ปกิณณกธรรม ตอนที่ 293
ตอนที่ ๒๙๓
สนทนาธรรม ที่ โรงพยาบาลพระมงกุฏเกล้า
พ.ศ. ๒๕๔๒
ผู้ฟัง เมื่อเป็นทั้ง ๑๐ อย่างมีปัญญา เหตุใดท่านจึงแยกปัญญาออกมาอีกต่างหากเป็น ๑ ใน ๑๐ ทำไมท่านไม่ผนวกเข้าไปใน ๑๐ อย่างนั้น
ท่านอาจารย์ เพราะว่าบารมีอื่นเป็นบริวารของปัญญาบารมี
ผู้ฟัง ถ้าเผื่อสมมติว่า คนที่ไม่ได้อบรมเจริญปัญญาก็บำเพ็ญบารมีไม่ได้
ท่านอาจารย์ อย่างคนที่ให้ทาน แต่ไม่มีปัญญา คือหวังผลที่ได้รับจากทาน แสดงว่าไม่มีปัญญา ไม่สามารถที่จะรู้ได้ว่า ขณะที่หวังเป็นโลภะ เพราะฉะนั้น ให้ไปหวังไป ให้ไปมีโลภะไป แล้วจะดับโลภะได้อย่างไร
ผู้ฟัง เราจะเห็นชัดๆ พอผ่านวัดก็เจ้าประคุณ ขอให้ถูกล็อตเตอร์รี่ที่ ๑ อย่างนี้เป็นต้น อันนี้ก็คล้ายๆ กับว่าเป็นคำขอ ซึ่งคนทั่วไปก็ใช้คำว่าอธิษฐาน ซึ่งก็อธิษฐานอยู่ในเรื่องของอธิษฐานบารมี ขออาจารย์ขยายความคำว่าคำ ขอ กับ อธิษฐาน เพราะว่าส่วนมากจะใช้คำว่าอธิษฐาน ไม่ใช้คำว่า ขอ แต่พอเข้ามาอยู่ในบารมีแล้ว กลายเป็นว่าอธิษฐาน อันนี้มันจะสับสนอย่างไร
ท่านอาจารย์ อธิษฐาน คือ ความตั้งใจมั่นที่จะทำความดี เพื่อที่จะรู้แจ้งอริยสัจธรรม หรือเพื่อที่จะขัดเกลากิเลส
ผู้ฟัง เฉพาะทางธรรมเท่านั้น ใช่ไหม ถ้าเผื่อเป็นทางอื่นเราไม่เรียกว่าเป็น อธิษฐาน
ท่านอาจารย์ อธิษฐาน คือความตั้งใจมั่น ที่จะเป็นบารมีได้ ก็ต้องให้ถึงฝั่ง
ผู้ฟัง เฉพาะเรื่องของทางธรรมเท่านั้น ใช่ไหม ถ้านอกธรรมแล้วจะไม่เรียกคำว่าอธิษฐาน ก็เป็นคำขอไป หรืออย่างไร
ท่านอาจารย์ คนที่อยากได้อะไร อยากได้มากๆ และไม่รู้เหตุผล ก็คิดว่า ขอคงจะได้ ไหว้นิดเดียว ยกมือขึ้นหน่อยหนึ่ง ขอตั้งมากมายนั่นสมเหตุสมผลไหม ขณะนั้นไม่มีปัญญา และไม่เข้าใจความตั้งใจมั่นด้วย เพียงแต่เป็นความอยากมั่น
ผู้ฟัง ถ้าความตั้งใจมั่นก็หมายความว่า นั่นเป็นความตั้งใจของผู้นั้น ก็ไม่จำเป็นจะต้องเอ่ยคำ
ท่านอาจารย์ ยกตัวอย่างในชีวิตประจำวัน คุณสุรีย์ฟังธรรมหลายรายการวิทยุ แล้วก็ยังถอดเทปด้วย แล้วก็ยังพิมพ์ ด้วยความตั้งใจมั่น ไม่มีใครขอร้อง แต่ว่าทำเองด้วยฉันทะที่เป็นกุศล ขณะนั้นมีความมั่นคงที่จะทำอย่างนั้น
ผู้ฟัง คำว่า บารมี มีอุปบารมี แล้วก็ปรมัตถบารมี แล้วท่านก็จัดเป็นบารมี ๑๐ ทัศ ๓๐ ทัศ เท่าที่ได้ยินได้ฟังได้เรียนมา ยังเป็นแบบนี้ ยังไม่เข้าใจเลยว่า ทำไมต้องมีคำว่าทัศ ทำไม ๑๐ ไม่พอ ต้องเป็น ๓๐ แล้วมีบารมีเฉยๆ แล้วมี อุปบารมีหมายวามว่าอย่างไร ปรมัตถบารมีโดยเนื้อหาแล้วหมายความว่าอย่างไร
