ปกิณณกธรรม ตอนที่ 289


    ข้อความนี้อยู่ระหว่างตรวจสอบแก้ไข

    ตอนที่ ๒๘๙

    สนทนาธรรม ที่ โรงพยาบาลพระมงกุฏเกล้า

    พ.ศ. ๒๕๔๑


    ท่านอาจารย์ ถ้าถามว่า มีใครอยากให้สติปัฏฐานเกิดมากๆ ยังมีไหม ถ้ามีเหตุปัจจัยที่จะให้สติเกิดมากๆ ไม่ต้องอยาก เพราะเหตุว่ามีเหตุปัจจัยพอที่จะให้สติเกิดมากๆ ทุกอย่างขึ้นกับเหตุปัจจัย ถ้ายังไม่มีเหตุปัจจัยที่จะให้สติปัฏฐานเกิดบ่อยๆ สติปัฏฐานก็เกิดบ่อยไม่ได้ แต่ถ้ามีปัจจัยที่จะให้สติปัฏฐานเกิด สติปัฏฐานก็เกิด ใครก็จะไปยับยั้งไม่ให้สติปัฏฐานเกิด ก็เกิดไม่ได้ แต่ข้อสำคัญ คือ เมื่อสติปัฏฐานเกิด อยากให้เกิดอีก เรื่องของความอยากจะติดตามไปโดยตลอด

    เรื่องของสมุทัย เป็นเรื่องที่จะต้องรู้อย่างละเอียดมากว่า โลภะที่จะต้องละก่อน คือโลภะที่เกิดร่วมกับความเห็นผิด ความเห็นผิด สำคัญคนที่ศึกษาพระธรรม ก็คงจะไม่ไปกราบไหว้ต้นไม้ แต่ว่ามีความเห็นผิดในการอบรมเจริญปัญญา เพราะฉะนั้น เวลาที่มีสติเกิดระลึก แล้วก็มีความต้องการเกิดขึ้น ถ้าเป็นผู้ที่เห็นถูกคือรู้ว่าขณะนั้นเป็นสภาพธรรมอย่างหนึ่ง จะคิดเรื่องเจตสิก จะคิดเรื่องอะไรก็แล้วแต่ ก็เป็นสภาพธรรมแต่ละอย่าง นั่นคือผู้ที่เห็นถูก แต่ถ้าผู้ที่เห็นผิดในปฏิบัติก็คือว่า เมื่อสติเกิด อยากให้สติเกิดอีก หรือว่าไม่อยากจะให้คิดอย่างนั้น ไม่อยากจะให้คิดอย่างนี้

    นี่คือผู้ที่ไม่เข้าใจหนทางว่า การอบรมเจริญปัญญาต้องเป็นเรื่องรู้สภาพธรรมว่าทั้งหมดเป็นธรรม ไม่มีเรา

    ถ. ฟังท่านอาจารย์ถามว่า มีใครอยากให้สติเกิดบ้าง ทั้งๆ ที่คิดว่าตัวเองฟังพอเข้าใจบ้างเล็กน้อย แต่ก็อยากให้สติปัฏฐานเกิด

    ท่านอาจารย์ ยังมีความต้องการอยู่อย่างนี้ ไม่ลดลงไปเลย แต่เมื่อไรที่เป็นปกติ รู้ว่าชีวิตเป็นอย่างนี้ตามความเป็นจริง มีปัจจัยของอกุศลจิตจะเกิดมาก อกุศลจิตก็เกิดมาก ก็ดับไปแล้ว ก็ไม่เดือดร้อน และสะสมฝ่ายกุศลขึ้นเรื่อยๆ จนกระทั่งค่อยๆ มีกำลังขึ้น ปัญญาความรู้เพิ่มขึ้นก็ไม่เดือดร้อน เพราะตามกำลังของตามความเป็นจริงว่า อกุศลในแสนโกฏิกัปป์มากเท่าไร แล้วจะให้วันนี้ฟังอย่างไรสติปัฏฐานจะเกิดมากๆ ทำอย่างไรถึงจะรู้ความจริงของสภาพธรรม ไม่ใช่เรื่องทำ แต่เป็นเรื่องอบรม

    ผู้ฟัง บางทีก็อยากให้เกิดมากๆ บางทีท่านอาจารย์ถาม บางทีก็รู้สึกเฉยๆ บางทีก็เข้าใจว่า ลักษณะอย่างนั้นเป็นลักษณะของโลภมูลจิต

