ปกิณณกธรรม ตอนที่ 267


    ตอนที่ ๒๖๗

    สนทนาธรรม ที่ วิทยาลัยการสาธารณสุขสิรินธร จ.พิษณุโลก

    พฤษภาคม พ.ศ.๒ ๕๔


    สุภีร์ คำว่า ปฏิจฺจ ก็แยกออกมาเป็น ปฏิ + อย ก็ อย แปลว่าไป ปฏิ คืออาศัย แปลง อย เป็น จจ ก็เป็น ปฏิจฺจ แปลว่า อาศัยเป็นไป อาศัยเป็นไป คือ สิ่งที่เป็นปัจจัยให้เกิดขึ้นนั่นเอง ส่วนคำว่า สมุปฺปาท มาจาก สํ บทหน้า แปลว่า ด้วยดี อุปฺปาทแปลว่าเกิดด้วยดี รวมความได้ อันแรก ปฏิจฺจ คือ อาศัยเป็นไป สมุปฺปาท คือเกิดขึ้นด้วยดี สํ + อุปฺปาท ก็เอาสระ -ํ เป็น ม.ม้า + อุปฺปาท เป็น สมุปฺปาท ปฏิจฺจ แปลว่า อาศัยเป็นไป กับ สมุปฺปาท แปลว่าเกิดขึ้นด้วยดี แปลรวมความทั้งหมด สิ่งที่อาศัยกัน และกันเกิดขึ้นเป็นไป วนเวียนกันไปเรื่อยๆ อันนี้โดยศัพท์ โดยรายละเอียดก็คงต้องศึกษากันอีกพอสมควร ปฏิจจสมุปบาท อธิบาย ความเป็นไปของโลกว่าทำไมถึงวนเวียนอยู่อย่างนี้ ไม่ไปไหนสักที เพราะว่ามีกิเลส จึงทำให้เกิดการทำกรรม พอทำกรรมเสร็จก็รับวิบาก ที่เราอาจจะเคยได้ยินว่า กิเลส กรรม วิบาก เป็นวงของปฏิจจสมุปบาท คือต้องเกิดเรื่อยๆ สืบต่อไปในสังสารวัฏฏ์ ไม่สิ้นสุดสักที มีกิเลสอยู่ จึงทำกรรม เมื่อทำกรรมเสร็จแล้ว ก็ต้องได้รับวิบาก ก็วนเวียนอย่างนี้ พอได้รับวิบาก ก็ด้วยความที่ตัวเองมีกิเลสอยู่ ก็ทำกรรมอีก ทำกรรมก็รับวิบากใหม่ นั่นแหละ ก็วนเวียนอยู่อย่างนี้ อันนี้เป็น ปฏิจจสมุปบาท

    ท่านอาจารย์ ถ้าพูดถึงอะไรเราก็เข้าใจได้ในสิ่งที่กำลังมี วนเวียน คือ เดี๋ยวเห็น เดี๋ยวได้ยิน เดี๋ยวก็ได้กลิ่น เดี๋ยวก็ลิ้มรส เดี๋ยวก็คิดนึก กี่วันๆ ก็แค่นี้ ๖ ทาง เพราะฉะนั้น การที่โลกจะปรากฏได้ ก็ต้องมีทาง ๖ ทางที่ทำให้โลกปรากฏได้ เวลาที่นอนหลับสนิท จิตไม่ได้อาศัยทางหนึ่งทางใดเกิดขึ้นรู้โลกเลย แต่ว่าพร้อมที่จะเห็นหลังจากที่ตื่นแล้ว ขณะนั้นต้องมีจักขุปสาท โลกทางตาคือเห็นจึงจะเกิดขึ้นได้ เพราะฉะนั้น ขณะใดที่เห็น เราอาจจะลืมว่า แท้ที่จริงสภาพนี้ที่เกิดขึ้นเพราะมีเหตุปัจจัย คือต้องมีจักขุปสาท เท่านี้ประมาทได้ไหมว่า ไม่มีอะไรที่จะเที่ยง หรือจะอยู่ในอำนาจบังคับบัญชาเลย เพียงแค่จักขุปสาทหยุดเกิด ไม่เกิดอีก ก็หมดแล้ว โลกที่เป็นแสงสว่างที่กำลังปรากฏ ในขณะนี้ก็จะไม่ปรากฏเลย