สมพร บารมี ๑๐ ทัศ คำว่าทัศ ทศ ภาษาบาลี เป็น ทะ-ศะ บอกว่า ทศ แปลว่า ๑๐ บารมี ๑๐ อย่าง ถ้าพูดเป็นภาษาไทย บารมี ๑๐ อย่าง ทีนี้ท่านพูดเป็นภาษาบาลี บารมี ๑๐ ทัศ ทัศมาจาก ทศ ใส่ไม้หันอากาศก็เป็นทัศ ทัศนี้แปลว่า ๑๐ ยกตัวอย่างว่า ๑๐ อย่างนี้เป็นบารมี ถ้าหากมีกำลังกล้ากว่านี้ เรียกว่า อุปบารมี ถ้ามีกำลังประณีตที่สุดเรียกว่า ปรมัตถบารมี ยกตัวอย่าง เช่นเราให้ทาน วัตถุทานภายนอกทั้งหมดเลย เรียกว่า ทานบารมี ถ้าให้อวัยวะ ส่วนใหญ่ เป็นหนึ่ง เรียกว่าอุปบารมี มีกำลังกล้ากว่า ใช่ไหม ร่างกายเราสำคัญกว่าวัตถุภายนอก ถ้าให้ชีวิต สละชีวิตเป็นปรมัตถบารมี นี่ยกตัวอย่าง เกี่ยวกับทาน
ผู้ฟัง ถ้าภาษาบาลี ทศ แปลว่า ๑๐ ทำไมเราต้องมาเพิ่มว่า ๑๐ ทัศ เหมือนกับว่า สิบ สิบ ตั้ง ๒ ครั้ง อย่างนี้ น่าจะพูดว่าบารมี ๑๐ หรือ ๑๐ อย่างก็คงจะเพียงพอ
สมพร นั่นเป็นภาษาพูดต่อๆ กันมา เราก็ไม่รู้อรรถที่ลึกซึ้ง เขาพูดกันมาอย่างนั้นก็ พูดกันไปอย่างนี้ แท้จริงบารมี ๑๐ อย่าง ทศ แปลว่า ๑๐
ผู้ฟัง บารมีธรรมดาก็ในระดับธรรมดา อุปบารมีเป็นบารมีที่มีกำลังแรงกล้าขึ้น ปรมัตถบารมีเป็นบารมีที่มีกำลังประณีตยิ่งที่สุด อาจารย์สุรีย์ถามว่า พระโพธิสัตว์บำเพ็ญบารมี จะเป็นบารมีประเภทไหนประเภทธรรมดา หรือว่าอุปบารมี หรือว่า ปรมัตถบารมี
สมพร ทั้ง ๓ อย่างเลย พระโพธิสัตว์บำเพ็ญทานบารมี อุปบารมี ปรมัตถบารมี ทั้ง ๓ อย่างเลย เช่น ให้ทานให้ทรัพย์นับประมาณไม่ได้ไม่รู้ว่ากี่แสนโกฏิ ทรัพย์ภายนอกซึ่งเป็นทานบารมี แล้วสละอวัยวะให้เป็นทาน ก็นับประมาณไม่ได้ ให้ชีวิตเป็นทาน สละชีวิต สละชีวิตเป็นทานในพระสูตรก็กล่าวไว้มาก ยกตัวอย่างสักนิดหนึ่ง ครั้งหนึ่งพระองค์เห็นเสือมันหิวจะกินลูก ตอนนั้นพระองค์เป็นดาบสก็พิจารณาว่า สัตว์ทั้งหลายดำรงอยู่ได้เพราะอาหาร ถ้าหากว่าขาดอาหารก็วุ่นวาย จะกินแม้ลูกตัวเอง พระองค์ก็ให้พระสารีบุตรซึ่งเป็นดาบสด้วยกัน ออกอุบายให้ไปหาเศษอาหาร หากระดูก อะไรๆ ให้สัตว์ ให้เสือกิน เมื่อดาบส คือพระสารีบุตรเป็นดาบสไปแล้ว ท่านก็กระโจนลงไปสละชีวิตของท่านให้เป็นอาหารของเสือ สละชีวิตให้เป็นทาน
ผู้ฟัง มีคำแนะนำอะไรเกี่ยวกับบารมี ๓ อย่างนี้ไหม
ท่านอาจารย์ ความดีเป็นสิ่งที่ควรอบรมให้มีมากขึ้น ไม่ใช่เพียงแต่คิดว่าดีแล้ว หรือพอแล้ว เพราะว่าดีเท่าไรก็ยังไม่พอ คนที่จะเป็นคนดี ถ้ารู้ว่าบารมี ๑๐ มีอะไรบ้าง สามารถที่จะพิจารณาตัวเองได้ว่า แต่ละอย่างเรามีพอหรือยังหรือว่ามากน้อยแค่ไหน หรือมีอะไร เรื่อยๆ เพิ่มขึ้น
ผู้ฟัง โดยที่ไม่ต้องตั้งเป้าหมายว่าจะบำเพ็ญ อุปบารมี ปรมัตถบารมี ไม่ต้องมีเป้าหมายอย่างนี้ ใช่ไหม
ท่านอาจารย์ นั่นเป็นเรื่องความคิด ถึงเวลาจริงๆ แล้วไม่เกี่ยวกันเลย แล้วแต่สภาพธรรมขณะนั้นจะเป็นกุศล หรืออกุศลอย่างไร
