ปกิณณกธรรม ตอนที่ 270


    ข้อความนี้อยู่ระหว่างตรวจสอบแก้ไข

    ตอนที่ ๒๗๐

    สนทนาธรรม ที่ บริษัทเดลี่กูดส์ จำกัด ถ.สุขสวัสดิ์ เขตราชบูรณะ

    มีนาคม พ.ศ. ๒๕๔๒


    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้น การที่เราเห็นสิ่งหนึ่งสิ่งใดซึ่งดูเหมือนว่าใหญ่ แข็งแรง มั่นคง เป็นเหล็กเป็นอะไรก็แล้วแต่ แท้ที่จริงแล้วจะมีอากาศธาตุแทรกคั่นอยู่อย่างละเอียด จนถึงรูปที่แยกจากกันอีกไม่ได้ เรียกว่า กลาป หรือกลาปะหนึ่ง ถ้ากลาปะนั้นเกิดจาก อุตุ เช่นต้นไม่ใบหญ้า หรือว่าโต๊ะ เก้าอี้ พวกนี้ จะไม่มีชีวิตรูป ถ้าเกิดจากจิต ก็ไม่มีชีวิตรูป ต้องเกิดจากกรรมเท่านั้น เพราะฉะนั้น ทันทีที่ปฏิสนธิจิตเกิดขึ้น ขณะแรกมีปฏิสนธิจิตกับเจตสิก ซึ่งมีชีวิตนาม คือ ชีวิตินทริยเจตสิกเกิดกับจิต นั่นเป็นชีวิตนาม ทำให้นามนั้นเป็นสิ่งที่มีชีวิต อย่างไรก็ต้องมีชีวิตอยู่แล้ว นามธรรม และทำให้รูปซึ่งเกิดเพราะกรรมเป็นสมุฏฐานเกิดพร้อมกัน พร้อมกับชีวิตรูป ชีวิตินทริยรูป หมายความว่ารูปนั้นเป็นรูปที่มีชีวิต ต่างกับรูปอื่นซึ่งไม่ได้เกิดจากกรรม

    เพราะฉะนั้น เวลาที่เราเห็นคนเป็นกับคนตาย คนตายไม่มีชีวิตรูปเลย แม้แต่จิตเจตสิกก็ไม่มี ไม่มีชีวิตเลย เพราะฉะนั้น ใช้คำว่า ไม่มีชีวิต เพราะจิต เจตสิก ก็ไม่มี และรูปนั้นก็ไม่มีชีวิตรูปด้วย จริงๆ แล้วคนตายเหมือนกับท่อนไม้ ไม่ต่างกันเลย ถ้ายกหรือจับก็จะรู้สึกว่าแข็ง แต่ตอนที่เขายังมีชีวิตอยู่ เขาจะไม่แข็งเท่านั้น เพราะเหตุว่ามีรูปอื่นๆ ซึ่งเป็นรูปที่เบา รูปที่อ่อน รูปที่ควรแก่การงาน สามารถที่จะเคลื่อนไหว เดินเหินได้ พูดได้ ยิ้มได้ พวกนั้น เพราะฉะนั้น ก็ต้องเข้าใจว่า ถ้าพูดถึงชีวิต หมายความถึงชีวิตนาม กับชีวิตรูป ถ้าชีวิตนาม คือเจตสิกซึ่งอุปถัมภ์รักษา ให้สภาพที่เกิดร่วมกันดำรงอยู่ชั่วขณะ ส่วนชีวิตรูปก็ต้องเป็นชีวิตที่เกิดจากกรรมเท่านั้น ทำให้รูปนั้นต่างจากรูปซึ่งไม่ได้เกิดจากกรรม เราเห็นตุ๊กตา เราก็บอกได้ นี่หญิง นี่ตุ๊กตาทหาร นี่สุนัข นี่แมว จากความทรงจำ แต่ไม่มีชีวิตรูปเลย แต่คนหรือสัตว์ซึ่งเกิดจากกรรม ไม่ใช่อย่างนั้น รูปนั้นต่างมากเลย ไม่ว่าจะรู้หรือจำอย่างไรก็ตามแต่ หรือจะมองไม่เห็นก็ตาม แต่ว่าลักษณะของรูปนั้นที่ดำรงชีวิตอยู่ เป็นรูปที่ดำรงชีวิต ยังไม่ใช่ซากศพ ก็เพราะเหตุว่ามีชีวิตรูปเกิด แต่ว่าสภาพธรรมแม้ว่ามีจริงแล้วก็กำลังปรากฏด้วย แต่ยากแสนยากที่จะเข้าใจให้ถูกต้องว่า ไม่ใช่ตัวตน ไม่ใชสัตว์ ไม่ใช่บุคคล เป็นแต่เพียงสภาพธรรมแต่ละอย่างจริงๆ ที่ปรากฏได้แต่ละทาง อย่างในขณะที่เรานั่งอยู่ที่นี่ มีสิ่งที่กำลังปรากฏทางตา ทุกคนเห็น แต่ว่าเคยเป็นเรา ไม่ได้เคยเป็นธรรมเลย ไม่เคยเข้าใจว่าเป็นธรรม ไม่รู้ด้วยว่าเป็นจิต เพราะว่าโดยมากทุกคนทราบว่า ทุกคนมีจิต แต่จิตอยู่ที่ไหน จิตทำอะไร บอกไม่ได้เลย ถ้าไม่ได้ศึกษาพระธรรมว่า แท้จริงแล้วลักษณะของจิตเป็นอย่างไร สภาพธรรมใดก็ตามที่มีจริงต้องมีลักษณะเฉพาะของแต่ละอย่างให้ รู้ว่าเป็นธรรมชนิดนั้นๆ ไม่สับสนกัน อย่างลักษณะที่ติดข้องพอใจ เพลิดเพลิน ก็ต่างกับลักษณะที่ขุ่นใจ แล้วก็เป็นสภาพธรรมแต่ละอย่าง แต่ก่อนนี้ก็เป็นเราหมด แต่ว่าตามความเป็นจริงแล้ว ทุกอย่างที่จะเกิด ต้องมีปัจจัยจึงจะเกิดขึ้นได้ ถ้าเราเห็นสิ่งที่น่าพอใจแล้วจะให้ไม่ชอบ ให้เกลียด ให้ชัง ให้โกรธ เป็นไปได้ไหม เห็นสิ่งที่น่าพอใจ เป็นไปไม่ได้เลย

