ปกิณณกธรรม ตอนที่ 272


    ตอนที่ ๒๗๒

    สนทนาธรรม ที่ บริษัทเดลี่กูดส์ จำกัด ถ.สุขสวัสดิ์ เขตราชบูรณะ

    มีนาคม พ.ศ. ๒ ๕๔๒


    ผู้ฟัง ฟังเพื่อทำความเข้าใจศึกษา แล้วระหว่างที่ตายไปเกิดชาติภพใหม่ ความเข้าใจอันนี้จะต่อไปในชาติหน้า หรือชาติหน้า มาฟัง มาเรียนรู้ มาพิจารณาเพื่อเข้าใจอีก เพราะเมื่อสักครู่นี้อาจารย์ได้พูดว่า เราเรียนอภิธรรม ถ้าตายไปแล้วชาติหน้าก็ลืมไป มาเริ่มต้นใหม่ ความเข้าใจนี้จะเป็นเช่นนั้น หรือว่าเข้าใจแล้วต่อเนื่อง

    ท่านอาจารย์ ไม่ใช่ฟังเพียงจำชื่อ เพราะฉะนั้น จะเห็นตัวอย่างท่านพระสารีบุตรฟังสั้นๆ สามารถจะรู้แจ้งสภาพธรรมได้กับคนที่ฟังที่พระวิหารเชตวันด้วยกันหลายปี อย่างท่านพระราหุล ตั้งแต่เป็นสามเณรแล้วท่านเป็นพระอรหันต์เมื่ออายุ ๒๐ หรือ ๒๑ ที่ท่านบวชเป็นพระภิกษุ

    ผู้ฟัง นั่นก็แสดงเหตุว่า การฟังด้วยความเข้าใจในชาติภพนี้ ก็สั่งสมบารมีในชาติต่อไป

    ท่านอาจารย์ ถูกต้อง

    ผู้ฟัง พอถึงอายุ ๒๐ ซึ่งเป็นพระราหุล ก็เป็นเหตุให้ผลจากการสะสม

    ท่านอาจารย์ คนที่ฟังพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า บางท่านรู้แจ้งสัจธรรมเป็นพระอรหันต์ บางท่านเป็นพระอนาคามี บางท่านเป็นพระสกทาคามี บางท่านเป็นพระโสดาบัน บางท่านไม่เป็นอะไรเลย จะให้เหมือนกันได้อย่างไร การสะสมของแต่ละคน แม้แต่ในชั้นเรียน เรียนด้วยกัน บางคนก็สอบตก บางคนก็สอบได้ คะแนนก็ต่างกัน ความรู้ก็ต่างกัน มาจากไหน

    ผู้ฟัง ในการสอบตกกับสอบได้ นั่นคือสัญญา ความจำได้หมายรู้ แต่ไม่ได้หมายความว่าคนสอบตก เขาอาจจะฟังธรรมแล้วอาจจะเข้าใจ เขาอาจจะไม่เก่งในเรื่องสัญญา

    ท่านอาจารย์ อันนี้เป็นคำเปรียบเทียบเท่านั้นเองให้เห็นว่า การฟังของแต่ละคน แล้วแต่การสะสมมาของแต่ละคน อย่างท่านพระสารีบุตรฟังสั้นๆ ถ้าคนที่จะฟังสั้นๆ อย่างท่านพระสารีบุตร อย่างคาถาที่เราได้ยินพระอัสสชิแสดงธรรมกับท่านพระสารีบุตร เราก็ได้ยิน ๑๐ ครั้ง ๒๐ ครั้งแล้วเรารู้แจ้งอริยสัจธรรมได้ไหม

    ผู้ฟัง เพราะเหตุปัจจัยสะสมมาไม่เท่ากัน

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้น ตอบอีกครั้งหนึ่งให้แน่ใจว่า เราฟังธรรมเพื่ออะไร เมื่อกี้ตอบแล้วใช่ไหม เพื่อปัญญา ก็ถามอีกนิดเดียวให้เข้าใจ เพราะปัญญาเป็นภาษาบาลี เพื่อปัญญา ปัญญาในที่นี้คืออะไร

