ปกิณณกธรรม ตอนที่ 278
ตอนที่ ๒๗๘
สนทนาธรรม ที่ โรงพยาบาลพระมงกุฏเกล้า
พ.ศ. ๒๕๓๙
ท่านอาจารย์ ทางหู ถ้าไม่มีธาตุรู้เกิดขึ้น มีเสียงเพราะเหตุว่าถ้ามีของแข็งกระทบกัน เสียงก็เกิด แต่ถ้าไม่มีธาตุรู้เลย ไม่มีการได้ยินเลย เสียงก็เป็นเสียง แต่ว่าไม่มีใครได้ยิน ไม่มีธาตุรู้ เสียงนั้นก็ไม่ปรากฏกับธาตุรู้ เสียงไม่ปรากฏกับเสียงแต่ต้องปรากฏกับสภาพที่กำลังรู้ คือ ได้ยินเสียง นี่แสดงให้เห็นถึงว่า เราต้องเข้าใจเรื่องสภาพรู้โดยถ่องแท้จริงๆ ว่า เป็นธาตุที่สามารถจะรู้ได้ทุกอย่าง ทางตาขณะที่กำลังเห็น ให้ทราบว่านี้คือกิจหนึ่ง ลักษณะหนึ่งของธาตุรู้ชนิดหนึ่ง ซึ่งสามารถที่จะเห็นสิ่งที่ปรากฏ ที่สิ่งอื่นจะไม่สามารถเห็นได้เลย สีเห็นสีไม่ได้ หรือว่าแข็งเห็นสีไม่ได้ รูปเห็นสีไม่ได้เลย ทางหู ธาตุรู้ก็สามารถรู้เสียง ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ ธาตุนี้สามารถที่จะคิดนึก เรื่องราวต่างๆ
นี่แสดงให้เห็นว่า เราทุกคนคิดทุกวัน แต่ลืมว่า ขณะนั้นที่กำลังคิด เป็นเพียงธาตุชนิดหนึ่ง ซึ่งคิด เป็นนามธาตุ ซึ่งสามารถที่จะรู้ในเรื่องราวต่างๆ ที่กำลังคิด เพราะจำ ไม่ว่าจะเห็นอะไร เราก็จำไว้ แล้วก็ยังคิดอีก แม้ฝันก็ยังเป็นความคิดในเรื่องที่ฝัน ด้วยความทรงจำ
นี่แสดงให้เห็นว่า ธาตุรู้ รู้จริงๆ รู้ตั้งแต่เกิดจนตาย เพราะฉะนั้น คำถามที่ว่า เวลาเห็นกับเวลาเห็นเป็นคน เป็นสัตว์ เป็นสิ่งของต่างๆ เป็นสติปัฏฐานได้ไหม ย่อมได้ แต่ ต้องฟังให้ดีๆ ที่ว่าย่อมได้ หมายความว่า ย่อมได้คือว่า ขณะที่กำลังรู้ว่าเป็นอะไรก็เป็นจิตที่รู้ รูปไม่สามารถจะรู้ได้เลย แต่ถ้ารู้ว่าเป็นคนนี้กำลังนั่งอยู่ที่นี้ ใครรู้ จิตหรือธาตุรู้ หรือสภาพรู้นั่นเองที่กำลังรู้อย่างนั้น
เพราะฉะนั้น ต้องเข้าถึงลักษณะของปรมัตถธรรม ซึ่งเมื่อเป็นธาตุรู้แล้ว ขณะที่กำลังคิดเรื่องต่างๆ กำลังเห็น ขณะนี้ทุกคนกำลังเห็น แล้วทุกคนก็ลบความคิดว่าเป็นคนนั้นคนนี้ออกไม่ได้ ที่จะลบออกไปไม่เห็นว่าเป็นโต๊ะ เป็นเก้าอี้ ไม่มีที่จะทำอย่างนั้นได้ เพราะฉะนั้น ความจริงเป็นอย่างไร ไม่ใช่ให้เปลี่ยน หรือไม่ใช่ให้ฝืน หรือว่าไม่ใช่ให้เข้าใจผิดไปอีกอย่างหนึ่ง แต่ให้รู้ว่าจิตซึ่งเป็นธาตุรู้ สามารถจะรู้ได้ทุกอย่าง นอกจากจะเห็นแล้ว จิตยังรู้ด้วยว่าสิ่งที่เห็นเป็นอะไร ขณะที่กำลังรู้ว่าเป็นอะไร นั่นคือจิตชนิดหนึ่ง เพราะฉะนั้น ถ้าสติเกิดแล้วรู้ว่า ขณะนี้ ที่เห็นเป็นสภาพของจิตชนิดหนึ่ง แล้วที่กำลังรู้ว่า สิ่งนั้นเป็นอะไร คือจิตนั่นเองที่รู้ จะได้รู้ความจริงว่า ไม่ใช่เราที่รู้ แต่ว่าเป็นจิตชนิดหนึ่งซึ่งนึก หรือคิด หรือจำ ก็รู้ว่าสิ่งที่เห็นเป็นอะไร
เพราะฉะนั้น จะทำให้เราสามารถที่จะเข้าใจว่า นี่เป็นจิตทั้งหมด ไม่ว่าจะเห็น แล้วก็ไม่ได้คิดถึงรูปร่างสัณฐานเลย ก็เป็นจิต ไม่ว่าจะเห็นแล้วคิดว่า เป็นคนนั้น คนนี้ ก็เป็นจิต เพราะฉะนั้น สติปัฏฐาน คือระลึกลักษณะของจิตซึ่งเป็นธาตุรู้ทุกอย่าง ไม่ว่าจะทางตาหรือทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ แล้วก็ถ้าประกอบกับอธิบายเมื่อกี้นี้ที่แยกออกเป็นทางตากับทางใจ ก็จะยิ่งเห็นความละเอียด
