ปกิณณกธรรม ตอนที่ 288


    ตอนที่ ๒๘๘

    สนทนาธรรม ที่ โรงพยาบาลพระมงกุฏเกล้า

    พ.ศ. ๒ ๕๔๐


    ผู้ฟัง ฟังเรื่องตัวตน เรื่องไม่มีตัวตน ฟังแล้วก็ยิ่งงงเข้าไปอีก เพราะเหตุว่าโดยการศึกษาทราบว่า มีสภาพธรรมที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ทรงตรัสรู้ และทรงแสดงมีจิต เจตสิก มีรูป และนิพพาน แต่พอมากล่าวโดยเรื่องของคำว่าตัวตนเป็นที่พึ่ง หรือว่า จะเป็นกุศลหรืออกุศลก็ตาม ถ้าจะให้เข้าใจแล้วไม่สับสน หมายความว่าคำว่า ตัวตน เป็นคำที่จะใช้สื่อเพื่อความเข้าใจสำหรับการพูดการแสดงในแต่ละครั้งแต่ละโอกาส และว่า ถ้าจะเข้าใจจริงๆ แล้ว ต้องกล่าวว่าไม่มีตัวไม่มีตน จึงจะไปสงเคราะห์กับคำว่าธรรมทั้งหลายเป็นอนัตตา อย่างนี้ใช่หรือเปล่า

    ท่านอาจารย์ ก็เป็นเรื่องอย่างที่คุณศุกลว่า เพราะว่าถ้าเราไม่ใช้คำ เราจะรู้ได้อย่างไร ทั้งๆ ที่มีสภาพธรรม ก็จำเป็นที่จะต้องใช้คำให้เข้าใจ

    ผู้ฟัง เพราะฉะนั้น ก็เป็นความเข้าใจ ที่ควรจะต้องทราบว่า จริงๆ แล้วไม่มีตัวตน แต่เพราะเรามีอวิชชา จึงยึดถือขันธ์ ๕ หรือว่า จิต เจตสิก รูป นี้ว่าเป็นตัวเป็นตน อันนี้ก็เข้าใจว่าคงจะค่อยๆ เข้าใจขึ้นบ้างเล็กน้อย

    แต่ทีนี้ คำว่า กุศลก็ดี อกุศลก็ดี หมายความว่าถ้าจะกล่าวโดยปรมัตถธรรมแล้ว ก็ไม่ใช่สิ่งที่จะเป็นที่พึ่งได้จริงๆ อย่างนั้นใช่ไหม เพราะว่าทุกสิ่งทุกอย่างถ้าจะกล่าวโดยการเกิดดับแล้ว ก็ไม่น่าจะไปยึดถือว่า เป็นสิ่งที่เป็นประโยชน์จริงๆ เพราะกุศลก็เป็นจิตที่ดีงาม อกุศลก็เป็นจิตที่ไม่ดีงาม เพราะฉะนั้น ก็ไม่มีคำว่า เป็นเรา เป็นเขา อะไรเลย อย่างนั้นใช่ไหม

    ท่านอาจารย์ นี่เป็นเหตุที่การศึกษาธรรมต้องละเอียดว่า กำลังศึกษาส่วนไหน ข้อความไหนในพระไตรปิฎก ถ้าเรื่องของตนเป็นที่พึ่งของตน ก็แสดงให้เห็นว่า คนอื่นช่วยเราไม่ได้อย่างหนึ่ง แล้วอีกอย่างหนึ่งทรงแสดงถึงธรรมที่เป็นที่พึ่งจริงๆ เพราะเหตุว่าจะทำให้ออกจากสังสารวัฏฏ์ได้

    ผู้ฟัง ท่านอาจารย์เคยกล่าวไว้ในเทปคำบรรยายว่า ที่พึ่งที่แท้จริงนั้น คือธรรม ธรรมในที่นี้ก็ต้องเป็นธรรมที่เรากำลังเรียน กำลังศึกษาอยู่ เพื่อที่จะได้ค่อยๆ มีความรู้ความเข้าใจเพิ่มขึ้น คำว่า เป็นเกราะ หมายความว่า คงเป็นเครื่องป้องกันจะได้ทำให้เราไม่เกิดความเห็นผิด มีการศึกษาเท่าที่พอจะเป็นประโยชน์ได้ อันนี้ก็คงจะต้องมีการฟังธรรมต่อไปจนตลอด

