ปกิณณกธรรม ตอนที่ 291


    ข้อความนี้อยู่ระหว่างตรวจสอบแก้ไข

    ตอนที่ ๒๙๑

    สนทนาธรรม ที่ โรงพยาบาลพระมงกุฏเกล้า

    พ.ศ. ๒๕๔๑


    ท่านอาจารย์ ข้อความที่มีในพระไตรปิฎก และในอรรถกถา ยากที่คนสมัยนี้จะรู้ได้โดยทั่ว แสดงให้เห็นว่า แม้ว่ามีข้อความนั้นก็จริง ก็ไม่มีใครที่จะสามารถที่จะไปเปลี่ยนหรือจะไปเข้าใจเอาเองได้ต่างหาก แต่ว่าให้พิจารณาโดยรอบครอบว่า เป็นสิ่งที่เป็นไปได้ แต่ส่วนใหญ่จะเป็นไปอย่างนั้นหรือเปล่า เพราะเหตุว่าตามตัวอย่างที่มีก็ท่านเกิดในสวรรค์เท่านั้น

    ผู้ฟัง ถ้าเกิดในประเทศไทยยุคไอเอ็มเอฟ คนไทยก็คงจะต้องหันมาทำทานกันบ้าง เพื่อที่จะให้ได้ผลของกุศลกรรมในภายภาคหน้า ซึ่งถ้าเกิดเราจะเปรียบเทียบกับชาติตะวันตกหรือว่าชาติญี่ปุ่น เพราะจะสังเกตเห็นว่า ในยุคเช่นนี้ เขาไม่ต้องแร้นแค้นเหมือนกับคนไทย แต่ว่าคนไทยไม่ได้ให้ทานมาก่อนหรืออย่างไร ถ้าเกิดว่าเราทำทานแล้ว เกิดเราตกไปเกิดในถิ่นที่ ในสิ่งแวดล้อมที่ไม่มีพระพุทธศาสนา เราจะไม่เสี่ยงเกินไปหรือที่จะ ไม่มีโอกาสได้ฟังพระธรรม

    ท่านอาจารย์ เรื่องของทาน เป็นเรื่องที่แล้วแต่การสะสม ถ้าคนที่มีอุปนิสัยที่จะให้ทาน แม้ว่ามีไม่มากก็ให้ได้ อย่าไปคิดว่า เราจะต้องทำทานใหญ่ๆ เท่านั้นถึงจะเป็นทาน แล้วทานก็มีหลายอย่าง แม้แต่อภัยทานที่เราจะไม่โกรธใคร แล้วก็ไม่ทำร้ายใคร แล้วอภัยให้ ขณะนั้นจิตใจก็เป็นกุศล ไม่ต้องไปคิดถึงเรื่องวัตถุ แล้วอีกอย่างหนึ่ง ถ้าคิดว่าทำทานเพื่อที่จะได้ผลของทาน ทานนั้นไม่ได้ขัดเกลากิเลสเลย เพราะเหตุว่าหวังที่จะได้ผล ทำเพื่อหวัง กุศลทั้งหลายเป็นสิ่งทีดีงาม โดยเป็นสภาพจิตที่ดีงาม ไม่ใช่เป็นสภาพจิตที่หวังผลของทาน หรือหวังผลของกุศล แต่ลักษณะของจิตที่ดีงาม เพราะไม่มี โลภะ ไม่มีโทสะ ไม่มีโมหะ ไม่มีความติดข้อง และไม่มีความโกรธ หรือความขุ่นเคืองใจ แล้วก็ไม่มีอกุศลใดๆ เกิดร่วมด้วยในขณะนั้น

    ควรจะพิจารณาสภาพจิต โดยที่ว่าไม่ทำเพื่อหวังที่จะได้ผล แล้วเรื่องการที่จะเกิดที่ไหน เป็นบุคคลใด ทุกประเทศก็มีคนที่ยากไร้ ประเทศญี่ปุ่นไม่ได้หมายความว่าทุกคนเป็นเศรษฐีมั่งมีเงิน หรือว่าที่เมืองไทยแม้แต่ในยุคนี้ ก็ยังคงมีผู้ที่มีปัจจัยพอที่จะดำรงชีวิตอยู่อย่างสุขสบาย เป็นเศรษฐีอยู่อย่างเดิมก็มี เพราะฉะนั้น ก็เป็นเรื่องของกรรมของแต่ละคน ที่ไม่ได้จำกัดเชื้อชาติ