ผู้ฟัง อาจารย์ อย่างระลึกบ่อยๆ อย่างนี้ จะเกิดประโยชน์ไหม ละอะไรได้บ้าง
ท่านอาจารย์ ระลึกอะไร
ผู้ฟัง ระลึกรูป ระลึกนาม
ท่านอาจารย์ นั่นสิ ระลึกทำไม เพื่ออะไร ไม่มีใครสามารถที่จะระลึกได้ ถ้าไม่ใช่สติเกิด แล้วถ้าไม่มีการฟังเข้าใจ สติเกิดระลึกไม่ได้ อยู่ดีๆ นั่งอย่างนี้ ไม่รู้เรื่องอะไรเลย จะให้ไประลึกอะไร แต่ถ้าฟังแล้วเข้าใจ ความเข้าใจจะเป็นปัจจัยให้มีการระลึกได้ว่าขณะที่เห็นเป็นจิต เป็นสภาพรู้ เป็นธาตุรู้ เพราะเหตุว่าถ้าไม่มีธาตุนี้เสียอย่างหนึ่งเห็น มีไม่ได้เลย จะมีเสียงปรากฏสักเท่าไรถ้าไม่มีจิต เกิดขึ้นได้ยินเสียง เสียงนั้นก็ปรากฏไม่ได้ แล้วให้ทราบว่าจิตเกิดดับสืบต่อตั้งแต่เกิดจนตาย แล้วเป็นธาตุรู้จริงๆ แล้วรู้ได้ทุกอย่าง ข้อสำคัญคือรู้ได้ทุกอย่าง รู้ที่นี่คือทางตาเห็น รู้สิ่งที่กำลังปรากฏ คือ เห็นสิ่งที่ปรากฏ ว่าสิ่งที่ปรากฏขณะนี้เป็นอย่างนี้ ตรงนั้นสว่าง ตรงนี้เป็นสีเขียว ตรงนั้นเป็นสีขาว นั่นคือสภาพรู้สิ่งที่ปรากฏทางตา
ผู้ฟัง เกี่ยวกับทิฏฐิ ระลึกบ่อยๆ
ท่านอาจารย์ ระลึกได้อย่างไร ถ้าไม่เข้าใจ เอาอย่างนี้ก่อน ถ้าไม่มีความเข้าใจ สติเกิดไหม สติปัฏฐานเกิดไหม
ผู้ฟัง ไม่เกิด
ท่านอาจารย์ ไม่เกิด เพราะฉะนั้น ที่เกิดเพราะเข้าใจ ใช่ไหม เมื่อเพราะเข้าใจขั้นฟัง ก็ยังไม่รู้ความจริง เพียงแต่รู้เรื่องราวเท่านั้นเอง ฟังเรื่องจิต ฟังเรื่องเจตสิก แต่ขณะนี้กำลังเห็น ไม่ได้รู้จริงๆ กำลังเห็นเป็นธาตุรู้ หรือเป็นจิต ถ้าสติไม่เกิด เพราะฉะนั้น ที่สติเกิด เพื่อที่จะรู้ตัวจริงของธรรมที่ได้ฟัง รู้จักตัวจริงๆ คุณเริงชัยอาจจะได้ยินชื่อใครสักคนหนึ่ง รู้เรื่องราวของเขามาก แต่ไม่เคยเห็นตัว ไม่เคยเลย ได้ยินแต่เรื่องราว แต่เหมือนกับเราได้ยินเรื่องราวของจิต ได้ยินเรื่องราวของเจตสิก ได้ยินเรื่องราวของรูป แต่ขณะนี้คือจิต เจตสิก รูปจริงๆ แต่เรามัวไปรู้เรื่องราว แต่ว่าเวลาสติปัฏฐานเกิด ไม่ใช่เพียงไปรู้เรื่องราว แต่ระลึก คือรู้จักตัวจริง ซึ่งตัวจริงรู้จักยาก อยู่ตรงนี้กำลังเห็น อยู่ตรงนี้กำลังได้ยิน อยู่ตรงนี้กำลังคิดนึก นี่คือตัวจริง คือตัวธรรมทั้งหมด แต่ยังไม่รู้จักตัวจริง เพราะฉะนั้น สติระลึกเพื่อรู้จักตัวจริง ไม่ใช่เพียงแต่ฟังเรื่อง ที่ถามว่า สติปัฏฐานมีประโยชน์อะไร ฟังเรื่องจิตจริง เข้าใจเรื่องราวของจิต แต่รู้จักจิตหรือยัง เพราะฉะนั้น สติปัฏฐานเกิดเพื่อรู้จักตัวจริง ไม่ใช่เพียงแต่ฟังเรื่องราวเท่านั้น
ผู้ฟัง เมื่อถามเกี่ยวกับเรื่องทานแล้ว สติที่เป็นไปในทาน หมายความว่าอย่างไร