    อ. นิภัทร ไม่ใช่เป็นเกราะ คุณศุกล เป็นเกาะ หมายความว่า เป็นที่ที่น้ำไม่ท่วม เกาะในที่นี้ หมายความว่า สามารถมีชีวิตอยู่ได้ เพราะน้ำไม่ท่วม ท่านถึงได้เอามาเปรียบเทียบ แบบนี้ ไม่ใช่เกราะป้องกัน แบบยันต์ แบบอะไรอย่างนั้น ไม่ใช่อย่างนั้น คำว่าเป็นเกาะหมายถึงว่าเป็นที่ๆ น้ำไม่ท่วม สามารถจะอยู่ได้อย่างสบาย

    อดิศักดิ์ เป็นเกาะ เป็นที่พึ่ง พระพุทธเจ้าบอกว่า เป็นสติปัฏฐาน ๔ กาย เวทนา จิต ธรรม ไม่ใช่อย่างอื่น

    ผู้ฟัง หมายความว่า ในคำอธิบายต่อไป ได้แก่การเจริญสติปัฏฐาน ๔ นั่นเอง

    ผู้ฟัง เรื่องของสติปัฏฐาน ซึ่งตอนนั้นเรื่องของเสียง จะทำให้เราเข้าใจสภาพธรรมที่มีจริง เป็นจริง อยู่ในขณะนี้ แล้วก็เมื่อช่วงที่ผ่านมา ช่วงกลางวันที่ทานอาหาร หลายๆ คนก็อาจจะมีสติที่จะระลึกรู้ สภาพธรรมที่เกิดปรากฏตามความเป็นจริง แต่ท่านอาจารย์ก็มักจะเน้นย้ำเสมอว่า ทำไม ถ้าหากว่า ถึงเวลารับประทานอาหาร เรามักจะสนใจ หรือว่าจะบอกว่าเราจะระลึกที่รสที่ปรากฏที่ลิ้น หรืออะไรอย่างนี้ ท่านก็บอกว่าขณะที่รับประทานอาหาร อย่างอื่นก็มี ไม่ว่าจะเป็นเสียง หรือว่าเป็นอาการไหวของกาย หรือว่าเป็นการจับช้อนที่แข็ง หรืออะไรอย่างนี้ หรือว่าสิ่งที่ปรากฏทางตา ซึ่งเป็นเราเห็นแล้วก็เป็นอาหารต่างๆ ชนิดต่างๆ ทั้งนั้นเลย

    แต่ว่าใครจะอบรมหรือว่า มีสติเกิด หรือว่าหลงลืมสติ ก็คงจะไม่ใช่มีสติเกิดบ่อยๆ หรือว่าเนืองๆ คงจะต้องอบรมไปเรื่อยๆ ได้อบรมเรื่องของสติปัฏฐาน ในภาคบ่ายให้เรามีเสียงที่ทำให้เราเข้าใจสภาพธรรมมากขึ้น

    ท่านอาจารย์ ที่จริงแล้วการศึกษาพระธรรมให้เข้าใจขึ้น แล้วไม่ห่วงกังวลเรื่องสติปัฏฐานเป็นสิ่งที่ถูกต้อง เพราะเหตุว่าโดยมากไปตั้งต้นที่สูงสุดคือยอด โดยที่พื้นฐานของเรายังไม่พอ จึงไม่ใช่สติปัฏฐาน หรืออาจจะมีความหวังว่า อยากจะให้สติปัฏฐานเกิดมากๆ ซึ่งไม่ใช่เป็นเรื่องละความหวัง แต่ว่าพระธรรมที่ลืมไม่ได้เลย คือว่าเพื่อละ เพราะว่าตั้งแต่เราเกิดมา เราไม่เคยคิดที่จะละ ทั้งวัน เราก็มีความหวังว่าจะได้สิ่งนั้นสิ่งนี้ หรือว่า ทำอย่างนั้นเพื่อสิ่งนี้ แต่ถ้าศึกษาพระธรรมจริงๆ แล้ว จะเห็นได้ว่า ตรงกันข้ามกับทางโลก เพราะเหตุว่าทางโลกเป็นทางได้ แต่ว่าทางธรรมเป็นเรื่องละ อย่างที่กล่าวถึงในตอนเช้าที่ว่า เราเคยรู้สึกตัวบ้างไหมว่า เรามีกิเลสมากมาย แล้วเราก็คิดถึงพระนิพพาน พอมีกิเลสมากก็คิดถึงพระนิพพาน แต่ทำไมไม่คิดถึงที่จะเป็นคนดีเพิ่มขึ้น เพื่อจะถึงพระนิพพาน เพราะว่าถ้ายังเต็มไปด้วยกิเลส หรือว่าความไม่ดี ไม่มีทางเลยที่จะถึง อย่างไรๆ ก็ถึงไม่ได้ แล้วสำหรับความดีก็มีหลายขั้น ถ้าเป็นความดีที่ไม่ประกอบด้วยปัญญา ก็ไม่ถึงนิพพานเหมือนกัน เพราะเหตุว่าผลของความดีที่ไม่ประกอบด้วยปัญญา ไม่เป็นเหตุให้ออกจากสังสารวัฏฏ์ ซึ่งพูดถึงสังสารวัฏฏ์ คือขณะนี้ที่กำลังเห็น แล้วก็กำลังได้ยิน กำลังคิดนึก ทุกขณะจิตที่เปลี่ยน หรือดับไป หมดไป จากทางตาไปสู่ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ เป็นอย่างนี้ตลอด เมื่อวานนี้ก็เป็นอย่างนี้ วันนี้ก็เป็นอย่างนี้ ต่อไปก็เป็นอย่างนี้ ข้างหน้าอีกแสนโกฏิกัปป์ก็ไม่พ้นจากความเป็นอย่างนี้เลย

