ปกิณณกธรรม ตอนที่ 282


    ข้อความนี้อยู่ระหว่างตรวจสอบแก้ไข

    ตอนที่ ๒๘๒

    สนทนาธรรม ที่ โรงพยาบาลพระมงกุฏเกล้า

    พ.ศ. ๒๕๓๙


    ท่านอาจารย์ เราเริ่มที่จะเข้าใจคำที่เราใช้ คำว่า ธรรม มีความหมายหลายอย่าง แต่ความหมายหนึ่งคือ สภาพธรรมที่มีจริง แข็งเป็นธรรมหรือเปล่า

    ผู้ฟัง ใช่ เป็นธรรมชาติ

    ท่านอาจารย์ เสียงเป็นธรรมหรือเปล่า

    ผู้ฟัง ใช่

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้น มีธรรมอยู่ตลอด นี่คือการศึกษาธรรมให้เข้าใจว่า ธรรมคืออะไร ไม่เห็นยากนี่ ก็ใช้อยู่แล้ว เพิ่มคำอีกนิดๆ หน่อยๆ เหมือนกับคำใหม่ในภาษาอื่นที่เรารับรอง เช่น คอมพิวเตอร์อย่างนี้ เป็นภาษาใหม่ ทำไมเรายอมรับ แต่พอถึงเจตสิก เราจะไม่ยอมรับหรือ ถ้าเรารู้ว่าแท้ที่จริงคือสภาพธรรมที่เกิดกับจิต แต่ว่ามีลักษณะต่างกัน จิตไม่ใช่เจตสิก แต่เจตสิกต้องเกิดกับจิตทุกครั้ง หรือโลภะ เราเคยเข้าใจว่า เป็นความโลภมากเลย น่าเกลียด เพราะว่าใช้คำว่าคนโลภ หรือคนมีโลภะ แต่ถ้าเราเข้าใจว่า สภาพของโลภะเป็นลักษณะที่ติดข้อง จะทำให้เราเข้าใจลึกลงไปอีกว่า ทางตาที่กำลังเห็น หลังจากที่เห็นแล้วติดข้องหรือเปล่า เราก็ใช้คำว่าโลภะเท่านั้นเอง เพราะฉะนั้น หลังจากเห็นก็เกิดโลภะ หลังจากได้ยินก็เกิดโลภะ คือเป็นการติดข้องในสิ่งที่ปรากฏ คงจะไม่มีใครปฏิเสธว่า ไม่มีการติดข้องในสิ่งที่ปรากฏทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ เราก็เริ่มเข้าใจสิ่งที่เราได้ยินมาตั้งแต่เล็ก โลภะบ้าง โทสะบ้าง โมหะบ้าง ให้ชัดเจนขึ้นจากการศึกษา ให้เข้าใจจริงๆ ไม่ใช่เพียงแต่คิด แล้วเข้าใจเอาเอง แล้วก็บอกว่ายาก แล้วก็เป็นคำที่ไม่รู้เรื่อง คำนั้นมีอยู่ สามารถที่จะเข้าใจได้ แล้วก็ง่ายกว่าการที่จะไปศึกษาภาษาต่างประเทศเสียอีก

    ผู้ฟัง เรียนถามอาจารย์ว่า คำว่า รู้แล้วละ ให้ละสิ่งที่รู้ คือรู้ว่าสิ่งนี้เป็นเก้าอี้ เก้าอี้นี้แข็ง เก้าอี้ไว้นั่ง ละความติดข้องว่ามันเป็นเก้าอี้ ใช่หรือไม่

    ท่านอาจารย์ รู้แล้วละ หมายความว่า ก่อนรู้ไม่ละ เพราะว่ามีความไม่รู้อยู่ แต่เวลาที่รู้แล้วก็ละความไม่รู้

