ปกิณณกธรรม ตอนที่ 281
ตอนที่ ๒๘๑
สนทนาธรรม ที่ โรงพยาบาลพระมงกุฏเกล้า
พ.ศ. ๒๕๓๙
อ.สมพร สำหรับคนที่มีความรู้แล้วก็พยายามแยกได้ ควรจะเรียกว่ากระทำกุศล สำหรับกามาวจรกระทำกุศล เช่น เราสนทนาธรรม เมตตาทางวจี พระพุทธเจ้าเทศนาสั่งสอน คือ กรุณา ช่วยสัตว์โลกให้พ้นจากทุกข์ สัตว์โลกกำลังมีทุกข์ ไม่รู้จักทุกข์ พระองค์ก็ทรงแสดงธรรม อันนี้เป็นกรุณาคู่กับเมตตาเช่นเดียวกัน แต่มีกรุณาเป็นที่ตั้ง การที่เขาไม่รู้ธรรมก็เพื่อให้รู้ธรรม เช่น ปัจจุบันเราสนทนาเรื่องธรรม เพื่อให้ธรรมนี้แจ่มแจ้งมาก ขึ้นๆ อาจารย์นำเรื่องปฏิบัติมา ปฏิบัติกับปริยัติ เป็นของคู่กัน การสนทนาเป็นปริยัติ แต่ว่าขณะหนึ่งต่อไปอาจจะเป็นปฏิบัติได้ติดต่อกันนั้น นี้เป็นเมตตาเหมือนกัน เมตตาทางวจีกรรม ควรจะใช้คำว่ากระทำ แผ่มันต้องมีกำลังจิตมากกว่านี้ พวกเรากามาวจรจิต จิตเกิดสลับกันอย่างรวดเร็ว เกิดดับ เกิดดับ เดี๋ยวก็เป็นกุศล เดี๋ยวก็เป็นอกุศล เดี๋ยวก็เป็นเมตตา เดี๋ยวก็เป็นกรุณา เป็นไปอย่างรวดเร็ว เพราะฉะนั้น ควรจะใช้คำว่า กระทำเหมาะสม
ผู้ฟัง ถ้าเราจะอบรมเจริญเมตตาที่คุยกันส่วนใหญ่ กระทำในขณะที่เป็นสัตว์บุคคลอยู่ ในขณะนั้นเลย แล้วอบรมเจริญเมตตา สมมติว่าเราคิดถึงใครที่เราโกรธ ไม่ได้อยู่กับเขาในขณะนั้น แต่คิดถึงใครที่เราโกรธ เราก็น้อมไปว่า ลักษณะความดีของเขาก็มีอยู่ เราควรจะเป็นมิตรกับเขา หรือในทางตรงกันข้ามขณะที่เรามีความรักในบุคคลใด แล้วก็มีโลภะ เราก็น้อมไปว่า ควรจะเป็นเพื่อนมากกว่า ในลักษณะที่ว่า เราไม่ได้กระทำที่บุคคลนั้นอยู่ต่อหน้า อันนี้จะเป็นการอบรมเจริญเมตตาได้ไหม
ท่านอาจารย์ เมตตามีสัตว์บุคคลเป็นอารมณ์ แต่ไม่ได้หมายความต้องเฉพาะหน้า คิดด้วยเมตตาก็ได้ หมายความว่ามีสัตว์บุคคลเป็นอารมณ์ ขณะนี้มีธรรมไหม
ผู้ฟัง มี
ท่านอาจารย์ แทนที่จะเห็นว่า มีคนนั้น คนนี้กำลังนั่งอยู่ หรือว่าเรื่องราวต่างๆ ที่ได้ยินได้ฟังเมื่อกี้นี้ เราก็กลับมาถึงสภาพธรรมจริงๆ ตัวจริงของธรรม คือขณะนี้ไม่มีใครเลยทั้งสิ้น มีแต่สภาพธรรมซึ่งกำลังปรากฏทางหนึ่งทางใด คือ ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ กลับมาหาความเป็นจริง เพราะว่าเมื่อเป็นเรื่องราว เป็นตัวเราตัวเขา เรามีเมตตาต่อบุคคลนั้น บุคคลนี้ เพราะฉะนั้น ก็ยังมีเรามีเขา แต่ว่าตามความเป็นจริง