    เพราะฉะนั้น ไม่มีใครสามารถที่จะบังคับแม้ความรู้สึก จะตั้งอกตั้งใจอย่างไรก็ตามแต่ สภาพธรรมมีปัจจัยจะเกิดขึ้นอย่างไร ก็เกิดขึ้นอย่างนั้น นี่คือเราเริ่มเห็นความเป็นอนัตตาของสภาพธรรม โดยที่แม้ว่ายังไม่ละเอียด แต่ก็พอที่เข้าใจความหมายว่า ธรรมเป็นธรรม เป็นอนัตตา ไม่ใช่ของใคร ไม่ใช่ของเรา แล้วถ้าเราศึกษาเรื่องของสภาพธรรมที่มีจริงๆ ที่ปรากฏในชีวิตประจำวันเพิ่มมากขึ้น ก็ยิ่งจะเห็นความเป็นธรรมว่า แม้ว่าธรรมจะมีหลากหลายมากมาย แต่ว่าสภาพธรรมที่มีจริงๆ ที่แยกออกเป็น ๒ ลักษณะที่ต่างกันก็มี ๒ อย่างคือ นามธรรมกับรูปธรรม เวลาที่เราจะอบรมเจริญปัญญาที่จะรู้ลักษณะของสภาพธรรม เราจะรู้ความต่างของ ๒ อย่างนี้ก่อน ก่อนที่เราจะไปรู้ความละเอียดว่า เป็นจิต หรือเป็นเจตสิก หรือเป็นอะไร แต่เราต้องรู้ความต่างของนามธรรม และรูปธรรม โดยขั้นการฟังเหมือนไม่ยาก แต่ว่าอาจจะงงๆ สำหรับคนที่ตั้งต้น เพราะเหตุว่ายุคนี้ สมัยนี้ เขาใช้คำว่า รูปธรรม ในลักษณะหนึ่ง คือ อะไรก็ตามที่ยังไม่ได้ริเริ่มทำให้เป็นรูปเป็นร่างออกมา เขาก็บอกว่า ยังไม่เป็นรูปธรรม ซึ่งความจริงแล้ว เวลาที่ศึกษาธรรม เราต้องทิ้งความหมายเดิมในทางโลก หรือว่าที่ใช้กันอยู่ในปัจจุบัน เช่น คำว่า สติ หรือ คำว่าปัญญา พวกนี้ ไม่ตรงกันเลย ถ้าใครเรียนเก่ง เขาบอกว่ามีปัญญามาก แต่นั่นไม่ใช่สภาวธรรมที่เป็นปัญญา เพราะเหตุว่าถ้าเป็นสภาวธรรมที่เป็นปัญญา ต้องเป็นความเห็นถูกในลักษณะของสภาพธรรมที่มีจริงๆ ที่กำลังปรากฏ จึงจะเป็นปัญญา นอกจากนั้นแล้วจะเป็นปัญญาไม่ได้เลย เป็นแต่เพียงเรื่องราวที่คิดนึกตามเหตุตามผล แล้วก็มีความเข้าใจว่า ขณะนั้นเป็นปัญญาหลายระดับ ไม่ต้องคิดว่าจะมองเห็นหรือมองไม่เห็น เพราะว่าเดิมทีทุกคนก็คิดว่ารูปหมายความถึงสิ่งที่ปรากฏ เป็นรูปร่างสัณฐานต่างๆ แต่รูปกว้างขวางกว่านั้นอีก คือ สภาพธรรมใดๆ ก็ตามที่มีจริง แต่ไม่สามารถจะรู้อะไรได้ สภาพนั้นเป็นรูปทั้งหมด อย่างกลิ่นเป็นรูปหรือเป็นนาม เป็นรูป รสเป็นรูป รู้สึกจะง่าย สิ่งที่ปรากฏทางตา เสียง กลิ่น รส เย็นหรือร้อน อ่อนหรือแข็ง ตึงหรือไหวที่กระทบสัมผัส รู้ว่าเป็นรูป แต่รูปใดๆ ก็ตามจะปรากฏไม่ได้เลย ถ้าไม่มีจิตไปรู้รูปนั้น

