ปกิณณกธรรม ตอนที่ 283
ตอนที่ ๒๘๓
สนทนาธรรม ที่ โรงพยาบาลพระมงกุฏเกล้า
พ.ศ. ๒๕๓๙
ผู้ฟัง เรียนถามท่านอาจารย์ว่า แต่ละคำพูดของแต่ละคนซึ่งสอนกัน แล้วทำให้พ้นทุกข์ทางใจได้บ้าง จะเป็นลูกศิษย์เป็นอาจารย์กันมาแต่ชาติก่อนได้อบรมกันมา เมื่อมาเจอกันก็เลยพ้นได้ พอมาสอนกันอีกที ได้ยินเสียงหรือว่าได้ยินคำนั้นก็พ้นทุกข์ได้ มันมีสาเหตุอะไร ดิฉันก็ไม่ค่อยเข้าใจ
ท่านอาจารย์ ชาติก่อนดิฉันเป็นใครก็ไม่ทราบ แล้วทุกท่านที่นั่งอยู่ที่นี้ ชาติก่อนเป็นใครก็ไม่มีใครทราบอีกเหมือนกัน เพราะฉะนั้น ความคิดที่ว่า เคยพบกันมาก่อน หรือเคยฟังกันมาก่อน ก็เป็นสิ่งที่เพียงคิด แต่ความจริงไม่มีใครสามารถที่จะรู้ได้ แล้วบางคนก็บอกว่า ชาติหน้าก็ขอไปฟังธรรมอีก จริงๆ แล้วฟังธรรมจากใครก็ได้ ไม่จำเป็นต้องเป็นคนนี้หรือคนนั้น ขอให้เป็นธรรมที่ถูกต้อง แล้วก็สามารถจะเข้าใจได้
ถ้าคิดถึงเมื่อ ๒,๕๐๐ กว่าปี แล้วบางท่านก็คงจะได้เฝ้าพระผู้มีพระภาคได้ฟังธรรม หรือว่าบางท่านก็อาจจะอยู่ไกลจากที่ที่พระผู้มีพระภาคทรงประทับ ก็มีโอกาสได้ฟังธรรมจากสาวกของพระองค์ ก็เป็นได้ หรือบางท่านก็เป็นสาวกของเดียรถีย์ คือผู้ที่มีความเห็นอื่น ความเข้าใจอื่น
เมื่อไม่รู้ว่าใครคือใคร แล้วต่อไปจะเป็นอะไรต่อไปก็ไม่ทราบ แต่ว่าผู้ที่ได้เคยฟังพระธรรมมาแล้ว ไม่ว่าจากใคร ก็มีการสะสมที่จะมี ศรัทธา และก็มีปัญญาที่สามารถที่จะพิจารณาธรรมที่ได้ฟังได้ถูกต้องว่า สิ่งใดเป็นความจริง แล้วก็สิ่งใดที่เป็นธรรมที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดง แล้วสิ่งใดไม่ใช่ธรรม
เพราะฉะนั้น ต่างคนก็ต่างมา แล้วต่างคนก็ต่างไป แล้วพอหมดสิ้นภพชาตินี้ ก็หมดความเป็นบุคคลนี้โดยสิ้นเชิง ลืมหมด ใครที่เคยคิดว่า อาจจะมีคนอุทิศส่วนกุศลให้เราก็ได้ ถ้าตายไปแล้ว เขาก็ทำบุญแล้วก็นั่งอุทิศส่วนกุศลให้เรา เราก็ไม่รู้ ไม่มีทางจะรู้ได้ ลืมหมด แต่ละชาติก็เป็นเรื่องสภาพของ จิต เจตสิก รูป ซึ่งเกิดดับ สืบต่อ แล้วก็มีสมมติมรณะ คือความตายโดยสมมติ ซึ่งไม่ใช่การตายโดยสิ้นเชิง เพราะเหตุว่าเมื่อจุติจิตขณะสุดท้ายของชาติหนึ่งดับ ปฏิสนธิจิตของชาติต่อไปก็เกิด แล้วก็จะจำไม่ได้ ถ้าไม่เจอกัน หรือเจอกันก็ไม่รู้ว่าใครเป็นใคร เพราะว่าหมดสิ้นสภาพความเป็นบุคคลนี้โดยสิ้นเชิง เพราะฉะนั้น ก็เป็นเรื่องที่สะสมความเห็นถูก ความเข้าใจถูก เพื่อที่ว่าเมื่อได้ฟังความเห็นถูกอีกในชาติต่อๆ ไป จากใครก็ได้ แต่ก็สามารถที่จะเข้าใจธรรมได้