    เพราะฉะนั้น แต่ละทางก็เท่ากับจุดๆ หนึ่งของรูปในร่างกาย ที่จะเป็นปัจจัยที่จะทำให้จิตเกิดขึ้น แล้วรู้สิ่งนั้นๆ ตั้งแต่ศีรษะตลอดเท้า ทางตา ที่จุดเล็กๆ กลางตาก็เป็นจักขุปสาทรูป ซึ่งถ้ากรรมยังทำให้เกิดอยู่ตราบใดก็จะเป็นปัจจัยให้เห็นตราบนั้น ก็วนเวียน คือ เห็นแล้วเห็นอีก แล้วก็เห็นอีก ทางหูก็เป็นอีกรูปหนึ่งที่ตัว ก็มีรูปอยู่แค่นี้ ๕ รูป ซึ่งเป็นทางที่จะรู้อารมณ์ต่างๆ ทางหู มีรูปซึ่งสามารถกระทบเสียง แต่ถ้ากรรมไม่ทำให้โสตปสาทเกิดต่อไป คนนั้นก็จะไม่มีโลกเสียงปรากฏอีกเลย เสียงจะไม่ปรากฏกับบุคคลนั้นเลย ถ้ารู้สาเหตุว่า สิ่งต่างๆ เหล่านี้มาจากกรรมที่กระทำ ที่ทำให้มีตา มีหู มีจมูก มีลิ้น มีกาย กายปสาทซึมซาบอยู่ทั่วตัว ส่วนใดที่สามารถจะรู้สิ่งที่อ่อนหรือแข็ง เย็นหรือร้อน ตึงหรือไหว ส่วนนั้นมีกายปสาท แต่ส่วนที่ไม่มีกายปสาท ถึงแม้กระทบก็ไม่มีการรู้ในลักษณะของสภาพที่อ่อนหรือแข็ง เย็นหรือร้อน ตึงหรือไหว เพราะฉะนั้น ตลอดทั่วทั้งกายก็มีรูป ๕ รูปซึ่งเป็นทางที่จิตจะเกิด แล้วก็รู้อารมณ์ ๕ ทาง แต่ใจ ถึงแม้ว่าจะไม่มีตา หู จมูก ลิ้น กายเลย ก็สามารถที่จะคิดนึก เพราะฉะนั้น ใจที่เกิดก่อน จิตที่คิดนึกอันนั้นเป็นมโนทวาร ได้แก่ ภวังคจิตขณะสุดท้าย คือ ภวังคุปัจเฉท หลังจากที่ภวังค์นี้ดับแล้ว วิถีจิตคือจิตที่คิดนึกก็เกิด เพราะว่าอาศัยจิตก่อนที่เป็นภวังค์เป็นมโนทวาร

    นี่ก็คือชีวิตที่วนเวียนไปในสังสารวัฏฏ์ ทุกวันเป็นอย่างนี้ ตามเหตุตามปัจจัย ถ้าไม่คิดถึงว่า มีตัวที่มั่นคง ตั้งแต่ศีรษะตลอดเท้า ที่เที่ยง เพราะเข้าใจผิด ก็จะรู้ว่าแต่ละขณะที่เกิดต้องอาศัยปัจจัย เพียงชั่วขณะที่แสนสั้นก็ต้องมีปัจจัยที่จะเกิดแล้วก็ดับไปเลย ถ้ามีความเข้าใจอย่างนี้จริงๆ ก็จะเป็นทางที่สติสัมปชัญญะจะเกิดระลึกลักษณะของสภาพธรรม แล้วก็สามารถจะรู้ลักษณะนั้นจนประจักษ์ว่าเกิดดับได้

    นี่คือสติปัฏฐาน นี่คือการอบรมเจริญปัญญา ซึ่งทั้งหมดก็เป็นข้อสุดท้ายของการอบรม คือเรื่องโพธิปักขิยธรรม ๓๗ ไม่ใช่อกุศล อกุศลจะเป็นโพธิปักขิยธรรมไม่ได้ ขอเชิญคุณสุภีร์ให้ความหมายของโพธิปักขิยธรรม

