ปกิณณกธรรม ตอนที่ 298
ตอนที่ ๒๙๘
สนทนาธรรม ที่ โรงพยาบาลพระมงกุฏเกล้า
พ.ศ. ๒๕๔๓
ผู้ฟัง ในประการที่ ๒ ที่แสดงว่า เมื่อพระตถาคตทรงแสดงธรรมอันเป็นเครื่องปราบปรามมานะอยู่อย่างไร
ท่านอาจารย์ ธรรมทั้งหมดที่ทรงแสดงเพื่อละอกุศล ถ้าไม่รู้ว่ามีอกุศล ก็ละอกุศลไม่ได้ เพราะฉะนั้น ก็แสดงให้เห็นว่า มานะซึ่งมีอยู่ซึ่งจะหมดสิ้นไปได้ หรือว่าละคลายบรรเทาลงไป ก็เมื่อได้ฟังพระธรรม
ผู้ฟัง ความจริงธรรมอันเป็นเครื่องปราบปรามมานะอยู่ ก็ไม่พ้นจากสติปัฏฐาน ไม่อย่างนั้นก็ปราบปรามมานะไม่ได้ ในที่นี้ใช้พยัญชนะว่าปราบปราม เป็นเรื่องของอาชญากรรมอะไรต่างๆ แต่จริงๆ แล้วการที่จะปราบปรามมานะได้ ก็ต้องรู้สภาพธรรมตามความเป็นจริง
ท่านอาจารย์ แต่กว่าจะถึงสติปัฏฐาน ก็ต้องฟังจนกระทั่งมีความเข้าใจจริงๆ
ผู้ฟัง ตั้งจิตเพื่อรู้ทั่ว คำว่า รู้ทั่ว อยากจะเรียนถามโดยนัยของสติปัฏฐาน รู้ทั่วทุกทวาร หรือรู้ทั่วรูปนามที่กำลังปรากฏ เป็นคำถามที่ ๑
รู้ทั่วถึงธรรม ในอรรถกถา บรรทัดที่ ๙ รู้ทั่วถึงธรรม ๓ ตัว คือรู้ทั่วอะไร
ท่านอาจารย์ ธรรมทั้งหมดที่ปรากฏ ถ้าขณะใดที่ไม่รู้ก็คือ อวิชชา
ผู้ฟัง หมายความว่า คำว่า รู้ทั่ว เราจะใช้เฉพาะธรรมที่กำลังปรากฏในขณะสติปัฏฐานเกิด ใช่หรือเปล่า
ท่านอาจารย์ ขณะนี้ อะไรเป็นธรรม ทุกอย่างเป็นธรรม ทางตาที่กำลังเห็นสิ่งที่ปรากฏเป็นธรรม ทางหู ได้ยินกับเสียงก็เป็นธรรม ทั้ง ๖ ทวาร เป็นธรรมที่สามารถจะรู้ได้
ผู้ฟัง คำว่า รู้ทั่วนี้ คือรู้ทั่วอะไรกันแน่
ท่านอาจารย์ ถ้าค่อยๆ เข้าใจว่า รู้ทั่วธรรม ถูกไหม สิ่งที่มีจริงเป็นธรรม เพราะฉะนั้น ใช้คำว่า รู้ทั่วธรรม ธรรมที่มีจริง คือนามธรรมกับรูปธรรม ก็ต้องรู้ทั่วในลักษณะที่เป็นนามธรรม
ผู้ฟัง และที่กำลังปรากฏด้วย
ท่านอาจารย์ ถ้าไม่ปรากฏ ไม่มีทางจะรู้ได้
ผู้ฟัง อันนี้เป็นประโยคหนึ่ง ที่ดิฉันเข้าใจ อีกอันหนึ่ง รู้ทั่วทุกทวาร เขาก็ใช้ ไม่ใช่หรือ
ท่านอาจารย์ ขณะนี้ทางตาเห็น รู้หรือเปล่า ทางหูได้ยิน รู้หรือเปล่า ทางใจคิดนึก รู้หรือเปล่า ถ้าไม่รู้ก็เป็นอวิชชา คือ ไม่รู้ ก็ยังมีความเป็นเรา เพราะฉะนั้น กว่าจะรู้ทั่ว ไม่ใช่พอสติปัฏฐานเกิดก็รู้ทั่ว ไม่ใช่อย่างนั้นเลย แต่ปัญญาจะต้องเริ่มค่อยๆ เกิด ค่อยๆ เจริญขึ้น จนกว่าจะรู้ทั่วจริงๆ
ผู้ฟัง ที่นี้เวลาที่คนเริ่มเจริญสติปัฏฐาน เขาจะไม่รู้ทั่วทุกทวาร เขาจะตามอัธยาศัย ที่ว่าทวารไหนที่เขาถนัดจะรู้ ใช้คำว่าถนัดแล้วกัน
ท่านอาจารย์ โดยมากจะใช้คำว่า ผู้เริ่มเจริญสติปัฏฐาน แต่ความจริงถ้าจะใช้คำธรรมดาว่า ขณะใดที่สติเกิด หรือเพิ่งจะเกิด หรือเริ่มจะเกิด สติจะระลึกลักษณะของสภาพธรรมที่มีจริง แล้วสติก็ดับเร็วมาก นี่เป็นความจริง
