ปกิณณกธรรม ตอนที่ 295


    ข้อความนี้อยู่ระหว่างตรวจสอบแก้ไข

    ตอนที่ ๒๙๕

    สนทนาธรรม ที่ โรงพยาบาลพระมงกุฏเกล้า

    พ.ศ. ๒๕๔๒


    ท่านอาจารย์ กลิ่นกระทบกับจมูก ฆานปสาทได้ กระทบกับรูปอื่นไม่ได้ นี่คือความเข้าใจ แต่ไม่ได้หมายความว่าให้ไปรู้การกระทบ เพราะเหตุว่าต้องรู้ลักษณะที่ปรากฏซึ่งต่างกัน เป็นนามธรรมหรือเป็นรูปธรรมก่อน เพราะฉะนั้น ถ้าย้อนถามเรื่องการเข้าใจเรื่องการกระทบ กับ การรู้ลักษณะกระทบ ผิดกัน เพราะเหตุว่าการเข้าใจเรื่องการกระทบ ที่ว่าทางกาย กายปสาท สามารถที่จะรู้การกระทบ นี่คือเข้าใจ เรื่องการกระทบ แต่ไม่รู้ลักษณะกระทบ เพราะเหตุว่าลักษณะกระทบที่นั่น ที่แข็งหรืออ่อน เย็นหรือร้อน ตึงหรือไหวจะปรากฏได้ ต้องมีผัสสเจตสิก ซึ่งเป็นนามธรรม ขณะนี้แก้วกับโต๊ะวางอยู่ แก้วอยู่บนโต๊ะ ไม่มีกายปสาท แก้วไม่รู้ โต๊ะไม่รู้ แต่ว่าเวลาใดก็ตามที่แข็งปรากฏ มีการกระทบแน่นอน แต่ว่าสภาพลักษณะที่เป็นนามธรรมกระทบ อารมณ์นั้นจึงได้ปรากฏ ถ้าไม่มีผัสสเจตสิกเกิด เวลาที่นอนหลับสนิท ก็มีสิ่งที่กระทบสัมผัสกาย แต่ไม่รู้ ต่อเมื่อใดที่ผัสสเจตสิกซึ่งเป็นนามธรรมเกิด รูปนั้นปรากฏกับจิต ซึ่งเกิดขึ้นแล้วรู้ลักษณะของรูปนั้น

    เพราะฉะนั้น ต้องทราบว่า ก่อนอื่นต้องรู้ลักษณะที่ต่างกันของนามธรรม และรูปธรรม ถึงจะรู้ว่ากระทบหมายถึงอะไร

    ผู้ฟัง แสดงว่าที่เรากล่าวว่าการกระทบกันนั้นจะต้องหมายถึงผัสสะ

    ท่านอาจารย์ แล้วแต่ว่าพูดถึงเรื่องอะไร ถ้าพูดถึงรูปที่กระทบได้ มีกี่รูปในรูป ๒๘ รูป แต่พูดถึงเมื่อรูปใดก็ตามที่ปรากฏ ก็เพราะเหตุว่ามีนามธรรม ซึ่งขาดผัสสเจตสิกไม่ได้ แต่ไม่ได้มีใครไปบอกให้รู้ลักษณะของผัสสเจตสิก เพราะเหตุว่าแม้ลักษณะที่เป็นนามธรรม และรูปธรรมก็ยังไม่รู้ แล้วจะไปรู้ได้อย่างไรว่า นั่นคือผัสสเจตสิก แต่ทราบว่าต้องมีผัสสเจตสิก ซึ่งเป็นสภาพรู้ ซึ่งเกิดกับจิต ขณะนั้นจึงสามารถที่จะทำให้รูปปรากฏกับจิตได้

