ปกิณณกธรรม ตอนที่ 290
ตอนที่ ๒๙๐
สนทนาธรรม ที่ โรงพยาบาลพระมงกุฏเกล้า
พ.ศ. ๒๕๔๑
ผู้ฟัง แต่ว่าประโยชน์จากที่ดิฉันได้คำตอบจากท่านอาจารย์ หรือฟังธรรมของท่านอาจารย์ ทำให้ดิฉันคิดว่า ชีวิตที่เหลืออยู่ มีค่าอยู่มาก เพราะว่าก่อนที่จะฟังธรรมที่ท่านอาจารย์บรรยาย กุศล อกุศลก็ทราบอยู่ แต่ว่าอย่างชาติวิบากไม่เคยทราบเลยว่ามันเป็นตรงไหน แล้วพอฟังแล้วเข้าใจแล้ว ก็เลยทราบว่า ชาติวิบากเกิดทั้ง ๕ หู ตา จมูก ลิ้น กาย ประโยชน์ก็คือ ถ้าได้ยินเสียง ทราบได้ว่ามีชาติวิบาก ถ้าได้ยินเสียงไม่ดี ดิฉันก็จะรู้สึกว่า นั่นแหละคือผลที่ดิฉันทำไม่ดีมาแล้ว ก็จะไม่โกรธที่จะได้ยินเสียงที่ไม่ดี ประโยชน์ตรงนี้ก็ช่วยได้มากเลย แล้วอย่างที่ท่านอาจารย์กล่าวบอกว่า โจร ถ้ามันตัดแขนตัดขาเรา เราก็โกรธ แต่ถ้าหมอมาตัดแขนตัดขาเรา เราไม่โกรธ อันนี้ให้เห็นเลยใช่ไหมว่า เป็นชาติวิบาก เราจะต้องรับเจ็บทุกข์ทางกาย เพราะฉะนั้น อย่างไรก็ต้องรับ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องดี หรือไม่ดี ก็กราบท่านอาจารย์ ไว้ในที่นี้ด้วย
ท่านอาจารย์ มีใครรู้สึกอย่างนี้บางหรือยัง ถ้าเขาใจธรรมจริงๆ แล้วเป็นอย่างนั้นจริงๆ แล้วจริงๆ ถ้ารู้ว่า เราอยู่ในโลกคนเดียว ไม่ได้เกี่ยวข้องกับโลกอื่นเลย โลกใครก็โลกของคนนั้น คือจิตของใครเกิดขึ้นเป็นอย่างไรก็เป็นอย่างนั้น ในขณะนี้โลกของแต่ละคนขึ้นอยู่กับจิต ถ้าจิตเป็นกุศล ขณะนั้นก็เป็นเฉพาะตัว ขณะจิตที่เป็นอกุศล ก็เป็นโลกอกุศล ในขณะที่คนอื่นเขาเป็นกุศลกัน แต่คนนี้ก็เป็นอกุศลอยู่ ก็เป็นสิ่งซึ่งแล้วแต่การสะสมมา
ถ้ามีความเข้าใจจริงๆ ว่า ไม่มีใคร มีแต่จิต เจตสิกซึ่งเกิดดับ ขณะใดที่มีความรู้สึกทุกขเวทนา ไม่สบายกายเกิดขึ้น ไม่มีคนอื่น แต่เป็นผลของกรรมที่ได้กระทำแล้ว ทำให้มีกายปสาท ทำให้กระทบกับสิ่งนั้น แล้วก็เกิดทุกขเวทนาขึ้น เวลาโกรธใคร หรือก็คิดว่าคนที่ทำให้เราเจ็บป่วย ปวดได้รับบาดเจ็บต่างๆ นั่นเป็นเรื่องของความคิดนึก แต่ความจริง คือ ทุกขเวทนาของใครเกิดขึ้นเพราะอะไร ถ้าไม่เคยทำกรรมไว้ในอดีต ก็ไม่มีการที่จะมีกายปสาทที่จะมารับกระทบกับสิ่งที่ทำให้เกิดความรู้สึกเจ็บปวดขึ้น
เพราะฉะนั้น ก็ไม่มีคนอื่น ไม่ต้องไปนึกถึงคนอื่น เพราะว่าไม่มี มีแต่ปรมัตถธรรม ถ้ามีความเข้าใจธรรมจริงๆ ก็จะทำให้เห็นว่าเป็นเรื่องของจิตชนิดต่างๆ อย่างที่คุณบุษบงพูดถึง คือบางขณะจิตก็เป็นกุศล บางขณะจิตก็เป็นวิบาก
ผู้ฟัง ถ้าไม่มีใครถามผมมีคำถามที่ไม่ได้อยู่ในห้องนี้ แต่ว่าเป็นคำถามที่น่าสนใจ คือขอประทานโทษที่ต้องออกชื่อ คือ ดร.พันทิพาถามคำถามเมื่อวันเสาร์ว่า คือ ดร.พันทิพาเป็นคนสนใจที่จะอ่านพระไตรปิฎกให้รู้เรื่อง ก็เลยตั้งคำถามนี้ขึ้นมาว่า ทำอย่างไรจึงจะอ่านพระไตรปิฎก และอรรถกถาให้ได้เข้าใจ และรู้เรื่อง