    ผู้ฟัง ถ้าเราให้ทานแล้วอยากเกิดในเมืองพุทธศาสนาด้วย เราต้องให้ทานจำกัดเฉพาะในวงพระพุทธศาสนา เท่านั้นหรือเปล่า

    ท่านอาจารย์ เรื่องของทานเป็นเรื่องสภาพจิตที่ดีเกิดขึ้น ไม่จำกัดว่า เป็นการให้ใคร แต่ว่าขณะใดก็ตามที่เป็นการเข้าใจเหตุผลที่ถูกต้องในสภาพธรรม อันนั้นเป็นกุศลคนละอย่าง คนที่มีเงินมาก ให้ทานมากมาย แต่ว่าไม่มีปัญญา ไม่มีความสนใจที่จะฟังพระธรรมก็มี เพราะฉะนั้น ไม่ได้หมายความว่า คนที่ให้ทานแล้วก็จะเป็นคนที่สนใจการศึกษาพระธรรม แต่คนที่ศึกษาพระธรรมแล้ว จะเป็นผู้ที่ไม่หวั่นไหว ไม่ว่ายามใดเป็นทุกข์ ยามใดเป็นสุข มีการขึ้นๆ ลงๆ ในชีวิต เพราะเหตุว่าต้องเป็นไปตามกรรม แต่คนนั้นก็ไม่หวั่นไหว เพราะรู้ว่า ทุกอย่างเกิดจากเหตุที่ตนเองได้กระทำแล้ว

    การเข้าใจธรรมเป็นสิ่งที่ควรที่จะสะสม แล้วบุญกุศลอื่นก็ไม่สามารถที่จะเทียบเท่าได้ เพราะเหตุว่าให้ผลเพียงชั่วคราว เป็นเศรษฐีชาตินี้ เป็นยากจกชาติหน้าก็ได้ แต่ว่าถ้ามีปัญญาสะสม ก็ยังสามารถที่จะเห็นประโยชน์ของพระธรรม แล้วก็มีปัจจัยที่จะทำให้มีศรัทธาที่จะศึกษาต่อๆ ไปด้วย

    ผู้ฟัง ถ้าเราให้ทานแต่ว่าไม่เกี่ยวข้องในพระพุทธศาสนา ถ้าเกิดเราเกิดในเมืองนอก เราก็ไม่มีโอกาสได้ฟังพระธรรมเลย

    ท่านอาจารย์ ถ้าเป็นคนที่กำลังมีทุกข์มาก หิวมาก แต่ว่าไม่ได้นับถือพระพุทธศาสนา จะให้ไหม จิตเป็นกุศลเกิดได้ไหม ควรเกิดไหม เพราะว่าไม่ได้หวังผลอะไร การให้คือการให้สิ่งที่เป็นประโยชน์สุขแก่บุคคลอื่น ด้วยจิตใจที่ผ่องใส ด้วยจิตใจที่ไม่ติดข้องในผลของกุศลจิตนั้น

    ผู้ฟัง ให้ แต่เราจะรับรองได้ไหมว่า ถ้าเผื่อเราให้แล้ว เราจะได้มาฟังพระธรรม

    ท่านอาจารย์ ไม่เกี่ยวกัน ถ้ามีความสนใจในพระธรรม ขณะฟังธรรม ก็เป็นปัจจัยที่จะสะสมไป ที่จะทำให้มีศรัทธา สนใจไปอีกได้

    ผู้ฟัง ถ้าเกิดสติเกิดในสิ่งที่เป็นอกุศล เพียงแต่ระลึกเท่านั้น โดยที่พฤติกรรมยังไม่ถอยกลับจากอกุศล เพราะคิดว่ามันบังคับไม่ได้แล้วก็เป็นการพลั้งพลาดทำอกุศลกรรมนั้นลงไป เช่นนี้ถือว่าเป็นบุญหรือเป็นบาป

    ท่านอาจารย์ โดยมากชอบถือ แล้วก็ถามคนอื่น ซึ่งไม่ใช่จิตของคนนั้นเลย เพราะฉะนั้น อย่างที่เคยพูด เรื่องเดาใจ ซึ่งตามความเป็นจริงแล้ว สภาพธรรมเกิดดับเร็วมากในขณะนี้ ถ้าสติสัมปชัญญะไม่เกิดที่จะรู้ลักษณะของสภาพธรรมในขณะที่กำลังปรากฏ เป็นเรื่องเดา และเรื่องคิดทั้งหมด เพราะฉะนั้น ก็ถูกบ้าง ผิดบ้าง เพราะว่าใครจะไปรู้ความละเอียดของจิต ก็เดากันไป พูดกันไป แต่หนทางที่จะทำให้รู้จริงๆ มี แทนที่จะไปนั่งคิดว่า ถือว่าเป็นอย่างนี้ ถือว่าเป็นอย่างนั้น ก็ควรจะอบรมหนทางที่จะทำให้รู้จริงๆ มากกว่าเพียงแต่จะถือว่า