ทุกคนคงได้ยินคำว่า จิต เป็นสภาพธรรมที่มีจริงแน่นอน แต่ว่าจิตทั้งๆ ที่มีจริงตั้งแต่เกิดจนตาย มีใครบ้างที่รู้ลักษณะของจิต ต้องเรียน ต้องศึกษาจนกว่าสามารถที่จะรู้สภาพของจิตจริงๆ ได้ เพราะว่าเพียงแต่เราฟังว่าธรรม คือ ทุกสิ่งทุกอย่างที่มีจริง แม้แต่ขณะนี้ เมื่อกี้นี้เป็นคน ทั้งนั้นเลย เดี๋ยวนี้กำลังจะเป็นจิต เจตสิก รูป ซึ่งตามความเป็นจริงแล้วเป็นอย่างนี้ แต่ถ้าเราไม่เข้าใจจริงๆ ไม่มีทางที่เราจะรู้ลักษณะของจิตได้ ก็เพียงแต่จำว่าคนไม่มี สัตว์ไม่มี สภาพธรรมมี ๒ อย่างที่เป็นนามธรรมอย่างหนึ่ง เป็นรูปธรรมอย่างหนึ่ง สำหรับนามธรรมมี ๒ อย่าง คือ จิตกับเจตสิก นี่คือความจำ ก็จำไปอย่างนี้ ตายแล้วอาจจะได้จำแค่นี้ คือ มีนามธรรมกับรูปธรรม ๒ อย่าง ทั้งๆ ที่ขณะนี้ก็เป็นนามธรรมจริงๆ เป็นรูปธรรมจริงๆ แต่ไม่สามารถที่จะไถ่ถอนการที่เคยยึดถือสภาพของนามธรรม และรูปธรรม เป็นเรา เป็นเขา เป็นบุคคล เป็นวัตถุสิ่งต่างๆ ได้
เพราะฉะนั้น จึงต้องฟัง ฟังแล้วฟังอีก จนกว่าความเข้าใจเรื่องสภาพธรรมจะเพิ่มมากขึ้น แล้วก็สามารถจะรู้ลักษณะแท้ๆ ของธรรมได้ ไม่ใช่เพียงแต่เรียนเรื่องธรรมเท่านั้น เพราะฉะนั้น ให้ทราบว่า เราจะต้องฟังเรื่องของสภาพธรรมต่อไปอีกๆ จนกว่าจะรู้ลักษณะจริงๆ ของสภาพธรรม ขณะนี้ทางตาเป็นสิ่งที่มีจริงๆ มีเรื่องราวมากมายที่เกี่ยวกับทางตา แต่ถ้าไม่มีแสงสว่างที่จะปรากฏให้เห็นเป็นสิ่งต่างๆ เท่านี้ เรื่องราวต่างๆ ซึ่งกำลังจะเกิดต่อไป หรือกำลังเกิดอยู่ ในห้องนี้ก็จะไม่มี ก็จะมีแต่เพียงความว่างเปล่า คือความมืด
ถ้าคิดลึกๆ ว่าสิ่งต่างๆ ก็ปรากฏเป็นเรื่องราวต่างๆ ต่อเมื่อมีการเห็น ถ้าไม่มีการเห็น ตัดโลกออกไปเสียโลกหนึ่ง จะมีแต่เพียงเสียงที่ได้ยิน กลิ่นที่ปรากฏ เย็นหรือร้อน อ่อนหรือแข็งที่ปรากฏ เรื่องราวก็คงจะน้อยลงไป เพราะขณะนี้เรื่องราวทางตามากมายเหลือเกิน เต็มไปด้วยสีสัน เต็มไปด้วยผู้คนต่างๆ วัตถุต่างๆ ลองคิดดูว่า ถ้าเพียงไม่เห็นเดี๋ยวนี้ จะเหลือเรื่องเพียงนิดเดียวเท่านั้นเอง คือ เรื่องเสียง เรื่องกลิ่น เรื่องรส เรื่องสิ่งที่กระทบสัมผัส
ถ้ามีทางตามากมาย ทางหูมากมาย ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ เกิดสืบต่อกันอยู่เรื่อยๆ อย่างนี้ แล้วเมื่อไรจะเห็นความจริงว่า เป็นแต่เพียงสภาพธรรมแท้ๆ ซึ่งแม้ว่าจะไม่ใช้เรื่องราว หรือคิดเรื่องราวใดๆ ทั้งสิ้น สภาพธรรมนั้นก็มีจริงๆ ซึ่งควรที่จะรู้ความจริงว่า สภาพธรรมที่มีอยู่มีปรากฏเพียงชั่วขณะ หรือชั่วคราว แล้วก็หมดไป ขณะนี้ถ้าสามารถจะประจักษ์ความจริงของสภาพธรรมได้ว่า สภาพธรรมใดๆ ก็ตามซึ่งปรากฏไม่ว่าจะทางตา หรือทางหู หรือทางจมูก หรือทางลิ้น หรือทางกาย หรือทางใจ ปรากฏชั่วขณะที่จิตกำลังรู้สภาพธรรมนั้น เท่านั้น ซึ่งเร็วแสนเร็ว เพราะเหตุว่าไม่ประจักษ์การเกิดดับ สืบต่ออย่างเร็วมาก เราก็อยู่ในโลกของความคิด อยู่ในโลกของความทรงจำ อยู่ในโลกซึ่งไม่รู้สภาพของจิต และเจตสิก ที่กำลังเกิดดับจริงๆ