    ผู้ฟัง อย่างที่เคยฟังเทปว่า นางวิสาขา รู้สภาพความเป็นจริงของธรรม แต่ทำไม ยังมีความโลภะ ความโกรธ ความหลงอยู่

    ท่านอาจารย์ เพราะเหตุว่าวิสาขามิคารมารดารู้แจ้งอริยสัจธรรมเป็นพระโสดาบันบุคคล ไม่ใช่พระอรหันต์ แสดงว่าให้เห็นว่าโลภะมีหลายระดับขั้น ที่จะดับโลภะหมด ไม่เกิดอีกเลย ต้องถึงความเป็นพระอรหันต์ ที่ว่า รู้แล้วละนี้ ก่อนอื่น อาจจะมีคำถาม อย่างที่ถามเมื่อกี้นี้ว่า รู้อย่างวิสาขามิคารมารดา แล้วก็ยังมีโลภะอยู่ โทสะอยู่ พวกนี้ก็เหมือนกับว่ายังไม่ได้ละ แต่ความจริงแล้วขณะใดที่รู้เรื่องอะไร ก็ละความไม่รู้ในเรื่องนั้นไปทีละเล็กทีละน้อย เพราะฉะนั้น จึงมีปัญญาหลายระดับขั้น ไม่ใช่ปัญญาเพียงขั้นการฟังเท่านั้น เพราะฉะนั้น ก็เทียบได้ว่าเราฟังธรรมมานาน แล้วเราก็ยังมีโลภะ โทสะ โมหะอยู่ ก็แสดงให้เห็นว่าความรู้ของเราระดับไหน ระดับที่ฟังแล้วไม่เคยรู้มาก่อนในความหมายในลักษณะของธรรมว่า เป็นจิต เป็นเจตสิก เป็นรูป

    เมื่อเรามีความรู้อันนี้ เราก็ละความไม่เคยรู้มาก่อนเท่านั้น จนกว่าความรู้นั้นจะเพิ่มขึ้น สามารถที่จะดับกิเลสเป็นสมุจเฉท โดยการรู้แจ้งอริยสัจธรรม ถ้าตราบใดยังไม่มีการรู้แจ้งอริยสัจธรรม กิเลสยังไม่ได้ดับ แต่ว่าความไม่รู้เล็กๆ น้อยๆ ซึ่งเคยไม่รู้ ก็ค่อยๆ ละไป จากการรู้ขึ้นเล็กๆ น้อยๆ เท่านั้น

    เท่าที่ได้ฟังมา ขอให้ทุกคนได้พิจารณาว่า ปัญญามีหลายระดับ นี่เป็นสิ่งซึ่งเราจะละเลยไม่ได้เลย ไม่ใช่ว่าปัญญามีเพียงนิดเดียว แล้วก็ไม่ไปถึงไหน แต่ว่าจริงๆ แล้ว ปัญญาหมายความถึงการประจักษ์แจ้งลักษณะของธรรมตามความเป็นจริง ซึ่งเป็นระดับสูงสุด จะต้องมาจากการเข้าใจลักษณะของสภาพธรรม ซึ่งไม่เคยเข้าใจมาก่อน

    การศึกษาธรรม คือการที่ความรู้ความเข้าใจของเราจะค่อยๆ เพิ่มขึ้นเป็นขั้นๆ ตามลำดับ แต่ไม่ได้หมายความว่าหมดสิทธิที่จะรู้ลักษณะของสภาพธรรม เพียงการฟังสั้นๆ ครั้งเดียว แต่ว่าทุกคนต้องเป็นผู้ตรง ตรงที่จะรู้ว่า สิ่งที่มีจริงๆ ซึ่งเคยเป็นเราเห็น เราได้ยิน เราไปหมด ตั้งแต่เกิดจนตาย แต่ความจริงแล้วคือสภาพนามธรรม กับรูปธรรม ฟังอย่างนี้ ก็เหมือนเข้าใจ แล้วก็เหมือนว่าเรามีปัญญาแล้ว เพราะเหตุว่าเราสามารถที่จะฟังได้ว่า ขณะนี้ มีนามธรรมกับรูปธรรม แต่ความจริงขอให้คิดว่าขณะนั้น เป็นแต่เพียงการฟัง แล้วก็ได้ยินเสียง แล้วก็สามารถจะเข้าใจ ความหมายของคำที่ได้ยินเท่านั้น แต่ไม่ได้หมายความว่า เราเข้าใจจริงๆ ในลักษณะที่ต่างกันของนามธาตุกับรูปธาตุ เพียงแต่ว่ามีการได้ยินเสียง มีการเข้าใจความหมายเท่านั้นเอง