    ผู้ฟัง คิดว่าตัวเองตอนนี้ก็เทียบกับเทียนเล่ม ๑ ที่จุดปักอยู่กลางแดด ฉะนั้นมีปัญญาน้อย อาจารย์ก็ถามว่า ปัญญาคืออะไร ใช่ไหม ก็บอกกับท่านอาจารย์ได้ว่า ปัญญาคือความรอบรู้ในทวารทั้ง ๖ เอาปัญหาให้เป็นปัญญา แต่อย่าเอาปัญญาให้เป็นปัญหา ถ้าหากว่าท่านเอาปัญญาของท่านเป็นปัญหา จะโลภ จะไม่มีความสุขเลย เอาปัญหานั้นให้เป็นปัญญา แต่อย่าเอาปัญญาให้เป็นปัญหา เพราะว่าทุกวันนี้เราติดหนี้ไอเอ็มเอฟ เพราะเอาปัญญาเป็นปัญหานี้แหละ

    ท่านอาจารย์ อันนี้เราจะเห็นแล้วเรื่องของคำพูดเป็นเรื่องที่จะต้องเข้าใจชัด มิฉะนั้นแล้วสับสน เพราะเหตุว่าภาษาไทยเราเอาคำภาษาบาลีมาใช้ แต่ไม่รู้ความหมายที่แท้จริงของคำนั้นแล้วเราเข้าใจว่ารู้ เพราะเราใช้มาตั้งแต่เด็ก เหมือนกับบอกว่า ถ้วยแก้ว เราก็รู้ว่าเป็นถ้วยแก้ว ตั้งแต่เด็กเหมือนกัน แต่ว่าถ้วยแก้วก็ยังเป็นภาษาไทยที่ไม่ใช่ภาษาบาลี เพราะฉะนั้น การที่จะเอาภาษาบาลีมาใช้โดยเฉพาะในความหมายทางธรรม เป็นเรื่องละเอียด แล้วก็เป็นเรื่องตรง คำที่เราเคยเข้าใจ ผิดหมด เพราะเหตุว่าเราไม่ได้ศึกษา ถึงได้บอกว่า ถ้าพูดว่าปัญญา ยังต้องถามว่าเพื่ออะไร ถ้าศึกษาเพื่อจะเกิดปัญญา ปัญญาคืออะไร เป็นเรื่องที่จะต้องเข้าใจจริงๆ เหมือนรู้แล้ว แต่ไม่ใช่ เพราะเหตุว่าปัญญาเจตสิกไม่ใช่ปัญญาเพียงคำที่ชาติไหน ภาษาไหนก็จะใช้ได้ อย่างสมุดพก ใช้เลย เด็กคนนี้มีสติปัญญาดี แต่ไม่ใช่ทั้งสติ และไม่ใช่ทั้งปัญญา ถึงแม้บางคนจะใช้คำว่า โลกียปัญญา ก็ยังไม่ใช่โลกีย หรือโลกหมายความถึงสภาพธรรมที่เกิดดับ ถ้ามีคำว่า โลก หรือ โลกีย เมื่อไร ต้องหมายความถึง สิ่งนั้นมีจริง แล้วเป็นสภาพธรรมที่ต่างกับธาตุอีกชนิดหนึ่งซึ่งไม่เกิดดับ ไม่ว่าจะเป็นจิต เป็นเจตสิก เป็นรูป สภาพธรรมใดซึ่งเกิดดับ สภาพนั้นเนื่องกับโลก หรือว่าเป็นโลก เพราะฉะนั้น ถ้าเป็นโลกียปัญญาก็คือว่า ปัญญาที่สามารถเห็นสภาพนามธรรม รูปธรรมที่เกิดดับ จึงรู้ว่า นี่คือโลก เกิดขึ้นแล้วก็ดับไป ต่างกับโลกุตตระซึ่งเหนือโลก อย่าเพิ่งเข้าใจว่าเรารู้แล้ว แม้แต่คำว่าปัญญา เพราะฉะนั้น ขอให้ตอบอีกครั้งว่า ปัญญาคืออะไร ปัญญา ภาษาบาลี เวลาที่จะใช้เป็นภาษาไทย ปัญญาคืออะไร อย่าเพิ่งคิด ไม่อย่างนั้น เดี๋ยวนี้ทุกคนมีปัญญาหมด ใช่ไหม

    ผู้ฟัง ปัญญาคือออกมาจากญาณ ญาณ แปลว่าความรู้ ความรู้ หรือรู้แจ้ง ปัญญาเป็นกุศล เป็นตัวประหารอกุศล