    ต้องเป็นอย่างนี้ คือ เกิดมาแล้วก็ต้องเห็น ต้องได้ยิน ต้องคิดนึก ต้องได้กลิ่น ต้องลิ้มรส ถ้าเป็นเรื่องอื่น ถึงจะมีความรู้มากเท่าไร ก็ไม่สามารถที่จะออกจากสังสารวัฏฏ์

    ธรรมเป็นเรื่องละเอียด มิฉะนั้นไม่ทรงแสดงพระธรรมถึง ๔๕ พรรษา โดยง่ายๆ ว่า ขอให้พูดเรื่องสติปัฏฐาน จบ ก็จะไม่มีพระธรรมส่วนอื่นเลย แต่เพราะเหตุว่ากิเลสมีมาก แล้วก็ทุกคนเคยหวังที่จะได้ ไม่เคยคิดที่จะละ ก็ให้กลับมาตั้งต้นใหม่ คือแทนที่จะคิดถึงพระนิพพาน ซึ่งถึงได้ แต่ไม่ใช่วันนี้ หรือพรุ่งนี้ ถึงได้เมื่อมีปัญญา ฟังพระธรรม แล้วก็ค่อยๆ เข้าใจขึ้น เห็นประโยชน์ว่า การฟังนั้นไม่ใช่เพื่อเพียงฟังความรู้ แต่เพื่อที่จะละกิเลส ซึ่งอย่างอื่นไม่สามารถจะละได้ นอกจากความเข้าใจธรรม

    ไม่ต้องคิดถึงเรื่องสติปัฏฐานก็ได้ แต่ว่าคิดถึงเรื่องความเข้าใจธรรมให้เพิ่มขึ้น เมื่อมีความเข้าใจธรรมเพิ่มขึ้น จะเป็นหนทางที่จะทำให้สติมีการระลึก สามารถเข้าใจสภาพธรรมที่ปรากฏ ตามที่ได้ศึกษาแล้ว ตรงตามความเป็นจริงทุกอย่าง

    สิ่งสำคัญ คือ ปัญญาความเข้าใจที่ต้องเริ่มตั้งแต่ตอนต้น แล้วก็ไม่ต้องกังวลเรื่องสติปัฏฐานเลย เมื่อมีเหตุปัจจัยที่จะให้สติระลึก ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังมีเดี๋ยวนี้จริงๆ สติก็เกิดได้ ปัญญาก็สามารถที่จะรู้ได้ เพราะเหตุว่าเคยฟัง เคยเข้าใจ เคยพิจารณาลักษณะของสภาพธรรมโดยขั้นเข้าใจมาแล้ว

    เมื่อใดที่สติเกิดระลึกได้ ก็สามารถที่จะรู้ตามความเป็นจริงของสภาพธรรมในขณะนั้น ลืมเรื่องสติปัฏฐานไปก่อนก็ได้ แต่ว่าให้มีความเข้าใจธรรมเพิ่มขึ้น