    ธรรมต้องไตร่ตรอง ต้องพิจารณา ต้องรู้ด้วยว่าปัญญาหลายระดับนี้เริ่มจากไหน แล้วแต่ละปัญญาแต่ละขั้น ผ่านพ้นไปแต่ละขั้นสู่ขั้นต่อๆ ไปด้วยการอบรมเจริญอย่างไร ไม่ใช่พอรู้ว่า มีนามธรรมกับรูปธรรม อะไรๆ ก็เป็นนามธรรมกับรูปธรรมไปหมดแล้ว อย่างนั้นไม่มีการเจริญของปัญญา ซึ่งจะต้องเป็นระดับขั้นจริงๆ แม้แต่ขั้นการฟังว่า นามธรรมกับรูปธรรม ฟังเข้าใจเรื่องธรรม ไม่ใช่ของใคร ไม่มีเจ้าของ ไม่ใช่ตัวตน แต่ถ้าฟังเรื่องนามธาตุกับรูปธาตุ คิดถึงความหมายเพิ่มขึ้นว่า ไม่ใช่เพียงแต่ธรรมที่มีจริง เพราะว่าถ้าพูดถึงธรรมที่มีจริง เข้าใจได้ มีจริงๆ เวลานี้ เห็นมีจริง ได้ยินมีจริง เสียงมีจริง เข้าใจได้ ทุกอย่างที่มีจริงเป็นธรรม เข้าใจได้ แต่ถ้าคิดถึงความเป็นธาตุ นานาธาตุ ทุกอย่างเป็นธาตุ เราจะต้องรู้เลยว่า ที่เราฟังว่า นามธรรม รูปธรรม แล้วเราเข้าใจ เราเข้าใจแค่ไหน หรือระดับไหน หรือว่าเข้าใจเพียงความหมายของคำ แต่จะต้องมีการศึกษา มีการอบรมอีกมากทีเดียว จนกว่าลักษณะของสภาพธรรมนั้นๆ จะปรากฏกับปัญญาที่ได้อบรมแล้ว ไม่ใช่เพียงปัญญาขั้นฟังเท่านั้น แต่จะต้องเป็นปัญญา ที่อบรมจนปรากฏลักษณะความต่างกันของนามธรรม และรูปธรรม

    ขณะจิตแรกคือปฏิสนธิจิต อารมณ์ใดๆ ในโลกนี้ไม่ปรากฏเลย ซึ่งปฏิสนธิจิต เกิดขึ้นเพียงขณะเดียวแล้วก็ดับ นี่แสดงให้เห็นว่า พระผู้มีพระภาคทรงสามารถที่จะประจักษ์แจ้งสภาพธรรมซึ่งเกิดดับเร็วมาก จิตขณะเดียว ซึ่งขณะนี้มากมายหลายขณะแล้ว ทางตา ทางหูก็นับไม่ถ้วน แต่พระองค์ทรงทราบความจริงของสภาพธรรมว่า จิตขณะแรกหนึ่งขณะซึ่งแสนสั้น ทำกิจปฏิสนธิ ไม่ใช่จิตขณะต่อไปซึ่งทำกิจสืบต่อจากจิตขณะก่อนดำรงภพชาติไว้ที่เป็นภวังคจิต ทั้งปฏิสนธิจิต และภวังคจิตไม่ใช่วิถีจิต เพราะว่าโลกนี้ยังไม่ได้ปรากฏ ไม่มีการรู้สึกตัวที่จะว่า เห็น ได้ยิน ได้กลิ่น ลิ้มรส รู้สิ่งที่กระทบสัมผัส หรือคิดนึก