    ท่านอาจารย์ เป็นจริงอย่างนี้ก็เป็นจริงอย่างนี้ จนกว่าปัญญาจะรู้ทั่ว

    ผู้ฟัง ผมก็คิดว่า เราก็เริ่มรู้จักตัวเราเองได้มากขึ้น ใช่ไหม

    ท่านอาจารย์ เป็นจริงอย่างไรก็เป็นจริงอย่างนั้น ขอให้รู้ตามความเป็นจริงว่า เป็นธรรมแต่ละอย่าง ไม่พ้นจากจิต เจตสิก รูป

    ผู้ฟัง พูดถึงเรื่องความเข้าใจธรรมแม้ผมเองผมก็ยังงง เข้าใจว่าทุกท่านก็คงอยากจะทราบว่า ความเข้าใจอันนั้นคือเข้าใจอย่างไร ผมอยากจะเรียนถาม

    ท่านอาจารย์ ใช่ จิต มีไหม

    ผู้ฟัง มี

    ท่านอาจารย์ นั่นคือเข้าใจ จิตมีลักษณะอย่างไร

    ผู้ฟัง จิตมีลักษณะรู้อารมณ์

    ท่านอาจารย์ นั่นคือความเข้าใจ จิตเกิดโดยไม่มีปัจจัยได้ไหม

    ผู้ฟัง ไม่ได้

    ท่านอาจารย์ นั่นคือความเข้าใจ

    ผู้ฟัง ก็จำได้กันทุกคน

    ท่านอาจารย์ ไม่ใช่จำได้ ถามตอบนี้หมายความว่า ต้องคิด ไม่ได้ไปท่องหรือไปจำ จิตมี ไม่ใช่มีแต่รูปธรรม จิตเป็นสภาพรู้หรือธาตุรู้ที่กำลังเห็น กำลังได้ยิน นี่คือ จิต ทั้งนั้นเลย ถ้าไม่มีจิต ไม่มีเจตสิก ไม่มีสภาพรู้ ไม่มีนามธรรม ก็ไม่มีอะไรปรากฏ ที่กำลังปรากฏ ปรากฏกับจิต เพราะจิตเป็นสภาพรู้

    ผู้ฟัง เรื่องการตรึกนึกถึงรูปสัณฐาน สมมติว่าเส้นทางที่ผมเดินไปทำงาน ผมได้ผ่านต้นดอกแก้ว ได้กลิ่น แล้วผมกระทบกลิ่น ก็ไปแปลความหมายว่า กลิ่นดอกแก้ว ผมก็คิดว่า มันมีกลิ่น แล้วมันก็เปลี่ยนไปทันที คิดเลยว่า นี่คือกลิ่นดอกแก้ว ผมก็มอง แล้วมันอาจจะเป็นได้ว่า พอใจว่ากลิ่นหอม ผมก็มองว่า การเป็นอย่างนี้ เราควรจะพิจารณาในฐานะที่เรามาฟังธรรมอย่างไร

    ท่านอาจารย์ ตามธรรมดาก็ทราบอยู่ว่า จิตมีทางที่รู้อารมณ์ได้ ๖ ทาง ทางตาเห็น ทางจมูกได้กลิ่น แล้วทางใจก็คิดนึกเรื่องราวต่างๆ ล้วนเป็นสภาพธรรมที่มีจริงๆ

    อย่าพยายามไปเร่งสติให้ระลึก ให้รู้ เป็นไปไม่ได้ แต่ว่าให้เข้าใจธรรมขึ้น เมื่อเข้าใจธรรมขึ้น แล้วแต่จะอยู่ที่ไหน เหตุการณ์อะไรเกิดขึ้น สถานการณ์จะเป็นอย่างไร ถ้าสติมีปัจจัยจะเกิดก็เกิด แล้วปัญญาก็ค่อยๆ เข้าใจให้ถูกต้องว่า ขณะนี้ แม้แต่เดี๋ยวนี้ เราไม่ต้องไปพูดถึงดอกแก้ว ไม่มีดอกแก้วแล้ว ไม่มีกลิ่นแล้ว แต่ขณะนี้มีสภาพธรรมกำลังปรากฏ ลักษณะจริงๆ จริงแท้ของสิ่งที่ปรากฏ ก็คือ เป็นรูปธรรมชนิดหนึ่ง เพราะเหตุว่ามีลักษณะปรากฏให้เห็นทางตา สิ่งที่ปรากฏให้เห็นทางตา ไม่ใช่สภาพรู้ แต่ว่าในขณะที่กำลังปรากฏให้รู้ ก็เพราะเหตุว่ามีจิตซึ่งเกิดขึ้นต้องกระทบกับรูปนั้น โดยอาศัยจักขุปสาท ทำให้มีการเห็นเกิดขึ้น นี่คือความเข้าใจถูก