    สุภีร์ คำว่า โพธิปักขิยธรรม แยกออกมาเป็น ๓ ศัพท์ด้วยกัน โพธิ + ปกฺขิย + ธมฺม สำเร็จรูปเป็น โพธิปกฺขิยธมฺม คำว่า โพธิ หมายถึงการตรัสรู้ ได้แก่เป็นมรรค ที่เราอาจจะเคยได้ยิน ปกฺขิย คือ เป็นฝ่าย ฝ่ายทางตรัสรู้ ปฺกขิย แปลว่าเป็นฝ่าย ฝ่ายนี้ โพธิปกฺขิย คือ ฝ่ายของการตรัสรู้ ฝ่ายของมรรคที่จะดำเนินไปถึงการตรัสรู้ ธรรม คือสภาพธรรมที่มีจริงนั่นเอง เพราะเหตุว่าธรรมเป็นคำกลางๆ มีสิ่งที่ดีก็ได้ ไม่ดีก็ได้ แล้วแต่ แต่ว่าถ้าเป็นโพธิปักขิยธรรม เป็นธรรมที่เป็นฝ่ายของการตรัสรู้ หรือเป็นฝ่ายของมรรค

    ท่านอาจารย์ กำลังเริ่มจะมีบ้าง แต่ยังไม่ครบ อย่างสติปัฏฐานจะเกิด หรือยังไม่เกิด อย่าไปกังวล หรืออย่าไปพยายาม แต่ขึ้นอยู่กับความเข้าใจ ถ้ามีความเข้าใจเพิ่มขึ้นๆ ๆ ๆ วันหนึ่งสติสัมปชัญญะซึ่งเป็นสติปัฏฐานก็เกิด เพราะว่าถ้าไม่มีสติปัฏฐาน แล้วที่จะทำให้รู้แจ้งอริยสัจธรรม เป็นไปไม่ได้เลย เพราะสติปัฏฐานก็รวมอยู่ในส่วนของธรรมที่เป็นฝ่ายของการตรัสรู้ คือ โพธิปักขิยธรรม

    เพราะฉะนั้น จะเห็นความต่างของการเพียงรู้ชื่อ กับการเข้าใจจริงๆ ในความเป็นโพธิปักขิยธรรมแล้วก็ต้องเป็นความเข้าใจคือปัญญาของเรา ไม่ใช่อยู่ในหนังสือแล้วก็อธิบาย แล้วเราก็คิดว่า นั่นเป็นความเข้าใจของเราแล้ว แต่ความจริงไม่ใช่ นั่นเป็นเพียงสิ่งที่จะทำให้เราไตร่ตรอง พิจารณาจนกระทั่งรู้ลักษณะแท้ๆ ของสภาพธรรมแต่ละหมวด ซึ่งเป็นโพธิปักขิยธรรม เพราะฉะนั้น การศึกษาจึงต้องละเอียด เพียงแต่รู้ว่า ธรรมที่จะเป็นฝักฝ่าย ที่จะทำให้รู้แจ้งอริยสัจธรรม จะขาด ๓๗ ประการนี้ไม่ได้ เพราะฉะนั้น สติที่เป็นสติปัฏฐาน กับสติที่เป็นสัมมาสติในมรรคมีองค์ ๘ คือเจริญขึ้นจนถึงความเป็นสติสัมโพชฌงค์ ก็เป็นเรื่องของสภาพธรรมที่เป็นจิต เป็นเจตสิก เป็นรูป แต่ว่าสภาพธรรมที่จะเจริญที่จะทำให้รู้แจ้งได้ก็ต้องเป็นฝ่ายนามธรรม

    ผู้ฟัง ความสำคัญของมหาภูตรูปนี่ สำคัญกับ ปรมัตถธรรมอีก ๒ อย่าง คือ จิต เจตสิก อย่างไร

    ท่านอาจารย์ ที่จริงแล้วรูป เป็นส่วนที่แยกขาดจากกัน ไม่ว่ารูปจะอยู่ตรงไหน ที่ไหนก็ตาม เพราะว่ารูปไม่ใช่สภาพรู้ แต่เมื่อมีสภาพรู้ หรือ จิต เจตสิก ซึ่งเป็นนามธรรม นามธรรมก็จะต้องรู้สิ่งหนึ่งสิ่งใด แล้วเมื่อมีรูปปรากฏ ทั่วๆ ไป เพราะฉะนั้น นามธรรมก็ต้องรู้รูป แต่ว่าการที่จะรู้มหาภูตรูป จะรู้ได้เฉพาะทางกายเท่านั้น ทางตา ไม่สามารถจะเห็นมหาภูตรูปได้ ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ไม่สามารถเลย เพราะฉะนั้น การที่จะรู้ลักษณะของมหาภูตรูปได้ มีทางเดียว คือเมื่อกายกระทบกับมหาภูตรูป นี่คือความเกี่ยวข้องสัมพันธ์ว่า จิต เจตสิก เป็นสภาพรู้ แล้วมหาภูตรูปก็มี แต่การที่จะรู้มหาภูตรูปได้ต้องรู้เฉพาะทางกาย เมื่อกระทบกับกายเท่านั้น