เพราะฉะนั้น ไม่สามารถจะรู้ทั่ว แต่เพราะเหตุว่าเกิดขึ้นอีกบ่อยๆ หรือจะไม่บ่อยหรือนานๆ ครั้ง ก็ตามแต่ ผู้นั้นจากการฟังด้วยดีก็ทราบว่า การศึกษาที่จะเข้าใจลักษณะของสภาพธรรม ไม่ใช่เพียงเรื่องราวของสภาพธรรม ต้องเป็นในขณะที่สติเกิด สติ คือ ขณะที่ระลึกลักษณะที่เป็นปรมัตถธรรมที่มีลักษณะจริงๆ กำลังปรากฏ ที่ใช้คำว่าปรมัตถธรรม เพราะเหตุว่าขณะที่สติระลึก มีลักษณะของสภาพธรรม ไม่มีคน ไม่มีสัตว์ แต่มีลักษณะที่เป็นสภาพธรรมปรากฏให้ศึกษาให้เข้าใจในลักษณะนั้นว่า ลักษณะนั้นเป็นนามธรรม หรือเป็นรูปธรรม เพราะว่าขณะนั้นไม่มีคน ไม่มีอะไรเลย แต่มีนามธรรม และรูปธรรมเท่านั้น เมื่อศึกษาก็คือว่า เข้าใจลักษณะของนามธรรมที่กำลังระลึกให้รู้ว่า นามธรรมคืออย่างนี้ สภาพรู้ หรือธาตุรู้เป็นอย่างนี้ ลักษณะของธาตุรู้ คือ จิต ซึ่งเป็นใหญ่เป็นประธาน ในการรู้คืออย่างนี้ ลักษณะของสภาพรู้อื่นๆ เช่น ความรู้สึก ความโกรธ หรือลักษณะอื่นๆ ทั้งหมดที่เป็นนามธรรม เมื่อสติระลึกก็จะเห็นว่า สภาพนั้น คือ นามธรรม ซึ่งไม่ใช่เรา
ผู้ฟัง ผู้ที่เจริญสติ หมายความว่าสติเริ่มเกิด
ท่านอาจารย์ ขณะใดที่สติเกิด
ผู้ฟัง จะไม่รู้ทั่ว จะรู้
ท่านอาจารย์ ค่อยๆ
ผู้ฟัง โดยเฉพาะนามธรรม เกือบจะไม่เห็นเลย เห็นแต่รูปธรรม
ท่านอาจารย์ ค่อยๆ รู้ไป นี่คือภาวนา คือ การอบรม คือ ค่อยๆ รู้ตามความเป็นจริง
ผู้ฟัง อันนั้นก็ยังไม่รู้ทั่ว ใช่ไหม
ท่านอาจารย์ รู้ทั่วทันทีไม่ได้
ผู้ฟัง ผู้ที่เริ่มเจริญสติ กับคำว่า ขณะใดก็ตามที่สติเกิด เหมือนกันไหม
ท่านอาจารย์ ติดที่ชื่ออีก คือ ผู้ที่เริ่มเจริญสติ ขณะใดที่สติเกิด และคำเก่าๆ ที่เคยได้ยินคือ นักปฏิบัติ เหมือนนักวิชาการ แต่ว่าตามความเป็นจริงคือ สติเกิดเพื่อรู้ แล้วขณะใดที่สติเกิด สติก็เป็นสภาพธรรมที่มีปัจจัยเกิดแล้วก็ดับ แล้วเมื่อไรที่จะมีปัจจัยเกิดอีก ผู้นั้นก็รู้ว่า ขณะนั้นสติกำลังระลึกลักษณะของสภาพธรรมทางหนึ่งทางใด แล้วก็ดับ ก็เป็นปกติ ให้มีความเป็นปกติ ขณะที่สติเกิด คือเริ่มที่จะเกิด แล้วสติก็จะค่อยๆ เจริญ แต่ว่าถ้าฟังไม่ใช่ด้วยการเงี่ยโสตลงสดับให้เข้าใจจริงๆ ว่าไม่มีเรา ก็จะเป็นผู้ที่กำลังเจริญสติ เพราะว่ายึดถือพยัญชนะ แต่ถ้าตามความเป็นจริง คือขณะใดที่สติเกิด เพื่อรู้แล้วละ
ผู้ฟัง อย่างนั้นก็คงไม่มีใหม่ มีเก่า คือว่า ขณะใดก็ตามสติเกิด ก็แล้วแต่สติจะเกิด เพราะฉะนั้น คงไม่มีคำว่า เจริญสติใหม่ๆ เจริญสติไปแล้วนานๆ เก่าๆ แล้ว เจริญสติใหม่ๆ แล้วก็ไม่ค่อยรู้อะไร เจริญสติไปนานๆ ๒ เดือน ๓ เดือน ปี ๒ ปี ก็รู้สึกว่ามันดีขึ้น อะไรอย่างนี้ ใช้คำนี้ คงไม่ค่อยจะถูก
ท่านอาจารย์ ถ้าเข้าใจคำที่ใช้ ก็ทราบว่า ขณะที่สติเริ่มเกิด จะใช้คำอะไรก็ได้ เริ่มที่จะเจริญ ค่อยๆ เจริญขึ้น
ผู้ฟัง ให้เข้าใจคำว่า สติ ให้เข้าใจคำว่าสติเกิดเป็นอย่างไร
ท่านอาจารย์ แต่ว่าเพื่อละ
ผู้ฟัง อัจฉริยสูตร มีความหมายแปลว่าอะไร
