ปกิณณกธรรม ตอนที่ 284
ตอนที่ ๒๘๔
สนทนาธรรม ที่ โรงพยาบาลพระมงกุฏเกล้า
พ.ศ. ๒๕๔๐
ท่านอาจารย์ ขณะนี้เราทราบได้เลยว่า มีสิ่งที่กำลังปรากฏเมื่อไร เมื่อตาเห็น มีสิ่งที่กำลังปรากฏ เมื่อเสียงปรากฏกับจิตที่ได้ยิน เพราะฉะนั้น สิ่งที่ปรากฏก็ปรากฏในขณะที่เห็น ในขณะที่ได้ยิน ขณะที่ได้กลิ่น ขณะที่ลิ้มรส ขณะที่รู้สิ่งที่กระทบสัมผัส ขณะคิดนึก ปัญญารู้อะไร ปัญญารู้หรือเปล่า แสดงให้เห็นว่า ขณะที่เราไปนั่งทำให้จิตสงบนิ่ง ปัญญาไม่สามารถจะรู้อะไรได้เลย แล้วจะทำทำไม เพราะขณะนั้นมีความต้องการจะทำ จึงไม่มีปัญญา
ถ. อาจจะเป็นเพราะว่า หน้าที่อย่างหนึ่งของคนพุทธ คือการนั่งสมาธิ
ท่านอาจารย์ ไม่ใช่ พุทธศาสนาเป็นคำสอนของพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ซึ่งทรงแสดงแก่สาวก สาวโก คือ ผู้ฟัง ผู้ฟังคือผู้ศึกษาคำสอน เพราะฉะนั้น ถ้าเราจะเอาหนังสืออื่นมาทั้งหมด โดยที่ไม่ศึกษาคำสอนของพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า เราเป็นลูกศิษย์ใคร เรานับถือศาสนาอะไร ถ้าเรานับถือพุทธศาสนา เราก็ศึกษาคำสอนของพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ซึ่งมีขณะนี้พระไตรปิฎกก็ยังอยู่ครบถ้วน อรรถกถาก็มี ฎีกาก็มี คำอธิบายขยายความของพระไตรปิฎกก็ยังมี ให้เราสามารถเข้าใจได้
เมื่อเรานับถือใคร มีพระธรรมเป็นสรณะ พระธรรมคือคำสั่งสอน ของพระผู้มีพระภาค เราก็ศึกษาคำสอนให้เข้าใจแล้วก็จะเกิดปัญญา แต่ถ้าเราไม่ศึกษาพระธรรม เราจะไม่มีปัญญา เพราะว่าคนอื่นไม่สามารถที่จะสอนให้เราเกิดปัญญาได้ บางคนก็อาจจะบอกว่า เขาเรียนมาตั้งมากมาย จบปริญญาเอกหลายสาขาก็ได้ แต่นั่นไม่ใช่ปัญญาเจตสิก เพราะเหตุว่าสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ ถ้ามีปัญญาต้องรู้ความจริงของสิ่งที่ปรากฏ นั่นคือปัญญา แต่ถ้าเพียงรู้เรื่องราว นักวิทยาศาสตร์มีสูตรต่างๆ สามารถที่จะคิดคำนวณแล้วก็เดินทางไปโน่นไปนี่ ไปถึงโลกไหนก็ได้ แต่ไม่รู้สภาพธรรมที่กำลังปรากฏถูกต้องตามความเป็นจริง นั่นไม่ใช่ปัญญาเจตสิก
ในศาสนา หรือในคำสอนอื่น หรือจะไม่ใช้คำว่าศาสนาหนึ่งศาสนาใดก็ได้ ไม่มีคำสอนที่จะทำให้เราเข้าใจสภาพธรรมที่มีจริงๆ เพราะเหตุว่าการเห็นมี จึงได้เกิดสุข ทุกข์ โลภะ โทสะ ถ้าไม่เห็นสิ่งนั้นก็ไม่มีโลภะ โทสะ เรื่องราวของสิ่งนั้น เมื่อไม่ได้ยินเสียง เรื่องนั้นก็ไม่รัก ไม่ชังเรื่องนั้น แต่ว่าเมื่อมีทุกสิ่งทุกอย่าง แล้วมีความไม่รู้ก็ทำให้เรามีอกุศลเพิ่มพูนขึ้น