    ผู้ฟัง สิ่งที่ปรากฏทางตา ก็ไม่เกี่ยวกับมหาภูตรูปอีก อย่างนั้นหรือ

    ท่านอาจารย์ เป็นสภาพธรรมอย่างหนึ่ง คือ การศึกษาธรรม ถ้าจะศึกษาเพื่อที่จะเข้าใจลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ แล้วเราค่อยๆ เข้าใจให้ลึกซึ้งขึ้นถึงความหมายของคำว่า อนัตตา ขณะนี้เวลาฟัง แล้วพยายามน้อมใจไปที่จะให้เข้าใจจริงๆ ว่า เรากำลังพูดถึงธรรมทั้งหมดเลย ทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ไม่มีเรา แต่มีสภาพรู้ซึ่งเกิดขึ้นทีละ ๑ ขณะ แล้วก็รู้สิ่งที่ปรากฏ ซึ่งจะต้องอาศัยทางหนึ่งทางใดใน ๖ ทาง ขณะที่กำลังเห็น ต้องมีจักขุปสาท ซึ่งจักขุปสาทต้องเกิดกับมหาภูตรูป แต่ตัวมหาภูตรูปไม่เป็นจักขุปสาท ไม่เป็นกายปสาท เป็นแต่เพียงรูปซึ่งเป็นที่ตั้ง ที่รองรับ เป็นที่อาศัยเกิดของรูปอื่นๆ

    เพราะฉะนั้น ที่เราจะรู้ว่า มีรูปในขณะนี้ ที่กำลังปรากฏทางตา ไม่มีทางที่จะไปรู้ถึงมหาภูตรูปเลย เพราะเหตุว่าขณะนี้กำลังอาศัยจักขุปสาท ซึ่งกระทบกับสิ่งที่กำลังปรากฏให้เห็น ขณะนี้มีสิ่งที่กำลังปรากฏให้เห็น ในขณะนี้ เป็นหนึ่งขณะของโลกทางหนึ่ง คือ โลกทางตา ถ้าเข้าใจความเป็นอนัตตา ไม่มีเรา ไม่มีใครที่เห็น ที่นั่งอยู่ที่นี่ด้วย ชั่วขณะที่จิตเห็น เกิดขึ้นเห็นแล้วดับ แล้วขณะต่อไปจิตก็เกิดสืบต่อ จนกระทั่งความทรงจำทำให้รู้สึกว่า มีเรา แล้วก็ยากที่จะไถ่ถอน เพราะว่าเหมือนเราเห็นอยู่ตลอดเวลา เพราะฉะนั้น เวลาฟังเรื่องของสภาพธรรมทางตา ก็ทิ้งทางอื่นหมด ให้เข้าใจจริงๆ ว่า ขณะนี้ เป็นธาตุชนิดหนึ่งซึ่งเห็น แล้วก็ดับ ก็ไม่ต้องไปคิดเรื่องมหาภูตรูป แต่เวลาที่มีกายปสาทกระทบกับธาตุที่อ่อนหรือแข็ง เย็นหรือร้อน ตึงหรือไหว ลักษณะ ๓ อย่างของมหาภูตรูปปรากฏ ถ้าไม่มีขณะที่กายปสาทกระทบกับมหาภูตรูปหนึ่งมหาภูตรูปใดแล้วปรากฏ มหาภูตรูปมีก็เหมือนไม่มี คือการที่จะเอาเราออก แล้วก็ให้เหลือเพียงชั่วขณะที่สภาพธรรมแต่ละอย่างปรากฏ มีแต่ในความทรงจำในเรื่องในราวเท่านั้น แต่สภาพธรรมจะปรากฏจริงๆ ต่อเมื่อกระทบกับปสาท ถ้าเป็นรูป

    ผู้ฟัง มหาภูตรูปในแง่ของตัวที่เป็นอารมณ์ กระทบกายปสาท แต่ทุกอย่างจะต้องประกอบด้วย อวินิพโภครูป ๘