ท่านอาจารย์ ฟังแล้วก็ไตร่ตรอง แล้วก็พิจารณา ตามเหตุตามผลที่มีในข้อความนั้นๆ จนกว่าจะเข้าใจ อย่างจิตเป็นสภาพรู้หรือเป็นธาตุรู้ แค่นี้ ฟังแค่นี้ เป็นธรรม แล้วก็กำลังมีจริงๆ ด้วย จนกว่าจะเข้าใจ แล้วการเข้าใจก็มีระดับขั้นด้วยว่า เข้าใจระดับพิจารณา หรือเข้าใจสภาพลักษณะที่แท้จริง
ผู้ฟัง คาถาธรรมบท ที่ระลึกจากชาววัง รู้สึกจะเป็นคาถาบทที่ ๓ สัตว์โลกนี้เป็นเหมือนคนบอด ในโลกนี้น้อยคนนักจะเห็นแจ้ง น้อยคนนักจะไปสวรรค์ เหมือนนกหลุดแล้วจากข่ายฉะนั้น
บางท่านรวมทั้งดิฉันด้วยฟังมาตั้งแต่ต้น ก็รู้สึกจะเหมือนคนบอด เลยเรียนถามท่านอาจารย์สุจินต์ คำว่า สัตว์โลกนี้เหมือนคนบอด คนบอดหมายความว่าอย่างไร โลกนี้น้อยคนนักจะเห็นแจ้ง เห็นแจ้งในที่นี้ คือเห็นแจ้งอะไร แล้วจะไปสวรรค์อย่างไร เหมือนนกหลุดแล้วจากข่าย ข่ายในที่นี้คืออะไร หลายคำถาม ดิฉันเอาคำถามแรกก่อน สัตว์โลกนี้เหมือนคนบอด คือท่านสมาชิก ถ้าเผื่อท่านอ่านตาม แล้วฟังท่านอาจารย์สุจินต์จะเข้าใจ ท่านจะแปลคำว่า คนบอดออกไปอย่างไร เหมือนเมื่อกี้ที่เราฟังแล้ว ถ้าเรายังไม่ได้ศึกษาเราเป็นคนบอดอย่างไร ฟังแล้วรู้แจ้งอย่างไร
ท่านอาจารย์ คนบอด คือ คนที่ไม่รู้สภาพธรรมตามความเป็นจริง ขณะนี้ทุกคนเห็น แต่ว่าไม่รู้ความจริงว่า พระธรรมที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงว่า ธรรมทั้งหลายเป็นอนัตตา เห็นในขณะนี้เป็นเราเห็น ตราบใดที่ยังเป็นเราเห็นอยู่ ไม่รู้ความจริงของสภาพธรรม ขณะนั้นก็เป็นคนบอด ตั้งแต่เกิดจนตายหลายๆ ชาติ ไม่ใช่แต่เฉพาะชาตินี้ชาติเดียว คนที่ไม่ได้เคยฟังพระธรรมเลยก็ไม่สามารถที่จะรู้ได้ว่า การรู้แจ้งความจริง หรือปัญญาที่สามารถที่จะรู้จักโลกคือรู้ว่า โลกคืออะไร ถ้าไม่มีตาที่จะเห็น ไม่มีหูได้ยิน ไม่มีจมูกได้กลิ่น ไม่มีลิ้นลิ้มรส ไม่มีกายรู้สิ่งที่กระทบสัมผัส ไม่มีใจที่คิดนึก โลกนี้ก็ไม่ปรากฏ โลกไหนๆ ก็ไม่ปรากฏ
โลกก็คือทุกขณะจิตที่มีการรู้สิ่งหนึ่งสิ่งใด ทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ซึ่งเป็นสภาพที่ไม่เที่ยง ทุกขณะต้องมีปัจจัยเกิดขึ้น เช่น เห็น ถ้าไม่มีจักขุปสาท คือ ไม่มีตาก็เห็นไม่ได้ ได้ยิน ถ้าไม่มีโสตปสาท การได้ยินก็เกิดไม่ได้
ถ้าจะเข้าใจทุกๆ ขณะของชีวิต จากผู้ที่ได้ตรัสรู้แล้วทรงแสดง ก็จะเข้าใจตามความเป็นจริงว่า ทุกสภาพธรรมที่มีจริงที่กำลังปรากฏต้องมีเหตุปัจจัยทำให้เกิดขึ้น แล้วก็ดับไปอย่างรวดเร็ว
อีกความหมายหนึ่งของโลก คือ แตกดับ สภาพธรรมใดๆ ทั้งหมด ที่เกิดแล้วดับเป็นโลก มีคำ ๒ คำ ซึ่งตรงกันข้ามกันคือ โลก โล-กะ อีกคำหนึ่งคือ โลกุตตระ หมายความว่า เหนือโลก หรือพ้นจากโลก ได้แก่สภาพธรรมที่ไม่ได้ปรากฏในชีวิตประจำวัน แต่เป็นสภาพธรรมที่ พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ทรงตรัสรู้ลักษณะของสภาพธรรมนั้นคือนิพพาน ซึ่งเมื่อได้ตรัสรู้อริยสัจธรรมทำให้ดับกิเลสหมดสิ้น ก็ทรงแสดงสภาพธรรมนั้นกับผู้ที่ได้ฟัง แล้วก็ค่อยๆ พิจารณาจนกระทั่งเข้าใจความจริงขึ้น เวลาที่เกิดความรู้ความเข้าใจ ขณะนั้นก็เหมือนกับว่า ตาค่อยๆ มีการรักษา จนกว่าจะเห็นชัดในสภาพธรรมที่พระผู้มีพระภาคทรงตรัสรู้ และทรงแสดง คนนั้นก็พ้นจากความเป็นคนตาบอด