ท่านอาจารย์ ต้องทราบก่อนว่า สติเกิดกับกุศลจิต หรือโสภณจิต คือจิตฝ่ายดีทั้งหมด สติจะไม่เกิดกับอกุศลจิตเลย เวลาที่เกิดความยินดี ติดข้อง ต้องการสิ่งหนึ่งสิ่งใด ขณะนั้น เป็นอกุศลจิต ไม่มีสติเกิดร่วมด้วย หรือเวลาที่โกรธ ขุ่นเคืองใจ ขณะนั้นก็ไม่มีสติเกิดร่วมด้วย ถ้าใช้คำว่าสติ ต้องหมายความถึงสภาพธรรมที่เป็นฝ่ายดี ภาษาไทยเราอาจจะพูดโดยที่ว่าไม่คิด คนนั้นมีสติปัญญา เราก็พูดไปเรื่อย แต่ว่าตัวสติจริงๆ คือสภาพธรรมที่เป็นสติ เป็นโสภณเจตสิก
เพราะฉะนั้น ต้องเกิดกับจิตที่ดีทั้งหมด เช่นขณะที่กุศลจิตเกิด คิดให้ทาน ขณะที่จะให้สิ่งที่เป็นประโยชน์กับคนอื่น ขณะนั้นถ้าสติไม่เกิด ความคิดอย่างนี้จะไม่มีเลย หรือการวิรัติทุจริต การงดเว้นจากการฆ่าทางกาย หรือว่าการพูดสิ่งที่เป็นทุจริตต่างๆ ถ้าสติไม่เกิดก็ไม่มีการเว้น ไม่มีการวิรัติ ให้ทราบว่า ไม่ใช่เรา เพราะว่าพระธรรมทั้งหมดเป็นอนัตตา หมายความว่าไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล เพราะฉะนั้น อะไรละ ถ้าไม่ใช่เรา อะไรละ ที่ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล คือสภาพของเจตสิกต่างๆ ที่เกิดขึ้น ถ้าเป็นโสภณเจตสิกเกิดเมื่อไร จิตก็ดีงามเมื่อนั้น เป็นไปในทางกุศลประการหนึ่งประการใดก็ได้ จึงกล่าวว่าขณะที่ให้ทาน เป็นสติขั้นทาน หรือว่าเป็นไปในทาน
ผู้ฟัง ถ้าเป็นสติขั้นทาน หมายถึงว่า เมื่อเรามีจิตคิดจะให้เกิดขึ้น เราจะต้องรู้สภาพ หรือว่าลักษณะของจิตดวงนั้นที่เกิดขึ้นว่า เป็นไปอย่างไรที่ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน หรือไม่ใช่เรา ตรงนั้นในขณะที่เราจัดเตรียมข้าวของ มีอาการไหวของร่างกาย จะมีอาการเห็นที่ปรากฏ หรือมีเสียงที่ได้ยินในขณะนั้น หรือว่าเตรียมมีจิตที่มีความขุ่นเคือง แหม อะไรไม่เรียบร้อย ตรงนั้นเหมือนกับว่าต้องรู้สติทุกขณะเลย ที่เกิดขึ้น ก่อนที่จะให้ทาน แล้วก็ในขณะที่จะให้ทาน สมมติว่าจะตักบาตร ขณะที่นอบน้อมต่อพระ อันนั้นอาการกายไหวไป หรือว่าจับทัพพี แข็งก็จะต้องรู้ ไหวก็จะตัก หรือว่ากุศลจิตที่เกิดหลังจากที่ให้ไปใหม่ๆ หรือให้ไปนานแล้ว เราต้องรู้ทุกขั้นตอน ถึงจะเป็นสติในทาน ไม่ทราบว่าอย่างนี้ถูกต้องไหม
ท่านอาจารย์ ถ้าเป็นอย่างนั้น ต้องเป็นสติปัฏฐาน
ผู้ฟัง คนละอัน ใช่ไหม
ท่านอาจารย์ หมายความว่าคนที่ให้ทานในโลกนี้ ไม่ว่าจะรู้สึกตัว หรือไม่รู้สึกตัว ชาติ ภาษาไหนก็ตาม เด็กเล็กหรือผู้ใหญ่ก็ตาม ถ้ามีจิตคิดที่จะสงเคราะห์ช่วยเหลือบุคคลอื่นด้วยการให้วัตถุสิ่งหนึ่งสิ่งใดก็ตามซึ่งเป็นทานวัตถุ ขณะนั้นไม่ใช่ตัวตน แล้วเป็นอะไร ก็ต้องเป็นสภาพจิตซึ่งประกอบด้วยเจตสิกที่ดี สติก็เป็นเจตสิกที่ดีในขณะนั้น จึงมีการให้เกิดขึ้น คนนั้นไม่มีสติปัฏฐานเกิด แต่ว่ามีการให้เพราะว่ามีโสภณจิต หรือมีกุศลจิต แต่เวลาที่มีการระลึกรู้ลักษณะของสิ่งที่กำลังปรากฏ โดยสภาพที่ไม่ใช่เรา ไม่ใช่ตัวตน แต่สิ่งนั้นมีจริงๆ อย่างความโกรธมีจริงๆ แล้วก็โกรธกันบ่อยๆ แต่ไม่เคยระลึกที่ลักษณะสภาพโกรธ เพราะฉะนั้น ก็เป็นความโกรธที่เป็นอกุศล แต่ถ้าสติเกิดต้องระลึกลักษณะซึ่งเป็นสภาพธรรม เพื่อที่จะรู้ความจริงว่า ไม่ใช่เรา ขณะนั้นเป็นสติอีกระดับหนึ่ง