    ท่านอาจารย์ เรื่องคิด เรื่องเข้าใจ แต่เวลาที่สภาพธรรมปรากฏต้องปรากฏชั่วขณะที่เกิดแล้วดับ ขณะนี้มหาภูตรูปก็กำลังเกิดดับ โดยไม่ปรากฏ ขณะที่กำลังเห็น ขณะนี้ มหาภูตรูปก็เกิดดับ โดยไม่ปรากฏในขณะที่ได้ยินเสียง แต่ลักษณะของมหาภูตรูปซึ่งเกิดเพราะเหตุปัจจัย แล้วก็ดับ ต้องกระทบกายปสาทเมื่อไร

    ผู้ฟัง อันนี้คือจุดซึ่งเราไม่ได้เข้าถึงความละเอียดของธรรม จะตรงกันว่า มหาภูตรูป มันเป็นอวินิพโภครูป ซึ่งเกิดกับรูปทุกรูป แต่เราจะกระทบสัมผัสได้ทางกายปสาทเท่านั้น ทางอื่นเราคิดเอาเองเท่านั้นเอง สิ่งที่ปรากฏ เราจะไม่ปรากฏเป็นอารมณ์ เขาจะต้องปรากฏเป็นอารมณ์เฉพาะกายปสาท แต่ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น รู้สึกจะเป็น ลิ้นเป็นกายปสาทด้วย

    ท่านอาจารย์ กำลังลิ้มรส ขณะที่รสปรากฏ ขณะนั้นไม่เกี่ยวกับเย็น ร้อน อ่อน แข็ง

    ผู้ฟัง แต่ลิ้นก็เย็น ร้อน

    ท่านอาจารย์ แต่เขาแยก ขณะที่รสปรากฏ สั้นมากก็จริง หรือขณะที่เสียงปรากฏก็สั้น ทุกขณะปรากฏสั้นมาก ขณะที่ไม่มีชิวหาปสาทกระทบกับรส รสจะปรากฏไม่ได้ ขณะใดที่รสปรากฏ ชั่วขณะนั้นมหาภูตรูปใดๆ ก็ไม่ปรากฏ

    ผู้ฟัง ไม่ปรากฏ คือประสบการณ์ ดิฉันดื่มกาแฟ เช้าหนึ่ง เกิดร้อนขึ้นมาก่อน แป๊บเดียว เสร็จแล้วถึงจะเกิดรส ก็เลยมานึกว่า ทางอื่น ความจริงกายปสาทไม่มีหมดเลย ทางลิ้น ทำไมจึงปรากฏได้ ๒ ทาง แสดงว่า มหาภูตรูป เขาปรากฏก่อน ลักษณะร้อนปรากฏก่อน แล้วก็ดับไป แล้วจึงชิวหาปสาท คือ รสปรากฏทีหลัง อันนี้ก็มองให้เห็น คือปนกัน ถ้าเรายังไม่แม่น เราจะปนกันว่า มหาภูตรูปกับอวินิพโภครูป ๘ ซึ่งมีกับทุกๆ แห่ง แต่เขาจะปรากฏได้เฉพาะทางกายปสาทเท่านั้น ถ้าทางอื่นเป็นเรื่องราวไปแล้ว เราคิดเองแล้ว เขาก็จะไม่ปรากฏ แต่เขาก็มี ใช่ไหม

    ท่านอาจารย์ คุณสุรีย์ เคยรับประทานมะแว้ง ไหม

    ผู้ฟัง ชอบมาก

    ท่านอาจารย์ ขมไหม ขมมากเลย ขณะที่รสขมปรากฏ เย็นร้อนหรือเปล่า

    ผู้ฟัง ไม่

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้น เราถึงจะรู้ว่า ขณะใดที่รสปรากฏ ชั่วขณะนั้น ทางลิ้น คือชิวหาปสาท

    ผู้ฟัง ผมอยากจะให้อาจารย์ ท่านบรรยายธรรมในลักษณะเริ่มต้น

    ผู้ฟัง ขอให้ท่านอาจารย์ช่วยอธิบายคำว่า การนั่งสมาธิที่ว่าให้จิตสงบ แล้วจะให้เป็นบาทฐานของปัญญา เป็นวิปัสสนา แล้วจะทำได้ง่ายกว่า ขอให้ท่านอาจารย์ช่วยอธิบายด้วย