    ผู้ฟัง สติเกิดจะทำให้ระลึก ย้อนกลับจากอกุศลหรือเปล่า หรือว่าไม่แน่เสมอไป

    ท่านอาจารย์ สติเป็นโสภณธรรม เกิดกับกุศลจิต และจิตที่ดีทั้งหมด

    ผู้ฟัง แต่ก่อนที่จะพลั้งพลาดพฤติกรรมที่เป็นอกุศลนั้นลงไป สติเกิดก่อนได้ แต่หลังจากขณะที่พลั้งพลาด

    ทำไปแล้วคือ คนละขณะ ทำไปแล้ว

    ท่านอาจารย์ การศึกษาธรรมคือการศึกษาเรื่องจริง จิตทุกขณะมีจริง แล้วสภาพของจิตแต่ละขณะก็เป็นจริง กุศลจิตก็เป็นกุศลจิต อกุศลจิตก็เป็นอกุศลจิต เพราะฉะนั้น ต้องอบรมปัญญาให้รู้จริง ไม่ใช่เพียงแต่คิดเฉยๆ ถ้าคิดอย่างนี้ก็เป็นเรื่องที่คิดไป ทั้งๆ ที่จิตในขณะนี้ก็กำลังเกิดดับ บางคนอาจจะเข้าใจว่า กุศลจิตเกิดติดต่อกันตลอดเวลา ความจริงไม่เป็นอย่างนั้น เพียงบางเสียงที่กระทบหู ก็เกิดความขุ่นใจเล็กๆ นิดๆ หน่อยๆ ได้ แทรกคั่น หรือในขณะที่กำลังฟัง บางทีก็คิดถึงเรื่องอื่น เผลอไปแล้ว เพราะฉะนั้น ก็ไม่ได้หมายความว่า จิตจะต้องเป็นกุศลตลอด แล้วเราก็มานั่งวัด นั่งคิดว่าตรงไหน จุดไหนเป็นอกุศล ก็เป็นเรื่องที่ทั้งวันก็นั่งคิดไป ก็ไม่สามารถที่จะรู้ความจริงได้ แต่ถ้าอบรมปัญญาที่จะเข้าใจลักษณะของสภาพธรรม ก็สามารถที่จะรู้จริงๆ ได้ด้วยตัวเองด้วย

    ผู้ฟัง ชีวิตประจำวัน จริงๆ คืออะไร

    ท่านอาจารย์ ถ้าไม่มีจิต เจตสิก ไม่มีรูป ก็ไม่มีอะไรที่เป็นชีวิต

    ผู้ฟัง เข้าใจว่า ชีวิตประจำวันของเรา คือที่เราคิด เรานึก ทุกวันๆ ทุกขณะ

    ท่านอาจารย์ ถ้าอยากนั้นก็ต้องตอบว่าวันนี้ ชีวิตประจำวันคืออะไร เห็น กำลังเห็น ชีวิตประจำวันแน่นอน หลังจากเห็นแล้วก็คิดเรื่องที่เห็น นี่ก็ชีวิตประจำวัน เวลาที่ได้ยิน แล้วก็คิดถึงเรื่องที่ได้ยิน บางขณะได้กลิ่นก็คิดถึงเรื่องกลิ่น บางขณะก็ลิ้มรสก็คิดถึงเรื่องรส แล้วเวลาที่กระทบสัมผัสทางกายก็คิดนึกเรื่องนั้น

    ชีวิตของคนที่เป็นไปในโลกของรูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส ก็จะคิดวนเวียนแต่ในเรื่องของสิ่งที่ปรากฏทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ

    ผู้ฟัง ชีวิตประจำวันเป็นสิ่งที่เราจะต้องรู้ ใช่ไหม

    ท่านอาจารย์ แน่นอน เพราะว่าเราต้องทราบว่า เวลาที่เราพูดถึงเรื่องกรรม กับผลของกรรม พูดลอยๆ ถ้าไม่พูดถึงเรื่องขณะจิต แต่ว่าพระธรรมที่ทรงแสดงไว้จากการตรัสรู้ ทรงแสดงสภาพของจิตซึ่งเกิดดับสืบต่ออย่างรวดเร็ว ว่าจิตขณะใดเป็นอกุศล หรือกุศล จิตขณะใดเป็นอกุศลกรรมบถ คือ เป็นทางที่จะให้เกิดผลคือวิบาก แล้วก็จิตประเภทใด ขณะไหนเป็นวิบาก คือมีความชัดเจน ไม่ได้เพียงแต่พูดลอยๆ เรื่องกรรมกับผลของกรรม แต่ทรงแสดงตั้งแต่ขณะเกิดจนถึงขณะตายว่า ขณะใดเป็นผลของกรรม แล้วขณะใดไม่ใช่ผลของกรรม

    ผู้ฟัง ผู้ที่รู้ชีวิตประจำวัน แปลว่า เป็นผู้รู้ธรรมหรือเปล่า

    ท่านอาจารย์ ถ้ารู้ว่าขณะนั้นไม่ใช่เรา ไม่ใช่ตัวตน แต่เป็นสภาพปรมัตถธรรม คือสิ่งที่มีจริงๆ ปรากฏ ขณะนั้นถึงจะชื่อว่า รู้ธรรม

    ผู้ฟัง ชีวิตประจำวันมีอยู่จริง เราก็รู้ เราก็เห็น เราได้ยิน ได้กลิ่น แต่ว่าจะต้องรู้ด้วยว่า ที่เห็น ที่ได้ยิน ที่ได้กลิ่น เป็นธรรมชนิดหนึ่ง ไม่ใช่เรา ไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่สัตว์ไม่ใช่บุคคล ถึงจะเรียกว่า รู้ธรรมในชีวิตประจำวัน

    ผู้ฟัง เป็นการเจริญสติปัฏฐานใช่ไหม รู้อย่างนั้น แต่ถ้าการพิจารณาเพียงแค่เห็นเป็นคุณประโยชน์ หรือว่าเห็นโทษ เพื่อที่จะตัดสินใจที่จะกระทำสิ่งใดสิ่งหนึ่งนั้น คิดว่าเป็นการเจริญสติปัฏฐานหรือเปล่า โดยที่ไม่มีการพิจารณารูปนามประกอบเลย

    ท่านอาจารย์ สติ เป็นธรรมฝ่ายดี มีหลายขั้น ขณะที่ทุกคนกำลังฟัง ให้ทราบว่า ต้องมีสติ โดยที่ไม่รู้ตัวเลย แต่ว่าขณะนั้นยังไม่ใช่สติปัฏฐาน ขณะที่ให้ทานกำลังให้วัตถุสิ่งหนึ่งสิ่งใดเพื่อประโยชน์สุขแก่คนอื่น ขณะนั้นก็มีสติ เป็นสติที่ะระลึกเป็นไปในการจะให้สิ่งที่เป็นประโยชน์สุขแก่บุคคลอื่น ขณะที่ช่วยเหลือใครแม้เพียงเล็กๆ น้อยๆ หรือว่าขณะที่มีกาย วาจาที่ดี ขณะนั้นก็มีสติ ขณะนั้นเป็นสติขั้นศีล ที่เกี่ยวกับกายวาจา เพราะฉะนั้น แม้ว่ามีสติ เวลาที่กุศลจิตเกิดก็ไม่รู้ แต่เวลาที่เป็นสติอีกระดับหนึ่ง ต้องเกิดจากการฟังพระธรรมก่อน แล้วก็มีความเข้าใจ เช่นในขณะนี้ที่กำลังฟังแล้วเข้าใจ เป็นสติ และปัญญา เป็นธรรม ไม่ใช่เรา ทุกสิ่งทุกอย่างเป็นธรรม ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน กำลังเห็นก็เป็นธรรมชนิดหนึ่งต่างกับขณะที่กำลังได้ยิน ซึ่งเป็นธรรมอีกชนิดหนึ่ง ขณะที่กำลังคิดนึกก็ไม่ใช่ขณะที่เห็น ไม่ใช่ขณะที่ได้ยิน ขณะที่ฟังธรรมเข้าใจ ขณะนั้นก็ไม่ใช่ขณะที่ไม่ได้ฟัง แล้วก็ไม่เข้าใจ เพราะฉะนั้น การฟังธรรมเข้าใจก็เป็นสังขารขันธ์ที่จะปรุงแต่ง ทำให้ต่อๆ ไปก็จะสามารถมีการระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏได้