ผู้ฟัง เรื่องอธิษฐานบารมี เมื่อพิจารณาแล้วเป็นเรื่องของความตั้งใจมั่นคง จริงๆ แล้วอธิษฐานบารมีจะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อสภาพธรรมเกิด ถ้าฟังอย่างนี้ ก็ค่อนข้างที่จะเกิดข้อสงสัยสำหรับผม เพราะว่าเวลากระทำการอะไรสักอย่าง อยากจะบอกเทวดาบ้าง อยากจะบอกพ่อแม่บ้าง อยากจะบอกใครต่อใครบ้างที่มีอยู่แล้วในภูมิที่ผมเกิดอยู่ตรงนี้ ก็บอกว่าให้ท่านช่วย อะไรก็แล้วแต่ชี้แนะ หรือดลบันดาลอะไรต่างๆ เหล่านี้ ลักษณะอย่างนี้ก็ตั้งใจที่จะขอจากท่าน รู้ว่า อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ทำขึ้น คือทำด้วยตัวเอง สิ่งต่างๆ เหล่านี้ก็เป็นอาการหนึ่งที่กระทำไปพร้อมกับความตั้งใจ เช่นยกมือขึ้นกราบพระแล้วก็นึกระลึกถึงท่านบ้าง หรือว่ากรวดน้ำบ้างต่างๆ เหล่านี้เป็นประเพณี หรือเป็นส่วนประกอบอันหนึ่งในการที่จะทำให้เกิดความตั้งใจมั่น หรือเจตนามั่น ในการที่จะอธิษฐานทำอะไรสักอย่างให้สำเร็จ
ท่านอาจารย์ อันนี้ต้องเข้าใจว่า ความตั้งใจมั่นในขณะที่กรวดน้ำ อุทิศส่วนกุศล เป็นตอนหนึ่ง เป็นกุศลประการหนึ่งที่จะให้คนอื่นได้เกิดกุศล อนุโมทนา คนละเรื่อง แต่ว่าเวลาที่แต่ละคน เช่นการฟังธรรม ไม่ต้องอธิษฐานเลย แต่เราก็มีความมั่นคงที่จะฟัง หรือว่าคนที่เขาบอกว่า อธิษฐานขอให้ได้พบพระธรรมที่ถูกต้อง ตอนนั้นเขายังไม่พบ แต่เขามีความตั้งใจมั่นที่จะได้พบพระธรรมที่ถูกต้อง แต่เวลาที่พบแล้วยังต้องอธิษฐานต่อไหม หรือว่าคุณวีระก็ได้มาสู่พระธรรม คุณวีระเคยอธิษฐานไว้ก่อนหรือเปล่า หรือว่าไม่เคย แต่ความตั้งใจมั่นในกุศลก็เป็นปัจจัยหนึ่งที่จะทำให้มีโอกาสถึงกาลที่จะได้ยินได้ฟังธรรม
ไม่ใช่เป็นเรื่องของคำพูด ไม่ใช่เป็นเรื่องของการขอ แต่ว่าเป็นเรื่องของแต่ละบุคคลจะรู้ว่ามีความมั่นคง แม้ว่าไม่พูดแต่ว่ามั่นคงในการที่ทุกคนศึกษาธรรม บางท่านก็ศึกษามาก บางท่านก็ฟังมาก บางท่านก็มีความต้องการที่จะเข้าใจโดยการสนทนากัน ก็เป็นความมั่นคงที่จะเข้าใจธรรมโดยที่ไม่ต้องอธิษฐาน พอตื่นขึ้นมาก็ยกมือไหว้อธิษฐานขอให้ได้ฟัง หรืออะไรอย่างนั้น ก็ไม่ต้อง ใช่ไหม แต่ความตั้งใจมั่นมีอยู่แล้ว
ผู้ฟัง ถ้าเราจะทำอะไรสักอย่าง เราแสดงออกด้วยทางกายด้วยแล้วมันแสดงถึงความมั่นคงของเรา อันนั้นก็ไม่ประกอบด้วยเลย อย่างนั้นหรือ
ท่านอาจารย์ บางคนขอเก่ง ขอเสร็จแล้วก็ไม่ทำก็มี ขอแล้วก็ไม่ได้ตั้งใจมั่นอย่างที่ขอก็มี แต่คนที่แม้ไม่ขอแต่ทำ อันนี้ก็แสดงให้เห็นว่าอันไหนที่จะมั่นคงกว่ากัน