    เพราะฉะนั้น แยกขาดจากกันเลย จิตเป็นนามธรรม ไม่มีรูปร่างลักษณะใดๆ ทั้งสิ้น เอาสีสันวัณณะออก เอากลิ่นออก เอารสออก เอาเสียงออกให้หมดเลย แต่ก็ยังมีสภาพรู้ หรือธาตุรู้ ลักษณะที่เป็นธาตุรู้ล้วนๆ นั้นเองคือจิต ไม่มีรัก ไม่มีชัง ไม่มีเวทนาอะไรปรากฏ ไม่จำ ไม่อะไรหมด ธาตุที่เป็นใหญ่ เป็นประธานในการรู้สิ่งที่กำลังปรากฏให้รู้ นั่นคือสภาพของจิต ถ้ามีจิตล้วนๆ คือลักษณะซึ่งสามารถจะรู้สิ่งที่ปรากฏ โดยที่ไม่มีความรู้สึก ไม่มีอะไรเลย ก็คงไม่เดือดร้อน แต่ว่าสภาพธรรม แม้นามธรรมที่จะเกิดขึ้น เกิดเองไม่ได้ ต้องมีเหตุปัจจัย ต้องมีสภาพธรรมที่เกื้อกูลอุปถัมภ์ให้สภาพธรรมนั้นเกิดขึ้น ซึ่งนามธรรมเป็นปัจจัยให้เกิดนามธรรม คือจิตเป็นใหญ่เป็นประธาน เมื่อเกิดขึ้นแล้ว ทำให้สภาพธรรมอีกอย่างหนึ่งเกิดร่วมด้วย สภาพธรรมนั้นใช้คำว่าเจตสิก หรือถ้าเป็นภาษาบาลี ก็ต้องออกเสียงว่า เจ-ตะ-สิ-กะ เพราะว่าต้องออกเสียงทุกคำ ซึ่งหมายความถึงสภาพธรรมที่เกิดกับจิต หรือเกิดในจิต เจตสิกจะไม่เกิดที่อื่นเลย ที่ใดมีจิตที่นั้นมีเจตสิก หรือถ้าจะกล่าวอีกทีหนึ่ง สลับกัน คือ ที่ใดมีเจตสิก ที่นั่นต้องมีจิต เพราะว่าเขาต้องเกิดด้วยกัน ดับพร้อมกัน รู้อารมณ์เดียวกัน

    ถ้าไม่ศึกษาพระพุทธศาสนา หลายคนก็จะคิดว่า ตอนเกิดก็มีจิตเกิด แล้วก็ตายคือจิตดับ แต่ว่าถ้าศึกษาพระพุทธศาสนา ทุกสิ่งทุกอย่างที่เกิดเพียงเกิดทำหน้าที่ สั้นมากแล้วก็ดับ เร็วแสนเร็ว เพราะฉะนั้น ในขณะนี้เอง สภาพธรรมเป็นอย่างนั้น คือจิตเกิดแล้วก็ดับ แล้วก็ทำหน้าที่แต่ละทางคือ ขณะที่กำลังเห็นก็เป็นกิจหนึ่ง ขณะที่กำลังได้ยินก็เป็นอีกกิจหนึ่ง แต่ว่าก็เป็นสภาพที่สามารถจะรู้ลักษณะของสิ่งที่ปรากฏให้รู้นั่นเอง