    ท่านอาจารย์ ถูกต้องคือเราได้รู้ รากศัพท์ ศัพท์เดิม มาจากคำว่า ญาณ มีปะ รู้ทั่ว เพราะฉะนั้น ปัญญา ภาษาบาลี สภาพของปัญญาเจตสิก ต้องใช้คำไหน เมื่อ ๒,๕๐๐ กว่าปี เราคงใช้ภาษาบาลีกันที่พระวิหารเชตวัน แต่พอถึง ๒,๕๐๐ กว่าปีผ่านไปพูดภาษาบาลี เราไม่รู้เลย แต่เราจะเข้าใจสภาพธรรมได้ด้วยภาษาไทย ถ้าเราเป็นคนไทย แต่ถ้าเราไปใช้ภาษาไทยกับคนอื่นที่ไม่ได้ใช้ภาษาไทย เขาก็ไม่เข้าใจ เพราะฉะนั้น สภาพธรรมเป็นของจริง จะใช้คำอะไรก็ได้ที่จะทำให้เข้าใจลักษณะของสภาพธรรม แล้วแต่ยุคสมัย

    ผู้ฟัง ผู้คนที่สมัยพระพุทธกาล ถ้าสมมติไม่มีคำว่าปัญญา แต่เข้าใจสภาวธรรม คือ ทั้งหมดของความนึกคิด และเข้าใจโดยไม่มีคำประโยค ปัญญา เป็นปัจจัตตัง รู้เฉพาะตน คือความเข้าใจที่ถูกต้อง อย่างนี้ก็คืออาการของปัญญา ใช่ไหม

    ท่านอาจารย์ ปัญญาคือสภาพที่รู้ความจริง แต่ว่าเวลาที่จะกล่าวถึงปัญญา ต้องใช้คำ มิฉะนั้นไม่มีความที่จะเข้าใจได้ว่าหมายความถึงสภาพธรรมอะไร อย่างเจตสิกมีถึง ๕๒ ต้องใช้แต่ละชื่อสำหรับแต่ละสภาพธรรม เพื่อไม่ให้ปะปนกัน มิฉะนั้นจะเข้าใจว่าหมายความถึงสภาพธรรมอะไร แต่ปัญญาเป็นสภาพที่รู้ สามารถที่จะเข้าใจความถูกต้องความเป็นจริงของสภาพธรรมนั้นได้ แม้ว่าเราไม่มีภาษาเลย ไม่มีอะไรเลย แต่ธรรมมี

    ผู้ฟัง โดยที่เข้าใจสภาพ สภาพทั้งหมดที่อาจารย์บรรยาย โดยไม่ต้องมีประโยคของคำพูด

    ท่านอาจารย์ แต่เราต้องพูด เรานั่งเฉยๆ ไม่ได้

    ผู้ฟัง หมายความว่า สมมติผมเป็นผู้ฟังพระศาสดา พระพุทธองค์แสดง แต่ไม่มีบัญญัติคำว่า ปัญญา แต่ว่าเข้าใจ

    ท่านอาจารย์ ต้องมี ถ้าไม่มี ทรงแสดงอะไร

    ผู้ฟัง แสดงเหตุทั้งหมด

    ท่านอาจารย์ นั่นแหละ คือคำที่ใช้สำหรับเพื่อจะแสดงลักษณะของสภาพธรรม อย่างไรๆ ก็ต้องมีคำ เพราะฉะนั้น ก่อนอื่นขอให้เข้าใจทุกคำที่ได้ยินให้ถูกต้องในภาษาของเรา

    ผู้ฟัง นั่นก็ต้องมาวิจัยทุกๆ ประโยค

    ท่านอาจารย์ มิได้ เฉพาะคำภาษาบาลี เพราะเราไม่ได้ใช้ภาษาบาลี แต่เราขอยืมคำมา แล้วเราคิดว่าเราเข้าใจ เราอาจจะคิดว่าเราเข้าใจ แต่ความเข้าใจนั้นไม่ถูก จนกว่าจะเรียนว่าคำนั้นแท้จริงหมายความว่าอะไร เราจะได้ไม่คลาดเคลื่อน

    ผู้ฟัง ทุกประโยค

    ท่านอาจารย์ ไม่ต้องทุก คำที่เป็นภาษาบาลีเท่านั้น อย่างถ้วยแก้ว เข้าใจแล้ว แต่ปัญญาคืออะไร ในเมื่อเราขอยืมคำภาษานั้นมาใช้ ไม่ใช่ภาษาไทย เพราะฉะนั้น ภาษาไทยมีคำอะไรที่เราใช้แล้วเราเข้าใจในลักษณะของปัญญา หรือความหมายของปัญญา นี่เป็นเหตุที่จะทำให้เราไม่สับสน คือเริ่มมีความเข้าใจถูกตั้งแต่ต้น นี่เป็นสิ่งที่สำคัญมากทีเดียว