    เพราะฉะนั้น เก็บความเข้าใจถูกนี้ ให้เป็นสัญญาความจำที่มั่นคงขึ้นว่า จริงๆ แล้วในขณะนี้ มีสิ่งที่ปรากฏทางตา แล้วหลังจากนั้นก็มีการนึกคิดเรื่องราวต่างๆ จากสิ่งที่ปรากฏทางตา ไม่ว่าภพไหนชาติไหนก็เป็นอย่างนี้ คือ เมื่อมีสิ่งใดปรากฏทางตา ก็จะมีการเอาเรื่องราว คน สัตว์ บุคคล สัณฐานต่างๆ โดยการทรงจำในสิ่งที่ปรากฏนั้นเป็นสิ่ง หนึ่งสิ่งใด แม้แต่ว่าเป็นดอกแก้ว หรือว่าต้นแก้ว หรือเป็นถนนหนทางที่กำลังเดิน แท้ที่จริงแล้วจิตเกิดดับเร็วมาก จนกระทั่งทำให้สืบต่อกันเหมือนมีคนจริงๆ ที่กำลังเห็น กำลังคิด และกำลังเดิน แต่ถ้าแยกย่อยขณะนี้ให้ละเอียดยิบ จิตเกิดขึ้นแล้วก็ดับไปเร็วมาก มีสิ่งที่ปรากฏเกิดขึ้นแล้วก็ดับไปเร็วมาก แต่ซ้อนๆ กันโดยที่ว่า จิตเกิดดับสลับ จนกระทั่งเหมือนกับปรากฏว่าเป็นสิ่งหนึ่งสิ่งใด

    การที่จะเข้าใจธรรมให้ถูกต้อง ไม่ใช่ไปเปลี่ยนแปลงสิ่งที่ปรากฏ แต่เปลี่ยนแปลงความไม่เคยรู้ ไม่เคยเข้าใจว่า แท้ที่จริงเป็นสิ่งที่กำลังปรากฏ แล้วก็ปรากฏอย่างนี้แหละทางตา แต่ว่าเมื่อปรากฏแล้ว แล้วแต่ใจจะคิด ใจจะคิดถึงอะไรก็ได้จากสิ่งที่ปรากฏ แล้วเป็นอย่างนี้ตลอดมาในสังสารวัฏฏ์ แล้วต่อไปก็จะเป็นอย่างนี้

    ถ้าเข้าใจจริงๆ ว่า สิ่งที่ปรากฏทางตามี ความเห็นถูก คือ รู้ว่าเป็นธรรมชนิดหนึ่งซึ่งปรากฏได้ทางตาเท่านั้น ไม่ปรากฏทางหู ไม่ปรากฏทางจมูก นี่เป็นโลกๆ หนึ่งซึ่งมีจริงๆ

    ในขณะใดที่เห็น ขณะนั้นจะไม่มีอย่างอื่นเลย นี่คือความรู้ที่ต้องลึกลงไปอีก ตามความจริงเป็นอย่างนี้ กำลังเห็น ไม่มีแขน ไม่มีขา ไม่มีอะไรปรากฏเลย มีแต่สิ่งที่กำลังปรากฏทางตาเท่านั้นที่ปรากฏ ถ้าไม่นึกถึงอะไรเลย ก็ไม่มีอะไรจริงๆ นอกจากเพียงสิ่งที่ปรากฏทางตา