    ผู้ฟัง ผมกำลังจะติดตามเรื่องของผัสสะ เรื่องการกระทบนี้ แต่ขออนุญาตถามคำถามนี้ คือเป็นเรื่องเกี่ยวข้องกับที่คุณเริงชัยได้ถาม แล้วก็ท่านอาจารย์ได้กรุณาถามคุณเริงชัยว่า เป็นอัตตา หรืออนัตตา ตรงนั้น คำถามก็อาจารย์อดิศักดิ์ได้ย้ำอีกครั้งหนึ่งแล้ว แล้วก็รู้คำตอบแล้ว ถ้าเผื่อเราจะมาเปรียบเทียบกับท่านองค์อุปัฏฐากของสมเด็จสัมมาสัมพุทธเจ้า คือท่านอานนท์ ที่ได้เจริญกายคตาสติ ตรงนั้นผมเข้าใจว่าไม่ควรที่จะมาสับสนในส่วนนี้ เพราะท่านเป็นพระอรหันต์ หรือท่านเป็นพระอริยบุคคล อย่างไรก็ตาม แน่นอนว่า ท่านต้องมีสภาพที่ถูกต้อง แต่ผมก็ยังอยากจะฟังว่า ท่านอาจารย์จะอธิบายตรงนี้ได้อย่างไรว่า ในเรื่องราวทั่วๆ ไป ซึ่งผมต้องฟังผิดพลาดแน่ว่า ท่านพระอานนท์ ท่านเจริญกายคตาสติเท่านั้น จริงๆ แล้วในขณะนั้น ท่านคงไม่ได้เจริญแต่เฉพาะทางกายอย่างเดียว เพราะต้องมีสภาพธรรมอื่นเกิดขึ้น แล้วท่านก็เจริญสติอยู่เสมออยู่เรื่อย ในขณะที่ท่านจะสำเร็จ มีมรรคจิตผลจิตเกิดขึ้น ตรงนั้น ผมเข้าใจอย่างนี้ ผมคิดว่า ผมเข้าใจถูก แต่ผมก็อธิบายไม่ได้ว่า ทำไมที่ผมฟังมาเหมือนกับว่าท่านเจริญแต่ทางกายเท่านั้น ทางอื่นไม่ได้เจริญหรืออย่างไร

    ท่านอาจารย์ มีคำว่าส่วนใหญ่ หรือเปล่า

    ผู้ฟัง ส่วนใหญ่ อันนี้ผมตกไป ผมเข้าใจแล้วว่า จริงๆ แล้ว ต้องมีหลายๆ ทางแน่เกิดขึ้น แล้วก็ส่วนใหญ่ที่ท่าน นั่น ไม่ใช่ว่าท่าน มุ่งหมายที่จะเอาทางกายอย่างเดียว เพราะส่วนใหญ่ ตรงนี้เราจะอธิบายได้ไหมว่า ขณะนั้นก็มุ่งหมายที่จะเอาทางกายอย่างเดียว

    ท่านอาจารย์ ชีวิตประจำวัน ของคุณวีระทำอะไรมาก

    ผู้ฟัง เขียนหนังสือ

    ท่านอาจารย์ ตามการสะสมหรือว่ามีปัจจัยที่จะให้เกิดอย่างนั้น หรือว่ามุ่งหมายด้วยความต้องการที่จะรู้

    ผู้ฟัง ตรงนั้นคงจะเป็นความต้องการที่จะทำอย่างนั้นเป็นส่วนมากทีเดียว แต่จริงๆ แล้วก็มีทานอาหาร มีทำอย่างอื่น อะไรมากมายไปหมด

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้น ชีวิตส่วนใหญ่ของแต่ละคนก็ต้องเป็นไปตามความเป็นจริง คือตามการสะสม

    ผู้ฟัง เรื่องของวิถีจิต จะเป็นวิถีเกิดขึ้น จะต้องมีเฉพาะอาวัชชนจิตเท่านั้นหรือ ในขณะที่ท่านอาจารย์สุจินต์ได้กรุณากล่าวให้พี่พันทิพา เมื่อสักครู่นี้ว่า ขณะที่จิตเกิดก็มีผัสสะเกิด ขณะที่เราหลับ จริงๆ แล้วผมพอเข้าใจ ในขณะที่เราหลับ จิตไม่เป็นวิถี แต่ขณะที่ตื่นจิตเป็นวิถี ขณะที่หลับก็มีผัสสะ

    ท่านอาจารย์ รู้เย็นร้อนอ่อนแข็งหรือเปล่า เห็นหรือเปล่า ได้ยินเหรือเปล่า ได้กลิ่นหรือเปล่า ลิ้มรสเหรือเปล่า คิดนึกเหรือเปล่า

    ผู้ฟัง เพราะฉะนั้น ตรงที่เป็นวิถีจิต ก็คือ รู้เย็น รู้ร้อน รู้อ่อน รู้แข็ง เท่านั้นเอง