ผู้ฟัง คงเป็นท่านที่ทำ อีกคำถามหนึ่ง คือเกี่ยวกับเรื่องประเพณี การเชื่อถือ ที่อาจจะเป็นประเพณีที่เราสืบเนื่องต่อๆ กันมา อย่างอาทิเช่นการที่จะทำพิธีอะไรสักอย่างหนึ่ง เพื่อให้เป็นสิริมงคล อาทิเช่น การวางศิลาฤกษ์อย่างนี้เป็นต้น ในประเพณีของผม คงจะไม่กล้าพูดว่า เป็นประเพณีของไทย แต่ว่าประเพณีที่ถือสืบๆ ต่อกันมา จะมีดูวันที่ ดูเวลาที่เหมาะสม ถ้าเผื่อเวลาไหนที่เหมาะสม ก็บอกว่าเอาละตรงนี้เป็นฤกษ์ดี จะต้องกำหนดพิธี กำหนดที่จะทำพิธีอย่างนี้วันนี้ ทำอย่างนั้นอย่างนี้ ถ้าสมมติว่าเกิดเป็นเรื่องของความที่จะเชื่อถือในสิ่งที่ถูกหรือในสิ่งที่ผิด เรื่องของสีลัพพตปรามาสะ ความเชื่อในสิ่งที่ถูกต้องคือเชื่อในพระธรรมซึ่งมีสภาพจริง กับเรื่องที่จะทำตามประเพณีแล้ว จำเป็นหรือไม่ ที่เราจะต้องระวัง เรื่องของประเพณีให้ถูกต้องกับเรื่องของการศึกษาพระธรรม
ท่านอาจารย์ ถ้าเรื่องของเหตุผล ถ้าขณะใดที่กุศลจิตเกิด ขณะนั้นเป็นฤกษ์ดี ไม่ต้องคอยว่าพรุ่งนี้จะดี แต่ถ้าดีขณะนี้ก็เป็นฤกษ์ดี จะทำอะไรก็ได้ที่เป็นกุศล ที่คุณวีระพูดถึงเรื่องฤกษ์งามยามดี อย่างเรื่องของการวางศิลาฤกษ์ ที่มูลนิธิกำลังสร้างอาคาร แล้วก็ใกล้ๆ กับวันวิสาขะ ซึ่งถ้าเป็นไปได้ คิดว่าถ้าได้วางศิลาฤกษ์ในวันวิสาขะ ก็จะเป็นปัจจัยให้หลายๆ คนเกิดกุศลจิต น้อมระลึกถึงคุณของพระธรรม น้อมระลึกถึงคำสอนของพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ที่ยังคงอยู่ ซึ่งมีผู้ที่ศึกษาแล้วก็ทำงานเพื่อการเผยแพร่คำสอน ให้คนอื่นได้เข้าใจได้เป็นประโยชน์ ไม่ใช่หมายความว่า เพื่อที่จะถือฤกษ์ถือยาม อย่างพราหมณ์ หรือคิดว่าถ้าไม่ใช่วันนั้น เวลานั้น เดือนนั้นคงจะไม่ดี เพราะเหตุว่าหลายคนที่หาฤกษ์ ต่างๆ แต่ว่าไม่ได้สำเร็จตามฤกษ์นั้นเลย หรือว่าในขั้นต้นดี แต่ตอนท้ายก็ไม่ดีได้ เป็นไปตามกรรมทั้งหมด แต่ในการซึ่งเราจะทำสิ่งหนึ่งสิ่งใด ก็ต้องมีเหตุผลว่า ถ้ามีการวางศิลาฤกษ์ในวันวิสาขะ หลายคนคงจะมีจิตน้อมระลึกถึงวันที่พระผู้มีพระภาคทรงประสูติ ตรัสรู้ ปรินิพพาน มิฉะนั้นแล้วคำสอนนี้จะไม่มีเลย เพราะฉะนั้น เป็นโอกาสที่หลายๆ คนจะเกิดกุศลจิต ไม่ใช่ว่าต้องไปถือฤกษ์ถือยามอย่างอื่น
ผู้ฟัง เมื่อพระภิกษุมาประชุมรวมกัน องค์สมเด็จสัมมาสัมพุทธเจ้าบอกว่าเธอมีกิจ ๒ อย่างที่จะต้องทำ คือว่าสนทนาธรรมกัน หรือว่านิ่งแบบพระอริยะ
ท่านอาจารย์ ชีวิตที่มีประโยชน์ คือ ชีวิตที่มีโอกาสได้ฟังพระธรรม เข้าใจในพระปัญญาคุณของพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า เพราะฉะนั้น ข้อความที่ว่าเวลาที่พบปะกัน คือควรจะได้สนทนาธรรม ให้เกิดความรู้ความเข้าใจในพระธรรม หรือมิฉะนั้นก็ควรจะนั่งนิ่งแบบพระอริยะ