อ.สมพร อัจฉริยะ ภาษาไทยเราแปลว่า อัศจรรย์ แต่ว่าคำว่า อัศจรรย์ แปลว่าประพฤติอย่างยิ่งเพื่อให้สัตว์นั้นหลุดพ้นจากวัฏฏะ พวกฤๅษีชีไพรก็อัศจรรย์เล็กน้อย เพราะว่าไม่สามารถที่จะทำให้สัตว์นั้นออกจากวัฏฏะได้ พระองค์ทรงแสดงพระสูตรนี้ เหมาะสมกับที่บรรยายในวันนี้ คือ แสดงสติปัฏฐาน เป็นธรรมที่ประพฤติอย่างยิ่ง อัจฉริยะ แปลว่า ประพฤติอย่างยิ่ง เพราะว่าธรรมอื่นนอกจากสติปัฏฐาน แล้วไม่สามารถให้สัตว์นั้นพ้นจากวัฏฏะได้
ผู้ฟัง หมายความว่า ใจความจริงๆ ของพระสูตรนี้ ก็ทรงแสดงสติปัฏฐาน นั่นเอง ใช่ไหม
ท่านอาจารย์ การฟังพระธรรมต้องฟังโดยละเอียด แล้วก็ให้ทราบว่าเพื่อ ละ พระธรรมที่ทรงแสดง ทรงแสดงตามความเป็นจริงของธรรมนั้นๆ ทุกอย่าง ไม่ว่าจะมีอานิสงส์มาก หรืออานิสงส์ประการใดก็ตาม คือเหตุ และผลที่ทรงแสดงโดยละเอียด เพื่อให้ผู้ฟังเข้าใจให้ถูก แต่ไม่ใช่ให้ติดข้อง หรือต้องการในสิ่งนั้น แต่ให้เข้าใจว่า เมื่อเหตุเป็นอย่างนี้ ผลก็ต้องเป็นอย่างนั้น
อีกอย่างหนึ่ง ควรที่จะได้พิจารณาสิ่งที่ได้ศึกษาให้ละเอียดรอบคอบว่า ที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดง แม้ธรรมเพียงเรื่องรูป ผู้นั้นก็สามารถที่จะรู้แจ้งอริยสัจธรรมได้ คงต้องไปนั่งพิจารณาว่า เพียงเรื่องรูปเท่านั้นหรือ หรือว่าทรงแสดงธรรม ซึ่งผู้ฟัง หรือผู้อ่าน ผู้ศึกษา ต้องพิจารณาให้เข้าใจจริงๆ ว่า ปัญญาต้องรู้อะไร จึงสามารถที่จะรู้แจ้งอริยสัจธรรมได้
ผู้ฟัง อานิสงส์ ธรรมดาศึกษาธรรม เราค่อยๆ ไปเรื่อยๆ ใหม่ๆ ก็จะศึกษาว่า ให้เมตตา ให้ทำความดี ให้ทำว่าจะดีได้อย่างไร ทีนี้ถ้าเราศึกษาธรรมเข้าใจแล้ว เราจะรู้เพื่อละ แต่ว่าที่เราได้ศึกษามาว่า ทำความดีก็ยังเป็นตัวตนที่จะทำอยู่ สติปัฏฐานยังไม่เกิดก็ยังคงต้องเป็นอย่างนี้ไปก่อน ใช่ไหม ว่าทำความดี
ท่านอาจารย์ ทุกคนก็ต้องยอมรับตามความเป็นจริง เมื่อยังมีกิเลสที่ยังไม่ได้ละ กิเลสนั้นๆ ก็ยังมี เช่นโลภะก็ยังมี มานะก็ยังมี อวิชชาก็ยังมี แต่การศึกษา ศึกษาเพื่ออะไร ถ้าศึกษาเพื่อเพิ่มโลภะ เพิ่มมานะ เพิ่มความไม่รู้ ความไม่เข้าใจ เพราะคิดว่า เข้าใจแล้ว นั่นก็ไม่ถูกต้อง
การศึกษาต้องทราบจริงๆ ว่า ศึกษาเพื่อเข้าใจธรรมว่า เป็นธรรม เมื่อเข้าใจธรรมว่าเป็นธรรม ย่อมละความไม่รู้ เมื่อคลายหรือละความไม่รู้ ก็ละคลายอกุศลอื่นๆ เช่น ความติดข้องในสภาพธรรมซึ่งเคยยึดถือว่าเป็นเรา เมื่อรู้ว่าเป็นเพียงธรรม แล้วเมื่อเห็นธรรมถูกต้องตามความเป็นจริง คือ อกุศลเป็นอกุศล ผู้นั้นก็จะค่อยๆ เห็นโทษของอกุศล แต่ก็ต้องเป็นไปตามลำดับขั้น เพราะว่าผู้ที่ไม่ใช่พระอนาคามี แม้ว่าจะเป็นพระโสดาบัน เป็นพระสกทาคามี ก็ยังมีความยินดีในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส ในโผฏฐัพพะ แม้ว่าจะประจักษ์การเกิดดับซึ่งไม่เที่ยง เป็นอนัตตา แต่ก็ยังเห็นว่างามเพราะเคยชินกับความติดข้องในสิ่งนั้น ยังเห็นว่าเป็นสุขอยู่ในสิ่งซึ่งติดข้องมานาน เพราะฉะนั้น ก็รู้ตามความเป็นจริงว่า ปัญญาระดับไหน สามารถที่จะละอะไรได้ อย่างปัญญาขั้นการศึกษา เพียงขั้นฟัง ไม่สามารถที่จะทำลายหรือละอกุศลใดๆ ได้เลยทั้งสิ้นแต่ก็เป็นหนทางที่จะทำให้รู้ว่า หนทางที่จะรู้ขึ้น แล้วก็ค่อยๆ อบรมเจริญปัญญาเพื่อละความไม่รู้นั้นมี ให้เข้าใจให้ถูกต้อง