เพราะฉะนั้น ต้องรู้ว่าปัญญาเจตสิก ไม่ใช่ปัญญาที่เราคิดหรือเราเข้าใจ แต่เป็นสภาพธรรมชนิดหนึ่งซึ่งมีจริง แล้วก็เป็นความเห็นที่ถูกต้อง ในลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ กว่าจะอบรมเจริญปัญญาถึงระดับนั้น ก็ต้องอาศัยคำสอนของผู้ที่ได้ตรัสรู้แล้ว เพราะว่าเราไม่ใช่พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า เราไม่ใช่พระปัจเจกพุทธเจ้า ถ้าจะมีปัญญาเกิดขึ้นก็เมื่อฟังคำสอน แล้วก็พิจารณาว่า คำสอนของพระองค์ เป็นสัจธรรม เป็นคำจริง พูดเรื่องจริง ในสิ่งที่มีจริงที่พิสูจน์ได้
สมพร สมาธิมีในสติปัฏฐานแล้ว เมื่อเราเจริญสติปัฏฐาน สมาธิก็เกิดขึ้น ไม่จำเป็นต้องไปฝึกสมาธิต่างหาก ถ้าหากว่าพระพุทธเจ้าไม่ตรัสรู้ ศาสนายังไม่เสื่อมไป ยังมีพระธรรมวินัยอยู่ ควรฝึกสติปัฏฐาน หรือควรเจริญสติปัฏฐาน ไม่ควรฝึกสมาธิ ถ้าหากว่าพระพุทธศาสนาสิ้นไปแล้ว เราควรฝึกสมาธิตามแบบโยคะต่างๆ เพราะไม่มีพระศาสนา แต่เดี๋ยวนี้พระศาสนายังอยู่ เราควรเจริญสติปัฏฐาน ซึ่งไม่มีอยู่ตลอดกาลเป็นนิจ เพราะว่าสติปัฏฐานนั่นเองเป็นเหตุให้สมาธิเกิด ถ้าเราเจริญสมาธิอย่างเดียว สติปัฏฐาน ไม่เกิดก็ได้ ถ้าเจริญสติปัฏฐาน สมาธิก็เกิดด้วย เพราะฉะนั้น จึงควรเจริญสติปัฏฐาน
ผู้ฟัง คุณพ่อดิฉัน คุณพ่อทวาย สำเร็จ ซึ่งอายุ ๘๐ ดิฉันฟังท่านอาจารย์มานานพอสมควร วันนี้ท่านบอกว่าท่านอยากจะกราบเรียนให้ท่านอาจารย์แสดงถึงลักษณะของสัมปชัญญะ ท่านยังไม่ค่อยเข้าใจ
ท่านอาจารย์ ไม่ทราบท่านผู้ฟังใหม่จะได้ยินคำนี้หรือเปล่า แต่ว่าคำนี้ใช้ในภาษาไทยซึ่งความหมายไม่ตรงกับภาษาบาลีที่ใช้อยู่ เพราะว่าถ้าเป็นภาษาไทยเราจะคิดว่า เวลาที่ใครก็ตามที่เป็นคนปกติทำอะไร ก็หมายความว่าคนนั้นไม่ได้เมา หรือว่าไม่ได้หลง แต่ว่าทำด้วยสติสัมปชัญญะ ใช้คำนั้นในภาษาไทย แต่ถ้าเป็นความหมายของธรรม ธรรมเป็นเรื่องที่ละเอียดมาก แม้แต่คำว่าสติหรือสัมปชัญญะ ก็ไม่ใช่อย่างที่เราเคยเข้าใจ สัมปชัญญะเป็นปัญญา แล้วก็เป็นปัญญาระดับขั้นที่สามารถจะรู้ลักษณะของสภาพธรรม ที่กำลังปรากฏในขณะนี้ ไม่ใช่เพียงแต่ฟังเรื่องของธรรมเท่านั้น เพราะว่าโดยมากเราก็ฟังธรรม แต่บางคนก็ไม่ทราบว่าฟังธรรม ฟังเรื่องอะไร แต่เมื่อได้รู้ว่าธรรมเป็นทุกสิ่งทุกอย่างที่มีจริงๆ เมื่อเป็นธรรมก็ไม่ใช่สิ่งหนึ่งสิ่งใด หรือว่าไม่ใช่ของใครทั้งสิ้น ไม่ใช่มีใครเป็นเจ้าของ เช่นในขณะนี้ก็มีเห็น มีได้ยิน แล้วก็มีคิดนึก มีสิ่งที่ปรากฏทางตา มีเสียง ทุกอย่างที่มีจริงเป็นธรรม
สัมปชัญญะ ไม่ใช่เพียงฟังเรื่องนี้ แต่ว่าจะต้องสามารถที่จะเข้าใจว่าปัญญาที่จะรู้ความจริงของสภาพธรรมในขณะนี้ ค่อยๆ อบรม ค่อยๆ ฟัง ค่อยๆ เจริญขึ้น จนกว่าสัมปชัญญะที่เป็นปัญญาจะเกิดพร้อมกับสติ ที่สามารถที่จะรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏในขณะนี้ นี่เป็นคำตอบสั้นๆ ว่า สัมปชัญญะ ต้องเกี่ยวกับการรู้ลักษณะของสภาพธรรม ที่กำลังปรากฏในขณะนี้ ถูกต้องตามความเป็นจริงของสภาพธรรมนั้น คือ เป็นธรรมแต่ละอย่าง