    ผู้ฟัง ขอบคุณมาก จึงเป็นเหตุของคำต่อมาว่า ปัจจัตตัง รู้เฉพาะตนหรือ เพราะว่าความเข้าใจของสภาพธรรม รอบรู้ ซึ่งเกิดขึ้นแต่ละรูปแต่ละนามไม่เท่ากัน

    ท่านอาจารย์ แต่ละคน แต่ว่าต้องเป็นความเข้าใจ

    ผู้ฟัง ที่ถูกต้อง

    ท่านอาจารย์ ที่ถูกต้อง แต่เราจะรู้ว่าถูกต้องไม่ถูกต้องเมื่อสนทนากัน ไม่ใช่เรื่องเดาความคิด แล้วไม่ใช่เดาว่าคนฟังเข้าใจแล้ว ต้องซักถาม นี่เป็นประโยชน์ เพราะฉะนั้น ก็ขอให้ทุกคนช่วนกันคิด เพื่อตัวเองจะได้เข้าใจ จริงๆ ตอนนี้เรามาถึงคำว่าปัญญาก่อน ถ้าเป็นภาษาไทยเราจะใช้คำว่าอะไร

    ผู้ฟัง ปัญญาจะต้องอยู่ในความควบคุมของไตรลักษณะใช่ไหม

    ท่านอาจารย์ ที่ถูกไม่ได้ใช้คำว่า อยู่ในความควบคุม เหมือนกับมีตัวตนที่ควบคุม เพราะฉะนั้น ไม่ใช่อยู่ในความควบคุมของใครทั้งสิ้น

    ผู้ฟัง แสดงว่าปัญญานี้ก็ไม่เที่ยง

    ท่านอาจารย์ แน่นอน

    ผู้ฟัง เป็นทุกข์ แล้วเป็นอนัตตา

    ท่านอาจารย์ ทุกอย่างที่เกิดขึ้น ต้องดับไป

    ผู้ฟัง คำว่า สัพเพ ธัมมา อนัตตา แปลว่าอย่างไร

    ท่านอาจารย์ ทุกอย่างที่เกิด และไม่เกิด รวมนิพพาน เป็นอนัตตา

    ผู้ฟัง ถ้าหากเป็นเช่นนั้นตัวสติปัญญาก็เป็นอนัตตา สติปัญญาก็พึ่งพาอาศัยอะไรไม่ได้เลย

    ท่านอาจารย์ ใครจะพึ่ง ในเมื่อปัญญาเป็นสภาพที่รู้แจ้ง เกิดขึ้นเมื่อไรก็รู้แจ้ง ไม่ใช่ว่าต้องมีใครอีกคนหนึ่งไปพึ่ง

    ผู้ฟัง ตกลงว่า ปัญญากับสติก็ไร้ประโยชน์

    ท่านอาจารย์ ไม่ไร้ประโยชน์เลย มีประโยชน์มากค่อยๆ ฟังไป ค่อยๆ ทราบว่า ธรรมใดเป็นโสภณธรรม แต่ไม่ใช่เรา ไม่ใช่เราจะไปพึ่งโสภณธรรม ถ้าเข้าใจอย่างนั้นก็ไม่เข้าใจความหมายของอนัตตา เราไม่มี มีสภาพธรรม ซึ่งสภาพธรรมที่มีเป็นปรมัตถธรรม แล้วก็มี ๔ เท่านั้น คือ จิต เจตสิก รูป นิพพาน อันนี้ยังไม่อยากจะไปถึงตอนนั้น เพราะว่าไม่ชอบที่จะให้ทุกคนข้ามส่วนที่สำคัญที่สุด คือ การไตร่ตรองให้เข้าใจความหมายแม้แต่จุดประสงค์ของการฟัง หรือการศึกษาเพื่ออะไร ตอบภาษาไทยก็ได้