    เวลาที่เป็นวิถีจิต หมายความว่าจิตนั้น เกิดดับ สืบต่อ รู้อารมณ์อื่น ซึ่งไม่ใช่อารมณ์ของปฏิสนธิจิต และภวังคจิต เพราะว่าจิตต้องเกิดขึ้น รู้สิ่งหนึ่งสิ่งใด และสิ่งที่จิตรู้ ภาษาบาลีใช้คำว่า อารัมมณะ หรือ อาลัมพนะ หรืออารมณ์ของจิต

    จะเห็นได้ว่า ขณะใดที่มีการเห็นการได้ยิน การได้กลิ่น การลิ้มรส การรู้สิ่งที่กระทบสัมผัส การนึกคิด เป็นเรื่องของจิตทั้งหมด ไม่มีตัวตนหรือไม่มีเรา ถ้าจิตไม่เกิดขึ้นเห็น การเห็นก็มีไม่ได้ การคิดว่าเป็นเราเห็นก็มีไม่ได้ ถ้าจิตไม่เกิดขึ้นได้ยินเสียง ก็จะไม่มีความคิดว่า เราได้ยิน เราคิดนึกต่างๆ

    เพราะฉะนั้น ต้องทราบจริงๆ ว่า การฟังพระธรรม ฟัง ได้ยินเสียง เข้าใจความหมาย แต่ว่าจะรู้ถึงอรรถ คือ ลักษณะของสภาพธรรมนั้นจริงๆ หรือเปล่า ซึ่งก็จะต้องอาศัยการฟังอีกมาก แล้วผู้นั้นเองก็จะรู้ว่า ปัญญามีหลายระดับขั้นจริงๆ ปัญญาขั้นฟัง จากการศึกษา ขั้นอ่าน ขั้นจำ จากหนังสือ เป็นแต่เพียงเรื่องราวของสภาพธรรม แต่ขณะใดก็ตามที่หลงลืมสติ สติไม่ได้เกิดระลึกลักษณะของสภาพธรรม ขณะนั้นไม่สามารถที่จะรู้อรรถ หรือความหมายที่แท้จริงที่ทรงแสดงโดยสภาพธรรม โดยประเภทที่เป็นธาตุ หรือว่าจะเป็นขันธ์ หรือว่าจะเป็นอายตนะ หรือว่าจะเป็นธรรมใดๆ ทั้งหมดที่ทรงแสดง เพราะผู้ที่เพิ่งจะศึกษาธรรม หรือว่าเพิ่งที่จะฟังธรรม เข้าใจเรื่องราวเป็นสิ่งซึ่งไม่เป็นของแปลก เพราะว่าทุกคนรู้ภาษา แล้วก็มีเสียงปรากฏ ก็สามารถที่จะเข้าใจความหมายได้ แต่ที่จะหยั่งรู้ถึงอรรถของสภาพธรรมจริงๆ แม้แต่คำว่านามธรรม นามธาตุซึ่งต่างกับรูปธาตุ เพียงเท่านี้ จะเห็นได้ว่า ปัญญาที่ประจักษ์แจ้ง คือ นามรูปปริจเฉทญาณ เพราะฉะนั้น ก็จะต้องมีการอบรมเจริญปัญญาเพิ่มขึ้น ไม่ใช่เพียงแต่ขั้นเข้าใจ หรือขั้นพอสติระลึก ก็มีเรื่องราวของสภาพธรรมซึ่งจำไว้ จากการเรียน นึกคิดเรื่องราวต่างๆ ขณะนั้นผู้นั้นก็สามารถที่จะรู้ได้ว่า ไม่ใช่ปัญญาระดับขั้นที่เป็นการอบรมการที่จะเข้าถึงอรรถ หรือลักษณะของสภาพธรรม