เวลาที่ให้ทาน แล้วเกิดมีสติระลึกรู้ลักษณะของสภาพสิ่งที่กำลังปรากฏอย่างหนึ่งอย่างใดก็ได้ อาจจะเป็นแข็ง หรืออาจจะเป็นเห็น หรืออาจจะเป็นความคิดนึก ขณะนั้นสติที่ระลึกลักษณะของสภาพธรรมเป็นสติปัฏฐาน ไม่ใช่สติขั้นทาน ถ้าสติขั้นทาน คือเกิดกุศลจิตเป็นไปในทาน คิดที่จะให้ เพื่อประโยชน์สุขแก่คนอื่น อันนั้นเป็นสติที่เป็นไปในทาน ต้องทราบคำ ถ้าใช้คำว่า ญาณสัมปยุตต์ หมายความว่า มีปัญญาเกิดร่วมกับจิตในขณะนั้น เพราะว่าจิตจะต้องมีเจตสิกเกิดร่วมด้วย จะมีจิตเกิดขึ้นโดยไม่มีเจตสิกเกิดร่วมด้วย ไม่ได้เลย แต่ว่าเจตสิกอะไรที่เกิดกับจิต เพราะว่าเจตสิกก็มีมากมาย เพราะฉะนั้น เวลาใช้คำว่า สัมปยุต ก็หมายความว่าแสดงถึงเจตสิกอะไร ที่เกิดกับจิต อย่างกุศลจิต แล้วมีคำว่า ญาณสัมปยุต ก็แสดงให้เห็นว่า ยกคำว่าปัญญา คือ ญาณ เกิดขึ้น ชี้ให้เห็นว่า ขณะนั้นเป็นกุศลจิตที่ประกอบด้วยปัญญา ถ้าญาณวิปยุต ก็ไม่เกิดร่วมกับปัญญา จิตนั้นเป็นกุศลที่ไม่เกิดร่วมกับปัญญาเจตสิก ไม่มีปัญญาเจตสิกเกิดร่วมด้วย เพราะฉะนั้น สัมปยุตเป็นสภาพของนามธรรมซึ่งเกิดร่วมกัน อย่างจิตกับเจตสิกต้องเกิดร่วมกันแยกกันไม่ได้เลย โดยปัจจัยใช้คำว่า สัมปยุตตปัจจัย หมายความว่าเกิดร่วมกัน แนบสนิทเป็นนามธรรม มีอารมณ์เดียวกัน ดับพร้อมกัน เกิดพร้อมกัน ดับพร้อมกัน รู้อารมณ์เดียวกัน แล้วเกิดที่เดียวกันด้วย
นี่คือลักษณะของสัมปยุต ซึ่งเป็นนามธรรม นี่แสดงให้เห็นว่า จิตใจของเรา แม้ว่าจะมีอายุที่สั้นมาก คือเกิดขึ้นแล้วก็ดับไป แต่ว่าขณะนั้นก็มีเจตสิกตั้งมากมายเกิดร่วมด้วยเป็นสัมปยุตตปัจจัย ด้วยคือแยกกันไม่ได้เลย เกิดร่วมกันจริงๆ ดับพร้อมกันจริงๆ เพราะฉะนั้น ก็เป็นความละเอียด ที่เราจะต้องศึกษาให้ทราบว่าจิตขณะหนึ่งมีเจตสิกอะไรเกิดร่วมด้วย เพื่อให้เห็นความไม่ใช่ตัวตน ถ้าได้ยินคำว่า สัมปยุต เช่น ญาณสัมปยุต ก็คือจิตนั้นมีปัญญาเกิดร่วมด้วย ทิฏฐิคตสัมปยุต จิตนั้นมีมิจฉาทิฏฐิ เกิดร่วมด้วยปฏิฆสัมปยุต จิตนั้นมีโทสเจตสิกเกิดร่วมด้วย แสดงว่ายกเจตสิกขึ้นมาแสดงให้เห็นว่า จิตในขณะนั้นประกอบด้วยเจตสิกอะไร ขณะใดที่มีปัญญาเกิดขึ้น ไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่เรา แต่เป็นจิตซึ่งมีปัญญาเจตสิกเกิดร่วมด้วย จึงใช้คำว่า ญาณสัมปยุต แต่ถ้าถึงแม้ว่าจะเป็นกุศล แต่ไม่มีปัญญาเกิดร่วมด้วย เป็นกุศลก็จริง แต่เป็นญาณวิปยุต เพราะฉะนั้น ก็ติดอยู่ที่คำว่า ญาณสัมปยุตกับญาณวิปยุต กำลังฟังธรรมเดี๋ยวนี้ จิตเป็น ญาณสัมปยุต หรือญาณวิปยุต ขณะใดที่มีความเข้าใจ ขณะนั้นไม่ใช่เรา แต่เป็นปัญญาที่เข้าใจ ขณะที่ไม่เข้าใจ ขณะนั้นก็เป็นกุศลได้ แต่ว่าไม่ใช่ญาณสัมปยุต เราจะเป็นผู้ที่รู้จักตัวเราละเอียดขึ้น กว่าจะไม่ใช่เรา นานแสนนาน เพราะว่าเคยเป็นเรามานานแสนนานแล้ว ความละเอียดทั้งหมดที่เราศึกษา ยิ่งศึกษาละเอียดเท่าไร ก็ทำให้เราสามรถที่จะเข้าใจสภาพธรรมว่าเป็นธรรม ซึ่งไม่ใช่เรายิ่งขึ้น