ตาบอด บอดที่นี้คือไม่มีปัญญาที่จะรู้สภาพธรรมที่กำลังปรากฏ ในขณะนี้ตามความเป็นจริง
ผู้ฟัง บอดหมายความว่าไม่มีปัญญา ทีนี้ถ้าเห็นแจ้งหมายความว่า มีปัญญาแล้ว ทางที่จะมีปัญญาแล้ว อาจารย์มักจะพูดเสมอว่า ฝึกอบรมปัญญา ในขณะซึ่งฝึกอบรมปัญญา มีทางใดบ้างที่จะฝึกอบรมปัญญาให้เห็นแจ้งได้จากบอด
ท่านอาจารย์ ไม่ใช่วันนี้ที่ทุกคนจะเห็นแจ้งได้ หรือว่าไม่ใช่การฟังครั้งแรกก็สามารถที่จะเกิดปัญญา รู้ว่า พระพุทธเจ้าตรัสรู้อะไร แล้วก็รู้แจ้งอย่างไร แต่เป็นเรื่องที่จะต้องเห็นพระปัญญาคุณว่า กว่าที่จะได้อมรมพระบารมีที่จะรู้ความจริงของสภาพธรรมก็ต้องเป็นเวลาที่นานมาก เพราะเหตุว่าทุกคนไม่รู้สภาพธรรมที่กำลังปรากฏเลย แต่ว่าเมื่อมีการได้ฟัง ค่อยๆ เข้าใจขึ้น ค่อยๆ เข้าใจขึ้น เพราะฉะนั้น พระพุทธศาสนาไม่ใช่เป็นเรื่องของการที่ ฟังแล้วไม่เกิดปัญญา แต่คำว่าพุทธ คือผู้ตื่น ผู้รู้ ผู้เบิกบาน เพราะว่ารู้ความจริงของสภาพธรรม เพราะฉะนั้นคนฟังพระธรรมจริงๆ ก็เริ่มที่จะได้ยินได้ฟังสิ่งซึ่งไม่เคยได้ยินได้ฟังมาก่อน แต่ว่าเป็นสิ่งที่ยาก ไม่ใช่สิ่งที่จะรู้ได้โดยง่าย ต้องอาศัยความอดทน แล้วรู้ว่าเป็นสัจธรรม คือ เป็นสิ่งที่มีจริงทุกๆ ขณะที่สามารถที่จะฟังเข้าใจ แล้วก็พิสูจน์ได้
เรื่องของการอบรมเจริญภาวนา ไม่ใช่เป็นเรื่องที่ไม่มีปัญญา แล้วทำสิ่งหนึ่งสิ่งใด แต่เป็นเรื่องที่สามารถจะรู้เหตุของปัญญาว่า การที่ปัญญาจะค่อยๆ เกิดขึ้นแล้วมีได้โดยอาศัยการฟังพระธรรม ซึ่งในยุคนี้สมัยนี้ก็ไม่มีโอกาสที่จะได้เฝ้า ได้ฟังพระธรรมจากพระโอษฐ์ แต่พระไตรปิฎกซึ่งสืบทอดจากพระเถระตั้งแต่ในครั้งโน้น ก็ยังคงครบถ้วนสมบูรณ์ พร้อมที่ผู้ที่มีศรัทธาแล้วก็เห็นประโยชน์ จะรู้จักพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า คือ พระปัญญาคุณ พระบริสุทธิคุณ และพระมหากรุณาคุณได้ ด้วยการศึกษาพระธรรม ซึ่งถ้าไม่มีการศึกษาพระธรรม ไม่เข้าใจพระธรรมที่ทรงแสดง ไม่มีโอกาสที่จะเข้าใจเลยว่า พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงมีพระปัญญาอย่างไร แล้วก็ทรงแสดงธรรมอย่างไร
เป็นเรื่องที่จะต้องเห็นประโยชน์ แล้วก็มีความอดทน แล้วก็เริ่มเข้าใจสิ่งที่กำลังได้ฟัง ไม่ว่าจะได้ฟังอีก หรือว่าอ่านอีก ศึกษาอีก สนทนาธรรมอีกเมื่อไร ก็จะมีความเข้าใจในสิ่งที่กำลังได้ฟังเพิ่มขึ้น นี่คือการอบรมเจริญภาวนา หรือปัญญาซึ่งเป็นขั้นต้น เพราะเหตุว่าถ้าไม่มีความเข้าใจตั้งแต่ขั้นต้น ไม่ได้อบรมไป ระดับที่เป็นปัญญาขั้นภาวนาที่จะรู้ลักษณะของสภาพธรรมจริงๆ ก็เกิดไม่ได้