สมพร สัมปชัญญะที่ท่านอาจารย์กล่าวไป มุ่งประเด็นปรมัตถสำคัญที่สุด เพราะว่าสัมปชัญญะเกิดกับจิตที่เป็นกุศลได้หลายอย่าง แต่ท่านอาจารย์มุ่งว่าสัมปชัญญะที่สำคัญ ต้องเกี่ยวกับปรมัตถ์ไม่ใช่บัญญัติ อันนี้ผมก็เห็นด้วย เพราะว่ากุศลธรรมดา สำหรับคนที่มีปัญญากระทำแล้วต่างๆ มีการให้ทาน รักษาศีล เป็นต้น สำหรับคนมีปัญญาก็มีสัมปชัญญะ แต่ยังยึดติดอยู่ว่า เป็นคน เป็นสัตว์ ยังอาศัยบัญญัติอยู่ สัมปชัญญะอันนั้นยังไม่เลิศ ยังไม่ประเสริฐ แต่ที่อาจารย์กล่าวนี้ เป็นสัมปชัญญะที่ประเสริฐ เพราะมุ่งถึงปรมัตถ์ว่าคนสัตว์ไม่มี อันนี้เป็นสัมปชัญญะที่พระพุทธเจ้าทรงรับรอง
ผู้ฟัง สัมปชัญญะ ถ้าเรายังไม่เข้าใจถึงคำว่าปัญญา หรืออะไรทั้งสิ้น เราจะทราบได้ไหมว่า ขณะนี้เรามีสัมปชัญญะหรือไม่
ท่านอาจารย์ ไม่มีทางเลย ก็เป็นเรา แล้วก็ถามว่าจิตเป็นอย่างไร หรือว่าความรู้สึกเป็นอย่างไรก็ตอบไม่ได้ ตอบไม่ถูกทั้งๆ ที่มี
ผู้ฟัง แต่ขณะที่เราฟังกันอยู่ทั่วๆ ไป ภาษาไทยที่ใช้อยู่ทุกวันนี้ การพูดว่ามีสติสัมปชัญญะแล้ว เธอมีสติสัมปชัญญะหรือเปล่า ขณะนั้นเราก็รู้ว่า เรากำลังทำอะไร กำลังพูด หรือว่ากำลังอยากจะทาน หรือว่ากำลังอยากจะให้สงบ อยู่ในที่นี้อย่าเสียงดัง ขณะนี้ก็เป็นสัมปชัญญะแล้วไม่ใช่หรือ
ท่านอาจารย์ ถ้าเป็นความเข้าใจระดับนี้ ก็จะไม่มีการเจริญขึ้นของปัญญา เพราะคิดว่านี่คือสัมปชัญญะแล้ว
ผู้ฟัง การที่จะเข้าใจว่า สัมปชัญญะคืออะไร ไม่ใช่ของง่าย ผมคาดว่า ถ้าจะพูดถึงคำว่า สัมปชัญญะแล้ว ผมยังคิดว่าผมมีสัมปชัญญะแล้ว แต่ว่า โดยทั่วไปแล้ว ถ้าอย่างผมจะทราบไหมว่า ขณะที่ผมปฏิบัติดี ปฏิบัติชอบไม่เคยไปล่วงเกินใครเขา หรือจะไปคิดร้ายต่อใครเขา ทำไปตามปกติประจำวันอย่างนี้ เป็นคนที่มีสัมปชัญญะหรือเปล่า คงไม่ใช่อีกเหมือนกัน
ท่านอาจารย์ เวลาที่เกิดความชอบใจขึ้น แล้วก็รู้ว่าเป็นความชอบใจ เวลาที่เกิดโกรธ ก็รู้ว่าโกรธ นั่นเป็น สัมปชัญญะหรือเปล่า เพียงเท่านั้นที่รู้ว่ากำลังโกรธ เป็นสัมปชัญญะหรือเปล่า
ผู้ฟัง ถ้าเผื่อไปเปรียบเทียบกับที่ท่านอาจารย์ได้กล่าว เมื่อสักครู่นี้ ในเรื่องของการที่รู้สภาพธรรมที่ปรากฏ ลักษณะปรากฏตามความเป็นจริง ถ้าเป็นลักษณะนั้นก็ไม่ใช่สัมปชัญญะ
ท่านอาจารย์ ในทางธรรมต้องเข้าใจความหมายให้ถูกต้อง ระดับขั้นของปัญญา ที่จะใช้คำว่า สติ หรือที่จะใช้คำว่า สติสัมปชัญญะ ไม่ใช่เพียงสติในขณะที่กำลังฟังแล้วก็เข้าใจ
ผู้ฟัง เราจะทราบอย่างไรว่า เรามีสติ
ท่านอาจารย์ ถ้าไม่ใช่สติปัฏฐาน ก็ไม่รู้อีกเหมือนกัน คือรู้เรื่องของธรรมทั้งหมด แต่ก็เป็นเราทั้งหมดที่รู้ เพราะว่าไม่ได้รู้ลักษณะของสภาพธรรมแต่ละอย่าง ที่จะเห็นว่าลักษณะของสภาพธรรมแต่ละอย่างนั้น ไม่ใช่เรา ฟังได้ เข้าใจได้ แต่ยังไม่เห็นตามความเป็นจริงอย่างนั้น แม้ที่กล่าวว่า ทุกอย่างเป็นธรรมขณะนี้ ก็เป็นคำที่พูดตามแล้วก็ค่อยๆ เข้าใจ แต่ทุกอย่างยังไม่ได้ปรากฏว่า เป็นธรรมแต่ละอย่างจริงๆ