    ท่านอาจารย์ ไม่ทราบว่า ท่านที่เป็นผู้ใหม่จะเข้าใจคำว่า วิถีจิต หรือยัง เพราะว่าบางทีเราก็ต้องคิดถึงบางท่านอาจจะไม่ได้ศึกษาตามลำดับ แต่ให้ทราบว่า จิตมีหลายประเภทมาก แต่ว่าสามารถที่จะแบ่งออกได้เป็นประเภทใหญ่ๆ ๒ ประเภท คือ ประเภทหนึ่งเป็นวิถีจิต หมายความว่า ต้องอาศัยทางหนึ่งทางใดเกิดขึ้นจึงรู้ เช่น ทางตาในขณะนี้ที่กำลังเห็น หรือว่าทางหูที่กำลังได้ยิน ทางจมูกถ้าใครได้กลิ่น ทางลิ้นที่ลิ้มรส ทางกายที่กระทบสัมผัส ทางใจที่คิดนึก พวกนี้ต้องเป็นวิถีจิตทั้งหมด

    จิตที่ไม่ใช่วิถีจิต จะมี ๓ ประเภท คือ ปฏิสนธิจิต๑ ภวังคจิต๑ จุติจิต๑ ปฏิสนธิจิต คือ จิตขณะแรกที่เกิด จิตเกิดดับเร็วมาก เพียงขณะแรกขณะเดียว ที่เกิดสืบต่อจากจุติจิตของชาติก่อนแล้วก็ดับไป นั่นเป็นปฏิสนธิจิต คือ จิตที่เกิดสืบต่อ แล้วเมื่อปฏิสนธิจิตดับแล้ว กรรมก็ไม่ทำให้ตายทันที จะต้องดำรงภพชาติรักษาความเป็นบุคคลนี้ จนกว่าจะถึงขณะจิตสุดท้าย

    เพราะฉะนั้น ระหว่างที่ไม่ได้รู้อารมณ์ทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ขณะนั้นต้องเป็นภวังคจิต คือจิตประเภทเดียวกับปฏิสนธิจิตเกิดดับสืบต่อดำรงภพชาติ เพื่อที่จะให้มีการรับผลของกรรม ทางตาต้องเห็น ทางหูต้องได้ยิน ทางจมูกต้องได้กลิ่น ทางลิ้นต้องลิ้มรส ทางกายต้องกระทบสัมผัส และเมื่อมีการเห็น การได้ยิน การได้กลิ่น การลิ้มรส ก็จะต้องมีการคิดนึกเรื่องราวของสิ่งที่เห็น สิ่งที่ได้ยิน นี่เป็นวิถีชีวิตในแต่ละวัน ซึ่งสลับกับภวังคจิต เพราะเหตุว่ารูปมีอายุสั้นมาก เสียงก็สั้น สิ่งที่ปรากฏทางตาก็สั้น กลิ่นก็สั้น รสก็สั้น สิ่งที่กระทบกายก็สั้น เมื่อรูปดับ จิตต้องเป็นภวังค์ก่อน แล้วถึงจะเป็นวิถีจิตต่อไปได้ แต่นี้เป็นการแสดงโดยลำดับที่ย่อ และสั้นมาก แต่ถ้าขยายออกไปก็จะมีจิตหลายขณะซึ่งเกิดทำหน้าที่ต่อไป สืบต่อกัน แล้วก็จิตขณะสุดท้ายของชาติหนึ่ง คือ จุติจิต

    เพราะฉะนั้น ให้ทราบว่าจิตที่ไม่ใช่วิถีจิต คือ ปฏิสนธิจิต ภวังคจิต จุติจิต และที่กำลังพูดถึงในขณะนี้ ถ้าใช้คำว่า วิถีจิต หมายความว่าจิตที่เกิดขึ้นหลายขณะ โดยอาศัยทางหนึ่งทางใด รู้อารมณ์เดียวกันที่ยังไม่ดับไป

    ถ. การระลึกศึกษาในสิ่งที่กำลังปรากฏ คำว่า ปรากฏ นี่ หมายความว่าอย่างไร อย่างสมมติว่า ขณะที่เรากำลังอ่านหนังสืออยู่ แล้วก็คุยกับเพื่อนไปด้วย แล้วก็มีเพื่อนอีกคนบอกว่า ช่วยหยิบปากกาให้หน่อย เราก็หยิบปากกาให้เขา แต่เราไม่ได้รู้ว่า ขณะนั้นรู้สึกแข็งที่ปากกาตรงนั้น ขณะที่หยิบปากกาให้เพื่อน จะเป็นสิ่งที่กำลังปรากฏให้เราระลึกศึกษาได้ไหม

    ท่านอาจารย์ ถ้าไม่ มีสิ่งที่ปรากฏ เวลาที่กระทบสัมผัสปากกาแล้วเป็นอย่างไร อะไรปรากฏ