พระอริยะคือผู้ที่อบรมเจริญปัญญาถึงความรู้แจ้งอริยสัจธรรม แต่กว่าที่จะรู้แจ้งอริยสัจธรรมได้จะต้องมีความเข้าใจตั้งแต่ต้น เพราะเหตุว่าการศึกษาทั้งหมดแม้แต่การเริ่มที่จะได้ฟังพระธรรมของพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้านั้น ก็จะต้องเป็นการฟังตามลำดับ ไม่มีใครที่สามารถที่จะฟังแล้วเข้าใจแจ่มแจ้งได้ นอกจากผู้นั้นได้อบรมปัญญาบารมีระดับของท่านพระสารีบุตร เป็นต้น ที่ได้ฟังเพียงคำสั้นๆ สามารถที่จะเข้าใจเนื้อความ และก็เข้าใจลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏในขณะนี้ เพราะฉะนั้น ในวันนี้ก็เป็นโอกาสที่ทุกท่านมีโอกาสที่จะได้ฟังธรรม ได้สนทนาธรรม เพื่อความเข้าใจพระธรรมที่รับฟัง หรือว่าได้อ่าน ได้ศึกษามาแล้ว การที่จะเป็นผู้ที่นั่งนิ่งอย่างพระอริยะต้องเป็นผู้ที่มีปัญญา ถ้าไม่มีปัญญาทำอย่างไรก็คงจะเป็นอย่างพระอริยบุคคลไม่ได้ เพราะเหตุว่าทุกคนก็นั่งมาแล้ว นิ่งมาแล้ว แต่ว่าไม่มีปัญญา แต่ปัญญาระดับขั้นที่เป็นพระอริยบุคคลได้ ต้องเป็นปัญญาที่เข้าใจลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏในขณะนี้ได้ จึงสามารถที่จะรู้ว่า ปัญญารู้อะไร ขณะไหน แล้วก็อบรมจนถึงขั้นที่สามารถถึงความเป็นพระอริยะได้อย่างไร
ผู้ฟัง คิดว่าการบูชาคุณนั้นมี ๒ ประการ เท่าที่เราศึกษาได้เรียนรู้กัน คือ อามิสบูชา การให้วัตถุสิ่งของ และการที่จะปฏิบัติบูชา ในเรื่องการปฏิบัติบูชานั้น เท่าที่ความเข้าใจของดิฉัน แม้แต่การสนทนาธรรม หรือให้ธรรม ก็น่าจะเป็นการปฏิบัติบูชาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ขอคุณน้าธนิตได้แสดงในเรื่องของการปฏิบัติบูชาด้วย
ธนิต. ถ้าเป็นความหมายของคำว่า ปฏิบัติ ที่มาจากคำว่า ปฏิ-ปัต-ติ ซึ่งเป็นเรื่องธรรมนั่นเป็นอีกเรื่องหนึ่ง เป็นเรื่องของสภาพจิต และเจตสิกกระทำกิจ แต่ตอนนี้เรามาพูดนัยความหมายของคำว่า ปฏิบัติ โดยที่เรายังไม่เข้าถึงในตัวธรรม หมายถึงว่า เมื่อรู้ว่าสิ่งใดที่เป็นคำสอนของพระผู้มีพระภาค เราจะต้องน้อมนำมาประพฤติปฏิบัติตาม นี่คือความหมายย่อๆ ว่า เมื่อรู้ว่าสิ่งใดที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงไว้ สิ่งใดดีหรือสิ่งใดไม่ดี เราจะต้องพิจารณาไตร่ตรองด้วยปัญญาของเราเอง เพราะว่าพระธรรมคำสอนในพระพุทธศาสนา ไม่ใช่เป็นเรื่องบังคับ หรือใช้ให้ทำอย่างหนึ่งอย่างใด แต่เป็นเรื่องปัญญาเฉพาะตน เมื่อพิจารณาไตร่ตรองแล้วเห็นว่าถูกต้อง เห็นว่าสิ่งนั้นเป็นสิ่งที่ดี เราก็ควรจะน้อมนำไปปฏิบัติ
สมพร เรื่องปฏิบัติบูชา พระพุทธเจ้าตรัสว่า การบูชา ๒ อย่าง คือ อามิสบูชา๑ ปฏิปัตติบูชา๑ ปฏิปัตติคือปฏิบัตินั่นเอง ๒ อย่างนี้คนมีปัญญามาก ส่วนมากก็จะต้องบูชาด้วยการปฏิบัติตาม ส่วนคนที่มีปัญญาน้อยไม่สามารถที่จะปฏิบัติได้ ก็ทำการบูชาด้วยสักการะ ด้วยอามิสด้วยสิ่งของ เป็นอันว่า การบูชา มี ๒ อย่าง แต่ว่าพระองค์ตรัสว่าการบูชาทั้ง ๒ อย่างนี้ การปฏิบัติเป็นการบูชาอย่างยิ่ง เพราะว่าพระองค์บำเพ็ญบารมีมา ๔ อสงไขยแสนกัป เพื่อให้สัตว์นั้นออกจากวัฏฏทุกข์ ซึ่งมีแต่ความเดือดร้อน มีความยุ่ง มีความไม่สบายตลอดเวลา เพราะฉะนั้น พระองค์จึงทรงแสดงว่า ปฏิปัตติบูชามีประโยชน์มหาศาล สามารถที่จะทำให้สัตว์นั้นออกจากวัฏฏะได้ เป็นอันว่าพวกเราก็ปฏิบัติบูชาอยู่แล้ว ขณะนี้การปฏิบัติบูชาก็จะต้องอาศัยปัญญา และอาศัยกัลยาณมิตรผู้เข้าใจ แนะธรรม ถ้ามิฉะนั้นเราก็เดินทางไม่ถูก นี่คือการบูชา ๒ อย่าง
อดิศักดิ์ เรื่องกิจ ๒ อย่างของภิกษุที่ประชุมกัน ก็คือ ๑ กล่าวธรรมมีกถา หรือเป็นผู้นิ่งอย่างพระอริยะ มันมีที่มาอย่างนี้ ใน ขุททกนิกาย อุทาน ราชสูตร มีภิกษุสนทนาเรื่องเดรัจฉานกถา เขาถามถึงพระเจ้าปเสนทิโกศลกับพระเจ้าพิมพิสารว่า ใครจะมีทรัพย์สินมากกว่ากัน ใครจะมีแว่นแคว้นมากกว่ากัน แล้วก็พระพุทธองค์เสด็จมา เป็นปกติจะถามว่า ภิกษุทั้งหลาย ท่านสนทนาอะไรกันอยู่ แล้วสิ่งที่ท่านสนทนาค้างอยู่คืออะไร ภิกษุก็กล่าวให้พระพุทธองค์ฟังว่า พูดถึงเรื่องพระราชา ๒ พระองค์ ใครมีทรัพย์สินมากว่า ใครมีแว่นแคว้นมากกว่า พระพุทธองค์ก็บอก นั่นเป็นเดรัจฉานกถา เพราะฉะนั้น พวกเธอถ้าประชุมแล้วก็ให้มี ๒ ประการคือ ธัมมีกถา หรือนิ่งอย่างพระอริยะ เมื่อกี้ท่านอาจารย์สุจินต์ได้พูดถึงนิ่งอย่างพระอริยะ คือการเจริญสติปัฏฐานนั่นเอง การมีสภาพธรรมตามความเป็นจริงที่กำลังปรากฏ ในอรรถกถาใช้คำว่า พึงให้ธัมมกถาที่เกี่ยวด้วยอนิจลักษณะเป็นต้น ธัมมีกถาที่เกี่ยวด้วยอนิจลักษณะ คือ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ก็ไม่พ้นเรื่องตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ที่ท่านอาจารย์พร่ำสอนเราอยู่ทุกวัน ส่วนคำที่ว่า ธัมมีกถา ได้แก่ ถ้อยคำที่ไม่ปราศจากธรรม คือสัจจะ ๔ คือ อริยสัจ ๔ อธิบายว่า ธรรมเทศนาอธิบายอันแสดงถึงการเป็นไป ธรรมเทศนาอธิบายอันแสดงถึงความเป็นไป คือ ทุกขสัจ และการไม่กลับ ขยายความว่าคือ นิโรธสัจ นี่ท่านก็ยกตัวอย่างเรื่องทุกขสัจกับนิโรธสัจ ความเป็นไปกับความไม่เป็นไป ซึ่งต้องเริ่มต้นจากการรู้สภาพธรรมตามความเป็นจริง ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ พระพุทธองค์ทรงแสดงโดยอุกฤษณ์ถึงขั้นอรหันต์ แต่ที่อาจารย์มาพร่ำสอนเราอยู่นี้ ให้เราเริ่มรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ถ้าเราไม่รู้จักสภาพธรรมตามความเป็นจริงที่กำลังปรากฏในขณะนี้แล้ว เราจะไม่มีทางที่จะไปถึงอริยสัจ ๔ ได้ หรือจะไปเห็นอนิจจลักษณะได้ อันนี้เป็นข้อความในอรรถกถาที่ขยายความไว้ เจริญธัมมีกถา หรือนิ่งอย่างพระอริยะ