พระธรรมจึงมี ๓ ขั้นคือปริยัติ ปฏิบัติ และปฏิเวธ ปริยัติ คือการฟังให้เข้าใจ เมื่อเข้าใจแล้วก็จะมีเหตุปัจจัยทำให้ระลึกรู้ด้วยปัญญาค่อยๆ เข้าใจลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ เมื่อไรสภาพธรรมปรากฏตามความเป็นจริง โดยความเป็นอนัตตาจนกระทั่งรู้แจ้งอริยสัจธรรม เมื่อนั้นก็เป็นระดับขั้นสูง คือ ขั้นปฏิเวธ
พระพุทธศาสนามีครบถ้วน ตั้งแต่ขั้นต้น คือ ขั้นฟัง ปริยัติ แล้วก็ขั้นอบรมเจริญปัญญาด้วยการที่ระลึกรู้สภาพธรรมที่กำลังปรากฏ จนกว่าจะประจักษ์แจ้งเมื่อไร ก็เป็นขั้นปฏิเวธเมื่อนั้น
ผู้ฟัง สัตว์โลกนี้เป็นเหมือนคนบอด คือปุถุชนคนทั่วไป ถึงแม้ว่าจะศึกษาแล้วอย่างพวกเรา ก็คิดว่า พวกเราก็บอดอยู่ในระดับหนึ่ง คงจะมีปัญญาที่ยังไม่ถึงขั้นเห็นแจ้ง อย่างที่ท่านอาจารย์สมพร และอาจารย์สุจินต์ว่า เห็นแจ้งนั้น คือต้องรู้ถึงอริยสัจธรรม นั้นเลย
ทีนี้พอมาถึงคาถาตอนช่วงหลัง ที่บอกว่า น้อยคนนักจะไปในสวรรค์ได้ มองดูแล้วพยายามที่จะโยงไปถึงประโยคแรกที่ว่า น้อยคนนักจะเห็นแจ้ง ก็คิดว่าน้อยคนนักที่จะไปสวรรค์นี้ ก็คงจะต้องเป็นพระอริยบุคคลขั้นต้น คือ อย่างน้อยก็คงจะต้องเป็นพระโสดาบัน เพราะว่าพระโสดาบันนี้จะไม่ไปทุคติภูมิแล้ว คือ ไปสวรรค์อย่างเดียว เพราะว่าพระโสดาบันไม่ล่วงกรรมบถแน่นอน แล้วก็ประโยคต่อไปก็คงอาจจะช่วยเสริม ว่าน้อยคนนักจะไปสวรรค์ คือเหมือนนกหลุดแล้วจากข่าย ฉะนั้น คิดว่าคงจะพระโสดาบันซึ่งเข้าสู่กระแสแล้ว จึงเป็นนกที่หลุดจากข่ายแน่นอน ถึงแม้ว่าพระโสดาบันต้องกลับมาเกิดอีกอย่างน้อย ๗ ชาติ แต่อย่างไรก็ต้องหลุดจากข่ายแล้วแน่นอน อันนี้เป็นความเข้าใจที่ถูกต้องหรือเปล่า
ท่านอาจารย์ คงจะไม่สับสน คือแต่ละคำในคาถาบทนี้ เรื่องของสวรรค์เป็นสภาพธรรมที่มีจริง เพราะเหตุว่าถ้าเข้าใจเหตุที่ทำให้ทุกคนเกิดในโลกนี้ ก็จะคงหมดความสงสัยในเรื่องของสวรรค์ เพราะว่าถ้าเราอยู่ในโลกนี้ เราก็เห็นโลกนี้ หมดความสงสัยในโลกนี้ ใครพูดเรื่องโลกนี้เราก็เข้าใจได้ แต่ถ้าเราอยู่ในโลกนี้ แล้วใครพูดถึงเรื่องนรก พูดถึงเรื่องสวรรค์ เพราะเหตุว่าเราไม่เห็น เราก็เลยไม่สามารถที่จะเข้าใจได้ว่า โลกอื่นมี แต่ถ้าเข้าใจสภาพธรรมเรื่องของจิตซึ่งเป็นกุศลจิตก็มี เป็นอกุศลจิตก็มี จิตที่ดีก็มีหลายระดับ แล้วจิตที่เป็นอกุศลไม่ดี ก็มีหลายระดับ การกระทำที่ไม่ดีก็มีหลายระดับ การกระทำที่ดีก็มีหลายระดับ ถ้าเป็นผู้ที่เข้าใจในเรื่องเหตุกับผล คงจะหมดความสงสัยว่า ถ้าเป็นเหตุดีก็ต้องให้ผลที่ดี และเหตุที่ไม่ดีก็ต้องให้ผลที่ไม่ดี
ถ้าเราเกิดในโลกนี้ โดยที่เราไม่เคยรู้เลยว่าเป็นผลของกุศลหนึ่ง ที่ทำให้เราเกิดในโลกนี้ ในโลกนี้ไม่ได้มีแต่มนุษย์ สัตว์ก็มี การที่เกิดเป็นสัตว์ กับการที่เกิดเป็นมนุษย์ ก็แสดงให้เห็นเหตุที่ต่างกัน คือแค่การเกิดเป็นสัตว์ก็ไม่สามารถที่จะเข้าใจสภาพธรรมที่จะอบรมเจริญปัญญาให้ยิ่งขึ้น เพราะฉะนั้น ก็ต้องเป็นผลของอกุศลกรรมที่ทำให้เกิดไม่ดี เป็นสัตว์ แต่ว่าผลของกุศลหนึ่งทำให้เกิดเป็นมนุษย์ ฉันใด เวลาที่ตายจากโลกนี้ไป เมื่อยังไม่เป็นพระอรหันต์ก็ต้องเกิดแน่ แต่ว่าจะเกิดที่ไหน จะเกิดในโลกนี้อีกก็ได้ หรือว่าจะเกิดในโลกอื่นก็ได้ ตามกรรมที่ได้กระทำไว้