    ผู้ฟัง รู้สภาพธรรม แต่ไม่ติดอยู่ในสภาพธรรมนั้นๆ เป็นปัญญา

    ท่านอาจารย์ เราขอยืมคำว่า สภาพธรรมมาใช้อีก มาใช้ตลอด โดยที่จริงๆ แล้ว สภาพธรรมคืออะไร เราก็ไปไม่ถึงนั่นเลย ถ้าไม่มีใครตอบ เห็นท่าจะต้องตอบเองเสียกระมัง คือให้ทุกคนได้พิจารณาคำนี้ด้วย ในภาษาไทย คือเข้าใจถูก ความเข้าใจเป็นสิ่งที่สำคัญมาก ถ้าเราฟังๆ แล้วไม่เข้าใจ จะเป็นปัญญาได้ไหม เราอาจจะท่องมากมาย แต่เราไม่เข้าใจเลย จำได้ จะเป็นปัญญาหรือเปล่า แต่ขณะใดที่กำลังฟังแล้วเข้าใจ ในภาษาไทย เข้าใจถูก พูดอย่างนี้หมายความถึงอย่างนั้น เป็นความเข้าใจจริงๆ เรารู้ได้เลย ใครจะใช้ภาษาบาลีอย่างไรก็ตาม แต่ถ้าไม่รู้ความหมายที่แท้จริง เขาก็เป็นเพียงแต่เหมือนเข้าใจ เหมือนปัญญา แต่ปัญญาจริงๆ ฟังแล้วเข้าใจสิ่งที่กำลังได้ยินได้ฟัง แม้แต่พระปัญญาของพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ได้ยินอย่างนี้ ท่านต้องมีความเห็นถูก มีความเข้าใจถูกในสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ แล้วความเข้าใจจะค่อยๆ เพิ่มขึ้น เพราะฉะนั้น จุดประสงค์ของการฟัง ยังไม่ต้องไปถึงเรื่องการปฏิบัติเลย แต่ให้เข้าใจสิ่งที่กำลังฟัง

    ผู้ฟัง สมมติผมไปฟังพระอาจารย์อีก ๙ องค์ รวมกันเป็น ๑๐ แล้วผมจะมีแนวอะไร

    ท่านอาจารย์ ฟังแล้วก็ไตร่ตรองสิ่งที่พูดตรงกับสภาพธรรมที่มีจริงๆ หรือเปล่า ทำให้เข้าใจสภาพธรรมที่มีจริงที่กำลังปรากฏหรือเปล่า ถ้าสามารถที่จะทำให้เข้าใจสภาพธรรมที่กำลังปรากฏในขณะนี้ได้ นั่นคือความถูกต้อง แต่ถ้าไม่สามารถทำให้เข้าใจสภาพธรรม สิ่งที่มีจริงๆ เป็นธรรมก็ไม่ถูกต้อง เพราะว่าฟังเท่าไรก็ไม่เข้าใจสิ่งที่มีจริงๆ ในขณะนี้ แต่ถ้าฟังแล้วสามารถเข้าใจสิ่งที่กำลังมีในขณะนี้ได้ นั่นคือถูก

    ผู้ฟัง ซึ่งอาจารย์ก็บอกอีกว่าต้องขั้นพระโสดาบัน

    ท่านอาจารย์ ผู้ที่ไม่มีตัวตน นี่ต่างกัน เข้าใจกับความไม่มีตัวตนนี้ต่างกัน

    ผู้ฟัง พูดถึงความเข้าใจคือเข้าใจเรื่องราวของธรรม แต่ยังไม่เข้าใจตัวธรรม ถ้าเข้าใจตัวธรรมเมื่อไรคือเห็นสภาพธรรมตามความเป็นจริง นั่นคือความเข้าใจถูกต้อง ที่ชื่อว่าปัญญา

    ผู้ฟัง ผมเข้าใจละเอียดกว่านั้นอีก ผมเข้าใจสภาพธรรม แล้วเราวางได้หรือไม่ได้

    ท่านอาจารย์ เดี๋ยว คือเวลานี้เรากำลังศึกษาเรื่องราวของธรรมก่อน ถูกต้องไหม

    ผู้ฟัง ถ้าขั้นศึกษาเรื่องราว ก็ยังไม่ถึงขั้นตัดสิน

    ท่านอาจารย์ เวลานี้เรายังตัดสินไม่ได้ เพราะเวลานี้เราพูดเรื่องเห็น แต่เรายังไม่ได้ศึกษาไปว่า เห็นไม่ใช่ตัวตน เป็นอนัตตาอย่างไร เราเพียงแต่สิ่งนี้มีจริงๆ

    ผู้ฟัง แต่อาจารย์กำลังพยายามบรรยายให้พวกผมได้ฟัง ที่ละเอียดขึ้นของสภาพธรรมแล้ว เราจะเข้าใจที่ละเอียดขึ้นนั้นอย่างไร ซึ่งผมเป็นปุถุชน พวกผมร้อยคน ห้าสิบคนเป็นปุถุชน อาจารย์บอกถึงขั้นพระอริยะ ขั้นเบื้องต้น

    ท่านอาจารย์ คนฟังไม่ใช่เป็นพระอริยะด้วยการเพียงฟัง ใครจะเป็นพระอริยบุคคล เพียงด้วยการฟัง เป็นไปไม่ได้