    ท่านอาจารย์ คุณสุกิจก็ขอให้ตั้งต้น ซึ่งความจริงสำคัญที่สุดเลยคือการตั้งต้น เราจะไปทางไหน ทำอะไรก็ตาม ถ้าเราตั้งต้นผิด ก็ไปผิดตลอดเลย เพราะฉะนั้น เรื่องของพระพุทธศาสนาเป็นเรื่องที่ละเอียด แล้วเป็นเรื่องของปัญญา เพราะเหตุว่าเป็นคำสอนของพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า เพื่อละ อันนี้ถ้าเราไม่ถึงจุดนี้ เรามีแต่จะได้ จะเอา จะทำ ซึ่งนั่นไม่ใช่พระพุทธศาสนาเลย เพราะฉะนั้น แต่ละคนที่อยู่ที่นี่ พร้อมที่จะละ หรือพร้อมที่จะได้ พร้อมที่จะเอา ละ คือ ละความไม่รู้ ละความเห็นผิด ละความยึดมั่น ละความติดข้องในสิ่งซึ่งเราติดมาแล้วในสังสารวัฏฏ์ ในสังสารวัฏฏ์ที่ยาวนานนี้ยังยาวต่อไปอีก ถ้ายังมีความติดข้อง ยังมีความต้องการในสิ่งที่ปรากฏทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ

    เพราะฉะนั้น ก่อนอื่น แม้แต่เพียงขั้นต้น คือฟัง เรายังต้องตั้งต้นด้วยฟัง เพื่อละ ถ้าไม่ใช่ฟังเพื่อละ แล้วจะไม่เข้าถึงพระพุทธศาสนาเลย ถ้ามีใครชักชวนให้ไปนั่งแล้วทำใจของเรา ขณะนั้นต้องการแล้ว ติดข้องแล้ว ไม่มีปัญญาแล้ว เพราะเหตุว่า ไม่รู้เลยว่า นั่งอะไร ทำอะไร ปัญญารู้อะไร เพราะฉะนั้น ก็เป็นเรื่องไม่รู้ พอเป็นเรื่องไม่รู้ โลภะจะพาไปทันที อย่างที่บอกว่าโลภะเป็นทั้งอาจารย์ เป็นทั้งศิษย์ เวลาเป็นอาจารย์ เขาก็คิดให้ทำโน้น ทำนี่ คิดเสร็จ ลูกศิษย์ก็ทำตาม อย่างนี้มาในสังสารวัฏฏ์ โลภะเขาจะนำ แล้วลูกศิษย์คือโลภะ ติดตามไปเรื่อยๆ เพราะฉะนั้น การศึกษาธรรมเป็นอีกเรื่องหนึ่ง ซึ่งคนนั้นจะต้องเข้าใจความหมายของพุทธว่า พระพุทธเจ้าตรัสรู้ความจริง ของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ ถ้าไม่ศึกษาไม่มีทางที่ใครจะรู้ความจริง ใครจะบอกว่าไปนั่งอย่างไรๆ ก็ตามแต่ แต่ก็ไม่สามารถที่จะรู้ความจริงได้ ถ้าไม่ศึกษาพระธรรม เพราะว่าทุกคนที่ไม่ใช่พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ต้องเป็นสาวก คือผู้ฟังพระธรรม แล้วการฟังพระธรรม เรารู้ได้เลยว่า ธรรมที่ได้ยินได้ฟัง เป็นธรรมของพระพุทธเจ้าหรือไม่ใช่ ถ้าเป็นธรรมของพระพุทธเจ้าต้องทำให้เกิดปัญญา ความเข้าใจ แม้จะมากหรือจะน้อยก็ตามแต่ แต่ต้องเป็นความเข้าใจถูก ความเห็นถูกในอะไร ในสิ่งที่ปรากฏ ที่มีจริงๆ ในขณะนี้ แต่ละขณะ แต่ละขณะ นี่คือปัญญาที่สามารถที่จะละกิเลสได้ ไม่ใช่ไปทำอย่างอื่น เพราะฉะนั้น ๑ ต้องฟัง ไม่ใช่ไปนั่ง นั่งกับฟัง ปัญญาจะเกิดได้อย่างไร ตรงไหน