    เพราะฉะนั้น ต้องเป็นผู้ที่ใจเย็นๆ ดิฉันเคยพูดเรื่องนี้กับคนหนึ่ง แล้วเขาก็บอกว่า หมายความว่าอย่างไร ใจเย็นๆ ไม่ให้ทำอะไรเลยหรือ ก็บอกเขาว่า ใจเย็นๆ คือว่าไม่ต้องไปรีบด่วนทำอะไร เพราะว่าอยากจะประจักษ์แจ้งลักษณะของสภาพธรรม เพราะไม่ได้หมายความว่า คนนั้นมีความตั้งใจ มีความพากเพียร แล้วก็สามารถจะประจักษ์สภาพธรรมได้ แต่เป็นเรื่องการอบรมความรู้ ความเข้าใจที่ถูกต้องที่จะค่อยๆ เพิ่มขึ้น แล้วก็มีผู้ที่ฟังธรรม ก็หลายท่านที่มาบอกว่าเขาเชื่อเลย พอบอกว่าไม่ต้องทำอะไร หรือว่าใจเย็นๆ ปล่อยหมดเลย ไม่ต้องทำอะไรจริงๆ แต่ภายหลังก็มาคิดได้ ไม่เห็นมีปัญญาเพิ่มขึ้น เพราะฉะนั้น ต้องไม่ใช่แน่นอน การที่ฟังธรรม ต้องฟังด้วยความแยบคาย ด้วยการพิจารณาในเหตุผลให้ถูกต้องจริงๆ ใจเย็นๆ คือว่าไม่ต้องใจร้อนแล้วก็ไม่ใช่ไปรีบด่วนทำอะไรโดยไม่เข้าใจ แต่หมายความว่ารู้ในเหตุ และในผล ถ้าเหตุไม่มีผลมีไม่ได้ เพราะฉะนั้น จะใจเย็นๆ ไม่ฟังธรรม ไม่ทำอะไรเลย ปล่อยไปเรื่อยๆ ก็ไม่ใช่เหตุที่จะทำให้ปัญญาเกิด แต่ใจเย็นๆ ที่จะไม่ต้องรีบเร่งไปทำสิ่งที่ผิด แต่ว่าต้องพิจารณาด้วยความละเอียดรอบคอบจริงๆ

    สำหรับอริยสัจธรรม ทุกคนก็คงจะทราบ สัจจะที่ ๑ คือ ทุกขอริยสัจ ได้แก่ การเกิดขึ้น และดับไปของสภาพธรรมในขณะนี้ ซึ่งจะต้องรู้ด้วยการประจักษ์ มิฉะนั้นไม่ชื่อว่ารู้ทุกข์ ที่เป็นทุกขอริยสัจ อริยสัจที่ ๒ คือ สมุทยอริยสัจ ต้องเห็น และต้องเข้าใจให้ถูกต้อง ว่าอะไรเป็นสมุทัย คือ โลภะ ความติดข้อง ซึ่งความติดข้อง ถ้าปัญญาไม่เกิด ผู้นั้นไม่สามารถที่จะละได้เลย เพราะว่าเป็นนายช่างเรือนที่ฉลาดที่สร้างภพชาติใหม่ อยู่ตลอดเวลา ตราบใดที่ยังมีโลภะอยู่ ไม่หมดสังสารวัฏฏ์ แต่ว่าโลภะไม่ใช่สิ่งที่จะเห็นได้ง่ายๆ เพราะมีหลายรูปแบบ ถ้าโลภะในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส ในโผฏฐัพพะ ก็สามารถจะรู้ได้ แต่กว่าจะรู้ได้ก็ต้องศึกษา เพราะว่าบางคนก็บอกว่า เขาไม่มีโลภะ วันๆ ไม่ได้อยากได้อะไรเลย เฉยๆ แต่เขาไม่เข้าใจเลยว่า ลักษณะของสภาพธรรมที่เป็นปรมัตถธรรมมีตั้งแต่อย่างละเอียดยิบจนกระทั่งถึงอย่างซึ่งสามารถที่จะเห็นได้ชัดๆ