เพราะฉะนั้น คงจะไม่มีอะไรมากมาย นอกจากว่าฟังต่อไปเรื่อยๆ ขาดการฟังไม่ได้ ถ้ามีข้อสงสัยใดๆ สนทนาในเรื่องที่สงสัย
ผู้ฟัง ในการเรียนรู้ และศึกษาสภาพของนามธรรม อันนี้เล่าถึงตัวเองว่า มีครั้งหนึ่งก็กำลังพิจารณาธรรมอยู่ คิดฟุ้งซ่านเรื่องอื่นไปด้วย สลับกันไปสภาพของโลภะก็ปรากฏชั่วขณะหนึ่ง หลังจากนั้นก็คิดนึกตามมาว่า สภาพของโลภะที่ปรากฏนั้น ลักษณะติดข้องเหนียวแน่นมาก ไม่คลายเลย ซึ่งเป็นลักษณะที่ปรากฏเพียงชั่วขณะนั้น หลังจากนั้นก็คิดนึกต่อไปว่า ลักษณะของโลภะนี้ ถึงเราจะรู้ก็ตาม หรือไม่รู้ก็ตาม จะติดข้องอยู่อย่างนั้น ถึงแม้เราไม่รู้ มันก็เป็นลักษณะที่ติดข้องอยู่ ขอเรียนถามท่านอาจารย์ว่าการเรียนรู้ศึกษา จะต้องศึกษาเฉพาะในขณะที่สภาพธรรมกำลังปรากฏ หรือหลังจากที่สภาพธรรมปรากฏแล้ว เรามาคิดนึกตามมาว่า ขณะนั้นมันยึดหน่วง ติดข้อง ไม่ละคลาย อะไรอย่างนี้ จะต้องศึกษาเฉพาะหน้าในขณะนั้นที่สภาพธรรมปรากฏเท่านั้นเองหรือเปล่า
ท่านอาจารย์ นี่ก็เป็นความจริง เพราะขณะนี้ทุกคนเห็น แน่นอนรับรองได้ แล้วก็คิดยาว ขณะนี้ทุกคนกระทบสัมผัสสิ่งที่แข็ง นิดเดียว แต่ไม่คิดเรื่องนั้นเลย คิดเรื่องอื่นต่อไป เพราะฉะนั้น โลกของความคิดจะติดตามหลังจากที่ธรรมปรากฏทางหนึ่งทางใด ไม่ว่าจะเป็นทางตา หรือทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ แม้แต่ขณะที่คุณสุนานกล่าว มีสภาพธรรมปรากฏแล้วคิดยาวไปตลอด ชีวิตประจำวันจริงๆ แต่ว่าเปลี่ยนความคิด แต่ก่อนพอเห็นก็คิดเรื่องอื่น ซึ่งไม่ใช่เรื่องราวของธรรม คิดเรื่องของคนที่เห็น แต่ว่าเวลาที่จะเปลี่ยนความคิดเป็นเวลาที่สภาพธรรมปรากฏ แล้วคิดเรื่องราวของสภาพธรรมนั้น ก็ยังคงเป็นความคิด เพราะเหตุว่าบางท่านใคร่ที่จะปฏิบัติ แล้วก็อยากจะรู้ลักษณะของสภาพธรรม แม้แต่คำถามที่ว่า จะรู้ตรงลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏเท่านั้นหรือ เฉพาะตรงนั้นหรือ ซึ่งเป็นการศึกษาที่จะรู้ลักษณะของสภาพธรรม ตามความเป็นจริงเป็นอย่างนั้น คือ จิตเกิดแล้วดับ เจตสิกที่เกิดกับจิต ดับพร้อมจิต รูปก็กำลังเกิดแล้วดับ แต่ว่าการที่ประจักษ์ลักษณะของสภาพธรรมที่เกิดดับอย่างเร็วมาก ไม่ใช่ไปประจักษ์ด้วยการคิดนึกเรื่องราว แต่ต้องเป็นขณะที่ระลึก แล้วปัญญาสามารถที่จะเข้าใจ ในลักษณะที่ไม่ใช่ตัวตนของสภาพธรรมนั้น
จุดมุ่งหมายของการศึกษาธรรม และการปฏิบัติธรรม ไม่ใช่เพื่อที่จะไปเจาะจง ให้รู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏทางหนึ่งทางใดใน ๖ ทาง แม้ว่าความจริงต้องเป็นอย่างนั้น แต่จุดประสงค์ไม่ใช่จงใจที่จะไปรู้ด้วยความต้องการ แต่จะต้องเข้าใจว่า แม้สภาพธรรมกำลังปรากฏเดี๋ยวนี้ ก็ยังไม่สามารถจะรู้ความจริงของสภาพธรรมนั้นได้ เพราะอะไร