    ผู้ฟัง อันนี้ก็ขอบอกตรงๆ ว่า ขอยืมคำพูดของท่านอาจารย์ ไปโต้กับเขา เขาก็บอกว่า ในเมื่อคนเราเรียนปริยัติแล้วรู้รูปนามแล้ว เราละรูปนาม เท่านี้ก็ต้องทำได้แล้ว เขาว่าอย่างนั้น

    ท่านอาจารย์ ละความเห็นผิด เป็นพระโสดาบัน ละความเห็นผิด

    ผู้ฟัง เขาว่าเขาเจตนาถูก เขาบอกอย่างนี้

    ท่านอาจารย์ แต่ทีนี้ความเห็นผิดขณะนี้ เห็นผิดในอะไร แล้วปัญญาเห็นถูก เห็นถูกในอะไร เขาสามารถที่จะบอกได้ไหมว่าเห็นผิดในอะไร และเห็นถูกในอะไร ถ้าเห็นผิดในสิ่งที่กำลังปรากฏ เห็นถูกคือ เห็นถูกต้องตามความเป็นจริงของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏว่าเป็นธรรม ไม่ใช่เรา

    ผู้ฟัง เขาบอกว่าพระพุทธเจ้าก็ทำอย่างนี้

    ท่านอาจารย์ ทำอย่างไร

    ผู้ฟัง ที่ว่าไปนั่งจนกระทั่งได้ฌาน ได้อภิญญา ได้อะไร

    ท่านอาจารย์ ยามที่ ๑ ระลึกชาติได้ ไม่รู้แจ้งอริยสัจธรรม ยามที่ ๒ รู้จุติปฏิสนธิ ก็ไม่รู้อริยสัจธรรม ต้องถึงยามที่ ๓ จากพระปัญญาที่ได้สะสมพระบารมีมาทั้งหมด ทำให้สามารถที่จะรู้ลักษณะของสภาพธรรม ซึ่งทรงแสดงเรื่องของสติปัฏฐาน สำหรับทุกคนที่จะรู้แจ้งสภาพธรรมว่าเป็นหนทางเดียว เป็นหนทางที่จะทำให้รู้สภาพธรรมที่กำลังปรากฏได้ ทรงแสดงอย่างนี้ หลังจากที่ตรัสรู้แล้ว ไม่ได้แสดงให้ไปนั่งที่ไหนเลย แล้วทำไมเราถึงไม่อ่านให้ละเอียด แล้วไม่พิจารณาให้ถูกต้อง เพียงแต่ว่าใครนั่ง เราก็จะนั่ง ใครทำอะไรเราก็จะทำ แต่ปัญญาไม่เหมือนกัน แล้วก็ต้องฟังโดยละเอียดด้วย ยามที่ ๑ ไม่ได้ตรัสรู้ ยามที่ ๒ ก็ไม่ได้ตรัสรู้

    ผู้ฟัง ดิฉันได้เรียน เรียกว่าได้ ปริยัติ ได้เรียนมาแล้วบ้าง เรียนแล้วก็รู้ว่า ควรจะต้องละเอียดแค่ไหน แต่ทำไมถึงได้ง่ายเหลือเกิน คนที่ไปนั่ง เข้าป่าไปนั่ง วิเวก ตรงนั้นตรงนี้ แล้วก็ได้ แค่วิตกวิจารณ์ อะไรอย่างนี้ ทำไมง่ายจริงๆ เราก็ยังนึก ก็ตรงนี้จะเอาชนะคนที่นั่งไม่ได้ ไม่มีปัญญาจะไปโต้ตอบกับเขา