    ผู้ฟัง ถ้าเช่นนั้น สติในขั้นทาน หรือขั้นศีลก็ไม่ใช่เป็นหนทางที่จะทำให้หลุดพ้นจากวัฏฏะนี้ได้เลย

    ท่านอาจารย์ ไม่เลย

    สมพร ผมคุยเรื่องชีวิตประจำวัน ทุกวันนี้เราเข้าใจชีวิตประจำวันว่า เป็นอัตตา เป็นตัวเป็นตน เป็นคน เป็นสัตว์ ว่าเราจะต้อง กระทำกิจอย่างนั้นอย่างนี้ ไม่ใช่ คำว่าชีวิตประจำวัน ชีวิตนั้นคือรูป ชีวิตนั้นคือนาม ๒ อย่างเท่านั้น แต่ว่ามันเกิดดับบ่อยๆ

    ผู้ฟัง เวลาที่อาจารย์พูดอะไรแล้ว ก็อยากจะทำความเข้าใจตรงนั้น ท่านอาจารย์กล่าวบอกว่า มือถ้าดูก็เหมือนสะอาด แต่ถ้าฟอกสบู่แล้ว จะเห็นว่าสกปรก อย่างนี้ท่านอาจารย์จะหมายความว่าผู้ที่ไม่ได้ศึกษา นึกว่าสะอาด ตัวสะอาด แต่ที่จริงแล้วมีอวิชชา อะไรทำนองนี้หรือเปล่า

    ท่านอาจารย์ หมายความว่า อกุศลธรรมมีหลายขั้น ขั้นที่เรารู้สึกว่าเป็นอกุศลก็มี แต่ขั้นที่เราไม่รู้สึกว่า เป็นอกุศลก็มี เพราะฉะนั้น บางคนเขาก็บอกว่า เขาไม่มีอกุศลเลย ไม่โลภ ใช้คำว่าไม่โลภ เพราะเหตุว่าเขาไม่รู้ว่าลักษณะของสภาพธรรมที่ติดข้อง แม้แต่เพียงความหวัง เขาบอกว่าเขาไม่โลภ แต่เขาหวังอะไรบ้างหรือเปล่า เพียงแต่ว่าเย็นนี้ จะไปไหน จะทำอะไร มีความคิด ความหวัง ความติดข้องในสิ่งที่กำลังคิดอยู่ ขณะนั้นก็เป็นลักษณะของความติดข้อง เพราะฉะนั้น การที่ไม่ศึกษาธรรม จะทำให้เข้าใจผิดทั้งๆ ที่มีอกุศล ก็คิดว่าไม่ใช่อกุศล พอตื่นมามีการให้ทาน มีการที่จะระวังกายวาจาให้เป็นไปในศีล หรือว่ามีการที่จะช่วยเหลือสงเคราะห์บุคคลอื่น มีการฟังธรรม มีการรู้สภาพของจิตว่า จิตขณะนั้นสงบหรือไม่สงบ ถ้าไม่มีสิ่งต่างๆ เหล่านี้ในขณะนั้น ให้ทราบว่าเป็นอกุศลทั้งหมด แล้วก็มีอกุศลหลายขั้น เพราะฉะนั้น เวลาที่เป็นพระอรหันต์แล้ว จะเห็นได้ว่าธรรมดาของปุถุชน หลังจากที่เห็นแล้วก็เป็นอกุศล มีความติดข้องในสิ่งที่เห็น ที่ได้ยิน ได้กลิ่น ลิ้มรส รู้สิ่งที่กระะทบสัมผัสกาย คิดนึก แล้วก็เวลาที่กุศลจิตเกิด หลังจากที่เห็น คนนั้นจะรู้ไหมว่า ขณะนั้นเห็นแล้วกุศลจิตเกิด นี่เป็นสิ่งที่ยาก เพราะว่าปกติเป็นอกุศล แล้วเวลาที่เห็นแล้วกุศลจิตเกิด จะเกิดอย่างไร ตอนไหน แล้วก็นอกจากนั้นแล้ว ผู้ที่อบรมเจริญปัญญารู้แจ้งอริยสัจธรรมถึงระดับขั้นที่เป็นพระอรหันต์แล้ว กุศลจิตไม่มี อกุศลจิตไม่มี เพราะเหตุว่าถ้ายังเป็นกุศล ยังเป็นอกุศลอยู่ ยังต้องมีผลของกรรมที่เป็นกุศล และอกุศลที่ยังต้องเกิดต่อไป