เพราะฉะนั้น คงจะไม่สับสนเรื่องของสวรรค์ว่า ไม่ใช่แต่เฉพาะผู้ที่เป็นพระอริยบุคคลเท่านั้นที่จะเกิดในสวรรค์ แต่ว่าเมื่อเป็นผลของกรรมดี ไม่ว่าจะเป็นกรรมใดก็ตาม ใครผู้ใดก็ตามที่ทำ ไม่เลือกเชื้อชาติด้วย เพราะเหตุว่าสภาพธรรมเป็นธรรม จิตไม่มีชาติไทย ชาติจีน จิตที่เป็นกุศลเป็นกุศล ไม่ว่าจะเกิดกับใคร จิตที่เป็นอกุศล ก็เป็นอกุศล ไม่ว่าจะเกิดกับใคร เพราะฉะนั้น เมื่อมีเหตุที่ดีเหตุหนึ่งที่จะทำให้เกิดในโลกอื่น ซึ่งไม่ใช่โลกนี้ เมื่อเกิดในโลกนั้นก็หมดสงสัยอีกว่า โลกนั้นก็เป็นอย่างนี้แหละ ตามที่ได้อยู่ที่นั่น แต่ถ้าตราบใดที่ยังไม่ถึง ก็ยังสงสัยอยู่ แต่หนทางมี หนทางที่จะไปสู่นรก หนทางที่จะไปเกิดเป็นสัตว์ หรือว่าหนทางที่จะไปสวรรค์ก็แล้วแต่กรรม
เพราะฉะนั้น คงจะเป็นไปได้ แน่นอนที่จะเข้าใจได้ โดยที่ว่าเมื่อพิจารณาในเหตุในผล แม้ว่ายังไม่เห็นด้วยตัวเอง
ผู้ฟัง สืบเนื่องจากที่อาจารย์พูดเมื่อกี้นี้ ไม่เลือกเชื้อชาติ คือการที่เราจะไปสวรรค์ คำว่าสวรรค์ เป็นที่ที่ผู้ที่ได้เจริญกุศลแล้ว ถึงจะได้ไป อันนี้เราก็ไม่เลือกเชื้อชาติ ไม่เลือกใครทั้งสิ้น แต่ว่าอยู่ที่ลักษณะของจิตของเขาว่า จิตของเขาเป็นกุศลหรือเปล่า คำถามของดิฉันก็คือว่า ในขณะซึ่งจะเป็นชาติจีน ชาติไทย ชาติฝรั่ง แม้เขาไม่ได้อยู่ในพระพุทธศาสนา แม้เขาไม่ได้รู้จักพระธรรม แต่การสะสมของเขา ไม่รู้ปางไหนทำให้จิตของเขาเป็นกุศล เขาได้เจริญกุศลมามากๆ ก่อนตายกรรมอันนั้น กรรมที่เขาเคยกระทำไว้แล้ว อนันตชาติ ซึ่งเขาอาจจะเคยรู้จักพระธรรมคำสอน เพราะฉะนั้น ก็ส่งให้เขาไปสวรรค์ อันนี้คือคำตอบใช่หรือเปล่า
ท่านอาจารย์ ไม่เกี่ยวกับพระธรรมคำสอน เรื่องของกุศลเป็นจิตที่ดีงาม เป็นทานก็ได้ เป็นศีลก็ได้ เป็นภาวนาคือการอบรมสมถะ ความสงบของจิต หรือว่าเป็นการอบรมเจริญปัญญา ที่เป็นสติปัฏฐาน เป็นวิปัสสนาก็ได้ กุศลทุกชนิดให้ผลดี
ผู้ฟัง สมมติคนที่เขายังไม่ได้ศึกษาพระธรรมคำสอน เขาก็ไม่รู้จักเจริญสติปัฏฐานคืออะไร แต่เขาทำจิตที่เป็นกุศลที่เป็นไปด้วยทาน อย่างนี้ดิฉันชื่นชมมากเลย พวกที่ได้ทุนอะไรต่างๆ ที่ไปเมืองนอก ซึ่งเขาบอกบุญกันนี้ ดิฉันชื่นชมเขามากๆ ที่เขาเป็นเศรษฐี แล้วเขาสามารถจะใช้เงินทำให้คนเกิดปัญญาทางโลกได้ ในขณะนั้นตัวเขา และบรรพบุรุษเขาก็ได้เจริญกุศลแล้ว เขาคงจะได้ไปสวรรค์ แต่การไปสวรรค์ของเขา ไม่ได้เกี่ยวกับพระพุทธศาสนา คือไม่ได้เรียนอะไร เข้าทางพระพุทธศาสนาเลย