สมพร เรื่องสติ เป็นเรื่องใหญ่ เพราะว่าการให้ทานก็มีสติ การรักษาศีลก็มีสติ สตินั้นเป็นโสภณธรรม โสภณธรรม ซึ่งหมายความว่าเป็นธรรมฝ่ายดี หรือฝ่ายงาม ไม่ใช่ ฝ่ายชั่ว คำว่า โสภณ โสภณ แปลว่า ดี แปลว่างาม เป็นธรรมฝ่ายดี หรือฝ่ายงาม คือสติ แต่ว่า สตินั้นถ้าไม่ประกอบด้วยปัญญาก็ยังงามไม่สมบูรณ์ เพราะว่ายังไม่ได้กำลังที่สมบูรณ์ แต่ถ้าสตินั้นประกอบด้วยปัญญา ขณะให้ทานก็ดี ขณะรักษาศีลก็ดี กุศลก็สมบูรณ์ และมีกำลังมากขึ้น เพราะเพิ่มปัญญา สติก็เป็นกำลังอันหนึ่ง เรียกว่า สติพละ แปลว่า กำลัง คือ สติ แต่ถ้ามีปัญญาขึ้นอีกอย่างหนึ่ง เรียกว่าปัญญาพละ ๒ กำลังย่อมมากกว่า ๑ กำลัง เพราะว่าสติกับปัญญานั้น ขณะที่เราให้ทาน เราระลึกอย่างไร ปัญญาถึงจะเกิดขึ้น ขณะที่ให้ทาน เราก็ไม่ผลีผลามให้ ไม่ลุกลี้ลุกลนให้ นึกถึงว่า กรรมเป็นใหญ่ กรรมมีอยู่จริง กรรมคือการกระทำ ทำบุญได้บุญ ทำบาปได้บาป อะไรเหล่านี้เป็นต้น รู้ตามความเป็นจริงว่า กรรมมีอยู่ ในอรรถกถาท่านแสดงถึงว่า คนที่มีปัญญาเชื่อในกรรมมากมาย แต่ว่าในที่นี้ เราก็ยกว่า เอาง่ายๆ ก็หมายความว่า ระลึกถึงว่า กรรมมีอยู่จริง ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว ผลของกรรมก็มีอยู่ ขณะที่ระลึกถึงกรรมอย่างนั้น ปัญญาก็เกิดขึ้นเหมือนกัน ปัญญาเกิดพร้อมกับสติ แต่อันนี้มีบัญญัติเป็นอารมณ์ ก็ไม่จัดเป็นสติปัฏฐาน สติปัฏฐานมุ่งเอาปรมัตถ์เป็นอารมณ์ การให้ทานประกอบด้วยปัญญา ถือว่ามี อานิสงส์มาก
ผู้ฟัง กรณีที่ทำทาน เกี่ยวกับนอกศาสนาเลย มันก็จะเป็นกุศลได้ด้วย ใช่ไหม
ท่านอาจารย์ ทาน คือ ทาน
ผู้ฟัง ทาน คือ ทาน ไม่ต้องไปแยกแยะเลย
ท่านอาจารย์ ทาน คือการให้สิ่งที่เป็นโยชน์กับบุคคลอื่น แล้วขณะนั้นก็ไม่มีชาติไหนทั้งสิ้น แล้วก็ไม่มีศาสนาใดๆ ทั้งหมด แต่ขณะนั้นเป็นจิตที่ดีงามเกิดขึ้นเป็นไปในการให้ จะรู้ว่าเป็นทานหรือไม่รู้ว่าเป็นทาน แต่ก็เป็นทาน ไม่ใช่ว่าคนต้องรู้แล้ว ถึงจะเป็นทาน สภาพจิตเป็นอย่างไร ก็เป็นอย่างนั้น ใครจะรู้หรือไม่รู้ เมื่อจิตอย่างนั้นเกิดขึ้นเป็นอย่างนั้น ก็เป็นอย่างนั้น
สมพร ทาน คือการให้ ให้ด้วยความสงเคราะห์ ถ้าเราไม่ได้ให้ด้วยความสงเคราะห์ ให้บางสิ่งบางอย่าง เช่น ให้ยาพิษ ให้สุรา ให้สิ่งที่ไม่ควรจะให้ ไม่เรียกว่าให้ด้วยความสงเคราะห์ ไม่ถือว่าเป็นทาน ให้เพื่อให้โทษเกิดขึ้น เราก็ต้องพิจาณาดูว่า เราให้อย่างใดอย่างหนึ่งเพื่อ ความสงเคราะห์ การสงเคราะห์นั้นจัดเป็นทาน มีอานิสงส์มาก