เพราะอวิชชามากมายเหลือเกิน เพียงฟังนิดๆ หน่อยๆ แล้วก็รู้ว่า ขณะที่กำลังเห็นก็เป็นสภาพธรรมอย่างหนึ่ง แล้วก็จะต้องรู้ความจริง แต่ไม่ใช่ว่าเมื่อรู้อย่างนี้ จะต้องไปรู้ความจริงเดี๋ยวนี้ ตรงนี้ ซึ่งเป็นสิ่งซึ่งรู้ไม่ได้ เพราะเหตุว่า อวิชชามีมาก เพราะฉะนั้น ทางใดที่จะทำให้อวิชชาค่อยๆ ลดน้อยลง ควาามติดข้องต้องการก็ต้องลดน้อยลงด้วย เพราะผู้ที่ศึกษาธรรม เข้าใจความหมายของคำว่า อนัตตา คือไม่อยู่ในอำนาจบังคับบัญชา ไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล แม้แต่ปัญญาก็ไม่ใช่ของเรา หรือว่าไม่ใช่อยู่ในอำนาจบังคับบัญชา ที่เราเพียรจะทำอย่างนี้ เพื่อที่จะให้ปัญญาเกิด แต่ต้องเป็นการอบรม ซึ่งเป็นการขัดเกลา อวิชชา ความไม่รู้ในลักษณะของสภาพธรรม
แทนที่จะไปพยายามให้สติระลึกที่ลักษณะของสภาพหนึ่ง แล้วก็พยายามจงใจที่จะให้รู้การเกิดดับของสภาพธรรมนั้น นั่นไม่ใช่สิ่งที่จะเป็นไปได้ แต่การที่ฟังธรรม พิจารณาแล้วค่อยๆ เข้าใจธาตุแท้ๆ ของสภาพธรรมแต่ละอย่างเพิ่มขึ้น ชินขึ้น ความเข้าใจอันนั้นจะทำให้เวลาที่มีการระลึกลักษณะของสภาพธรรม ปัญญาสามารถที่จะรู้ความจริง จนกว่าจะถึงสามารถที่จะละ ความที่เคยยึดถือสภาพธรรมนั้นว่าเป็นตัวตนได้ ต้องค่อยๆ อบรมไป
ผู้ฟัง แต่ขณะที่พิจารณาตามมาหลังจากที่สภาพธรรมปรากฏ เป็นความจำ จำได้ว่าลักษณะของสภาพธรรมนั้นเป็นอย่างไร แต่ว่าเรามาใส่ชื่อลงไป
ท่านอาจารย์ เป็นอย่างนี้ เปลี่ยนเรื่องราวเป็นคิดเรื่องของสภาพธรรม
ผู้ฟัง ซึ่งไม่ทราบว่า ตรงนั้นเราจะได้ประโยชน์ไหมว่า เราจะทบทวนลักษณะสภาพธรรมที่ปรากฏในตอนนั้นว่า เป็นอย่างนี้ อย่างนี้
ท่านอาจารย์ ประโยชน์ คือ รู้ เข้าใจ แล้วละ
สมพร เราเข้าใจถูกต้องก็ได้ประโยชน์ เพราะว่าภายนอก สิ่งที่เราเห็นว่าเป็นปรมัตถธรรม เป็นของที่มีอยู่จริง ภายในที่ว่าเห็น การเห็นก็เป็นปรมัตถ์มีอยู่จริง รู้จักปรมัตถ์แต่ทั่วไปเราไม่รู้จักปรมัตถ์ เห็นทีไรก็เห็นคน เห็นสัตว์ ผู้เห็นก็เป็นคน เป็นสัตว์ ต้องศึกษาก่อน ถ้าไม่ศึกษาแล้ว จะไม่เห็นตามความเป็นจริงว่า สิ่งที่เห็นเป็นปรมัตถหรือเป็นบัญญัติ และผู้เห็นอีกอย่างหนึ่ง เป็นคนหรือเป็นจิต อะไรเหล่านี้
ผู้ฟัง ฟังที่ท่านอาจารย์กับคุณสุนานได้สนทนากัน ก็พอจะทราบ จับความได้ว่า จิตเกิดขึ้นทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ เป็นแต่เพียงสภาพธรรมที่เกิดขึ้นสลับกันทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ เกิดดับสลับกันอยู่เรื่อย รู้ว่าสภาพธรรมจากการศึกษาพอเข้าใจว่า มีจิตเจตสิกเกิดขึ้น แต่ทำไมเราถึงรู้สึกว่าเป็นเรา กำลังเห็น เรากำลังได้ยิน เรากำลังได้กลิ่น อะไรอย่างนี้ เพราะอะไร