ท่านอาจารย์ แต่คนเราก็มีโอกาสที่จะนิ่ง เพราะฉะนั้น เวลาที่ทุกคนนิ่ง แล้วแต่ว่าขณะนั้นจิตใจเป็นกุศลหรืออกุศล แต่ถ้านิ่งอย่างพระอริยะ คือ ผู้ประเสริฐ หรือผู้บำเพ็ญอบรมเจริญปัญญา เพื่อการรู้แจ้งอริยสัจธรรม ขณะที่นิ่งนั้นคือขณะที่กำลังอบรมเจริญปัญญา รู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏในขณะนี้ตามปกติ เพราะคนเราต้องมีนิ่ง มีนั่ง มีนอน มียืน มีเดิน มีพูด มีนิ่ง
อดิศักดิ์ ตรงกับข้อความในอรรถกถา ชื่อว่า อริยะ เป็นผู้สูงสุดเพราะเป็นผู้บริสุทธิ์ ตรงกับที่ท่านอาจารย์พูด อาจารย์บางพวกกล่าวว่า ทุติยฌานเป็นความนิ่งอย่างประเสริฐ เพราะเป็นปฏิปักษ์ต่อวจีสังขาร อาจารย์อีกพวกหนึ่งกล่าวว่า จตุตฌานเป็น ความนิ่งอย่างประเสริฐ ก็ในที่นี้อธิบายดังนี้ว่า พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า ภิกษุทั้งหลายพวกเธอมีกายสงัดอยู่ในสูญญาคารเพื่อพอกพูนจิตตวิเวก คือ ฌาน นั่นเอง ถ้าประชุมกันบางครั้ง ครั้นพวกเธอประชุมกันอย่างนี้ พึงให้ธัมมีกถาที่เกี่ยวด้วย อนิจลักษณะ เป็นต้นแห่งสภาวธรรม มีขันธ์ เป็นต้น เป็นไปโดยเป็นอุปการะแก่กัน และกัน
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 241
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 242
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 243
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 244
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 245
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 246
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 247
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 248
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 249
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 250
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 251
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 252
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 253
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 254
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 255
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 256
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 257
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 258
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 259
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 260
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 261
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 262
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 263
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 264
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 265
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 266
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 267
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 268
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 269
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 270
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 271
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 272
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 273
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 274
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 275
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 276
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 277
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 278
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 279
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 280
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 281
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 282
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 283
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 284
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 285
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 286
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 287
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 288
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 289
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 290
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 291
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 292
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 293
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 294
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 295
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 296
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 297
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 298
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 299
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 300