ท่านอาจารย์ ส่วนใหญ่โดยมากที่เข้าใจกัน คิดว่าจะต้องปฏิบัติ บางคนก็สนใจ ปฏิบัติ แล้วกล่าวเลยว่า ไม่เรียน เพราะว่าเสียเวลา ปฏิบัติเลยดีกว่า แต่ให้ทราบว่า ความคิดทั้งหมดของเราต้องมีความเห็นถูกตามลำดับขั้นจริงๆ ถ้าใครกล่าวอย่างนี้ จะเห็นถูกไม่ได้เลย เพราะว่าถ้าไม่มีปัญญาขั้นต้นไม่รู้เรื่องของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ แล้วจะปฏิบัติได้อย่างไร ไม่มีทางเลยที่ใครจะไปปฏิบัติได้ เพราะฉะนั้น จากคำถามข้อแรกของท่านผู้ถามคนแรก ก็แสดงให้เห็นแล้วว่า ส่วนใหญ่คิดถึงสติ แล้วอาจจะไม่ทราบว่าเป็นความกังวล เป็นความต้องการ หรือเป็นความห่วงว่า บางคนก็คิดว่า กุศลอื่นก็ทำ แต่ว่าสติปัฏฐาน ยังไม่เกิด หรือว่าเกิดน้อย หรือว่าควรจะเกิดมากกว่านี้ คือจุดมุ่ง สังเกตดูว่า ไปอยู่ ที่สติปัฏฐาน แต่ความจริงเรื่องของปัญญา เป็นเรื่องของการอบรม ต้องเข้าใจคำนี้จริงๆ ว่าไม่ใช่เป็นเรื่องที่จะให้ปัญญาเกิดได้โดยเร็ว หรือว่า อยากจะทำก็ทำได้ แต่เป็นเรื่องที่ว่าปัญญา คือ ความเห็นถูกในลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏในขณะนี้ เพราะฉะนั้น เวลาที่เราเรียนเรื่องปรมัตถธรรม เรียนเรื่องจิต เรียนเรื่องจตสิก เรียนเรื่องรูป ก็เพราะเหตุว่าขณะนี้มีจิต มีเจตสิก มีรูป แล้วก็ยังไม่รู้เรื่อง จิต เจตสิก รูปเลย ปัญญาเราก็เข้าใจอยู่แล้วว่า เป็นสภาพธรรมที่เข้าใจถูกในลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ แสดงให้เห็นว่า ตั้งแต่เกิดมาจนตาย กี่ภพกี่ชาติ ก็มีปรมัตถธรรม แต่อวิชชาไม่สามารถที่จะเห็นความจริงว่า เป็นธรรม
เพราะฉะนั้น ก็มีความไม่รู้ ขั้นต้น เราต้องทราบว่า ยังไม่ต้องห่วงใย เรื่องสติปัฏฐาน หรือว่าสติยังไม่เกิด หรือว่าอยากจะเจริญสติ แต่ให้เข้าใจความหมายของคำว่า อบรมปัญญาสำคัญที่สุดเลย เพราะว่าขณะนี้สภาพธรรมกำลังปรากฏ ฟังเรื่องจิต เพื่อให้รู้ว่าเป็นธรรมที่มีจริงๆ ในขณะนี้ ฟังเรื่องเจตสิก ฟังเรื่องรูป ก็ให้ทราบว่า ขณะนี้ มีจิต เจตสิก รูปจริงๆ แล้วถ้าปัญญาอบรมมากขึ้นๆ ความรู้เรื่องจิต เจตสิกเพิ่มขึ้น สติก็จะเริ่มระลึกเป็นปกติ นี่แสดงให้เห็นว่า ถ้าเราไปที่ไหนสักแห่งหนึ่งแล้วก็ไปทำเหมือนกับว่าที่ว่าเดินวันสุดท้าย แล้วก็มีอะไรก็ไม่ทราบปรากฏ นี่แสดงให้เห็นว่า เป็นความสงสัย เป็นความไม่รู้ ไม่ใช่ปัญญา ปัญญาจะไม่เป็นในลักษณะนั้นเลย ปัญญาจะไม่สงสัยว่า นี่อะไร นั่นไม่ใช่ลักษณะของปัญญา
ถ้าเป็นปัญญาจริงๆ คือความเข้าใจถูก ในลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ ในขณะนี้ ซึ่งขณะนี้กำลังปรากฏ เป็นสติปัฏฐาน เป็นเครื่องหรือเป็นสิ่ง เป็นสภาพธรรมที่จะให้สติระลึกธรรมในขณะนี้ ที่กำลังปรากฏ ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ เพื่อให้สติระลึก เพราะฉะนั้น ต้องอาศัยฟังให้เข้าใจ แล้วสติจึงระลึกได้ เมื่อระลึกแล้วไม่ต้องห่วงว่าเร็วมาก สติปัฏฐาน เกิดเร็ว หรือว่า อะไรอย่างนั้น ไม่เป็นไรเลย แต่ว่าผู้นั้นจะเริ่ม รู้ลักษณะของ หลงลืมสติ กับเวลาที่สติเกิด