    พระอรหันต์มีแต่วิบากจิต คือจิตที่เป็นผลของกรรมที่ต้องเห็น ต้องได้ยินขณะนี้ เป็นวิบากทั้งนั้น แล้วก็มีกิริยาจิต คือหลังจากเห็นได้ยินแล้วไม่เป็นกุศล และไม่เป็นอกุศล เพราะฉะนั้น เมื่อถึงขณะสุดท้ายของจิต คือ จุติจิต สิ้นสภาพความเป็นบุคคลนี้ ทรงใช้คำว่าปรินิพพาน ดับสิ้นโดยรอบ ไม่มีปัจจัยที่จะทำให้จิตเจตสิกเกิดต่อไป เป็นชาติต่อไปได้ เพราะฉะนั้น ก็จะเห็นได้จริงๆ ว่า เรื่องของสภาพธรรมเป็นเรื่องที่ละเอียด ถ้าไม่รู้ว่าอกุศลมี ขณะที่ว่าเป็นลักษณะที่บางเบา โดยไม่รู้สึก คือ หลังเห็นแล้ว ใครจะรู้บ้างว่าเป็นอกุศล ถ้ารู้คนนั้นมีโอกาสจะเป็นพระอรหันต์ เพราะมี หิริ โอตตัปปะแล้วเห็นความน่ารังเกียจของอกุศลแม้เพียงบางเบา คือ เพียงเห็นหลังจากเห็นแล้วก็เป็นอกุศล

    เพราะฉะนั้น ก็เป็นเรื่องที่พระธรรมจะทรงแสดงให้เห็นสภาพความจริงที่ละเอียดมาก ถึงเรื่องของการที่จะดับกิเลส ไม่ใช่เพียงแต่ระงับกิเลส หรือว่าเข้าใจเท่านั้น แต่หนทางที่จะดับกิเลสมีได้จริงๆ

    ผู้ฟัง ผมเข้าใจว่าท่านทั้งหลายที่มานั่งอยู่ ณ ที่นี้ คงจะมีความสนใจในธรรม แต่ว่าบางทีอาจจะฟังไม่เข้าใจ แต่ถ้ามีความสนใจ อย่าละ อย่าทิ้ง ให้มีฉันทะ ความพอใจ เชื่อว่า พระธรรมเป็นที่พึ่งได้แน่ พระธรรมมีประโยชน์แน่นอน สามารถที่จะให้เรารู้ความจริงของชีวิตได้แน่นอน ถึงจะไม่เข้าใจ เข้าใจบ้าง ก็ไม่เป็นไร ฟังบ่อยๆ ความเข้าใจจะเพิ่มขึ้น โดยเราไม่รู้สึกตัวเลย พ้นไปปีหนึ่งเมื่อก่อนเราไม่เป็นอย่างนี้ ไม่ค่อยจะรู้เรื่องอะไร ปีหนึ่งผ่านไป เรารู้อะไรขึ้นมาก ที่รู้หมายความว่ารู้ชีวิตประจำวันของเรามีอะไร เป็นเรื่องที่น่ารู้ น่าศึกษาอย่างไร จะได้รู้ขึ้น ใจเป็นบาป เป็นอกุศลเป็นอย่างไร ใจเป็นบุญ เป็นกุศล เป็นอย่างไร มันจะรู้ขึ้น รู้ขึ้น ไม่มีอะไรที่จะดีเท่ากับการรู้ตัวเอง การรู้จักตัวเองเป็นสิ่งที่ประเสริฐที่สุด ผมขอเชิญชวนว่า ถ้าฟังไม่เข้าใจก็ไม่เป็นไร ฟังต่อไปอีกเรื่อยๆ แล้วจะเข้าใจ

    ผู้ฟัง เรื่องของการประพฤติทุจริต อย่างเรื่องในพระสูตรที่ว่า พระโสดาบันยังคงสามารถที่จะส่งอาวุธให้กับสามีที่เป็นนายพราน เพื่อไปฆ่าสัตว์ ตรงนั้น พระโสดาบันก็ต้องรู้โทษของการที่สามีไปฆ่าสัตว์ ทำให้สัตว์เดือดร้อน ก็คล้ายๆ กับ ที่คนทำแพ็คกิ้ง ไปให้คนขายยาม้าขาย ก็เลยคิดว่า พระโสดาบันไม่รู้โทษหรือ ว่าสิ่งที่จะเกิดขึ้นต่อไปคืออะไร คือไม่อยากจะเปรียบตัวเราว่า เราถ้าสมมติเป็นโสดาบันเป็นอย่างไร ก็มีความคิดแบบพื้นๆ ตื้นๆ ของเราว่า ถ้าเราเป็นพระโสดาบันเราคงไม่ส่งอาวุธ ให้สามีไปฆ่าสัตว์ ก็มีความสงสัยว่า ตอนที่พระโสดาบันส่งอาวุธให้สามีไปฆ่าสัตว์ ท่านคิดอย่างไรจึงไม่เป็นอกุศล