    ผู้ฟัง ตอนนั้นเราอาจจะไม่มีสติ

    ท่านอาจารย์ ถูกต้อง ให้ทราบว่าขณะใดหลงลืมสติ ขณะใดมีสติ แต่สภาพธรรมก็ต้องเกิดขึ้น ตามเหตุ ตามปัจจัย

    ผู้ฟัง แต่ขณะที่หยิบปากกระทบ แล้วให้เพื่อน เรียกว่าปรากฏหรือเปล่า

    ท่านอาจารย์ แข็งไหม

    ผู้ฟัง แข็ง แต่ตอนนั้นไม่ทราบ

    ท่านอาจารย์ เพราะว่าหลงลืมสติ แต่แข็งต้องมี

    ผู้ฟัง แต่ถ้าปรากฎแล้วเราระลึกศึกษาได้เสมอ หรือว่าต้องมีสติด้วยถึงจะระลึกได้

    ท่านอาจารย์ ถ้าสภาพธรรมไม่ปรากฏ สติก็ระลึกไม่ได้ แต่เพราะสภาพธรรมเกิดปรากฏอย่างไร สติก็ระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏ ให้รู้ความจริงของสภาพธรรมนั้น

    ผู้ฟัง ถ้าปรากฏก็มีโอกาสที่จะให้ระลึกศึกษาได้ ถ้าสติเกิดด้วย

    ท่านอาจารย์ สิ่งใดที่ปรากฏเท่านั้น

    ผู้ฟัง แต่ถ้าไม่ปรากฏ

    ท่านอาจารย์ ก็ระลึกไม่ได้

    ผู้ฟัง แต่คำว่า ปรากฏ หมายความจะต้องเป็นอารมณ์ แต่ถ้าอย่างคุณพันทิพาถามกระทบ กระทบแล้วปรากฏเลยหรือเปล่า

    ท่านอาจารย์ อะไรปรากฎ ข้อสำคัญที่สุดคืออะไรปรากฏ

    ผู้ฟัง อย่างรูปปรากฏกับจิตอย่างนี้

    ท่านอาจารย์ รูปอะไรปรากฎ ไม่ใช่เรื่องลอยๆ ต้องมีลักษณะแต่ละขณะให้รู้จริงๆ ให้สติระลึกได้ จึงจะรู้ได้ ความรู้จึงจะเพิ่มขึ้นได้ ขณะนี้ที่กำลังฟังเรื่องราวของสภาพธรรม คือปริยัติ ศึกษาเรื่องราวของสภาพธรรม

    ผู้ฟัง อย่างถ้าหยิบปากกา ถ้าเราไม่ทราบว่า มีลักษณะแข็ง ไม่เคยศึกษามาเลย ก็ไม่ทราบ

    ท่านอาจารย์ ไม่ต้องศึกษา เวลาที่ใครหยิบปากกา ต้องศึกษาไหม ว่ามีลักษณะแข็ง หรือเวลหยิบ แข็งก็ปรากฏ

    ผู้ฟัง แข็งก็ปรากฏ

    ท่านอาจารย์ ปากกาเวลาทุกคนจับกระทบก็ต้องแข็งทั้งนั้น เพียงแต่ว่าจะถามกันหรือไม่ถามกันเท่านั้นเอง

    ผู้ฟัง แล้วอย่างนี้ ถ้ามีการกระทบก็ต้องปรากฏทุกครั้ง ถ้าไม่ปรากฏก็ไม่ได้

    ท่านอาจารย์ สิ่งที่ปรากฏมี ขณะนี้ทางตาเห็นกำลังปรากฏ ไม่ต้องไปคิดถึงกระทบอะไรได้ไหม เพราะเหตุว่าลักษณะที่กระทบไม่ได้ปรากฏ ไม่ต้องไปคิดเรื่องสิ่งที่ไม่ปรากฏ ขณะนี้สิ่งที่ปรากฏทางตากำลังปรากฏ สติระลึก คือ เข้าใจให้ถูกต้องทีละเล็กทีละน้อยว่า เป็นธรรม เป็นสิ่งที่มีจริง เป็นสภาพธรรมอย่างหนึ่ง กำลังปรากฏเมื่อมีตา หรือว่าเมื่อกระทบตา แล้วใช้คำอะไรก็ได้ทั้งหมด แต่เพราะมีปัจจัย คือ จักขุปสาท ถ้าไม่มีจักขุปสาท ๑ ปัจจัย ขาดไปปัจจัย ๑ เห็นก็เกิดไม่ได้ นี่คือเรื่องราว แต่การที่จะรู้ลักษณะที่เป็นนามธรรม และรูปธรรม ไม่ใช่นึกเรื่องราว