    ท่านอาจารย์ บางคนเขาศึกษาพระอภิธรรม แต่จุดประสงค์ต่างกัน เรียนเพื่ออะไร บางคนเรียนแบบประวัติศาสตร์ ภูมิศาสตร์ คณิตศาสตร์ จิตมีเท่าไร เจตสิกมีเท่าไร ถ้าบอกจำนวนอย่างนี้ เข้าใจว่าศึกษาธรรมหรือเปล่า หรือว่าศึกษาเรื่องชื่อ เรื่องราว เหมือนประวัติศาสตร์ ภูมิศาสตร์ ซึ่งวันหนึ่งก็ต้องลืม พระไตรปิฎกมากมาย คนที่สามารถจะท่องก็ท่อง ท่องด้วยคิดว่า ความสามารถอยู่ที่ท่อง แต่ความจริงพระพุทธเจ้าทรงแสดงธรรม ผู้ฟังเข้าใจ แล้วรู้แจ้งอริยสัจธรรม ไม่ใช่ไปท่องอะไรเลย อยู่ที่ความเข้าใจของผู้ฟังที่จะเห็นประโยชน์ว่า การสะสมการฟังพระธรรม เพื่อเข้าใจ เพื่อว่าวันหนึ่งเมื่อฟังแล้วสามารถที่จะเข้าใจสภาพธรรมที่กำลังปรากฏในขณะนี้ตามปกติได้ ถึงระดับที่คนฟังอื่นๆ ได้รู้แจ้งอริยสัจธรรมมาแล้ว เพราะฉะนั้น ขึ้นอยู่กับการเข้าใจมากๆ แม้แต่คำว่า ธรรม ต้องรู้ว่า หมายความว่าสิ่งที่มีจริงๆ ถ้าใช้คำว่า ธรรม มาจากคำว่า ธาตุ ธา-ตุ เหมือนกัน ถ้าใช้คำว่าธาตุ คือไม่มีใครเป็นเจ้าของเลย พอพูดถึงดินเปล่าๆ ไมใช่ที่ตัวเราที่แข็ง ดินก็คือดิน ไฟก็คือไฟ น้ำก็คือน้ำ ลมก็คือลม ไม่มีใครเป็นเจ้าของเลย แต่ทำไมที่นี่ มากลายเป็นของเรา อ่อนหรือแข็งที่นี่ เย็นหรือร้อน มาเป็นของเรา ตึงหรือไหว มาเป็นของเรา ทุกอย่างที่เกิดตามเหตุตามปัจจัย ตั้งแต่ศีรษะจรดเท้า มากลายเป็นของเรา ด้วยความไม่รู้ เพราะฉะนั้น จึงต้องอาศัยการฟังโดยละเอียดจริงๆ เพื่อที่จะทราบว่า เมื่อเข้าใจธรรมแล้ว อันนี้จะเป็นหนทางที่จะทำให้สัมมาสติเกิด เป็นหนทางเดียวที่จะรู้ลักษณะของสภาพธรรม ที่กำลังปรากฏ เพราะว่าสัมมาสติระลึกลักษณะที่มีจริงๆ ของธรรมแต่ละอย่างซึ่งกำลังปรากฏ ซึ่งก่อนฟังไม่เคยรู้เลยว่าเป็นธรรมแต่ละอย่าง

    เพราะฉะนั้น ก็ไม่ใช่เป็นเรื่องการที่คนส่วนใหญ่ทำอย่างนั้น เราก็ต้องทำ ไม่ใช่ แต่ว่าเรียนธรรมเพื่ออะไร เพื่อสอบ หรือเพื่ออะไรก็ไม่ใช่ เพื่อเข้าใจความจริงของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ ไม่ใช่ว่าเรียนแล้วกิเลสหมด เพียงแค่นี้กิเลสหมดไม่ได้เลย ยิ่งเรียนยิ่งเห็น การที่กิเลสจะหมดไปได้ นาน แล้วก็จะรู้จักตัวเองตามความเป็นจริง การที่จะรู้แจ้งอริยสัจธรรม ไม่ใช่ขั้นแรกเป็นพระอรหันต์ ซึ่งส่วนใหญ่คนจะเข้าใจผิด คิดว่าพอเรียนธรรม แล้วหมดโลภ หมดโกรธ หมดหลง บางคนก็ยังบอก เรียนธรรมแล้วทำไมยังโกรธ ทำไมยังโลภ นั่นคือเขาไม่เข้าใจเลยว่า กว่าจะถึงความเป็นพระอรหันต์ ปัญญาจะต้องสะสมไปมากมายหลายขั้นตามลำดับ ขั้นวันนี้ที่ฟัง มีความรู้จากสิ่งที่ไม่เคยได้ยินได้ฟังมาก่อนเลยเท่านั้น ไม่ใช่ดับกิเลส ทำอะไรกิเลสไม่ได้เลย แล้วยิ่งเรียนยิ่งรู้ กว่าจะละกิเลสได้แสนยาก แต่ว่าเริ่มที่จะรู้จักสิ่งที่เคยยึดถือว่าเป็นเราให้เข้าใจขึ้น แล้วก็จะเป็นผู้ที่ตรง

    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 97
    23 พ.ย. 2567