ท่านอาจารย์ ปัญญาไม่พอ ที่จะรู้ความจริง ทั้งๆ ที่บอกว่า ขณะนี้ทางตา สิ่งที่ปรากฏเป็นสภาพธรรมอย่างหนึ่ง ซึ่งเกิดแล้วก็ดับ แล้วจิตที่กำลังเห็นสิ่งที่ปรากฏก็เกิดขึ้นแล้วก็ดับ ทั้งๆ ที่ในตำราก็บอกอย่างนี้ อ่านดู ฟังดู ไม่ว่าจะโดยท่านผู้ใดก็ตามก็กล่าวอย่างนี้ แต่ทำไมไม่เห็นอย่างนี้ เพราะว่าอวิชชามีมาก ไม่สามารถจะเห็นความจริงอย่างนี้ได้ เพียงแต่ฟังแล้วค่อยๆ เข้าใจขึ้น
ผู้ฟัง ฟังแล้วก็เข้าใจว่า ในขณะที่เห็นต้องมีสภาพธรรมอยู่ ๒ อย่าง คืออย่างหนึ่ง คือสภาพที่ไม่รู้อะไรเลย สิ่งที่ปรากฏทางตา และมีสภาพที่กำลังรู้สิ่งที่ปรากฏทางตา จากการศึกษาเรารู้ แต่เมื่อไรหรืออย่างไร จริงๆ แล้วสภาพธรรมนั้นถึงจะปรากฏแก่เรา หรือจะเกิดขึ้นกับเรา
ท่านอาจารย์ เมื่อความรู้เพิ่มขึ้น ความเข้าใจเพิ่มขึ้น เพราะฉะนั้น จุดมุ่งไม่ได้ไปอยู่ที่เมื่อไรเราจะรู้ แต่เมื่อฟังธรรมแล้วเข้าใจธรรมเพิ่มขึ้น ถูกต้องยิ่งขึ้นหรือเปล่า
ผู้ฟัง ทีนี้พอฟังแล้ว พอมีเวลาผมเองก็มักจะคิดเหมือนคุณสุนานว่า สิ่งที่ปรากฏทางตา จะต้องมี สิ่งๆ หนึ่งที่ไม่รู้อะไรเลย แล้วก็มีสภาพรู้อย่างหนึ่งซึ่งไปรู้ว่าสิ่งนั้นเกิดขึ้น เมื่อสิ่งนี้ดับไปแล้วถึงจะนึกคิดว่า นี่เป็นโต๊ะ เป็นเก้าอี้ หรือเป็นไมโครโฟน เป็นนายประทีป หรือเป็นคน เป็นพี่เป็นน้อง อะไรอย่างนี้ ทั้งๆ ที่รู้อย่างนี้ แล้วเราก็พิจารณาอย่างนี้ จะเป็นประโยชน์ไหม
ท่านอาจารย์ ประโยชน์อยู่ที่อะไร
ผู้ฟัง ประโยชน์อยู่ที่ คิดพิจารณา
ท่านอาจารย์ รู้ แล้วละ ถ้ารู้ แล้วกังวล ประโยชน์ไหม รู้แล้วก็กลับกังวล
ผู้ฟัง ก็อันนี้ไม่เป็นประโยชน์
ท่านอาจารย์ แต่รู้แล้วก็ละ คือ ความจริงเป็นอย่างนี้ ก็เป็นอย่างนี้ ก็ศึกษาต่อไปพิจารณาต่อไป เข้าใจต่อไป
ผู้ฟัง ถึงแม้ว่าเราจะรู้ความจริงว่า สิ่งๆ นี้เป็นโมโครโฟน ทั้งๆ ที่ความจริงสภาพธรรม ที่กำลังเห็นมีสิ่งที่ปรากฏทางตา แล้วมีสิ่งที่เรารู้ สภาพรู้อันหนึ่ง รู้ว่าสิ่งๆ นี้ ที่กำลังปรากฏเกิดขึ้น ในขณะนั้นจิตเห็นก็มีได้ยิน แต่ในขณะที่รู้อย่างนี้ ก็ยังเห็นว่าเป็นไมโครโฟน แต่ก็ยังดีกว่าเราไม่รู้อะไรเลย ใช่ไหม
ท่านอาจารย์ ดีกว่า คือเราดีกว่า หรือเปล่า
ผู้ฟัง ไม่ใช่เราดีกว่า
ท่านอาจารย์ ถ้ารู้แล้วละ นั่นถูก
ผู้ฟัง ผมคิดว่า อย่างน้อยที่สุดเราเริ่มรู้ความจริงว่า ตลอดชีวิตของเราที่ว่า ได้เห็น ได้ยิน ได้กลิ่น ได้ลิ้มรส เป็นชื่อโน้น ชื่อนี้ เป็นเมตตา เป็นกุศล เป็นขึ้นรถเมล์ลุกให้คนนั่งอะไรเหล่านี้ ก็เป็นเพียงสภาพธรรมที่เขาทำกิจการงานหน้าที่ของเขา ถ้าคิดอย่างนี้ก็เป็นประโยชน์ไหม
ท่านอาจารย์ ถ้ารู้แล้วละ ถ้าเป็นสภาพธรรม ก็เป็นสภาพธรรมเท่านั้น ไม่ต้องกังวลอะไรอีก เรื่องประโยชน์ไม่ประโยชน์