    สมพร พระโสดาบันท่านละเวรทั้ง ๕ แล้ว เวร ๕ คือ ฆ่าสัตว์ ลักทรัพย์ ประพฤติผิดในกาม เหล่านี้เรียกว่า เวร ๕ แต่เจตนาเป็นใหญ่ ซึ่งมีอายุสั้นนิดเดียว มันเปลี่ยนได้ ขณะที่ที่ถามว่า ภรรยาของท่านเป็นพระโสดาบัน สามีของท่านเป็นนายพราน แล้วท่านก็ส่งลูกธนูให้นายพราน เครื่องมือหากินจับสัตว์ เมื่อเป็นเช่นนี้ ภรรยาจะไม่ต้องอกุศลกรรมบถหรือ เวรทั้ง ๕ ท่านตัดได้แล้ว ทั้งฆ่าสัตว์ ลักทรัพย์ แต่ว่าเจตนานั้นมันเกิดแล้วดับอย่างรวดเร็ว เจตนาที่จะให้ฆ่าสัตว์ของท่านไม่มี แต่เรามองดูภายนอกคล้ายๆ ว่า ท่านสนับสนุนเราคิดเอาเอง แต่เจตนาเป็นนามเกิดพร้อมกับจิต ดับพร้อมกับจิตอย่างรวดเร็ว แล้วก็เจตนาที่งดเว้นจากการฆ่าสัตว์ด้วย แต่ทำไมท่านถึงส่งเครื่องมือให้นายพรานไปฆ่าสัตว์ เพราะว่าตามธรรมดาภรรยาก็มีหน้าที่ทำกิจของภรรยา แต่เจตนาที่จะฆ่าไม่มี เราต้องแยกแยะ เจตนามันเกิดแล้วดับอย่างรวดเร็ว รู้ยาก ปุถุชนนี้รู้ยาก เพราะว่าท่านกล่าวว่า ปุถุชนไม่สามารถรู้จิตของพระโสดาบัน พระโสดาบันไม่สามารถรู้จิตของพระสกทาคามี พระสกทาคามีไม่สามารถรู้จิตของพระอนาคามี พระอนาคามีไม่สามารถรู้จิตของพระอรหนัต์

    เพราะฉะนั้น พวกเราเป็นปุถุชน ฟังเขาว่า ภรรยาส่งอาวุธยุทโธปกรณ์ให้สามี คล้ายๆ ว่าเจตนาร่วมในการฆ่า เจตนาร่วมในการฆ่าไม่มีเลย เพราะว่าเจตนาของท่านบริสุทธิ์จริงๆ

    ท่านอาจารย์ ถึงภรรยาไม่ส่งให้ สามีก็หยิบเองได้ เพราะฉะนั้น จะห้ามใครที่ไม่ให้เขาเกิดอกุศลจิต หรือกระทำอกุศลกรรม เป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ เพราะฉะนั้น ขึ้นอยู่กับเจตนา ถ้าบุคคลนั้นไม่มีเจตนาฆ่า แต่ในขณะเดียวกันเขาก็สามารถที่จะมีความเข้าใจในสภาพธรรมว่า ธรรมทั้งหลายเป็นอนัตตา กุศลจิตจะเกิด หรืออกุศลจิตของใครจะเกิดตามการสะสมของบุคคลนั้น ไม่ใช่เราสามารถที่จะเอาความรู้ความเข้าใจของผู้ที่เป็นพระโสดาบันไปให้กับสามี แล้วทำให้เขาไม่ฆ่า เป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้เลย อีกประการหนึ่งท่านรู้เรื่องของกรรม และผลของกรรม เพราะเหตุว่านายพรานออกไปป่าทั้งวันก็หาอะไรไม่ได้ ยิงสัตว์ไม่ได้เลยก็มี