นี่เป็นขั้นต้นทีเดียว แล้วเวลาที่สติเกิดก็ไม่จำเป็นที่จะต้องไปคิดว่าเร็ว สติ เกิดก็เกิด หลงลืมสติก็หลงลืมสติ เพราะฉะนั้น จากการศึกษาทราบว่า แม้ว่าธรรมจะมีจริงเป็นปรมัตถธรรม แต่เมื่อใดที่สติไม่ระลึก เมื่อนั้นเป็นเพียงเรื่องราวที่ได้ศึกษา เช่นเรื่องราวของจิต เรื่องราวของเจตสิก เรื่องราวของรูป แต่ขณะใดที่สติระลึก ขณะนั้นไม่ใช่เพียงเรื่องราว แต่ว่ามีสภาพปรมัตถธรรม ความรู้ทั้งหมดจากการศึกษา จะทำให้เข้าใจลักษณะของสภาพธรรมที่สติระลึก จนกว่าจะเป็นความรู้ชัด เพราะฉะนั้น คือการอบรมความรู้ ความเข้าใจสิ่งที่กำลังปรากฏ
ด้วยเหตุนี้จึงเป็นปกติจริงๆ เพราะว่าสภาพธรรมขณะนี้เป็นปกติอย่างนี้ โดยการศึกษาทราบว่า ดับเร็วมาก แต่เมื่อสภาพธรรมไม่ได้ปรากฏการดับอย่างเร็ว ก็จะไปสนใจจุดที่ว่าดับอย่างเร็วไม่ได้ เพราะว่าขั้นแรกที่สุด ต้องรู้ลักษณะที่เป็นนามธรรม และรูปธรรม แล้วต้องสอดคล้องกับการที่ได้ฟัง เรื่องของนามธรรม และรูปธรรมทั้งหมด เช่น จิตเป็นสภาพรู้ แค่นี้แล้วก็ยังมีคำอธิบายต่อไปว่า เป็นมนินทรีย์ เป็นใหญ่เป็นประธาน ในการรู้ เพราะฉะนั้น กว่าจะเข้าถึงอรรถ หรือว่าลักษณะของจิตจริงๆ ซึ่งเราก็ชินกับคำว่า ตั้งแต่เกิดจนตายมีจิตเกิดดับ แล้วก็สามารถที่จะรู้ได้ทุกอย่าง
นี่ค่อยๆ ไตร่ตรองว่า ขณะนี้ จิตสามารถเห็น รู้สิ่งที่กำลังปรากฏ นี่คือลักษณะของจิต คือกำลังเห็น เป็นสภาพ หรือ ธาตุชนิด ๑ ซึ่งสามารถเห็นสิ่งที่กำลังปรากฏ เวลาที่ได้ยิน เสียงมี เพราะฉะนั้น จิตก็เป็นสภาพที่สามารถที่จะรู้เสียงที่กำลังปรากฏ
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 241
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 242
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 243
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 244
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 245
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 246
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 247
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 248
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 249
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 250
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 251
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 252
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 253
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 254
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 255
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 256
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 257
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 258
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 259
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 260
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 261
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 262
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 263
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 264
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 265
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 266
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 267
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 268
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 269
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 270
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 271
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 272
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 273
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 274
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 275
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 276
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 277
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 278
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 279
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 280
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 281
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 282
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 283
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 284
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 285
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 286
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 287
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 288
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 289
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 290
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 291
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 292
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 293
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 294
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 295
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 296
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 297
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 298
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 299
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 300