ผู้ฟัง กัมมัสสกตาปัญญาเป็นปัญญาขั้น สัมปชัญญะ หรือเปล่า ถ้าไม่เป็น เป็นปัญญาขั้นไหน
ท่านอาจารย์ อย่างระดับอ่อนๆ คนที่เชื่อเรื่องกรรม รู้ว่ากรรมเป็นเหตุที่จะต้องมีผล คือวิบาก ขณะนั้นก็เป็นปัญญาระดับหนึ่ง เหมือนกับฟังเรื่องราวของจิต รู้ว่ากรรมเป็นกุศลเจตนาหรืออกุศลเจตนาเกิดกับจิตประเภทไหน นี่คือระดับขั้นความรู้ขั้นฟัง แต่ว่าถ้าจะรู้จริงๆ ขณะที่เห็นเดี๋ยวนี้ เป็นของจริง โดยการศึกษาทราบว่าเป็นวิบากจิต ทราบจากการศึกษาว่าเป็นวิบากจิต แต่ว่าถ้าขณะนี้มีจิตหลายอย่าง จิตเห็นก็มี จิตได้ยินก็มี จิตคิดนึกก็มี ที่เป็นโลภะก็มี ที่เป็นมหากุศลมีปัญญาเกิดร่วมด้วยก็มี มีจิตตั้งหลายอย่าง ธรรมทั้งหมดที่ได้ยินได้ฟัง ไม่ใช่เรื่องเท่านั้น แต่เป็นความจริงในชีวิตประจำวัน แม้แต่การจะเชื่อเรื่องกรรม จะต้องมีความมั่นคงขึ้น จนกระทั่งถึงระดับที่เมื่อรู้ลักษณะของจิตประเภทต่างๆ ก็รู้ได้ว่าจิตประเภทนี้ไม่ใช่จิตประเภทนั้น เพราะฉะนั้น จิตประเภทนี้ เป็นผลของกรรม
สมพร กัมมัสสกตาปัญญากว้างขวาง ถ้าเราจะแยกย่อยออกไปมากมาย เช่น ปัญญาที่รู้ว่า พวกนี้เคยทำอุปการะก่อน ที่เรียกว่า บุพการี เช่นวันนี้เป็นต้น คุณพ่อทวายท่านก็ทำอุปการะก่อน เรียกว่า บุพการี ถ้าเรามีปัญญาอย่างนี้ เราก็สามารถที่จะรู้คุณแล้วก็ตอบแทนได้ การตอบแทนอาศัยปัญญาเหมือนกัน แต่ว่าปัญญานั้นเกิดทีหลัง ต้องคิดถึงว่า ผู้นี้เคยทำอุปการะก่อน แล้วก็ตอบแทนทีหลัง อันนี้เป็นปัญญาส่วนหนึ่งที่เรามาสนทนากันวันนี้
ผู้ฟัง ผมอยากจะให้อธิบายศัพท์ กัมมัสสกตา แยกอย่างไร
สมพร กัมม หมายถึงการกระทำ คือ กรรม กัมมัส กัมมัสสกตา ปัญารู้การกระทำของตน สะ แปลว่าของตนได้ การกระทำของตน ทุกวันนี้ บางทีเราไม่รู้สึกตัวเลย เรียกว่าโมหะเข้าตลอดเวลา ขณะนั้นไม่มีกัมมัสสกตาปัญญา การเจริญสติปัฏฐานหรือกระทำกุศลทุกอย่าง ต้องมีปัญญาระลึกถึงการกระทำของตน ไม่ได้มุ่งถึงว่าคนอื่น มุ่งถึงตนเป็นใหญ่ เพราะถ้าตนไม่กระทำแล้ว ใครอื่นเล่าจะกระทำ ตนต้องเป็นผู้กระทำก่อน คนอื่นค่อยกระทำทีหลัง กัมม แปลว่า กรรม คือ การกระทำ โดยปรมัตถ์จริงๆ กัมม คือ เจตนาที่จะทำ กัมมัสส ก็หมายความว่า กัมมัสส เราแยกศัพท์ว่า สะ แปลว่าของๆ ตน ปัญญาที่รู้การกระทำของตน อันนี้กว้างขวาง ได้ทั้งพระสูตร ทั้งพระอภิธรรม คำว่ากัมมัสสกตาปัญญา กตา แปลว่ากระทำ
ผู้ฟัง เรื่องของสัมปชัญญะ รู้สึกเข้าใจยาก
ท่านอาจารย์ คำว่า สัมปชัญญะ คงไม่ได้ใช้ในที่ทั่วไป เพราะฉะนั้น ในพระไตรปิฎกก็มีคำที่ จำแนกไว้ว่า สัมปชัญญะมีอะไรบ้าง เช่น สัมปชัญญะ ๔ สาตถกสัมปชัญญะ สัปปายสัมปชัญญะ โคจรสัมปชัญญะ อสัมโมหสัมปชัญญะ ก็แสดงให้เห็นว่า เราจะใช้สัมปชัญญะทั่วไปได้ไหม แม้แต่คำว่า สาตถกสัมปชัญญะ ถ้าเราจะแปลว่า ปัญญาที่รู้ประโยชน์ ถ้าเราคิดเอาเองก็คงจะง่ายๆ รับประทานอาหารชนิดนี้ จะมีร่างกายสมบูรณ์ แข็งแรง อย่างนี้เป็นปัญญาที่รู้ประโยชน์หรือเปล่า