    เพราะฉะนั้น ใครรู้หรือไม่รู้ ก่อนการตรัสรู้ของพระพุทธเจ้า หลังการตรัสรู้ หรือต่อไป หลังจากที่คำสอนอันตรธานไปก็ตาม สภาพธรรมเป็นอย่างไรก็คือเป็นอย่างนั้น คือ สภาพใดก็ตามที่เกิด มีปัจจัยปรุงแต่งให้เกิด แล้วก็ดับอย่างรวดเร็ว แต่ว่าถ้าเราศึกษามากขึ้น เข้าใจมากขึ้น ก็จะเป็นปัจจัยทำให้สามารถที่จะระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมในขณะนั้น แล้วเริ่มค่อยๆ เข้าใจลักษณะจริงๆ ของสภาพธรรม เพราะขณะนี้เราพูดเรื่องจิต แต่ว่ายังไม่มีการรู้ลักษณะของจิต เพียงแต่เข้าใจเรื่องจิตขึ้น ว่าจิตมี แล้วเป็นสภาพที่เป็นใหญ่ในการรู้สิ่งที่ปรากฏ แต่ว่าถ้าเราศึกษามาก ก็อาจจะเป็นปัจจัยทำให้ สติเกิด แม้ในขณะที่กำลังฟังอย่างนี้

    นี่เป็นความต่างกันของการสะสมของปัญญาซึ่งมีหลายระดับ ถ้าขณะนี้ใครสามารถที่จะมีสติเกิด เขาจะรู้เลยว่า เพราะว่าเขามีความเข้าใจถูก ถ้าไม่มีความเข้าใจถูกในเรื่องลักษณะของจิต จะไม่มีการระลึกลักษณะของจิตได้เลย

    เพราะฉะนั้น จึงแสดงให้เห็นว่า ไม่ใช่เป็นเรื่องของไปทำสมาธิ แล้วจะมาสามารถรู้ลักษณะของสภาพธรรมในขณะนี้ได้ แต่ต้องเป็นเรื่องของการฟังซึ่งจะเกื้อกูลเป็นลำดับขั้น คือเข้าใจในสิ่งที่ได้ยินได้ฟังมาก่อน และเมื่อฟังแล้ว พิจารณา เข้าใจขึ้นอีก จนกระทั่งสามารถที่จะเข้าใจสภาพธรรมที่กำลังมีในขณะนี้ตามความเป็นจริงได้

    ด้วยเหตุนี้การศึกษาธรรม ไม่ว่าจะได้ยินได้ฟังเรื่องอะไรก็ตาม ข้อสำคัญที่สุด คือขอให้เข้าใจสิ่งที่กำลังฟัง ไม่ต้องไปคิดอย่างอื่น แรื่องจำนวน เรื่องอะไรทั้งหมด แต่ว่าได้ยิน แล้วให้เข้าใจว่า เป็นสภาพธรรมที่มีจริงๆ ในขณะนี้มีใครที่ยังสงสัยในเรื่องลักษณะของนามธรรมกับรูปธรรมไหม เดี๋ยวนี้ ขณะนี้ มีทั้งนามธรรม และรูปธรรม กำลังเกิดดับ แล้วก็นามธรรมมี ๒ อย่าง คือ จิตกับเจตสิก มีเจตสิกโดยไม่มีจิตได้ไหม มีจิตโดยไม่มีเจตสิกได้ไหม ไม่ได้เหมือนกัน

    ผู้ฟัง รู้นามรูป รู้การเกิดดับของสภาพธรรม แล้วจะละกิเลสได้อย่างไร

    ท่านอาจารย์ กิเลสเกิดจากความไม่รู้ว่า แท้ที่จริงแล้วไม่มีเรา ถ้าไม่มีจิต ไม่มีเจตสิก ไม่มีรูป จะไม่มีทุกคนที่กำลังนั่งอยู่ที่นี้เลย เวลาที่มีจิต มีเจตสิก มีรูป แล้วไม่รู้ จึงยึดถือสภาพธรรม ทั้ง จิต เจตสิก รูป ว่าเป็นเรา ซึ่งเป็นความเห็นผิด ไม่ใช่ความเห็นถูก