ผู้ฟัง ถ้าอย่างนี้ เรายังไม่ได้ทราบซึ้งในคำว่า รู้เพื่อละ ก็ยังคงต้องเป็นไปตามที่
ท่านอาจารย์ ก็ต้องสะกิดใจกันบ่อยๆ หรือสะกิดใจตัวเองก็ได้ ถ้าเกิดจะต้องการผลอย่างหนึ่งอย่างใดขึ้นจากการกระทำสิ่งหนึ่งสิ่งใดซึ่งดี ให้ทราบว่าขณะนั้นไม่ได้ละเลย มีกุศลจิตที่จะเกิดทำเพียงเล็กน้อย น้อยมาก บางคนก็แค่ใส่บาตรนิดหน่อย ทำความดีนิดเดียว แต่ต้องการอานิสงส์ คือ ผลจากการกระทำนั้นมากมาย นี่ก็แสดงให้เห็นว่า เป็นผู้ที่ไม่ได้ศึกษาเพื่อละ แต่ถ้าเราเข้าใจจริงๆ การศึกษาทั้งหมดเพื่อละความติดข้อง ละลาภ ละความติดข้องในยศ ในสรรเสริญ ในสักการะ ผู้นั้นก็เป็นผู้ที่สามารถจะเข้าใจพระธรรมได้ยิ่งขึ้น แล้วเห็นคุณค่าของพระธรรมว่า เพื่อละจริงๆ เพื่อให้เราพ้นจากความทุกข์ ซึ่งเกิดจากการติดในลาภ ในยศ ในสรรเสริญ ในสุข ในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส ในสัมผัส แม้ว่ายังละไม่ได้ แต่ก็เห็นว่า พระผู้มีพระภาคทรงตรัสรู้ทางที่จะละได้ โดยการที่แสดงสภาพธรรมให้ผู้ฟังพิจารณาจนเข้าใจถูก แล้วปัญญาก็จะค่อยๆ เจริญขึ้น
ผู้ฟัง เป็นไปตามลำดับขั้นจนกว่าจะเข้าใจ ชัดเจนว่า รู้เพื่อละเป็นอย่างไร
ท่านอาจารย์ ต้องเป็นผู้ที่ละเอียดจริงๆ อย่างกายานุปัสสนาสติปัฏฐาน ถ้าเป็นปัญญาเป็นผู้รู้ จะไม่รู้ลักษณะของสติได้ไหม แล้วสติก็ไม่ใช่รูปธรรม เพราะฉะนั้น คำว่ากายานุปัสสนาสติปัฏฐาน ไม่ใช่เราทำเลย ไม่ใช่ว่าเราต้องการที่จะรู้รูปนั้น หรือรู้รูปนี้ แต่ผู้ที่ได้ศึกษามาแล้ว ทราบความหมายของคำว่า ธรรมเป็นอนัตตา ไม่มีเรา ไม่มีเราจะทำอย่างนั้น อย่างนี้ หรือว่าจะไปรู้รูปนั้น รูปนี้ แต่ว่าสติเป็นสภาพนามธรรมซึ่งไม่ใช่เรา เมื่อเป็นสัมมาสติ คือขณะใดที่มีปัจจัยที่สติจะเกิดเป็นสัมมา คือ ระลึกลักษณะของสภาพธรรมที่กาย จึงเป็นกายานุปัสสนาสติปัฏฐาน แต่ไม่ได้หมายความว่า คนนั้นไม่รู้ลักษณะของนามธรรม หรือคนนั้นคิดว่า เป็นตัวเราที่จะทำ แต่คนนั้นต้องมีความเข้าใจจริงๆ ว่า เมื่อกล่าวถึงคำว่า ธรรม คือ ธรรม จะเป็นเราไม่ได้เลย ธรรม คือจิต หรือเจตสิก หรือรูปนั่นเอง
เวลาที่ใช้คำว่าสติปัฏฐาน คือขณะนั้นไม่ใช่เราทำ แต่ว่าเป็นสติที่เกิดระลึก เพราะฉะนั้น จะต้องรู้ทั้งลักษณะของนามธรรม และรูปธรรมด้วย ว่าสติขณะนั้นเป็นไปคือระลึกที่กาย หรือว่าระลึกที่เวทนา ความรู้สึก หรือว่าระลึกที่สภาพของจิต หรือว่าระลึกธรรมอื่นๆ