โดยมากทุกคนก็จะคิดแต่เรื่องของอกุศลกรรมบถ ใช่ไหม แต่ถ้าคิดถึงเรื่องของอกุศลกรรมบถ ก็ยังเป็นผู้ที่ประมาท ทำไมไม่คิดถึงอกุศลจิต ยังไม่ต้องไปถึงอกุศลกรรมบถ เพียงแต่รู้ว่าขณะใดจิตเป็นกุศล ขณะใดจิตเป็นอกุศล ถ้ารู้จริงๆ อย่างนี้เราก็จะเห็นได้ว่า ถ้าอกุศลนั้นมีกำลังเพิ่มขึ้น จึงจะทำให้เกิดอกุศลกรรม ถ้าไม่มีอกุศลมากถึงขนาดนั้น มีอกุศลที่เป็นขั้นที่ยังไม่ถึงกับอกุศลกรรมบถ ซึ่งเราก็ยังเห็นโทษ แม้ว่ายังไม่ต้องถึงอกุศลกรรมบถ เพียงอกุศลจิตเกิด เราก็ต้องเห็นแล้วว่า เป็นสิ่งที่ควรจะขัดเกลา อกุศล ประเภทหนึ่งซึ่งทุกคนไม่เห็นคือโมหะ ทุกคนเห็นโทษของโลภะ ทุกคนเห็นโทษของโทสะ เพราะว่าอกุศลกรรมทั้งหมดที่จะกระทำลงไป ก็ด้วยกำลังของโทสะ และโลภะ แต่ถ้าไม่มีโมหะ โลภะก็เกิดไม่ได้ โทสะก็เกิดไม่ได้ เพราะฉะนั้น ถึงแม้ว่าบางคนก็ไม่อยากจะกระทำอกุศลกรรมเลย แต่แม้กระนั้นก็จะมีการกระทำอกุศลกรรม เพราะอกุศลมีกำลัง ถ้าเป็นผู้ที่ไม่ประมาท มีการที่จะรังเกียจอกุศลจริงๆ ก็จะเห็นโทษแม้แต่ของอกุศล ยังไม่ต้องไปคิดเรื่องอกุศลกรรม เพียงแต่ว่าเมื่ออกุศลเกิดขึ้น ก็ยังเห็นว่าเป็นโทษ แล้วก็รู้ด้วยว่า ถ้ามีกำลังขึ้น ขณะใดที่กระทำอกุศลกรรมบถ ขณะนั้นรู้สึกตัวเองเลยว่า ขณะนั้น อกุศลจิตมีกำลังจึงได้กระทำอกุศลกรรม อย่างการที่เราจะตบยุง ฆ่าสัตว์เล็กสัตว์น้อยพวกนี้ บางคนก็อาจจะอ้างว่า เป็นสิ่งที่จำเป็นในชีวิต ขณะนั้นเขาไม่ทราบสภาพจิตของเขาเอง ว่าที่สามารถจะเบียดเบียนสัตว์อื่นได้ ขณะนั้นเป็นอกุศลจิตที่มีกำลัง เพราะเหตุว่าถ้าเพียงแต่ขุ่นใจนิดหน่อย ก็จะไม่ทำร้าย หรือทำลายสัตว์นั้นเลย แต่ว่าขณะใดก็ตาม แม้ว่าจะเป็นสัตว์เล็กๆ ซึ่งดูเหมือนกับว่าไม่สำคัญ แต่ว่าถ้ามีการกระทำที่เป็นอกุศลกรรม ให้ทราบว่าขณะนั้นเป็นอกุศลจิตซึ่งมีกำลังแล้ว เราก็ไม่สามารถที่จะไปบังคับได้ว่า จะไม่ทำอกุศลกรรมเลย เพราะว่าการสะสม แล้วแต่สะสมอกุศลประเภทใด ถ้าเป็นคนที่เคยฆ่าสัตว์บ่อยๆ แล้วก็ไม่เห็นว่าเป็นสิ่งที่ควรจะต้องละ ควรจะต้องบรรเทา เขาก็กระทำต่อไป เรื่อยๆ จากสัตว์เล็กๆ จนกระทั่งถึงสัตว์ที่ใหญ่ขึ้น จนกระทั่งถึงฆ่ามนุษย์ก็ฆ่าได้
ที่จริงแล้ว ดิฉันคิดว่า เราควรจะเห็นอกุศลว่าเป็นโทษ แล้วก็รู้จักตัวเอง เพื่อที่จะได้ไม่ล่วงเป็นอกุศลกรรมบถ แทนที่จะมุ่งหน้าว่า จะไม่ทำอกุศลกรรมบถ ไม่กระทำอกุศลกรรม แต่ไม่รู้สภาพจิตของเราเองซึ่งวันหนึ่งวันใดก็อาจจะทำได้ ถ้ามีกำลังเพิ่มขึ้น
ผู้ฟัง ในเรื่องของศัพท์ กัมมัสสกต หรือ คำว่า กัมมัสสกตาปัญญา หมายความว่าอย่างไร
สมพร กัมมัสสกตา เขามีบางแห่งมีญาณอีกตัวหนึ่ง กัมมัสสกตาญาณ หมายถึง ปัญญา ญาณ คือ ปัญญา ซึ่งบางครั้งก็ตัดออก กัมมัสสกตา ความเป็นผู้มีกรรม เป็นของของตน คือ อันนี้ ธรรมนี้ แสดงโดย บุคคลาธิษฐาน คือ บัญญัติ แปลว่าพระองค์รู้ว่า คนนี้เมื่อแสดงโดยบัญญัติแล้วสามารถจะเข้าใจถึงปรมัตถ์ พระองค์ก็แสดง คือเรื่องพระพุทธเจ้าแสดง เราไม่สามารถจะกำหนดได้ ท่านสามารถจะรู้ว่าคนนี้ควรแสดงธรรมอย่างนี้ คนนี้ควรแสดงธรรมอย่างนี้ แล้วจิตก็จะแล่นไปสู่ธรรมวินัยเอง ที่คำว่า กัมมัสสกตา ก็มีคำแปลเท่านี้