    ผู้ฟัง ถ้าผมจะเปรียบเทียบในสมัยที่พระพุทธองค์ยังทรงพระชนม์อยู่ ทุกข์หนักที่มีในพระสูตร มีนางปฏาจาราทุกข์มากเลย แต่พระพุทธองค์ใช้คำพูดเพียงสั้นๆ ไม่ต้องไปเรียนจิต เจตสิก รูป อะไรเลย ผมยกตัวอย่างนางปฏาจาราทุกข์มาก จงมีสติเถิด น้องหญิง แค่นี้เองก็สามารถที่จะสงบได้เลย เพราะฉะนั้น ผมจึงอยากจะเอา ๒ อย่างมาเปรียบเทียบ ในโลกนี้คนที่ทุกข์มากๆ แล้วไปเจอสิ่งใดสิ่งหนึ่งที่ทำให้เขา ที่เขาคิดว่า เขามีปัญญาขึ้นมา สามารถคลายทุกข์ได้ กับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในสมัยพระพุทธกาล อยากจะทราบว่า อันไหนที่ชื่อว่าปัญญากันแน่

    ท่านอาจารย์ อันนี้ก็เป็นข้อที่ดีที่จะเห็นความละเอียดของการที่จะศึกษา หรือว่าเข้าใจธรรม เพราะว่าตัวอย่างที่มี ถึงแม้ว่าจะเป็นในอดีตที่เราได้ยินได้ฟังแม้ในปัจจุบัน แสดงให้เห็นว่าไม่ใช่เรื่องของเพียงความสุขหรือความสบายใจ แต่เหนือยิ่งกว่านั้นคือเรื่องของปัญญา หรือที่เราจะใช้ภาษาไทยว่า ความเข้าใจจริงๆ ในลักษณะของสภาพธรรมที่มีจริงๆ เป็นสิ่งที่พระพุทธเจ้าเท่านั้นที่ทรงแสดง เพราะฉะนั้น เราเกิดมา เราไม่พ้นจากทุกข์ จากสุข ต้องมีแน่นอนแล้วแต่กรรม แล้วแต่กิเลส ตราบใดที่ยังมีกิเลสอยู่ ต้องเป็นทุกข์ เพราะว่าไม่ได้สมหวังอย่างที่เราหวังทุกอย่าง ต้องมีการพลัดพรากจากสิ่งที่เราติดข้อง เพราะฉะนั้น ทุกข์อย่างนี้ คือการไม่ได้สิ่งที่หวัง หรือพลัดพรากจากสิ่งที่หวัง ไม่ใช่ชาตินี้ชาติเดียว เแล้วชาตินี้ก็ไม่ใช่เพียงครั้งเดียว ก็จะมีต่อไปเรื่อยๆ แล้วแต่จะมากหรือจะน้อย เพราะฉะนั้น เราหนีไม่พ้นเหตุซึ่งเราไม่รู้ว่ามันมาจากไหน แต่ว่าเหตุแน่นอนที่สุดที่พระผู้มีพระภาคทรงตรัสรู้แล้ว ทั้งหมดมาจากอวิชชา ความไม่รู้ ลักษณะของสภาพธรรม เพราะฉะนั้น ตราบใดที่ชาตินี้บางคนอาจจะได้สุขแล้ว เพราะว่ามีความเชื่อความเห็นอย่างไหนก็ตามแต่ แต่นั่นก็ไม่เที่ยง ก็จะต้องเปลี่ยนไป ไม่เหมือนกับปัญญาที่ว่า ถ้าเรามีความเห็นที่ถูกต้องสะสมไป ภายหลังเวลาที่เรามีการได้ยินได้ฟังอีก เราเข้าใจได้เร็ว แล้วเราสามารถที่จะรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่มีจริงๆ เพราะว่าการศึกษาธรรม อย่าลืม เราเพียงศึกษาโดยตำรา ถ้าเราไม่เข้าใจจุดประสงค์ หรือว่าไม่ตั้งจิตไว้ชอบว่า แท้ที่จริงแล้วไม่ใช่เราศึกษาเพื่อจะอ่านออกว่า ตำราเขียนว่าอย่างไร มีจำนวนเท่าไร แต่ศึกษาเพื่อให้เข้าใจลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังมีเดี๋ยวนี้ นี่คือจุดประสงค์ของการศึกษา เพราะเหตุว่าธรรมไม่ได้อยู่ในหนังสือ แต่กำลังมีกำลังปรากฏในขณะนี้ ไม่ว่าจะทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ ตัวหนังสือที่จารึกไว้เพียงช่วยให้เราพิจารณา ให้เข้าใจตัวจริงของธรรมที่กำลังมีอยู่