    ผู้ฟัง หมายความว่าเหตุปัจจัยครบจนกระทั่งปรากฏกับรูป รูปปรากฏ

    ท่านอาจารย์ นี่ก็นึกเรื่องราว ขณะนี้มีสิ่งที่กำลังปรากฎ การศึกษาธรรมเพื่อให้เห็นความเป็นอนัตตาว่า เป็นธรรม ไม่ใช่เป็นสิ่งหนึ่งสิ่งใด หรือว่าไม่ใช่เป็นตัวตนไม่ใช่เป็นเรา แม้แต่เหตุที่จะให้เกิด ๔ อย่าง ก็เพื่อให้เข้าใจในความเป็นอนัตตาของสภาพธรรมทุกอย่าง

    ผู้ฟัง การพิจารณาเรื่องราวก็เป็นอย่างหนึ่ง แต่ว่าการระลึกศึกษาจริงๆ ก็เป็นอีกอย่างหนึ่ง

    ท่านอาจารย์ ถูกต้อง ที่จริงแข็งปรากฏ หรือว่ารู้ว่าเป็นปากกา อะไรปรากฏแน่

    ผู้ฟัง รู้ว่าเป็นปากกา

    ท่านอาจารย์ คนที่รู้ว่าแข็งโดยไม่รู้ว่าสิ่งนั้นเป็นอะไร ยังไม่เรียกชื่อ แต่มีแข็งปรากฏ ชื่อตามหลัง ชื่อมาทีหลัง ต้องมีสิ่งที่ปรากฏก่อน แต่ทีนี้ทุกคนคุ้นเคยกับชื่อ เรื่องราวบัญญัติ เพราะฉะนั้น ก็เกือบจะไม่รู้ความจริงเลยว่า แท้ที่จริงแล้วขณะที่จับปากกา ไม่ต้องคิดถึงปากกาเลย จับแล้วก็แข็งปรากฏ ต้องแยกขณะจิตว่า ขณะที่กระทบสัมผัสไม่มีปากกา แต่ว่าแข็งปรากฏ แต่ขณะนั้นไม่สนใจในทุกสิ่งทุกอย่าง จำแต่ชื่อกับเรื่องราว ของสิ่งที่มีจริงๆ

    เพราะฉะนั้น จึงยากแสนยากที่จะรู้ว่า ปรมัตถธรรมเป็นสิ่งที่มีจริง แล้วถ้าไม่มีปรมัตถธรรม เรื่องราวต่างๆ ก็มีไม่ได้ แต่ทีนี้เขาใจว่ามีเรื่องราว คือมีปากกา แต่แข็งไม่มี ความจริงแล้ว ขณะที่แข็งปรากฏ ไม่ต้องมีชื่อว่าปากกา

    ผู้ฟัง การระลึกศึกษาสภาพธรรมนี้ ถ้าปรากฏก็ขึ้นอยู่กับว่าปรากฏกับสติ หรือปรากฏกับจิตอื่น

    ท่านอาจารย์ สภาพธรรมมีปรากฏทั้งวันแต่หลงลืมสติ ขณะใดที่จิตเกิดทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ แล้วแต่ว่าขณะนั้นสภาพธรรมใดปรากฏ

    ผู้ฟัง สภาพธรรมที่ปรากฏสั้น และก็รวดเร็วมาก เราควรจะสังเกตตรงจุดนั้นที่ว่า สั้น และรวดเร็ว เพราะมันปรากฏเพียงเล็กน้อยเท่านั้นเอง

    ท่านอาจารย์ เราจะสังเกต เราจะเข้าใจ เราจะศึกษา หรือเราจะรู้ว่า ต้องอบรมเจริญปัญญา

    ผู้ฟัง ต้องอบรมเจริญปัญญา ทีนี้การที่เราจะต้องอบรมเจริญปัญญา คือ การที่ว่าสังเกตที่ท่านอาจารย์ว่า ตรงช่วงเล็กๆ น้อยๆ

    ท่านอาจารย์ จริงๆ แล้ว ไม่ใช่เรา ขณะนั้นสติระลึก แล้วก็ค่อยๆ เข้าใจขึ้น

    ผู้ฟัง เรื่องของการฟังธรรม ถ้ากล่าวสรุปว่า เรากำลังมาบำเพ็ญบารมี ได้หรือไม่ ในการฟังธรรมในขณะนี้