ผู้ฟัง ถ้าเกิดมีความเข้าใจบ้างในเรื่องกัมมัสสกตาปัญญา ก็จะเป็นผู้ที่ไม่หวั่นไหวในสิ่งต่างๆ ในชีวิตประจำวัน ซึ่งถ้ามีการพิจารณาละเอียดมากกว่านั้นลงไปอีกได้ไหมว่า กัมมัสสกตาปัญญาจริงๆ แล้วก็เป็นในขณะนี้เลย คือกำลังเห็นในขณะนี้เป็นผลของกรรม กำลังได้ยินซึ่งเป็นในขณะนี้เป็นโสตวิญญาณกุศลวิบาก เป็นการฟังธรรม หรือเสียงพระธรรมของท่านอาจารย์ ก็เป็นผลของกรรม เป็นลักษณะอย่างนี้ได้ไหม
ส. การอบรมเจริญปัญญา เพื่อรู้สภาพธรรมตามความเป็นจริง เท่าที่เราเรียนมาทั้งหมด เรื่องกรรม เรื่องวิบากซึ่งเป็นผลของกรรม เรารู้จักแต่ชื่อ แต่จริงๆ แล้วทุกอย่างที่ทรงแสดงต้องเป็นสิ่งที่มีจริงๆ ซึ่งพิสูจน์ได้
ถ้าสติปัฏฐานเกิด ก็จะรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ ในขณะนี้จริงๆ เช่นขณะที่กำลังเห็น มีจริงๆ แล้วก็สภาพธาตุรู้ที่เห็น ก็เป็นนามธรรมซึ่งไม่มีใครจะบังคับบัญชาได้ เพราะฉะนั้น เวลาที่เห็นแล้ว เกิดความติดข้องหรือว่าเกิดปัญญา หรือว่าเกิดโทสะ หรือจะเกิดอะไรติดตามมาก็แล้วแต่ ผู้นั้นขณะนั้น เมื่อทราบว่าลักษณะนั้นเป็นสภาพนามธรรมต่างชนิด เพราะขณะนี้ที่กำลังเห็น จริงๆ แล้วเป็นธาตุรู้เท่านั้น คือเห็นสิ่งที่ปรากฏทางตา แต่ว่าไม่ได้ชอบหรือชังในสิ่งที่กำลังปรากฏ แต่ไม่ใช่ว่าชอบหรือชังไม่มี หลังจากเห็น
เมื่อสติสามารถที่จะรู้ลักษณะของนามธรรมต่างชนิด สามารถที่จะรู้ได้โดยไม่เข้าใจว่าเป็นแต่เพียงชื่อ แต่ว่าสภาพจริงๆ นั้นมี คือ สภาพเห็นเป็นธาตุชนิดหนึ่ง แต่ว่าเมื่อเห็นแล้ว แต่ละคนสะสมมาต่างกัน คนหนึ่งเป็นอกุศลประเภทโลภะ อีกคนหนึ่งเป็นอกุศลประเภทโทสะ อีกคนหนึ่งอาจจะเป็นกุศลประเภทเมตตา หรือกรุณาก็แล้วแต่ เพราะฉะนั้น ก็จะเห็นความต่างกันได้ว่า สำหรับทางตาซึ่งเห็นหลีกเลี่ยงไม่ได้เลย มีเหตุปัจจัยก็เกิด เป็นนามธรรมประเภทซึ่งไม่ใช่กุศลหรืออกุศล เพราะฉะนั้น จึงรู้ความต่างกันว่า จิต มีหลายประเภท ไม่ใช่มีแต่เฉพาะจิตที่เป็นกุศล อกุศลเท่านั้น แต่จิตที่เป็นวิบาก ซึ่งเป็นผลของกรรมก็มี ชื่อว่าเป็นผู้ที่รู้กรรม และผลของกรรม ซึ่งเป็นนามธรรมต่างชนิดในขณะนั้น
ผู้ฟัง ถ้าเป็นลักษณะอย่างนั้น ปัญญาก็ค่อยๆ เพิ่มขึ้น ทำให้มีการเห็น มีการที่จะระลึกลักษณะสภาพรู้ทางตา หรือว่าจะเป็นทางหูแล้ว ไม่เป็นปัจจัยให้เกิดยินดียินร้าย ถ้าสติปัฏฐานเกิดต่อเลย