    เพราะฉะนั้น จะต้องเข้าใจด้วยว่า ถ้าปัญญาที่สามารถจะประจักษ์แจ้งความจริงต้องประจักษ์อย่างนี้ว่า ไม่มีอะไรอื่น แต่ทีนี้ทุกคนทรงจำไว้หมดตั้งแต่เกิดจนตาย เต็มไปด้วยเรื่องราว ทั้งเรา ทั้งเขา เต็มไปหมด ยังมีตัวของเราที่กำลังนั่งแล้วก็เห็น นี่คือความทรงจำที่เป็นอัตตสัญญา แต่ที่จะเป็นอนัตตสัญญาได้จริงๆ คือความรู้ต้องมั่นคงด้วยสติที่ระลึก แล้วก็ทรงจำอย่างมั่นคงว่า ขณะใดที่มีสิ่งใดปรากฏทางหนึ่งทางใด ทางอื่นไม่มีทั้งหมด เพราะว่ารูปมีอายุเท่ากับจิตเกิดดับ ๑๗ ขณะ สั้นแค่ไหน ระหว่างจิตที่เห็นกับจิตที่ได้ยิน รูปดับไปแล้ว เพราะเหตุว่ารูปมีอายุเท่ากับจิตเกิดดับ ๑๗ ขณะ แล้วจิตที่เห็นกับจิตที่ได้ยินห่างกันเกิน ๑๗ ขณะ เพราะฉะนั้น รูปที่ตัวทั้งหมดที่คิดว่า มี ถ้าไม่ปรากฏ เกิดแล้วดับแล้วหมด จึงไม่มีเรา ไม่มีเราเหลือเลย มีแต่ชั่วขณะหนึ่งที่สภาพธรรมหนึ่งปรากฏทางตา หรือว่าปรากฏทางหู หรือว่าปรากฏทางจมูก ปรากฏทางลิ้น ปรากฏทางกาย ปรากฏทางใจ สภาพธรรมทั้งหมดที่ได้ยินได้ฟัง จะปรากฏกับปัญญาที่ได้อบรมแล้วเท่านั้น ตามความเป็นจริง ไม่เป็นอย่างอื่น

    ผู้นั้นสามารถที่จะรู้หนทางว่า การที่จะละความเป็นตัวตน จากสิ่งที่ปรากฏทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจได้จริงๆ นั้น ด้วยการฟังจนกระทั่งเข้าใจ แล้วมีปัจจัยให้สติเกิด ยังต้องอบรมการที่จะเข้าใจให้ถูกต้อง ในสิ่งที่กำลังปรากฏให้ตรงตามที่ได้ฟัง จนกว่าจะมีการคลายความไม่รู้ คลายการที่ถือนิมิตอนุพยัญชนะว่าเป็นสิ่งหนึ่งสิ่งใด และรู้ตามความเป็นจิรงว่าเป็นเรื่องของทางใจที่คิดนึก จึงเป็นจิรกาลภาวนาค่อยๆ ฟัง ค่อยๆ เข้าใจ ค่อยๆ อบรมไป

    ผู้ฟัง สมมติว่าการเห็น ถ้าเราไม่ไปคิดว่านี่คือ ตู้ โต๊ะ ไมโครโฟน หรือเป็นพระพทธรูป มันเป็นแค่เห็น เหมือนกับถัดจากเห็น เราไปโฟกัสที่จุดนั้น ใช่ไหม

    ท่านอาจารย์ ความจริงเป็นอย่างนั้นหรือเปล่า ข้อสงสัยทั้งหมด ต้องพิจารณาแล้วตอบว่า ความจริงเป็นอย่างนั้นหรือเปล่า ต้องเป็นความรู้ของเราเอง ถ้าถามคนอื่นเขาตอบ เขาก็บอกมาแล้ว ในพระไตรปิฎกก็บอกทุกหน้าเลย จักขุวิญญาณ โสตวิญญาณ ฆานวิญญาณ แยกไปชั่วขณะ แต่ละสภาพธรรมที่ปรากฏ แต่ถ้าเราไตร่ตรองจริงๆ จากพระธรรมที่ได้อ่าน พร้อมทั้งระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ พิสูจน์ว่าเราเข้าใจจริงๆ อย่างนั้นหรือยัง ทางตา มีสิ่งที่กำลังปรากฏ อย่างอื่นไม่ปรากฏเลยในขณะที่เห็น ต้องเป็นเพียงสิ่งที่ปรากฏ

    ผู้ฟัง ไม่นึกถึงสัณฐานว่าเป็น รูปทรงอะไร ที่เรา

    ท่านอาจารย์ นั่นคือความคิดนึก ไม่ต้องเห็นก็คิดได้ อย่างจำ หลับตาแล้วก็คิดถึงสิ่งหนึ่งสิ่งใดได้ จะคิดถึงบ้าน จะคิดถึงถ้วยแก้ว จะคิดถึงอะไรก็ได้ แต่สีสันวัณณะไม่ปรากฏ

    เพราะฉะนั้น จึงเป็นสภาพธรรมที่ต่างกัน เริ่มรู้ความจริงว่า สิ่งที่กำลังปรากฏทางตาต้องอาศัยจักขุปสาทเท่านั้นจริงๆ จึงปรากฏได้ เพียงไม่มีจักขุปสาท สิ่งที่กำลังปรากฏทางตาในขณะนี้ นึกเท่าไรก็ไม่เป็นอย่างนี้ ไม่เหมือนกับที่กำลังเห็น เวลาที่คิด ไม่ใช่เวลาที่เห็น คนละขณะ