ผู้ฟัง นี้ไม่ใช่แน่นอน
ท่านอาจารย์ แน่นอน แสดงให้เห็นว่าในการศึกษาธรรม ต้องละเอียดแล้วต้องรู้ว่า การใช้คำแต่ละแห่ง ไม่ได้ใช้ทั่วไปทั้งหมด ว่าปัญญาแล้วจะต้องเป็นสัมปชัญญะทั้งหมด แต่ว่าเวลาที่กล่าวถึงสัมปชัญญะในสติปัฏฐาน หรือว่าสัมปชัญญะ ๔ โคจรสัมปชัญญะ ก็ต้องทราบว่าต้องเกี่ยวกับปัญญาที่ประกอบด้วยสติสัมปชัญญะ ที่จะรู้ในการอบรมเจริญปัญญา เพราะว่าถ้าขณะนี้ที่เราฟัง แล้วก็ไม่เห็นประโยชน์ เพราะฉะนั้น เข้าใจถูกในสิ่งที่กำลังมีจริงๆ ในขณะนี้ซึ่งไม่เคยเข้าใจ แล้วก็ไม่เคยสนใจ ไม่เคยคิดว่าจะต้องมารู้เรื่องของตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ จะต้องมารู้เรื่องสภาพธรรมในชีวิตประจำวัน การที่จะต้องมีความเห็นถูก ก็ดีกว่ามีชีวิตวันๆ หนึ่ง โดยไม่รู้อะไรไปจนตาย แล้วในวันๆ หนึ่งอะไรบ้าง ทั้งกุศล ทั้งอกุศล ซึ่งกุศลก็คงจะน้อยมาก แต่อกุศลนั้นก็มาก พร้อมทั้งความไม่รู้ในสภาพธรรม ซึ่งจะไม่เห็นพระปัญญาคุณของพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าเลย ถ้าไม่เห็นประโยชน์ของการที่จะเข้าใจสภาพธรรมในชีวิตประจำวัน ก็ไม่มีทางที่จะออกจากสังสารวัฏฏ์ ยังคงมืดบอด เพราะเหตุว่าไม่รู้ว่าปัญญาคืออะไร แล้วปัญญารู้อะไร ปัญญาสามารถที่จะประจักษ์แจ้งสภาพธรรมได้อย่างไร
สาตถกสัมปชัญญะ เป็นเรื่องเกี่ยวกับปัญญาระดับหนึ่ง ที่จะต้องรู้ประโยชน์ แม้แต่ฃั้นฟังที่รู้ประโยชน์ จนถึงที่สุดคือการออกจากสังสารวัฏฏ์ หรือการที่ปัญญาจะรู้สภาพธรรมตามความเป็นจริง จนประจักษ์แจ้งได้ แต่ถ้าไม่มีความเข้าใจอย่างนี้ก็ไม่มีการที่จะฟังต่อไป หรือว่าพิจารณาต่อไป หรือเห็นประโยชน์ต่อไป หรือคิดว่าชีวิตในชาตินี้ควรจะดำเนินไปอย่างไร นี่ก็คือสาตถกสัมปชัญญะ
บางท่านจะได้ยินคำว่า สัปปายะสูตร นอกจากสัปปายะสัมปชัญญะ สัปปายะสูตร เป็นข้อความเรื่องการเกิดดับของสภาพธรรมในขณะนี้ เป็นสัปปายะ เป็นสิ่งที่สามารถที่จะพิจารณาเห็นจริงว่า สภาพธรรมทุกอย่างไม่เที่ยง เพียงเกิดขึ้นแล้วก็ดับไป เพราะฉะนั้น ก็แสดงให้เห็นว่าการที่เราจะฟังธรรม ไม่ใช่ฟังเฉยๆ แต่ว่าฟังแล้วต้องพิจารณาไตร่ตรอง จนกระทั่งเป็นความรู้ความเข้าใจลักษณะของสภาพธรรมจริงๆ จนกระทั่งเห็นประโยชน์ แล้วก็จะทำให้เข้าใจคำที่มีในพระไตรปิฎก และในอรรถกถา เช่น สัปปายสัมปชัญญะ กับ สัปปายสูตร ถ้าสัปปายะสัมปชัญญะ ก็สามารถรู้ว่าสิ่งใด เหมาะควรกับสิ่งใดเป็นประโยชน์ในการที่จะเป็นสัปปายะ ไม่ว่าจะเป็นอาหาร ไม่ว่าจะเป็นอุตุ ไม่ว่าจะเป็นอะไรก็ตาม แต่เพื่ออะไร ต้องมีจุดมุ่งหมายด้วย ถ้าเพื่อให้ร่างกายแข็งแรง ศึกษาเรื่องอาหาร และคุณภาพของอาหารเพื่อที่จะมีชีวิตยืนยาว อย่างนี้ก็ไม่ใช่สัปปายะสัมปชัญญะ จึงต้องมีสัปปายสูตร ให้รู้ว่า นอกเหนือจากนั้นคือว่า สภาพธรรมที่เกิดดับในขณะนี้ สามารถจะพิจารณาเห็นได้จริงๆ ได้ยิน ไม่มี มี แล้วก็หามีไม่ เกิดขึ้นแล้วก็ดับไป