ท่านอาจารย์ จุดมุ่งหมายของการอบรมเจริญสติปัฏฐาน เพื่อปัญญารู้ในลักษณะของสภาพธรรม ที่กำลังปรากฏ ที่เป็นนามธรรม หรือเป็นรูปธรรม จนกระทั่งไม่มีเรา สามารถที่จะดับความเห็นที่เคยยึดถือสภาพธรรม นั้นๆ ว่า เป็นเราเห็น เป็นเราได้ยิน เพราะรู้ในลักษณะที่เป็นนามธาตุที่เห็น หรือนามธาตุที่ชอบ หรือนามธาตุ อื่นๆ ซึ่งเกิดต่างชนิดกัน
ผู้ฟัง คงเป็นนามธรรมชนิดต่างๆ กันซึ่งเราจะต้องศึกษา ระลึก
ท่านอาจารย์ แน่นอน จะรู้ชัดในลักษณะที่เป็นนามธรรมทั่วขึ้น เพราะว่านามธรรมทั้งนั้น ตั้งแต่เกิดจนตาย ที่กำลังเห็นบ้าง ได้ยินบ้าง รูปก็ปรากฏทางตาทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย มีเท่านี้ คือ นามธรรมกับรูปธรรม
ผู้ฟัง อะไรเป็นเหตุเป็นปัจจัย หรือมีธรรมใดที่จะเป็นปัจจัยให้ผู้ประพฤติปฏิบัติ เป็นผู้ที่ตรงต่อธรรม เป็นผู้ที่อุชุปฏิปันโน
ท่านอาจารย์ ความเข้าใจถูกว่า ปัญญารู้อะไร สภาพธรรมที่กำลังปรากฏในขณะนี้ เป็นสิ่งที่ปัญญารู้ และละได้ เพราะฉะนั้น กว่าที่จะสติระลึกลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏ พร้อมกับปัญญาที่เกิดจากการฟัง การศึกษาที่จะทำให้สามารถค่อยๆ เข้าใจในลักษณะซึ่งเป็นธาตุแท้ๆ ของนามธรรม และรูปธรรมได้ ค่อยๆ เพิ่มขึ้น
ผู้ฟัง คำถามสุดท้ายคือ บุคคลที่สามารถจะน้อมไประลึกสภาพที่เป็นอนัตตสัญญาได้ ต้องเป็นบุคคลที่เคยปรากฏ สภาพที่ถึงความสมบูรณ์ของปัญญาที่มี ปัจจัยเกิดทางมโนทวารมาแล้ว เท่านั้น ใช่ไหม
ท่านอาจารย์ จริงๆ เรื่องของการเจริญเติบโตของปัญญา เป็นเรื่องที่ไม่เร็ว เป็นเรื่องช้าด้วย จะมีความสงสัยอยู่เสมอว่า ปัญญารู้อะไร เมื่อไร แต่ความจริงในขณะที่กำลังฟังแล้วเข้าใจ เป็นจุดเริ่มต้นของปัญญาที่จะค่อยๆ เจริญขึ้น
ถ้าเรายังเป็นห่วงกังวลถึงผลข้างหน้า จะทำให้เราไม่เข้าใจจริงๆ ว่าแท้ที่จริงแล้วขณะใดที่มีความเข้าใจเกิดขึ้น ขณะนั้นปัญญากำลังค่อยๆ เจริญขึ้น แล้วปัญญาที่เจริญขึ้นก็จะนำไปสู่สติปัฏฐาน คือ การระลึกลักษณะของสภาพธรรมซึ่งขณะนั้นปัญญาที่ได้ฟังมาแล้วว่า ไม่ใช่ตัวตน ก็จะทำให้ไม่ตื่นเต้น ไม่เดือดร้อน ไม่กระวนกระวาย เมื่อสติเกิด ก็ค่อยๆ เข้าใจลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏเท่านั้นเอง ไปเรื่อยๆ
ผู้ฟัง หมายความว่า ความเป็นผู้มีปกติ คำนี้แสดงว่าต้องสำคัญมากๆ เลย
ท่านอาจารย์ ใช่
ถ. เราจะรู้ได้อย่างไรว่า ขณะใดที่จิตเป็นกุศล หรือจิตเป็นอกุศลในชีวิตประจำวัน
ท่านอาจารย์ ถ้าสติไม่ระลึก เราจะรู้เรื่องราวของจิตเท่านั้น หลายคนก็คงจะพบในชีวิตประจำวันของตัวเอง เวลาไปเที่ยวที่ไหน หรือว่าเห็นดอกไม้สวยๆ ก็ตื่นเต้น มีคนที่ศึกษาธรรมก็บอกว่า โลภะๆ พอเห็นอาหารอร่อยก็โลภะ พอทำอะไรที่สนุกสนานก็โลภะ เรียกชื่อของโลภะ แต่ว่าตัวโลภะจริงๆ ต่างกับจิตเห็นหรือเปล่า