    ทั้งหมดนี้เพื่อละ เพื่อละความต้องการที่จะให้สติเกิด มิฉะนั้นก็อาจจะเป็นการส่งเสริม แล้วก็มีการทำ พยายามทำหลายๆ ทาง แต่ลืมเรื่องอกุศลของตัวเอง แล้วก็ลืมเรื่องความรู้ที่จะต้องเพิ่มขึ้น

    ผู้ฟัง เมื่อพูดถึงสังสารวัฏฏ์ ท่านอาจารย์เคยกล่าวไว้ในเทป หลายครั้งหลายตอนว่า ทุกท่านเกิดมาแสนโกฏิกัปป์แล้ว แล้วถ้ายังเป็นความไม่รู้อยู่ต่อไป เหมือนอย่างชาตินี้ ที่ก่อนได้มีโอกาสฟังพระธรรม สังสารวัฏฏ์ก็จะต้องมีเวลายืดยาวนานต่อไปอีก การฟังพระธรรมเพื่อความรู้ เพื่อความเข้าใจ นำไปสู่การประพฤติปฏิบัติ เพื่อดับสังสาระ เราจะได้ไม่ต้องเวียนตายเวียนเกิดอย่างที่ผ่านมาแล้ว ถึงแม้ว่าจะไม่ทราบว่า ชาติก่อนเคยเกิดเป็นอะไร แต่ก็พอจะประมาณได้ว่า ต้องเป็นสิ่งที่ดี จึงทำให้ปัจจุบันนี้ได้เกิดมาเป็นมนุษย์ แล้วเมื่อเกิดมาเป็นมนุษย์แล้วก็ยังได้มีโอกาสฟังพระธรรม แล้วก็ได้เข้าใจในเรื่องหนทางต่างๆ ตามที่ท่านอาจารย์สุจินต์ได้บรรยายมาทั้งหมดนี้

    จุดประสงค์ตรงนี้ ผมอยากจะขอความเข้าใจจากท่านอาจารย์สุจินต์ว่า ทุกท่านเมื่อมาประชุมร่วมกันแล้ว ทราบว่ามีรายการธรรมหลายๆ สถานี หลายๆ เวลา ต่างก็ให้ความสำคัญ และสนใจ แต่ทีนี้ว่าการฟังธรรม จะเป็นวิทยุก็ดี ฟังอย่างไร จึงจะทำให้เกิดความเข้าใจ แล้วก็ละคลายความเป็นตัวเป็นตนลงไปทีละเล็กทีละน้อยได้บ้าง

    ท่านอาจารย์ ฟังอย่างไร ใช่ไหม

    ผู้ฟัง ฟังเพื่อให้เกิดความเข้าใจอย่างไร

    ท่านอาจารย์ ฟังแล้วก็พิจารณาในสิ่งที่กำลังได้ยินได้ฟังว่า เป็นความจริงอย่างนั้นๆ ไหม ฟังให้เข้าใจในเหตุในผลที่ถูกต้อง

    ผู้ฟัง อย่างเช่น บอกว่าสิ่งที่กำลังปรากฏทางตาเดี๋ยวนี้ ไม่ใช่สัตว์ บุคคล ตัวตน ฟังแล้วโดยความเป็นจริง ถ้ายังไม่มีความรู้จริงๆ อย่างที่พอจะเข้าใจได้ เห็นก็เป็นสิ่งใดสิ่งหนึ่งตลอดเวลา แต่ถ้าสมมติว่า มีความรู้ทางภาคปริยัติ ก็พอจะมีการสังเกตในขณะที่เห็นได้ อย่างนี้ถือว่าเป็นการสังเกตพิจารณาได้บ้างเล็กๆ น้อยๆ ไหม