    ไม่ใช่เรื่องที่เราจะไปจัดการโลก ไม่ให้คนนั้นทำอย่างนี้ ไม่ให้คนนี้ทำอย่างนั้น ไม่ถูกต้อง เพราะเหตุว่าถ้าเข้าใจสภาพธรรมตามความเป็นจริงก็จะรู้ว่า สิ่งที่มีประโยชน์ในชีวิต คือการที่จะช่วยให้บุคคลอื่นมีความรู้ความเข้าใจธรรมที่ถูกต้อง เพราะเหตุว่าถึงแม้ว่าเราจะสงเคราะห์ช่วยเหลือใครมากมายสักเท่าไรก็ตาม ก็เพียงชั่วระยะสั้นๆ แต่ว่าสังสารวัฏฏ์ก็ยังสืบต่อไปอีกยาวนานมาก ถ้าสามารถที่จะทำให้เขาเกิดความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้อง ก็จะทำให้เข้าสามารถจะอบรมเจริญปัญญาได้

    ผู้ฟัง ในพระพุทธศาสนา จะมีโหราศาสตร์เกี่ยวข้องในลักษณะใดได้บ้าง เพราะว่าที่ส่วนใหญ่ ที่ชาวบ้านเข้าวัดกัน มีส่วนหนึ่งเข้าไปเพื่อการดูดวง ไม่ทราบว่าสมัยพุทธกาลจะมีอย่างนี้หรือเปล่า

    ท่านอาจารย์ ถ้าพูดถึงโหราศาสตร์ คำว่า ศาสตร์ หมายถึงเป็นวิชาหนึ่งซึ่งเหมือนวิชาอื่นๆ แต่ว่าต่างกับวิชาอื่นๆ ที่ว่าเป็นวิชาที่เกี่ยวกับดวงดาว หรือว่าแล้วแต่สถิติของการศึกษา ในสมัยพระพุทธกาลก็มีดาบสที่ทำนายพระพุทธเจ้าด้วย แม้แต่ท่านอัญญาโกณฑัญญะก็เป็นผู้ที่ทำนายว่า พระองค์จะได้ตรัสรู้เป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า คงจะมีศาสตร์อย่างนี้ตั้งแต่สมัยก่อนมาแล้ว เพราะเหตุว่าไม่ใช่เพิ่งมีตั้งแต่สมัยนั้น แต่ว่าศาสตร์นี้ไม่ได้รู้เรื่องของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏตามความเป็นจริง

    ผู้ฟัง ผู้ที่ศึกษาพระพุทธศาสนา แล้วก็สามารถที่จะพยากรณ์ หรือทำนายอนาคตของคนอื่นได้อย่างถูกต้องแม่นยำ ไม่ใช่แนวทางของพระพุทธศาสนา

    ท่านอาจารย์ คนที่เป็นชาวพุทธ ไม่ได้หมายความว่าเขาจะเป็นนักวิทยาศาสตร์ไม่ได้ เขาจะศึกษาอะไรไม่ได้ แต่ละคนมีการสะสมมาที่จะเป็นแต่ละ ๑ คน สับเปลี่ยนกันไม่ได้เลยด้วย เพราะฉะนั้น แต่ละคนก็จะต้องรู้จักตัวเองตามความเป็นจริง ซึ่งตามความเป็นจริงคือโลก ๖ โลก ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ จะคิดนึกเรื่องอะไรก็แล้วแต่ จะเป็นการแพทย์ วิทยาศาสตร์ หรือโหราศาสตร์ หรืออะไรแล้วก็แล้วแต่ ขณะนั้นก็เป็นสภาพจิตที่คิดนึก มิฉะนั้นแล้วจะหวั่นไหวมาก คิดว่าอย่างนี้ไม่ได้ อย่างนั้นไม่ได้ ปัญญาไม่สามารถที่จะรู้ความจริงได้ แต่ถ้าเป็นปัญญาจริงๆ จะรู้ว่า ไม่มีความต่างกันเลยในโลกของแต่ละโลก เช่น โลกของความคิดนึก ไม่ว่าจะเป็นนักประวัติศาสตร์ หรือวิทยาศาสตร์ หรือโหราศาสตร์ ขณะนั้นก็เป็นสภาพจิตที่กำลังคิด เพราะฉะนั้น จะไม่มีการเลือก หรือจะไม่มีการเกรงกลัว จะไม่มีการหวั่นไหว ขณะใดที่มีการหวั่นไหว ขณะนั้นเพราะอวิชชา

    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 97
    23 มี.ค. 2567