    กิเลสแรกที่จะละ คือละความเห็นผิดที่ไม่เคยรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่มีจริงๆ ในขณะนี้ ถ้ามีความไม่รู้ ก็ละความไม่รู้ ความไม่รู้เป็นกิเลส ความไม่รู้จะไม่ใช่กิเลสไม่ได้เลย กิเลสหมายความถึงสภาพธรรมที่ทำให้เศร้าหมอง ถ้ากิเลสเกิดเมื่อไร จิตขณะนั้นไม่ผ่องแผ้ว เศร้าหมองด้วยกิเลสนั้นๆ ขณะที่ไม่รู้ บางคนก็บอกว่าดี รู้แล้วรู้สึกว่าจะลำบาก แต่ความจริงไม่ใช่เลย ไม่รู้นั่นแหละลำบาก เพราะชีวิตก็จะต้องเป็นไปตามการสะสม เดี๋ยวเป็นกุศล เดี๋ยวเป็นอกุศล เดี๋ยวได้รับผลของกุศล เดี๋ยวได้ผลของอกุศล เวลาที่ได้นับผลของอกุศล ก็ไม่รู้ว่า ทำไมจึงได้รับผลของอกุศลนั้นๆ ยังคิดเสียอีกว่า ชาตินี้ไม่ได้ทำอะไร ทำไมถึงจะต้องเกิด แล้วก็ทำไมถึงจะต้องเป็นเรา ก็เฝ้าแต่สงสัย แต่ทุกอย่างต้องมีเหตุ เพราะต้องเป็นเรา เพราะได้กระทำเหตุที่จะให้เกิดผลอย่างนี้ ผลอย่างนี้ก็ต้องเกิด เพราะฉะนั้น ที่ว่าละกิเลส กิเลสแรกคือความไม่รู้ในลักษณะของสภาพธรรม และการยึดถือสภาพธรรม เพราะไม่รู้ ยึดถือว่า เป็นตัวตน

    ผู้ฟัง จิตต่างกับเจตสิกอย่างไร ในเมื่อเขาก็เป็นสภาพรู้เหมือนกัน แล้วก็เป็นนามธรรมเหมือนกัน

    ท่านอาจารย์ จิตมีหลายชื่อ มนะ มโน มนัส มนินทรีย์ หมายความถึงสภาพที่เป็นใหญ่เป็นประธานในการรู้ลักษณะของอารมณ์ที่ปรากฏ ขณะที่กำลังเห็น เห็นจริงๆ สามารถที่จะรู้สิ่งที่เห็นเป็นอย่างนี้ขณะนี้ นั่นคือความเป็นใหญ่ของสภาพซึ่งเป็นจิต ซึ่งเป็นธาตุรู้ ลักษณะของสิ่งที่ปรากฏให้รู้ ภาษาบาลีใช้คำว่า อารัมมณะ หรือ อาลัมพนะ หมายความถึงสิ่งที่จิตกำลังรู้ รูปใดๆ ก็ตามซึ่งเกิดแล้วดับ โดยที่จิตไม่ได้รู้รูปนั้น รูปนั้นไม่ใช่อารมณ์ เพราะเหตุว่าไม่ใช่สิ่งที่จิตกำลังรู้ เพราะฉะนั้น ในขณะนี้ถ้าได้ยินเสียง เสียงปรากฏ เสียงที่จิตได้ยิน เสียงนั้นเป็นสัททารมณ์ ภาษาบาลี เสียงคือ สัทท รวมกับคำว่า อารมณ์ เป็น สัททารมณ์ เพราะฉะนั้น เสียงที่จิตกำลังได้ยินเท่านั้น ที่เป็นสัททารมณ์ เสียงอื่นนอกห้องนี้ก็มี ของแข็งๆ กระทบกันเมื่อไรก็ เป็นปัจจัยให้เกิดเสียงเมื่อนั้น แต่เสียงใดก็ตามที่เกิดแล้วดับแล้ว โดยจิตไม่รู้ เสียงนั้นไม่ใช่อารัมมณะ หรือไม่ใช่อารมณ์ ต้องเป็นเสียงที่จิตกำลังรู้

    เพราะฉะนั้น คำว่า อารมณ์ หรือ อารัมมณะ หมายความถึง อะไรทั้งหมดที่จิตกำลังรู้ เป็นอารมณ์ของจิต ก็มีคำคู่กัน จิตกับอารมณ์ เพราะจิตต้องรู้สิ่งหนึ่งสิ่งใดซึ่งสิ่งที่จิตรู้นั้นเองคืออารมณ์ จะมีอารมณ์โดยที่จิตไม่รู้ไม่ได้ หรือจะมีจิตโดยไม่มีอารมณ์ปรากฏให้รู้ก็ไม่ได้ หมายความว่าต้องมีอารมณ์ที่จิตกำลังรู้ คงจะเข้าใจแล้ว ใช่ไหม จิต เจตสิก รูป อารมณ์