    ท่านอาจารย์ ต้องเป็นการฟังบ่อยๆ แล้วให้เข้าใจในอรรถของความไม่มีตัวตน ถ้าฟังปริยัติมาแล้วมาก แต่เวลาที่สติเกิด ปริยัติอยู่ที่ไหน มานั่งนึกหรือว่า นี่เป็นจิตอะไร ประกอบด้วยเจตสิกอะไร ไม่ใช่อย่างนั้นเลย การฟังให้เข้าใจในความเป็นอนัตตา เช่น จิตเป็นสภาพที่เกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัยแล้วก็ดับไป ปัจจัยที่ทำให้เกิดจิต คือเจตสิก เพราะฉะนั้น จิตกับเจตสิกก็เกิดพร้อมกัน ดับพร้อมกัน ค่อยๆ ฟังไปจนกระทั่งรู้ว่า เมื่อเป็นจิต และเจตสิก แล้วเป็นรูป เราอยู่ที่ไหน เมื่อยังไม่เข้าใจหรือว่าเข้าใจไม่พอ ก็ฟังอีก เวลาที่สติเกิดแล้วรู้ไม่พอก็ยังต้องระลึกอีกบ่อยๆ เนืองๆ ไปเรื่อยๆ เป็นเรื่องของการอบรม เป็นเรื่องของการเจริญภาวนา หมายความว่าอบรมไปจนกว่าปัญญาจะสมบูรณ์

    ผู้ฟัง สุสสูสังลภเตปัญญัง ที่ว่า ฟังด้วยดี อาจารย์สมพรลองช่วยขยาย ฟังด้วยดี ฟังด้วยดีอย่างไร

    สมพร สุสสูสัง แยกเป็น ๒ อย่าง ฟังด้วยดี สุสสูสัง ลภเต แปลว่า ย่อมได้ ปัญญัง คือปัญญา ฟังด้วยดีคือฟังอย่างไร เราตั้งใจฟัง ในสมัยก่อนแม้พระองค์จะตรัสธรรมเทศนา พระองค์ก็เตือนภิกษุก่อน เรียกภิกษุก่อนว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย ยังไม่แสดงธรรมเลย ภิกษุบางพวกก็กำลังเข้าฌาน บางพวกก็กำลังสนใจอย่างอื่น คิดอย่างอื่น เมื่อพระองค์ตรัสว่าดูกรภิกษุทั้งหลาย ตั้งใจ คือตั้งใจฟังธรรม แล้วพระองค์ได้ตรัสธรรม เช่นเดียวกัน สุสสูสังลภเตปัญญัง ฟังด้วยดี ตั้งใจฟัง การตั้งใจฟัง พระองค์ก็ตรัสว่า เคารพในธรรม

    ผู้ฟัง ทีนี้ว่า เราก็มา บาลีมีว่าอย่างนั้น ที่ท่านอาจารย์ได้พร่ำสอน พร่ำพูดอยู่เป็นเวลา ๓๐ - ๔๐ ปี คุณศุกลก็สงสัยว่า ฟังอย่างไร ถึงถือว่าฟังด้วยดี ฟังอย่างไรๆ เห็นทีไรก็เป็นโต๊ะ เป็นเก้าอี้ แล้วที่ฟังอย่างไรถึงจะเห็นการฟังด้วยดี ฟังท่านอาจารย์ฟังไปเรื่อยๆ ท่านก็เคยพูดแล้ว ไม่ต้องจด แล้วไม่ต้องก้มหน้า ก้มตาลงจด อะไรๆ ผมก็ถืออย่างนี้มาตลอด ทั้งๆ ที่ก่อนที่ท่านจะสั่งสอนผมว่า ไม่ต้องจด ผมก็ไม่จด เพราะว่าไปฟังก็ไปที่วัดบวรก็ไป ก็ฟังอย่างเดียว ฟังแล้ว หลังจากที่ออกจากวัดบวร ขับรถกลับบ้าน เป็นเวลา ๒ วัน ที่คำสอนของท่านประมาณ ๒ - ๓ ชั่วโมง มันก้องอยู่ในหู ความไม่มีตัวตน มีแต่สภาพธรรม มีแต่ปรมัตถธรรม จิต เจตสิก รูป มันก็ก้องเข้าไปในหู เห็นเป็นสิ่งที่ปรากฏ เห็นเป็นสภาพรู้ สิ่งที่ปรากฏทางตา จักขุวิญญาณเท่านั้นที่จะรู้ สิ่งต่างๆ เหล่านี้มันก้องเข้าไปๆ มันเกิดสัญญาความจำ ความจำในสภาพธรรม มันก็เกิดขึ้นทีละเล็กทีละน้อย วันหนึ่งมันได้เหตุ ได้ปัจจัย สติก็เกิดระลึกได้

    ผู้ฟัง ทางตาเห็น ถ้าเป็นสติปัฏฐาน ลักษณะที่ปรากฏนี้จะพิจารณาในขณะนั้น จะมีความแตกต่างจากหลงลืมสติอย่างไรบ้าง