    ผู้ฟัง ลักษณะสภาพธรรมเป็นอย่างไร ท่านจึงบัญญัติว่า ศรัทธานำไปสู่กุศลในทุกๆ ทาง อยากจะให้อาจารย์ขยายตัวนี้ เพราะว่าตัวดิฉันเองก็อยากจะรู้ว่า เต็มใจมา ไม่มีใครไม่เต็มใจมา ที่นั่งอยู่ในที่นี้ ทุกคนเต็มใจมา ก็เรียนรู้เท่านั้นเอง พูดตามเท่านั้นเอง ว่านี่เป็นศรัทธา เรามีศรัทธา เราถึงมา ก็เลยอยากจะรู้ลักษณะที่แท้จริง ความจริงว่า ศรัทธามีลักษณะเป็นอย่างไร

    ท่านอาจารย์ ก่อนที่จะศึกษาธรรมก็เป็นตัวคุณสุรีย์ เป็นตัวคนโน้นคนนี้ เป็นทุกตัวทุกคน มีความเป็นตัวตน นั่นคือก่อนศึกษาธรรม เวลาที่ศึกษาธรรมก็เริ่มเข้าใจว่า แท้ที่จริงที่เคยยึดถือว่าเป็นเรา คือ จิต เจตสิก รูป ถ้าไม่มีจิต เจตสิก รูป จะไม่มีเราหรือไม่มีสภาพธรรมใดๆ เลย

    เพราะฉะนั้น ที่เคยยึดถือว่าเป็นเราก็คือจิต เจตสิก รูป แต่ว่าเราไม่สามารถจะรู้ จิต แต่ละขณะซึ่งเกิดขึ้นว่า จิตประเภทนี้มีเจตสิกเกิดร่วมด้วยเท่าไร นี่ไม่ใช่ปัญญาของเรา แต่ว่าพระผู้มีพระภาคทรงตรัสรู้สภาพธรรมตามความเป็นจริง จึงทรงแสดงให้เห็นความเป็นอนัตตาว่า การที่จิตแต่ละขณะจะเกิดขึ้น ต้องมีเจตสิกเกิดร่วมด้วยเท่าไร โดยเจตสิกนี้เป็นปัจจัยโดยสถานใด เจตสิกนั้นเป็นปัจจัยโดยสถานใด เกื้อกูลอุปการะกันอย่างไรที่จะให้จิตเกิดขึ้นหนึ่งขณะ แล้วก็ดับไป นี่คือปัญญาของผู้ที่ได้ทรงตรัสรู้ แล้วทรงแสดง

    ผู้ที่เริ่มฟัง เริ่มเข้าใจเพียงว่าปรมัตถธรรม ธรรมที่มีจริง คือ จิต เจตสิก รูป จะเรียกชื่อหรือไม่เรียกชื่อ จะเปลี่ยนชื่อหรืออะไรก็ตาม รู้หรือไม่รู้ก็ตาม อย่างจักขุวิญญาณ คือจิตที่เห็นขณะนี้ มีเจตสิกเกิดร่วมด้วย ๗ ดวง รู้หรือไม่รู้ เจตสิก ๗ ดวงนี้ต้องเกิด ทำหน้าที่พร้อมกับจักขุวิญญาณจิต

    เพราะฉะนั้น ไม่ใช่เรื่องที่เราจะไปรู้ แต่ว่าเป็นเรื่องที่เราอบรมความเข้าใจว่า ไม่มีเรา แต่ว่ามีจิต เจตสิก รูป เท่าที่สติจะระลึกจนกว่าจะรู้ว่า ไม่ใช่เราจริงๆ

    คุณสุรีย์บอกว่า เวลาที่กุศลจิตเกิด ไม่ว่าจะเป็นกุศลจิตในทาน ในศีล ในการฟังธรรม ไม่ว่าจะในเรื่องใดก็ตาม ต้องมีศรัทธาเจตสิกเกิดร่วมด้วย ใครจะรู้หรือไม่รู้ศรัทธาเจตสิกก็เกิด โสภณเจตสิกอื่นๆ ก็ต้องเกิด เป็นเรื่องค่อยๆ ศึกษาให้เข้าใจว่ามีจริงๆ แต่ถ้าตราบใดที่ลักษณะของสภาพธรรมนั้นไม่ปรากฏ เช่น ลักษณะของศรัทธาไม่ปรากฏ เราก็ไปรู้ว่า มีศรัทธา แล้วก็ศรัทธาเกิด แต่ขณะนั้นสติไม่ได้ระลึกที่ศรัทธา ก็ไม่สามารถที่จะรู้ลักษณะของศรัทธาได้ ต่อเมื่อใดที่สติระลึกลักษณะของสภาพธรรมใด เมื่อนั้นจึงรู้ลักษณะของสภาพธรรมนั้น