    ผู้ฟัง เขาสมหวัง ก็แสดงว่าเขาได้ปัญญาแล้วหรือย่างไร

    ท่านอาจารย์ ไม่ใช่ เขาพอใจเพียงแค่ความสุขในชีวิต เขาไม่สนใจเรื่องปัญญาเลย เพราะฉะนั้น ทุกคนศึกษาเพื่ออะไร เพื่อต้องการความสุขหรือเพื่อรู้ความจริงของสภาพธรรมที่กำลังมีจริงๆ ในขณะนี้ เขาเพียงแต่ต้องการความสบายใจจากสิ่งที่เขาได้ยินได้ฟัง ให้ละเอียดต่อไปว่า ธรรมที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงคืออะไร นี่แสดงว่าถ้าไม่ศึกษา ตอบไม่ได้แล้ว หมายความถึงทุกสิ่งทุกอย่างที่มีจริง เป็นธรรมที่มีจริง แล้วก็เมื่อใช้คำว่าธรรมแล้ว หมายความว่าทรงตรัสรู้สิ่งที่มีจริงทั้งหมด ไม่เว้นเลย คือธรรม แต่ว่าก็ต้องเข้าใจอีกว่า ทุกสิ่งทุกอย่างที่มีจริง ที่เป็นธรรม ใช้คำเพิ่มมาอีกคำ คือ ปรมัตถธรรม นี่แยกแล้ว เพราะฉะนั้น จะเอาบัญญัติมาเกี่ยวกับปรมัตถธรรมไม่ได้ แต่ถ้าพูดถึง คัมภีร์ อภิธรรมมี ๗ คัมภีร์ จริง แต่ต้องเข้าใจว่า แต่ละคัมภีร์เป็นเรื่องอะไร มิฉะนั้นก็สับสน เอาบัญญัติมาเป็นปรมัตถ์ แต่ว่าตามความป็นจริงแล้ว พระอภิธรรมมี ๗ คัมภีร์ คัมภีร์หนึ่ง เกี่ยวด้วยเรื่องของบัญญัติ เพราะเหตุว่าถ้าไม่มีปรมัตถธรรม บัญญัติไม่มีแน่นอน เพราะฉะนั้น ที่ทรงแสดงคัมภีร์บุคคลบัญญัติ ใช้คำว่า บุคคละ คือ บุคคล บัญญัติ ซึ่งโดยปรมัตถ์ ไม่มีสัตว์ ไม่มีบุคคลเลย เป็นธรรมเท่านั้น คือ จิต เจตสิก รูป นิพพาน แต่ว่าเมื่อมีคัมภีร์บุคคลบัญญัติ หมายความว่า เพราะมีปรมัตถธรรมจึงสมมติเป็นบุคคลต่างๆ เช่นบุคคล ๔ บุคคล ๓ หรืออะไรก็แล้วแต่ ตามประเภทที่เราเข้าใจ แต่ก่อนอื่นเราต้องเข้าใจความหมายของธรรมก่อน แล้วก็รู้ว่าธรรมที่เป็นปรมัตถธรรมคืออะไร มิฉะนั้น เราก็จะปนเป็นอภิธรรมไปทั้งหมด แต่ว่าความความจริงแล้ว บัญญัติมี เป็นปรมัตถธรรม แต่ถ้าพูดถึงคัมภีร์พระอภิธรรม มีบุคคลบัญญัติ เป็นอีกคัมภีร์หนึ่งด้วย