ท่านอาจารย์ เป็นผลของกรรมดี แต่ว่าออกจากสังสารวัฏฏ์ไม่ได้ เพราะฉะนั้น ข้อความแต่ละตอนก็ต้องพิจาณาเป็นตอนๆ ไป ถ้าพูดถึงเรื่องสวรรค์ก็เป็นผลของกรรมดี แต่ว่าทั้งหมดนี้เตือนให้เป็นผู้ไม่ประมาทในกุศลทุกประการ เพราะเหตุว่าถึงแม้ว่าจะเป็นคนดี สักเท่าไร มีใครจะบอกได้ไหมว่า ดีพอแล้ว ตราบใดที่ยังไม่เป็นพระอริยบุคคล ตราบใดที่ยังไม่หมดกิเลสเป็นพระอรหันต์ ความดีที่ทุกคนคิดว่ามีมากเทียบกับอกุศลจิตที่เกิดบ่อยมากในวันหนึ่งๆ ก็จะเห็นได้ว่าน้อย เพราะฉะนั้น เวลาที่ใกล้จะตายจริงๆ ไม่มีใครสามารถที่จะรู้ได้ว่า กรรมใดจะให้ผล
เรื่องของกรรมที่ได้กระทำเป็นปกติในชีวิตประจำวัน ถ้าปกติเป็นผู้ที่มีกรรมดีในกุศลทั้งหลาย ทั้งทาน ทั้งศีล ทั้งในความสงบของจิต ที่จะไม่โกรธ ไม่พยาบาท ทั้งต่อหน้า และลับหลัง ไม่ว่าพบใคร เป็นผู้ที่อบรมเจริญปัญญา ก็จะทำให้เป็นผู้ที่มีโอกาส มีความมั่นคงที่จะอบรมเจริญปัญญาต่อไป ที่จะออกจากสังสารวัฏฏ์ได้ เพราะเหตุว่าถ้าพอใจในกุศล คิดว่าพอแล้ว แต่ก็ยังออกจากสังสารวัฏฏ์ไม่ได้ เพราะฉะนั้น ก็เตือนให้เป็นผู้ที่ไม่ประมาท
ผู้ฟัง ที่คุณสุรีย์ยกมาถาม ก็มาอีกคาถาหนึ่งเป็นการสนับสนุนคาถาอย่างดีเลย วรรคแรก พวกคนตระหนี่จะไปสู่เทวโลกไม่ได้เลย คนขี้เหนียว คนตระหนี่ จะไปสวรรค์ไม่ได้เลย เทวโลก และสวรรค์ คนละคำ แต่ว่าอันเดียวกัน พวกคนตระหนี่จะไปสู่เทวโลกไม่ได้เลย
ท่านอาจารย์ น่าตกใจไหม ฟังๆ ดูเดี๋ยวก็ไปนรกกันหมด แต่ว่าตามความเป็นจริงต้องเข้าใจว่า ขณะที่ตระหนี่ ขณะนั้นเป็นกุศลหรืออกุศล เพราะธรรมเป็นเรื่องละเอียด ต่างขณะ เร็วมาก ขณะที่ตระหนี่เป็นอกุศล ให้ผลที่ดีไม่ได้
ผู้ฟัง ผู้ที่ท่านบรรลุเป็นพระอริยบุคคลแล้วเป็นมนุษย์ ท่านจุติไป ท่านจะเป็นไปได้ไหมจะมาปฏิสนธิ เป็นมนุษย์ อีก
ท่านอาจารย์ ในพระไตรปิฎกแสดงสิ่งที่กว้างมาก แม้แต่มนุษย์ที่เป็นโอปปาติกะ ไม่เกิดในครรภ์ เกิดทันทีรูปร่างเป็นตัวอย่างนี้ก็ได้ สมบูรณ์ในปฐมกัป
เรื่องของธรรมเป็นเรื่องละเอียด เรื่องของกุศลเวลาที่กระทำแล้วก็เป็นปัจจัยทำให้เกิดดี แต่ว่าเมื่อเป็นพระโสดาบันแล้ว การเกิดเป็นมนุษย์ก็เป็นผลของกุศล แต่ตามตัวอย่างที่มีในพระไตรปิฎกมีแต่แสดงว่า ผู้ที่เป็นพระอิรยบุคคลท่านก็เกิดในสวรรค์ขั้นต่างๆ ลองหาดูสักตัวอย่างหนึ่งที่ว่า ในสมัยที่พระผู้มีพระภาคยังไม่ปรินิพพาน บุคคลในครั้งนั้นก็เป็นพระโสดาบันกันมาก เป็นพระอริยบุคคลกันมาก ทรงแสดงไว้บ้างหรือเปล่าว่า พระอริยบุคคลท่านใดที่เกิดในมนุษยโลก แต่ไม่ได้หมายความว่าเกิดไม่ได้ แสดงไว้กว้างขวางมากว่า เป็นเรื่องที่เกิดได้ และบางแห่งก็ทรงแสดงพระอริยบุคคลไว้ว่า พระโสดาบันมีกี่ประเภท พระสกทามีมีกี่ประเภท ประเภทใดเกิดในมนุษย์ ประเภทใดเกิดในสวรรค์ แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นก็ต้องทราบว่า ส่วนใหญ่จะเกิดที่ไหน แล้วมีตัวอย่างกี่คนที่เกิดในมนุษย์ แล้วมีหรือเปล่า แต่ว่าพระธรรมที่ทรงแสดงไว้ ทรงแสดงไว้ครบถ้วน ถ้ามี เป็นไปได้ก็เพราะเหตุว่าเป็นสุคติภูมิ ไม่ใช่อบายภูมิ เพราะฉะนั้น ก็ยังเป็นที่เกิดได้ แต่ว่าจะเกิดหรือไม่เกิดนั่นอีกเรื่องหนึ่ง เพราะว่าตัวอย่างที่มีก็เกิดในสวรรค์เป็นส่วนใหญ่ทั้งนั้น