นี่แสดงให้เห็นว่า เราเรียนเรื่องราว แต่ก็ทำให้เราเข้าใจถูกขึ้นว่า ไม่ใช่เราโดยขั้นคิดว่าต้องเป็นนามธรรม และแม้แต่ความติดข้องขณะนั้น ก็เป็นสภาพธรรมที่มีจริง แต่ตอนที่เรียกว่า โลภะ ไม่ได้รู้ลักษณะของโลภะ
การศึกษาต้องเป็นเรื่องที่ละเอียดรอบครอบ แล้วก็ต้องรู้จริงๆ ว่าปัญญาระดับไหน เพราะว่าปัญญาต้องเจริญขึ้นๆ ๆ จนกว่าสามารถจะประจักษ์การเกิดดับของสภาพธรรม ที่กำลังเกิดดับในขณะนี้ เพราะฉะนั้น จะข้ามขั้นไม่ได้เลย จะพยายามให้ไปถึงขณะที่รู้ลักษณะของนามธรรม และรูปธรรม โดยที่ลักษณะของธาตุนั้นๆ กำลังปรากฏ ไม่ว่าจะเป็นทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ แต่ไม่ใช่หมายความว่า ไม่มีหนทางที่จะเป็นอย่างนั้น หนทางมี แต่ผู้นั้นเป็นผู้ตรง ซึ่งสภาพธรรมกำลังปรากฏ ขณะนี้ ฟังมาว่าไม่ใช่เรา เป็นธาตุรู้ แล้วก็สิ่งที่ปรากฏก็มีจริงๆ แล้วก็ไม่ต้องไปนึกคิดว่า เป็นคน เป็นสัตว์เพราะว่าสิ่งที่ปรากฏนั้น สามารถจะปรากฏเพียงทางตา แล้วก็ใจไปนึกถึงเรื่องราวต่างๆ แต่สิ่งที่ปรากฏทางตาก็เพียงสามารถจะปรากฏเป็นสีสันวัณณะต่างๆ เท่านั้น การฟังธรรม ฟังแล้วก็ไม่ทิ้งไป ระลึกพิจารณาไตร่ตรองค่อยๆ เป็นความเข้าใจขึ้น แล้วขณะใดที่สติปัฏฐานเกิดก็ต่างกับที่หลงลืมสติ เพราะเหตุว่ามีลักษณะของสภาพธรรมซึ่งปกติก็ปรากฏ แต่ไม่เคยระลึก แล้วก็ไม่เคยรู้ แต่ว่าขณะใดที่สติปัฏฐาน เกิดก็เป็นสภาพธรรมปกติธรรมดาอย่างนี้ แต่ว่ามีการระลึกที่ลักษณะซึ่งเป็นสภาพธรรม จริงๆ แล้วก็ค่อยๆ เข้าใจว่า ลักษณะนั้นเป็นสภาพรู้ ซึ่งต่างกับสิ่งที่ปรากฏจนกว่าลักษณะของธาตุรู้จะปรากฏจริงๆ ว่า ธาตุรู้เป็นอย่างไร ต่างกับรูปธาตุอย่างไร ก็ค่อยๆ อบรมไปเรื่อยๆ
ผู้ฟัง ฟังท่านอาจารย์มาถึงตรงนี้ ก็รู้ว่า แม้กระทั่งในขณะนี้เอง ในขณะที่เห็นหรือได้ยิน หรือได้ฟังท่านอาจารย์พูด กุศลจิตหรืออกุศลจิต ก็อาจจะสามารถเกิดขึ้นได้ สติในขั้น สติที่เกิดขึ้นรู้สภาพธรรมที่กำลังปรากฏ ตามความเป็นจริงอยู่ในขณะนี้ ที่เป็นกุศลจิตหรืออกุศลจิต ใคร่จะขอทำความเข้าใจว่า สติในขั้นที่จะรู้ว่า ในขณะใดที่กุศลจิตเกิด หรืออกุศลจิตเกิด สติของเขามีสภาพลักษณะซึ่งเราสามารถรู้ได้ด้วยการฟัง การเข้าใจในขณะนี้ไหม
ท่านอาจารย์ ก่อนอื่นยังไม่ต้องคิดเรื่องของกุศลจิต และอกุศลจิต แต่รู้ลักษณะที่ต่างกันของนามธรรม และรูปธรรม เพราะว่าถ้าไปคิดถึงชื่อว่า อกุศลจิต แต่ลักษณะซึ่งเป็นนามธรรมไม่ได้ปรากฏเลยว่า ลักษณะที่เป็นนามธรรม คือ ไม่ใช่เรา ลักษณะของนามธรรมเป็นอย่างนั้น