    ผู้ฟัง เวลาที่เรียนใหม่ๆ หรือที่รู้ใหม่ๆ สภาพรู้ มันจะเกิดการสับสนระหว่างสมมติ และบัญญัติ

    ท่านอาจารย์ ถ้าทราบว่าจิตเป็นสามารถที่จะรู้ทุกสิ่งทุกอย่างได้ ไม่ว่าสภาพธรรมที่มีจริงๆ เช่นเสียง มี แล้วจิตก็ได้ยินด้วย เพราะฉะนั้น จิตสามารถที่จะรู้เสียง กลิ่นก็มี ไม่มีใครมองเห็นกลิ่นเลย แต่จิตก็ยังสามารถที่จะรู้กลิ่น คิดดู สามารถที่จะรู้ได้ทุกอย่าง แม้แต่สภาพธรรมที่ไม่ใช่จิต เจตสิก รูป คือนิพพาน จิตก็สามารถที่จะรู้ได้ และนอกจากนั้นแล้ว แม้ไม่ใช่จิต เจตสิก รูป นิพพาน ซึ่งเป็นสภาพธรรมที่มีจริง จิตก็ยังสามารถที่จะคิดนึกเรื่องราวต่างๆ ได้

    เพราะฉะนั้น ขณะใดก็ตามที่มีชื่อหรือว่ามีเรื่องราว ขณะนั้นจิตกำลังมีเรื่องราว ซึ่งเราใช้คำว่า บัญญัติ หมายความว่า ไม่ใช่สภาพปรมัตถธรรมเป็นอารมณ์ เพราะฉะนั้น ถ้าเราเข้าใจว่า จิต เจตสิก รูป แล้วก็รู้ว่าขณะใดก็ตาม ที่จิต ไม่ได้มีจิตไม่มีเจตสิก ไม่ได้มีรูปเป็นอารมณ์ ขณะนั้นมีบัญญัติเป็นอารมณ์ ถ้าขณะนั้นไม่ใช่โลกุตตรจิต หมายความถึงเราจะไม่พูดถึงจิตซึ่งไม่มีในชีวิตประจำวัน ขณะนี้กำลังเห็น ชั่วขณะที่รู้คือเห็น ขณะนั้นมีปรมัตถธรรมเป็นอารมณ์ แต่ถ้าเห็นอะไร เกิดการนึกถึง รูปร่างสัณฐาน เกิดการทรงจำในเรื่องราวขึ้น ขณะนั้นมีบัญญัติเป็นอารมณ์

    หลักง่ายๆ ตอนต้นที่จะไม่สับสนคือ ขณะใดไม่มีจิต เจตสิก รูป นิพพานเป็นอารมณ์ ขณะนั้นมีบัญญัติเป็นอารมณ์ บัญญัติคือเรื่องราวที่คิดนึก คงยังไม่ต้องแยกเป็นสัททบัญญัติ หรือฆนบัญญัติ หรืออะไร หมายความว่าขณะใดก็ตามที่ไม่มีปรมัตถธรรมเป็นอารมณ์ ขณะนั้นมีบัญญัติเป็นอารมณ์

    กำลังฝัน เมื่อคืนนี้มีใครฝันบ้าง เพราะว่าจริงๆ แล้วเรื่องฝันเป็นเรื่องธรรมดา เพราะว่าเป็นสภาพคิด แต่ว่าเวลานี้ ทำไมเราไม่เรียกฝัน เพราะว่ามีสิ่งที่ปรากฏทางตาแล้วจิตของเราก็คล้อยตามสิ่งที่ปรากฏทางตา นึกคิด คนนั้นชื่อนี้ นั่งอยู่ที่นี้ หรือว่าเวลาที่ได้ยินเสียง ที่ไม่เรียกว่าฝัน เพราะเรานึกถึงคำที่ได้ยิน คล้อยตามไปในเรื่องที่ได้ยิน แต่เวลาฝันหมายความว่า ไม่เห็น ไม่ได้ยิน ไม่ได้กลิ่น ไม่ลิ้มรส ไม่รู้สิ่งที่กระทบสัมผัสกาย แต่ต้องเป็นจิตที่คิดนึก ฝันคือคิดนึก แต่คิดนึกโดยไม่เห็นโดยไม่ได้ยิน โดยไม่ได้กลิ่น โดยไม่ลิ้มรส โดยไม่ได้รู้สิ่งที่กระทบสัมผัสอย่างในขณะนี้ จึงชื่อว่าฝัน ขณะที่ฝันมีบัญญัติเป็นอารมณ์ เพราะขณะนั้นกำลังคิด ไม่ใช่เห็นจริงๆ ไม่ใช่ได้ยินเสียงจริงๆ เพราะฉะนั้น ก็พอที่จะแยกออกได้ว่า ขณะใดมีปรมัตถธรรมเป็นอารมณ์ ขณะใดมีบัญญัติเป็นอารมณ์ แล้วจิตสามารถที่จะรู้ได้ทุกอย่าง จิตสามารถที่จะรู้ได้ทุกอย่าง เพราะฉะนั้น เจตสิกสามารถที่จะรู้ได้ทุกอย่างไหม ต้องรู้ได้ เพราะว่าจิตกับเจตสิก เกิดพร้อมกันดับพร้อมกัน รู้อารมณ์เดียวกันด้วย ไม่ว่าจิตรู้อารมณ์อะไร เจตสิกต้องรู้อารมณ์นั้น แยกกันรู้ไม่ได้