    ผู้ฟัง ศรัทธา ลักษณะสภาพธรรมเป็นอย่างไร แม้ว่าสติเราจะยังไม่ระลึกรู้ คือพูดเป็นเรื่องราว เพื่อเข้าใจไปสู่สติปัฏฐาน หรือไปรู้ตอนสุดท้าย แต่ตอนต้นควรจะทราบก่อนว่าลักษณะของศรัทธา ซึ่งทุกคนเกิดแล้ว ก่อนจะมานั่ง เขาก็ต้องมีตัวนี้แล้ว ไม่อย่างนั้นเขาก็ไม่มานั่ง แม้ว่าเราจะไม่ระลึกถึงลักษณะอันแท้จริง เรารู้เป็นเรื่องราวก่อนว่า ลักษณะของศรัทธา ทำไมท่านถึงแสดงว่า กุศลจิต ศรัทธาต้องเกิด ทำไมถึงเป็นอย่างนั้น

    ท่านอาจารย์ ถึงจะแสดงอย่างไร ถ้าลักษณะของศรัทธายังไม่เกิด ก็เป็นเพียงชื่อ หรือการเข้าใจโดยเงาๆ ซึ่งศรัทธาเป็นสภาพซึ่งผ่องใส ไม่มีลักษณะของอกุศลใดๆ ที่จะเกิดในขณะที่ศรัทธาเกิด ถ้ายังไม่รู้ว่าลักษณะของอกุศลจิตต่างกับกุศลจิต ยากที่จะเห็นลักษณะของศรัทธา เพราะทุกคนพอใจในความรู้สึกสบายๆ หรือความรู้สึกเฉยๆ ที่ไม่ใช่ทุกข์ ไม่ใช่เดือดร้อน

    เพราะฉะนั้น ก็คิดว่านั่นแหละคือความเบาสบาย ขณะใดที่ไม่เดือดร้อนด้วยปัญหาต่างๆ ในชีวิต ขณะนั้นก็อาจจะคิดว่าเบาสบาย หรือขณะที่กำลังเพลิดเพลิน ดูหนังดูละคร ไปเที่ยว ก็อาจจะคิดว่าขณะนั้นเบาสบาย แต่ความจริงลักษณะนั้นเป็นลักษณะของอกุศล ไม่ใช่กุศล

    ต้องทราบว่า ขณะใดซึ่งไม่ติดข้อง แล้วก็ไม่ได้มีการขุ่นเคือง ขณะนั้นเป็นสภาพของจิตที่ผ่องใสจากอกุศล คือ ขณะที่เป็นกุศลชนิดหนึ่งชนิดใด แม้แต่ในขณะที่กำลังฟัง ถ้าเกิดหงุดหงิด ขณะนั้นไม่ใช่ศรัทธา ขณะใดที่เข้าใจ ไม่ได้หงุดหงิด ขณะนั้นก็มีศรัทธาเจตสิกเกิดร่วมด้วย

    สมพร ศรัทธาไม่ใช่จิต คนละอย่าง ศรัทธาเมื่อเกิดกับจิตก็ทำให้จิตผ่องใส แต่พวกเราจิตผ่องใสมีระยะสั้นไม่เกิน ๗ ขณะ เพราะว่าถ้าไม่มีปัญญาก็ไม่รู้ว่าเป็นศรัทธา เหมือนเราให้ทาน ให้ทานไปแล้ว ขณะให้ ต้องเป็นกุศล ต้องเป็นกุศลก็มีศรัทธาร่วมด้วย เพราะว่ามันระยะสั้น รู้ยาก ถ้ามีปัญญาจึงจะรู้ได้ คือการที่เราจะมีปัญญาที่จะรู้คือหมั่นเจริญสติปัฏฐานเนืองๆ สามารถที่จะรู้ว่า จิตขณะนี้ประกอบด้วยศรัทธา เพราะว่าศรัทธาไม่ใช่จิต

    ผู้ฟัง ศรัทธามีลักษณะผ่องใส บางอย่างเหมือนกับว่าเป็นศรัทธาจริงๆ แล้วมันไม่ใช่ศรัทธาก็ได้ ใช่ไหม