เพราะฉะนั้น เป็นเรื่องที่สอดคล้อง และเข้าใจจริงๆ ตั้งแต่ต้น ทิ้งไม่ได้เลย คือถ้าเข้าใจถูกต้องในความหมายของคำว่า อนัตตา ไม่ใช่เรา ไม่มีเรา ไม่มีตัวตน ไม่อยู่ในอำนาจบังคับบัญชา ทุกอย่างเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัย เป็นสภาพธรรมที่มีจริง เกิดแล้วก็ดับ เป็นนามธรรม หรือเป็นรูปธรรม เพราะฉะนั้น เวลาที่ศึกษาข้อความอื่นต่อไปก็ต้องสอดคล้องกันด้วย แม้แต่ในเรื่องของสติปัฏฐาน ก็ไม่ใช่เราจะทำ
ผู้ฟัง ตอนต้นของพระสูตร มีพูดไว้ว่า หมู่สัตว์นั้นยอมฟังด้วยดี เงี่ยโสตสดับตั้งจิตเพื่อรู้ทั่วถึง พอมาดูในอรรถกถา เข้าไปตั้งจิตเพื่อจะรู้ทั่วถึงธรรม
ท่านอาจารย์ ขณะนี้เป็นธรรม หรือยัง
ผู้ฟัง เป็นแล้ว
ท่านอาจารย์ สติระลึกได้ไหม
ผู้ฟัง ได้
ท่านอาจารย์ แล้วแต่จะเป็นทางตา หรือหู จมูก ลิ้น กาย ใจ
ผู้ฟัง เมื่อพูดถึง มหายาน อยากให้กลับไปอ่านกถาวัตถุ ร้อยปีที่สอง มีพูดถึงการแตกออกไปจากเถรวาท ๑๗ นิกาย แล้วมีการทำสังคายนา
ท่านอาจารย์ ให้ศึกษาพระธรรมให้เข้าใจจริงๆ ก็คงจะไม่ต้องพูดถึงเรื่องนิกายต่างๆ เพราะเหตุว่าสภาพธรรมปรากฏให้พิสูจน์ ให้รู้ ให้เข้าใจ จะใช้ชื่อในลัทธิหรือนิกายหนึ่งว่าอะไร แต่สภาพของสติ คือ สติ ไม่เปลี่ยน สภาพของโลภะ คือโลภะ ไม่เปลี่ยน สภาพของจิต ไม่ว่าจะเป็นภวังคจิต หรือเป็นวิถีจิต ก็ไม่เปลี่ยน เพราะฉะนั้น ถ้าเข้าใจความหมายหรืออรรถ คือลักษณะของสภาพธรรมนั้นๆ ชื่ออาจจะต่างกัน แต่ว่าผู้นั้นเป็นผู้มุ่งที่จะเข้าใจธรรม ก็จะไม่สนใจเพียงคำ แต่สนใจที่จะเข้าใจความจริงของลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังมีจริงๆ ในขณะนี้ เพราะเหตุว่าเป็นสิ่งที่หายาก ไม่ทราบว่าในกี่ภพ กี่ชาติ จะมีโอกาสได้ยินได้ฟังพระธรรมที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงที่รวบรวมไว้เป็นพระไตรปิฎก แล้วก็สามารถที่จะพิสูจน์ได้ เพราะว่าเป็นสภาพธรรมที่มีจริงในชีวิตประจำวัน โดยที่ว่า คงจะไม่ต้องไปเปลี่ยนชื่อ ให้ย้ายนิกาย หรืออะไร แต่ว่าให้ผู้ที่สนใจจะเข้าใจความจริงได้ฟัง ได้พิจารณา ในความถูกต้อง
ผู้ฟัง สติปัฏฐาน ถ้ารู้ลักษณะว่า มีสติปัฏฐาน กับไม่มีสติปัฏฐาน จะต้องรู้ว่าสติอย่างหนึ่ง ปัญญาอย่างหนึ่ง แล้วก็ลักษณะสภาพธรรมอย่างหนึ่งหรือเปล่า เพราะว่าโดยส่วนตัวแล้วมีความรู้สึกว่า รู้กับไม่รู้ รู้ว่าต่างกัน เรารู้อะไร ไม่รู้อะไร เข้าใจได้ แต่ลักษณะของสติไม่ชัดเจนว่า สติระลึก หรือไม่ระลึกอย่างไร
ท่านอาจารย์ ขณะนี้เห็น ใช่ไหม ปกติธรรมดาทุกวันๆ สติเกิดหรือเปล่า พูดถึงปกติธรรมดา
ผู้ฟัง ไม่เกิด