    ผู้ฟัง คุณสุกิจสงสัยเรื่องบัญญัติ ซึ่งอาจารย์ก็บรรยายว่า ในขณะใดก็ตามที่ไม่ได้รู้สิ่งที่เป็นปรมัตถธรรม ได้แก่ จิต เจตสิก รูป นิพพาน นอกนั้นเป็นบัญญัติทั้งหมด ทีนี้บัญญัติก็เป็นเรื่องเป็นราว เป็นอะไรต่ออะไร ภูเขา แม่น้ำ ไฟฟ้าอะไร พอรู้เรื่อง ทีนี้ลักษณะของที่เป็นปรมัตถธรรม เราจะรู้ได้อย่างไร

    ส. ภูเขาก็มีจริงๆ อย่างเห็น อย่างนี้ ทุกคนก็กำลังเห็น ไม่ใช่ว่า เห็นไม่มี เห็นมี แต่เห็นไม่ใช่รูป เห็นเป็นสภาพที่รู้ว่าสิ่งที่กำลังปรากฏทางตาในขณะนี้เป็นอย่างนี้ คือรู้แจ้งในอารมณ์ที่ปรากฏ สามารถที่จะบอกได้ว่ามีอะไรกำลังปรากฏในขณะนี้ นั่นคือลักษณะของจิต

    ผู้ฟัง ผมพยายามทำความเข้าใจว่า ในขณะที่เห็น ได้ยิน ได้กลิ่น ได้ลิ้มรสได้กระทบสัมผัส หรือคิดนึก ในขณะใดที่เป็นปรมัตถธรรม เพราะว่าเห็นทีไรก็เป็นถ้วยกาแฟ ถ้วยน้ำ อะไร อยู่อย่างนี้ ที่เห็นเป็นถ้วยกาแฟนี้ ก็ไม่ใช่เห็นปรมัตถใช่ไหม

    ท่านอาจารย์ เห็นสิ่งที่ปรากฏให้เห็น

    ผู้ฟัง เห็นสิ่งที่ปรากฏให้เห็น แต่เห็นทีไรก็เป็นถ้วยกาแฟ

    ท่านอาจารย์ จะเป็นอะไรก็ตามแต่ แต่ถ้าพูดถึงเห็น เห็นอะไร ก็ต้องเห็นสิ่งที่ปรากฏให้เห็นได้ อย่างแข็ง เห็นได้ไหม

    ผู้ฟัง ไม่ได้

    ท่านอาจารย์ เพราะว่าแข็งไม่สามารถจะปรากฏให้เห็นได้

    ผู้ฟัง ถ้าจะรู้ปรมัตถธรรมที่ปรากฏ จะต้องมีสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ ให้เราได้ระลึกศึกษาสิ่งที่กำลังปรากฏ แล้วถ้าหากว่าเห็นเป็นอะไร เป็นเรื่องเป็นราว เป็นสัตว์ เป็นบุคคล เป็นโน้นเป็นนี่ เป็นนายนั่น นายนี่ นางนั่น ขณะนั้นก็ไม่ใช่ปรมัตถธรรม ก็เข้าใจยาก

    ท่านอาจารย์ ค่อยๆ เข้าใจลักษณะของจิต เจตสิก รูป นอกเหนือจากนั้นคือบัญญัติ ปรมัตถธรรม มี ๔ จิต เจตสิก รูป นิพพาน แต่ขณะนี้ไม่มีทางที่จะไปรู้นิพพานได้