    ในขณะที่เห็น ใครสามารถที่จะรู้ว่า ขณะนั้นหลังจากเห็นแล้วติดข้องในสิ่งที่เห็นเป็นประจำตลอดชีวิต แล้วชีวิตหนึ่ง จิตเกิดดับเท่าไร กี่ชาติมาแล้วในแสนโกฏิกัปป์ ความรู้ที่จะรู้ จริงๆ ในลักษณะของสภาพธรรม คือค่อยๆ ฟังให้เข้าใจ แล้วเป็นผู้ที่ตรงต่อเหตุผล และไม่ว่าจะมีการกระทำใดๆ ทั้งสิ้น ไม่ใช่เรา แต่เป็นปัญญาที่กระทำ อันนั้นจะเป็นความถูกต้อง แต่ถ้าเป็นเราตราบใด ขณะนั้นก็จะมีความเป็นตัวตน ไม่สามารถที่จะเห็นสภาพธรรม ตามความเป็นจริงได้ เพราะว่าอกุศลธรรมทั้งหมด ไม่สามารถจะเห็นสภาพธรรมตามความเป็นจริง แต่ปัญญาเป็น ปัญญินทรีย์ เป็นใหญ่ สามารถที่จะรู้ สามารถที่จะเข้าใจ เมื่อได้อบรมแล้ว สามารถที่จะประจักษ์ การเกิดดับของสภาพธรรมในขณะนี้ได้

    เพราะฉะนั้น จะรีบร้อนไหม เป็นไปไม่ได้เลยที่ใครจะไปนั่งทำอะไรแล้วก็ประจักษ์การเกิดดับของสภาพธรรม โดยที่ไม่มีความรู้ในธาตุซึ่งต่างกัน ซึ่งเป็นนามธาตุ และรูปธาตุเสียก่อน ขณะใดก็ตาม ซึ่งเหมือนกับมีลักษณะของสติสัมปชัญญะเกิด และมีการรู้ลักษณะของสภาพธรรม ใช้คำว่า เหมือน เพราะอะไร เพราะว่าแข็งขณะนี้ มีใครไม่รู้บ้าง แสดงว่าทุกคนรู้ว่าแข็งมี แล้วก็มีความคิดเรื่องแข็งได้ไหม ว่าขณะนั้นเป็นสภาพธรรม ทั้งๆ ที่แข็งกำลังปรากฏ อย่างนั้นยังไม่ใช่สติปัฏฐาน เพราะถ้าขณะที่เป็นสติปัฏฐาน ต้องหมายความว่าขณะนั้นกำลังศึกษา ใช้คำว่า ศึกษา ซึ่งคนไทยอาจจะคิดว่า ต้องหยิบปากกามาเขียนสิ่งที่ได้ฟัง จำไว้ อ่าน ท่อง แต่ความจริงศึกษาคือค่อยๆ เข้าใจลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ เพราะว่าฟังมามาก ไม่ทราบกี่ชาติ บางคนก็อาจจะเพิ่งเริ่ม แต่บางคนก็อาจจะฟังมามากแล้ว แต่ถึงจะอย่างไรก็ตาม เครื่องพิสูจน์ คือ ขณะที่สภาพธรรมปรากฏ ลักษณะของนามธาตุซึ่งไม่ใช่เราเลย ปรากฏหรือเปล่า หรือว่ายังเป็นเราซึ่งมีสติ แล้วบางคนก็จะใช้คำว่า ใช้สติ หรือว่าทำสติ หรือเอาสติ ไว้ตรงนั้น ตรงนี้ ซึ่งทั้งหมดนี้แสดงว่าไม่เข้าใจสภาพธรรมตามความเป็นจริง ถ้าเข้าใจสภาพธรรมตามความเป็นจริง ต้องไม่ละเลย ความหมายของคำว่า อนัตตา ความหมายของอนัตตานั้นก็ไม่ได้หมายความว่า ไม่ใช่ตัวตนบังคับบัญชาไม่ได้เท่านั้น แต่ว่ามีลักษณะซึ่งเป็นอนัตตา นามธรรมก็เป็นอนัตตา รูปธรรมก็เป็นอนัตตา