ท่านอาจารย์ ไม่เกิด กระทบสัมผัสสิ่งที่อ่อนหรือแข็ง ตลอดวันตั้งแต่เช้ามา สติเกิดหรือเปล่า นั่นคือปกติของการหลงลืมสติ เพราะฉะนั้น เวลาที่สติเกิดจะไม่ใช่เพียงการรู้ลักษณะของสิ่งที่อ่อนหรือแข็ง ซึ่งไม่ว่าใครกระทบสัมผัสทางกายก็มีสิ่งที่อ่อนหรือแข็งปรากฏ เหมือนกันหมด ไม่ว่าเด็กหรือผู้ใหญ่ ชาติไหนทั้งสิ้น ชาติจีน ชาติไทย จะใช้คำที่ต่างกัน แต่ลักษณะที่ปรากฏ คือลักษณะที่อ่อนหรือแข็งปรากฏเมื่อกระทบกับกาย ขณะนั้นก็ไม่ใช่สติ แต่เมื่อมีความรู้ความเข้าใจว่า สภาพธรรมไม่ใช่ตัวตน มีลักษณะเฉพาะลักษณะแต่ละลักษณะที่มีปัจจัยจึงเกิดขึ้นปรากฏ การที่จะศึกษาให้เห็น ความไม่ใช่ตัวตนจริงๆ ไม่ใช่เพียงแต่ฟังเรื่องราวเท่านั้น แต่ต้องหมายความว่า แข็งก็มีแข็งกำลังปรากฏ ซึ่งไม่เคยรู้ เพราะฉะนั้น เวลาที่ได้ฟังมาแล้วว่า แข็งเป็นสภาพธรรมที่เกิดจึงปรากฏ ถ้าไม่เกิดก็ไม่ปรากฏ แล้วลักษณะของแข็งจะรู้ได้ทางกาย ขณะใดที่มีแข็งปรากฏ แล้วก็สติเกิด จะระลึกลักษณะที่แข็ง ไม่ใช่แต่เฉพาะเพียงกายวิญญาณที่รู้แข็ง สติระลึกเพื่อปัญญาจะได้ค่อยๆ เข้าใจในลักษณะนั้นว่า ทั้งหมดที่เคยเป็นเรา เคยเป็นโลกที่กว้างใหญ่ แต่ชั่วขณะจิตหนึ่งที่แข็งปรากฏ ขณะนั้นจะไม่มีอะไรเลย ไม่มีเราตั้งแต่ศีรษะตลอดเท้าไม่ได้ปรากฏเลย สภาพธรรมอื่นใด เช่น เสียงก็ไม่ปรากฏในขณะที่แข็งปรากฏ ขณะนั้นเป็นขณะที่จะเห็นความเป็นอนัตตา แต่อัตตสัญญาที่สะสมมาแสนนาน ไม่สามารถที่จะละทิ้งความเป็นเรา ที่กำลังรู้ในขณะนั้นได้ เพราะฉะนั้น ผู้นั้นก็รู้ได้เลยว่า เยื่อใยความเป็นตัวตนยังมี แม้แต่เพียงในขณะที่แข็งปรากฏ กับสภาพที่รู้แข็ง แล้วมีการระลึกที่จะเข้าใจในลักษณะที่แข็ง หรือสภาพที่รู้แข็ง ซึ่งมีจริงๆ ในขณะนั้น เพราะฉะนั้น ก็เป็นจิรกาลภาวนา ต้องอบรมนานมาก
ผู้ฟัง ถ้าแข็งปรากฏ แต่ว่าปรากฏกับสติ แต่สติไม่ปรากฏให้เรารู้จัก
ท่านอาจารย์ ขณะที่ทุกวันๆ กระทบแข็ง แล้วสติไม่ระลึกเลย เราก็รู้ว่า เพียงกระทบ แต่ว่าโดยมากที่ใช้คำว่า อารมณ์ปรากฏกับสติ เพราะเหตุว่าถ้าขณะนั้นสติไม่เกิด ลักษณะที่แข็งหมดไปเร็วมาก ซึ่งเป็นปกติของสภาพธรรมซึ่งเกิดดับเร็ว แล้วก็มีเรื่องราวความคิดนึกเรื่องของแข็ง เช่น เห็นดอกไม้ ทางตาเป็นเห็นดอกไม้ ไม่ใช่เพียงแค่เห็น มีสิ่งที่กำลังปรากฏ แล้วก็มีการคิดถึงลักษณะที่เป็นดอกไม้ มีการทรงจำว่า เป็นดอกไม้ นั่นคือการเกิดดับสืบต่อของจิตซึ่งเร็วมาก แต่เวลาที่มีการระลึก จะมีการรู้ว่า ขณะนี้ที่เห็นเป็นสิ่งที่มีจริงๆ เป็นสภาพธรรมที่เกิดจึงได้ปรากฏ กระทบกับจักขุปสาท จึงปรากฏ แล้วก็ดับ เพราะฉะนั้น การที่จะรู้ว่าไม่ใช่เราเลย แล้วทุกอย่างสั้นมาก ไม่มีความที่จะเป็นเรา หรือของเราได้เลย เพราะเพียงเกิดขึ้นแล้วก็ดับไป เกิดขึ้นแล้วก็ดับไปทุกขณะอย่างรวดเร็ว ก็จะทำให้เราค่อยๆ เข้าใจ แล้วก็มีการระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรม ขณะนั้นก็จะรู้ว่า สติเกิด ไม่ใช่เพียงเห็น แล้วก็ผ่านไปเลย หรือว่ากระทบแข็ง แล้วก็ผ่านไปเลย เป็นเรื่องเป็นราวต่างๆ เพราะว่าตลอดชีวิตของเรา การเกิดดับสืบต่อของสภาพธรรมเร็วมาก ไม่มีสติที่จะระลึกลักษณะหนึ่งลักษณะใด เพราะไม่เคยได้ฟัง ไม่เคยได้เข้าใจว่า เป็นสภาพธรรม แต่ละอย่าง