ผู้ฟัง เราจะรู้สภาพจริงๆ อย่างนี้ได้อย่างไร ก็ฟัง บางคนฟังมาตั้ง ๑๐ ปีก็ยังเข้าใจอย่างนี้ เข้าใจอย่างนี้ อย่างนี้
ท่านอาจารย์ ก็รู้แล้วไม่ละ
ผู้ฟัง รู้แล้วละ หมายความว่า การที่รู้จะเป็นในลักษณะใดก็ได้ ไม่ว่าจะเป็นการอ่าน การฟัง การศึกษา การพิจารณา ถ้ารู้ในขณะนั้นแล้วก็สามารถจะนำไปซึ่งการละได้ก็เป็นประโยชน์
ท่านอาจารย์ รู้แค่ไหน ก็ละแค่นั้น รู้แล้วกังวล ไม่มีประโยชน์เลย แต่รู้แล้วละ คือ ความจริงเป็นอย่างนั้นก็เป็นอย่างนั้น แล้วก็รู้ต่อไปอีก ศึกษาต่อไปอีก เข้าใจต่อไปอีก โดยที่ไม่กังวล
ผู้ฟัง ได้ในทุกกรณี ไม่ว่าจะเป็นการอ่าน การฟัง การพิจารณา ศึกษาเรียนรู้ในทางใดๆ ก็ได้ ที่จะทำให้ปัญญาเพิ่มขึ้น
ท่านอาจารย์ ขณะใดที่ฟังแม้แต่ในขณะนี้ เกิดความเข้าใจขึ้นแล้วก็ละ ความจริงเป็นอย่างนี้ คือเป็นอย่างนี้ ความรู้ยังไม่พอก็คือยังไม่พอ ก็ฟังต่อไป พิจารณาต่อไป เข้าใจต่อไป
ผู้ฟัง คำว่า รู้แล้วละ นี่คือหัวใจพุทธศาสนาหรือเปล่า
ท่านอาจารย์ ถูกต้อง เพราะว่ากิจของปัญญา ไม่ใช่กิจติดข้อง
ผู้ฟัง แล้วอย่างเคยถูกอบรมมาว่า ให้ละชั่ว ทำความดี แล้วขัดเกลากิเลสให้เบาบางลง นั่นคือหัวใจพุทธศาสนา
ท่านอาจารย์ พระธรรมทั้งหมด เป็นคำสอนของพระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ซึ่งจะต้องพิจารณาด้วยดี ถ้าไม่มีความเข้าใจเรื่องปรมัตถธรรม ไม่มีความเข้าใจเรื่องอนัตตา เหมือนกับสั่ง หรือบอกให้ทำอย่างนั้น ให้ละชั่ว ประพฤติดี ทำความดีให้ถึงพร้อม ชำระจิตให้บริสุทธิ์ เหมือนสั่ง แต่ความจริงทรงแสดงสภาพธรรมตามความเป็นจริงให้ผู้ฟังพิจารณา เพราะเหตุว่าจะบอกใครก็ตามให้ละชั่ว เขาละได้ไหม บอกไปเถอะ เขาก็ละไม่ได้ เพราะฉะนั้น ทรงแสดงเหตุผล สิ่งที่ไม่ดีก็เป็นสิ่งที่ควรละ แต่ไม่ใช่ว่าสั่งหรือบอก หรืออยู่ในอำนาจบังคับบัญชาว่า ต้องละ หรือทำให้ได้ แต่ว่าต้องมีความรู้เพิ่มขึ้นอบรมเพิ่มขึ้น เพราะเหตุว่าการละนั้นเป็นเรื่องของความรู้ คือ ปัญญา ถ้าไม่มีความรู้ ละไม่ได้
ผู้ฟัง ธรรม หรือพระพุทธศาสนา จะมี คำบาลี สันสกฤตมากมาย อยากจะให้อาจารย์สรุปสั้นๆ คนที่อยู่ในวัยรุ่น วัยหนุ่มสาว คนที่อยู่ในวัยทำงาน ให้เข้าใจถึงตรงนี้ ตรงธรรมที่สามารถจะเอาไปใช้ในชีวิตประจำวัน ให้เข้าใจได้ง่ายๆ อย่างบางทีคำว่า โทสะ โมหะ โลภะ อนัตตา อะไรพวกนี้ คือบางทีวัยรุ่นต่างๆ จะไม่เข้าใจคำพวกนี้ หรือเขาฟังแล้วจะเบื่อ ไม่อยากจะฟังธรรม
ท่านอาจารย์ ความจริงคนไทยเราหนีไม่พ้นภาษาบาลี แน่นอน
ผู้ฟัง ภาษาทั่วๆ ไป เราจะได้ยินอยู่บ่อยๆ