    ก่อนอื่นที่จะเข้าใจลักษณะความเป็นอนัตตาจริงๆ จะต้องรู้ลักษณะที่เป็นนามธรรม และลักษณะที่เป็นรูปธรรมซึ่งต่างกัน ซึ่งไม่ใช่โดยขั้นการฟังเท่านั้น แล้วก็เอาไปคิด แล้วก็เอาไปจำ แล้วก็เอาไปคิดว่า ขณะนี้สติระลึกที่ลักษณะของสภาพธรรมนั้น แล้วก็รู้ว่าเป็นนามธรรม และรูปธรรม แต่ที่ไม่ลืมก็คือว่า ตราบใดที่ลักษณะของนามธาตุไม่ปรากฏ รูปธาตุยังไม่ปรากฏความต่างกันตามความเป็นจริง ขณะนั้นต้องอบรมปัญญาต่อไปอีก อย่าเพิ่งไปคิดว่ารู้แล้ว เพราะถ้ารู้แล้วก็ตัน แล้วจะรู้อะไรอีก ก็ไม่มีการที่จะรู้อะไรอีก แต่ถ้ารู้ว่าขณะนั้นยังไม่ใช่รู้แล้ว ยังจะต้องมีการประจักษ์แจ้งในลักษณะของนามธาตุ และรูปธาตุ ก็จะทำให้คนนั้นค่อยๆ เข้าใจ ลักษณะซึ่งเป็นนามธรรม ของนามธรรมที่กำลังปรากฏ แล้วก็รู้ความต่างกันของนามธรรม และรูปธรรมด้วย

    ผู้ฟัง ได้รับคำถามจากคุณชมเชย จากเชียงใหม่ ผมก็เลยรับอาสาจะถามแทนให้ ซึ่งคำถามก็ไม่ได้มีอะไรมากมาย คือคุณชมเชยถามว่า ปุถุชนเราในชาตินี้คงเข้าไม่ถึงพระนิพพาน จำเป็นไหมที่จะต้องเรียนเรื่องพระนิพพาน

    ท่านอาจารย์ เรื่องจะเข้าถึงหรือไม่เข้าถึงอยู่ที่ปัญญา เพราะฉะนั้น แทนที่เราจะคิดถึงสิ่งซึ่งเป็นแต่เพียงผลไกล คือการเข้าถึงนิพพาน เราควรจะคิดถึงขณะนี้ที่จะได้ทราบความจริงว่า ปัญญาของเราเกิดหรือเปล่า แล้วก็รู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ เพียงขั้นคิดนึก หรือว่าสามารถที่จะเข้าใจสภาพแท้ๆ ของสิ่งที่กำลังปรากฏ

