นถูก หรือรู้ความจริงของสิ่งที่กำลังปรากฏ แต่โลภะเป็นสภาพที่ติดข้องต้องการ เพลิดเพลินยินดี ในสิ่งที่ปรากฏ เพราะฉะนั้น เวลาที่โลภะเกิดก็ต้องมีโมหะเกิดร่วมด้วย เพราะความไม่รู้ความจริงของสภาพธรรมในขณะนั้น มี ใช่ไหม เกิดขึ้นพร้อมกันกับขณะที่ติดข้อง ต้องการ เพลิดเพลินในสิ่งนั้น
ผู้ฟัง ผมสังเกตว่า ถ้าเราสอนแบบไร้กระบวนท่า อย่างยึดตามในพระไตรปิฎกโดยให้ไประลึก เกิดกันเอง กับอีกแบบที่มีกระบวนท่า เด็ก ๒ กลุ่มเทียบกันแล้ว กลุ่มไร้กระบวนท่า ก็ยัง ถึงเรียนเข้าใจ บางทีก็ยังเด็กก็ยังลิงเหมือนเดิม ส่วนอีกกลุ่มเข้าไปวัด ไปเข้าเป็นระเบียบเรียบร้อย กลับมาเขาก็ชมเชยกันเลย มันจะแตกต่างกันอย่างไร หรือจะปรับอย่างไรดี
ท่านอาจารย์ จะเอา คำชมเชย หรือจะเอาความรู้ถูก
ผู้ฟัง ก็คงความรู้ถูก
ท่านอาจารย์ ต้องอดทน หมายความว่า ถ้าสิ่งใดถูกก็คงอยู่ในความถูกต้อง ด้วยความอดทน ที่จะทำให้ผู้อื่นมีความเห็นถูกอย่างนั้นด้วย โดยมากคนจะเอาลักษณะของสมาธิมาเป็นสติ เพราะเขาแยกไม่ออก เขาคิดว่าสมาธิเป็นสติ แต่ความจริงสมาธิเป็นเอกัคคตาเจตสิก ส่วนสติเป็นโสภณเจตสิก ต้องเป็นกุศลจิต ถ้าขณะที่กำลังไม่กลัว เป็นกุศลหรือเปล่า หรือว่าเป็นโลภะ กำลังสนุกสนาน กับความที่ไม่ต้องกลัว เพราะฉะนั้น ธรรมก็เป็นเรื่องตรง เป็นเรื่องละเอียด อย่างที่เมื่อกี้นี้จะเอาผล คือปริมาณ ทองเก๊ให้ไปกำมือหนึ่งกับทองจริงนิดเดียว จะเอาอันไหน
ผู้ฟัง ทองจริง
ท่านอาจารย์ ถ้าคนไม่รู้ก็เอาทองเก๊ ใช่ไหม นั่นคือความไม่รู้ อย่างการอุทิศส่วนกุศล เวลาที่เราทำบุญกุศล แล้วเราอุทิศส่วนกุศลให้คนอื่น ไม่ใช่ว่าเขารับกุศลของเรา เอาไป ไม่ใช่ลักษณะของไปรษณีย์ แต่ต้องหมายความว่าเมื่อผู้นั้นรู้แล้วเกิดกุศลจิตของตัวเอง ที่อนุโมทนาในกุศลของคนอื่น จิตที่ผ่องใสที่อนุโมทนาในกุศล ในคุณความดีของคนอื่น ขณะนั้นเป็นกุศลจิต เพราะฉะนั้น การที่ถามว่าแล้วจะได้บุญไหม ไม่ได้บุญไหม จะถึงผู้นั้นไหม ถึงผู้นี้ไหม ไม่ใช่ถึงโดยเหมือนกับหยิบยื่นให้ แต่เพราะการที่เขารู้แล้ว เขาอนุโมทนาหรือไม่อนุโมทนา ถ้าเขาไม่อนุโมทนา เขาก็ไม่เกิดกุศลของเขาเอง แต่ถ้าเป็นปัจจัยให้กุศลจิตเขาเกิดอนุโมทนาเมื่อไร เมื่อนั้นก็เป็นกุศลของเขา ซึ่งเมื่อมีกุศลเกิดขึ้น ต่อไปก็จะมีผลของกุศลเกิด
ผู้ฟัง ที่อาจารย์พูดเมื่อกี้ ผมนึกคำสอนของหลวงพ่อพุทธทาสได้ว่า การที่เราไปขอพรจากพระ ไม่ได้พรหรอก เราต้องไปทำเอง มันจะตรงกันหรือเปล่า
ท่านอาจารย์ พร วรํ หรือ วร หมายความถึง สิ่งประเสริฐใช่ไหม ต้องเกิดจากการกระทำเหตุที่สมควรแก่ผล
ผู้ฟัง แต่แนวคิดคือคล้ายๆ กันที่ประเด็นที่อาจารย์กล่าวเมื่อกี้ ใช่ไหม
ท่านอาจารย์ อย่างนางวิสาขาไปทูลขอพรจากพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า คือขอโอกาสที่จะกระทำกุศล ซึ่งเป็นสิ่งที่ประเสริฐ ทำอกุศล ไม่ประเสริฐ แต่โอกาสที่จะได้ทำกุศลที่ประเสริฐมีหลายข้อ ที่ต้องไปทูลขออนุญาต
มหาสติปัฏฐาน ไม่มีข้อสงสัยอะไรอีกแล้วหรือ
ผู้ฟัง ในเรื่องของคำ ปฏิจจสมุปบาท อยากให้อธิบายในเรื่องของความหมายว่าเป็นอย่างไร
สุภีร์ คำว่า ปฏิจจสมุปบาท ก็แยกออกมาเป็น ปฏิจฺจ + สมุปฺปาท แล้วก็แยกละเอียดต่อไปอีก คำว่า ปฏิจฺจ ก็แยกออกมาเป็น ปฏิ + อย = ปฏิจจ ก็ อย ก็แปลว่าไป ปฏิ คืออาศัย แปลง อย เป็น จจ ก็เป็น ปฏิจฺจ ก็แปลว่า อาศัยเป็นไป
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 241
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 242
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 243
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 244
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 245
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 246
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 247
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 248
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 249
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 250
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 251
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 252
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 253
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 254
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 255
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 256
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 257
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 258
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 259
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 260
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 261
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 262
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 263
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 264
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 265
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 266
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 267
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 268
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 269
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 270
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 271
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 272
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 273
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 274
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 275
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 276
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 277
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 278
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 279
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 280
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 281
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 282
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 283
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 284
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 285
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 286
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 287
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 288
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 289
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 290
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 291
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 292
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 293
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 294
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 295
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 296
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 297
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 298
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 299
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 300