    ท่านอาจารย์ ขอถามเป็นข้อๆ แล้วก็ช่วยตอบแทนท่านผู้อื่นเป็นข้อๆ เพื่อความเข้าใจที่ว่า จะได้พิจารณาสำหรับคนที่กล่าวอย่างนั้น

    คนที่รู้แจ้งอริยสัจธรรม ต้องรู้ธรรม หรือเปล่า

    ผู้ฟัง ต้องรู้สัจธรรมแน่นอน

    ท่านอาจารย์ ใช้คำว่าธรรม รู้ธรรมหรือเปล่า

    ผู้ฟัง รู้ธรรม

    ท่านอาจารย์ คนที่รู้ธรรมจะกล่าวว่าไม่รู้อภิธรรม ได้ไหม

    ผู้ฟัง ถ้าเขาไม่รู้พระอภิธรรมคืออะไร

    ท่านอาจารย์ ไม่ได้ พระอภิธรรมไม่ใช่ชื่อ เพราะฉะนั้น คนที่รู้ธรรม รู้จักธรรม ประจักษ์แจ้งลักษณะของธรรม คนนั้นจะไม่รู้พระอภิธรรมได้ไหม

    ผู้ฟัง ไม่ได้

    ท่านอาจารย์ ไม่ได้ เพราะฉะนั้น ใครก็ตามที่แยกธรรมกับอภิธรรม หมายความว่าเขาไม่เข้าใจความหมายของธรรม และไม่รู้จักธรรมด้วย เพราะเหตุว่าธรรมนั่นเองเป็น อภิธรรม เป็นปรมัตถธรรม โดยรู้จักธรรม ถ้าไม่รู้จักธรรมก็ไม่เข้าใจว่า ธรรมเป็นอภิธรรม หรือเป็นปรมัตถธรรม แต่ถ้ารู้จักธรรม เข้าใจธรรม คนนั้นต้องรู้ว่า ธรรมเป็นเป็นปรมัตถธรรม เป็นอภิธรรม ไม่ได้แยกกันเลย

    ผู้ฟัง แต่มีคำถามอย่างนี้ เป้าหมายสูงสุดของพระพุทธเจ้าเพื่อความหลุดพ้น

    ท่านอาจารย์ ขอประทานโทษ คำถามตอนต้นทีเดียวที่บอกว่า ในเมื่อรู้กันอยู่แล้วทุกคน ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ เห็น ได้ยิน พวกนี้ เป็นชีวิตธรรมดาแสนง่าย แล้วทำไมต้องศึกษาใช่ไหม

    ผู้ฟัง ใช่

    ท่านอาจารย์ พระผู้มีพระภาคทรงตรัสรู้อะไร ถ้าไม่ใช่ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ชีวิตประจำวัน เพราะฉะนั้น คนนั้นก็ไม่สามารถที่จะเข้าใจได้ว่า ปัญญาจริงๆ คือ สภาวะ หรือธาตุชนิดหนึ่ง ที่สามารถที่จะมีความเห็นถูกต้อง ในสิ่งที่กำลังปรากฏว่า เป็นธรรม และเป็นอนัตตา

    ผู้ฟัง ที่อาจารย์อธิบายสั้นๆ เป็นข้อสรุปนั้น เข้าใจ แต่ว่าจะเข้าใจจริงหรือไม่ ถ้าไม่ลงมือ

    ท่านอาจารย์ ใครก็ตามที่บอกว่า เป็นเรื่องง่าย รู้แล้ว ทำไมต้องทำให้ยาก เป็นไปไม่ได้เลย ไม่รู้ต่างหาก จึงต้องศึกษาให้เข้าใจ เพราะเหตุว่าที่เข้าใจว่ารู้ ตอบได้ไหมว่า รู้อะไร กำลังเห็น กำลังได้ยิน กำลังได้กลิ่น กำลังลิ้มรส ชีวิตประจำวันทั้งหมดเป็นอะไร สภาพที่แท้จริงของสิ่งนั้นเป็นอะไร ตอบได้ไหม ถ้าบอกว่ารู้แล้ว ทำไมต้องศึกษาให้ยากให้ลำบาก เพราะไม่รู้ แต่เข้าใจว่ารู้