    ถ้าเราจะคิดถึงนิพพาน ก็เป็นเรื่องไกล แต่อย่างไรก็ตาม การศึกษาทั้งหมด ทำให้ความเห็นถูกต้อง เพราะถ้าไม่มีการศึกษาเลย เราก็อาจจะเข้าใจว่า เพียงนิดหน่อยก็สามารถที่จะถึงนิพพานได้ เพราะฉะนั้น ยิ่งฟังยิ่งศึกษายิ่งเข้าใจตัวเองจริงๆ ก็จะทำให้เรารู้ได้ว่า จะถึงหรือไม่ถึง แต่ว่าถ้าใครคิดอยากถึงเมื่อไร ก็ผิดเมื่อนั้น เพราะว่าไม่สามารถที่จะถึงด้วยความอยาก แต่สามารถที่จะรู้จักตัวเองว่า สติกับหลงลืมสติต่างกัน แล้วก็ขณะที่สติเกิดแม้ในขณะนี้ สามารถที่จะเข้าใจลักษณะของสภาพที่กำลังปรากฏ มากน้อยแค่ไหน

    ผู้ฟัง ทำไมจะต้องเรียนเรื่องพระนิพพาน จำเป็นต้องเรียนไหม

    ท่านอาจารย์ ทุกอย่างที่มีจริง เราก็ควรที่จะมีความเข้าใจให้ถูกต้อง เพราะว่าโดยมากพอได้ยินคำว่านิพพาน คนที่ไม่ได้เรียนเลย ก็คิดว่าเป็นเมืองสวรรค์ แล้วก็เป็นสิ่งที่สวยงามเหลือเกิน เป็นแสงสว่าง เป็นอะไรก็แล้วแต่ นั่นหมายความถึงคนที่ไม่ได้เรียน คนที่ไม่ได้เรียนก็ไม่สามารถที่จะเข้าใจได้ถูกต้องว่า นิพพานคืออะไร แต่คนที่เรียน แม้ไม่ถึง ก็ยังรู้ว่านิพพานไม่ใช่อย่างนั้น

    สมพร เรื่องนิพพานเราต้องศึกษาบ้าง ถ้าไม่ศึกษาเดี๋ยวจะเข้าใจว่า พระนิพพานเป็นเมืองแก้วชนิดหนึ่ง ซึ่งเป็นการเห็นผิดอย่างร้ายแรง แต่ว่าเราก็ศึกษาเท่าที่เหมาะสม สิ่งที่ต้องศึกษามากที่สุดคือ จิต เจตสิก รูป ทั้งหมดมี ๔ อย่าง แต่ว่านิพพานเราต้องศึกษาบ้างเหมือนกัน มิฉะนั้นเราจะสำคัญผิดไป อย่างที่เขาบอกว่าเป็นเมืองแก้ว เป็นที่อยู่ ติดต่อพระนิพพานได้ ไปเฝ้าพระพุทธเจ้าได้ ขอให้เราเข้าใจว่า ปรมัตถธรรมจริงๆ ต้องตรงตามหลักพระพุทธพจน์ ไม่ใช่ว่านึกจะมาก็มา นึกจะไปก็ไปหาพระนิพพาน หรือไปเฝ้าพระพุทธเจ้า ไม่ใช่อย่างนั้น นั่นเป็นความสำคัญผิด เข้าใจผิด ธรรม ๔ อย่างเท่านั้น ต้องศึกษา แต่ว่าศึกษาอย่างไหนบ้าง ก็ขึ้นแก่ความสามารถของเรา

    ผู้ฟัง ดิฉันเลยอยากจะกราบเรียนถามท่านอาจารย์ว่า แต่ละคำพูดของแต่ละคน ซึ่งสอนกัน แล้วทำให้พ้นทุกข์ทางใจได้บ้าง จะเป็นลูกศิษย์เป็นอาจารย์กันมาแต่ชาติก่อน ได้อบรมกันมา เมื่อมาเจอกันก็เลยพ้นได้ คือ พอมาสอนกันอีกที ได้ยินเสียงหรือว่าได้ยินคำนั้นก็พ้นทุกข์ได้ มันมีสาเหตุอะไร ดิฉันก็ไม่ค่อยเข้าใจ

    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 97
    23 มี.ค. 2567