    ท่านอาจารย์ ทำไมคุณศุกลต้องพอเป็นสติปัฏฐาน ก็ฟังธรรมให้เข้าใจ สติไม่เกิดก็ไม่เกิด สติเกิดก็คือสติระลึก ให้เห็นเป็นธรรมดา เป็นปกติ ไม่ใช่พอไปทำสติปัฏฐาน แล้วก็ทางตาจะเห็นเป็นอย่างไร ต่างกันเป็นอย่างไร ไม่ใช่เรื่องอย่างนั้นเลย เป็นเรื่องสติปัฏฐานไม่เกิดเพราะไม่มีปัจจัย ถ้าไม่มีความเป็นตัวตนอย่างมากอย่างนี้ก็จะไม่เดือดร้อน แต่ถ้ามีความเป็นตัวตน จะไม่รู้เลยว่า ความมีตัวตนพยายาม แอบพยายามก็ได้ที่จะให้เป็นอย่างนั้น ให้เป็นอย่างนี้ โดยที่ว่าทั้งๆ ที่ฟังตั้งแต่ต้นด้วยความแยบคาย หรือฟังด้วยดีว่า ธรรมทั้งหลายเป็นอนัตตา ถ้าฟังอย่างนี้จริงๆ เราก็ฟังธรรมไปอีก ให้เห็นความเป็นอนัตตาไปอีก แล้วไม่ต้องห่วงกังวลเรื่องสติปัฏฐาน ถ้าสติเกิด สภาพธรรมขณะนี้เป็นปกติอย่างนี้ นั่นคือสติระลึกลักษณะสภาพธรรมที่กำลังปรากฏตามปกติ

    ผู้ฟัง เพราะว่าสิ่งที่บอกว่าเป็นปกติ ทีนี้ความที่มันไม่เคยปรากฏ

    ท่านอาจารย์ อะไรไม่ปรากฏ

    ผู้ฟัง สติปัฏฐาน

    ท่านอาจารย์ มิได้ สติระลึกรู้สิ่งที่ปรากฏตามปกติ ตามปกติคือเดี๋ยวนี้ ถ้าสติจะเกิด สติก็ระลึกนิดหนึ่งก็หมดแล้ว สติก็ดับ ก็เป็นของธรรมดา ให้เห็นว่าเป็นธรรมดา แต่ค่อยๆ เข้าใจว่าสติปัฏฐานไม่ใช่รู้อื่น สภาพธรรมที่กำลังปรากฏตามธรรมดาทุกอย่าง ผิดธรรมดาไม่ได้ ถ้าผิดธรรมดา นั่นคือผิด เพราะเหตุว่ามีความเป็นตัวตนที่ทำให้คลาดเคลื่อน แต่ถ้าเป็นการละความเป็นตัวตน ธรรมกำลังปรากฏ ไม่ว่าจะทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ สภาพปกติอย่างนี้ที่ปัญญาจะค่อยๆ เข้าใจขึ้น เพราะระลึกได้

    ผู้ฟัง เวลาสติเกิดไม่มีคำว่าไกล ใกล้ ใช่ไหม

    ท่านอาจารย์ นึกอะไร นึกใกล้ไกลทำไม ก็ขณะนี้สภาพธรรมเป็นอย่างนี้ เหมือนอย่างนี้ ไม่ต้องไปนึกไกลใกล้ ไม่ต้องไปทำอะไรอีก แม้แต่ไกลใกล้ก็ไม่ต้องคิด มีสภาพธรรมปรากฏให้รู้ให้เข้าใจ

    ผู้ฟัง เพราะว่าตามความเป็นจริงเดี๋ยวนี้ ทราบว่าสติไม่เกิด แล้วก็เห็นปุ๊บ มันมีความคิดในระยะขึ้นมา สมมติเห็นพระพุทธรูป ก็มีระยะขึ้นมาทันทีเลย ทีนี้จริงๆ สิ่งที่ปรากฏทางตา ต้องเป็นเพียงสิ่งที่ปรากฏกับจักขุวิญญาณเท่านั้น ไม่มีระยะ