    ผู้ฟัง ถ้าเป็นบัญญัติเดี๋ยวนี้เราก็สามารถรู้ได้ว่า ขณะใดเป็นบัญญัติ

    ท่านอาจารย์ ขณะใดที่ไม่มีปรมัตถธรรมเป็นอารมณ์ ขณะนั้นมีบัญญัติ ค่อยๆ เข้าใจไป แต่ไม่ใช่ว่าเข้าใจปุ๊บ รู้ปั๊บได้เลย

    ผู้ฟัง ขณะที่เรานึกถึงโลภเจตสิก สัมปยุตตเจตสิก อะไรพวกนี้ ขณะนั้นเป็นบัญญัติหรือเปล่าที่เรานึก นึกถึงขณะ ตัวที่เรามีปริยัติมา

    ท่านอาจารย์ นึกถึงชื่อ

    ผู้ฟัง นึกถึงชื่อ อันนั้นไม่ใช่บัญญัติหรือ

    ท่านอาจารย์ อะไรก็ตามที่ไม่ใช่ปรมัตถธรรม ขณะนั้นมีบัญญัติเป็นอารมณ์ ไม่ใช่ชื่อ

    ผู้ฟัง ที่ท่านอาจารย์พูดแบบนี้ ทำไมไม่เข้าใจอยู่นิดนึงว่า คนเวลาเขาเรียนแล้ว ชื่อนั้นชื่อนี้ก็จริง เวลาปฏิบัติให้วางไว้ก่อน ตามที่เราเรียนเอาวางไว้ แล้วเราค่อยปฏิบัติ แล้วมันถึงจะได้อารมณ์ ตรงนี้ทุกคนในที่นี้ยังติดอยู่ตรงนี้ ท่านอาจารย์ช่วยอธิบาย

    ท่านอาจารย์ สิ่งที่ผิดดั้งเดิมมา เราผิดมานาน คือว่าเราสอนให้ปฏิบัติ อันนี้ผิดแน่นอน เพราะเหตุว่าในพระพุทธศาสนาเป็นเรื่องการอบรมเจริญ ถ้าเป็นวิปัสสนาภาวนาคืออบรมความเห็นถูก ความเข้าใจถูกในสภาพธรรมที่กำลังปรากฏในขณะนี้ ต้องเป็นการอบรมจากการฟังเข้าใจ ถ้าไม่มีการฟังเข้าใจ ไม่มีทางที่สัมมาสติจะเกิด ระลึกลักษณะของสภาพธรรมที่เรากำลังพูดถึง คือ จิต เจตสิก รูป

    เพราะฉะนั้น เป็นเรื่องของการอบรมความรู้ความเข้าใจ แต่ว่าสิ่งที่ผิดกันมานานผิดกันมาตั้งแต่ต้น คือสอนให้ปฏิบัติ แล้วจะปฏิบัติอย่างไร นั่งอยู่อย่างนี้จะปฏิบัติอย่างไร ไม่รู้ไม่เข้าใจอะไร แล้วจะปฏิบัติอย่างไร ถ้าสอนให้เดิน ก็เดิน แล้วรู้อะไร

    ผู้ฟัง ไม่อยากพูดคำว่าเป็นสายแล้ว เพราะว่าทุกคนก็พูดว่าเป็นสาย แต่มันไปแน่ว ทุกสาย ทุกสายก็ไปลงปฏิบัติกันหมดเลย ก็เลยว่า บางครั้งมันก็ชักเคลิ้มๆ เหมือนกัน คล้ายว่าความอยากจริงๆ อันนี้พูดจริงๆ เวลามันก็น้อยแล้ว อะไรอย่างนี้ เขาพูดๆ เข้าหูมันชักเริ่มเอียงแล้ว

    ท่านอาจารย์ ก็แบบของจริงกับของปลอม

    ผู้ฟัง แล้วเมื่อไร จริงๆ แล้วคือปฏิบัติ ตรงนี้

    ท่านอาจารย์ อบรมความเข้าใจถูกในลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ เพราะว่าชีวิตดำรงอยู่ชั่วขณะจิต ขณะเดียวเท่านั้น จิตเกิดขณะหนึ่งแล้วก็ดับ แต่ว่าตัวจิต เขาเป็นสภาพธรรมที่เป็นปัจจัยชนิดหนึ่ง คือทันทีที่ดับก็เป็นปัจจัยให้จิตขณะต่อไปเกิด สืบเนื่องไม่มีขาดสายเลย

    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 97
    23 มี.ค. 2567