    ผู้ฟัง คำว่าตอบได้ หมายความว่า รู้ไม่ใช่ตัวตนนั้นคืออย่างไร ใช่ไหม

    ท่านอาจารย์ รู้สภาวะแท้จริง ของธรรม ที่มีปัจจัยปรุงแต่ง เกิดขึ้น และดับไปอย่างรวดเร็ว สืบต่อกัน ใครสามารถที่จะประจักษ์ได้ ถ้าไม่ใช่พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ที่ทรงบำเพ็ญพระบารมีจนกระทั่งตรัสรู้สภาพธรรมในขณะนี้ซึ่งกำลังเกิดดับ แล้วทรงแสดงธรรม เพื่อที่จะให้คนอื่นได้ศึกษา ได้เข้าใจ ได้อบรมเจริญปัญญา จนสามารถที่จะรู้แจ้งความจริงนี้ได้ด้วย

    อดิศักดิ์ เดี๋ยวผมจะเพิ่มเติมตรงที่ท่านอาจารย์บอกว่า สำหรับท่านพระพาหิยะ คนเดียว พอดีก็เอาอรรถกถานี้มาใน พาหิยสูตร ในกาลแห่งพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระนามว่า ปทุมุตตระในที่สุดแสนกัป แต่ภัทรกัปนี้ กุลบุตรคนหนึ่งกำลังฟังพระธรรมเทศนาของพระทศพล ที่หังสวดีนคร เห็นพระศาสดาทรงสถาปนาภิกษุรูปหนึ่ง ไว้ในตำแหน่งเอตทัคคะแห่งภิกษุผู้เป็นขิปปาภิญญา คิดว่าไฉนหนอในอนาคต เราจักบวชในพระศาสนาของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเห็นปานนี้ แล้วพึงเป็นผู้อันพระศาสดาสถาปนาไว้ในตำแหน่ง เอตทัคคะเช่นนี้เหมือนภิกษุรูปนี้ ได้ปรารถนาตำแหน่งนั้น จึงบำเพ็ญบุญญาธิการอันสมควรแก่ตำแหน่งนั้น บำเพ็ญบุญอยู่ตลอดชีวิต มีสวรรค์เป็นที่ไปในเบื้องหน้าท่องเที่ยวไปในเทวดา และมนุษย์ บวชในพระศาสนาของพระเจ้ากัสสปะทศพล มีศีลบริบูรณ์ บำเพ็ญสมณธรรม ถึงความสิ้นชีวิตแล้วบังเกิดในเทวโลก ท่านอยู่ในเทวโลกสิ้นพุทธันดรหนึ่ง ในพุทธุปบาทกาลนี้ ถือปฏิสนธิในเรือนมีสกุลในพาหิยรัฐ ชนทั้งหลายจำเขาได้ว่า พาหิยะ

    อันนี้เป็นข้อความที่แสดงว่า ท่านบำเพ็ญบารมีของท่านมาในลักษณะอย่างนี้ ไม่ใช่ใครๆ จะไปเป็นอย่างท่านพระพาหิยะได้ ส่วนเรื่องข้อสอนเรื่อง เห็นสักแต่ว่าเห็น พุทธองค์ก็ได้ตรัสขยายความไว้ว่า แต่เมื่อพระองค์ ทรงแสดงอาการที่จะพึงศึกษา พึงตรัสคำมีอาทิว่า ทิฏเฐ ทิฏฐมัตตัง ภวิสติ เมื่อเห็นก็เป็นเพียงแต่เห็น บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า ทิฏเฐ ทิฏฐมัตตัง ได้แก่ สักแต่ว่าเห็นรูปายตนะด้วยจักขุวิญญาณ อธิบายว่า เธอพึงศึาษาว่า จักขุวิญญาณอันเห็นในรูปซึ่งรูปเท่านั้น หาเห็นสภาพลักษณะมีอนิจจลักษณะเป็นต้นไม่ ฉันใด รูปที่เหลือจะเป็นเพียงอันเราเห็นด้วยวิญญาณที่เป็นไปทางจักขุทวารนั้นเท่านั้น อีกอย่างหนึ่ง อธิบายว่าการรู้แจ้งซึ่งรูปในรูปด้วยจักขุวิญญาณ ชื่อว่าเห็นรูปในรูปที่เห็น บทว่า มัตตา แปลว่า ประมาณ ประมาณแห่งรูปนี้ที่เห็นแล้ว เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า ทิฏฐมัตตะ อธิบายว่าจิตเป็นเพียงจักขุวิญญาณเป็นประมาณเท่านั้น ท่านอธิบายไว้ว่าจักขุวิญญาณย่อมไม่กำหนัด ขัดเคือง หลงในรูปที่มาปรากฏฉันใด เราจะตั้งชวนจิตไว้โดยประมาณแห่งจักขุวิญญาณแห่งนี้ว่า ชวนจิตของเราจะเป็นเพียงจักขุวิญญาณเท่านั้น เพราะเว้นจากราคะ เป็นต้น อีกอย่างหนึ่ง รูปที่จักขุวิญญาณ เห็น ชื่อว่า ทิฏฐะ อีก ๓ ดวงคือ สัมปฏิจฉันนจิต สันตีรณจิต และโวฏฐัพพนจิต ที่เกิดขึ้นเหมือนอย่างนั้นนั่นแหละ ชื่อ ว่า ทิฏฐมัตตะ พึงทราบความในข้อนี้อย่างนี้ว่า จิต ๓ ดวงนี้ ย่อมไม่กำหนัด ขัดเคือง ลุ่มหลง ฉันใด เมื่อรูปมาปรากฎ เราก็จะให้ชวนจิตเกิดขึ้นในประมาณสัมปฏิจฉันนจิตเป็นต้นนั่นแหละ เราจะไม่ให้ก้าวล่วงประมาณนั้นเกิดขึ้น ด้วยกำหนัดเป็นต้นฉันนั้น แล้วก็มาอธิบายถึงสุตตะ คุณเสกสรรอย่าไปนึกว่า ง่ายๆ นะ ท่านจะต้องรู้สภาพธรรม ต้องฟัง ต้องอะไรมา ท่านผ่านพระพุทธเจ้ามาหลายพระองค์