เพราะฉะนั้น ไม่ใช่ไปแจกแจงก่อน แต่หมายความว่าเรายึดถือสภาพที่เป็นนามธรรมกับรูปธรรมว่าเป็นเรา การที่จะละความยึดถือได้ ก็ต่อเมื่อรู้ในลักษณะที่เป็นนามธรรมจริงๆ มั่นคงขึ้น รู้ชัดขึ้น ประจักษ์แจ้งในธาตุซึ่งเป็นนามธาตุ แล้วก็จะรู้ว่า ไม่ว่าเป็นโลภะหรือโทสะ คือนามธาตุหรือนามธรรมทั้งหมด
ผู้ฟัง ในขั้นการฟัง เราฟังแล้วก็เข้าใจ ในขณะที่เห็น จะเห็นไม่ได้เลย ถ้าไม่มีจิตเกิดขึ้นรู้ในขณะเห็น คือสภาพรู้สิ่งที่กำลังเห็น แล้วก็นึกคิดไปต่างๆ นานา ที่เห็นเป็นรูป เป็นไมโครโฟน เป็นแก้วน้ำ เป็นอะไร ในขั้นการฟัง เราก็รู้ว่า เป็นเพียงสภาพธรรมต่างๆ ที่กำลังเกิดขึ้นแล้วก็ดับ แต่เราก็ยังมีความรู้สึกว่า เป็นนายประทีปกำลังเห็น กำลังได้ยิน
ท่านอาจารย์ นายประทีปไม่หมดจนกว่า จะเป็น พระโสดาบัน
ผู้ฟัง จะต้องฟัง หรือจะทำความเข้าใจอย่างไร
ท่านอาจารย์ เข้าใจในขณะนี้ไปเรื่อยๆ แล้วสติเกิด ก็ค่อยๆ เข้าใจสภาพธรรมทีละเล็ก ทีละน้อย ต้องไม่ลืมคำว่า ทีละเล็กทีละน้อย
ผู้ฟัง เข้าใจในขั้นการฟังพอเข้าใจ แต่ว่าเราจะรู้ได้อย่างไรว่า ในขณะที่เราเข้าใจในขั้นการฟังแล้วว่า เป็นเพียงสภาพธรรมที่กำลังปรากฏเกิดขึ้น เกิดดับสืบเนื่องโดยไม่ขาดสาย มันไม่มีอะไรเลย แล้วเราจะเข้าใจสภาพธรรม อย่างนั้นได้อย่างไร
ท่านอาจารย์ เมื่อสติ ระลึก ไม่ใช่ครั้งเดียว ไม่ใช่ร้อยครั้ง แล้วแต่จนกว่าจะรู้จริงๆ
ผู้ฟัง ถ้าสติระลึกจะต้องรู้ว่า ในขณะที่เรากำลังสนทนากันนี้ สภาพธรรมต่างๆ เหล่านี้ ก็มีจริง
ท่านอาจารย์ ลักษณะรู้เป็น ลักษณะรู้
ผู้ฟัง ลักษณะรู้ ซึ่งเราจะต้องใส่ใจเดี๋ยวนี้เลยว่า ใครกำลังฟังแล้วเข้าใจอะไรบ้าง อย่างนี้ใช่ไหม
ท่านอาจารย์ ถ้าเอารูปออกหมด สีไม่มีปรากฏเลย เสียงไม่มีปรากฏเลย กลิ่นไม่ปรากฏ รสไม่ปรากฏ เย็น ร้อน อ่อน แข็ง ตึง ไหวไม่ปรากฏ ก็ยังมีธาตุรู้ นั่นคือลักษณะของสภาพซึ่งเป็นธาตุรู้ล้วนๆ จริงๆ ซึ่งต้องแยกออกจากสิ่งที่ปรากฏทางตาขณะนี้ หรือเสียงที่ปรากฏทางหูขณะนี้
ผู้ฟัง พอฟังมาถึงขั้นนี้แล้ว เราก็รู้สึกว่า ความรู้ต่างๆ ที่เราได้อ่านมา หรือได้ฟังมา มันไม่ได้อยู่ในตัวหนังสือ แต่มันมาอยู่ที่สภาพจิตของเราที่กำลังรู้สิ่งๆ นั้น ใช่ไหม
ท่านอาจารย์ ต้องค่อยๆ พิจารณาไป อย่าลืมค่อยๆ พิจารณา จากไม่รู้ค่อยๆ รู้ขึ้นทีละน้อย แล้วก็ยังสงสัย ก็ยังสงสัย จนกว่าจะหมดความสงสัย ถ้ายังไม่รู้ จะให้เป็นความรู้ไม่ได้ ถ้ายังสงสัยจะให้เป็นความเข้าใจชัดไม่ได้ แต่อบรมความรู้ความเข้าใจไปเรื่อยๆ จนกว่าจะรู้ชัดจริงๆ
ผู้ฟัง การนั่งสมาธิ สรุปว่า ถ้าเรายังไม่มีปัญญา หรือตัวรู้ของเราเองว่า ถึงจุดที่เราจะนั่งสมาธิได้ ก็ควรจะมีแค่การฟังธรรม แล้วพิจารณาเฉยๆ หรือ