แต่ละทวารซึ่งเกิดดับสืบต่อเร็วมาก ต่อเมื่อใดมีการเข้าใจมั่นคงขึ้น ก็จะเป็นปัจจัยให้สติเริ่มเกิด ซึ่งไม่ใช่เป็นการบังคับ หรือว่าไม่ได้เป็นความต้องการว่า อยากให้เกิดมากๆ อยากให้เกิดบ่อยๆ เพราะเหตุว่าโลภะเป็นเครื่องกั้นการเจริญของปัญญา เพราะฉะนั้น ก็มีความเข้าใจที่ถูกต้องว่า ขณะใดสติเกิด คือไม่ใช่เรา แต่ขณะนั้นสติกำลังระลึกลักษณะซึ่งเป็นสภาพธรรม แล้วแต่ว่าจะเป็นนามธรรมหรือรูปธรรม
ผู้ฟัง อย่างนี้ ก็ต้องรู้ด้วยว่า สติเกิด
ท่านอาจารย์ ขณะนั้นเป็นมหากุศลญาณสัมปยุตต ไม่ใช่เรา เป็นเรื่องของปัญญา โดยตลอด
ผู้ฟัง เพราะฉะนั้น ถ้าแข็งปรากฏเฉยๆ โดยที่ไม่ได้รู้ลักษณะของสติว่า สติเกิด เป็นอย่างไร ก็ไม่ถูกต้อง
ท่านอาจารย์ ไม่ถูก
ผู้ฟัง ได้ฟังในวิทยุ คล้ายๆ มีผู้พูดบอกว่า ถ้าสติปัฏฐานเกิด เขาจะละความไม่ดี ท่านอาจารย์ก็กล่าวบอกว่า ขณะที่สติปัฏฐานเกิด ระลึกรู้สภาพตามความเป็นจริง จะกล่าวได้ไหมว่า ขณะที่สติเกิด ญาณสัมปยุตตเกิด สามารถที่จะมีการระงับการทำความไม่ดีได้ไหม
ท่านอาจารย์ ถ้าทราบว่าจิตเกิดขึ้นทีละ ๑ ขณะ แล้วเปลี่ยนไม่ได้ ขณะใดที่เป็นอกุศลจิต ก็เป็นอกุศลจิต ถ้าเกิดเป็นกุศล ก็เป็นกุศล เท่านี้ก็พอจะรู้ได้ ใช่ไหม ว่าไม่ปะปนกัน
ผู้ฟัง แต่คำถามที่จะลึกลงไป ถ้าสติปัฏฐานเกิด รู้สภาพตามความเป็นจริง แต่ในขณะนั้น ก็หมายความว่าต้องละความไม่ดีไปด้วยหรืออย่างไร
ท่านอาจารย์ ละความไม่รู้
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 241
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 242
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 243
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 244
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 245
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 246
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 247
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 248
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 249
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 250
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 251
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 252
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 253
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 254
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 255
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 256
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 257
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 258
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 259
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 260
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 261
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 262
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 263
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 264
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 265
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 266
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 267
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 268
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 269
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 270
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 271
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 272
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 273
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 274
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 275
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 276
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 277
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 278
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 279
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 280
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 281
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 282
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 283
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 284
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 285
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 286
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 287
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 288
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 289
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 290
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 291
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 292
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 293
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 294
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 295
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 296
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 297
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 298
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 299
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 300