    เพราะฉะนั้น ก่อนอื่นการศึกษาให้ทราบว่า เพื่อเข้าใจ นี่เห็นไหมว่า ถ้าเราไม่เข้าใจ เราหยิบแต่ละคำมาสับสนได้ แล้วก็จะมาเถียงว่า นี่เป็นอภิธรรมหรือเปล่า เป็นหรือไม่เป็นไม่สำคัญ ที่สำคัญความเข้าใจในสิ่งที่เราได้ยินได้ฟัง แล้วเราสามารถที่จะรู้ความจริงว่าต่างกันตรงไหน หรือว่ากล่าวโดยรวมอย่างไร อย่างธรรมเป็นสิ่งที่มีจริง ภาษาไทย พูดง่ายๆ ว่าเป็นสิ่งที่มีจริง แต่พอเป็นภาษาบาลี สัจธรรม นี่คือสิ่งที่เราจะเห็นความสอดคล้องว่า เวลาที่เราพูดถึงธรรมหรืออริยสัจ เราต้องเข้าใจด้วย ไม่ใช่เข้าใจภาษาบาลี แล้วพอถึงภาษาไทยไม่รู้ สามารถที่จะบอกได้ว่า อริยสัจมี ๔ แต่พอถึงภาษาไทย อะไร อริยสัจที่ ๑ อย่างทุกขอริยสัจอะไร ถ้าเราไม่เข้าใจก่อนว่า ธรรมคือสิ่งที่มีจริง เพราะฉะนั้น สัจธรรม ตรงตัว สิ่งที่มีจริง อริยะ เติมคำว่า อริยะ เข้าไป คือ สิ่งที่มีจริงนี้แหละ ธรรมดาปกติอย่างนี้แหละ แต่ผู้รู้เป็นพระอริยบุคคลต้องเป็นผู้ที่รู้แจ้ง ต้องเป็นผู้ที่ประจักษ์ ในทุกขอริยสัจ คือ สภาพธรรมที่กำลังมีในขณะนี้ เป็นทุกข์เพราะเกิดแล้วก็ดับ นี้คือความหมายของไตรลักษณะ คือ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ไม่ใช่ทุกข์อื่น แต่ต้องเข้าใจจริงๆ ว่า ต้องเป็นเรื่องของปัญญา เพราะเหตุว่าชาตินี้ เราอาจจะมีความสบายใจ มีความสุข วนไปเวียนมาแล้วก็หมด แต่ชาติหน้า รับรองได้ไหม ก็ต้องเหมือนอย่างนี้ ตราบใดที่มีอวิชชา คือ ความไม่รู้ แต่ถ้าเริ่มมีความรู้ มีความเข้าใจที่ถูกต้องขึ้น โดยไม่หวังผลพลอยได้ เพราะว่าบางคนเมื่อทำอะไรแล้วหวังผล แต่การศึกษาธรรมให้ทราบว่า การตั้งจิตไว้ชอบ คือเพื่อรู้แล้วละเท่านั้น เท่านั้นจริงๆ รู้ที่นี้คือเข้าใจถูก จึงเป็นความรู้ ถ้าเข้าใจผิด จะไม่ใช่ความรู้เลย เพราะฉะนั้น เมื่อมีความเข้าใจถูก เป็นความรู้ ความรู้นั่นเองทำหน้าที่ละ ถ้าเป็นความรู้ที่ถูกต้องจะตรงกันข้ามกับโลภะ คือ ทุกขสมุทัย ซึ่งเป็นสิ่งที่ทำให้ติดหรือทำให้ต้องการด้วยความไม่รู้ จึงมีความต้องการ เพราะฉะนั้น เมื่อตลอดชีวิตของเรามามีแต่ความต้องการ มีใครบ้างที่บอกว่าไม่ต้องการ หมดความต้องการแล้ว ไม่มีเลย ตั้งแต่เด็กเมื่อเกิด ถ้าศึกษาโดยละเอียดจะทราบว่า ขณะที่จิตเกิดขณะแรก คือปฏิสนธิจิต ซึ่งภาษาไทยก็ใช้ผิดอีก จุติแปลว่าเกิด ทุกคนก็มาถาม ไม่ใช่จุติ หรือที่เกิด ไม่ใช่ จุติ คือ เคลื่อนพ้นสภาพความเป็นบุคคลนั้นโดยสิ้นเชิง คือจิตขณะสุดท้ายเกิดขึ้นทำกิจ ไม่เหมือนปฏิสนธิเลย แต่ทำกิจพรากหรือเคลื่อนจากความเป็นบุคคลนั้น จะกลับเป็นบุคคลนั้นอีกไม่ได้เลย เราจะเป็นคนนี้ก็เพียงไม่นาน แล้วก็จะถึงขณะจิตสุดท้าย ที่จะทำให้สิ้นสภาพความเป็นบุคคลนี้โดยสิ้นเชิง ปฏิสนธิจิตก็จะเกิดสืบต่อ เพราะฉะนั้น เมื่อปฏิสนธิจิตเกิดดับ ทุกอย่างที่เกิดแล้วดับ จิตต่อไปไมได้ทำกิจปฏิสนธิ แม้ว่าจะเป็นผลของกรรมเดียวกัน กรรมประเภทเดียวกัน เป็นจิตชนิดเดียวกัน

    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 97
    24 พ.ย. 2567