ทุกอย่างเกิดขึ้น แต่ว่าไม่ได้พิจารณาเห็นความดับไป แล้วก็ไม่ได้พิจารณาเห็นความเกิดขึ้นด้วย แต่ตามความเป็นจริงทุกขณะเกิดดับอย่างรวดเร็ว เพราะฉะนั้น ต้องมีความเข้าใจทั้งสัปปายสัมปชัญญะ และ สัปปายสูตร เพื่อที่จะได้เข้าใจถูกต้องในโคจรสัมปชัญญะ โคจร คือ อารมณ์ ซึ่งเมื่อมีจิตแล้ว จะไม่มีอารมณ์ คือสิ่งที่ถูกจิตรู้ หรือว่า เป็นสิ่งที่จิตกำลังรู้ไม่ได้ เมื่อมีจิตเกิดขึ้น จิตเป็นสภาพรู้ ก็ต้องรู้สิ่งหนึ่งสิ่งใด สิ่งที่จิตรู้เป็นอารมณ์ของจิต ซึ่งทุกคนเกิดมาจะมีปัญญา หรือไม่มีปัญญา แต่เมื่อจิตเกิด จิตเป็นสภาพรู้ ก็ต้องรู้สิ่งหนึ่งสิ่งใดซึ่งกำลังถูกจิตรู้ สิ่งนั้นเป็นอารมณ์ของจิต แต่ผู้ที่จะอบรมเจริญปัญญา สามารถที่จะฟังพระธรรม เข้าใจอารมณ์ที่กำลังปรากฏว่า อารมณ์ใดเป็นสภาพธรรมที่มีจริงๆ เป็นปรมัตถธรรม ไม่มีใครที่สามารถจะเปลี่ยนแปลงลักษณะสภาพของอารมณ์นั้นได้ บางขณะก็เป็นเรื่องราวของสิ่งที่ปรากฏทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย
เพราะฉะนั้น จะแยกได้ว่า อารมณ์มีอะไรบ้าง และอารมณ์ใดมีลักษณะจริงๆ ที่จะทำให้ปัญญาสามารถที่จะประจักษ์การเกิดขึ้น และดับไป การฟังธรรม ถ้าเราฟังเผินๆ อย่างบางคนบอกว่า เวลาเดินก็ให้รู้ว่าเดิน เพียงเท่านี้ ปัญญารู้อะไร อะไรเป็นโคจรสัมปชัญญะ เป็นอารมณ์ที่ปัญญาจะต้องประจักษ์ สามารถที่จะรู้แจ้งลักษณะที่เกิดดับของอารมณ์นั้น ถ้าไม่มีการศึกษาพระอภิธรรม ทุกคนก็เพียงอ่านพระสูตร แล้วก็ต่างคนก็ต่างคิด ต่างคนก็เข้าใจ แต่เมื่อได้ศึกษาพระอภิธรรมแล้ว ความละเอียดของพระอภิธรรมก็ทำให้ความเห็นผิดหมดสิ้นไป สามารถที่จะรู้ว่าสิ่งใดถูก สิ่งใดผิด และความเห็นอย่างใดถูก ความเห็นอย่างใดผิด ลักษณะของรูปต้องปรากฏโดยทวารหนึ่งทวารใด เช่น ทางตา สีสันวัณณะขณะนี้ต้องอาศัยจักขุปสาทกระทบ จึงสามารถที่จะเห็น สิ่งที่กำลังปรากฏทางตานี้ได้ นี่เป็นอารมณ์หนึ่ง ซึ่งสติระลึก แล้วก็รู้ แล้วก็อบรมความรู้ความเข้าใจ จนกว่าจะเห็นว่าเป็นธรรม
นี่คือภาวนา การอบรมเจริญปัญญา ทางหูก็มีเสียง เสียงก็เป็นรูปๆ หนึ่ง ซึ่งต้องกระทบกับโสตปสาท ถ้าใครที่ไม่มีโสตปสาท ไม่มีทางที่เสียงนี้จะเป็นอารมณ์ คือจะปรากฏได้
รูปทั้งหมดก็จะต้องมีทางที่ปรากฏแต่ละทาง เมื่อปรากฏก็จะเห็นความเกิดขึ้น และดับไป ถ้าเข้าใจอย่างนี้จริงๆ ไม่ว่าจะอ่านมหาสติปัฏฐานหรืออะไรก็ตาม ก็จะไม่มีความสงสัยข้องใจระหว่าง พระสูตรกับพระอภิธรรม ซึ่งจะเกื้อกูลต่อการที่จะอบรมปัญญา ที่สามารถจะรู้ลักษณะของปรมัตถธรรม เพราะต้องเป็นปรมัตถธรรมที่สามารถจะกระทบทวารหนึ่งทวารใด แล้วก็ปรากฏ