    ท่านอาจารย์ ก็เป็นเรื่องยาวอีก ต้องเป็นสิ่งที่ปรากฏทางจักขุวิญญาณเท่านั้น ไม่มีระยะ แต่สภาพธรรม จริงๆ คือเดี๋ยวนี้ อย่างนี้ ปกติอย่างนี้ ไม่ต้องมีความคิดแทรกเข้ามา ว่าปกติมีความคิดถึงระยะยาวไกล นั่นคือนึกหมดเลย แต่ขณะนี้คือสภาพธรรม เปลี่ยนไม่ได้ เป็นจริงอย่างนี้ คือเป็นจริงอย่างนี้ และเมื่อสติระลึก คือค่อยๆ รู้ ค่อยๆ เข้าใจ คำว่าค่อยๆ เข้าใจ นานมากกว่าจะเข้าใจจริงๆ สำหรับคนที่อบรมเจริญมาแล้วไม่ยาก ไม่นาน แต่ว่าสำหรับคนที่เพิ่งเริ่มต้น ก็ต้องเป็นจิรกาลภาวนา ที่ต้องอาศัยกาลเวลา

    เพราะฉะนั้น คนที่อบรมเจริญสติปัฏฐานที่ถูกต้องจะเข้าใจเลยว่า สภาพธรรมเป็นปกติ แต่การอบรมเจริญปัญญาเป็นเรื่องของกาลเวลา เพราะว่าสภาพธรรมไม่เปลี่ยน แต่ว่าความไม่รู้มีมาก ที่จะค่อยๆ รู้ขึ้น เปลี่ยนจากเดิมที่ไม่รู้ ก็ต้องอาศัยกาลเวลาอย่างเดียว ไม่ใช่อาศัยอย่างอื่น เมื่อมีความเข้าใจธรรมถูกต้อง มีสัญญาความจำที่มั่นคง ในเรื่องของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ เป็นปัจจัยให้มีการระลึกได้ว่า ขณะนี้เป็นธรรมอย่างหนึ่ง ธรรมอย่างนี้กำลังปรากฏทางตา

    นี่คือความรู้ความเข้าใจ ไม่ใช่ไปทำอย่างอื่น

    ผู้ฟัง เรื่องความคิดนี้มันก็เป็นของธรรมดา แต่ว่าเวลาที่สติเขาเกิด มันจะเกิดความสงสัยว่า เป็นสติ หรือเป็นเราคิดกันแน่ ในขณะนี้

    ท่านอาจารย์ เป็นธรรมหมดเลย ซึ่งกว่าปัญญาจะรู้ตลอดรู้ทั่ว รู้หมดว่า ไม่ใช่เรา ก็เป็นจิรกาลภาวนา

    ผู้ฟัง คุณศุกลเคยได้ยินที่พระพุทธเจ้าตรัสไว้ว่า อย่าถือนิมิต และอนุพยัญชนะ เคยได้ยินไหม

    ผู้ฟัง ฟังจากคำบรรยาย

    ผู้ฟัง คำบรรยายก็มี และพระพุทธองค์ก็ตรัสไว้ในพระไตรปิฎกมากมาย หรือคุณศุกลชอบถือนิมิต และอนุพยัญชนะมากกว่า

    ผู้ฟัง คือมันจะว่าถือก็ไม่ถือ แต่สิ่งที่มันปรากฏ มันก็เกิดจากการเห็น การได้ยิน นิมิต และอนุพยัญชนะก็เกิดตามมา เพราะเป็นจิตที่ต้องคิดอย่างนั้น ก็เลยคิดว่านั้นเป็นปกติของคนที่หลงลืมสติ อย่างนี้จะพอไปได้ไหม

    ผู้ฟัง ต้องอย่างที่ท่านอาจารย์ว่า ค่อยๆ

    ผู้ฟัง อันนี้ก็ไม่รีบร้อนอะไร มีหน้าที่ฟังก็ฟัง พิจารณา มีการสอบถาม เพื่อเราจะได้ไม่คิดเองแล้วก็ผิดมาก กับฟังคำอธิบายจากท่านอาจารย์ ก็ไปพิจารณาเพิ่มเติม

    ท่านอาจารย์ ความจริงเป็นอย่างไรก็เป็นอย่างนั้น ไม่รู้ก็คือไม่รู้ ค่อยๆ รู้นิดหนึ่งก็คือนิดหนึ่งจริงๆ และเมื่อรู้นิดหนึ่งจริงๆ จะไปเอามากๆ แล้วก็จะให้ทำอย่างไรได้มากๆ ก็ไม่ถูกต้อง ต้องรู้ตามความเป็นจริงว่า ธรรมเป็นจริงอย่างไร ปัญญาจะต้องค่อยๆ อบรม จนกว่าจะรู้ตรงตามปริยัติที่ได้เข้าใจ