    ผู้ฟัง ที่นำท่านพระพาหิยะมาเพื่อที่จะให้ผู้ที่สงสัยว่า ทำไมต้องศึกษาพระอภิธรรม เนื้อแท้แล้วพระอภิธรรมคืออะไร สิ่งที่ท่านพระพาหิยะบรรลุ คือสิ่งที่เรากำลังพูดถึงนี้ ประเด็นนี้ที่ต้องการพูดวันนี้

    ท่านอาจารย์ เป็นความละเอียด แม้แต่ข้อความสั้นๆ ที่พระผู้มีพระภาคตรัสกับท่านพระพาหิยะ เราจะต้องพิจารณาในขณะนี้ ไม่ว่าได้ยินได้ฟังอะไรก็ตาม เช่น เห็นในขณะนี้ ภาษาบาลีใช้คำว่า จักขุวิญญาณ เพียงชั่วขณะที่เห็น ยังไม่มีความรัก ความชัง หรือว่าอกุศลใดๆ หรือกุศลใดๆ เกิดร่วมด้วยเลย เป็นแต่เพียงสภาพธรรมที่เป็นผลของกรรม ทำให้เกิดเห็นขึ้น เพียงแค่เห็นจริงๆ หลังจากเห็นแล้วก็ยังมีจิตที่กล่าวใน ข้อความในอรรถกถาที่ว่า สัมปฏิจฉันนจิต สันตีรณจิต โวฏฐัพพนจิต ไม่มีที่จะเป็นความรัก ความชัง หรือว่ากุศล อกุศลใดๆ เลย เป็นแต่เพียงสักแต่ว่าเห็นรูป หมายความว่าขณะนั้นรู้ลักษณะของรูปเท่านั้น

    เพียงแค่นี้ ยังต้องฟังว่า เฉพาะจิต ๔ ดวง จักขุวิญญาณ สัมปฏิจฉันนะ สันตีรณะ โวฏฐัพพนะ ซึ่งเกิดต่อกันอย่างเร็วมาก เพราะว่าทุกคนแยกไม่ออก พอเห็นแล้วก็ชอบหรือชัง เป็นอกุศล หรือเป็นกุศล แต่ไม่ได้รู้เลยว่า ระหว่างเห็นกับการที่จะรู้สึกชอบ หรือชัง หรือกุศลนั้น มีจิตอื่นเกิดคั่น ซึ่งจิตเหล่านั้น สักแต่ว่าเห็น หมายความว่าสามารถจะรู้เพียงรูปอย่างเดียวเท่านั้นจริงๆ เพราะฉะนั้น นี่เป็นความละเอียดที่จะต้องแยกรู้ว่า เพียงความรู้ของวิญญาณ ซึ่งสามารถที่จะรู้ลักษณะของสิ่งที่ปรากฏ นั่นไม่ใช่ปัญญา

    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 97
    23 มี.ค. 2567