ท่านอาจารย์ ต้องทราบว่า สมาธิคืออะไร แล้วเราจะทำสมาธิทำไม ถ้าเราตอบได้ ก็แปลว่าเรามีเหตุผล พอจะตอบได้ไหมว่า นั่งสมาธิทำไม
ผู้ฟัง นั่งสมาธิเพื่อฝึกจิต ที่ไม่เคยอยู่นิ่งให้หยุดนิ่ง
ท่านอาจารย์ แล้วมีประโยชน์อะไร จิตที่อยู่นิ่ง
ผู้ฟัง การที่จิตหยุดนิ่งจะทำให้เรา พิจารณาเห็นความจริงต่างๆ
ท่านอาจารย์ ความจริงอะไร ขณะที่จิตกำลังอยู่นิ่ง
ผู้ฟัง สภาพตามความจริง ที่ปรากฏ
ท่านอาจารย์ ขณะนี้จิตอยู่นิ่งหรือยัง
ผู้ฟัง ไม่นิ่ง
ท่านอาจารย์ ไม่นิ่ง แต่มีสมาธิ เกิดกับจิตทุกขณะ เวลาที่จิตอยู่นิ่ง ปัญญารู้อะไร ถ้าบอกว่ารู้สภาพธรรมมากขึ้น จิตอยู่นิ่ง ขณะนั้นมีคำตอบกำกับชัดเจนว่า จิตอยู่นิ่ง แสดงว่าไม่มีสภาพธรรมอะไร นอกจากจิตอยู่นิ่ง แล้วปัญญารู้อะไรขณะนั้น ถ้าไม่มีปัญญาแล้วเราจะทำทำไม เพราะว่าโดยมากคนจะทำสมาธิ เพราะเหตุว่าเขาอยากให้จิตของเขาไม่คิดเรื่องอื่น ต้องทราบว่าสภาพธรรม ๒ อย่าง ซึ่งตรงกันข้ามกันคือ โลภะกับปัญญา สภาพที่ติดข้องไม่ใช่ลักษณะของปัญญา ปัญญาคือความเข้าใจถูก ความเห็นถูกในสิ่งที่กำลังปรากฏ
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 241
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 242
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 243
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 244
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 245
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 246
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 247
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 248
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 249
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 250
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 251
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 252
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 253
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 254
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 255
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 256
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 257
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 258
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 259
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 260
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 261
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 262
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 263
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 264
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 265
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 266
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 267
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 268
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 269
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 270
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 271
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 272
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 273
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 274
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 275
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 276
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 277
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 278
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 279
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 280
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 281
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 282
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 283
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 284
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 285
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 286
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 287
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 288
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 289
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 290
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 291
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 292
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 293
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 294
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 295
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 296
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 297
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 298
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 299
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 300