นี่คือ โคจรสัมปชัญญะ ซึ่งถ้ามีความเข้าใจอย่างนี้แล้ว แล้วสติเกิดระลึกค่อยๆ อบรม อสัมโมหะสัมปชัญญะ มีความเห็นถูกต้องในลักษณะของสภาพธรรม เพราะฉะนั้น นี่ก็เป็นสัมปชัญญะ ซึ่งไม่ใช่อย่างที่เราจะเอาไปใช้ทั่วไปได้ แต่ต้องเข้าใจว่าสัมปชัญญะต้องเป็นปัญญาอีก ระดับหนึ่ง
ผู้ฟัง ฟังเรื่องสัมปชัญญะ ตอนแรกผมก็คิดว่าผมเข้าใจดีแล้ว มาวันนี้ รู้สึกว่า ไม่ธรรมดา สัมปชัญญะ ไม่ใช่ว่ามาฟังเรื่องการบรรยายธรรมแล้ว เรื่องนั้นมีกี่ข้อ มี ๕ ข้อ ๑๐ ข้อ ไม่ใช่เสียแล้ว ฟังไปฟังมา เป็นเรื่องของธรรมที่กำลังปรากฏให้เราศึกษาระลึกศึกษาได้ตลอดเวลา ในขั้นต้นที่ผมจับความหรือทำความเข้าใจได้ พอเป็นแนวทางที่ผมพอเข้าใจ รู้สึกเข้าใจยาก
ท่านอาจารย์ ค่อยๆ เข้าใจไป จะเข้าใจทันทีทั้งหมดก็เป็นไปไม่ได้ แต่ว่าของจริงก็คือว่าเป็นธรรมที่พิสูจน์ได้ คงทนต่อการพิสูจน์ ถ้าศึกษาแล้วพิจารณาเทียบเคียง ก็จะทำให้เข้าใจได้เพิ่มขึ้น
ผู้ฟัง ถึงแม้ว่าขณะนี้จะฟังพระธรรมอยู่
ท่านอาจารย์ ต้องเป็นผู้ละเอียดที่จะรู้ว่า สัมปชัญญะไม่ใช่อย่างที่เราคิด
ผู้ฟัง ไม่ใช่อย่างที่เราคิด
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 241
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 242
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 243
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 244
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 245
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 246
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 247
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 248
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 249
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 250
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 251
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 252
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 253
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 254
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 255
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 256
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 257
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 258
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 259
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 260
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 261
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 262
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 263
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 264
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 265
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 266
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 267
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 268
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 269
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 270
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 271
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 272
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 273
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 274
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 275
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 276
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 277
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 278
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 279
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 280
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 281
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 282
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 283
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 284
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 285
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 286
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 287
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 288
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 289
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 290
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 291
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 292
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 293
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 294
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 295
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 296
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 297
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 298
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 299
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 300