    ท่านอาจารย์ เพราะเราไม่ได้รู้ตัวจริงของศรัทธา เราได้ยินแต่ชื่อ

    ผู้ฟัง ตัวอย่างที่คุณป้าสุรีย์ยกว่า มาที่นี่บางท่านหรือส่วนใหญ่ มาด้วยจิตที่มีศรัทธาต่ออาจารย์ อยากถามว่าศรัทธามีรูปแบบใด เพราะศรัทธามันต้องมีขอบเขตของมันว่า อะไรที่เป็นศรัทธา เช่น บางคนเขาไปกราบไหว้ต้นไม้ เขาบอกเขาศรัทธาในต้นไม้ ใช้คำพูดอย่างนั้น ผู้ที่ยังไม่เข้าใจสภาพธรรมที่แท้จริง เห็นว่ามันเป็นศรัทธา แต่จริงๆ แล้วอาจจะเป็นความหลงงมงายก็ได้

    คำว่า ศรัทธา เรามีขอบเขตอย่างไร เป็นศรัทธาที่เป็นกุศล

    ท่านอาจารย์ ทุกคนจะเห็นความยากของธรรม เพราะว่าขณะนี้แม้มีศรัทธาก็ไม่เห็น ทุกคนที่กำลังนั่งอยู่ที่นี่ เป็นกุศลจิต ต้องมีศรัทธาเจตสิกเกิดร่วมด้วย ก็ยังไม่เห็นลักษณะของศรัทธา แสดงให้เห็นว่าสภาพธรรม เป็นเรื่องที่ยากที่จะเห็นได้ แม้ว่าในขณะนี้ศรัทธามี สติมี เจตสิกอื่นๆ ก็มี แต่ว่าลักษณะเจตสิกเหล่านั้น แต่ละอย่างก็ไม่ได้ปรากฏเลย แต่ถ้าอบรมเจริญขึ้น และสภาพธรรมทั้งหลายเจริญขึ้น เห็นศรัทธาในศรัทธาของพระโสดาบัน มีความมั่นคงในพระรัตนตรัย ลักษณะของศรัทธาจะปรากฏเมื่ออบรมเจริญแล้ว

    เวลานี้ก็จะมีกุศล แล้วก็มีเจตสิกที่เกิดดับ เล็กๆ น้อยๆ นิดๆ หน่อยๆ แล้วก็หมดไปอย่างรวดเร็ว ไม่ทันที่จะรู้สภาพของกุศลจิตซึ่งประกอบด้วยเจตสิกซึ่งเป็นโสภณทั้งหลายก็ดับหมดไปแล้ว

    ไม่ใช่เรื่องที่เราพยายามที่จะไปรู้ในสิ่งซึ่งยังไม่สามารถจะรู้ได้ หรือแม้แต่เพียงเข้าใจ ที่ทรงใช้พยัญชนะว่า ศรัทธาอุปมาเหมือนกับสารส้มที่ทำให้น้ำใส น้ำก็เหมือนกับจิต สภาพของจิตที่มีศรัทธาเจตสิกเกิดร่วมด้วยเป็นสภาพที่ผ่องใส ไม่มีอกุศลใดๆ มารบกวน หรือมาเจือปนเลย ในขณะนี้เป็นอย่างนั้นก็ไม่รู้ เพราะว่าเร็วมาก แล้วก็น้อยมาก จนกว่าศรัทธานั้นจะเจริญเติบโตมั่นคงปรากฏให้รู้ได้ แม้แต่ลักษณะของสติก็เหมือนกัน พูดเรื่องสติ แต่ถ้าสติไม่เกิด ไม่ปรากฏ เวลาที่เป็นสติที่ระลึกเป็นไปในทาน ก็ไม่รู้ว่าเป็นสติ เวลาที่สติระลึกในการที่จะวิรัติทุจริต ก็ไม่รู้ว่าเป็นสติ เวลาที่สติเกิดที่จะมีความเมตตา แทนโทสะ ก็ไม่รู้ว่าเป็นสติ แต่ว่าถ้ามีลักษณะของสติมากปรากฏขึ้นลักษณะของสติก็ปรากฏได้ หรือเวลาที่สัมมาสติเกิด ผู้นั้นก็รู้ลักษณะว่า สติเป็นสภาพระลึก ไม่มีใครเลยที่จะไปทำอย่างไร ต่อเมื่อใดมีปัจจัยที่สติเกิดระลึก ขณะที่ระลึกนั่นเอง คือลักษณะของสติ