    ผู้ฟัง ถ้ามีการสนทนาธรรมมากขึ้นก็จะเกื้อกูล เรื่องสนทนาธรรมผมว่าเป็นปัจจัยสำคัญอันหนึ่งทีเดียว ที่ทำให้สติระลึกรู้สภาพธรรมตามความเป็นจริง ตามปกติในชีวิตประจำวันได้เลย

    ท่านอาจารย์ ขอถามเวลานี้มีใครอยากให้สติเกิดมากๆ บ้าง มีไหม มีใครอยากให้สติเกิดมากๆ ไหม อยาก ไม่ถูกแล้ว เพราะเหตุเรามีอกุศลเท่าไร ตามความเป็นจริง เราค่อยๆ ฟังธรรมให้เข้าใจ ถ้าอยาก ไม่รู้เลยว่า โลภะมาแล้ว เครื่องกั้นมาแล้ว ความเป็นตัวตนมาแล้ว แล้วเราไม่เห็นตัวนี้ แล้วเมื่อไรเราจะละตัวนี้ได้ ไม่มีทางเลย

    ในอริยสัจธรรม ซึ่งเป็นเรื่องของการอบรมเจริญปัญญา ไม่ใช่เพียงแต่รู้ทุกข์ ยังต้องรู้เหตุของทุกข์ด้วย ว่าตราบใดที่ยังมีโลภะ มีความต้องการอยู่ ไม่มีการถึงอริยสัจที่ ๓ คือ พระนิพพาน ทั้งๆ ที่รู้อย่างนี้ ก็ยังอยากอยู่นั่นแหละ ประเดี๋ยวๆ ก็อยากอีก ประเดี๋ยวๆ ก็อยากอีก แล้วอย่างไร ธรรมตามความเป็นจริงเป็นอย่างไรก็คือเป็นอย่างนั้น เราไม่สามารถจะรู้แจ้งนิพพานได้โดยรวดเร็วโดยปัญญาไม่เกิด โดยไม่เข้าใจสภาพธรรมขึ้น เพราะการเข้าใจสภาพธรรมขึ้น เห็นความเป็นอนัตตา จึงใช้คำว่า เข้าใจธรรมขึ้น ถ้าศึกษาธรรมแล้วก็เป็นเราทั้งหมด ก็หมายความว่าไม่ได้เข้าใจความจริง ตามที่ได้ศึกษาว่า เป็นธรรม

    การศึกษาธรรมจริงต้องละเอียดว่า ไม่ว่าจะฟังเรื่องอะไรก็ตาม ไม่ใช่อยากจะให้เป็นอย่างนั้น ฟังเรื่องของสังฆทาน มีผลมากมีอานิสงส์มาก อยากได้ผลมาก ฟังเรื่องความสงบของจิต อยากสงบ แล้วนี่อะไร เป็นเรื่องต้องการทั้งหมดเลย ไม่ใช่เรื่องรู้แล้วละตามความเป็นจริง ค่อยๆ รู้ว่าความสงบนั้น คือขณะใดที่กุศลจิตเกิด แล้วเวลาโกรธกุศลจิตเกิดหรือเปล่า ไม่ใช่

    เพราะฉะนั้น ก็เห็นได้เลยว่า ขณะที่โกรธก็เป็นอกุศล ไม่ใช่กุศล ก็เป็นของธรรมดาที่เมื่อยังมีเหตุจะให้อกุศลจิตเกิดก็เกิด แต่ถ้าเข้าใจธรรมขึ้นไม่เดือดร้อน แต่ถ้าคนที่ฟัง ฟังแล้ว เป็นอนัตตา เป็นอนัตตา พออกุศลเกิด ไม่อยากมีอกุศล พอสติปัฏฐานไม่เกิด อยากมีสติปัฏฐาน แล้วก็เลยทิ้งความเข้าใจที่ว่า เป็นอนัตตาไป แต่เป็นเรื่องละเอียด ธรรมเป็นเรื่องละเอียดจริงๆ ต้องพิจารณาโดยรอบจริงๆ

    ทีนี้ถ้าถามว่ามีใครอยากให้สติปัฏฐานเกิดมากๆ ยังมีไหม ถ้ามีเหตุปัจจัยที่จะให้สติเกิดมากๆ ไม่ต้องอยาก

    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 97
    17 พ.ย. 2567