ผู้ฟัง ที่ผ่านมาสำหรับตัวผมเองไม่ปรากฏหลักฐานที่ไหนว่า พระอริยบุคคลที่ท่านจุติแล้ว กลับมาปฏิสนธิเป็นมนุษย์อีกไม่ปรากฏ คืออาจจะปรากฏ แต่ไม่รู้ แต่ส่วนใหญ่ ท่านก็จะไปเป็นเทวดา ไปสวรรค์ หรือแม้แต่อย่างม้ากัณฐกะ ม้าทรงของพระโพธิสัตว์ที่เสด็จออกบรรพชา ตายจากม้าไปเกิดเป็นเทวดา จากเทวดามาฟังธรรมของพระพุทธองค์ ได้บรรลุเป็นโสดาบัน สงสัยมนุษย์ท่านคงไม่มาแน่ เพราะว่าท่านบอกว่า ถ้าเปรียบเทียบกับสวรรค์ ท่านบอกว่ามนุษย์เปรียบเหมือนห้องอับเหม็น ห้องอุจจาระ ห้องส้วม เพราะว่าเทวดาที่มาเฝ้าหรือลงมามนุษย์ มาเฝ้าพระพุทธเจ้าก็ดี จะไม่นั่ง ไม่มีที่ไหนเลยบอกว่านั่ง เทวดานั่ง นั่งฟังพระพุทธเจ้า ไม่มี มีแต่ว่า ฐิตาโขสาเทวตา เทวดานั้นแลยืนแล้ว มีแต่ยืนทั้งนั้น ยืนอภิวาทพระพุทธเจ้า ฟังธรรมแล้วก็หลีกไป เหมือนอย่างใน มงคลสูตร มายืน ยืนฟัง มงคลสูตร จนจบ แล้วก็กลับ ไม่มีนั่ง ท่านถามทำไมถึงไม่นั่ง เพราะท่านจะรีบกลับ ไม่อยากอยู่นาน มนุษย์กลิ่นมันเหม็นสาบ มนุษย์เหม็นสาบ เทวดา อาจจะเป็นไปได้อย่างนี้ก็ได้
ท่านอาจารย์ ข้อความที่มีในพระไตรปิฎก และในอรรถกถา ยากที่คนสมัยนี้จะรู้ได้โดยทั่ว แสดงให้เห็นว่า แม้ว่ามีข้อความนั้นก็จริง ก็ไม่มีใครที่จะสามารถไปเปลี่ยนหรือไปเข้าใจเอาเองได้ต่างหาก
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 241
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 242
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 243
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 244
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 245
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 246
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 247
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 248
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 249
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 250
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 251
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 252
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 253
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 254
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 255
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 256
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 257
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 258
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 259
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 260
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 261
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 262
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 263
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 264
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 265
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 266
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 267
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 268
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 269
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 270
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 271
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 272
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 273
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 274
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 275
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 276
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 277
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 278
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 279
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 280
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 281
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 282
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 283
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 284
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 285
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 286
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 287
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 288
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 289
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 290
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 291
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 292
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 293
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 294
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 295
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 296
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 297
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 298
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 299
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 300