    เป็นเรื่องของสภาพธรรมแต่ละอย่าง ซึ่งต้องค่อยๆ เข้าใจตามความเป็นจริง ไม่พยายามไปรีบร้อน ที่จะเป็นอย่างที่ไม่สามารถจะเป็นได้ แต่ว่าต้องค่อยๆ อบรมไป

    ผู้ฟัง ในขณะที่ฟังพระธรรม ในขณะที่มีความเข้าใจในพระธรรม แม้กระทั่งเล็กน้อย เราก็พอรู้สึกตัวได้นี่

    ท่านอาจารย์ รู้ว่ามีศรัทธา รู้ว่าศรัทธาเป็นอย่างไร หรือ

    ผู้ฟัง เรารู้สึกตัวว่า ในขณะนั้นที่เข้าใจก็เป็นกุศลแล้ว ใช่ไหม

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้น สามารถที่จะรู้เพียงเล็กน้อยว่า เป็นจิตที่เป็นกุศล เพราะเราไม่ได้ไปทำอย่างอื่น แล้วขณะนั้นเมื่อเป็นความเข้าใจถูก ก็ต้องเป็นจิตที่ดีงาม รู้เท่านี้แต่ไม่สามารถจะไปรู้ลักษณะของศรัทธา ของหิริ ของโอตตัปปะ ของตัตตรมัชฌัตตา ของสภาพธรรมที่เป็นโสภณอื่นๆ

    ผู้ฟัง ตามความเข้าใจของผมในขั้นศึกษา ถ้าหากว่าเราพูดถึง ศรัทธาเจตสิก หรือหมายถึงเจตสิกใดก็ตาม หมายถึงปรมัตถธรรม ถ้าหากว่าเราจะรู้ลักษณะของปรมัตถธรรมนั้นได้ ปรมัตถธรรมนั้นจะต้องปรากฏกับเรา ในขณะจิตใดขณะจิตหนึ่ง ในขณะใดที่ศรัทธาเจตสิกไม่ปรากฏ ในขณะนั้นเราก็ต้องรู้ความจริง ใช่ไหมว่า ตัวเราเอง เรามีความรู้แค่นี้ มีความเข้าใจแค่นี้ ศรัทธาเจตสิกถึงไม่ปรากฏกับเรา ความเข้าใจในขั้นการฟัง ขั้นการศึกษา

    ท่านอาจารย์ ตอบเหมือนเดิม เป็นจริงอย่างไรก็เป็นจริงอย่างนั้น คือไม่สามารถจะรู้ก็ไม่รู้ สติไม่ระลึกก็ไม่ระลึก

    ผู้ฟัง ศรัทธาจะรู้ได้ตอนไหน ในขณะที่เป็นทาน เป็นศีล เป็นภาวนา ขณะนั้นมีศรัทธาแน่นอน แต่ยังไม่เป็นอริยทรัพย์ แล้วก็ยังไม่เป็นสัทธินทรีย์ ยังไม่เป็นศรัทธาพละ แต่รู้ได้ในขณะที่เป็นกุศล ขณะนั้นต้องมีศรัทธาเกิดร่วมด้วย

    ท่านอาจารย์ ถ้าจะพูดเผินๆ ก่อนที่จะฟังธรรมเป็นอกุศล กำลังฟังธรรมเป็นกุศล เห็นศรัทธานิดหน่อย ฟังบ่อยๆ ศรัทธาเพิ่มขึ้น จนกระทั่งสามารถจะมานั่งที่นี่ได้ ก็คือศรัทธา แต่ว่าตัวศรัทธาไม่ได้ปรากฏ แต่ว่าความรู้ รู้ได้ว่า เราเปลี่ยนแปลงมีศรัทธาเพิ่มขึ้นโดยเพียงแต่ว่ารู้ว่า ความประพฤติทางฝ่ายกุศลมากขึ้น

    ผู้ฟัง ดิฉันเป็นผู้หนึ่งที่รู้สึกจะมีคำถาม ถามอยู่บ่อยๆ ในแต่ละแห่ง แต่ว่าประโยชน์จากที่ดิฉันได้คำตอบจากท่านอาจารย์ หรือฟังธรรมจากท่านอาจารย์ ทำให้ดิฉันคิดว่า ชีวิตที่เหลืออยู่มีค่าอยู่มาก เพราะว่าก่อนที่จะฟังธรรมที่ท่านอาจารย์บรรยาย กุศล อกุศลก็ทราบอยู่ แต่ว่าอย่างชาติวิบาก ไม่เคยทราบเลยว่ามันเป็นตรงไหน

    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 97
    23 มี.ค. 2567