ท่านอาจารย์ ยังไปเพิ่มภาษาบาลีซึ่งเขาไม่เข้าใจขึ้นมาอีก เช่น รูปธรรม หรือ โลกาภิวัฒน์ นั่นก็ภาษาบาลี ทำไมไม่ปฏิเสธคำเหล่านี้ แต่พอถึงคำที่สามารถจะให้เข้าใจสิ่งที่มีจริงชัดเจน แล้วเราก็ใช้คำนั้นอยู่แล้ว เช่น คำว่าจิต เคยรู้จักใช่ไหม คำนี้ จิตคืออะไร
ผู้ฟัง คิดว่าเป็นสภาพ จิตใจของเรามากกว่า
ท่านอาจารย์ ภาษาไทยคือใจ เพราะว่าภาษาบาลีไม่มีคำว่าใจ แต่ภาษาบาลีมีคำว่า จิต เราจะหนีภาษาบาลีพ้นไหม เพียงแต่ว่าเรามีปฏิกิริยา คล้ายกับว่าเป็นคำที่เราไม่เคยรู้เรื่องมาก่อน แต่ว่าศาสนาของพระผู้มีพระภาคเป็นการตรัสรู้จากที่บำเพ็ญพระบารมีมา เพราะฉะนั้น วิชาอื่นเราเรียนได้ แล้วทำไมนี้เป็นวิชา ซึ่งพระองค์ได้ทรงตรัสรู้ แล้วก็ทรงแสดง ทำไมเราเรียนไม่ได้ ถ้าเป็นภาษาต่างประเทศเราเรียนได้ ตั้งแต่ต้นเลย จนกระทั่งจบ นี่ภาษาไทยก็มีคำภาษาบาลีแทรกอยู่ตลอด เพียงแต่ว่าขอให้เข้าใจคำนั้นให้ถูกต้อง คำว่า ธรรม เป็นภาษาอะไร เป็นภาษาบาลี นี่เริ่มที่จะเห็นแล้วว่า เราใช้ภาษาบาลีโดยตลอด แต่ไม่เข้าใจความหมาย หรืออรรถ หรือสภาพจริงๆ
เราก็เริ่มที่จะเข้าใจคำที่เราใช้ คำว่า ธรรม มีความหมายหลายอย่าง แต่ความหมายหนึ่งคือ สภาพธรรมที่มีจริง
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 241
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 242
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 243
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 244
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 245
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 246
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 247
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 248
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 249
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 250
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 251
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 252
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 253
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 254
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 255
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 256
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 257
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 258
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 259
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 260
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 261
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 262
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 263
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 264
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 265
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 266
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 267
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 268
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 269
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 270
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 271
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 272
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 273
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 274
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 275
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 276
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 277
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 278
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 279
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 280
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 281
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 282
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 283
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 284
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 285
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 286
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 287
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 288
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 289
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 290
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 291
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 292
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 293
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 294
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 295
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 296
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 297
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 298
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 299
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 300